แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา
เลวีนิติ 13:1-2, 44-46; 1 โครินธ์ 10:31 – 11:1; มาระโก 1:40-45

บทรำพึงที่ 1
นาวิกโยธินผู้มีใจเมตตาสงสาร
ถ้าเราต้องการมีใจเมตตาสงสารเหมือนกับพระเยซูเจ้า เราต้องพร้อมจะยอมรับความยากลำบากที่บางครั้งเป็นผลมาจากความสงสารของเรา

    เมื่อหลายปีก่อน ชายชราคนหนึ่งล้มฟุบลงที่มุมถนนกลางย่านศูนย์การค้าในเมืองบรุ๊คลินซึ่งการจราจรคับคั่ง ภายในเวลาไม่กี่นาที รถพยาบาลก็นำตัวเขาไปส่งที่โรงพยาบาล คิงส์เคาน์ตี้ ขณะอยู่ในโรงพยาบาลเขาพร่ำเรียกบุตรชายของเขา นางพยาบาลคนหนึ่งพบจดหมายเก่า ๆ ฉบับหนึ่งในกระเป๋าเงินของชายชรา เธอทราบจากจดหมายฉบับนั้นว่าบุตรชายของเขาเป็นนาวิกโยธินประจำการอยู่ที่รัฐนอร์ทคาโรไลนา

    คืนนั้นเอง นาวิกโยธินท่าทางกระวนกระวายคนหนึ่งเดินเข้ามาในโรงพยาบาล นางพยาบาลพาเขาไปที่ข้างเตียงของชายชราทันที ชายชรากำลังสะลึมสะลือเพราะได้รับยาระงับประสาท นางพยาบาลต้องบอกเขาหลายครั้งว่า “ลูกชายของคุณมาแล้ว ลูกชายของคุณมาแล้ว”

    ในที่สุดชายชราก็ลืมตา เขามองแทบไม่เห็นบุตรชาย แต่เขาจำเครื่องแบบนาวิกโยธินได้ เวลานั้น บุตรชายจับมือบิดาของเขามากุมไว้ด้วยความรัก นาวิกโยธินผู้นั้นนั่งข้างเตียงของชายชราตลอดคืนนั้น เขาลูบมือของชายชราเป็นครั้งคราว และพูดกับเขาอย่างอ่อนโยน

    นางพยาบาลบอกนาวิกโยธินผู้นั้นหลายครั้งให้เขาไปพักผ่อน และหาอาหารกินรองท้อง แต่เขาปฏิเสธ เมื่อใกล้รุ่งเช้า ชายชราก็สิ้นใจ เมื่อนางพยาบาลกล่าวแสดงความเสียใจกับชายหนุ่ม เขาถามเธอว่า “เขาเป็นใครครับ?”

    นางพยาบาลถามว่า “เขาไม่ใช่คุณพ่อของคุณหรือ?” นาวิกโยธินตอบว่า “ไม่ใช่ ผมไม่เคยพบเขามาก่อนเลยในชีวิต” นางพยาบาลถามว่า “แล้วทำไมคุณไม่บอกล่ะ?” เขาตอบเธอว่า “ผมน่าจะบอก แต่ผมเห็นได้ว่าเขาป่วยมากจนเขาไม่รู้ว่าผมไม่ใช่ลูกชายของเขา ผมเห็นด้วยว่าเขากำลังทรุดลงอย่างรวดเร็ว และเขาอยากพบลูกชายสักคนหนึ่ง ผมจึงตัดสินใจเป็นลูกชายคนนั้น”

    ผมชอบเรื่องนี้เพราะเหตุผลสองประการ ประการแรก เรื่องนี้แสดงให้เห็นความสงสารที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงต่อคนโรคเรื้อนในพระวรสารวันนี้ มาระโกบอกว่าเมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นคนโรคเรื้อนคนนี้ พระองค์ทรงสงสารตื้นตันพระทัย ทรงยื่นพระหัตถ์ออกไปสัมผัสเขา และรักษาโรคให้เขา

