แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 19 เทศกาลธรรมดา
1 พงศ์กษัตริย์ 19:4-8; เอเฟซัส 4:30-5:2; ยอห์น 6:41-51

บทรำพึงที่ 1
ปังแห่งชีวิต
ความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่จริงในศีลมหาสนิท คือ หัวใจของความเชื่อของเรา

    สตีฟ การ์วู้ด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในรัฐเซาท์คาโรไลน่า และเป็นศาสนบริกรพิเศษในเขตวัดของเขาด้วย ในวันอาทิตย์สัปดาห์แรกที่บุตรชายของเขาเกิด เขาเชิญพระกายของพระคริสตเจ้ากลับไปบ้านให้ภรรยาของเขารับ เธอยังพักฟื้นจากการคลอดบุตร

    เมื่อสตีฟเปิดประตูบ้าน เขาเห็นเพื่อนฝูงที่แวะมาเยี่ยมทารกเกิดใหม่ เขาจึงวางกล่องทองคำที่ใช้บรรจุศีลมหาสนิทด้วยความเคารพบนชั้นวางของในห้องนั่งเล่น วันนั้นมีแขกมาเยี่ยมเขาตลอดเวลา แขกคนสุดท้ายจากไปขณะที่ภรรยาของเขากำลังหลับ เขาไม่มีโอกาสอยู่ตามลำพังกับเธอเลยทั้งวัน

    ขณะที่สตีฟเดินผ่านห้องนั่งเล่นที่มืดสลัว เขารู้สึกว่าถูกบังคับให้คุกเข่าลงด้วยความเคารพเบื้องหน้าพระกายของพระคริสตเจ้าในกล่องทองคำที่วางอยู่บนชั้นวางของ ขณะที่เขาคุกเข่าก้มศีรษะอยู่นั้น เขารู้สึกได้ในทันใดว่าเขาไม่ได้อยู่ตามลำพังในห้องนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่กับเขา ความรู้สึกนี้ทำให้เขาตกตะลึง เขาบันทึกในเวลาต่อมาว่า

    “เลือดในตัวผมฉีดพล่านจนผมหูอื้อ และขนลุกทั่วร่าง ผมซบหน้าลงกับพื้นห้อง กางแขนออกไปข้างหน้าพร้อมกับอ้อนวอนว่า ‘ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า โปรดทรงเมตตาลูกผู้เป็นคนบาปที่เนรคุณ พระองค์ประทับอยู่ที่นี่ เบื้องหน้าลูก ในบ้านของลูก และพระองค์ได้ประทานพระพรมากมายแก่ลูก’ ” ... ท่านล่ะ ท่านคิดว่าเราเป็นใคร?

    มีเหตุผลสองข้อที่ทำให้เรื่องนี้สอดคล้องกับบทอ่านจากพระวรสารวันนี้

    ข้อแรก เรื่องนี้เน้นย้ำธรรมล้ำลึกสำคัญในความเชื่อของเรา เราคาทอลิกเชื่อว่าพระเยซูผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ กำลังประทับอยู่ท่ามกลางเราจริง ๆ เหมือนกับที่พระองค์เคยประทับอยู่กับศิษย์ของพระองค์ในยุคพระคัมภีร์

    สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง กล่าวถึงธรรมล้ำลึกข้อนี้ในรายละเอียดว่า “พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในพระศาสนจักรของพระองค์เสมอ โดยเฉพาะในการประกอบพิธีกรรม พระองค์ประทับอยู่ในการถวายเครื่องบูชาในพิธีมิสซา ในตัวของศาสนบริกร ... และเหนืออื่นใดในปังและเหล้าองุ่นในพิธีมิสซา”

    สภาสังคายนากล่าวต่อไปว่า “พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระองค์ ในลักษณะที่ว่าเมื่อบุคคลหนึ่งโปรดศีลล้างบาป พระคริสตเจ้าเองทรงเป็นผู้โปรดศีลล้างบาปนั้น ... พระองค์ประทับอยู่ในพระวาจาของพระองค์ เพราะพระองค์เองเป็นผู้ตรัส เมื่อมีผู้อ่านพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักร ... ท้ายที่สุด พระองค์ประทับอยู่เมื่อพระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาและขับร้อง เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่า ‘เมื่อสองหรือสามคนมาชุมนุมในนามของเรา เราจะอยู่ในหมู่เขา’ ”

