แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา
อาโมส 7:12-15; เอเฟซัส 1:3-10; มาระโก 6:7-13

บทรำพึงที่ 1
จดหมายจากทหารผ่านศึกเวียดนาม
พระเยซูเจ้ายังทรงรักษาโรคให้มนุษย์ในยุคของเรา

    ผมอยากให้คุณได้อ่านส่วนหนึ่งของจดหมายจากทหารผ่านศึกเวียดนาม เขาเขียนจดหมายฉบับนี้มาจากเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลขณะพักฟื้นจากการบาดเจ็บที่ได้รับในสนามรบ เขาเขียนไว้ดังนี้

    “ตั้งแต่เสี้ยววินาทีที่ผมถูกกระสุน ผมรู้สึกโดดเดี่ยวที่สุด ผมเคยได้ยินเขาพูดกัน – แต่ไม่เคยรู้ว่ามันเป็นอย่างไร – ว่าเมื่อคุณใกล้ตาย จะไม่มีใครเลยนอกจากตัวคุณ คุณจะอยู่ตามลำพัง ผมได้รับบาดเจ็บสาหัส สาหัสจริง ๆ กระสุนปืนครกลูกหนึ่งตกข้างหลังผมห่างไปประมาณหกฟุต ขาซ้ายของผมขาดกระเด็น และแขนซ้ายฉีก ผมถูกสะเก็ดระเบิดที่หลัง ศีรษะ สะโพก ส้นเท้าและข้อเท้าขวา ผมแทบสลบทันที แต่ผมพยายามฝืน เพราะรู้ว่าถ้าผมหมดสติ ผมจะไม่มีวันตื่นขึ้นมาอีกเลย

    หมอสามหรือสี่คนเข้ามาดูอาการผม ทุกคนตกใจมาก และพยายามช่วยเหลือผม แต่สิ่งเดียวที่ผมทำได้คือพยายามสวดภาวนา ปัญหาอยู่ที่ผมคิดอะไรไม่ออก ... เวลานั้นไม่มีทางที่ใครจะพูดให้ผมเชื่อได้ว่าพระเจ้าไม่มีจริง ผมรู้ว่าผมกำลังจะตาย และผมสู้เต็มที่เพื่อให้อยู่รอดต่อไปอีกหนึ่งนาที เพื่อทุกลมหายใจ ผมรู้ตัวว่าผมตกอยู่ในบาปหนัก

    ผมพยายามภาวนา แต่ก็ทำไม่ได้ ผมขอร้องพวกเขาให้พูดกับผมเพื่อให้ผมรู้สึกตัว และสิ่งที่ผมต้องการมากที่สุด คือ ให้ใครบางคนช่วยให้ผมสวดภาวนา ผมรู้สึกเหมือนกับว่าผมอยู่ที่นั่นตามลำพัง ผมได้ยินคนรอบ ๆ ตัวพูดเหนือร่างของผม แต่ด้วยความดื้อรั้นมหาศาลและโชค (พระญาณสอดส่อง) ผมจึงยังมีชีวิตอยู่จนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ได้หลังจากถูกกระสุนสองชั่วโมง

    หลังจากเขาหามผมเข้าไปในหน่วยปฐมพยาบาล ผมรู้สึกว่ามีคนสี่ หรือห้าคนเข้ามาล้างส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของผม มันทำให้ผมเปิดตาและผมมองเห็นได้ไกลประมาณหนึ่งฟุตข้างหน้า แม้จะเห็นได้ไม่ชัดนัก ใครบางคนก้มหน้าลงมาหาผม ผมไม่แน่ใจว่าเขาเป็นใคร แต่ผมคิดว่าเขาเหมือนกับจิตตาภิบาลประจำกองพันของเรา เขาก้มลงมาจนจมูกของเขาแทบจะชิดกับจมูกของผม หลังจากผมเห็นเขา ผมก็เริ่มหมดสติ – ผมคิดว่านี่ต้องเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมหมดสติ เสียงพูดของผมเป็นเพียงเสียงกระซิบ และผมต้องใช้แรงทั้งหมดที่มีเพื่อจะกระซิบ