    นาวิกโยธินคนนี้ก็ทำเช่นเดียวกันนี้ เมื่อเขาเห็นชายชรา เขาสงสารและตื้นตันใจ เขายื่นมือออกไปและจับมือชายชรามากุมไว้ เรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นว่านาวิกโยธินผู้นี้ปฏิบัติต่อชายชราด้วยความสงสารเห็นใจ เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงต่อคนโรคเรื้อน
    เหตุผลประการที่สองที่ทำให้เรื่องนี้น่าประทับใจมาก คือ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่านาวิกโยธินผู้นี้ยอมลำบากเพื่อทำอย่างที่ความสงสารของเขาเรียกร้องให้เขาทำ แม้ว่าเขากำลังเหนื่อยจากการเดินทางมาทั้งวันและไม่ได้นอน เขาก็ยังนั่งข้างเตียงและกุมมือชายชราไว้ตลอดคืน

    เขาได้ทำสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเคยทำบ่อย ๆ ในพระวรสาร เช่น มาระโกเล่าว่า ครั้งหนึ่งประชาชนมารุมล้อมพระเยซูเจ้า จนกระทั่งพระองค์ไม่สามารถเสวยอาหารได้ (มก 3:20) แต่พระเยซูเจ้าไม่เคยยอมให้ความลำบากของพระองค์ขัดขวางมิให้พระองค์ทรงสงสารและช่วยเหลือประชาชนผู้ต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์ พระองค์ทรงยอมลำบากอย่างเต็มพระทัย

    เราควรพิจารณาว่าเรื่องของนาวิกโยธินผู้นี้เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร ประการแรก ทั้งสองเรื่องนี้เชิญชวนเราให้ไตร่ตรองว่าเรามีความเมตตาสงสารต่อบุคคลรอบตัวเรามากน้อยเพียงไร เราเอาใจเขามาใส่ใจเรา เหมือนกับที่นาวิกโยธินผู้นี้ทำหรือเปล่า?

    เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1987 ไมเคิล แจ็คสัน นักร้องชื่อดัง ได้เขียนจดหมายถึงนิตยสาร People เกี่ยวกับเรื่องซุบซิบในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเขา ผมขอคัดลอกข้อความในจดหมายของไมเคิล ดังนี้

    “ผมร้องไห้บ่อยมาก ๆ เพราะมันเจ็บปวด โปรดเมตตาผมเถิด ... อย่างที่สุภาษิตโบราณของชาวอินเดียนบอกว่า จงอย่าตัดสินใครจนกว่าคุณจะสวมรองเท้าของเขาและใช้เดินนานสักสองเดือน” สิ่งที่ไมเคิลกำลังร้องขอคือความสงสาร เขากำลังขอร้องสื่อให้คิดว่าตนเองอยู่ในสภาพของเขา และขอให้เข้าใจว่าเขารู้สึกอย่างไรที่ชีวิตส่วนตัวของเขาถูกตีแผ่ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในประเทศ

    เรื่องของนาวิกโยธิน และเรื่องของพระเยซูเจ้า จึงสอนเราว่า เมื่อเราติดต่อกับคนรอบข้าง เราควรเลียนแบบความสงสารของบุคคลทั้งสอง

    ความเกี่ยวข้องประการที่สอง คือ ทั้งสองเรื่องนี้เชิญชวนเราให้ไตร่ตรองว่าเราสมัครใจหรือไม่ที่จะยอมลำบากเพราะความสงสาร ซึ่งบ่อยครั้งไม่ใช่ความลำบากเล็กน้อย

    เมื่อหลายปีก่อน หนังสือพิมพ์ United Press ได้เสนอเรื่องของเด็กชายวัยเจ็ดขวบในรัฐแมสสาชูเสทส์  ขณะที่เขากำลังเล่นอยู่ในรถโรงเรียน เขาได้กลืนดินสอเข้าไปติดอยู่ที่หลอดลม พนักงานขับรถนำรถโรงเรียนเข้าจอดข้างทางทันที เขากระโดดลงจากรถ และพยายามโบกมือเรียกรถบนถนน เพื่อนำตัวเด็กชายไปส่งโรงพยาบาล แต่ไม่มีใครยอมจอดรถ

    ในที่สุด คนขับรถโรงเรียนตัดสินใจกระโดดขวางหน้ารถยนต์คันหนึ่ง และบังคับให้เขาต้องจอด แต่คนขับรถคันนั้นไม่ยอมพาเด็กไปโรงพยาบาล เขาอ้างว่าเขาไปทำงานสายแล้ว ในที่สุด เมื่อเด็กชายไปถึงโรงพยาบาล แพทย์บอกว่าเวลาที่เสียไปนั้นสำคัญมาก เด็กชายอาการทรุดหนักเกินกว่าจะรักษาได้แล้ว

