แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 8 เทศกาลธรรมดา
โฮเชยา 2:16-17, 21-22; 2 โครินธ์ 3:1-6; มก 2:18-22

บทรำพึงที่ 1
ความสัมพันธ์คู่ขนาน
ความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยา เป็นความสัมพันธ์คู่ขนานกับความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าและผู้มีความเชื่อ

    วิคและริต้า กาลิเออร์ แต่งงานกันได้เกือบ 30 ปี เขามีบุตรหกคน และบัดนี้เขาทั้งสองมีสถานะเป็นตาเป็นยายแล้ว

    ระหว่างการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง วิคกล่าวว่าหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตสมรสของเขาอยู่รอดได้ คือ เขาทั้งสองภาวนาร่วมกันมาโดยตลอด เขากล่าวว่าการภาวนาร่วมกันทุกวันไม่เพียงทำให้เขาใกล้ชิดกัน แต่ยังยึดเขาทั้งสองไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะระหว่างเจ็ดปีแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเขา

    ช่วงเวลายากลำบากที่วิคเอ่ยถึงระหว่างเจ็ดปีแรกของชีวิตสมรสนี้ทำให้เราระลึกถึงสิ่งสำคัญบางอย่างในชีวิตสมรส ผู้ให้คำปรึกษาปัญหาในชีวิตสมรสกล่าวว่า ชีวิตสมรสตามปกติจะต้องผ่านวงจรที่แบ่งออกเป็นสี่ขั้นตอน คือ
    ขั้น “พึงพอใจ” หรือ “ตกหลุมรัก”
    ขั้น “บูรณาการ” หรือ “สร้างครอบครัว”
    ขั้น “วิกฤติ” หรือ “ต่ำสุด”
    ขั้น “วุฒิภาวะ” หรือ “เริ่มต้นใหม่”

    เราจะพิจารณาขั้น “พึงพอใจ” หรือ “ตกหลุมรัก” ก่อน ขั้นนี้เริ่มต้นโดยคนสองคนรู้สึกว่ามีแรงดึงดูดเขาเข้ามาหากัน แรงดึงดูดนี้ตามปกติจะต้องผ่านระยะต่าง ๆ ระยะของความพึงพอใจทางกายภาพ ทางอารมณ์ ทางสติปัญญา และทางจิตวิญญาณ และในที่สุดก็เข้าสู่ขั้นสมรส

    ต่อมาคือขั้น “บูรณาการ” หรือ “สร้างครอบครัว” เมื่อแต่งงานกันแล้ว คู่สมรสจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการบูรณาการความรักของเขาเข้ากับเหตุการณ์ปกติในชีวิตแต่ละวัน ความท้าทายในขั้นนี้ คือ คู่สมรสต้องพยายามทำให้เหตุการณ์ปกติไม่กลายเป็นกิจวัตร และกิจวัตรไม่กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ อันตรายสำหรับขั้นนี้คือการไม่เห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา และการถือว่าความสัมพันธ์นี้สำคัญน้อยกว่ากิจกรรมอื่น ๆ

    ขั้นที่สามของวงจรนี้ คือ ขั้น “วิกฤติ” หรือ “ต่ำสุด” ซึ่งเริ่มต้นเมื่อฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่ยอมตอบสนองต่อความท้าทายของขั้นที่สอง เขาเริ่มไม่เห็นความสำคัญของชีวิตสมรส และคิดว่ามีสิ่งอื่น ๆ ที่สำคัญกว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ความสัมพันธ์ของคู่สมรสจะเผชิญกับมรสุม “คู่ชีวิตที่รักสามีหรือภรรยาของตน” จะกลายเป็น “ศัตรูที่โกรธแค้น” สิ่งใดที่เขาเคยยอมรับได้เพราะความรัก บัดนี้กลับกลายเป็นประเด็นของความขัดแย้ง

    ในขั้นนี้ ความท้าทายสำหรับคู่สมรสคือเขาต้องนำพาเหตุการณ์ที่อาจกลายเป็นความขัดแย้ง ไปสู่ทิศทางที่สร้างสรรค์ อันตรายสำหรับขั้นนี้คือ การปล่อยให้ความขัดแย้งดำเนินต่อไปจนถึงจุดที่เขาสื่อสารกันน้อยลง และมีความไม่พอใจต่อกันเพิ่มมากขึ้น

    ความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาจะดำเนินต่อไปตลอดรอดฝั่งได้เพียงด้วยการจัดการแก้ไขความขัดแย้ง (ซึ่งบางครั้งต้องได้รับความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาปัญหาชีวิตสมรส)

    ขั้นสุดท้าย คือ ขั้น “วุฒิภาวะ” หรือ “เริ่มต้นใหม่” นี่คือขั้นที่งดงามที่สุด และน่าชื่นใจที่สุด แอนดรูว์ กรีลี (ซึ่งเป็นผู้เสนอวิธีแบ่งขั้นเหล่านี้) แสดงความคิดเห็นว่า “นักวิชาการคนหนึ่งที่ผมรู้จัก อธิบายว่าความใกล้ชิดอันเข้มข้นของมนุษย์มี ‘มิติหนังยาง’ กล่าวคือ เมื่อคู่รักเหินห่างกัน บ่อยครั้งที่ความเหินห่างนี้เกิดขึ้นเพราะทั้งสองฝ่ายผลักตัวออกจากกัน แต่บ่อยครั้งที่พลังของความรักที่เขามีต่อกันจะแรงกล้ามากพอ จนบังคับให้เขาย้อนกลับมาหากันอีกครั้งหนึ่ง “เขาจะเดินงุ่มง่ามเข้ามาหากัน สวมกอดกัน ให้อภัยกัน และเริ่มต้นใหม่ด้วยแรงระเบิดของความรักแบบโรแมนติก”

    เป็นเรื่องน่าสนใจที่พระคัมภีร์มักเปรียบเทียบความสัมพันธ์รักระหว่างสามีและภรรยา กับความสัมพันธ์รักของเรากับพระเจ้า เช่น ในบทอ่านที่หนึ่งของวันนี้ พระเจ้าทรงสวมบทบาทของเจ้าบ่าว และตรัสกับอิสราเอลว่า “วันนั้น ท่านจะเรียกเราว่า ‘สามีของฉัน’ ท่านจะไม่เรียกเราอีกต่อไปว่า ‘บาอัลของฉัน’” (ฮชย 2:18)

    และในบทอ่านพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงสวมบทบาทของเจ้าบ่าว โดยทรงเปรียบเทียบการประทับอยู่กับศิษย์ของพระองค์ ว่าเหมือนกับเจ้าบ่าวที่อยู่กับผู้ที่ได้รับเชิญมาร่วมในงานแต่งงาน

    และที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ เมื่อมองจากมุมมองของเรา บ่อยครั้งที่ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าก็ดำเนินไปตามวงจรสี่ขั้นเหมือนกับความสัมพันธ์รักระหว่างสามีและภรรยา โดยเริ่มต้นจากขั้น “ตกหลุมรัก” ซึ่งผลิบานกลายเป็นความตั้งใจจะอุทิศตนเพื่อพระเจ้า

    จากนั้นก็เข้าสู่ขั้น “สร้างครอบครัว” ซึ่งหมายถึงการบูรณาการความรักของเราต่อพระเจ้า เข้ากับชีวิตประจำวันของเรา

    บ่อยครั้งที่ความสัมพันธ์จะเข้าสู่ขั้น “ต่ำสุด” ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อกระบวนการบูรณาการขาดสะบั้นลง และแทนที่เราจะจัดการแก้ไข เรากลับหยุดสื่อสารกับพระเจ้าเหมือนคู่ชีวิตที่รักกัน แต่เริ่มสื่อสารเหมือนเป็นศัตรูที่เรียกร้องมากเกินไป

    ในที่สุดความสัมพันธ์ก็มาถึงขั้น “เริ่มต้นใหม่” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราเดินงุ่มง่ามกลับไปสู่อ้อมแขนของพระเจ้า ขออภัยพระองค์ และถูกดึงเข้าไปหาพระเจ้าด้วยแรงระเบิดของความรักครั้งใหม่

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยวาจาที่นักบุญเปาโลกล่าวแก่กลุ่มคริสตชนในเมืองโครินธ์

    ความรักย่อมอดทน มีใจเอื้อเฟื้อ ไม่อิจฉา ไม่โอ้อวดตนเอง ไม่จองหอง ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ความรักไม่ฉุนเฉียว ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่ว แต่ร่วมยินดีในความถูกต้อง ความรักให้อภัยทุกอย่าง เชื่อทุกอย่าง หวังทุกอย่าง อดทนทุกอย่าง (1 คร 13:4-8)
   
