แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 27 เทศกาลธรรมดา
ปฐมกาล 2:18-24; ฮีบรู 2:9-11; มาระโก 10:2-16

บทรำพึงที่ 1
คุณแม่เฮล
เราประทับตราประเภทใดบนตัวเด็ก ๆ ที่เราพบในชีวิต

    ลอเรน เฮล หยุดรถเมื่อถึงเสาไฟสัญญาณจราจร ซึ่งตั้งอยู่ที่สี่แยกของถนนในเมืองฮาเล็ม เธอเห็นหญิงสาวติดยาคนหนึ่งกำลังนั่งสัปหงก เธออุ้มทารกคนหนึ่งไว้ในอ้อมแขน ไฟสัญญาณเปลี่ยนเป็นไฟเขียว และลอเรนก็ขับรถออกไป แต่แล้วบางสิ่งก็บอกเธอให้ย้อนกลับไปยังทางแยกนั้น เธอขับรถกลับมา และพูดกับหญิงสาวคนนั้นว่า “เธอกำลังมีปัญหาใหญ่นะ และเธอต้องการความช่วยเหลือ พาลูกของเธอไปที่บ้านของแม่ของฉันซิ แม่ของฉันจะดูแลลูกให้เธอเอง”

    หญิงสาวมองหน้าลอเรน แต่ไม่เข้าใจ ลอเรนต้องพูดซ้ำประมาณสามครั้ง แล้วเขียนที่อยู่ของมารดาของเธอในกระดาษ และยัดใส่มือหญิงคนนั้น

    เช้าวันต่อมา หญิงสาวติดยาคนนั้นมาที่บ้านของเฮล ทารกกำลังหนาวสั่น น้ำมูกไหล และท้องร่วงอย่างหนัก เด็กคนนี้กำลังทรมานจากการขาดยาเสพติด เด็กที่เกิดจากมารดาที่ติดยาเสพติดจะติดยาเสพติดมาตั้งแต่เกิด เขาติดยาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ก่อนที่เขาจะคลอดออกมา

    เพื่อนบ้านเรียกมารดาของลอเรนว่า “คุณแม่เฮล” เธอรับเด็กคนนั้นไว้และคอยดูแลจนเด็กผ่านช่วงเวลาอันเจ็บปวดนั้นมาได้ ในเวลานั้น คุณแม่เฮลไม่รู้ว่ากิจเมตตาครั้งเดียวนั้นจะเปลี่ยนชีวิตของเธอ ในไม่ช้าข่าวก็แพร่ออกไป และหญิงติดยาอื่น ๆ ก็มาหาเธอที่บ้านพร้อมกับลูกของเขา ครั้งหนึ่ง คุณแม่เฮลรับเลี้ยงทารกมากกว่า 20 คนในบ้านของเธอ และอีกครั้งหนึ่งเธอไม่มีเงินเหลืออยู่เลย หลังจากซื้ออาหารและเสื้อผ้าให้เด็กแล้ว แต่เธอพยายามอยู่อย่างอดออม

    ตลอดระยะเวลา 16 ปี คุณแม่เฮลช่วยเหลือทารกมากกว่า 600 คน จากอาการขาดยาเสพติด เธอกล่าวว่า “ตามปกติจะใช้เวลาประมาณ 4 ถึง 6 สัปดาห์ เด็ก ๆ จะร้องหาคุณด้วยความเจ็บปวดและร้องไห้ และคุณทำได้เพียงกอดเขา และรักเขา”

    แล้ววันหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นกับคุณแม่เฮล ซึ่งเปลี่ยนชีวิตของเธอ ประธานาธิบดีเรแกนได้ยินเรื่องของเธอ และงานของเธอ เขาสะเทือนใจมาก และกล่าวถึงเรื่องนี้ในคำปราศรัยรายงานสถานะประเทศต่อสภาคองเกรส เมื่อปี ค.ศ. 1985 ขณะที่เขากำลังกล่าวคำปราศรัย กล้องโทรทัศน์ตัดภาพไปยังคุณแม่เฮล ซึ่งอยู่ที่เฉลียงด้านบนของทำเนียบขาว และจับภาพของคุณยายวัย 81 ปี ที่กำลังน้ำตาไหลพราก