    ขณะที่ผมเริ่มจะหมดสติ ผมปิดตาและได้ยินคุณพ่อพูดว่า “ลูกเสียใจกับบาปของลูกหรือไม่?” ผมรวมรวมกำลังทั้งหมดที่มีและกระซิบพร้อมกับลมหายใจสุดท้ายว่า “เสียใจซิ” ระหว่างเสี้ยววินาทีก่อนที่ผมจะสลบไป ผมรู้สึกได้ว่ามีน้ำมันแตะหน้าผากของผม แล้วก็เกิดอะไรบางอย่าง ซึ่งผมจะไม่มีวันลืม เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับผมมาก่อนเลยในชีวิต!

    ในทันใดนั้น ผมหยุดไขว่คว้าชีวิต ความยินดีระเบิดขึ้นในตัวผม ... ผมรู้สึกเหมือนกับผมได้รับมอร์ฟีนสักล้านซีซี ผมอยู่บนสวรรค์ชั้นเก้า ผมรู้สึกเป็นอิสระทั้งกายและใจ

    ผมฟื้นขึ้นมาประมาณสาม หรือสี่ครั้ง ระหว่างระยะเวลาสิบวันต่อจากนั้น ผมไม่กังวลกับการตายอีกเลย อันที่จริงผมรอคอยความตายด้วยซ้ำไป”  

    จดหมายของทหารหนุ่มคนนี้เป็นคำบรรยายประสบการณ์ของเขาในการรับศีลเจิมผู้ป่วย เป็นคำบรรยายที่มีพลังน่าประทับใจที่สุดเท่าที่ผมเคยอ่าน

    ศีลศักดิ์สิทธิ์อันน่าพิศวงนี้มีต้นกำเนิดมาจากพระเยซูเจ้า เมื่อพระองค์ทรงดำรงชีพบนโลกนี้ พระองค์ทรงรักษาโรคให้ประชาชนด้วยการปกพระหัตถ์และเจิมน้ำมันให้เขา

    บทอ่านจากพระวรสารวันนี้บอกเราอย่างชัดเจนว่า พระเยซูเจ้าประทานอำนาจให้ศิษย์ของพระองค์สานต่อภารกิจของพระองค์ในการรักษาผู้ป่วย พระวรสารกล่าวว่า “บรรดาอัครสาวก ... เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย” (มก 6:13)

    ในทำนองเดียวกัน จดหมายของนักบุญยากอบบอกกลุ่มคริสตชนยุคแรกให้มาขอรับการรักษาโรค โดยกล่าวว่า “ท่านใดเจ็บป่วย จงเชิญบรรดาผู้อาวุโสของพระศาสนจักรให้มาอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้ป่วย เจิมน้ำมันผู้นั้นในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า คำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อจะช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิต องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงโปรดให้ผู้ป่วยลุกขึ้น และถ้าเขาเคยกระทำบาป เขาก็จะได้รับการอภัย” (ยก 5:14-15)

    นี่คือประสบการณ์ที่ทหารหนุ่มผู้นั้นบรรยายไว้อย่างน่าประทับใจในจดหมายของเขา เขาบรรยายถึงการรักษาโรคทางใจ ทางร่างกาย และทางวิญญาณ อันน่าพิศวงที่เกิดจากศีลเจิมผู้ป่วย

    ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าศีลนี้คืออะไร เราอาจกล่าวได้ดังนี้

    ศีลเจิมผู้ป่วยคือการสานต่อภารกิจรักษาผู้ป่วย ที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นกระทำในยุคพระวรสาร ให้ดำเนินต่อไปในยุคปัจจุบัน พระเยซูเจ้าทรงรักษาผู้ป่วยในยุคสมัยของพระองค์ด้วยกิริยาที่ทรงกระทำด้วยพระกายของพระองค์เช่นไร พระเยซูเจ้าก็ทรงรักษาผู้ป่วยในวันนี้ โดยอาศัยพิธีกรรมที่กระทำโดยพระกายทิพย์ของพระองค์ คือพระศาสนจักรเช่นนั้น

