แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันสมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า
อพยพ 24:3-8; ฮีบรู 9:11-15; มาระโก 14:12-16, 22-26

บทรำพึงที่ 1
งานเลี้ยงในพิธีถวายเครื่องบูชา
พิธีบูชาขอบพระคุณไม่ใช้การเลี้ยงอาหารทั่วไป แต่เป็นงานเลี้ยงในพิธีถวายเครื่องบูชา

    ชาร์ลส บัตเลอร์ ตัดสินใจเดินทางไปเยี่ยมบุตรชายของเขา ซึ่งทำงานอยู่แถบลุ่มแม่น้ำอเมซอนในประเทศบราซิล เมื่อชาร์ลสมาถึงบราซิล เขาเช่าเครื่องบินเล็กเพื่อเดินทางไปยังเมืองเล็ก ๆ ในเขตลุ่มน้ำนี้ เขาและนักบินเข้าไปกินอาหารในร้านอาหารที่นั่น

    ชายชราคนหนึ่งในร้านอาหารเริ่มต้นพูดคุยกับนักบินที่เป็นชาวบราซิล ในไม่ช้าเขาทั้งสองก็รู้ว่าต่างก็มาจากจังหวัดเดียวกัน ต่อมาเขาก็พบว่าทั้งสองมาจากเมืองเดียวกัน เมื่อชาร์ลสและนักบินกินอาหารเสร็จ ชายชราพูดเย้านักบินชาวบราซิลนั้นว่า “รู้ไหม ถ้าเราคุยกันต่อ เราอาจค้นพบว่าเรามาจากครอบครัวเดียวกันก็ได้”

    เรื่องนี้เหมาะสมจะเป็นอารัมภบทสำหรับการกล่าวถึงพิธีบูชาขอบพระคุณ เพราะพิธีบูชาขอบพระคุณเป็นงานเลี้ยงที่ทำให้เราค้นพบว่าเราคริสตชนเป็นครอบครัวเดียวกัน เราค้นพบว่าเราเป็นพี่น้องกัน และเป็นส่วนหนึ่งของพระกายของพระคริสตเจ้า

    นักบุญเปาโลกล่าวถึงพิธีบูชาขอบพระคุณว่า “มีปังก้อนเดียว แม้ว่าจะมีหลายคน เราก็เป็นกายเดียวกัน เพราะเราทุกคนมีส่วนร่วมกินปังก้อนเดียวกัน” (1 คร 10:17) และนี่คือคำอธิบายการฉลองพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้าของเราในวันนี้

    นี่คือการเฉลิมฉลองของขวัญอันยิ่งใหญ่ที่พระเยซูเจ้าประทานให้แก่ศิษย์ของพระองค์ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ลูกาบรรยายของขวัญของพระเยซูเจ้าไว้ดังนี้ “พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ... ประทานให้บรรดาศิษย์ ตรัสว่า ‘นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด’ ... (ในทำนองเดียวกัน เมื่อกินอาหารเสร็จแล้ว) พระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสว่า ‘ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเราที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย’ ” (ลก 22:19-20)

    พระวาจาของพระเยซูเจ้าสำคัญมาก พระองค์ตรัสว่า “นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย” และ “(นี่คือโลหิตของเรา) ที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย”

    คำว่า “มอบเพื่อท่าน” และ “หลั่งเพื่อท่าน” หมายถึงการถวายพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้าเป็นเครื่องบูชาบนไม้กางเขน นักบุญเปาโลแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมิติ “เครื่องบูชา” ของพิธีบูชาขอบพระคุณว่า “ถ้วยถวายพระพร ซึ่งเราใช้ขอบพระคุณพระเจ้านั้น มิได้ทำให้เรามีส่วนร่วมในพระโลหิตของพระคริสตเจ้าหรือ และปังที่เราบินั้น มิได้ทำให้เรามีส่วนร่วมในพระกายของพระคริสตเจ้าหรือ” (1 คร 10:16)