    เพียงข้ามคืน คุณแม่เฮลก็กลายเป็นคนดัง นักข่าวขอสัมภาษณ์เธอ และรายการทอล์กโชว์ก็เชิญเธอไปปรากฏตัวในรายการ เงินทองหลั่งไหลเข้ามา งานของคุณแม่เฮลกลายเป็นศูนย์ที่มีเครื่องมือและพนักงานพรั่งพร้อม บัดนี้ เมืองอื่น ๆ ติดต่อขอคำแนะนำจากเธอเพื่อก่อตั้งศูนย์ดูแลทารกติดยาเหมือนกับศูนย์ของเธอ 
    เรื่องของคุณแม่เฮลสอดคล้องกับเรื่องในพระวรสารวันนี้ ซึ่งบรรยายว่ามารดาทั้งหลายนำบุตรเล็ก ๆ ของเขามาให้พระเยซูเจ้าทรงสัมผัสและอวยพร ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เด็กหลายคนคงกำลังป่วย เหมือนกับทารกที่หญิงติดยาทั้งหลายนำมาหาคุณแม่เฮล และเพื่อนบ้านของคุณแม่เฮลก็คงพยายามปกป้องเธอไม่ให้ต้องรับภาระดูแลเด็กจำนวนมาก เหมือนกับที่ศิษย์ของพระเยซูเจ้าพยายามปกป้องพระองค์

    แต่คุณแม่เฮลคงพูดเหมือนกับพระเยซูเจ้า ว่า “ปล่อยให้เด็กเล็ก ๆ มาหาฉันเถิด อย่าห้ามเลย เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนที่เหมือนกับเด็กเหล่านี้” และเหมือนกับพระเยซูเจ้า เธอคง “อุ้มเขาและอวยพรเขา” ด้วยความรักและเอื้ออาทร

    เรื่องของคุณแม่เฮลแสดงให้เห็นจิตตารมณ์ของพระวรสารวันนี้ได้อย่างที่น้อยเรื่องสามารถทำได้ เรื่องนี้แสดงให้เห็นภาพของคุณยายวัย 81 ปีคนหนึ่ง – สองพันปีหลังจากเรื่องในพระวรสาร – ที่ดำเนินชีวิตตามจิตตารมณ์ และคำสั่งสอนในพระวรสารตอนนี้ และยังสร้างแรงบันดาลใจให้เราทำสิ่งที่คล้ายกันในชีวิตของเราเอง

    เมื่อคุณแม่เฮลรับดูแลทารกติดยาคนแรก เธอไม่คิดว่าเธอจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนหลายล้านคน ด้วยการแสดงความเมตตากรุณาครั้งเดียวของเธอ เธอไม่คิดว่า อีก 16 ปีต่อมา เธอจะเริ่มปฏิกิริยาลูกโซ่ที่จะช่วยเหลือทารกโชคร้ายอื่น ๆ อีกหลายพันคน เธอไม่คิดว่าปฏิกิริยาลูกโซ่นี้จะขยายตัวออกไปนอกเขตเมืองฮาเล็ม ไปยังเมืองอื่น ๆ ทั่วทั้งประเทศ เธอไม่คิดว่าพระเจ้าจะทรงใช้เธอเพื่อเริ่มต้นโครงการสำคัญใหม่ ในการช่วยเหลือเด็กกลุ่มหนึ่งที่กำลังเจ็บปวดทรมานอยู่ในสังคมของเรา

    เธอรู้เพียงว่าเด็กที่กำลังป่วยหนักบางคนกำลังต้องการให้เธอพูดกับเขาว่า “ปล่อยให้เด็ก ๆ มาหาฉันเถิด อย่าห้ามเลย” (มก 10:14)

    ชาวจีนมีสุภาษิตที่กล่าวว่า “ชีวิตของเด็กเหมือนกระดาษแผ่นหนึ่งที่คนที่ผ่านไปมาประทับรอยไว้” คุณแม่เฮลประทับรอยอันงดงามยิ่งไว้ในชีวิตของเด็กหลายพันคน รอยนั้นงดงามจนเป็นแรงบันดาลใจให้เราต้องการประทับรอยแบบเดียวกันไว้ในตัวเด็กนับพันคนที่เราพบในชีวิตของเรา