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 2:18-22

    ระหว่างปีพิธีกรรม B เราประกาศพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกอย่างต่อเนื่องกัน เราสามารถรับฟังและปล่อยความคิดให้ไหลไปตามสิ่งที่เราค้นพบ ซึ่งเป็นวิธีอ่านพระคัมภีร์ที่เหมาะสมสำหรับการภาวนาเป็นส่วนตัว กล่าวคือ พยายามเข้าใจข่าวดีและรำพึงตามด้วยใจอธิษฐาน เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพระคัมภีร์ แต่จะมีประโยชน์มากถ้าเราตระหนักว่าพระวรสารไม่ใช่ “ข้อเขียนตื้น ๆ ที่ไร้เดียงสา” แต่เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์และเทววิทยาที่เรียบเรียงขึ้นมาอย่างระมัดระวัง

    การอ่านเชิงวิทยาศาสตร์ไม่เพียงเป็นไปได้ แต่ยังจำเป็นอีกด้วย ถ้าเราไม่ต้องการเลิกเชื่อถือพระวรสารในวันหนึ่งข้างหน้า เพราะคิดว่าเป็นเทพนิยายโบราณ โดยเฉพาะผู้อ่านที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว และบุคคลที่ได้รับอิทธิพลจากศาสตร์สมัยใหม่

    ทุกวันอาทิตย์ เราพยายามเสนอวิธีอ่านแบบอรรถาธิบาย แยกเป็นส่วนเป็นตอน และเน้นเรื่องโครงสร้าง ศัพท์ทางวิชาการ การอ้างอิงพันธสัญญาเดิม บริบททางประวัติศาสตร์ ความแตกต่างระหว่างพระวรสารฉบับต่าง ๆ  และการเทียบเคียงกับเอกสารอื่น ๆ ... แทนที่จะทำลายความเชื่อ วิทยาศาสตร์กลับจะยิ่งเสริมความเชื่อให้หนักแน่นยิ่งขึ้น เรามั่นใจว่าพระวรสารไม่ต้องกลัวสิ่งใดเลย เพราะเป็นตัวบทที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเป็นความจริงในแง่ของวรรณกรรมประวัติศาสตร์ ... และเป็นตัวบทที่ได้รับการศึกษาและตรวจสอบมากที่สุดโดยใช้เทคนิควรรณคดีวิจารณ์...

    เช่นเราจะเห็นว่าข้อความที่ดูเหมือนเรียบง่ายที่เราอ่านในวันนี้ ได้บอกใบ้ความจริงที่สำคัญบางอย่าง ซึ่งเราจะค้นพบเพียงเมื่อเรายอมค้นหาให้ลึกมากขึ้น เมื่อเราตั้งคำถาม ... เมื่อนั้น คำภาวนาจะผุดขึ้นมาเองโดยมีความรู้เป็นพื้นฐาน...

บรรดาศิษย์ของยอห์นและชาวฟาริสีกำลังจำศีลอดอาหาร มีผู้ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “ทำไมศิษย์ของยอห์นและศิษย์ของชาวฟาริสีจำศีลอดอาหาร แต่ศิษย์ของท่านไม่จำศีลเลย

    ถ้าเราอ่านข้อความนี้ด้วยความคิดตื้น ๆ เราอาจคิดอีกครั้งหนึ่งว่าชาวฟาริสีกำลังจับผิด “ผู้อื่น” อีกแล้ว ... แต่มาระโกตั้งใจจัดเรียบเรียงคำบอกเล่านี้ให้รวมอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับเรื่องขัดแย้งอื่น ๆ – และไม่ใช่ความบังเอิญที่ทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับปัญหาของวิวัฒนาการของศาสนา และการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติ ซึ่งกลุ่มคริสตชนยุคแรกกำลังเผชิญอยู่ เพราะถูกต่อต้านจากผู้ที่ยังถือศาสนายิว ว่า “ทำไมจึงต้องเปลี่ยนศาสนา”?