    ประเด็นที่เปาโลกล่าวถึงนี้เป็นประเด็นสำคัญ ทุกครั้งที่เราเฉลิมฉลองพิธีบูชาขอบพระคุณร่วมกัน เรากำลังมีส่วนร่วมกับพระเยซูเจ้าในการถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาแด่พระบิดาของพระองค์ หรืออาจกล่าวได้อีกทางหนึ่งว่า พิธีบูชาขอบพระคุณที่เราฉลองร่วมกันทุกวันอาทิตย์นั้น ไม่ใช่การถวายเครื่องบูชาครั้งใหม่ แต่เป็นการถวายเครื่องบูชาเดิมที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นถวายระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย และจบลงที่เนินเขากลโกธา

    เมื่อเราเข้าใจความจริงอันเหลือเชื่อนี้ พิธีบูชาขอบพระคุณจะมีความหมายใหม่สำหรับเรา เหมือนกับความหมายใหม่สำหรับชาวคาทอลิกที่ประเทศกัวเตมาลา หลังจากการเบียดเบียนศาสนาใน ค.ศ. 1980 ซึ่งส่งผลให้หาพระสงฆ์ไม่ได้เลยในพื้นที่บริเวณกว้างของประเทศ แม้ว่าไม่มีพระสงฆ์มาประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณให้ แต่คาทอลิกชาวกัวเตมาลาก็ยังมาชุมนุมกันในวัดของตนในวันอาทิตย์

    เฟอร์นานโด เบอร์มิวเดซ บรรยายการชุมนุมโดยปราศจากพระสงฆ์เช่นนี้ในหนังสือของเขา ชื่อ Death and Resurrection in Guatemala (ความตายและการกลับคืนชีพในกัวเตมาลา) ว่า “ทุกคนมาอยู่รวมกัน เขาคุกเข่าและสารภาพบาปออกมาดัง ๆ พร้อมกัน จากนั้นเขาก็ขับร้องเพลงขออภัยพระเจ้า” หลังจากนั้น ผู้นำฆราวาสคนหนึ่งจะอ่านข้อความหนึ่งจากพระคัมภีร์ และอธิบายความหมายเท่าที่เขาสามารถทำได้ ต่อจากนั้น เขาจะเชิญคนอื่น ๆ ให้แบ่งปันกับกลุ่มสัตบุรุษว่าข้อความนั้นมีความหมายอย่างไรสำหรับเขาเป็นส่วนตัว

    เดือนละหนึ่งครั้ง เขตวัดทั้งหลายจะส่งผู้แทนคนหนึ่งเดินทางไปยังพื้นที่หนึ่งของกัวเตมาลาที่ยังมีพระสงฆ์ปฏิบัติศาสนบริการอยู่ การเดินทางนี้ต้องใช้เวลาเดินเท้านานถึง 18 ชั่วโมง ผู้แทนคนนี้จะเข้าร่วมในงานเลี้ยงอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้าในนามของเขตวัดของเขา เบอร์มิวเดซบรรยายเหตุการณ์หนึ่งในพิธีมิสซาเหล่านี้ว่า “บนพระแท่นจะเต็มไปด้วยตะกร้าขนมปัง หลังมิสซา ผู้เข้าร่วมพิธีแต่ละคนจะเดินออกมาข้างหน้า และนำตะกร้าของเขากลับไปบ้าน บัดนี้ขนมปังนั้นได้กลายเป็นศีลมหาสนิทสำหรับพี่น้องชายหญิงในแต่ละชุมชน”

    การฉลองพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า มีจุดมุ่งหมายให้เรามีความรักประเภทนี้ต่อพระกายของพระคริสตเจ้า นี่คือการฉลองเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าประทานพระองค์เองแก่ศิษย์ของพระองค์ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ในโอกาสอันน่าจดจำนั้น พระเยซูเจ้า “ทรงหยิบขนมปัง ตรัสขอบพระคุณ ทรงบิขนมปังประทานให้บรรดาศิษย์ ตรัสว่า ‘นี่เป็นกายของเรา’... ในทำนองเดียวกัน ... พระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสว่า ‘ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเราที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย’ ” (ลก 22:19-20)

