แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลเตรียมรับเสด็จ
อิสยาห์ 61:1-2, 10-11; 1 เธสะโลนิกา 5:16-34; ยอห์น 1:6-8, 19-28

บทรำพึงที่ 1
ฟันหลอ
ยอห์น ถูกส่งมาประกาศว่าพระคริสตเจ้าประทับอยู่ในโลกของเราฉันใด เราก็ต้องประกาศเรื่องนี้ในโลกของเราฉันนั้น

    ชายชราคนหนึ่งอาศัยอยู่ที่ประเทศนิวกีนี เขาหาเลี้ยงชีพด้วยการตัดไม้ทำเป็นฟืนให้โรงพยาบาลของธรรมทูตแห่งหนึ่ง ทุกคนเรียกเขาว่า “ฟันหลอ” เพราะฟันแถวบนของเขามีเหลืออยู่เพียงซี่เดียว

    นอกจากตัดฟืนแล้ว ชายชรายังใช้เวลาส่วนหนึ่งในแต่ละวันอ่านพระวรสารให้ผู้ป่วยนอกฟัง ขณะที่พวกเขารอพบแพทย์ในโรงพยาบาล เขาแบ่งปันความเชื่อของเขาในพระเยซูเจ้ากับคนป่วยเหล่านี้วันแล้ววันเล่า

    แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ฟันหลอเริ่มมีปัญหากับการอ่าน ทีแรกเขาคิดว่าอาการของเขาจะดีขึ้น แต่มันไม่ได้ดีขึ้นเลย

ดังนั้น ฟันหลอจึงไปพบแพทย์ หลังจากตรวจร่างกายคนตัดฟืนชราแล้ว แพทย์ใช้แขนโอบชายชรา และพูดว่า “หมอมีเรื่องหนึ่งจะบอกลุง ซึ่งบอกยากมาก ลุงกำลังจะตาบอด และเราไม่มีทางช่วยลุงได้เลย”

    ฟันหลอร้องว่า “ไม่นะ ผมแก่แล้ว ตอนนี้ผมจะต้องตาบอด และไม่มีประโยชน์อีกด้วยหรือ”

    วันต่อมา ฟันหลอไม่มาที่โรงพยาบาล และเขาไม่มาในวันต่อจากนั้นด้วย ฟันหลอหายตัวไปเฉย ๆ

    ต่อมา แพทย์คนนั้นได้ยินข่าวว่าฟันหลอไปอยู่ตามลำพังในพื้นที่ที่ห่างไกลผู้คนบนเกาะนั้น เด็กชายคนหนึ่งเป็นผู้นำอาหารไปส่งให้เขา เด็กคนนี้บอกนายแพทย์ว่าฟันหลออยู่ที่ไหน

    นายแพทย์จึงไปหาฟันหลอ และถามเขาว่า “ลุงมาทำอะไรที่นี่” ฟันหลอตอบว่า “ตั้งแต่หมอบอกผมว่าผมกำลังจะตาบอด ผมได้พยายามอ่าน และท่องจำพระวรสารส่วนที่สำคัญที่สุด ผมจำเรื่องการประสูติของพระเยซูเจ้าได้แล้ว รวมทั้งเรื่องการทำอัศจรรย์ และเรื่องอุปมาต่าง ๆ ของพระองค์ การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระองค์ด้วย ผมท่องให้เด็กคนนี้ฟังหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผมจำได้ถูกต้อง หมอครับ อีกอาทิตย์หนึ่ง ผมจะกลับไปที่โรงพยาบาล และเล่าเรื่องของพระเยซูเจ้าให้ผู้ป่วยนอกฟัง”

    เรื่องนี้สอดคล้องอย่างยิ่งกับบทอ่านที่หนึ่งของวันนี้ ซึ่งประกาศกอิสยาห์บอกว่า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ...” (อสย 61:1)

    พระจิตองค์เดียวกันของพระเจ้าเสด็จลงมาอยู่เหนือฟันหลอ หลังจากเขารับศีลล้างบาปและศีลกำลัง และเขารู้สึกได้ว่าเขาได้รับกระแสเรียกเดียวกันนี้ให้นำข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าไปประกาศแก่คนต่ำต้อยทั้งหลาย

