แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา
2 พงศ์กษัตริย์ 4:42-44; เอเฟซัส  4:1-6; ยอห์น 6:1-15

บทรำพึงที่ 1
การเปลี่ยนจิตใจ
พระเยซูเจ้าทรงต้องการทวี “ขนมปังและปลา” ของเราจนมากมายเกินความคาดหมาย

    เมื่อหลายปีก่อน เออร์เนสต์ กอร์ดอน จากมหาวิทยาลัยพรินสตัน ได้เขียนบทความหนึ่งที่ตั้งชื่อว่า “เรื่องเกิดขึ้นที่แม่น้ำแคว”

    บทความของกอร์ดอนบรรยายว่าเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเชลยสงครามบนฝั่งแม่น้ำแควน้อยในประเทศไทย แม่น้ำสายนี้เป็นฉากของภาพยนตร์ที่โด่งดังเรื่อง “สะพานข้ามแม่น้ำแคว (Bridge over the River Kwai)”

    กอร์ดอนทำงานก่อสร้าง “ทางรถไฟมรณะ” ที่ยาว 250 ไมล์ ซึ่งญี่ปุ่นสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้ขับรถเข้าสู่ประเทศพม่าและอินเดียสะดวกขึ้น เชลยสงครามที่เป็นทหารจากประเทศพันธมิตร 12,000 คนเสียชีวิตเพราะความอดอยากและความโหดร้ายในการสร้างทางรถไฟสายนี้ กอร์ดอนบันทึกว่า

    “เราทำงานหนักตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ... เราทำงานด้วยมือเปล่าและเท้าเปล่า ท่ามกลางอากาศที่ร้อนถึง 120 องศาในที่แจ้ง บรรดาเชลยเดินลากสังขารไปทำงานที่ได้รับมอบหมายทั้งที่กำลังเป็นไข้สูง ถ้าเขาล้มฟุบระหว่างทาง เขาก็ถูกทิ้งไว้ที่นั่น และเพื่อนเชลยจะมาพยุงเขากลับไปค่ายเมื่อถึงเวลาเย็น

    เชลยคนใดที่ถูกสงสัยว่าแกล้งป่วย จะถูกมัดตัวติดกับต้นไม้ ถูกเฆี่ยนตีและทิ้งให้ตากแดดและแมลงทั้งวัน”

    แต่กอร์ดอนกล่าวว่า ศัตรูที่ร้ายที่สุดไม่ใช่ทหารญี่ปุ่น และไม่ใช่ชีวิตที่ยากลำเค็ญของเขา แต่เป็นตัวพวกเขาเอง ความกลัวทหารญี่ปุ่นทำให้เชลยหวาดระแวง และสัญชาตญาณดิบก็เข้าครอบงำเขา เขาขโมยของจากเพื่อนเชลย เขาระแวงกันเอง และเขาถึงกับฟ้องทหารญี่ปุ่นเมื่อเพื่อนเชลยทำผิด เพื่อให้ตนเองได้รับความดีความชอบ ผู้คุมนักโทษหัวเราะเยาะเมื่อเห็นว่าทหารที่เคยหยิ่งทะนง กลับหันมาทำลายกันเอง

    เชลยสงครามเหล่านี้ไม่มีขวัญกำลังใจเหลืออยู่อีกเลย เขาต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว แต่เชลยสงครามคนหนึ่ง หรือแม้แต่กลุ่มหนึ่ง จะทำอะไรได้ในสถานการณ์เช่นนี้?  ทหารพันธมิตรพยายามหลายครั้งหลายหน แต่ไม่สามารถพลิกผันสถานการณ์ได้