    หรืออาจกล่าวได้ว่า พระเยซูเจ้าผู้ทรงรักษาผู้ป่วยในยุคสมัยของพระองค์ ทรงเป็นพระเยซูเจ้าองค์เดียวกันที่รักษาผู้ป่วยในวันนี้ ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวก็คือวิธีการที่พระองค์ทรงรักษาเขา

    ในยุคพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงรักษาผู้ป่วยโดยทรงใช้พระกายของพระองค์ พระองค์ทรงสัมผัสเขาโดยตรงด้วยพระหัตถ์ของพระองค์
    แต่ในวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงรักษาผู้ป่วยโดยทรงใช้พระกายที่กลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ หรือพระกายทิพย์ของพระองค์ คือพระศาสนจักร พระองค์ทรงสัมผัสเขาทางอ้อมโดยทรงใช้มือของพระสงฆ์ และเมื่อพระสงฆ์สัมผัสผู้ป่วย เขาจะได้รับการรักษาแบบเดียวกับคนในยุคพระวรสารได้รับ

    ตัวอย่างเช่น บางคนได้รับการรักษาในทุกด้าน หรือในร่างกายบางส่วน เหมือนกับทหารผ่านศึกเวียดนามคนนั้นเคยได้รับ บางคนได้รับการรักษาทางจิตใจ ซึ่งส่งผลให้เขามีจิตใจที่สงบ เหมือนกับความสงบที่ทหารคนนั้นได้รับ และบางคนได้รับการรักษาฝ่ายจิต ซึ่งส่งผลให้เขาได้สัมผัสกับความรักและการให้อภัยของพระเจ้า เหมือนกับการให้อภัยที่ทหารคนนั้นได้รับ

    อีกนัยหนึ่งคือ การรักษาของศีลศักดิ์สิทธิ์อันน่าพิศวงนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ทางกายภาพเท่านั้น อันที่จริงการรักษาที่ผู้ป่วยรับรู้ได้มากที่สุด อาจไม่ใช่การรักษาทางกายภาพ แต่เป็นการรักษาทางใจ หรือทางวิญญาณ

    ดังนั้น ถ้าเรากำลังป่วยด้วยโรคร้ายแรง หรือกำลังทนอยู่กับความชรา หรือกำลังเตรียมเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคร้ายแรงบางอย่าง และเรายังไม่ได้รับศีลเจิมผู้ป่วย พระวรสารวันนี้เชิญชวนเราให้ขอรับศีลศักดิ์สิทธิ์นี้

    หรือถ้าเรามีสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนที่กำลังตกอยู่ในสภาพดังกล่าว พระวรสารวันนี้เชิญชวนเราให้ชักชวนเขาให้มาขอรับศีลศักดิ์สิทธิ์นี้

    และถ้าเราตอบรับคำเชิญของพระเยซูเจ้า เราย่อมมีความหวังว่าเราจะได้รับการรักษาบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ จิตใจ หรือวิญญาณ เหมือนกับประชาชนในยุคพระวรสารเคยได้รับ และเหมือนกับทหารผ่านศึกเวียดนามคนนี้เคยได้รับ

    นี่คือสารที่น่าประทับใจของพระวรสารวันนี้ นี่คือข่าวดีที่พระเยซูเจ้าตรัสกับเราแต่ละคนในวันนี้ และเป็นธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่ที่เราเฉลิมฉลองกันในพิธีกรรมวันนี้

    พระเยซูเจ้าทรงกระทำเพื่อคนจำนวนมากในยุคพระวรสารเช่นไร พระองค์ทรงต้องการทำเช่นนั้นเพื่อเราในยุคของเรา – ขอเพียงให้เรายอมให้พระองค์ทรงกระทำ

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 6:7-13

พระเยซูเจ้าทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามาพบ และทรงเริ่มส่งเขาเป็นคู่ ๆ