    เรื่องนี้สอดคล้องกับบทอ่านที่สองของวันนี้ด้วย เมื่อเปาโลบอกเราว่า “อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า” (1 ธส 5:19)

    ฟันหลอไม่ยอมดับไฟของพระจิตเจ้า แม้เมื่อเขากำลังจะตาบอด เขายังทำทุกสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อให้พระจิตเจ้าตรัสกับพี่น้องชายหญิงของเขาผ่านตัวเขา

    ท้ายที่สุด เรื่องนี้สอดคล้องกับพระวรสารวันนี้ ซึ่งเล่าเรื่องการเทศน์สอนของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ยอห์นเข้าไปอยู่ในถิ่นทุรกันดารตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อไตร่ตรองพระวาจาของพระเจ้า จากนั้น เขาก็ออกมาจากถิ่นทุรกันดารเพื่อเทศน์สอนพระวาจาของพระเจ้าแก่ประชาชน เขาบอกว่า “ข้าพเจ้าเป็นเสียงของผู้ที่ร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดาร ว่าจงทำทางขององค์พระผู้เป็นเจ้าในตรงเถิด” (ยน 1:23)

    ฟันหลอออกไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อท่องจำและไตร่ตรองพระวาจาของพระเจ้า แล้วเขาก็ออกมาจากถิ่นทุรกันดารเพื่อแบ่งปันพระวาจาของพระเจ้ากับผู้อื่น

    เรื่องของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง และเรื่องของฟันหลอ คือเรื่องของการเตรียมรับเสด็จ เพราะเป็นเรื่องของบุคคลที่ได้พบพระคริสตเจ้าด้วยการไตร่ตรองพระวาจาของพระเจ้า เป็นเรื่องของบุคคลที่แบ่งปันสิ่งที่เขาค้นพบให้แก่ผู้อื่น เพื่อว่าคนเหล่านั้นจะได้พบพระคริสตเจ้าเหมือนกับเขา

    เรื่องนี้ชวนให้เราย้อนกลับมามองตัวเราในพระศาสนจักร สิ่งที่ยอห์น และฟันหลอได้ทำไป เราก็ต้องทำเหมือนกัน

    พระจิตของพระเจ้าเสด็จลงมาเหนือเราเช่นกัน เราได้รับเจิมเช่นเดียวกันเพื่อให้ประกาศข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าให้แก่คนยากจน

    เราได้รับกระแสเรียกจากศีลล้างบาปและศีลกำลังเหมือนบุคคลทั้งสองนี้ เราต้องออกจากถิ่นทุรกันดารของเราเพื่อประกาศพระวาจาของพระเจ้าแก่ผู้อื่นเหมือนกัน

    แต่เราจะทำเช่นนี้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ผมคิดได้สามวิธี ซึ่งเป็นรูปธรรม เป็นวิธีธรรมดาสามัญ และเห็นได้ชัด จนเรามองข้ามไป เป็นวิธีง่าย ๆ และชัดเจนจนผมลังเลใจที่จะเอ่ยออกมา แต่ผมก็จะบอก

    วิธีแรก เราสามารถประกาศเรื่องของพระคริสตเจ้าในบ้านของเรา ให้แก่คนในครอบครัวของเรา วิธีหนึ่งที่เราจะทำเช่นนี้ได้คือด้วยการสวดภาวนาสำหรับเทศกาลเตรียมรับเสด็จนี้ก่อนรับประทานอาหารค่ำพร้อมกัน หรือรอบ ๆ พวงดอกไม้คริสต์มาส หลังจากรับประทานอาหารค่ำแล้ว

    วิธีที่สอง เราสามารถประกาศเรื่องของพระคริสตเจ้าให้แก่ญาติ และเพื่อนฝูง วิธีง่าย ๆ ที่จะทำเช่นนี้ก็คือคำอวยพรคริสต์มาสที่เราส่งให้เขา

    ผมแปลกใจเสมอกับคำอวยพรคริสต์มาสที่ผมได้รับจากชาวคาทอลิก บัตรอวยพรเต็มไปด้วยคำว่า “สุขสันต์วันคริสต์มาส” และภาพซานตาคลอส แต่ไม่มีการเอ่ยเลยว่าคริสต์มาสเป็นการฉลองวันเกิดของใคร