    นี่คือธรรมล้ำลึกที่เรามาชุมนุมกันเพื่อเฉลิมฉลองเป็นพิเศษในวันสมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้โดยเสนอคำแนะนำต่อไปนี้ ก่อนถึงเวลารับศีลมหาสนิทสักสองสามนาที เมื่อพระสงฆ์ชูศีลขึ้น และกล่าวว่า “พระกายพระคริสตเจ้า” ขอให้ท่านพยายามให้มากเป็นพิเศษที่จะตระหนักว่าท่านกำลังจะรับอะไร

    นี่คือพระกายที่มีชีวิตของพระเยซูเจ้า นี่คือพระเยซูเจ้าผู้เสด็จมาบังเกิดที่เมืองเบธเลเฮมเพื่อเรา นี่คือพระเยซูเจ้าผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อเรา และนี่คือพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายเพื่อเรา
    เมื่อเราคิดถึงธรรมล้ำลึกนี้ในลักษณะนี้ ศีลมหาสนิทจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่เกินจินตนาการของเรา มีแต่พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักเท่านั้นที่สามารถประทานของขวัญที่เหลือเชื่อเช่นนี้แก่เราได้

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 14:12-26

วันแรกของเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ เมื่อเขาฆ่าลูกแกะปัสกา บรรดาศิษย์ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์มีพระประสงค์ให้เราจัดเตรียมการเลี้ยงปัสกาที่ไหน”

    พระเยซูเจ้าทรงถูกประหารชีวิตในวันศุกร์ และน่าจะเป็นปี ค.ศ. 30 หรือ 33 ในเวลาที่เขาฆ่าลูกแกะกันที่ลานพระวิหาร เพื่อเป็นเครื่องบูชาสำหรับเทศกาลปัสกา (ยน 19:14) เราไม่รู้แน่ชัดว่าอาหารค่ำมื้อสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ที่เรารู้คือพระองค์ทรงถือว่านี่คือการเลี้ยงปัสกา...

    ปัสกาเป็นวันฉลองใหญ่ที่สุดของชาวยิว เป็น “วันปลดปล่อย” สำหรับชนชาตินี้ ระหว่างการเลี้ยงอาหารที่บ้านระหว่างสมาชิกครอบครัว ผู้เป็นบิดาต้องสั่งสอนบุตร และเตือนเขาให้ระลึกว่าบรรพบุรุษของเขาได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสอย่างไร ... ชาวยิวตระหนักดีว่าพวกเขาเป็นชนชาติที่ “เคยเป็นทาส” – แต่บัดนี้ พวกเขาเป็นอิสระ ... พระเจ้าทรงเข้าแทรกแซงช่วยเหลือ ทรงเข้าข้างเขาในการกบฏต่อผู้กดขี่ ทรงช่วยเขาให้หนีออกจากประเทศอียิปต์ และเข้าสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญา...

    ในแต่ละปีระหว่างที่พระเยซูเจ้ายังเป็นเด็กและวัยรุ่น พระองค์ทรงฉลองเทศกาลนี้ด้วยการกินเลี้ยงกับโยเซฟและพระนางมารีย์ พระองค์ทรงจำขั้นตอนของพิธีได้ขึ้นใจ พิธีที่ประกอบด้วยขนมปัง เหล้าองุ่น ลูกแกะ สมุนไพรรสขม คำภาวนา และเพลงสดุดี ... แต่ในคืนนี้ พระเยซูเจ้าทรงทำให้การกินเลี้ยงตามธรรมเนียมนี้มีความหมายใหม่ และสาระใหม่ วันนี้พระองค์เองจะทรงเป็นผู้ปลดปล่อย...

    ปัสกา ... การปลดปล่อย ... การกินเลี้ยง – งานเลี้ยงที่ปลดปล่อยให้พ้นจากการเป็นทาส...