    หนึ่งในกิจการแรกที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตสาธารณะของพระองค์ก็คือ พระองค์ทรงเลือกผู้ร่วมงาน (มก 1:16) ในที่สุด พระองค์ทรงเลือกผู้ร่วมงานสิบสองคน – จำนวนนี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ (อัยกาสิบสองคน ชาวอิสราเอลสิบสองตระกูล) แสดงว่าพระองค์ทรงต้องการสถาปนาชนชาติอิสราเอลใหม่ ระหว่างภาคแรกของพระวรสาร เราเห็นว่าอัครสาวกติดตามพระเยซูเจ้า เขา “อยู่กับพระองค์” (มก 3:14)

    แต่วันนี้ พระเยซูเจ้าทรงถอยออกไป และมอบหมายพันธกิจของพระองค์ไว้ในมือของพวกเขา เป็นครั้งแรกที่เขาจะต้องอยู่ตามลำพังโดยไม่มีพระเยซูเจ้า และถูกส่งออกไปเทศน์สอน ยุคของพระศาสนจักรเริ่มขึ้นแล้ว

    เราสามารถนำทัศนคตินี้ของพระเจ้ามาเป็นจุดเริ่มต้นของการภาวนาของเรา พระเจ้าของเราไม่ทรงต้องการทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงรอคอยเรา พระองค์ทรงมอบหมายความรับผิดชอบสำคัญให้แก่เรา พระองค์ไม่ทรงบังคับเราเหมือนกับเชิดหุ่น...

    ความรับผิดชอบของข้าพเจ้าคืออะไร พระองค์ทรงคาดหมายอะไรจากข้าพเจ้า?

พระองค์ทรงส่งเขาไป...

    ในห้าบทแรกของคำบอกเล่าของมาระโก เขาเสนอภาพว่า “พระเยซูเจ้าประทับอยู่กับศิษย์ของพระองค์” เสมอ นี่คือกลุ่มบุคคลที่ใกล้ชิดกันที่แยกตัวออกจากฝูงชน และร่วมกันเผชิญหน้ากับศัตรู เมื่อพระองค์ทรงเรียกศิษย์เหล่านี้ (มก 3:13-14) มาระโกกล่าวว่า “พระองค์ทรงแต่งตั้งอัครสาวกสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์ และเพื่อจะทรงส่งเขาออกไป...” เหมือนกับการเต้นของหัวใจ ... การคลายตัวและบีบตัวของหัวใจ เมื่อเลือดไหลเข้ามาสู่หัวใจ จากนั้นก็ถูกสูบฉีดออกไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ นี่คือจังหวะการทำงานแพร่ธรรมด้วยเช่นกัน ศิษย์ของพระเยซูเจ้าต้องสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า – จากนั้นจึงออกไป และนำพระคริสตเจ้าไปมอบให้แก่ชาวโลก

    นี่คือจังหวะชีวิตของคริสตชนทุกคน เราต้องมาชุมนุมกันล้อมรอบพระเยซูเจ้าทุกวันอาทิตย์ – จากนั้น เราก็แยกย้ายกันออกไป เพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่มีชีวิตของพระเยซูเจ้าในการดำเนินชีวิตแต่ละวันของเรา

    “จงไปเถิด” คำว่า “มิสซา (missa)” ในภาษาละติน แปลว่า “การส่งออกไปปฏิบัติพันธกิจ”

    พระเยซูเจ้าเองทรงสถาปนาจังหวะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตด้วยความรักเช่นนี้หรือเปล่า? ข้าพเจ้าใช้เวลาอยู่กับพระเยซูเจ้าด้วยการอธิษฐานภาวนาและรำพึงไตร่ตรองหรือเปล่า? หลังจากนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกหรือไม่ว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้าออกไปสู่ชีวิตปกติ เพื่อปฏิบัติพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ และพระอาณาจักรของพระองค์?

พระองค์ทรงส่งเขาไปเป็นคู่ ๆ...