    วิธีสุดท้าย เราสามารถประกาศเรื่องของพระคริสตเจ้าให้แก่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้าน ซึ่งเฉื่อยชาในความเชื่อ วิธีง่าย ๆ ที่จะทำเช่นนี้ก็คือ เชิญเขาไปร่วมพิธีมิสซากับเราระหว่างเทศกาลเตรียมรับเสด็จ หรือในวันคริสต์มาส

    ในหนังสือของ ดร. ดีน โฮเก้ นักสังคมศาสตร์ผู้เคร่งศาสนา ชื่อ “คนกลับใจ คนทิ้งวัด และคนที่กลับมา” เขาบอกว่า “คาทอลิกที่มีความสุขที่สุด” ที่เขาสัมภาษณ์ก็คือ “คาทอลิกทิ้งวัด” ที่กลับมาปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของเขาอีกครั้งหนึ่ง และ “ผู้ที่ชักชวนคาทอลิกทิ้งวัดให้กลับมาเข้าวัด” ก็คือบุคคลที่เคยทิ้งวัดมาก่อน

    โฮเก้ ยังอ้างสถิติที่ชาวคาทอลิกทุกคนควรพิจารณาอย่างจริงจัง กล่าวคือ สองในสามของคาทอลิกที่กลับมาสู่ความเชื่อในแต่ละปี กลับมาเพราะเพื่อนบ้าน เพื่อน หรือญาติคนหนึ่งเชิญเขาให้กลับมา

    ดร. โฮเก้ ระบุต่อไปว่าเมื่อเห็นสถิติเหล่านี้แล้ว เราคาทอลิกไม่สามารถปล่อยให้การชักชวนคาทอลิกทิ้งวัดให้กลับมาสู่ความเชื่อ เป็นงานของพระสงฆ์ หรือนักบวชเท่านั้น เราทุกคนต้องยื่นมือออกไปให้คนเหล่านี้ เราทุกคนต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานนี้

    ดังนั้น บทอ่านประจำวันนี้จึงเป็นคำเชิญชวนเราให้ทำสิ่งที่ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง และฟันหลอ เคยทำ นี่คือคำเชิญชวนให้เราเป็นผู้เตรียมรับเสด็จพระเยซูเจ้า ให้เราค้นพบพระคริสตเจ้าในชีวิตของเรา เพื่อว่าเราจะสามารถช่วยผู้อื่นให้ค้นพบพระคริสตเจ้าในชีวิตของเขา

    นี่คือคำเชิญชวนให้เราเป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดในโลกของเรา เหมือนกับที่ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง และฟันหลอเป็น

    นี่คือสารที่พระคริสตเจ้าทรงส่งถึงเราเป็นส่วนตัวในบทอ่านวันนี้ บัดนี้ ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าเราจะทำอย่างไรกับคำเชิญนี้

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 1:6-8, 19-28

พระเจ้าทรงส่งชายผู้หนึ่งมา เขาชื่อยอห์น เขามาในฐานะพยาน

    พระนางมารีย์ และยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เป็นบุคคลสำคัญในเทศกาลเตรียมรับเสด็จ พระศาสนจักรอุทิศวันอาทิตย์ที่สอง และที่สามในเทศกาลเตรียมรับเสด็จให้แก่บุคคลทั้งสองนี้ทุกปี

    มีบทเพลงหนึ่งที่ใช้ในพิธีกรรม ซึ่งบรรยายบทบาทที่ไม่เหมือนใครของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ว่า “ประกาศกคนสุดท้าย พยานคนแรกของพระเยซูคริสต์ เสียงที่ร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดาร จากนั้นก็ถอยออกไปอย่างถ่อมตนเบื้องหน้าผู้ที่ได้รับเจิม ... นี่คือความยิ่งใหญ่ และความยินดีของท่าน ซึ่งบัดนี้ท่านได้รับอย่างบริบูรณ์ในสวรรค์ ท่านผู้เป็นพยานถึงแสงสว่าง บอกเราเถิดว่าพระเมสสิยาห์ เสด็จมาหาเราด้วยทางใด” บางข้อของบทเพลงนี้เป็นข้อความที่คัดลอกมาจากพระวรสารของนักบุญยอห์น