    1)    การอภัยบาป – ใครมีอำนาจอภัยบาป? อย่างไร? (มก 2:1-12)   
    2)    การกินอาหาร และการคบหาสมาคมกับคนเก็บภาษีและคนบาป (2:13-17)
    3)    การจำศีลอดอาหาร – ทำไม? (2:18-22)
    4)    ศิษย์ของพระเยซูเจ้าไม่ถือธรรมเนียมเกี่ยวกับวันสับบาโต (2:23-28)
    5)    พระเยซูเจ้าทรงกระทำสิ่งต้องห้ามในวันสับบาโตอีกครั้งหนึ่ง (3:1-6)

    พระดำรัสของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับ “ของใหม่” และ “ของเก่า” ซึ่งเป็นบทสรุปของหัวข้อทั้งหมดนี้ เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับสภาพแวดล้อมที่กำลัง “ร้อนแรง” พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติข้อใดของโมเสสที่เป็นบทบัญญัติชั่วคราว และได้กลายเป็น “ของเก่า” ไปแล้ว ... พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ของใหม่”

    ชายกลุ่มนี้ – หมายถึงศิษย์ของพระเยซูเจ้า – ทำให้ประชาชนตั้งคำถามกับตนเอง การดำเนินชีวิตของคนกลุ่มเล็กๆ ที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกและเป็นผู้ติดตามพระองค์เหล่านี้ เป็นเรื่องสะดุดสำหรับประชาชนที่ไม่คุ้นเคยกับความชื่นชมยินดีเช่นนี้ เพราะเขากินและดื่มเหมือนคนอื่น ๆ แทนที่จะแสดงท่าทางเหมือนคนที่สำนึกผิดกับบาปของตน ... พวกเขาดูเหมือนว่ากำลังสนุกสนานรื่นเริง และ “ความยินดีในชีวิต” ของเขาเปล่งแสงออกมาทางใบหน้าของเขา ... แต่ชาวฟาริสีบอกประชาชนมาโดยตลอดว่า เขาจะรู้ว่าใครเคร่งครัดศรัทธาได้จากสีหน้าที่เคร่งเครียดและจากเครื่องบูชาของเขา ชาวฟาริสีเองจำศีลอดอาหาร “สัปดาห์ละสองครั้ง” (ลก 18:12) และโอ้อวดให้ผู้อื่นรู้เห็นด้วย เพราะนี่คือเครื่องหมายที่บอกว่าเขาดีกว่า “มนุษย์ทั่วไป” มากเพียงไร...

    ส่วนเราผู้เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าในยุคปัจจุบัน เราทำเช่นนี้หรือเปล่า? ... เรากำลังทำให้คนทั่วไปตั้งคำถามอยู่ในใจหรือเปล่า? ในชีวิตของเรามีอะไรที่ทำให้ผู้อื่นตั้งคำถามหรือเปล่า – หน้าที่เศร้าหมองของเรา – หรือหน้าที่ร่าเริงยินดีของเรา? ... เรามีความสุขที่เป็นคริสตชนหรือเปล่า? ผู้อื่นรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับเราหรือเปล่า?...

    อะไรที่แผ่รังสีออกมาจาก “การชุมนุมของคริสตชน” ของเรา – ความยินดี หรือความเบื่อหน่าย?...  

พระองค์ตรัสตอบว่า “ผู้รับเชิญมาในงานแต่งงานจะจำศีลอดอาหารได้หรือขณะที่เจ้าบ่าวยังอยู่กับเขา ตราบใดที่เจ้าบ่าวยังอยู่ด้วย เขาย่อมไม่จำศีลอดอาหาร

    พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่านี่คือเวลาสำหรับเฉลิมฉลอง ศิษย์ของเราคือ “ผู้รับเชิญมาในงานแต่งงาน” ... คำที่ใช้ในพระวรสารภาษากรีกคือ “บุตรชายทั้งหลายแห่งห้องหอ” – เหมือนกับ “เพื่อนเจ้าบ่าว” และ “พิธีกร” ในงานแต่งงานของเราในยุคปัจจุบัน ซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่ให้สร้างบรรยากาศให้ผู้รับเชิญรู้สึกสนุกสนาน พระเยซูเจ้าทรงคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ศิษย์ของพระองค์จะยินดี และไม่จำศีลอดอาหาร...

    พระเจ้าข้า โปรดประทานความยินดีของพระองค์แก่เราเถิด!