    คนขับรถยนต์ที่อ้างว่าเขาไปทำงานสายแล้วนั้น ไม่สมัครใจจะยอมรับความลำบากที่บางครั้งความสงสารเรียกร้อง ผลก็คือ ครอบครัวของเด็กชายต้องได้รับความสูญเสียครั้งใหญ่

    ดังนั้น เรื่องของนาวิกโยธิน และเรื่องของพระเยซูเจ้า จึงเชิญชวนเราให้พิจารณาว่าเรามีความสงสารต่อผู้อื่นมากน้อยเพียงไร และพิจารณาว่าเราพร้อมหรือไม่ที่จะยอมลำบากเพื่อแสดงความสงสาร นอกจากนั้น ยังเชิญชวนเราไม่เพียงให้พิจารณาตนเองในประเด็นเหล่านี้ แต่ให้แก้ไขทัศนคติผิด ๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไขด้วย

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยคำภาวนา

    พระเจ้าข้า โปรดประทานความรักแก่เรา ซึ่งเลียนแบบความรักของพระเยซูเจ้า
    ความรักที่พร้อมจะแสดงออกเป็นการกระทำ
    อย่างที่นาวิกโยธินผู้นี้แสดงออกในเรื่องที่เราได้ยินวันนี้
    และความรักที่พร้อมจะแสดงออกเป็นการกระทำ
    อย่างที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงออกตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

    โปรดประทานพระหรรษทานให้เรามีใจกว้าง
    มีความเมตตาสงสารต่อกัน
    โดยไม่คำนึงถึงความลำบาก
    ให้เรายอมเสียสละเพื่อกันและกัน
    โดยไม่ร้องขอสิ่งตอบแทน
    ให้เรายื่นมือไปช่วยเหลือกันและกัน
    และไม่แสวงหาการพักผ่อน
    เว้นแต่เพื่อต้องการรู้ว่า
    เรากำลังทำสิ่งที่พระองค์ทรงเคยทำมาก่อน

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 1:40-45

ผู้เป็นโรคเรื้อนคนหนึ่งมาเฝ้าพระเยซูเจ้า...
ประชาชนจากทุกทิศก็ยังมาเฝ้าพระองค์...

    นี่คือรูปแบบการเขียนแบบเซมิติก ที่เริ่มต้นและลงท้ายด้วยประโยคที่คล้ายกัน เรื่องที่มาระโกบอกเล่านี้เริ่มต้นและลงท้ายด้วยประโยคที่คล้ายกัน เขาเริ่มต้นโดยบอกว่าบุคคลหนึ่งเข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้า และเขาลงท้ายว่า ประชาชนจากทุกทิศมาเฝ้าพระองค์...

    พระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าผู้เสด็จมาพบมนุษย์” ... แต่มนุษย์ต้องเข้ามาพบพระองค์ ผู้ “เสด็จมา” เพื่อการพบกันครั้งนี้...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงนำทางข้าพเจ้าไปพบกับพระองค์ด้วยเถิด...

ผู้เป็นโรคเรื้อนคุกเข่าอ้อนวอนพระเยซูเจ้าว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย พระองค์ย่อมทรงรักษาข้าพเจ้าให้หายได้”

    เราไม่ควรลืมว่า ข้อความที่เรากำลังอ่านนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของพระวรสารฉบับนี้ – นี่เป็นเพียงบรรทัดที่สี่สิบของบทที่หนึ่ง! ชายคนนี้อาจหาญมาก หรือมิฉะนั้น เขาก็ต้องมีความเชื่อมากเป็นพิเศษ! เขาแสดงกิริยา และเอ่ยคำพูด ซึ่งเป็นกิริยาและคำพูดที่มนุษย์ใช้แสดงออกต่อพระเจ้าเท่านั้น...