    เป็นความจริงที่ไม่มีมนุษย์คนใดเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จได้เด่นชัดเท่ายอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เขาเป็นประกาศกคนสุดท้ายของยุคพันธสัญญาเดิม (ลก 1:76, มธ 11:9) ... ชายคนนี้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอดีต และอนาคต ระหว่าง “ยุคก่อน” และ “ยุคหลัง”...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ซื่อสัตย์ต่อรากจากอดีตของเรา – และเปิดรับสิ่งใหม่ที่พระองค์ทรงต้องการเนรมิตสร้างขึ้นในวันนี้

เขามาในฐานะพยาน เพื่อเป็นพยานถึงแสงสว่าง

    พยานถึงแสงสว่าง ... ไม่มีสมญาใดที่เหมาะสมกว่านี้อีกแล้ว...

    ยอห์นเป็นผู้ “ให้การเป็นพยาน” พระวรสารอื่น ๆ อีกสามฉบับเสนอภาพของยอห์นว่าเป็น “ผู้เทศน์สอนให้กลับใจ” – แต่พระวรสารของยอห์นเผยว่าเขาเป็น “พยานถึงแสงสว่าง” ... เขาเป็นพยานคนแรกของพระเยซูคริสตเจ้า

    เราไม่ควรลืมว่าคำว่า “พยาน” ในภาษากรีกคือ martyros และอันที่จริง ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง คือ “มรณสักขีคนแรก” ของพระเยซูเจ้า (มก 6:27) พระวรสารทั้งฉบับของยอห์นพัฒนาขึ้นตามข้อคิดว่า “โลกพิพากษาพระเยซูเจ้า” พระองค์ทรงถูกปฏิเสธและกล่าวหา การพิพากษาคดีนี้สามารถสรุปความได้ด้วยคำถามข้อเดียวคือ “เขาเป็นใคร” ... ดังนั้น จึงมีพยานมาปรากฏตัว และให้การเป็นพยานให้ผู้ถูกกล่าวหา เขาใช้คำว่า “พยาน” สิบสี่ครั้ง และใช้คำกริยาว่า “ยืนยัน” สามสิบสามครั้ง ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เป็นพยานคนแรกที่มาขึ้นศาล “เขามาเพื่อเป็นพยานถึงแสงสว่าง”...

    ข้าพเจ้าสามารถยืนหยัดเคียงข้างพระเยซูเจ้าได้หรือไม่เมื่อพระองค์ทรงถูกกล่าวหา...

ยอห์นเป็นพยานดังนี้ เมื่อชาวยิวจากกรุงเยรูซาเล็ม ส่งบรรดาสมณะ และชาวเลวี ไปถามยอห์นว่า “ท่านเป็นใคร ... ทำไมท่านจึงทำพิธีล้าง”

    ประโยคนี้สะกิดใจให้เราตรวจสอบบทบาทของเราในฐานะพยาน คริสตชนทุกคนควรเป็นพยานของพระคริสตเจ้า เราเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของยอห์นนั้นเอง ที่ท้าทายคนร่วมสมัยของเขา คนเหล่านั้นจึงอยากรู้ว่าเขาเป็นใคร...
    วิถีชีวิตของเราทำให้ผู้ที่พบเห็นเราตั้งคำถามเช่นนี้หรือเปล่า ... ในพฤติกรรมของเรามีอะไรที่ท้าทายความคิดของผู้อื่นหรือไม่...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ดำเนินชีวิตตามวิถีทางที่ทำให้คนรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน หรือญาติพี่น้องของเรา สงสัยว่ามี “เคล็ดลับ” อะไรที่ทำให้เรามีชีวิต...

    ยอห์น ท่านเป็นใคร...

ข้าพเจ้าไม่ใช่พระคริสต์ ... ข้าพเจ้าไม่ใช่ประกาศก ... ข้าพเจ้าเป็น “เสียง” หนึ่ง...

    เห็นได้จากคำตอบนี้ว่า เบื้องหลังของคำถามว่ายอห์นเป็นใครนี้ ก็คือประชาชนกำลังแสวงหาคำตอบว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นใคร คำถามที่ผู้ถามอยากถามก็คือ “ท่านคิดว่าท่านคือพระเมสสิยาห์หรือ” และยังนำไปสู่อีกคำถามหนึ่งว่า “แต่ใครเล่าคือพระเมสสิยาห์ ท่านรู้จักเขาหรือเปล่า”...