    ในที่สุด ทหารเกณฑ์สองคน ซึ่งความเชื่อในพระเจ้าของเขาได้ช่วยให้เขารักษาเกียรติและคุณธรรมของเขาอยู่ได้ ก็ตัดสินใจจะลองดู เขารวบรวมหนังสือพระคัมภีร์เท่าที่เขาสามารถหาได้ และจัดกลุ่มภาวนาและอภิปรายปัญหา เขาประชุมกันในเวลากลางคืน กลุ่มนี้เริ่มต้นจากคนเพียงสิบกว่าคน แต่ในไม่ช้าก็มีสมาชิกหลายร้อยคน
    อาศัยการอ่านพระคัมภีร์และการอภิปราย ทหารเหล่านี้เริ่มรู้จักพระเยซูเจ้า ปัญหาของเขาเป็นปัญหาเดียวกับที่พระเยซูเจ้าเองทรงเคยประสบ บ่อยครั้งพระองค์ทรงหิวเหมือนพวกเขา บ่อยครั้งพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยแทบขาดใจเหมือนพวกเขา พระองค์ทรงถูกทรยศเช่นกัน พระองค์ทรงถูกเฆี่ยนด้วยแส้เช่นเดียวกัน

    ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า สภาพที่พระองค์ทรงเป็น ข้อความที่พระองค์ตรัส กิจการที่พระองค์ทรงกระทำ เริ่มมีความหมาย และมีชีวิต

    เชลยสงครามเลิกคิดว่าตนเองเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ที่น่าเศร้าและโหดร้าย เขาเลิกฟ้องกันเอง และเลิกทำลายกันเอง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหัวใจของเขาปรากฏชัดที่สุดเมื่อเขาภาวนาร่วมกัน เขาเริ่มภาวนามิใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อกันและกัน และเมื่อเขาภาวนาเพื่อตนเอง ก็มิใช่เพื่อให้เขาได้รับบางสิ่งบางอย่าง แต่เพื่อปลดปล่อยพลังใหม่บางอย่างที่เขาพบอย่างฉับพลันในตัวของเขาเอง

    กอร์ดอนปิดท้ายรายงานของเขาโดยเล่าว่า คืนหนึ่งขณะที่เขาเดินกระเผลกกลับไปยังกระท่อมของเขาหลังจากร่วมกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์จนดึก เขาได้ยินเสียงเชลยกลุ่มหนึ่งขับร้องเพลงสวด เชลยคนหนึ่งใช้ไม้เคาะเศษโลหะเพื่อให้จังหวะ เสียงขับร้องนั้นทำให้ความมืดกลับมีชีวิตชีวาด้วยความหวัง กอร์ดอนกล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างเสียงที่เปี่ยมด้วยความยินดีนั้น และความเงียบที่น่าสะพรึงกลัวระหว่างหลายเดือนก่อนหน้านั้น เป็น “ความแตกต่างระหว่างชีวิตและความตาย”

    เรื่องของทหารเกณฑ์สองคนที่ทำให้ค่ายเชลยสงครามทั้งค่ายเปลี่ยนไปนี้ คล้ายกับเรื่องของเด็กชายในพระวรสารวันนี้ ทหารเกณฑ์สองคนนั้นได้ทำสิ่งที่เขาสามารถทำได้ เด็กชายคนนี้ก็ทำเช่นเดียวกัน เขามอบสิ่งที่เขามีให้แก่พระเยซูเจ้า และพระองค์ก็ทรงทำส่วนที่เหลือ

    ในกรณีของเด็กชาย พระเยซูเจ้าทรงทวีขนมปังและปลาของเขาจนเกินความคาดหมายของเขา ในกรณีของทหารเกณฑ์สองคน พระเยซูเจ้าทรงนำเกียรติและคุณธรรมของเขา และทรงทวีขึ้นจนเกินความคาดหมายของเขา

    พระเยซูเจ้าทรงทำสิ่งใดเพื่อฝูงชนที่กำลังหิว และทรงทำสิ่งใดเพื่อเชลยสงครามเหล่านั้น พระองค์ก็ทรงต้องการทำเพื่อมนุษย์ในวันนี้ พระองค์ทรงต้องการเลี้ยงอาหารคนหลายล้านคนที่กำลังหิวโหยในโลกของเรา พระองค์ทรงต้องการเปลี่ยนจิตใจของคนหลายล้านที่กำลังโกรธในโลกของเรา