    การเป็นพยานที่ถูกต้องตามธรรมบัญญัติ จะต้องมีพยานสองคน (ฉธบ 17:6, 19:15) ภูมิปัญญาของชนชาติต่าง ๆ ทำให้เกิดสุภาษิตที่มีความหมายเช่นนี้ “สองคนย่อมดีกว่าคนเดียว เพราะทั้งสองคนจะได้รับผลตอบแทนดีกว่าสำหรับความลำบากตรากตรำของตน เพราะถ้าคนหนึ่งล้มลง อีกคนหนึ่งจะได้ช่วยพยุงเขาให้ลุกขึ้น วิบัติจงมีแก่ผู้ที่อยู่คนเดียว” (ปญจ 4:9-10)
    กฎข้อแรกของงานแพร่ธรรมคือ “การทำงานเป็นทีม” ชีวิตภราดรภาพก็เป็นบทเทศน์เรื่องความรักได้ตั้งแต่ก่อนจะเอ่ยคำพูดใด “ดูซิว่าเขารักกันอย่างไร” การเป็นพยานของคริสตชนต้องประกอบด้วยมิติหมู่คณะ นี่คือพระประสงค์ของพระเยซูเจ้าที่ระบุออกมาอย่างชัดแจ้ง

    ดังนั้น ข้าพเจ้าต้องตั้งคำถามต่อทัศนคติของข้าพเจ้าเอง ปัจเจกนิยมมีรูปแบบต่าง ๆ ที่แนบเนียนและน่ากลัว นั่นเป็นเพราะเราไม่ชอบให้พี่น้องชายหญิงของเราคอยตรวจสอบพฤติกรรมของเรา...

ทรงกำชับเขามิให้นำสิ่งใดไปด้วยนอกจากไม้เท้าเท่านั้น ไม่ให้มีอาหาร ไม่ให้มีย่าม ไม่ให้มีเศษเงินใส่ไถ้ ให้สวมรองเท้าได้ แต่ไม่ให้เอาเสื้อสำรองไปด้วย

    น่าสังเกตว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงกำหนดหัวข้อที่เขาต้องเทศน์สอน พระองค์ไม่ได้บอกเขาว่า “เขาต้องประกาศอะไร” แต่พระองค์ทรงบอกเขาอย่างละเอียดว่า “เขาต้องเป็นคนประเภทใด” ตามความคิดของพระเยซูเจ้า การเป็นพยานด้วยการดำเนินชีวิตสำคัญกว่าการเป็นพยานด้วยวาจา

    คำแนะนำข้อเดียวของพระอาจารย์คือความจำเป็นต้องถือความยากจน ผู้แทนของพระองค์ต้องอยู่โดยไม่พึ่งพาความช่วยเหลือจากมนุษย์หรือเกียรติยศชื่อเสียง แต่ต้องพึ่งพาอาศัยเพียงความเชื่อใน “ผู้ที่ส่งเขาไป” เท่านั้น นักบุญเปาโลพัฒนาความคิดมาจากคำแนะนำนี้ เมื่อเขาเขียนในจดหมายว่า “พระสิริรุ่งโรจน์นี้ปรากฏอยู่บนพระพักตร์ของพระคริสตเจ้า เรามีสมบัตินี้เก็บไว้ในภาชนะดินเผา” (2 คร 4:6-7) เปาโลถึงกับโอ้อวดความยากจนและความอ่อนแอของตนเองว่า “เมื่อข้าพเจ้ามาพบท่าน ข้าพเจ้ามิได้มาประกาศธรรมล้ำลึกเรื่องพระเจ้าโดยใช้สำนวนโวหาร หรือโดยใช้หลักเหตุผลอันฉลาดปราดเปรื่อง ... ข้าพเจ้ายังอยู่กับท่านด้วยความอ่อนแอ มีความกลัวและหวาดหวั่นมาก ... เพื่อมิให้ความเชื่อของท่านเป็นผลจากปรีชาญาณของมนุษย์ แต่เป็นผลจากพระอานุภาพของพระเจ้า” (1 คร 2:1-5)

    ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงต้องการกองทหารราบที่ติดอาวุธเบา ไม่ต้องแบกสัมภาระที่ทั้งหนักและรุงรัง และพร้อมเสมอที่จะเคลื่อนย้ายไปที่อื่น ... พระองค์ทรงต้องการบุคคลที่พร้อมเสมอ พร้อมจะเดินทางต่อไป ... พระศาสนจักรควร “ตัวเบา” กว่าเดิม เพื่อจะพร้อมและสมัครใจเสมอที่จะรอรับการกระตุ้นจากพระจิตเจ้า

    ข้าพเจ้ามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อข้อเรียกร้องให้ถือความยากจนนี้? ... พระเยซูเจ้าทรงบอกมิตรสหายของพระองค์อย่างชัดเจนให้นำแต่สิ่งของจำเป็นติดตัวไป การเอาชนะการประจญจากเงินทองเป็นชัยชนะแรกของพระวรสาร เป็นหัวข้อแรกที่ควรเทศน์สอนโลกที่โลภมาก เป็นการต่อสู้ครั้งแรก (และก่อนอื่นใด เป็นการต่อสู้กับตัวเราเอง) กับศัตรูตัวสำคัญของมนุษยชาติ

    การครอบครองทรัพย์สินจำนวนมากเป็นต้นเหตุของความแตกแยก ความขัดแย้ง และความจองหอง!

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้รู้จักปล่อยวางมากขึ้น ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่พระองค์ทรงต้องการให้เรายึดถือ

“ถ้าที่ใดไม่ต้อนรับท่าน หรือไม่ฟังท่าน จงออกจากที่นั่น พลางสลัดฝุ่นจากเท้าไว้เป็นพยานปรักปรำเขา”
    เราสังเกตเห็นว่าในคำปราศรัยนี้ พระเยซูเจ้าทรงให้ความสำคัญกับ “การไม่ยอมต้อนรับ” สารของพระองค์ ศิษย์ของพระองค์ประสบความสำเร็จหรือไม่? ดูเหมือนว่าผลงานของพวกเขาไม่ได้โดดเด่นมากนัก เราจินตนาการได้ไม่ยากว่า ประชาชนคงบอกเขาว่า “ท่านขอให้เรากลับใจหรือ? แต่เราไม่ได้ทำอะไรผิดนี่ เราเป็นชาวยิวที่ดี ที่ปฏิบัติตามธรรมประเพณี ทำไมจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราเคยทำเป็นกิจวัตร? ไปเทศน์สอนที่อื่นเถิด!”

    เมื่อเราคริสตชนนำเสนอความเชื่อของเรา ความยากลำบากที่เราประสบก็ไม่ต่างจากคริสตชนในอดีต วันนี้ พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า “อย่ากลัวเลย เราคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ จงจำคำแนะนำที่เราให้แก่ท่านเถิด”

    ขอให้เราอย่าหลอกตนเอง สมัยปัจจุบันก็เหมือนกับยุคสมัยของพระเยซูเจ้า คนจำนวนมากยังปฏิเสธข้อความเชื่อเที่ยงแท้ ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงขอให้เรามุ่งหน้าทำงานต่อไป และไม่ท้อถอย “ถ้าเขาไม่ต้อนรับท่าน จงไปที่อื่น”

    การพบกับประชาชนที่ไม่เชื่อ ไม่สนใจ หรือปฏิเสธ ดูเหมือนเป็นสถานการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงพบจนเคยชิน พระองค์ทรงเตือนผู้ที่พระองค์ทรงส่งไปประกาศข่าวดีแล้วว่า พันธกิจนี้ยาก

บรรดาอัครสาวกจึงไปเทศน์สอนคนทั้งหลายให้กลับใจ
ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก
เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย

    พวกเขาปฏิบัติอย่างที่เขาเคยเห็นพระเยซูเจ้าทรงทำตั้งแต่เขา “อยู่กับพระองค์” งานธรรมทูตประกอบด้วยภารกิจสามด้าน คือ

-    ประกาศพระวาจา - ซึ่งเรียกร้องให้เปลี่ยนวิถีชีวิต ให้กลับใจ...
-    ต่อสู้กับความชั่ว - คือ ขับไล่ปีศาจออกไปจากมนุษย์ และปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระ...
-    ทำงานเพื่อประโยชน์ของคนยากจน - ช่วยให้เขามีสภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม และบำบัดรักษาเขา...