    ยอห์นให้สองคำตอบ ก่อนอื่น เขาประกาศอย่างถ่อมตนว่าเขาไม่ใช่พระเมสสิยาห์ และเขาต้องการเป็นเพียงเสียงหนึ่ง เสียงของอีกบุคคลหนึ่ง...

    พระศาสนจักร และคริสตชนทุกคนในวันนี้ต้องเป็นพยานที่กล้าหาญเหมือนยอห์น “ท่านเล่า พระศาสนจักร ท่านมีอะไรจะพูดถึงตนเองบ้าง ท่านคิดว่าท่านเป็นใคร ... ท่านผู้เป็นคริสตชนเล่า ท่านมีอะไรจะพูดถึงตนเอง ท่านคิดว่าท่านเป็นใคร”...

    เปล่า ข้าพเจ้าไม่ใช่พระคริสตเจ้า – ข้าพเจ้าเป็นเพียงเสียงสะท้อนของพระคริสตเจ้า...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงปลดปล่อยเราให้หลุดพ้นจากการเสแสร้งว่าเราเป็นเจ้าของความจริง “อันสมบูรณ์” ว่าเราเป็น “ตัวแทนเพียงผู้เดียว” ของพระเยซูคริสตเจ้า...

มีผู้หนึ่งประทับอยู่ในหมู่ท่าน เป็นผู้ที่ท่านไม่รู้จัก

    ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นเครื่องหมายหนึ่งเดียวของการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า ข้าพเจ้ามั่นใจว่าพระคริสตเจ้าที่ท่านทั้งหลายกำลังแสวงหาอยู่นี้ประทับอยู่ท่ามกลางพวกท่านแล้ว พระองค์ประทับอยู่ในแก่นแท้ของความหวังของท่าน ของการต่อสู้ของท่าน ของความผูกพันประสามนุษย์ของท่าน ... พระศาสนจักร และคริสตชน ยอมรับและประกาศเรื่องของบุคคลที่มนุษย์กำลังรอคอยและแสวงหาอยู่เท่านั้น พระองค์ประทับอยู่ในชีวิตของพวกเขาแล้ว ... เพียงแต่เขายังไม่ตระหนักในความจริงข้อนี้เท่านั้น

    เช่น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศ “ปฏิญญาสากลเรื่องสิทธิมนุษยชน” เราตระหนักหรือไม่ว่านี่คือ “การประทับอยู่” ของพระองค์ผู้อยู่ “ในหมู่มนุษย์” แม้ว่ามนุษย์ “ไม่รู้จัก” พระองค์ ... “ข้าพเจ้าหิว และท่านก็ยอมรับว่าข้าพเจ้ามีสิทธิจะมีชีวิต ... ข้าพเจ้าถูกจองจำในคุก ถูกเบียดเบียน ถูกกระทำทารุณกรรม และท่านก็ยอมรับว่าข้าพเจ้ามีสิทธิได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี” ... ความคาดหวังอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติว่าจะมีความยุติธรรมมากขึ้นนี้คือ “การประทับอยู่” ของพระองค์ผู้ทรงเป็น “ความยุติธรรมอันสมบูรณ์” ... นี่คือ “เครื่องหมายแห่งกาลเวลา” อย่างหนึ่งไม่ใช่หรือ ที่มนุษย์ทุกศาสนา ประมุขของรัฐต่าง ๆ ของอุดมการณ์ต่าง ๆ สามารถประกาศข้อความเช่นนี้ร่วมกัน ... “มีผู้หนึ่งประทับอยู่ในหมู่ท่าน ... แม้ว่าท่านระบุชื่อของพระองค์ไม่ได้ก็ตาม” ...

    ไม่เป็นการเหมาะสมสำหรับเราคริสตชนที่จะหยิบฉวย และถือว่าขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนนี้เป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว เพราะเราเองก็เย้ยหยันสิทธิเหล่านี้ทุกครั้งที่เราเหยียดหยามพี่น้องคนใดของเรา แต่เราย่อมอดไม่ได้ที่จะยินดีเมื่อเราเห็นแนวโน้มที่วันนี้มีเสียงเรียกร้องมากขึ้นให้เคารพสิทธิของมนุษย์ทุกคน – เราผู้รู้ว่าพระเจ้าเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ และในพระคริสตเจ้า “ธรรมชาติมนุษย์ได้รับการยกชูขึ้นให้มีศักดิ์ศรีอย่างที่ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน” – ไม่เพียงบุคคลที่เชื่อในพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่รวมถึงมนุษย์ผู้มีน้ำใจดีทุกคน “ซึ่งพระหรรษทานกำลังทำงานอยู่ในหัวใจของเขาโดยที่ตามองไม่เห็น” – ดังที่สภาวาติกันที่ 2 ระบุอย่างชัดเจน (Church in the Modern World, 22:2-4).