    ในยุคนั้น โรคเรื้อนเป็นโรคที่รักษาไม่หาย การรักษาโรคเรื้อนให้หายนั้นเปรียบเทียบได้กับการทำให้คนตายฟื้นคืนชีพทีเดียว นี่คือหนึ่งในเครื่องหมายของการมาถึงของพระอาณาจักรของพระเจ้าในยุคของพระเมสสิยาห์ (มธ 11:2, 5; ลก 7:18-22) คำอ้อนวอนของคนโรคเรื้อนแสดงให้เห็นความวางใจของเขาในตัวพระเยซูเจ้า ในบางสถานการณ์ วิธีเดียวที่ทำได้ก็คือ การทูลพระเจ้าด้วย “เสียงตะโกน” เช่นนี้ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ที่ทำทุกสิ่งได้ “พระเจ้าข้า ถ้าพระองค์พอพระทัย พระองค์ทรงช่วยข้าพเจ้าให้รอดพ้นได้”...

    นี่คือคำภาวนาที่เราควรสวดหลายครั้งหลายหน...

พระเยซูเจ้าทรงสงสารตื้นตันพระทัย

    ต้นฉบับภาษากรีกใช้สองคำที่ต่างกันในที่นี้ คือ splanknisteis แปลว่า ตื้นตันเพราะความสงสาร และ orgisteis แปลว่า ถูกกระตุ้นให้รู้สึกโกรธ เป็นไปได้ที่มาระโกใช้คำว่า “ถูกกระตุ้นให้รู้สึกโกรธ” แต่เพราะยากที่จะตีความ ธรรมาจารย์บางคนอาจสะดุดใจกับคำนี้ จึงพยายามเปลี่ยนในเบาลง ... เนื่องจากเราพบทั้งสองข้อความนี้ในต้นฉบับ จึงสมควรนำทั้งสองข้อความมารำพึง พระจิตเจ้าผู้ทรงดลใจผู้เขียนพระคัมภีร์ ทรงสามารถตรัสกับเราผ่านความผิดพลาดของผู้คัดสำเนาได้อย่างแน่นอน...

    อย่างไรก็ตาม ทั้งสองข้อความนี้แสดงให้เห็นปฏิกิริยาที่เป็นธรรมชาติอย่างยิ่งของมนุษย์ พระเจ้าเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ จนถึงกับทรงรับความรู้สึกของมนุษย์ไว้ในตัวพระองค์ คือ ความเมตตาและความโกรธ ขอบพระคุณพระองค์ พระเจ้าข้า ที่พระองค์ทรงต้องการมีความรู้สึกเหมือนเรามนุษย์ และทรงถึงกับแสดงความรู้สึกเหล่านี้ต่อหน้าผู้อื่น

    “ทรงถูกกระตุ้นให้โกรธ” หมายความว่าอะไร? โดยส่วนตัว ข้าพเจ้าเห็นว่านี่คือปฏิกิริยาที่พระเจ้าทรงแสดงออกโดยไม่ต้องคิด เมื่อทรงเผชิญหน้ากับ “สิ่งชั่วร้ายในตัวมนุษย์” พระองค์ทรงเห็นใบหน้าที่ยับเยินด้วยบาดแผล และพระองค์ทรงทนไม่ได้ สภาพของเขาทำให้พระองค์รู้สึกโกรธ ... ขอให้เราอย่าลืมว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าผู้ปรากฏพระองค์ให้มนุษย์มองเห็นได้” ด้วยการแสดงความโกรธเช่นนี้ พระเยซูเจ้าทรงกำลังบอกเราว่าพระเจ้าทรงประณามสภาพอันน่าสังเวชที่โรคหนึ่งกระทำต่อชายคนนี้ มนุษย์จำนวนมากก็รู้สึกโกรธเช่นนี้เมื่อพวกเขาเห็นปัญหาที่เกิดจากความชั่วร้าย เช่นการต่อต้านพระเจ้าอย่างรุนแรง