กลับใจ...

    นี่คือสาระสำคัญของการเทศน์สอน “จงเปลี่ยนวิถีชีวิต จงกลับใจ” ตามปกติ มนุษย์ไม่อยากเปลี่ยนวิถีชีวิต ... อย่ามายุ่งกับเราเลย ... พระเจ้าเป็นผู้ทำลายความสุข เมื่อพระองค์ทรงขอร้องให้เราเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง

    คำว่า “การกลับใจ (conversion)” แปลจากคำว่า metanoia ในภาษากรีก ซึ่งแปลตรงตัวว่า “การเปลี่ยนใจอย่างสิ้นเชิง” เราต้องหันไปสู่ทิศทางใหม่ ... เรากำลังเดินอยู่บนทางหนึ่ง และบัดนี้ เราต้องตัดสินใจหันไปในทิศทางตรงกันข้าม!...

    การเปลี่ยนทิศทางเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ พระวรสารเรียกร้องสิ่งที่ทำได้ยาก ... เราเข้าใจคำสอนนี้อย่างไร? ... เข้าใจว่าเป็นคำสอนที่ไม่มีพิษมีภัยหรือ? เป็นยานอนหลับหรือ? เป็นการนอนหลับพักผ่อนหรือ? เป็นข้อแก้ตัวสำหรับทัศนคติและการกระทำที่กำกวมของเรา หรือว่าเป็นกิจวัตรที่ทำได้ง่าย และที่เราเคยชิน?...

    พวกเขาตะโกนบอกว่า ประชาชนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา...   

ขับไล่ปีศาจ...

    เห็นได้ชัดว่ามาระโกใช้คำพูดที่คนร่วมสมัยของเขาเข้าใจได้ง่าย – แต่ก็ยังเป็นความจริงตราบจนทุกวันนี้ว่า พันธกิจนี้เป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้น นี่คือการต่อสู้ ... การต่อสู้กับความชั่วที่กำลังครองโลก!

    ธรรมทูตทั้งหลาย – ผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงส่งไป – ไม่ได้โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ง่าย!  เขาออกไปเผชิญหน้ากับศัตรูที่ทรงอำนาจ ฝ่ายที่ต่อต้านเขาไม่ได้มีแต่บุคคลที่ไม่ยอมรับฟังข่าวดี เพราะเขาไม่เข้าใจ เพราะยังมีพลังด้านอื่นอีกที่ต่อต้านพวกเขา ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่า “บาปของโลก”... วันนี้ เราจะเรียกพลังของความชั่วเหล่านี้ ที่เราต้องต่อสู้ และขับไล่ไปนี้ว่าอะไร?...

รักษาโรค...
  
    การดึงมนุษย์ให้พ้นจากพลังของความชั่วที่นำเขาไปสู่ความพินาศ ยังหมายความรวมถึงการทำงานในด้านบวกด้วย คือการรักษาโรคของเขา นี่เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของพระเยซูเจ้า ในปัจจุบัน คำสั่งนี้ยังคงเร่งด่วนไม่ต่างจากในอดีต แม้ว่าเราเรียกด้วยชื่อที่ต่างจากเดิม เพราะเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างจากในอดีต

    การประกาศพระวรสาร ไม่ได้หมายถึง “การสั่งสอน” เท่านั้น แต่หมายความรวมถึง “การปลดปล่อย” ด้วย เราควรใช้วิธีการสมัยใหม่ในการประกาศข่าวดีในวันนี้อย่างไร? เราต้องต่อสู้กับความชั่วร้ายประเภทใด? สังคมในปัจจุบันต้องการได้รับการรักษาโรคใด?

    พระวรสารยังเป็นความจริงในปัจจุบันเหมือนกับในอดีต – เพียงแต่เราไม่ได้ยินเสียงเรียกของพระวรสารให้เรากลับใจ!