เป็นผู้ที่ท่านไม่รู้จัก ผู้นั้นมาภายหลังข้าพเจ้า ...

    ตลอดชีวิตของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ไม่มีใครรู้จัก ...

    พระเจ้าไม่ได้เสด็จมาเหมือนเสียงแตร หรือเหมือนฟ้าผ่ากลางพายุฝน พระเจ้าไม่ทรงกดขี่ หรือแสดงอำนาจเหนือผู้ใด ... พระองค์ทรงเหมือนกับเสียงกระซิบของลมที่ท่าน “ไม่รู้ว่าลมพัดมาจากไหน และจะพัดไปไหน” (ยน 3:8) ...

    พระเจ้าทรงเป็น “ผู้ที่ยอมให้ผู้อื่นกดขี่ กล่าวหา และจับพระองค์ตรึงกางเขน” ... เป็นความคิดที่แย้งกันในตัวหรือ ... เปล่าเลย ... นี่คือความจริงของพระเจ้าผู้ทรงเป็นได้เพียง “พระเจ้าผู้ซ่อนพระองค์” เพราะเราไม่มีทางเอื้อมถึงภวันต์ (Being) ของพระองค์ ... และเราไม่มีทางเข้าใจอัตลักษณ์ของพระเยซูเจ้า (“ท่านเป็นใคร”) ได้ด้วยคำถามตามหลักเหตุผล พระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าที่ไม่มีใครรู้จัก” พระเจ้าผู้ซ่อนพระองค์!

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้จำพระองค์ได้ในสถานที่ซึ่งพระองค์ทรงซ่อนพระองค์ ข้าพเจ้ามองหาพระองค์ในสุขภาพที่ดี ในความสำเร็จ ในมิตรภาพ ในความยินดีในชีวิต – และพระองค์ก็ประทับอยู่ในที่นั้นแน่นอน! แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้าคือโรคภัยไข้เจ็บ ความล้มเหลวในชีวิตสมรส ความล้มเหลวในหน้าที่บิดามารดา และในอาชีพของข้าพเจ้า ในความยากจน ... พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าไม่ให้ผ่านเลยการประทับอยู่ของพระองค์ ...

    เพื่อนเอ๋ย ถ้าท่านค้นพบเราอย่างที่เราเป็น  - ซ่อนตัว แต่อยู่กับท่านเสมอ - ท่านจะค้นพบต้นกำเนิดของความยินดี ซึ่งไม่มีสิ่งใด หรือผู้ใด สามารถพรากไปจากท่านได้ ... ความยินดีแห่งบทเพลงสรรเสริญของผู้ยากไร้ ความยินดีของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ผู้มองเห็นความสำคัญของตนเองลดลงเรื่อย ๆ และพบว่าบัดนี้ความยินดีของเขาสมบูรณ์แล้ว (ยน :29-30)

... ข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของเขา

    ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เป็นผู้ที่ “ถอยออกไปอย่างถ่อมตนเบื้องหน้าผู้ที่เขาประกาศว่าจะมาถึง” ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เป็นพยานโดยแท้ ชีวิตของเขาต้องเชื่อมโยงกับชีวิตของอีกบุคคลหนึ่งโดยสิ้นเชิง ...