    และจะเป็นความจริงยิ่งกว่า ถ้าเด็กเหล่านั้นเป็นลูกหลานของเราเอง เราย่อมต้องการประทับรอยของพระเยซูเจ้าเองในชีวิตของพวกเขา เพื่อว่าวันหนึ่งเขาจะประทับรอยคล้ายกันในชีวิตของบุตรของเขาเช่นเดียวกัน

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยข้อคิดต่อไปนี้ ซึ่งเขียนโดยผู้นำทางทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในยุคของเรา คือ นายพลแม็คอาเธอร์

    ผมเป็นทหารโดยอาชีพ และผมภูมิใจที่ผมเป็นทหาร
    แต่ผมภูมิใจมากยิ่งกว่านั้น ที่ผมเป็นพ่อคนหนึ่ง
    ทหารคนหนึ่งต้องทำลายเพื่อจะสร้าง
    แต่ผู้เป็นพ่อได้แต่สร้าง ไม่เคยทำลาย
    ทหารมีศักยภาพในการนำความตาย
    แต่ผู้เป็นพ่อเป็นตัวแทนของการสร้างสรรค์และชีวิต...
   
    ผมหวังว่า เมื่อผมจากไปแล้ว ลูกชายของผมจะจดจำผมได้
    ไม่ใช่จดจำผมที่อยู่ในสนามรบ แต่จดจำผมที่อยู่ในบ้าน
    เมื่อผมสวดบทภาวนาที่เรียบง่ายทุกวันพร้อมกับเขาว่า
    “ข้าแต่พระบิดา พระองค์สถิตในสวรรค์”
 
บทรำพึงที่ 2
มาระโก 10:2-16

    ทำไมจึงต้องมีชายและหญิง? ... ทำไมต้องมีเด็กชายและเด็กหญิง? ... ทำไมจึงมีเพศที่ต่างกัน? ... ทำไมจึงต้องมีความรัก แรงดึงดูดใจ ความรู้สึกอ่อนโยนต่อกัน?...

    ทำไมโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล (ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์) จึงถูกสร้างขึ้นตาม “ต้นแบบ” นี้? ทำไมสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจึงต้องแบ่งออกเป็นสองประเภทที่แตกต่างกัน – เป็น “เพศชาย” และ “เพศหญิง” – แตกต่างกันแน่นอน แต่ “ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกันและกัน”?

    แนวคิดของมนุษย์เกี่ยวกับคำถามนี้มักแกว่งไปมาระหว่างการมองโลกในแง่ลบ แบบลัทธิมานีเคียน ลัทธิยันเซ็น และลัทธิพิวริตัน ... และวิธีคิดที่เรียกกันว่าการมองโลกในแง่บวก ของผู้ที่ประพฤติตนแบบตามใจชอบ ผู้อ้างว่าความสำส่อนคือเสรีภาพทางเพศ และสนับสนุนให้แสวงหาความสนุกเป็นเป้าหมายในชีวิต

    ในอดีต หลักจริยธรรมทางศาสนาเน้นชัดเจนว่าสิ่งใด “บริสุทธิ์” และสิ่งใด “มีมลทิน” แต่คนยุคปัจจุบันหันไปหาอีกขั้วหนึ่ง เขาละทิ้งบรรทัดฐานต่าง ๆ และสนับสนุนความหย่อนยานทางศีลธรรม “ทำอย่างที่คุณชอบ ทำสิ่งที่คุณอยากทำ”

    พระเยซูเจ้าทรงคิดอย่างไรในเรื่องนี้?...