    การเฉลิมฉลองที่กระทำเป็นกิจวัตรอาจทำให้มองว่าไม่สำคัญ ... มีความเสี่ยงมากเพียงไรที่พิธีมิสซาของเราจะกลายเป็นกิจกรรมที่ไร้รสชาติและน่าเบื่อ ... การประกอบพิธีมิสซาอย่างจืดชืดเป็นเรื่องน่าเศร้า ... นับว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ที่เราให้ความสนใจกับ “การประกอบพิธี” และ “ความเคารพต่อจารีต และกฎพิธีกรรม” เป็นอันดับแรก!
 
    เราลืมไปแล้วหรือว่าเราจำเป็นต้องได้รับการปลดปล่อยอยู่เสมอ – เราจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือให้รอดพ้นอยู่เสมอ? ... ถูกแล้ว ไม่ว่าเราอยู่ที่ใด เราก็ยังเป็น “ทาส” เหมือนเดิม! ขอให้เราพิจารณาชีวิตของเราให้ถี่ถ้วนและจริงใจเถิด ... ให้เราตระหนักว่ามีโซ่ตรวนใดบ้างที่ยังล่ามเราอยู่ ... เมื่อนั้น เราก็จะถามพระเยซูเจ้าเช่นเดียวกันว่า “พระองค์มีพระประสงค์ให้เราจัดเตรียมการเลี้ยงปัสกาที่ไหน” – งานเลี้ยงเพื่อเฉลิมฉลองการปลดปล่อยของเรา...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงปลดปล่อยเราให้พ้นจากบาป และจากความตายด้วยเทอญ...

พระองค์จึงทรงใช้ศิษย์สองคนไป สั่งเขาว่า “จงเข้าไปในกรุง แล้วจะพบชายคนหนึ่งกำลังเดินแบกหม้อน้ำอยู่ จงตามเขาไป”

    พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า! พระองค์ทรงวางแผนไว้เป็นอย่างดี ... พระองค์จะทรงเป็นเจ้าภาพ – นี่คืองานเลี้ยงของพระองค์ และพระองค์จะทรงเป็นประธานในงานนี้ ... ศิษย์ของพระองค์จะเป็นแขกรับเชิญ พระองค์ทรงเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการเตรียมงาน...

    เราจะเห็นว่าชาวยิวให้ความสำคัญกับรายละเอียดเหล่านี้ ... เป็นความจริงที่งานฉลองทุกครั้งจำเป็นต้องมีการเตรียมการ แม้แต่งานเลี้ยงในปัจจุบัน ลองคิดถึงงานเลี้ยงในหมู่บ้าน หรืองานฉลองของเขตวัด ... การรับศีลมหาสนิทครั้งแรกของเรา หรืองานหมั้น หรืองานเลี้ยงสมรสเถิด ... เราย่อมต้องการให้งานเลี้ยงนั้นประสบความสำเร็จ ดังนั้นเราจึงทำทุกอย่างโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย...

    แต่เราเตรียมการอย่างไรบ้างสำหรับพิธีมิสซาของเรา? เราเตรียมตัวอย่างดีหรือเปล่า? ... บ่อยครั้งเพียงไรที่เราไปร่วมพิธีมิสซาอย่างรีบร้อนและไม่ได้เตรียมตัว และอยากให้มิสซาจบลงเร็ว ๆ ... ถ้าเพียงเราตัดสินใจเหมือนกับพระเยซูเจ้า ที่จะทำให้พิธีมิสซาของเราเป็นการเฉลิมฉลองอย่างแท้จริง และยอมสละเวลาเตรียมการให้พร้อม ... ก่อนอื่น เราต้องไปให้ทันเวลา! และไม่ควรหรือที่เราจะฝึกซ้อมขับร้องเพลงตั้งแต่ก่อนพิธี และถือว่าเป็นส่วนสำคัญของการเฉลิมฉลอง?...