    แต่พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เด็กชายสักคนหนึ่งมอบขนมปังและปลาจำนวนเล็กน้อยที่เขามี เพื่อเริ่มต้นกระบวนการนี้ พระองค์ทรงต้องการให้ทหารเกณฑ์ผู้ต่ำต้อยสองคนถวายเกีรยติและคุณธรรมของเขา เพื่อเริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนจิตใจนี้

    สรุปว่าพระเยซูเจ้าทรงต้องการให้คนอย่างคุณและผมถวายขนมปังและปลาของเรา และคุณธรรมและเกียรติของเราแด่พระองค์ พระเยซูเจ้าทรงต้องพึ่งเรา ให้เราถวายความสามารถ คำภาวนา และกางเขนที่เราแบกในแต่ละวันแด่พระองค์ และถ้าเราถวายสิ่งเหล่านี้แด่พระเยซูเจ้า พระองค์จะทรงรับไว้และประทานพระพรแก่สิ่งเหล่านี้อย่างที่เราคาดไม่ถึง

    นี่คือบทเรียนจากเรื่องจริงของ เออร์เนสต์ กอร์ดอน ใน “เรื่องเกิดขึ้นที่แม่น้ำแคว” นี่คือบทเรียนที่พระเยซูเจ้าทรงปรารถนาจะสอนเราในพระวรสารวันนี้ นี่คือคำท้าทายและคำเชิญที่พระเยซูเจ้าทรงเสนอต่อเราแต่ละคนในพิธีกรรมวันนี้

    นี่คือบทเรียนเดียวกัน คำท้าทายเดียวกัน และคำเชิญเดียวกันที่พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงเสนอต่อเยาวชนของสก๊อตแลนด์ ระหว่างที่พระองค์เสด็จเยือนที่นั่นเมื่อปี ค.ศ. 1982 หลังจากทรงอ่านพระวรสารวันนี้แล้ว พระสันตะปาปาได้ตรัสกับเยาวชนว่า

    “(เด็กชายคนนี้ถวายทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามี) และพระเยซูเจ้าก็ทรงเลี้ยงอาหารประชาชน 5,000 คน ... ซึ่งเหมือนกับชีวิตของลูกทั้งหลาย ... จงวางชีวิตของลูกไว้ในพระหัตถ์ของพระเยซูเจ้าเถิด พระองค์จะทรงรับไว้ และประทานพระพรแก่ลูก และพระองค์จะทรงใช้ชีวิตของลูกให้เป็นประโยชน์ อย่างที่ลูกคาดไม่ถึง”   

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 6:1-15

    ระหว่างวันอาทิตย์ห้าสัปดาห์ต่อไปนี้ เราพักการอ่านพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก และหันมาอ่านบทที่ 6 ของพระวรสารของนักบุญยอห์นที่เรารู้จักกันดี ซึ่งเป็นคำบอกเล่าเกี่ยวกับปังแห่งชีวิต คำบอกเล่าตอนนี้เริ่มต้นด้วยการทวีขนมปัง ตามมาด้วยคำปราศรัยของพระเยซูเจ้าในหัวข้อ “ปังแห่งชีวิต” ยอห์นใช้คำปราศรัยนี้แบ่งปันข้อไตร่ตรองกับเราเกี่ยวกับศีลมหาสนิท และความเชื่อ

พระเยซูเจ้าเสด็จข้ามทะเลสาบกาลิลี ประชาชนจำนวนมากตามพระองค์ไป เพราะเห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ที่ทรงกระทำแก่ผู้เจ็บป่วย

    ตอนท้ายของคำบอกเล่านี้ (ยน 6:66) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประชาชนที่กระหายจะเห็นเครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้ เป็นประชาชนผู้ไม่มีความเชื่อ เขาจะไม่ยอมเชื่อในพระเยซูเจ้า และไม่ติดตามพระองค์อีกต่อไป