ชาวฟาริสีบางคนทูลถาม หวังจะจับผิดพระองค์ว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ ที่ชายจะหย่ากับภรรยา”

    นี่คือคำถามที่ประสงค์ร้าย เขาต้องการจับผิดพระเยซูเจ้า เพราะไม่ว่าพระองค์จะตอบอย่างไร พระองค์ย่อมทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อคนบางกลุ่ม นี่คือประเด็นร้อนและเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครวางตัวเป็นกลางได้เมื่อเผชิญกับปัญหานี้ เพราะทุกคนจะพบว่าตนเองอยู่ในสภาวะใดสภาวะหนึ่ง และบาดแผลในใจเป็นบาดแผลที่รักษาให้หายได้ยากที่สุด

    อันที่จริง นี่เป็นคำถามที่ไม่น่าจะมีใครถาม เพราะคำตอบมีอยู่แล้วในบทบัญญัติ “ชายใดแต่งงานกับหญิงคนหนึ่ง และมีเพศสัมพันธ์กับนางแล้ว แต่ต่อมาไม่พอใจที่จะอยู่กับนาง เพราะพบว่านางมีข้อบกพร่องน่าละอาย เขาจะต้องเขียนหนังสือหย่าให้นาง แล้วให้นางไปจากบ้าน...” (ฉธบ 24:1) บทบัญญัติให้คำตอบไว้ชัดเจนว่า การหย่าเป็นสิ่งที่กระทำได้อย่างถูกต้องตามบทบัญญัติ ทั้งในยุคของพระเยซูเจ้าและในยุคของเรา เราเห็นความคล้ายคลึงของบริบทที่เป็นสภาพแวดล้อมการดำเนินชีวิตของคริสตชนรุ่นแรก และโลกรอบตัวเราในปัจจุบัน ในแทบทุกประเทศ มีการหย่าตามกฎหมาย ตามมาด้วยการสมรสเป็นครั้งที่สอง

พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “โมเสสได้บัญญัติไว้ว่าอย่างไร” เขาทูลตอบว่า “โมเสสอนุญาตให้ทำหนังสือหย่าร้างและหย่ากันได้”

    คำตอบเช่นนี้ทำให้เรารู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยมากเมื่อเผชิญกับปัญหาทำนองนี้ การตีความพระคัมภีร์ตามตัวอักษรย่อมนำไปสู่การอธิบายความแบบรวบรัดและไม่รับผิดชอบ เราเห็นได้ว่าพระเจ้าทรงเผยแสดงอย่างต่อเนื่องทีละขั้นทีละตอนมาตลอดทุกยุคสมัย และหลักศีลธรรมและหลักความเชื่อก็พัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา โมเสสยึดถือ “กฎตามประเพณี” ที่ใช้กันในยุคของเขา เมื่อการหย่าและการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนเป็นประเพณีที่ยอมรับกันมานาน เมื่อโมเสสไม่สามารถปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้ เขาจึงพยายามเยียวยาความอยุติธรรม และการกระทำตามพลการที่เกิดจากประเพณีนี้ ด้วยการกำหนดข้อบังคับให้เป็นบทบัญญัติ และลดผลร้ายที่เกิดจากประเพณีนี้ แต่สามารถบังคับใช้อย่างยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เช่นเดียวกับการบังคับใช้กฎหมายทั่วไป

    ในยุคของพระเยซูเจ้า มีการตีความคำว่า “ข้อบกพร่องน่าละอาย” ไว้สองขั้ว รับบีแชมไม ตีความว่าไม่อาจหมายความเป็นอื่นได้ นอกจากเป็นข้อบกพร่องที่ผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง เช่นการคบชู้ แต่รับบีฮิลเลล ตีความไว้กว้างกว่าว่าอาจมีหลายสาเหตุที่ทำให้หย่าร้างได้ ... เช่น การทำอาหารไหม้ขณะปรุงอาหาร! 

    ตัวอย่างนี้ทำให้เราสรุปได้ว่า “สิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่จำเป็นต้องถูกหลักศีลธรรมเสมอไป” คริสตชนต้องอยู่ในสังคมที่มีคนหลากหลายกลุ่ม เขาจึงต้องมีความเข้มแข็งมากพอที่จะปฏิบัติตามมโนธรรมของตน แม้ว่าบางครั้งต้องใช้ความกล้าหาญขั้นวีรชนทีเดียว เขาอาจต้องสวนกระแสความคิดของประชาชน แต่พระวรสารก็สั่งสอนให้เราทำเช่นนี้ไม่ใช่หรือ? การยึดหลักอหิงสาเป็น “ความบ้า” ไม่ใช่หรือ? การให้อภัยอย่างมีเงื่อนไขก็ไม่ถูกต้องไม่ใช่หรือ? ... การถือความยากจนอย่างสมัครใจเป็นเพียงสังคมในอุดมคติเท่านั้นหรือ?

