วันอาทิตย์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา
เอเสเคียล 17:22-24; 2 โครินธ์ 5:6-10; มาระโก 4:26-34

บทรำพึงที่ 1
หลุยส์ เบรล
ไม่มีสิ่งใดที่เล็กน้อย หรือด้อยค่า เกินกว่าที่พระเจ้าจะทรงใช้กระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่

    เมื่อ ค.ศ. 1812 เด็กชายชาวฝรั่งเศสอายุสามปีคนหนึ่งชื่อ หลุยส์ เบรล ประสบอุบัติเหตุในร้านผลิตเครื่องหนังของบิดาของเขา อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้เขาตาบอดสนิททั้งสองข้าง

    เมื่อหลุยส์เติบโตขึ้น ครอบครัวของเขาส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งหนึ่งในกรุงปารีส นักเรียนที่นี่อ่านจากหนังสือเล่มหนา ๆ ด้วยการสัมผัสอักษรตัวนูนขนาดใหญ่ด้วยนิ้วมือของเขา การอ่านทำได้ช้ามาก เขาต้องใช้เวลา 15 นาทีเพื่ออ่านข้อความเพียงหนึ่งย่อหน้า

    วันหนึ่ง นายทหารเกษียณอายุจากกองทัพฝรั่งเศส ชื่อ ชาร์ลส บาร์บิเอร์ ได้มาเยี่ยมโรงเรียน และสาธิตให้นักเรียนรู้จักวิธีเขียนหนังสือที่เขาเรียกว่า “การเขียนในความมืด (night writing)” นี่เป็นระบบการเขียนหนังสือที่กองทัพฝรั่งเศสประดิษฐ์ขึ้น เพื่อส่งและรับข้อความที่เข้ารหัส ระหว่างอยู่กลางสนามรบในเวลากลางคืน

    ในการเขียนระบบนี้ เขาเจาะรูบนกระดาษตามแบบที่กำหนด ซึ่งสามารถอ่านได้ด้วยการใช้นิ้วมือสัมผัสรูที่เจาะ กระบวนการนี้ต้องใช้เนื้อที่มาก และส่งได้เฉพาะข้อความง่าย ๆ แต่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถใช้สื่อสารในเวลากลางคืนได้ในยุคที่ไม่มีใครรู้จักไฟฉาย

    เด็กน้อยหลุยส์ เบรล ตื่นตาตื่นใจกับระบบนี้มาก เขามั่นใจว่าระบบนี้สามารถช่วยให้คนตาบอดอ่านหนังสือได้ง่ายขึ้น ดังนั้น เขาจึงเริ่มปรับระบบให้ง่ายขึ้น เขาใช้จุดนูน แทนการเจาะรู ระบบของหลุยส์เป็นที่นิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ปัจจุบันเราเรียกระบบนี้ว่า “อักษรเบรล”

    แต่ระบบนี้ไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งหลังจากหลุยส์ เบรล เสียชีวิตแล้ว เมื่อเขาเสียชีวิต หนังสือพิมพ์ไม่ได้ประกาศข่าวมรณกรรมของเขาด้วยซ้ำไป

    ผมชอบเรื่องนี้ เพราะชี้ให้เห็นข้อสังเกตสามข้อที่เราควรใส่ใจในโลกทุกวันนี้

    ข้อแรก เหมือนกับเรื่องที่บทอ่านจากพระคัมภีร์วันนี้พยายามเน้นให้เราเห็น นั่นคือ ต้นไม้สูงใหญ่ในป่ามักเติบโตจากเมล็ดเล็ก ๆ ฉันใด ขบวนการใหญ่ ๆ ในโลกบ่อยครั้งก็เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ฉันนั้น ความคิดเล็ก ๆ ของ หลุยส์ เบรล พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นขบวนการอันยิ่งใหญ่ที่ปฏิวัติโลกของคนตาบอดได้

    ข้อที่สอง เรื่องของหลุยส์ เบรล ชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่เริ่มต้นขบวนการอันยิ่งใหญ่ บ่อยครั้งเป็นคนเล็ก ๆ ที่ไม่สำคัญ เช่น หลุยส์ เบรล ซึ่งเป็นคนเล็ก ๆ และไร้ความสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับนักวิชาการผู้เฉลียวฉลาด และความรู้สูงในยุคของเขา แต่เขากลายเป็นผู้ที่คิดค้นอักษรเบรลที่ปฏิวัติโลกของคนตาบอด

    ข้อที่สาม เรื่องของ หลุยส์ เบรล บอกเราว่าบุคคลที่เริ่มต้นขบวนการอันยิ่งใหญ่ มักเสียชีวิตก่อนที่เขาจะได้เห็นผลงานของตนเอง หลังจากหลุยส์เสียชีวิตแล้ว ระบบอักษรเบรลจึงได้พัฒนาจนกลายเป็นขบวนการระดับโลก

    ดังนั้น เรื่องของหลุยส์ เบรล จึงแสดงให้เราเห็นประเด็นสำคัญสามประการ

    ประการแรก เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าขบวนการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เช่นพระอาณาจักรของพระเจ้า บ่อยครั้งเติบโตขึ้นมาจากเมล็ดพันธุ์ขนาดเล็กที่สุด พระเยซูเจ้าเองตรัสถึงพระอาณาจักรของพระเจ้าว่า “พระอาณาจักรเปรียบเหมือนเมล็ดมัสตาร์ด ซึ่งเมื่อหว่านในดิน ก็เป็นเมล็ดเล็กกว่าเมล็ดทั้งปวงทั่วแผ่นดิน”

    ประการที่สอง  เรื่องนี้แสดงว่าบุคคลที่ริเริ่มขบวนการอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ บ่อยครั้งเป็นคนเล็ก ๆ ที่ไร้ความสำคัญ นักบุญเปาโลกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “พระเจ้าทรงเลือกสรรคนที่โลกถือว่าอ่อนแอ เพื่อทำให้ผู้แข็งแรงต้องอับอาย และพระเจ้าทรงเลือกสรรสิ่งต่ำช้าน่าดูหมิ่น ไร้คุณค่าในสายตาของชาวโลก เพื่อทำลายสิ่งที่โลกเห็นว่าสำคัญ” (1 คร 1:27-28)

    ประการสุดท้าย เรื่องของ หลุยส์ เบรล แสดงว่าบุคคลที่ริเริ่มขบวนการอันยิ่งใหญ่ มักเสียชีวิตก่อนที่ขบวนการที่เขาได้ริเริ่มขึ้นจะเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป

    นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ พระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์เมื่อพระอาณาจักรของพระเจ้ายังเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ ที่ไร้ความสำคัญ ซูซาน บี. แอนโธนี เสียชีวิตเมื่อขบวนการรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีของเธอยังเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ ที่ไร้ความสำคัญ และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เสียชีวิตเมื่อขบวนการรณรงค์เพื่อสิทธิพลเมืองของเขายังเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ ที่ไร้ความสำคัญ

    ทั้งหมดนี้ช่วยให้เราเข้าใจคำสั่งสอนจากบทอ่านพระคัมภีร์วันนี้ กล่าวคือ ไม่มีเมล็ดใดที่เล็กจนพระเจ้าไม่ทรงทำให้มันกลายเป็นต้นไม้ได้ หมายความว่า ถ้าเราคิดว่าสิ่งใดก็ตามที่เราทำได้นั้นเล็กน้อยจนไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปเกี่ยวกับการทำลายชีวิตของผู้บริสุทธิ์ได้ เมื่อนั้น เรายังไม่เข้าใจคำสั่งสอนจากบทอ่านพระคัมภีร์ในวันนี้

    ถ้าเราคิดว่าสิ่งใดก็ตามที่เราทำได้ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปเกี่ยวกับการทำลายโลกของเรา เป็นการกระทำที่เล็กน้อยเกินกว่าจะสร้างความแตกต่างได้ เมื่อนั้น เรายังไม่เข้าใจคำสั่งสอนจากบทอ่านพระคัมภีร์ในวันนี้

    ถ้าเราคิดว่าสิ่งใดก็ตามที่เราทำได้เพื่อขยายพระอาณาจักรของพระเจ้า เป็นการกระทำที่เล็กน้อยเกินกว่าจะสร้างความแตกต่างได้ เมื่อนั้น เรายังไม่เข้าใจคำสั่งสอนจากบทอ่านพระคัมภีร์ในวันนี้
    นี่คือคำสั่งสอนที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการสอนเราในวันนี้ นี่คือธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่ที่เราเฉลิมฉลองในพิธีกรรมวันนี้

    นี่คือข่าวดีที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการสื่อสารให้แก่โลกของเรา ข่าวดีนั้นบอกเราว่าไม่มีเมล็ดพันธุ์ใดที่เล็กจนไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทกลอนสั้น ๆ ที่สรุปคำสั่งสอน และจิตตารมณ์ของพระวรสารในวันนี้

    ข้าพเจ้าเป็นเพียงประกายไฟ
    โปรดทรงเปลี่ยนข้าพเจ้าให้กลายเป็นกองเพลิง
    ข้าพเจ้าเป็นเพียงเส้นลวด
    โปรดทรงเปลี่ยนข้าพเจ้าให้กลายเป็นพิณ
        ข้าพเจ้าเป็นเพียงจอมปลวก
        โปรดทรงเปลี่ยนข้าพเจ้าให้กลายเป็นขุนเขา
        ข้าพเจ้าเป็นเพียงหยดน้ำ
        โปรดทรงเปลี่ยนข้าพเจ้าให้กลายเป็นน้ำพุ
    ข้าพเจ้าเป็นเพียงขนนก
    โปรดทรงเปลี่ยนข้าพเจ้าให้กลายเป็นปีก
    ข้าพเจ้าเป็นเพียงขอทาน
    โปรดทรงเปลี่ยนข้าพเจ้าให้กลายเป็นพระราชา
    (Amado Nervo)       

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 4:26-34

พระอาณาจักรของพระเจ้าเปรียบเสมือนคนที่นำเมล็ดพืชไปหว่านในดิน

    พระเยซูเจ้าทรงใช้เรื่องเปรียบเทียบที่เข้าใจง่าย เป็นเรื่องจากธรรมชาติที่ผู้ฟังคุ้นเคย

    การหว่านเมล็ดพืชเป็นกิริยาที่พบเห็นได้ทั่วไป จนเราอาจมองไม่เห็นว่ามีธรรมล้ำลึกซ่อนอยู่ การหว่านเมล็ดพืชเป็นการกระทำที่ต้องเสี่ยง เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเมล็ดพืชนั้น...

เขาจะหลับหรือตื่น กลางคืนหรือกลางวัน เมล็ดนั้นก็งอกขึ้นและเติบโต เป็นเช่นนี้ได้อย่างไรเขาไม่รู้ ดินนั้นมีพลังให้เกิดผลในตนเอง ครั้งแรกก็เป็นลำต้น แล้วก็ออกรวง ต่อมาก็มีเมล็ดเต็มรวง

    อุปมาเรื่องนี้มีชื่อว่า “เรื่องพืชที่งอกงามขึ้นเอง” อันที่จริง หลังจากหว่านเมล็ดพืชแล้ว ดูเหมือนว่าไม่มีใครสนใจมันอีก ชาวนาก็ไม่สนใจเมล็ดที่เขาหว่านไปแล้ว นี่คืออุปมาที่มองโลกในแง่ดีที่สุดเท่าที่พบเห็นในพระวรสาร และมาระโกเป็นผู้เดียวที่เล่าเรื่องนี้

    เราควรปล่อยให้จินตนาการของเราทำงานอย่างเต็มที่ เหมือนกับเรากำลังชมสารคดีวิทยาศาสตร์ และคอยติดตามขั้นตอนของการเจริญเติบโตของเมล็ดพืชนี้ ซึ่งตามนุษย์มองไม่เห็น การเจริญเติบโตนี้ยังเป็นเรื่องลึกลับเกินความเข้าใจของมนุษย์ในปัจจุบัน ไม่ต่างจากในยุคของพระเยซูเจ้า นักวิทยาศาสตร์สามารถบรรยายและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ภายนอกได้มากขึ้น แต่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดรู้ว่า “ชีวิต” คืออะไร

    ทันทีที่เมล็ดพืชตกลงในดิน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสสารอย่างลับ ๆ นี่คือกระบวนการอัศจรรย์อันต่อเนื่องที่ตามองไม่เห็น ไม่สำคัญเลยว่ามนุษย์จะดูแลมันหรือไม่ เพราะ “ชีวิต” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำงานของมนุษย์ การพรวนดินช่วยเกื้อกูลธรรมชาติ แต่ไม่สามารถแทนที่ธรรมชาติได้ เมล็ดพืช ... ใบไม้ใบแรก ... ดอกขนาดจิ๋ว ... ฝัก ... และในที่สุด เมล็ดก็ปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนมากมายกว่าเมล็ดที่หว่านลงไป!

    พระเจ้าข้า พระองค์ทรงต้องการสอนอะไรแก่เราด้วยอุปมาที่ให้ความหวังอย่างเจิดจ้านี้? พระองค์ทรงเรียกเราให้ทำอะไรด้วยพระวาจาเหล่านี้?

    ไม่มีใครตอบคำถามเหล่านี้ได้นอกจากตัวเราเอง สถานการณ์ของตัวข้าพเจ้าเป็นอย่างไรในวันนี้ ขณะที่พระเยซูเจ้าตรัสกับข้าพเจ้า? ... เราคิดว่าสารแห่งความหวังนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับพระศาสนจักร หรือกับโลก?...

แต่เมื่อข้าวสุก เกิดผลแล้ว เขาก็ใช้คนไปเก็บเกี่ยวทันที เพราะถึงฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว

    แล้วสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปทันที พระคัมภีร์ภาษากรีกของมาระโกใช้สองคำที่แย้งกัน คือ “แต่...ทันที” หลังจากทุกสิ่งทุกอย่างหยุดนิ่งเป็นเวลานาน ก็เกิดความเคลื่อนไหวทันที ฤดูเก็บเกี่ยวมาถึงแล้ว

    เราไม่ควรลืมว่าอุปมาเรื่องนี้เริ่มต้นอย่างไร ในความเป็นจริง พระเยซูเจ้ากำลังตรัสถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า พฤติกรรมของชาวนาคนนี้ควรช่วยเราให้ตระหนักว่าพระเจ้าทรงกระทำการและทรงทำงานอย่างไร ขอให้เราย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าพระวรสารไม่ใช่ “คำสอนศีลธรรม” ดังนั้นเราจึงไม่ควรอ่านผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ควรไตร่ตรองว่าอุปมานี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตของเรา พระวรสารเปิดเผยให้เรารู้ว่าพระเจ้าทรงเป็นใคร หลังจากเราได้ค้นพบความจริงข้อนี้ในระดับลึกมากขึ้นแล้วเท่านั้น เราจึงจะพัฒนาทัศนคติที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้

    อุปมาเรื่องนี้เปิดเผยให้เรารู้อะไรเกี่ยวกับพระเจ้า? พระเยซูเจ้าทรงเผยให้เราเข้าใจความจริงในสภาพแวดล้อมในยุคของพระองค์ ซึ่งเห็นได้จากคำถามที่แสดงความผิดหวังของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ว่า “ท่านคือผู้ที่จะมา หรือเราจะต้องรอคอยใครอีก” (มธ 11:3)

    คนยุคปัจจุบัน – และคนทุกยุคสมัย – ก็ถามเช่นนี้ ทำไมเราจึงไม่สามารถมองเห็นพระอาณาจักรของพระเจ้าได้ชัดเจนกว่านี้? ทำไมพระเจ้าจึงดูเหมือนไม่ทรงสนพระทัยในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกนี้?...

    พระเยซูเจ้าทรงตอบคำถามนี้ว่า พระเจ้าทรงเหมือนกับชาวนาผู้นี้ พระองค์ทรงรอจนกว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยว ระหว่างนี้ ถ้าท่านคิดว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ท่านก็กำลังเห็นภาพลวงตา เป็นความจริงที่ท่านมองไม่เห็น แต่นั่นเป็นเพราะท่านไม่สามารถมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง! เรารู้ว่าสิ่งที่ตามองไม่เห็น ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง แต่ตรงกันข้าม “สิ่งสำคัญเป็นสิ่งที่ตามองไม่เห็น” สุนัขจิ้งจอกบอกเจ้าชายน้อยเช่นนี้ในหนังสือของ Saint-Exupery ภายในเมล็ดข้าวสาลีหนึ่งเมล็ดมีอะตอมนับแสนล้าน อะตอมหนึ่งมีนิวเคลียสเป็นศูนย์กลางซึ่งดึงดูดอนุภาคเล็ก ๆ มากมายเข้ามาหาตนเองด้วยความเร็ว 297,000 กม. ต่อหนึ่งวินาที ท่านมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่นี่คือความจริงของเมล็ดข้าวสาลี

    สิ่งฝ่ายสวรรค์ในโลกนี้ก็อยู่ในข่ายเดียวกันนี้ เพราะมีพลังซ่อนเร้นที่เรามองไม่เห็น หัวใจเท่านั้นสามารถสัมผัสได้ เมื่อหัวใจนั้นพร้อมจะเชื่อความจริงที่พระเยซูเจ้าทรงเผยให้เรารู้จักพระเจ้า

    สำหรับผู้มีความเชื่อ ความจริงข้อนี้ทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไร? ... เพื่อนเอ๋ย ท่านจำเป็นต้องหาข้อสรุปด้วยตัวของท่านเอง...

    จงคอยให้เมล็ดสุก อย่ายอมตกอยู่ในความสิ้นหวัง แต่เราจงทำงานต่อไป และหว่านเมล็ดต่อไปเถิด ... เอกภพไม่ได้กำลังมุ่งหน้าไปสู่จุดจบ แต่มุ่งหน้าไปสู่ “ความยินดีในฤดูเก็บเกี่ยว” ชาวนาเอ๋ย จงเตรียมเคียวของท่านให้พร้อมเถิด!

พระองค์ตรัสอีกว่า “เราจะเปรียบพระอาณาจักรของพระเจ้าอย่างไร หรือจะใช้อุปมาอะไรอธิบายเรื่องนี้”

    คำถามซ้อนข้อนี้เป็นเพียงลีลาการเขียนของผู้นิพนธ์พระวรสาร ที่ต้องการเตือนใจให้เราระลึกถึงหัวข้อคำสั่งสอน หรือพระเยซูเจ้าได้ตรัสถามเช่นนี้จริง ราวกับว่าทรงต้องการเน้นว่าการอธิบายเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้านั้นทำได้ยาก?

    ไม่ว่าสถานการณ์จริงจะเป็นอย่างไร บ่อยครั้งที่เราเองก็พยายามค้นหาคำตอบ และสงสัยว่าพระอาณาจักรนี้คืออะไร? พระอาณาจักรนี้เหมือนกับอะไร? อะไรคือเป้าหมาย และการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของพระอาณาจักรนี้?...

พระอาณาจักรเปรียบเหมือนเมล็ดมัสตาร์ด ซึ่งเมื่อหว่านในดิน ก็เป็นเมล็ดเล็กกว่าเมล็ดทั้งปวงทั่วแผ่นดิน แต่ครั้นได้หว่านแล้วก็งอกขึ้น และกลายเป็นต้นไม้ใหญ่กว่าพืชผักทุกชนิด

    นี่เป็นอีกภาพลักษณ์หนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระอาจารย์แห่งปรีชาญาณ” ทรงเป็นครูที่ดี เป็นนักเล่าเรื่องที่รู้จักใช้ถ้อยคำหรือคติพจน์ที่มีสาระ และทำให้มองเห็นภาพได้ชัด

    คนทั่วไปรู้ว่าเมล็ดมัสตาร์ดเป็นเมล็ดขนาดเล็กมาก พระเยซูเจ้าทรงเคยเอ่ยถึงเมล็ดมัสตาร์ดครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ถ้าท่านมีความเชื่อเท่ากับเมล็ดมัสตาร์ด...” (ลก 17:6) ดังนั้น อุปมานี้จึงเน้นความแตกต่างระหว่างจุดเริ่มต้น – ที่เล็กมาก – และผลสัมฤทธิ์ ซึ่งยิ่งใหญ่มาก...

    ในอุปมาทั้งสองเรื่องนี้ พระเยซูเจ้าทรงตอบเสียงคัดค้านของประชาชนที่พระองค์ได้ยินบ่อยครั้งระหว่างที่พระองค์ทรงปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ ประชาชนคาดหมายว่าพระเมสสิยาห์จะนำชัยชนะมาให้เขาอย่างรวดเร็ว ... แต่ “วันของพระเจ้า” วันแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่นั้นดูเหมือนจะมาไม่ถึงสักที! ... เมื่อเทียบกับความเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างที่ชาวยิวกำลังคาดหวังอยู่นี้ การเทศน์สอนของพระเยซูเจ้าดูเหมือนไร้ความสำคัญ

    มาระโกกำลังตอบคำถามที่อยู่ในใจของประชาชนในยุคของเขาอีกด้วย ขณะที่มาระโกกำลังเรียบเรียงพระวรสารของเขาอยู่นั้น หลายคนกำลังไม่สบายใจที่เห็นว่าชนชาติอิสราเอลไม่ยินดีต้อนรับข่าวดีของพระเยซูเจ้า นี่เป็นสัญญาณบอกว่าแผนการของพระเจ้าล้มเหลวหรือ?...

    ท้ายที่สุด ข้อความนี้กำลังตอบคำถามที่น่ากลัวที่สุดในยุคของเรา คือ ถ้าพระเจ้ามีตัวตนอยู่จริง เราก็น่าจะรับรู้ถึงการประทับอยู่ของพระองค์ได้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่หรือ? ทำไมจึงมีคนดี ๆ และคนที่ซื่อสัตย์สุจริตจำนวนมากที่ไม่มีความเชื่อ ทำไมจึงมีคนที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าเพราะไม่มีใครที่รู้จริง (agnostics)? ... พระเจ้ามีตัวตนจริงหรือ? เป็นไปได้หรือไม่ที่พระองค์เป็นผลผลิตจากจินตนาการของมนุษย์ และเป็นภาพลวงตาของผู้เห็นนิมิตเพียงไม่กี่คน?...

    ไม่ว่าพระองค์ทรงเทศน์สอนได้น่าประทับใจเพียงไร ไม่ว่าพระองค์ทรงดำรงชีพอย่างศักดิ์สิทธิ์และครบครันเพียงไร พระเยซูเจ้าก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจคนร่วมสมัยของพระองค์ได้ – แม้แต่ญาติพี่น้องของพระองค์เอง ดังที่พระวรสารบอกเราเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่ด้วยความใจกล้าอย่างยิ่ง พระองค์มิได้ทรงคิดว่าการหว่าน “เมล็ดพืชเล็ก ๆ” ของพระองค์เป็นเรื่องเสียเวลา และประวัติศาสตร์ก็พิสูจน์แล้วพระองค์ทรงคิดถูก

    นับแต่นี้ไป ใครก็ตามที่หว่านเมล็ดพืชลงในวิญญาณดวงหนึ่ง ใครก็ตามที่ถวายชีวิตของตนเพื่อรับใช้พี่น้องชายหญิงของเขา ใครก็ตามที่พยายามหว่านเมล็ดพันธุ์ของข่าวดี เขาเหล่านั้นย่อมมีกำลังความเข้มแข็งพอที่จะเผชิญหน้ากับความล้มเหลวชั่วคราว และเอาชนะความท้อถอยของเขาได้ เมื่อเขาได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ของพระเยซูเจ้า ท่านทั้งหลายผู้เป็นบิดามารดา และปู่ย่าตายาย ถ้าท่านคิดว่าท่านล้มเหลวในหน้าที่ผู้อบรมสั่งสอน จงหยิบเมล็ดมัสตาร์ดเล็ก ๆ เมล็ดหนึ่งขึ้นมาพิจารณาเถิด ผลลัพธ์อันต่ำต้อยที่ท่านเห็นจะทำให้ท่านมีความหวังในผลที่จะเก็บเกี่ยวได้ในที่สุด...

    เราได้เห็นแล้วว่าการผจญภัยเล็ก ๆ ของพระเยซูเจ้าได้กลายเป็นงานอันยิ่งใหญ่ ... จงรอคอยจนกว่าท่านจะได้เห็นขนาดของผลลัพธ์เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว เมื่อถึงอวสานกาลเถิด...

มีกิ่งก้านใหญ่โตจนบรรดานกในอากาศมาพักอาศัยร่มเงาได้

    เมล็ดพืชขนาดเล็กที่สุดนี้ได้กลายเป็นพุ่มไม้ใหญ่

    “ต้นไม้ที่ให้ที่พักพิงแก่นกในอากาศ” เป็นภาพลักษณ์ที่พบบ่อยครั้งในพระคัมภีร์ (ดนล 4:9; อสค 31:6, 17:22-23; วนฉ 9:15) พระเยซูเจ้าทรงเข้าใจสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของพระองค์เป็นอย่างดี แต่เราควรระลึกว่า ชายที่กล้าคาดหมายความสำเร็จขั้นสุดท้ายนี้ ในเวลานั้นเป็นเพียงชาวกาลิลีจากนาซาเร็ธที่ไม่มีใครรู้จัก และรอบกายของเขาก็มีเพียงชายสิบสองคนที่ไม่มีใครรู้จัก และยังขาดการขัดเกลา

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าอ่านทวนคำสัญญาของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง และคำนึงถึงความล้มเหลวทั้งปวงของข้าพเจ้า โปรดประทานความหวังและความเชื่อแก่เราด้วยเทอญ

พระองค์ตรัสเป็นอุปมาเช่นนี้อีกมากตามที่เขาเหล่านั้นฟังเข้าใจได้ พระองค์มิได้ตรัสกับเขาโดยไม่ใช้อุปมา แต่เมื่อทรงอยู่เฉพาะกับบรรดาศิษย์ ก็ทรงอธิบายทุกเรื่องให้กับเขาเหล่านั้น

    พระเยซูเจ้าทรงคำนึงถึงสมรรถภาพของผู้ฟังพระองค์ ว่าเขาสามารถเชื่อธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับอิสรภาพของมนุษย์ได้มากน้อยเท่าใด

    สำหรับมิตรสหายผู้พร้อมจะเชื่อพระองค์ พระองค์ทรงอธิบายให้เขาเข้าใจมากขึ้น  ความเชื่อเป็นวิถีชีวิต เป็นความสัมพันธ์อันมีชีวิต การภาวนาแต่ละครั้งเป็นการเตรียมทางสำหรับการภาวนาครั้งต่อไป การรำพึงแต่ละครั้งเป็นการเตรียมทางสำหรับการรำพึงครั้งต่อไป สิ่งใดที่ยังคลุมเครือจะปรากฏชัดมากขึ้นทีละน้อย

    ถ้าท่านต้องการรู้จักพระเจ้าให้มากขึ้น จงเริ่มต้นด้วยการเดินก้าวแรกไปหาพระองค์ ... เพียงก้าวเดียวเท่านั้นสำหรับเวลานี้

    ท่านควรทำสิ่งใดในเวลานี้ – เพื่อให้ชีวิตของท่านเจริญเติบโตอย่างแท้จริง?...