    ในคืนนั้น พระเยซูเจ้าทรงเตรียมทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะพระองค์ทรงต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างงดงาม ถูกต้อง และสง่างาม...

ศิษย์ทั้งสองคนออกเดินทางเข้าไปในกรุง พบสิ่งต่าง ๆ ดังที่พระองค์ทรงบอกไว้ จึงจัดเตรียมปัสกา

    มาระโกย้ำจุดนี้ เขาต้องการให้เห็นอำนาจและความจริงจังของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงตัดสินใจในทุกเรื่อง พระองค์ทรงเป็นเจ้านายอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง พระองค์ทรงรู้ว่าอาหารมื้อนี้เป็นมื้อสุดท้ายที่พระองค์จะเสวยร่วมกับมิตรสหายของพระองค์ นี่คือ “เวลา” สำคัญ – นักบุญยอห์นบอกเราว่า นี่คือ “เวลาของพระองค์” จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?...

    เราถูกนำเข้าไปสู่กิจกรรมสำคัญ เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกของเรา และของมนุษยชาติ เหตุการณ์นั้นคือการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า – การปลดปล่อยโลกที่ตกในบาป...

    ข้าพเจ้ากำลังคิดถึงอะไรเมื่อข้าพเจ้ากำลังเดินทางไปร่วมพิธีมิสซาในวันอาทิตย์ ... ข้าพเจ้าเตรียมจิตใจอย่างไร? ...มิสซาวันอาทิตย์นี้ยังเป็น “เหตุการณ์สำคัญ” สำหรับข้าพเจ้าตลอดสัปดาห์หรือเปล่า – เป็นเหตุการณ์ที่ทุกสิ่งทุกอย่างมาบรรจบกัน และยกถวายแด่พระเจ้าหรือเปล่า? หรือว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของเวลาที่ “ขโมยมา” จากการงานอื่น ๆ ที่ข้าพเจ้าคิดว่าสำคัญกว่า จนแทบทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกผิดที่มาร่วมพิธี? ... มิสซาวันอาทิตย์เป็นเพียงกิจกรรมเล็ก ๆ ในชีวิตของข้าพเจ้าหรือเปล่า?...

ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปัง ประทานให้เขาเหล่านั้น...

    เรามีคำบอกเล่าเหตุการณ์นี้สี่ฉบับ คือ คำบอกเล่าของมาระโก ลูกา มัทธิว และเปาโล (1 คร 11:23-25) คำบอกเล่าสี่ฉบับนี้บอกข้อมูลสำคัญตรงกัน แต่ต่างกันตรงถ้อยคำที่พระเยซูเจ้าตรัส...

    ทั้งพระเยซูเจ้า และพระศาสนจักรยุคแรก ไม่ได้มีใจจดจ่ออยู่กับกฎพิธีกรรมเท่านั้น เราต้องเน้นความจริงที่เห็นได้ชัดข้อนี้ เพื่อไม่ให้เรามองศีลศักดิ์สิทธิ์ใน “แง่วัตถุ” มากเกินไป กล่าวคือ เราไม่ควรมีความคิดว่าเราสามารถผูกมัดพระเจ้าด้วยคำพูดเหมือนกับการท่องคาถา ... อันที่จริง เราไม่รู้ว่าพระเยซูเจ้าตรัสอะไรอย่างแน่ชัดในคืนนั้น คำบอกเล่าทั้งสี่ฉบับนี้ไม่ใช่เทปบันทึกเสียง แต่เป็นตัวบทพิธีกรรม ซึ่งใช้ข้อความต่างกัน และใช้ในกลุ่มคริสตชนต่าง ๆ ในพระศาสนจักรยุคแรก ... แต่เราแน่ใจได้ว่ากลุ่มคริสตชนเหล่านี้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์นี้ในแง่ของเวลา และเขาเคารพเจตนารมณ์ของพระเยซูเจ้า แม้ว่าเขาอาจไม่ได้พูดตามพระวาจาของพระองค์ทุกตัวอักษร...