    วันนี้ เราก็ยังกระหายจะเห็น “อัศจรรย์” เหมือนประชาชนชาวกาลิลีเหล่านั้น อัศจรรย์ – แม้ว่าเป็นอัศจรรย์ของพระเยซูเจ้า – อาจกลายเป็นกับดัก และเป็นเส้นทางที่หลอกให้เราเดินออกห่างจากความเชื่อแท้ก็ได้

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ติดตามพระองค์ไปจนถึงปลายทาง โดยเฉพาะในชีวิตประจำวันของเราที่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ในแต่ละวันที่น่าเบื่อของเรา และโปรดทรงช่วยเราให้เข้าใจ “ความหมาย” ที่พระองค์ทรงสอดใส่ไว้ในอัศจรรย์ของพระองค์ ซึ่งสำคัญกว่าเรื่องตื่นเต้นเร้าใจมากนัก

ขณะนั้นใกล้จะถึงวันฉลองปัสกาของชาวยิว
    การอ้างถึงวันฉลองปัสกาที่ใกล้เขามา และถ้อยคำถวายพระพร ซึ่งพระเยซูเจ้าจะตรัส (eucharistesas ในภาษากรีก) เพื่อเสกขนมปัง บ่งบอกความหมายของการทวีขนมปังที่ยอห์นต้องการบอกให้เรารู้ เขากำลังคิดถึงศีลมหาสนิทแน่นอน ขณะที่ยอห์นเขียนคำบอกเล่านี้ ยอห์นได้ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ หรือปัสกาของคริสตชน มาแล้วถึงสี่สิบหรือห้าสิบปี – นับตั้งแต่อาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้า ที่เป็นเสมือนงานเลี้ยงปัสกา

พระเยซูเจ้าทรงเงยพระพักตร์ทอดพระเนตรเห็นประชาชนจำนวนมากที่มาเฝ้า จึงตรัสแก่ฟิลิปว่า “พวกเราจะซื้อขนมปังที่ไหนให้คนเหล่านี้กิน” พระองค์ตรัสดังนี้เพื่อทดลองใจเขา แต่พระองค์ทรงทราบแล้วว่าจะทรงทำประการใด

    พระเจ้าคือความรัก และพระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เราเห็นว่าพระเจ้าทรงเป็นใคร

    พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่าสิ่งใดจำเป็นสำหรับมนุษย์ อัศจรรย์ที่พระองค์ทรงกระทำจะเป็นของขวัญที่พระองค์ประทานให้ด้วยความรัก ศีลมหาสนิทเป็นของประทานที่มาจากความรัก...

    ก่อนอื่น เราต้องใช้เวลาสักครู่ตั้งใจฟังคำถามของพระเยซูเจ้า นี่คือคำถามที่เป็นความจริงในปัจจุบัน ... พระเจ้าข้า พระองค์ทรงขอให้เราสังเกตความหิวของมนุษย์ ให้เราช่วยเหลือให้เขาได้รับปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเขา ... “ให้คนเหล่านี้กิน” พระองค์ตรัสอย่างเรียบง่ายเช่นนี้ “ให้เขากิน”...

    บ่อยครั้งที่เราฝันถึงพระเจ้าผู้ประทับอยู่ห่างไกล ... เหนือเมฆบนท้องฟ้า! แต่พระองค์ทรงนำเรากลับมายังพื้นดิน กลับมายังชีวิตแต่ละวันของเรา มายัง “อาหารประจำวัน” ของเรา...