    แม้ว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่กับเราในลักษณะต่าง ๆ แต่การประทับอยู่ของพระองค์ในศีลมหาสนิทมีความหมายเป็นพิเศษสำหรับเราคาทอลิก และพระวรสารวันนี้บอกเราว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

    เพราะพระองค์ประทับอยู่ในรูปของ “ปังแห่งชีวิต” พระเยซูเจ้าตรัสถึงการประทับอยู่ในลักษณะพิเศษนี้กับศิษย์ของพระองค์ว่า “เราเป็นปังแห่งชีวิต ... เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป และปังที่เราจะให้นี้ คือเนื้อของเรา เพื่อให้โลกมีชีวิต” (ยน 6:48, 51)

    เรื่องของสตีฟ การ์วู้ด จึงเน้นย้ำธรรมล้ำลึกสำคัญในความเชื่อของเรา นั่นคือ พระเยซูผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ กำลังประทับอยู่ท่ามกลางเราในศีลมหาสนิท เหมือนกับที่พระองค์เคยประทับอยู่กับศิษย์ของพระองค์ในยุคพระคัมภีร์

    เหตุผลข้อที่สองที่ทำให้เรื่องนี้สอดคล้องกับพระวรสารวันนี้ ก็เพราะเรื่องนี้แสดงให้เราเห็นว่าเราคาทอลิกเคารพต่อการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท

    สตีฟกระทำเหมือนกับอัครสาวกโทมัส ผู้คุกเข่าลงเบื้องหน้าพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ และกล่าวว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 20:28) สตีฟคุกเข่าลงเบื้องหน้าพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท และกล่าวว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า โปรดทรงเมตตาลูกผู้เป็นคนบาปที่เนรคุณ พระองค์ประทับอยู่ที่นี่ เบื้องหน้าลูก ในบ้านของลูก และพระองค์ได้ประทานพระพรมากมายแก่ลูก”

    เรื่องของสตีฟทำให้เราตระหนักว่าเรามักคิดว่าการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเตือนตนเองเป็นครั้งคราวว่า การที่เรามีพระเยซูเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางเราในศีลมหาสนิทนั้นเป็นพระพรอันยิ่งใหญ่

    เรื่องนี้ควรทำให้เราตระหนักด้วยว่า เราควรทรุดตัวลงคุกเข่าเป็นครั้งคราว และทูลพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทเหมือนกับอัครสาวกโทมัสว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า”

    และทูลพระองค์เหมือนกับสตีฟว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า โปรดทรงเมตตาลูกผู้เป็นคนบาปที่เนรคุณ พระองค์ประทับอยู่ที่นี่ เบื้องหน้าลูก ในบ้านของลูก และพระองค์ได้ประทานพระพรมากมายแก่ลูก”

    นี่คือธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่ที่เราเพ่งพินิจในพระวรสารวันนี้ นี่คือธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่ที่เราเฉลิมฉลองกันในพิธีกรรมวันนี้

    นับเป็นธรรมล้ำลึกที่เหลือเชื่อ ว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางเราในศีลมหาสนิท เหมือนกับที่พระองค์เคยประทับอยู่ท่ามกลางประชาชนในยุคพระคัมภีร์

    เมื่ออยู่ต่อหน้าธรรมล้ำลึกนี้ เราทำได้เพียงทรุดตัวลงคุกเข่า และภาวนาว่า

    ข้าแต่พระเจ้า พระบิดาของเรา
    พระองค์ประทานพระพรแก่เรามาแล้วมากมาย
    โปรดประทานอภัย ถ้าเราวอนขอพระพรอีกประการหนึ่งจากพระองค์
        โปรดประทานความเชื่อ
        ให้เรายอมรับว่าพระบุตรของพระองค์ประทับอยู่
        ในหัวใจของพี่น้องชายหญิงของเรา
        ในวัดนี้ ในเวลานี้ด้วยเทอญ
    โปรดประทานความเชื่อ
    ให้เราจำพระสุรเสียงของพระบุตรของพระองค์ได้
    ในถ้อยคำจากพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์
        เหนืออื่นใด โปรดประทานความเชื่อ
        ให้เราเห็นพระกายของพระบุตรของพระองค์
        ในปังที่เรากำลังจะถวาย บิ และแบ่งปันกัน
    เราวอนขอดังนี้ เดชะพระคริตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา
    เพื่อว่า พร้อมกับพระองค์ ในพระองค์ และอาศัยพระองค์
    เราจะมีชีวิตอยู่ร่วมกับพระองค์ในวันหนึ่ง
    และพระจิตเจ้า ตลอดนิรันดร
       
บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 6:41-51
ปังแห่งชีวิต (2)

ชาวยิวบ่นพึมพำ ไม่เห็นด้วยกับพระเยซูเจ้าที่ตรัสว่า “เราเป็นปังซึ่งลงมาจากสวรรค์” เขาพูดกันว่า “คนคนนี้ไม่ใช่เยซู บุตรของโยเซฟหรือ เรารู้จักทั้งบิดาและมารดาของเขาดี แล้วเขาพูดได้อย่างไรว่า เราลงมาจากสวรรค์”

    ธรรมประเพณีทุกยุคสมัยบอกเราว่า ไม่มีรายละเอียดใดเลยในพระคัมภีร์ที่ไร้ประโยชน์ หรือไร้ความหมาย ถ้าประชาชนที่เป็นผู้ฟังคำเทศน์สอนจากพระเยซูเจ้าเป็นกลุ่มแรกยังบ่นพึมพำ เมื่อได้ยินพระองค์ตรัสถึงศีลมหาสนิท ความจริงข้อนี้ย่อมเป็นบทเรียนสอนใจเราได้ มนุษย์ปฏิเสธธรรมล้ำลึกข้อสำคัญในความเชื่อของเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เยาวชนและผู้ใหญ่จำนวนมากในวันนี้เลิกไปร่วมพิธีมิสซา “ภาวะสมองไหล” นี้เริ่มต้นตั้งแต่ยุคของพระเยซูเจ้าแล้ว ตั้งแต่พระองค์ทรงเทศน์สอน!
    เราต้องยอมรับด้วยความถ่อมตนว่าสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงยืนยันนั้นเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ เราไม่ควรตัดสินว่าผู้ที่ไม่เชื่อเป็นบุคคลที่ผิดปกติ เพราะพวกเขาเพียงแต่คิดตามหลักเหตุผล ถึงเวลาแล้วที่เราจะยอมรับว่าความเชื่อของเรามีความพิเศษอย่างไร และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลดคุณค่าของความเชื่อของเราให้เป็นเพียงความเชื่อที่เกิดจากความคิดตามหลักเหตุผล

    “เราเป็นปังที่ลงมาจากสวรรค์” ประโยคนี้ไร้สาระที่สุด เมื่อออกมาจากปากของช่างไม้ผู้ต่ำต้อยคนหนึ่ง ที่มาจากหมู่บ้านใกล้เคียง และหลายคนในกลุ่มผู้ฟังก็รู้จักบิดามารดา และญาติพี่น้องของเขา

    พระเยซูเจ้าทรงแสดงปฏิกิริยาอย่างไรในวันนั้น – และพระองค์ทรงแสดงปฏิกิริยาอย่างไรในวันนี้ ต่อการปฏิเสธปังที่ลงมาจากสวรรค์?

“เลิกบ่นพึมพำกันเสียทีเถิด ไม่มีใครมาหาเราได้ นอกจากพระบิดาผู้ทรงส่งเรามาจะทรงชักนำเขา ... มีเขียนไว้ในหนังสือของบรรดาประกาศกว่า ทุกคนจะได้รับคำสอนจากพระเจ้า”

    พระเยซูเจ้าทรงแสดงจุดยืนของพระองค์ ซึ่งอยู่เหนือหลักเหตุผลของมนุษย์ นี่คือสิ่งที่เราเรียกกันในวันนี้ว่า บทบาทของ “พระหรรษทาน” กล่าวคือ การริเริ่มปฏิบัติการของพระเจ้า เพื่อให้เราเข้าใจสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า – และเพื่อ “ไปหาพระเยซูเจ้า” – (พระเยซูเจ้าทรงบอกเราเองว่า) เราต้องพึ่งความสว่างภายใน ซึ่งพระเจ้าเท่านั้นสามารถประทานให้ได้ และที่เราเรียกกันว่า “ความเชื่อ”

    พระเจ้าเท่านั้นทรงมีอำนาจเหนือพระเจ้า โลกุตระ (transcendence) ของพระเจ้าไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจได้ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ หรือของเครื่องจักรในห้องปฏิบัติการใด ๆ เพราะพระเจ้าทรงเป็นแตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิง ทรงเป็นผู้ที่อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง เราต้องยอมให้พระเจ้าเองทรงสอนเรา เราต้องยอมรับพระวาจาของพระเจ้า – พระวาจาซึ่งเสด็จลงมาจากสวรรค์ มิใช่มาจากโลก