    แต่เราต้องยอมรับว่าเหตุผลของพระเยซูเจ้าเป็นปริศนา พระองค์ตรัสได้อย่างไรถึง “งานแต่งงาน” ในเมื่อไม่มีงานแต่งงาน อย่างน้อยก็งานที่มองเห็นได้ ทำไมจึงตรัสย้ำคำว่า “เจ้าบ่าว” ถึงสามครั้งภายในไม่กี่บรรทัดในพระวรสารของนักบุญมาระโก? “เจ้าบ่าว” ที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงนี้เป็นใคร?
    เห็นได้ชัดว่ามาระโกไม่ได้สนใจอีกต่อไปกับคำถามข้อแรก (“เราต้องจำศีลอดอาหารหรือไม่?”) แต่เขาเน้นที่คำถามหนึ่งเดียวที่ถามไว้ตั้งแต่ตอนต้น จนถึงตอนปลายของพระวรสารของเขา คือ พระเยซูเจ้าทรงเป็นใคร?

    เมื่อทรงแนะนำว่าพระองค์คือ “เจ้าบ่าว” พระเยซูเจ้าทรงบอกข้อมูลสำคัญแก่เรา ซึ่งเราอาจมองข้ามถ้าเราอ่านอย่างลวก ๆ ... พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมเต็มไปด้วยคำกล่าวถึง “การหมั้น” หรือ “การสมรส” ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในคำทำนายของประกาศกโฮเชยาที่ประกาศในบทอ่านที่หนึ่งในวันนี้ “เราจะเกลี้ยกล่อมเจ้าสาวผู้ไม่ซื่อสัตย์ของเรา และพูดกับหัวใจของนาง ... เราจะหมั้นท่านไว้กับเราด้วยความซื่อสัตย์ และท่านจะรู้จักพระยาห์เวห์”(ฮชย 2:18-22) พระเจ้าทรงรักประชากรของพระองค์ ... นี่คือหัวข้อหลักของ “พันธสัญญา” ... “พระผู้สร้างเจ้าเป็นพระสวามีของเจ้า” (อสย 54:5; เทียบ ยรม 2:2-3:1; อสค 16-23; อสย 62:4-5; เพลงซาโลมอนทั้งบท) สำหรับชาวยิวในยุคสมัยของพระเยซูเจ้า ซึ่งเข้าใจภาษาพระคัมภีร์เป็นอย่างดี พวกเขาเข้าใจคำอ้างของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงกำลังยกพระองค์เทียบเท่าพระเจ้า – เหมือนกับที่พระองค์ทรงเคยทำเมื่อพระองค์ทรงอภัยบาปให้คนอัมพาต...

    ความคิดว่า “พระเจ้าทรงเป็นเจ้าบ่าวของมนุษยชาติ” ควรบำรุงเลี้ยงการไตร่ตรองและการภาวนาของเรา บ่อยครั้งที่มนุษย์ – ไม่เว้นแม้แต่คริสตชน – มองเห็นการต่อต้านกันระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ แต่ภาพลักษณ์ที่พระเจ้าทรงเผยแสดงแก่เรา ไม่ใช่ภาพของ “ผู้มีชีวิตผู้ทรงสรรพานุภาพ” ผู้ยกเอาความรับผิดชอบทั้งหมดไปจากมนุษย์ แต่ทรงเป็น “หุ้นส่วน” ผู้ทรงนำมนุษย์ไปสู่การผจญภัยของสองฝ่าย เป็นการผจญภัยแห่งความรัก ... พระเยซูเจ้าตรัสว่า พระเจ้า “สถิตอยู่กับเรา” ... “ศิษย์ของเราจะโศกเศร้าได้อย่างไร เมื่อ ‘พระเจ้าผู้เป็นเจ้าบ่าว’ ยังประทับอยู่กับเขา?”