    ก่อนอื่น ขอให้เรานึกภาพในจินตนาการว่าพระเยซูเจ้าทรงแสดงกิริยาท่าทางอย่างไร

    พระองค์ทรง “หยิบ” ขนมปัง ... ข้าพเจ้ามองเห็นพระหัตถ์ของพระองค์ยื่นออกมาหยิบขนมปังบนโต๊ะอาหาร ข้าพเจ้ามองพระหัตถ์ของพระเยซูเจ้าที่กำลังถือขนมปังไร้เชื้อ – ขนมปังนี้รสชาติไม่อร่อย เพราะบรรพบุรุษของเราไม่มีเวลารอให้แป้งขึ้นฟู...

    พระองค์ “ตรัสถวายพระพร” ... พระเยซูเจ้าตรัสถวายพระพรสำหรับขนมปังนี้ เป็นคำขอบพระคุณพระเจ้า ... เมื่อกล่าวถึงถ้วย มาระโกใช้คำภาษากรีกว่า eucharistesas (“ตรัสขอบพระคุณ”) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Eucharist (พิธีบูชาขอบพระคุณ) ข้าพเจ้าฟังพระเยซูเจ้าขณะที่ทรงภาวนา ... ขณะที่พระองค์ตรัส “ขอบพระคุณ” ด้วยความยินดีต่อพระบิดา ... เราลืมไปหรือเปล่าว่าพิธีมิสซาคือการถวายบูชาขอบพระคุณ?...

    พระองค์ทรง “บิ” ขนมปัง ... นี่ไม่ใช่กิริยาที่แปลกประหลาด เพราะผู้เป็นบิดาในทุกครอบครัวต้องทำกิริยาเดียวกันนี้นับครั้งไม่ถ้วน เพื่อแบ่งอาหารให้แก่สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวของเขา แต่สัญลักษณ์นี้งดงาม เพราะ “ทุกคนกินขนมปังก้อนเดียวกัน” ซึ่งเน้นเรื่อง “ความสนิทสัมพันธ์ที่โต๊ะอาหาร” ซึ่งในไม่ช้าจะกลายเป็นความคิดสำคัญสำหรับคริสตชนกลุ่มต่าง ๆ ในยุคแรก ... มิสซาท้าทายเราให้มองเห็นรากของความโน้มเอียงที่เห็นแก่ตัวของเรา เราย่อมล้อเลียนพิธีบูชาขอบพระคุณ ถ้าเรายอมให้มี “กำแพงมาแบ่งแยกเราออกจากกัน” ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงทำลายไปแล้ว (อฟ 2:14) ... ข้าพเจ้ามองพระเยซูเจ้าขณะที่ทรงบิขนมปัง ... “เขาจำพระองค์ได้เมื่อพระองค์ทรงบิขนมปัง”...

    พระองค์ “ประทานให้” ... เมื่อข้าพเจ้ารับศีลมหาสนิท ข้าพเจ้ารู้ตัวหรือไม่ว่าพระเยซูเจ้าเองทรงยื่นอาหารคำนี้ให้ข้าพเจ้า? ... นี่คือกิริยาอันศักดิ์สิทธิ์ที่เต็มไปด้วยความหมายของธรรมล้ำลึก ... และกิริยาของเราที่ยื่นหน้า หรือยื่นมือของเราออกไปต้อนรับพระองค์ ก็เป็นกิริยาที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน...