    ปัญหาอยู่ที่เรายังไม่ฟังพระเยซูเจ้ามากพอ คนวัยหนุ่มสาว – และคนที่เลยวัยหนุ่มสาวด้วย – คิดว่าพิธีมิสซา “น่าเบื่อ” ดังนั้นจงยอมให้ตัวท่านได้รับการปลดปล่อยจากความคิดแคบ ๆ ของท่าน และเข้ามาร่วมในการผจญภัยนั้นเถิด!

    มิสซาไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม สังคม หรือสุนทรียศาสตร์ ถ้าท่านไปร่วมมิสซาเพราะท่านคิดว่า “น่าสนใจ” ท่านจะหยุดไปในไม่ช้า พิธีมิสซาคือธรรมล้ำลึกแห่งการประทับอยู่ของพระเจ้า (ภาษาฮีบรูเรียกว่า Shekinah) เป็นธรรมล้ำลึกของ “การดำรงอยู่ภายในอย่างแท้จริง” ของพระเจ้าสูงสุดในโลกของเรา

    เมื่อท่านมาร่วมพิธีมิสซา ท่านแสวงหาอะไร? ท่านต้องการฟังเพลงเกรโกเรียน หรือเพลงสมัยใหม่หรือ?  ท่านแสวงหาที่หลบภัยสำหรับความคิดอนุรักษ์นิยมของท่าน หรือแสวงหาความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติตามพันธะตามความคิดของนักปฏิวัติ? ... “บรรยากาศ” ประเภทนี้ไม่ได้ไร้คุณค่าเสียทีเดียว แต่พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าเราต้องแสวงหาพระเจ้า การไปหาพระเยซูเจ้าเป็นพระพร ... เป็นพระหรรษทาน ... จากพระเจ้า “จงยื่นมือออกมา แบมือ และรับมานนานี้ จงต้อนรับพระวาจาของพระเจ้า”  
“ทุกคนที่ได้ฟังพระบิดา และเรียนรู้จากพระองค์ก็มาหาเรา”

    ความคิดของพระเยซูเจ้าทั้งละเอียดอ่อนและแยบยล พระองค์ทรงหลีกเลี่ยงการโต้แย้ง หรือโต้ปัญหาเทววิทยา แต่พระองค์ยืนยันในเวลาเดียวกันเรื่อง
-    บทบาทแรกเริ่มของ “พระหรรษทาน” หรือการริเริ่มของพระเจ้า ซึ่งเราต้องยินดีต้อนรับ...
-    และบทบาทสำคัญของ “เสรีภาพ” หรือการตอบสนองของมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ความพยายาม...

    พระบิดาทรงดึงดูดใจ ทรงสอน ทรงเสนอและเชื้อเชิญ แต่มนุษย์สามารถฟังและตอบสนอง ... หรือทำเป็นหูทวนลม และปฏิเสธก็ได้ ผู้ที่ยอมรับฟังคำสั่งสอนของพระบิดาเท่านั้นสามารถเข้าใจธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับปังแห่งชีวิตได้

    แต่เราย่อมเข้าใจผิด ถ้าคิดว่าพระเยซูเจ้ากำลังจำกัดสิทธิ์บางคน ราวกับพระองค์ตรัสว่า “น้อยคนที่พระบิดาทรงเรียกและได้รับพระหรรษทาน” พระองค์ทรงเพียงแต่เตือนเราว่า มนุษย์ “ต้องเรียนรู้จากพระเจ้า” ดังนั้นความแตกต่างของทัศนคติจึงมาจากความแตกต่างในการฟัง เพราะพระเจ้าประทานพระหรรษทานแก่มนุษย์ทุกคน – เพียงแต่เสรีภาพของมนุษย์ทำให้เขาสามารถปฏิเสธพระพรของพระเจ้าได้ “พระองค์เสด็จมาสู่บ้านเมืองของพระองค์ แต่ประชากรของพระองค์ไม่ยอมรับพระองค์” (ยน1:11)

    เรายินดีต้อนรับพระองค์ พระเจ้าข้า ทรงเห็นไหมว่าเรากำลังยื่นมือออกไปหาพระองค์!