    “ทรงสงสารตื้นตันพระทัย” ... ข้อความนี้เข้าใจได้ง่ายกว่า พระเจ้าของเราไม่ใช่พระเจ้าผู้ไม่มีความรู้สึก หรือผู้ไม่ยินดียินร้าย แต่ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงร่วมรับความทุกข์กับผู้ที่กำลังทนทุกข์ทรมาน ... ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงยอมรับบาดแผลของเราไว้ในตัวของพระองค์เอง (อสย 53:5) พระองค์ผู้ทรงแสดงให้เราเห็นพระเจ้า ทรงบอกเราว่าพระเจ้าทรงมีความรักอันอ่อนโยนเพียงไรต่อคนป่วย เมื่อใดหนอเราจึงจะยอมรับว่า โลกในสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นโลกที่ “ไม่สมบูรณ์พร้อม” ... พระเจ้าเท่านั้นทรงเป็นพระเจ้า พระเจ้าเท่านั้นทรงสมบูรณ์พร้อม โลกนี้ไม่สมบูรณ์พร้อม ... โลกที่พระเจ้าทรงสร้างจำเป็นต้องเป็น “โลกที่ไม่ใช่พระเจ้า” พระองค์ไม่ทรงสร้างสิ่งใดขึ้นมาเพียงเพื่อพระองค์จะดำรงอยู่ตามลำพังตลอดนิรันดร ดังนั้น พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยจะสร้างหุ้นส่วนชีวิตของพระองค์ คือมนุษย์ ซึ่งจำเป็นต้อง “ไม่ใช่พระเจ้า” และจำเป็นต้องมีข้อจำกัด – ดังนั้น มนุษย์จึงอาจประสบกับปัญหาสุขภาพ จนถึงกับเป็นโรคเรื้อน หรือปัญญาอ่อนเมื่อโครโมโซมผิดปกติ เราต้องมีความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับ “โลกนี้”...

    แต่ถ้าพระเจ้าทรงสร้างสิ่งสร้างที่จำเป็นต้องมีข้อจำกัดและไม่สมบูรณ์พร้อมแล้ว พระองค์ก็ทรงสร้างขึ้นมาพร้อมกับทรงมีแผนการที่จะประทานชีวิตพระเจ้าของพระองค์เองให้แก่สิ่งสร้างนี้สักวันหนึ่ง สำหรับพระเจ้า มนุษย์ยังไม่บรรลุถึงเป้าหมายของเขา ตราบใดที่เขายังไม่ได้กลับคืนชีพ ตราบใดที่เขายังไม่ได้ร่วมรับธรรมชาติพระเจ้า ... ดังนั้น สิ่งชั่วร้ายที่ทำให้มนุษย์เจ็บปวด จึงกระตุ้นให้พระองค์รู้สึกโกรธ ทำให้พระองค์ทรงสงสารตื้นตันพระทัย และดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงรักษาคนป่วยบางคน เพื่อเป็นเครื่องหมายของวันสุดท้าย เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างจะบรรลุถึงเป้าหมาย (รม 8:18)...

พระเยซูเจ้าทรงยื่นพระหัตถ์สัมผัสเขา...

    นี่เป็นอีกครั้งหนึ่ง (เหมือนกับเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา) ที่เรารำพึงกับ “พระหัตถ์”...

    กิริยานี้มีนัยสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องนี้ เพราะคนโรคเรื้อนเป็นบุคคลที่ใครจะสัมผัสตัวเขาไม่ได้ ไม่มีใครแตะต้องหรือกอดชายคนนี้ เพราะธรรมบัญญัติห้ามไว้ นอกจากนี้ เมื่อมีใครเข้ามาใกล้เขามากเกินไป เขาจะต้องตะโกนบอกว่า “มีมลทิน มีมลทิน” เพื่อเตือนคนเหล่านั้นให้หลีกไปไกล ๆ...

    แต่บัดนี้ พระเยซูเจ้าทรงกล้าฝ่าฝืนข้อห้ามข้อนี้ พระองค์ทรงกล้าสัมผัสตัวคนโรคเรื้อน...

... ตรัสว่า “เราพอใจ จงหายเถิด”

    พระเยซูเจ้าทรงรักษาโรคด้วยกิริยา และด้วยวาจา นี่คือหลักการของศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประการ

    เราเป็นมนุษย์ที่มีร่างกาย และเราจำเป็นต้องแสดงออกด้วยกิริยาทางร่างกาย ดังนั้น ศีลล้างบาปจึงประกอบด้วยน้ำที่รินลงบนหน้าผากของเรา ในขณะที่คำพูดอธิบายความหมายของการสัมผัสของน้ำกับร่างกาย ... ในศีลมหาสนิท ปังแห่งชีวิตสัมผัสกับร่างกายของเรา ในขณะที่คำพูดอธิบายความหมายว่า “พระกายพระคริสตเจ้า”
    ข้าพเจ้าสามารถรำพึงได้เป็นเวลานานกับพระวาจาว่า “เราพอใจ” ... สิ่งที่เน้นคืออานุภาพของความพอพระทัยของพระเยซูเจ้า ... ไม่มีความจำเป็นต้องระบุว่าพระองค์ทรงพอพระทัยสิ่งใดในเวลานั้น...