    เขาไม่ยอมรับสมญาพระเมสสิยาห์ (ยน 1:20) เขายอม “หายตัวไป” เพื่อให้อีกผู้หนึ่ง “ยิ่งใหญ่ขึ้น” (ยน 3:30) เขาไม่ใช่แสงสว่าง แต่เป็นตะเกียงดวงน้อยที่ส่องแสงยามกลางคืน (ยน 5:35) เขาเป็นเพียง “เพื่อนเจ้าบ่าว” ที่ยืนอยู่ห่าง ๆ อย่างสงบเสงี่ยม (ยน 3:29) จุดสูงสุดของการเทศน์สอนของเขา คือ เมื่อเขาจมเรือของตนเองเพื่อพระเยซูเจ้า ด้วยการยอมพรากจากศิษย์ของตนเอง โดยส่งศิษย์ของเขาให้ไปติดตามพระเยซูเจ้า (ยน 1:25-30) ในที่สุด เขาตายโดยไม่ได้เห็นชัยชนะของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ เขาตายท่ามกลางความมืดมนของความสงสัย “ท่านคือผู้ที่จะมา หรือเราต้องรอคอยใครอีก” (มธ 11:2-19)

    ถูกแล้ว ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ไม่ได้เป็นเพียง “พยาน” แต่เขายังเป็น “ต้นแบบของผู้มีความเชื่อ” อีกด้วย ... เขาเป็นผู้ที่ไม่เห็น แต่เชื่อ (ยน 20:29)

    นักบุญยอห์น บัปติสท์ ช่วยวิงวอนเพื่อเราด้วยเทอญ

    นักบุญยอห์น บัปติสท์ โปรดวอนขอพระเจ้าให้ประทานวิจารณญาณ และความถ่อมตนเหมือนท่านแก่เราด้วยเทอญ

    นักบุญยอห์น บัปติสท์ โปรดวอนขอพระเจ้าให้เรามี “ความรักอันบ้าคลั่ง” จนพร้อมจะสละตนเองเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น และให้ความยินดีของเราสมบูรณ์ด้วยเทอญ ...

ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้าง ...

    สมณะ และชาวเลวี เหล่านี้ (ยน 1:19) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน “การชำระตน” เขามาตรวจสอบความจริงแท้ของบุคคลที่กล่าวอ้างถึง “การให้อภัยบาป” (มก 1:4) ซึ่งเป็นบุคคลที่น่าสงสัย และสมควรถูกประณามจากศาสนาแท้ – คือศาสนาในกรุงเยรูซาเล็ม (ยน 1:19) ...

    ถูกแล้ว ผู้ที่มาสอบสวนยอห์น เป็น “ฟาริสี” (ยน 1:24) คำว่า Perushim ในภาษาฮีบรู แปลว่า “บริสุทธิ์” ... คนเหล่านี้รู้กฎหมายเป็นอย่างดี รู้ว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ... แต่ฟาริสี ผู้มีความตั้งใจดีเหล่านี้ ผู้พิถีพิถันเกี่ยวกับการประกอบพิธีที่ถูกต้อง กลับไม่สังเกตเห็นบุคคลเดียวที่สามารถให้อภัยบาปได้ ... และคนส่วนใหญ่จะปฏิเสธพระองค์

    ทั้งนี้เพราะยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง มั่นใจในข้อหนึ่งว่า “ผู้รับใช้” ที่ยากไร้เช่นเขา ไม่มีอำนาจอภัยบาป เพราะเขา “ใช้น้ำทำพิธีล้าง” เท่านั้น แต่ผู้ที่จะมาภายหลังเขา ... หลังจากพิธีล้างของเขา ... คือ “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) ...

    พระเจ้าข้า ขณะที่วันพระคริสตสมภพใกล้เข้ามา โปรดทรงช่วยเราให้เข้าใกล้พระองค์มากขึ้น เพราะพระองค์เพียงผู้เดียวทรงลบล้างบาปของโลกได้ ...

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่หมู่บ้านเบธานี อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดน ...

    คนเหล่านี้มาจากกรุงเยรูซาเล็ม – นครศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ และควบคุมพระวาจาของพระเจ้า ... แต่พระเจ้าทรงกำลังเผยพระองค์ในต่างแดน ที่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดน ... ผู้นิพนธ์พระวรสารมั่นใจในความสำคัญของสถานที่นี้มาก จนเขาย้ำเรื่องนี้ถึงสองครั้ง (ยน 1:28 และ 10:40)

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้เป็นธรรมทูต และไม่ขังตนเองอยู่แต่ภายในประเทศของเรา ...

    โปรดทรงเปิดใจเราให้มองเห็นการประทับอยู่อย่างเร้นลับของพระองค์ ... ที่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเทอญ!