แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 13 เทศกาลธรรมดา
ปรีชาญาณ 1:13-15, 2:23-24; 2 โครินธ์ 8:7, 9, 13-15; มาระโก 5:21-43

บทรำพึงที่ 1
คำจารึก
“อย่ากลัวเลย จงมีความเชื่อไว้เถิด”

    แอนน์ จิลเลียน เป็นนักแสดงฮอลลีวูด ที่เคยแสดงละครบรอดเวย์ และละครโทรทัศน์มาแล้วหลายเรื่อง ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1985 ขณะที่กำลังออกกำลังกายในสโมสรสุขภาพแห่งหนึ่งที่ ซานฟรานซิสโก แวลลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย  แอนน์สังเกตเห็นก้อนเนื้อบนร่างกายของเธอ เธอทั้งตกใจและกลัว เธอสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง และเธอก็คิดถูก

    วันต่อมาก่อนจะไปพบแพทย์ เธอแวะที่วัดนักบุญ ฟรังซิส เดอ ซาลส์ ที่บานประตูวัดมีคำจารึกที่แอนน์สังเกตเห็นมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยตั้งใจอ่าน บัดนี้เธออ่าน และพบข้อความว่า

    “พระบิดานิรันดรผู้ทรงดูแลท่านอยู่ในวันนี้ จะทรงดูแลท่านในวันพรุ่งนี้ และทุกวัน พระองค์จะทรงปกป้องท่านจากความทุกข์ทรมาน หรือมิฉะนั้นพระองค์จะประทานพละกำลังให้ท่านทนรับความทุกข์ทรมานนั้นได้ ดังนั้น จงสงบใจ และปล่อยวางความคิดกังวลและจินตนาการของท่านเสียเถิด”

    ข้อความนี้เหมือนกับจะพูดกับเธอโดยตรง แอนน์เดินเข้าไปในวัด คุกเข่าลงเบื้องหน้าศีลมหาสนิท และภาวนาวอนขอพระหรรษทานให้เธอเชื่อข้อความที่เธอเพิ่งจะอ่าน แล้วสันติสุขภายในอันลึกล้ำและความสงบก็เข้ามาในใจของเธอขณะที่เธอภาวนา

    สองสัปดาห์ต่อมา แอนน์เข้ารับการผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้าง การผ่าตัดเป็นผลสำเร็จ สื่อต่าง ๆ รายงานว่าเธอฉายแสงความวางใจในพระเจ้าและสันติสุขในใจทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด ทำให้เธอกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งนับพันคนทั่วโลกไปในทันใด

    เรื่องของแอนน์ จิลเลียน เสนอภาพของบุคคลหนึ่งที่เชื่อในพระวาจาของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้

    พระเยซูเจ้าตรัสพระวาจานี้ ขณะที่พระองค์เสด็จไปยังบ้านของไยรัส เพื่อรักษาบุตรหญิงของเขาที่กำลังป่วย แต่มีคนมาส่งข่าวว่า “บุตรหญิงของท่านตายแล้ว ไปรบกวนพระอาจารย์อีกทำไมเล่า” ไยรัสน้ำตาคลอ แต่ก่อนที่เขาจะกล่าวอะไร พระเยซูเจ้าทรงหันมาหาเขาและตรัสว่า “อย่ากลัวเลย จงมีความกล้าไว้เถิด” (มก 5:35-36)

    พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้กับ แอนน์ จิลเลียน ผ่านข้อความที่จารึกบนบานประตูวัดในเขตวัดของเธอ ซึ่งเรียกร้องให้เธอเชื่อและวางใจ และพระองค์ตรัสเช่นนี้กับเรา ผ่านทางข้อความที่บันทึกไว้ในพระวรสารวันนี้

    เราแต่ละคนในวัดวันนี้ มีปัญหาบางอย่าง มีเรื่องกังวลใจบางอย่าง มีความห่วงใยบางอย่าง และมีกางเขนบางอย่างที่เราต้องแบก บางที เราอาจกำลังมีปัญหาสุขภาพเหมือนกับแอนน์ ซึ่งกำลังทำให้จิตใจของเราวุ่นวาย

    บางที อาจมีใครบางคนในครอบครัวของเราที่กำลังป่วยหนักเช่นเดียวกับไยรัส และบางที เราอาจเป็นคนหนุ่มสาวที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเหมือนกับบุตรสาวของไยรัส เช่นอยู่ในบ้านที่ไม่มีความสุข หรือกำลังกังวลใจกับอนาคตของเรา

    เราแต่ละคนมีปัญหาบางอย่างที่คุกคามความสงบในใจของเรา เราแต่ละคนมีเมฆหมอกบางอย่างที่ลอยอยู่เหนือศีรษะของเรา เราแต่ละคนมีกางเขนบางอย่างที่หนักจนเราแบกแทบไม่ไหว

    และพระเยซูเจ้ากำลังตรัสกับเราแต่ละคน เหมือนกับที่พระองค์ตรัสกับไยรัสในพระวรสารวันนี้ว่า “อย่ากลัวเลย จงมีความเชื่อไว้เถิด”

    พระเยซูเจ้าตรัสกับเรา เหมือนกับที่พระองค์ตรัสกับแอนน์ ผ่านทางข้อความที่จารึกบนประตูวัดว่า “พระบิดานิรันดรผู้ทรงดูแลท่านอยู่ในวันนี้ จะทรงดูแลท่านในวันพรุ่งนี้ และทุกวัน พระองค์จะทรงปกป้องท่านจากความทุกข์ทรมาน หรือมิฉะนั้นพระองค์จะประทานพละกำลังให้ท่านทนรับความทุกข์ทรมานนั้นได้ ดังนั้น จงสงบใจ และปล่อยวางความคิดกังวลและจินตนาการของท่านเสียเถิด”

    ขอให้เราพิจารณาข้อความนี้ให้ถี่ถ้วนเถิด ข้อความนี้เป็นคำสัญญาที่สำคัญ เพราะสัญญากับเราว่า พระเจ้าผู้ทรงเป็นบิดา ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักและเอื้ออาทร จะทรงปกป้องคุ้มครองเราจากความทุกข์ทรมาน หรือมิฉะนั้น พระองค์ก็จะประทานพละกำลังให้เราทนรับความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นได้

    กล่าวกันว่าพระเจ้าอาจไม่ยกกางเขนบางอย่างที่เรากำลังแบกอยู่ออกไป แต่พระองค์จะประทานพละกำลังให้เราสามารถแบกกางเขนนั้นต่อไปได้อย่างแน่นอน

    กล่าวกันว่าพระเจ้าอาจไม่ทรงขจัดความคลางแคลงใจบางประการที่อยู่ในใจของเราในเวลานี้ แต่พระองค์จะประทานความกล้าหาญให้เราสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าท่ามกลางความมืดได้

    ทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องถามว่า ถ้าเรารู้สึกว่าการเชื่อในพระเจ้าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เราควรทำอย่างไร? เราควรทำอย่างไรถ้าเรารู้สึกว่ายากที่จะทำใจให้สงบเหมือนกับแอนน์?

    เราจะพบคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ได้จากเรื่องของแอนน์ จิลเลียน เราควรทำอย่างที่เธอทำ เราควรคุกเข่าลงเบื้องหน้าศีลมหาสนิท และภาวนาวอนขอพระหรรษทานให้เราสามารถวางใจว่าพระเจ้าทรงรักเรามากกว่าที่เรารักตนเอง เราควรภาวนาวอนขอพระหรรษทานให้เราสามารถวางใจว่าพระเจ้าทรงเป็นบิดาผู้ประทับอยู่ข้างกายเราเสมอ

    ถ้าเราทำเช่นนี้ด้วยความวางใจเหมือนเด็ก เหมือนกับที่ไยรัส และแอนน์วางใจ เราจะได้สัมผัสกับสันติสุขภายในเหมือนกับเขาทั้งสอง เราจะได้สัมผัสกับความสงบภายใน และความวางใจเหมือนกับเขา และเราจะรับรู้ได้เหมือนเขาทั้งสองว่าพระเจ้าประทับอยู่ข้างกายเราเสมอ และทรงพร้อมจะกระทำสิ่งใดก็ตามที่ดีที่สุดสำหรับเรา

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทกลอน ที่ย่อความทั้งหมดที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้

    ฉันเห็นเส้นทางชีวิตทอดยาวไปข้างหน้า
    ทางนั้นมองดูสว่างไสว
    พระเจ้าประทับอยู่ข้างกายฉัน
    ทรงเป็นทั้งเพื่อนและผู้นำทาง
    ฉันออกเดินทางในสภาวะเช่นนี้
        แต่แล้วท้องฟ้ากลับเปลี่ยนเป็นมืดครึ้ม
        เส้นทางขรุขระและสูงชันมากขึ้น
        ก้อนหินและร่องหลุมบนถนนทำให้ฉันสะดุด
        ขาของฉันเจ็บและล้า
        เดินต่อไปข้างหน้าแทบไม่ไหว
    ฉันหันไปและร้องถามว่า “ข้าแต่พระเจ้าของลูก
    ทำไมลูกจึงต้องเจ็บปวด ทำไมลูกต้องลำบากเช่นนี้
    ทำไมต้องมีร่องหลุม และก้อนหิน
    ถนนหายไปไหน แสงสว่างหายไปไหน
    ลูกเดินต่อไปไม่ไหวแล้ว”
        พระเจ้าทรงหันมาและตรัสว่า
        “ลูกเอ๋ย ความเชื่อของลูกอยู่ที่ไหน
        ความเชื่อของลูกในตัวเราอยู่ที่ไหน
        ความรักได้เลือกเส้นทางนี้ให้ลูก
        จงวางใจและเดินทางต่อไปเถิด” (Mark Link)

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 5:21-43

ประชาชนชุมนุมกันเนืองแน่นรอบพระเยซูเจ้าขณะที่พระองค์ยังทรงอยู่ริมทะเลสาบ หัวหน้าศาลาธรรมคนหนึ่งชื่อไยรัสเดินมา เมื่อเห็นพระองค์ เขากราบลงที่พระบาท พร่ำวิงวอนว่า “บุตรหญิงเล็ก ๆ ของข้าพเจ้าจวนจะสิ้นใจอยู่แล้ว เชิญพระองค์เสด็จไปปกพระหัตถ์เหนือเขาเถิด เขาจะได้หายจากโรค กลับมีชีวิต” พระเยซูเจ้าเสด็จไปกับเขา ประชาชนกลุ่มใหญ่ติดตามไป และเบียดเสียดพระองค์

    ก่อนอื่น ข้าพเจ้าอ่านทวนคำบอกเล่าเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวนี้อีกครั้งหนึ่ง มาระโกบอกเล่าข่าวดีของเปโตร ซึ่งเป็นคนที่ติดดิน และเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ละเอียดถี่ถ้วน ข้าพเจ้านึกภาพในจินตนาการ ข้าพเจ้าเห็นคนจำนวนมาก ข้าพเจ้าสังเกตกิริยาท่าทางของพวกเขา เหมือนกับข้าพเจ้ากำลังดูภาพยนตร์ หรือข้าพเจ้าอาจนึกภาพก็ได้ว่าข้าพเจ้าเป็นบุคคลหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์นี้ ข้าพเจ้าเข้าไปอยู่ท่ามกลางฝูงชน

    เราสังเกตรายละเอียดสองอย่างในเรื่องนี้ ไยรัส “พร่ำวิงวอน” พระเยซูเจ้า ... และพระองค์ “เสด็จไปกับเขา” โดยไม่ตรัสอะไรเลย เราเห็นบุคคลทั้งสองเดินไปด้วยกัน ท่ามกลางฝูงชน...  

ขณะนั้น หญิงคนหนึ่งเป็นโรคตกเลือดมาสิบสองปีแล้ว ได้รับความทรมานมากจากการรักษาของแพทย์หลายคน เสียทรัพย์จนหมดสิ้น โรคก็มิได้บรรเทา ตรงกันข้ามกลับทรุดหนัก นางได้ยินเขาพูดกันถึงเรื่องพระเยซูเจ้า จึงเดินปะปนกับประชาชนเข้ามาเบื้องหลัง และสัมผัสฉลองพระองค์

    มาระโกเน้นย้ำสถานการณ์สิ้นหวังของหญิงคนนี้ นางทนรับความทุกข์ทรมานมามากแล้ว ... นางได้รักษากับแพทย์มาแล้วหลายคน ... นางใช้เงินไปกับการรักษาโรคจนหมดตัว ... โรคไม่ได้บรรเทา ... แต่กลับทรุดหนัก

    คำเน้นย้ำเหล่านี้แสดงว่า เมื่อใดที่ความพยายามทุกทางของมนุษย์ไม่อาจช่วยได้ พระเยซูเจ้ายังทรงมีอำนาจช่วยเหลือเราได้

    พระเจ้าข้า โปรดประทานความเชื่ออันลึกล้ำแก่เรา ซึ่งจะช่วยเรามิให้ตกอยู่ในความสิ้นหวังด้วยเทอญ

นางคิดว่า “ถ้าฉันเพียงได้สัมผัสฉลองพระองค์เท่านั้น ฉันก็จะหายจากโรค”

    ชาวยิวในยุคนั้นถือว่าหญิงคนนี้ “มีมลทิน” ตามธรรมบัญญัติของโมเสส (ลนต 15:25) และถ้านางสัมผัสใคร จะทำให้บุคคลนั้นพลอยมีมลทินไปด้วย

    ข้าพเจ้าพยายามนึกภาพว่าหญิงที่น่าสงสารคนนี้รู้สึกอับอายอย่างไร และนางต้องรู้สึกกระวนกระวายใจอย่างไร เมื่อนางสัมผัสฉลองพระองค์ของพระเยซูเจ้า นางได้ทำสิ่งต้องห้าม อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าพระองค์ทรงไม่ยอมให้นางสัมผัส ... นอกจากนี้ ถ้าประชาชนเหล่านั้นรู้ว่านางเป็นใคร เขาจะพากันถอยห่างจากนางด้วยความรังเกียจและความกลัว ... ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าเป็นหลัก พระองค์เสด็จมา “เพื่อตามหาผู้ที่หลงทาง” พระองค์ทรงยินดีต้อนรับคนที่ยากไร้ที่สุด พระองค์ไม่เคยผลักไสคนบาป ไม่ว่าบาปนั้นจะซ่อนเร้นหรือน่าอับอายเพียงใดก็ตาม เมื่อพระเยซูเจ้าทรงต้องช่วยมนุษย์คนใดให้ได้รับความรอดพ้น ไม่มีธรรมบัญญัติข้อใดขัดขวางพระองค์ได้

    พระเจ้าข้า โปรดทรงปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากการยึดถือบทบัญญัติอย่างไม่ลืมหูลืมตา จากความกลัว และจากความอดสูใจของเรา

ทันใดนั้นอาการตกเลือดก็หยุด นางรู้สึกว่าร่างกายหายจากโรคแล้ว ขณะเดียวกัน พระเยซูเจ้าทรงรู้สึกว่ามีอิทธิฤทธิ์ออกจากพระองค์ไป จึงทรงหันมายังกลุ่มชน ตรัสว่า “ใครสัมผัสเสื้อของเรา”  บรรดาศิษย์ทูลว่า พระองค์ทรงเห็นแล้วว่าผู้คนเบียดเสียดกันเช่นนี้ แล้วยังทรงถามอีกหรือว่า “ใครสัมผัสเรา” พระองค์ทรงหันไปรอบ ๆ เพื่อทอดพระเนตรผู้ที่กระทำเช่นนั้น

    พระเยซูเจ้าทรงต้องการติดต่อสื่อสารกับประชาชนแบบตัวต่อตัว และทรงต้องการนำหญิงผู้นี้เข้าสู่ความเชื่อในระดับลึกมากขึ้น ขณะนั้นความเชื่อของนางเป็นความเชื่อแบบไสยศาสตร์ (“ถ้าฉันเพียงได้สัมผัส ... ฉันก็จะหาย...”) พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้นางมีความเชื่อแท้ ให้นางยอมรับพระบุคคลของพระองค์ เราสังเกตได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นครูที่ยอดเยี่ยม พระองค์ทรงยอมรับความเชื่อแบบไร้เดียงสา ความเชื่อที่ยังไม่สมบูรณ์พร้อม แต่พระองค์ทรงนำผู้มีความเชื่อเช่นนี้ไปสู่ความเชื่อแบบผู้ใหญ่ ที่มีเหตุจูงใจที่สูงส่งกว่า  

    ขอบพระคุณพระองค์ พระเจ้าข้า ที่พระองค์ทรงรักข้าพเจ้าอย่างที่ข้าพเจ้าเป็น โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้เป็นได้อย่างที่พระองค์ทรงต้องการเถิด

หญิงคนนั้นรู้สึกกลัวจนตัวสั่นเพราะรู้ดีว่าอะไรได้เกิดขึ้นแก่ตน จึงกราบลงเฉพาะพระพักตร์และทูลให้ทรงทราบความจริงทุกประการ พระองค์จึงตรัสว่า “ลูกเอ๋ย ความเชื่อของท่านช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว จงไปเป็นสุข หายจากโรคเถิด”

    “ความเชื่อของท่านช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว” ... “รอดพ้น ... หายจากโรค” ตามความคิดของคริสตชนที่เข้าใจธรรมล้ำลึกปัสกา อัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นการประกาศ “ความรอดพ้นโดยอาศัยความเชื่อ” ที่เราได้รับ ถ้าเรายอมรับพระเยซูเจ้า

    สิ่งสำคัญตามความคิดของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่ “อัศจรรย์” แต่เป็นความรอดพ้น

    ข้าพเจ้ากำลังวอนขออะไรจากพระเจ้า?

ขณะที่กำลังตรัสอยู่นั้น มีคนมาจากบ้านหัวหน้าศาลาธรรม บอกเขาว่า “บุตรหญิงของท่านตายแล้ว ไปรบกวนพระอาจารย์อีกทำไมเล่า” แต่พระเยซูเจ้าทรงได้ยินเขาพูดดังนั้น จึงตรัสแก่หัวหน้าศาลาธรรมว่า “อย่ากลัวเลย จงมีความเชื่อไว้เถิด”

    สำหรับพระเยซูเจ้า สิ่งจำเป็นคือความเชื่อ ไยรัสได้เห็นอัศจรรย์ที่เพิ่งเกิดขึ้น มาระโกเล่าเรื่องอัศจรรย์สองเรื่องนี้รวมกัน เพื่อทำให้เรารู้สึกได้ว่าไยรัสมีความเชื่อเพิ่มมากขึ้นอีก ความเชื่อที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงสามารถรักษาโรค ความเชื่อที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงสามารถปลุกคนตายให้กลับคืนชีพได้

    “ไปรบกวนพระอาจารย์อีกทำไมเล่า” สำหรับประชาชนยุคนั้น การขอร้องให้พระเยซูเจ้าปลุกคนตายให้กลับคืนชีพเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เขาเชื่อว่าพระองค์ทรงรักษาโรคให้ผู้ป่วยได้แน่นอน แต่ไม่ใช่การปลุกคนตายให้ฟื้น! ไม่มีประโยชน์ที่จะรบกวนพระอาจารย์
    ข้อความนี้ชี้ให้เห็นความขัดแย้งในตัวของความเชื่อ

พระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ใครติดตามไปนอกจากเปโตร ยากอบ และยอห์น น้องชายของยากอบ เมื่อทุกคนมาถึงบ้านหัวหน้าศาลาธรรม

    นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการสร้างความตื่นเต้นในหมู่ประชาชน เมื่อใดที่ทรงทำได้ พระองค์จะทรงทำอัศจรรย์โดยให้มีผู้รู้เห็นน้อยที่สุด วันนี้ พระองค์ทรงเลือกพยานเพียงสามคน สามคนนี้จะเป็นบุคคลที่ได้เห็นพระเยซูเจ้าแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ (มก 9:2) และอยู่ร่วมในเหตุการณ์ในสวนมะกอกเทศ (มก 14:33) พระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการให้ประชาชนมองว่าอำนาจของพระองค์เป็นเวทย์มนตร์ พระองค์จะต้องผ่านการเข้าตรีทูต และความตาย – อย่างที่เพิ่งจะเกิดขึ้นกับเด็กหญิงคนนี้

    ความรอดพ้นที่เด็ดขาดคือปัสกาครั้งสุดท้าย หมายถึงการเข้าสู่ชีวิตนิรันดร

พระเยซูเจ้าทรงเห็นความวุ่นวาย และเห็นผู้คนร่ำไห้พิลาปรำพันเป็นอันมาก พระองค์เสด็จเข้าไป ตรัสแก่คนเหล่านั้นว่า “วุ่นวายและร้องไห้ไปทำไม เด็กคนนี้ไม่ตาย เพียงแต่นอนหลับไปเท่านั้น” เขาต่างหัวเราะเยาะพระองค์ พระองค์ทรงไล่เขาออกไปข้างนอก

    ความเชื่อของไยรัส และอัครสาวกทั้งสามคน ถูกทดสอบอย่างรุนแรงจากคนที่ไม่มีความเชื่อในบ้านหลังนั้น คนที่ “หัวเราะเยาะ” พระเยซูเจ้า

... ทรงนำบิดามารดาของเด็ก และศิษย์ที่ติดตาม เข้าไปยังที่ที่เด็กนอนอยู่ ทรงจับมือเด็ก

    พระหัตถ์ของพระองค์ทำอัศจรรย์ ... พระหัตถ์ของพระองค์จับมือของคนที่ตายแล้ว ... มือของเขาสัมผัสกับพระกายของพระเยซูเจ้า!

    เมื่อเรารับศีลมหาสนิท ธรรมล้ำลึกแห่งการประทานชีวิตนี้ กำลังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งกับตัวเรา!...

... ตรัสว่า “ทาลิธาคูม”

    มาระโกเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพียงคนเดียวที่อ้างคำพูดเป็นภาษาอาราเมอิกนี้ ซึ่งเป็นภาษาแม่ของพระเยซูเจ้า เขารู้เหตุการณ์นี้มาจากเปโตร ผู้อยู่ในที่เกิดเหตุ รายละเอียดปลีกย่อยเช่นนี้แสดงว่าเปโตรเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์

    มาระโกบันทึกความทรงจำเหล่านี้จากปากของผู้ที่ได้ยินถ้อยคำนี้กับหูตนเอง ซึ่งทำให้เขาตกตะลึง เปโตรจดจำถ้อยคำนี้ได้ตลอดชีวิตของเขา “ทาลิธาคูม”...

แปลว่า “หนูเอ๋ย เราสั่งให้หนูลุกขึ้น”
    อันที่จริง เราสามารถแปลคำภาษาอาราเมอิกนี้ให้สั้นกว่านี้ได้ว่า “เด็กน้อย จงลุกขึ้น” แต่ผู้นิพนธ์พระวรสารคิดว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโดยใช้คำพูดของตนเอง เขาจึงใช้คำที่คริสตชนยุคแรกคุ้นเคยหลังจากพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว คือ egeire แปลว่า กลับคืนชีพ (arise) หรือ ตื่นขึ้น (awake) นี่คือคำที่ใช้บรรยายการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า และเป็น “คำปัสกา (paschal word)”

    คำนี้ต่างจากคำว่า “นอนหลับ (sleep)” ที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เรียกความตายก่อนหน้านี้ สำหรับพระเยซูเจ้า ความตายไม่ใช่ความตายอีกต่อไป แต่เป็นการนอนหลับก่อนจะตื่นขึ้นมา คริสตชนยุคโบราณขับร้องเพลงในพิธีรับศีลล้างบาปว่า “ผู้หลับไหล จงตื่นเถิด จงลุกขึ้นจากบรรดาผู้ตาย และแสงสว่างจะส่องเหนือท่าน” (อฟ 5:14) คนสมัยโบราณเรียกศีลล้างบาปด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า “การส่องสว่าง”...

    ศีลล้างบาปของข้าพเจ้า ชีวิตหลังศีลล้างบาปของข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้าเชื่อจริง ๆ หรือไม่ว่าข้าพเจ้าได้รับพระพรเดียวกันกับเด็กหญิงคนนี้? เมื่อข้าพเจ้ารับศีลล้างบาป ข้าพเจ้าก้าวออกจากความตายเข้าสู่ชีวิต ชีวิตนิรันดรของข้าพเจ้าเริ่มต้นขึ้นแล้ว...

    ข้าพเจ้า “ตื่นขึ้น ... ลุกขึ้น” เสมอหรือเปล่า?...

    ข้าพเจ้าได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสซ้ำ ๆ กับข้าพเจ้าหรือไม่ว่า “จงลุกขึ้น จงกลับคืนชีพ จงตื่นขึ้น”...

    ความเชื่อของข้าพเจ้าเคยช่วยข้าพเจ้าให้รอดพ้นจากสถานการณ์ความเป็นความตายใด ๆ หรือไม่?... 

 เด็กหญิงนั้นก็ลุกขึ้นทันที และเดินไปมา เด็กนั้นอายุสิบสองขวบแล้ว คนทั้งหลายต่างประหลาดใจอย่างยิ่ง พระองค์ทรงกำชับอย่างแข็งขันมิให้แพร่งพรายเรื่องนี้แก่ผู้ใด และทรงสั่งให้เขานำอาหารมาให้เด็กนั้นกิน

    ชีวิตที่ชนะความตายจะชักนำประจักษ์พยานให้เข้าถึงหัวใจของธรรมล้ำลึก ทำให้พวกเขาตื่นตะลึง ทุกคนประหลาดใจอย่างยิ่ง

    คำกำชับไม่ให้พูดเรื่องนี้ทำให้เราเชื่อมั่นมากขึ้นอีก เพราะธรรมล้ำลึกแท้ของพระเยซูเจ้านั้นลึกล้ำเกินความเข้าใจของผู้ที่ไม่มีความเชื่อ ไม่มีประโยชน์ที่จะแสดง “อัศจรรย์” ให้ประชาชนตื่นเต้นระทึกใจ เพราะเขาจะมองว่าเป็นเพียงการใช้เวทย์มนตร์ และพระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการให้ประชาชนคิดว่าพระองค์เป็นผู้วิเศษหรือพ่อมด...

    “พระองค์ทรงสั่งให้เขานำอาหารมาให้เด็กนั้นกิน” แสดงให้เห็นความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของพระองค์ แต่ยังมีความหมายมากกว่านั้น ใครก็ตามที่ได้รับศีลล้างบาป และ “ก้าวออกจากความตายเข้าสู่ชีวิต” แล้ว จะถูกนำเข้ามายังโต๊ะอาหารแห่งศีลมหาสนิท บุคคลที่มีชีวิตย่อมต้องได้รับอาหารบำรุงเลี้ยงร่างกาย – คริสตชนที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วก็ได้รับปังแห่งชีวิต...

    ศีลมหาสนิทและศีลล้างบาปเชื่อมโยงกัน นี่คือธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