    ข้าพเจ้าตอบสนองต่อความรักนี้หรือเปล่า? ... ข้าพเจ้าสานความสัมพันธ์รักกับเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้าโดยคำนึงถึงความรักนี้หรือเปล่า รวมถึงความรักฉันสามีภรรยา ถ้าข้าพเจ้าสมรสแล้ว? ... นักบุญเปาโลบอกอย่างชัดเจนว่าข้าพเจ้าควรดำเนินชีวิตสมรสเช่นนี้ (อฟ 5:25-33)

แต่จะมีวันหนึ่งที่เจ้าบ่าวจะถูกพรากไป ในวันนั้น เขาจะจำศีลอดอาหาร   

    เมฆหมอกแห่งความเศร้าลอยผ่านพระเนตรของพระเยซูเจ้า คำว่า “ถูกพรากไป” นี้เป็นคำที่เหนือความคาดหมาย ภาษากรีกใช้คำที่รุนแรงเช่นกัน “แต่จะมีวันหนึ่งที่เจ้าบ่าว ‘ถูกดึงตัวไป’” พระเยซูเจ้าทรงประกาศเป็นนัยถึงพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ โดยทรงใช้คำที่รุนแรงเช่นเดียวกันนี้ใน “บทเพลงของผู้รับใช้พระยาห์เวห์” ... “เขาถูกจับกุม ถูกพิพากษา และถูกนำไปประหาร ... เขาถูกพรากไปจากแผ่นดินของผู้มีชีวิต” (อสย 53:8)

    น่าสะเทือนใจเมื่อเราคิดว่า แม้มีหลายข้อความในพระคัมภีร์ที่ประกาศถึงการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ แต่พระเยซูเจ้าทรงเลือกใช้ข้อความที่บรรยายถึงพระองค์ได้ตรงจุดยิ่งกว่า คือ ข้อความที่ประกาศถึงพระเมสสิยาห์ ซึ่งเป็นผู้รับใช้ผู้ถ่อมตนและต้องทนทุกข์ทรมาน

    ข้อความนี้นำเราเข้าสู่หัวข้อของ “การไม่ประทับอยู่ของพระเจ้า” ... เมื่อเจ้าบ่าวไม่อยู่ ... โลกรับรู้ถึงการไม่ประทับอยู่นี้ ว่าเหมือนกับการทดลองอันเจ็บปวด “ในวันนั้น เขาจะจำศีลอดอาหาร”! ... ความรู้สึกที่บรรยายไว้ในที่นี้คือความจริงจังของชีวิตคริสตชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่คู่กับความยินดี (และยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ “ศิษย์ของพระเยซูเจ้า”) พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงต่อต้านการจำศีลอดอาหาร อย่างที่ชาวฟาริสีกล่าวหาพระองค์ แต่พระองค์ทรงกำหนดความหมายใหม่ให้แก่การจำศีลอดอาหาร เพราะสำหรับศิษย์ของพระองค์ จุดอ้างอิงเพียงหนึ่งเดียวของ “ศาสนกิจ” ก็คือพระเยซูเจ้าเอง มีความสัมพันธ์อันเร้นลับซึ่งผูกพันชะตากรรมของศิษย์ทั้งหลายไว้กับการประทับอยู่ของพระองค์ – หรือการไม่ประทับอยู่ของพระองค์...

    เทศกาลมหาพรตไม่อาจเป็นเพียงการบำเพ็ญพรตที่ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของเราได้อีกต่อไป เพราะศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะจำศีลอดอาหารเพราะความรัก...
   
ไม่มีใครนำผ้าใหม่ไปปะเสื้อเก่า ... ไม่มีใครใส่เหล้าองุ่นใหม่ลงในถุงหนังเก่า ... แต่ต้องใส่เหล้าใหม่ลงในถุงหนังใหม่”

    ข้อความสุดท้ายของพระวรสารหน้านี้เน้นที่ความขัดแย้งกันระหว่าง “สิ่งเก่า” และ “สิ่งใหม่” พระเยซูเจ้าทรงกำลังบอกเราว่าพระเจ้าไม่ทรงต้องการทำเพียง “การปะชุน” เท่านั้น...

    พระเยซูเจ้าทรงตระหนักว่าพระองค์ทรงกำลังนำบางสิ่งที่ “ใหม่” มาประทานแก่มนุษยชาติ ... กิจวัตรเก่า ๆ และธรรมเนียมเก่า ๆ ที่ล้าสมัยจะต้องถูกยกเลิก...

    เราเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าพระองค์นี้อย่างแท้จริงหรือเปล่า? ... เราถดถอยกลับไปสู่จิตตารมณ์ “เก่า” บ่อย ๆ หรือเปล่า?...

    เทศกาลมหาพรตใกล้เข้ามาแล้ว – นี่คือเวลาสำหรับฟื้นฟูทุกสิ่งขึ้นมาใหม่...