    การรับใช้อย่างถ่อมตนของเราจะต้องแสดงให้เห็นความรักของเรา 

ฟิลิปทูลตอบว่า “ขนมปังสองร้อยเหรียญแจกให้คนละนิดก็ไม่พอ” ศิษย์อีกคนหนึ่งคืออันดรูว์ น้องของซีโมน เปโตร ทูลว่า “เด็กคนหนึ่งที่นี่มีขนมปังบาร์เลย์ห้าก้อนกับปลาสองตัว ขนมปังและปลาเพียงเท่านี้จะพออะไรสำหรับคนจำนวนมากเช่นนี้”

    เมื่อเห็นปัญหามากมายของมนุษยชาติ เรามักอยากจะตอบว่า “เราจะทำอะไรได้? มันเกินความสามารถของเรา”... เป็นความจริงที่ข้าพเจ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ตามลำพัง แต่เหตุผลนี้ทำให้ข้าพเจ้าไม่ต้องทำสิ่งเล็กน้อยบางอย่างเพื่อให้ความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นหรือ? เหตุผลนี้ทำให้ข้าพเจ้าไม่ต้องเข้าร่วมกับกลุ่มบุคคล หรือสมาคม ที่กำลังทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้หรือ?

    อย่างไรก็ดี เราเห็นได้ว่าในวันนั้น พระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการ “เนรมิตสร้างสิ่งใดจากความว่างเปล่า” – ทั้งที่พระองค์ทรงสามารถทำเช่นนั้นได้แน่นอน พระองค์ทรงใช้อาหารที่มนุษย์ผลิตและปรุงไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งควรเตือนใจเราว่าพระเจ้าจะไม่ทรงทำหน้าที่แทนเรา ... เงื่อนไขอีกประการหนึ่งที่ทำให้อัศจรรย์ทวีขนมปังนี้เกิดขึ้นได้ก็คือ เด็กชายคนนี้ยอมสละอาหารที่เขาเตรียมมาสำหรับกินเองเพียงคนเดียว...
    รายละเอียดเหล่านี้เป็นวิธีการที่พระเจ้าทรงใช้ท้าทายเราในวันนี้ บางครั้งมนุษย์กล่าวโทษว่าเป็นความผิดของพระเจ้าที่ประชากรสองในสามของโลกกำลังหิว พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เราเห็นความรับผิดชอบของเรา ตามปกติพระเจ้าไม่ทรงเพิกเฉยต่อสิ่งสร้างของพระองค์ มีคนจำนวนมากในโลก – และไม่ใช่เพียงคนในโลกตะวันตก – ที่เก็บอาหารไว้เต็มตู้เย็นและร้านค้าของเขา และยังกักตุนต่อไป – และบ่นต่อไป ... คนรวยต้องการเพิ่มความสะดวกสบาย เพิ่มรายได้และผลกำไร และเขาไม่ยอมรับความคิดที่ว่าควรลดความแตกต่างของค่าจ้าง เพื่อลดความร่ำรวยของผู้มีโอกาสมากกว่า และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนที่ยากจนกว่า...

    หรือเราจะเปลี่ยนคำบอกเล่าพระวรสารวันนี้ ให้กลายเป็นเรื่องราวดังนี้ “ครั้งหนึ่งมีเด็กคนหนึ่ง เขามีขนมปังห้าก้อนและปลาสองตัว ขณะที่คนอื่น ๆ อีกห้าพันคนไม่มีอะไรกิน เขาเก็บขนมปังห้าก้อนเล็ก ๆ ของเขาไว้ และแอบกินโดยไม่ให้ผู้อื่นเห็น”

    สถานการณ์ในปัจจุบันเลวร้ายยิ่งกว่านี้ เพราะคนทั้งหลายไม่ได้แอบกิน คนหิวโหยจำนวนเป็นล้าน ๆ คนในปัจจุบันรู้เห็นว่าชายหญิงบางคนไม่เคยรู้จักความหิว...

พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงบอกประชาชนให้นั่งลงเถิด” ที่นั่นมีหญ้าขึ้นอยู่ทั่วไป เขาจึงนั่งลง นับจำนวนผู้ชายได้ถึงห้าพันคน พระเยซูเจ้าทรงหยิบขนมปังขึ้น ทรงขอบพระคุณพระเจ้า แล้วทรงแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่นั่งอยู่ตามที่เขาต้องการ พระองค์ทรงกระทำเช่นเดียวกันกับปลา

    อันดรูว์เป็นคนมีเหตุมีผล เมื่อเขาบอกว่า “อาหารเพียงเท่านี้จะเลี้ยงคนจำนวนมากได้อย่างไร?” แต่ประเด็นอยู่ที่พระเยซูเจ้าทรงขอให้เรามีความเชื่อเสมอ ให้เราพร้อมจะเสี่ยง พร้อมจะกระโจนอย่างมั่นใจไปหาสิ่งที่เราไม่รู้จัก ดังนั้นผู้มีความเชื่อจึงกลายเป็นผู้ร่วมมือกับพระเจ้า ในกิจการที่ต้องใช้มากกว่าความสามารถของมนุษย์...

    พระเยซูเจ้า “ทรงขอบพระคุณพระเจ้า (eucharistesas)” พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเชื่อของพระองค์ กล่าวคือ ความสัมพันธ์ของพระองค์และพระบิดา นี่คือความรู้สึกที่มีอยู่เต็มพระหฤทัยของพระองค์ในนาทีนั้น คำปราศรัยเรื่อง “ปังแห่งชีวิต” จะเผยว่าพระเยซูเจ้าทรงกำลังคิดถึงธรรมล้ำลึกแห่งงานเลี้ยงปัสกาที่ไม่มีใครเคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ซึ่งวันหนึ่งพระองค์จะทรงเสนอต่อมนุษย์ชายหญิงทุกยุคสมัย

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงเพิกเฉยต่อ “ความหิวทางกาย” แต่พระองค์ทรงคิดถึง “ความหิวกระหายพระเจ้า” เป็นสิ่งแรก ซึ่งสำหรับพระองค์ เป็นสิ่งสำคัญกว่าความหิวทางกายมาก

เมื่อคนทั้งหลายอิ่มแล้ว พระองค์ตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “จงเก็บเศษขนมปังที่เหลือ...”

    นี่ไม่ใช่รายละเอียดเล็กน้อย นี่คือความบริบูรณ์อย่างเหลือเฟือที่เคยเกิดขึ้นในงานเลี้ยงอีกครั้งหนึ่ง คืองานเลี้ยงสมรสที่หมู่บ้านคานา เมื่อพระเยซูเจ้าทรง “ทวีปริมาณ” เหล้าองุ่น!

    พระเยซูเจ้าทรงทวีปริมาณทั้งขนมปังและเหล้าองุ่น ... พระเยซูเจ้าทรงคิดไปไกลเกินกลุ่มประชาชนชาวกาลิลีเหล่านี้ หรือแขกรับเชิญที่หมู่บ้านคานา ขนมปังและเหล้าของพระเจ้ามีไว้สำหรับมนุษย์ทุกคน ... แต่ใครบ้างที่หิวและกระหายจริง?...

    พระองค์ทรงให้รวบรวมเศษขนมปัง ... ข้าพเจ้านึกถึงภาพของเศษขนมปังเต็มสิบสองตะกร้า! ... ใครบ้างที่สามารถมาอยู่ที่นั่นเพื่อกินขนมปังเหล่านี้ได้ แต่เขาไม่มา?...