    พระเยซูเจ้าทรงแสดงจุดยืนในหัวข้อนี้ ในบริบทของยุคสมัยของพระองค์ ซึ่งการหย่าถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย

พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เพราะใจดื้อหยาบกระด้างของท่าน โมเสสจึงได้เขียนบัญญัติข้อนี้ไว้”

    “ใจดื้อหยาบกระด้าง” เป็นโรคที่ระบาดไปทั่วอย่างแท้จริง ... พระเจ้าข้า โปรดทรงสอนเราให้รัก “ผู้อื่น” ด้วยเถิด

    วันนี้ก็ไม่ต่างจากวันนั้น แรงกดดันทางสังคมอันรุนแรงกระตุ้นเรา (”เราจงทำอย่างที่คนอื่น ๆ เขาทำกันเถิด”) ให้พึงพอใจกับ “การถ่วงดุลอำนาจ” เช่น สถิติบอกเราว่าสามในสี่ของการหย่าร้างเกิดขึ้นภายในห้าปีแรกของชีวิตสมรส และเกิดขึ้นกับคู่สมรส “ที่อยู่กินกัน” ตั้งแต่ก่อนแต่งงาน การปฏิเสธบรรทัดฐานทางสังคม การปฏิเสธการแต่งงาน ไม่ได้เป็นเครื่องหมายแสดงวุฒิภาวะ เหตุใดเด็กหนุ่มและเด็กสาวจึงอยู่กินกัน หรือมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงาน? การทำเช่นนั้นจะสกัดกั้นความรักของเขาไม่ให้เจริญงอกงาม จริงหรือไม่? ... เขาต้องการเปิดทางหนีไว้ให้ตนเอง และปฏิเสธที่จะผูกมัดตนเอง – ดังนั้นจึงไม่ยอมมอบตนเองให้แก่กันอย่างแท้จริง ใช่หรือไม่? ... อันที่จริงเขาเสี่ยงมากที่จะรักษาสถานภาพให้อยู่ในระดับ “ถ่วงดุลอำนาจ” ระหว่างกันเช่นนี้ – ฉันยังเป็นนายตนเอง! ฉันเป็น “อิสระ”!...

    “จงระวังใจที่ดื้อและหยาบกระด้างเช่นนี้” พระเยซูเจ้าทรงเตือนเรา

    ในที่สุด อะไรที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากของการเป็นนายตนเอง หรือเสรีภาพนี้? ... ความรักต่อกันและกัน หรือความรักตนเอง?...

“แต่เมื่อแรกสร้างโลกนั้น พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง”

    “กฎแห่งความรักระหว่างสองบุคคล” เป็นกฎขั้นมูลฐานที่ต้องแสวงหาในระดับนี้ กล่าวคือ ธรรมชาติของเพศทั้งสองคือการสร้างสรรค์ หมายถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่จารึกไว้ในธรรมชาติระดับลึกสุดของชายและหญิง

    พระเยซูเจ้าไม่ได้ตรัสถึงศีลธรรม (“ทำได้” และ “ห้ามทำ”) แม้ว่าคำสั่งสอนของพระองค์นำไปสู่พฤติกรรมแบบหนึ่งที่เป็นรูปธรรมและชัดเจน กล่าวคือ พระองค์ทรงแสดงให้เราเห็น “อุดมคติ” เราไม่ควรพึงพอใจเพียงการปฏิบัติตามบทบัญญัติข้อหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เราพยายามเพ่งพินิจ “แผนการของพระเจ้าสำหรับมนุษย์ชายและหญิง” เราคล้อยตามทัศนคติทางสังคมมากน้อยเพียงไร เราพยายามเปลี่ยนแปลงกระแสความคิดมากน้อยเพียงไร เราพยายามฝืนตนเองไม่ให้ “คล้อยตามคนส่วนใหญ่” มากน้อยเพียงไร!