ทันใดนั้น โรคเรื้อนก็หาย เขากลับเป็นปกติ

    ข้อความนี้ได้รับอิทธิพลจากบริบททางวัฒนธรรมในยุคสมัยที่มาระโกเขียนพระวรสาร ชาวยิวมองว่าโรคเรื้อนเป็น “การลงโทษของพระเจ้า” เช่นเดียวกับที่มีเรียม พี่สาวของโมเสส ถูกลงโทษ (กดว 12:9) เหมือนกับเกฮาซี คนรับใช้ของเอลีชา (2 พกษ 5:27) และเหมือนกับโอซียาห์ กษัตริย์ผู้ทะเยอทะยาน (2 พศด 26:16) โรคเรื้อนเป็นโรคที่ทุกคนกลัว แม้กระทั่งเชื้อราที่ขึ้นบนผนังบ้านก็ทำให้ชาวยิวกลัวว่าจะทำให้เขาติดโรคนี้แล้ว ดังนั้นหนังสือเลวีนิติจึงกล่าวถึงโรคนี้ถึงสองบท เนื้อบนใบหน้าและมือที่เน่าเปื่อย ทำให้เห็นว่าโรคนี้ร้ายแรงเพียงใด และชาวยิวถือกันว่าโรคนี้เป็นผลงานของปีศาจ คนเป็นโรคเรื้อนจะถูกตัดขาดจากชุมชน (ลนต 13:1-46)

    ชาวยิวถือว่าโรคที่ทำให้มนุษย์เปื่อยเน่านี้เป็นสัญลักษณ์ของบาป ถ้าเช่นนั้น ใครบ้างที่ไม่เป็นโรคเรื้อน? ... และสิ่งที่สามารถรักษาเราให้หายจากโรคเรื้อนได้ก็คือการสัมผัส และวาจาของพระเยซูเจ้า...

    ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า อาศัยพระกายของพระองค์ โปรดทรงรักษาโรคในหัวใจของมนุษย์ยุคปัจจุบันด้วยเถิด ... คนเป็นโรคเรื้อนได้รับการรักษาให้หายได้ และโรคนี้ถูกกำจัดให้หมดไปจากบางภูมิภาคของโลกได้สำเร็จแล้ว แต่ยังมีคนโรคเรื้อนอีกเป็นล้าน ๆ คน ... และแม้แต่ในสังคมที่พัฒนาแล้วยังมีคนยากจน ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงต้องการหัวใจและมือมนุษย์มาช่วยรักษา ... คนยากจนเหล่านี้หมายถึงคนทั้งหลายที่ไม่มีความงาม หรือรูปลักษณ์ที่สวยงาม คนทั้งหลายที่ถูกกีดกันออกจากสังคมของเรา เด็กพิการ และผู้ป่วยที่รักษาไม่หาย...  

พระเยซูเจ้าทรงให้เขาไปทันที ทรงกำชับเขา...

    ถ้าแปลตามตัวอักษร มาระโกกล่าวว่า “พระเยซูเจ้าทรงไล่เขาไปทันที”...

    พระเยซูเจ้าที่เรามองเห็นจากคำบรรยายนี้ ไม่ใช่ “คนใจอ่อน” อย่างที่เราเห็นในภาพวาดระหว่างศตวรรษที่ผ่านมา แต่พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่แข็งกร้าวทีเดียว...

... ทรงกำชับอย่างแข็งขันว่า “ระวัง อย่าบอกให้ใครรู้เลย...