... ตรัสว่า “จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา”

    หลังจากการหารือกันนานหลายศตวรรษ เพราะมีการแปลความหมายของข้อความนี้ต่างกัน คริสตศาสนจักรต่าง ๆ ได้มาประชุมกันเมื่อ ค.ศ. 1974 และเห็นชอบให้ใช้ข้อความที่เหมือนกันต่อไปนี้ “อาหารซึ่งประกอบด้วยขนมปังและเหล้าองุ่นมื้อนี้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องหมายอันมีประสิทธิผล และเป็นการรับรองการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าเอง ... พระคริสตเจ้าทรงสละชีวิตของพระองค์เพื่อมนุษย์ทุกคน และประทานพระองค์เองแก่เขา ให้เป็นปังแห่งชีวิต ด้วยเหตุนี้ งานเลี้ยงบูชาขอบพระคุณจึงเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระองค์ ... พระจิตเจ้าทรงทำงานในพิธีบูชาขอบพระคุณ ทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้าประทับอยู่จริง และประทานพระองค์แก่เราในปังและเหล้าองุ่น โดยอาศัยการเอ่ยถ้อยคำ ‘ตั้งศีลมหาสนิท’”

    เห็นได้ชัดว่าเรากำลังอยู่เบื้องหน้าธรรมล้ำลึกข้อหนึ่ง ... นักบุญ โทมัส อากวีนัส นักเทววิทยาผู้ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับศีลมหาสนิท ได้เขียนไว้ตั้งแต่ยุคกลางแล้วว่า “การประทับอยู่อย่างแท้จริง” นี้ ไม่ได้หมายถึงการประทับอยู่ “เฉพาะที่” ซึ่งจะจำกัดพระคริสตเจ้าให้อยู่แต่ภายในปังและเหล้าองุ่น หรือทำให้คิดถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางเคมีของสสาร เพราะ “รูปลักษณ์ภายนอกทั้งปวง” ยังคงอยู่ในสภาพเดิม (Theologica Summa, III 76/3-5, 77/5-8) เราควรตอกย้ำให้คนสมัยใหม่ได้ยินความจริงตามธรรมประเพณีเหล่านี้ นักบุญโทมัส อากวีนัส เป็นผู้ประพันธ์บทภาวนาสำหรับพิธีมิสซาฉลองพระวรกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า ที่เมืองโอวีเอโต เมื่อ ค.ศ. 1264 โทมัส และพระศาสนจักรยุคแรก “เชื่อ” – แต่ไม่เสนอคำอธิบายธรรมล้ำลึกนี้แบบง่าย ๆ จนอาจทำให้เข้าใจผิด ... นักบุญเปาโลเคยบอกไม่ใช่หรือว่าเราจำเป็นต้องมีความเชื่อ เพื่อจะมองเห็นว่าปังและเหล้าองุ่นนั้นเป็นพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า (1 คร 11:23-29)...

แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสขอบพระคุณ ประทานให้เขา และทุกคนดื่มจากถ้วยนั้น พระองค์ตรัสกับเขาว่า “นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อคนจำนวนมาก”

    นี่คือคำแปลจากพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกของมาระโก พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ในไม่ช้าอย่างไร ... พระองค์จะทรงถวายพระองค์แทนที่ลูกแกะปัสกา ไม่มีการเอ่ยถึงลูกแกะเลยระหว่างการกินเลี้ยงปัสกานี้ ทั้งที่ลูกแกะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของงานเลี้ยงนี้ ... พระดำรัสของพระเยซูเจ้าทำให้คิดถึงผู้รับใช้ของพระเจ้า ผู้ “สละชีวิตของเขาเพื่อคนจำนวนมาก” (อสย 53:11)...

    นี่คือ “พันธสัญญา” ... พระเจ้าทรงเข้ามาอยู่ในความเป็นจริงหนึ่งเดียวกันกับมนุษยชาติ ... ทรงกลายเป็นคนหนึ่งใน “วงศ์ตระกูล” ของเรา เป็นสมาชิกครอบครัวของเรา และเป็นพันธมิตรของเรา ... และพันธสัญญานี้ได้รับการรับรองด้วยสิ่งที่สำคัญที่สุดในตัวเรา คือโลหิต!

เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า เราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นใด จนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ในพระอาณาจักรของพระเจ้า” เมื่อขับร้องเพลงสดุดีแล้ว ทุกคนออกจากห้อง เพื่อไปยังภูเขามะกอกเทศ