“ไม่มีใครได้เห็นพระบิดา นอกจากผู้ที่มาจากพระเจ้า”

    พระเยซูเจ้าทรงยืนยันอย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงนำมาประทานแก่โลกไม่ใช่เพียงหลักปรัชญา หรือหลักจริยธรรม หรือวิสัยทัศน์อันงดงาม หรือโครงการทางการเมือง พระองค์คือพระบุคคลหนึ่งของพระเจ้า ผู้เสด็จเข้ามาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ พระองค์ทรงประกาศว่าพระองค์เสด็จมาจากพระเจ้า และพระองค์เป็นเพียงผู้เดียวที่รู้จักพระเจ้าอย่างแท้จริง! อันที่จริง พระองค์คือการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระเจ้าในโลกมนุษย์!

    ดังนั้น เราควรแปลกใจหรือถ้ามิสซาทำให้เราเวียนศีรษะ?  เพราะมิสซาคือสภาพแวดล้อมที่เราได้พบกับพระเจ้าผู้ไร้ขอบเขต พระเจ้าผู้สัมบูรณ์ นี่คือการผจญภัยอันยิ่งใหญ่ที่สุด ที่เชิญชวนเราให้ก้าวออกจากความคิดปกติของเรา พิธีมิสซาเป็นเหมือนรอยแตกอันเร้นลับในกำแพงแห่ง “ความคิดด้วยหลักเหตุผล” ของเรา ... เป็นช่องที่ทำให้เราก้าวเข้าไปสู่การประทับอยู่อันซ่อนเร้นที่สุดของพระเจ้า...

    “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย!”

    พระเยซูเจ้าไม่พยายามลดความหมายของคำพูด พระองค์ทรงตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก ... การเอาชนะอุปสรรคเพื่อจะพบกับพระเจ้าอย่างแท้จริง จะเป็นความพยายามที่ยากมาก กวีชื่อ เปกี กล่าวถึงศีลมหาสนิทว่า เราไม่สามารถนำปังแห่งชีวิตมาผสมกับขนม หรือสิ่งของพื้น ๆ ที่เราสามารถหาได้ง่าย ๆ ในชีวิต แต่เราต้องค้นหาไกลกว่า “สิ่งที่มองเห็นได้” เพราะไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ... ถ้าเป็นเช่นนี้จริง เราก็อาจมองเห็นได้ชัดกว่าถ้าเราปิดตา เพื่อไม่ให้โลกที่เราเห็นได้ มาดึงความสนใจของเราไปจากสิ่งที่เราเห็นไม่ได้...

“เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ที่เชื่อในเราก็มีชีวิตนิรันดร ... เราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย”

    ข้อความนี้น่าประหลาดใจ และไม่อาจมองข้ามได้ ถ้าเราระลึกว่านี่เป็นข้อความที่ถูกประกาศในวันหนึ่งในเมืองคาเปอรนาอุม บนฝั่งทะเลสาบเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนโลกของเรา และผู้ที่ประกาศก็เป็นชายคนหนึ่งที่มีรูปลักษณ์ “เหมือนคนทั่วไป”

    การเสด็จเข้ามาในโลกของพระเจ้าจะไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจได้อย่างไร น่าประหลาดใจเหมือนกับ “การเนรมิตสร้างจากความว่างเปล่า” ครั้งแรก...

    ขอให้สังเกตคำกริยาในข้อความนี้ ข้อความแรกเป็นปัจจุบันกาล “ก็มีชีวิตนิรันดร” – ข้อความที่สองเป็นอนาคตกาล “เราจะทำให้เขากลับคืนชีพ”

“เราเป็นปังแห่งชีวิต”

    เราพบคำยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนิยามว่าพระเจ้าคือ “ผู้เป็น” (ยาห์เวห์) นี่คือคำที่ชาวยิวไม่กล้าเอ่ยออกมา แต่เราทดแทนด้วยคำว่า “Adonai” แปลว่าองค์พระผู้เป็นเจ้า

    และพระเยซูเจ้าทรงกล้าตรัสว่า “เราเป็น” ... เราเป็นปังแห่งชีวิต!