เมื่อคนทั้งหลายเห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ที่ทรงทำ ก็พูดว่า “ท่านผู้นี้เป็นประกาศกแท้ ซึ่งจะต้องมาในโลก”

    มนุษย์ทุกยุคสมัยรอคอย “มนุษย์-พระ” หรือ “วิธีแก้ไขปัญหาอย่างอัศจรรย์” ซึ่งจะทำให้เขาไม่ต้องรับผิดชอบ ลึก ๆ ในใจของเรายังมีความคิดแบบดึกดำบรรพ์เช่นนี้ เราหวังว่าจะมี “เวทย์มนตร์” ที่ช่วยแก้ปัญหาของเรา เราไม่สามารถทำพิธีไสยศาสตร์ได้อีกแล้ว แต่เรายังเป็นเหยื่อของคำโฆษณาและคำสัญญาที่ไม่มีทางเป็นไปได้ เราหลงเชื่ออุดมการณ์ที่ส่งเสริม “ความเจริญก้าวหน้า” และล่อหลอกเราด้วยคำสัญญาว่าเราจะได้พบกับ “วันพรุ่งนี้ที่เปี่ยมด้วยความยินดี”

    ผู้วิเศษเหล่านี้บอกเราว่า “ปรับเปลี่ยนโครงสร้างซิ แล้วจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง”

    แต่พระเยซูเจ้าตรัสแก่เราว่า “จงเปลี่ยนจิตใจของท่าน” เมื่อนั้น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างจะไม่เป็นเพียงการเปลี่ยนนายทาสคนใหม่

พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าคนเหล่านั้นจะใช้กำลังบังคับพระองค์ให้เป็นกษัตริย์ จึงเสด็จไปบนภูเขาตามลำพังอีกครั้งหนึ่ง

    สิ่งล่อใจทางการเมืองสำหรับคนร่วมสมัยของพระเยซูเจ้าไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ในอดีตเท่านั้น แต่เรายังพบเห็นตราบจนถึงทุกวันนี้ เมื่อไรหนอเราจึงจะตระหนักว่าพระเยซูเจ้าไม่เคยยอมเป็นนักโทษของทัศนคติทางโลก มิใช่เพราะเรื่องทางโลกไม่มีคุณค่า แต่เพราะคุณค่าของตัวตนมนุษย์ไม่ควรถูกลดลงมาให้อยู่ในมิตินี้เท่านั้น

    พระเจ้าทรงร้องบอกมนุษย์ไม่หยุด เหมือนกับดีโอเจเนส นักปรัชญาโบราณ บอกเราว่า “ท่านไม่มีทางพบความสุขได้ด้วยการกินอย่างตะกละตะกรามเหมือนหมู” ความหิวที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ไม่ใช่ความหิวอาหารทางกาย ท่านควรทุ่มเททำงานของท่านอย่างขยันขันแข็งในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และควรรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของท่านในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแน่นอน แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่าศักดิ์ศรีสูงสุดของมนุษย์อยู่ที่มนุษย์สามารถเปิดใจต่อสิ่งประเสริฐ เปิดใจต่อพระเจ้า!

    พระเจ้ากำลังตรัสกับเราว่า จงยอมให้เราแสดงบทบาทที่เราเพียงผู้เดียวสามารถแสดงได้เพื่อท่านเถิด จงยอมให้เราดับความหิวกระหายของท่าน ... พระเยซูเจ้าไม่ยอมรับแผนการของประชาชนในยุคของพระองค์ ที่ต้องการยกให้พระองค์เป็นผู้นำการปลดปล่อยทางการเมือง

    แม้ว่าชัยชนะและความสำเร็จอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว พระองค์ก็ยังถอย และ “เสด็จไปอยู่ตามลำพัง” พระองค์ทรงคิดถึงอีกบทบาทหนึ่งที่พระองค์ทรงต้องการแสดงจริง ๆ พรุ่งนี้เช้า พระองค์จะพยายามทำให้ประชาชนกลุ่มเดียวกันนี้เข้าใจว่าพระองค์ทรงเป็นใครอย่างแท้จริง คือ “ปังแห่งชีวิตโดยแท้”

    แต่ใครบ้างหิวกระหายพระเจ้า? ... บทที่หกของพระวรสารของนักบุญยอห์นจะจบลงโดยประชาชนละทิ้งพระเยซูเจ้า ให้ทรงอยู่ตามลำพังกับอัครสาวกสิบสองคน (ยน 6:66-71)