    เหมือนกับที่ทรงห้ามปีศาจไม่ให้พูด บัดนี้พระองค์ทรงห้ามชายที่พระองค์เพิ่งจะทำอัศจรรย์รักษาโรคของเขา ไม่ให้เขาพูด ประโยคนี้ฟังดูค่อนข้างรุนแรง “อย่าบอกใคร”

    นี่คือ “ความลับของพระเมสสิยาห์” ซึ่งมาระโกกล่าวซ้ำถึงสิบครั้งในพระวรสารของเขา ราวกับว่าพระเยซูเจ้าทรงหลีกเลี่ยงการทำอัศจรรย์ ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจพระองค์ผิดบ่อย ๆ ... ชาวยิว (บางครั้ง รวมทั้งเราด้วย) กำลังรอคอยพระเมสสิยาห์ทางโลก ฝูงชนพากันมาหาพระเยซูเจ้า ด้วยความหวังว่าพระองค์จะทรงนำความสุขมาให้เขาบนโลกนี้ เขาหวังว่าพระองค์จะทรงแก้ปัญหาสุขภาพให้พวกเขา และพระองค์จะทรงทำให้เขาได้รับเอกราชทางการเมือง...

    ถูกแล้ว อัศจรรย์เป็นภัยสำหรับพระเยซูเจ้า เพราะอาจทำให้พันธกิจของพระองค์ล้มเหลวหรือหลงทิศทาง เพราะทำให้ประชาชนคิดว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าหมายถึงความสุขในโลกนี้ ... มนุษย์จะเข้าใจความรอดพ้นแท้ที่พระเยซูเจ้าทรงเสนอให้ หลังจากการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์เท่านั้น ประชาชนต้องรอคอยจนถึงนาทีนั้น เพื่อจะไม่เข้าใจผิดอีกต่อไปว่าการปลดปล่อยมนุษยชาติ ที่พระเยซูเจ้าทรงกำลังเตรียมการอยู่นี้ คืออะไร!

    การรักษาโรคคือการประกาศถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์

... แต่จงไปแสดงตนแก่สมณะ และถวายเครื่องบูชาตามที่โมเสสกำหนด เพื่อเป็นหลักฐานแก่คนทั้งหลายว่าท่านหายจากโรคแล้ว”

    แม้ว่าพระเยซูเจ้าทรงกำชับชายที่ได้รับการรักษาผู้นี้ไม่ให้เขาบอกประชาชน แต่พระองค์ทรงมอบหมายภารกิจอย่างหนึ่งแก่เขา คือให้ไปแสดงตัวต่อสมณะซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเขาต้องการกลับเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้อื่นในชุมชน ... นอกจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงพยายามเปิดตาเปิดใจของบรรดาสมณะในกรุงเยรูซาเล็มซึ่งต่อต้านพระองค์ ด้วยการแสดงเครื่องหมายของพระเมสสิยาห์ในการรักษาคนโรคเรื้อน สมณะเหล่านี้ไม่มีข้อแก้ตัวเลย เมื่อเขาตัดสินลงโทษพระองค์ (ยน 15:22)

แต่เมื่อชายผู้นั้นจากไป เขาก็ป่าวประกาศกระจายข่าวไปทั่ว จนพระองค์ไม่อาจเสด็จเข้าไปในเมืองได้อย่างเปิดเผยอีกต่อไป พระองค์จึงประทับอยู่นอกเมืองในที่เปลี่ยว แม้กระนั้น ประชาชนจากทุกทิศก็ยังมาเฝ้าพระองค์

    พระวรสารของมาระโกกล่าวถึงการประกาศ “ข่าว” หรือ “พระวาจา” ถึงสิบครั้ง คำนี้มีความหมายทางวิชาการ หมายถึงตัวพระวรสารเอง หรือ “ข่าวดี” ... ดังนั้น เราจึงเห็นชายผู้ได้รับการกอบกู้คนนี้ กลายเป็น “ผู้กอบกู้ผู้อื่น” อีกทอดหนึ่ง ทั้งที่พระเยซูเจ้าทรงห้ามเขาแล้ว

    แล้วเราเล่า ... เราประกาศข่าวดีหรือเปล่า? เราเพ่งพินิจอีกครั้งหนึ่งว่าพระเยซูเจ้าทรงรักความสันโดษ ทรงรัก “สถานที่เงียบสงัด” พระองค์ทรงเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าอย่างแท้จริง คือ ทรงเป็นพระเจ้าผู้รอบคอบ พระเจ้าผู้ไม่ทำเสียงดัง “พระเจ้าผู้ซ่อนเร้น”...