“บรรพบุรุษของท่านทั้งหลายได้กินมานนาในถิ่นทุรกันดารแล้วยังตาย แต่ปังที่ลงมาจากสวรรค์เป็นอย่างนี้ คือผู้ที่กินปังนี้แล้วจะไม่ตาย เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป”

    “ชีวิต” เป็นสิ่งเดียวที่พระเยซูเจ้าตรัสถึง ในตอนแรกพระองค์ตรัสถึง “ปังแห่งชีวิต” บัดนี้พระองค์ตรัสถึง “ปังทรงชีวิต”

    หนังสือเล่มแรกของพระคัมภีร์ (ปฐก 3:22) กล่าวว่ามนุษย์ – หรือ “อาดัม” ในภาษาฮีบรู – ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ตาย เพราะเขาจะได้รับอนุญาตให้กินผลจาก “ต้นไม้แห่งชีวิต” ในขณะหนังสือเล่มสุดท้าย (วว 2:7) กล่าวว่าเมื่อการเนรมิตสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะไม่มีความตายอีกต่อไป “ผู้ใดมีชัยชนะ เราจะให้เขากินผลจากต้นไม้แห่งชีวิตที่อยู่ในอุทยานของพระเจ้า” พระเจ้าทรงดำเนินการตามแผนเดิมของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง และทรงทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จสมบูรณ์

    พระเยซูเจ้าทรงรับรองกับชาวไร่ชาวนาในแคว้นกาลิลี – และทรงรับรองกับเราในวันนี้ – ว่า “ชีวิตที่ไม่มีวันตาย” นี้ ได้ถูกประทานให้แล้วผ่านทางความเชื่อ แก่ผู้ที่ไม่กินผลจาก “ต้นไม้แห่งชีวิต” แต่กิน “ปังแห่งชีวิต” คือพระเยซูเจ้าเอง!
    เราอาจค้านว่าผู้ที่รับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท ก็ต้องตายเหมือนกับมนุษย์ทั้งหลาย แต่เราไม่ได้กำลังพูดในระดับความเป็นจริงของมนุษย์ หรือในระดับ “สิ่งที่เห็นได้” ไม่มีใครเคยเห็น “สิ่งที่เห็นไม่ได้” และไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าไม่มี “ชีวิตที่เห็นไม่ได้” เรื่องนี้ไม่อาจอธิบายด้วยเหตุผลก็จริง แต่เราจะไม่ยอม “เรียนรู้จากพระบิดา” หรือ? ... และทำไมเราจึงไม่ยอมวางใจในพระองค์?...

    ถ้าเราปฏิเสธของประทานเหนือธรรมชาตินี้ เรากำลังตัดสิทธิ์ตนเอง ทำให้เราไม่ได้รับ “ชีวิตนั้น” ตั้งแต่บัดนี้แล้ว ถ้าเช่นนั้น เราก็เชื่อว่าชะตากรรมของเราก็คือจุดจบในความว่างเปล่า “การมีข้อจำกัด” (ซึ่งเป็นเหตุให้เราต้องตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) เป็นลักษณะเฉพาะตัวของมนุษย์ไม่ใช่หรือ? “สิ่งใดที่เกิดจากเนื้อหนังย่อมเป็นเนื้อหนัง” (ยน 3:6) แล้วทำไมพระเจ้าจะเข้าแทรกแซงเพื่อประทานชีวิตนิรันดรอันสัมบูรณ์ของพระองค์แก่เราไม่ได้เล่า?...

    พระเจ้าข้า เรากำลังยื่นมือออกมารับของประทานนี้!

“และปังที่เราจะให้นี้ คือเนื้อของเรา เพื่อให้โลกมีชีวิต”

    แม้เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่พระพรแห่งชีวิตของพระเจ้ากลายเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า

    ยิ่งใหญ่แต่ซ่อนเร้น บัดนี้ประสาทสัมผัสของเราสามารถสัมผัสกับความรักของพระเจ้าได้ เพราะความรักของพระเจ้าก็คือพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขน ... ความรักของพระเจ้าคือพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้าผู้ทรงถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชา ... ความรักของพระเจ้าพูดกับเราไม่เพียงผ่านทางคำพูด แต่ผ่านทางการกระทำอีกด้วย กล่าวคือ ในการประทานเนื้อหนังของพระองค์ การประทานพระกายของพระองค์ “ที่มอบเพื่อเรา” – และเป็นเครื่องหมายของความรักอันสมบูรณ์

    ขอให้เราต้อนรับพระวาจาของพระเจ้า ผู้ประทานเนื้อของพระองค์ และกลายเป็นชีวิตของเรา...