    เราคิดอย่างไรกับความรักระหว่างสามีภรรยา? ... ความคิดที่ดาราคนหนึ่งแสดงออก หรือที่แสดงออกในบทเพลงที่เหมาะสมสำหรับคนสมองพิการ? ... พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราให้ระวังตัว เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าแนวคิดทั้งหมดนี้ คือ พระเจ้าเองทรงประทานความคิดที่ชัดเจนมาก ว่าความรักคืออะไร – โดยพระองค์ทรงแสดงความคิดนี้ในงานเนรมิตสร้างของพระองค์เอง...

“ดังนั้น ชายจะละบิดามารดา และชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนี้ เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน”

    พระเยซูเจ้าทรงอ้างถึงข้อความในหนังสือปฐมกาล ซึ่งอยู่ในบทอ่านที่หนึ่งของวันอาทิตย์นี้ เราไม่มีทางเข้าใจความหมายทั้งหมดของข้อความนี้ได้ “เราจงสร้างมนุษย์ขึ้นตามภาพลักษณ์ของเรา ... พระองค์ทรงสร้างเขาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า พระองค์ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” (ปฐก 1:26-27) ... ข้อความในพระคัมภีร์ตอนนี้เริ่มต้นในรูปเอกพจน์ และจบลงในรูปพหูพจน์ สามพระบุคคลในพระเจ้าหนึ่งเดียวทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามภาพลักษณ์ของพระองค์ กล่าวคือ “มากกว่าหนึ่งคน แต่รวมกันเป็นหนึ่งคน” ...  สองบุคคลที่แตกต่างกัน แต่กลายเป็นเนื้อเดียวกัน

    พระเจ้าข้า พระองค์ทรงเป็นต้นกำเนิดของความเป็นหนึ่งเดียวทั้งปวงในโลก ตั้งแต่รุ่งอรุณของการเนรมิตสร้าง พระองค์ประทานพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์แก่เรา พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ชายและหญิงขึ้นตามภาพลักษณ์ของพระองค์ ... นี่คือธรรมล้ำลึกของพันธสัญญา! ข้าแต่พระเจ้า โปรดประทานความเข้มแข็งให้แก่ประชากรของพระองค์ เพื่อให้เขาสามารถรักได้อย่างแท้จริงด้วยเถิด!

ดังนั้น สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย”

    พระเจ้าผู้ทรงดำรงอยู่ในตัวเราเท่านั้น ที่สามารถช่วยเราให้ทำสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ศีลกล่าวคือพระหรรษทาน (พระพรที่พระเจ้าประทานแก่เราแบบให้เปล่า) ซึ่งบำบัดรักษาธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่สามารถรักด้วย “ความรักตามพันธสัญญา (Covenant Love)” อย่างแท้จริงได้

    แม้พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าการสมรสเป็นสิ่งที่ไม่อาจยกเลิกได้ ซึ่งสวนกระแสแนวทางปฏิบัติในยุคของพระองค์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราสามารถตัดสิน หรือประณามคู่สมรสที่กำลังฝ่าวิกฤติในชีวิตสมรส พระคริสตเจ้าไม่ทรงต้องการให้เราทำเช่นนี้แน่นอน

    ขอบพระคุณพระองค์ พระเยซูเจ้าข้า ที่ทรงเตือนสติเราเช่นนี้ แม้ว่าการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์จะทำได้ยากก็ตาม อาศัยพระทรมานและไม้กางเขนของพระองค์ โปรดทรงช่วยรักษา และบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ความรักของเรา โปรดทรงดลใจให้เรารักอย่างที่พระองค์ทรงรัก...

“ผู้ใดหย่าร้างภรรยา และแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีต่อภรรยาคนเดิม และถ้าหญิงคนหนึ่งหย่ากับสามี ไปแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีเช่นเดียวกัน”

    ลักษณะสมมาตรของทั้งสองส่วนของประโยคนี้เผยให้เห็นนัยสำคัญ ตามความคิดของพระเยซูเจ้า ชายและหญิงมีสิทธิและหน้าที่เหมือนกัน

    ในโลกมนุษย์ของเรา คนส่วนใหญ่ต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่น แต่พระเยซูเจ้าทรงขอให้เรา “รัก” ผู้อื่น และพระองค์ประทานพลังให้เราตอบสนองต่อข้อเรียกร้องที่ปฏิบัติได้ยากนี้

    ความเป็นหนึ่งเดียวกันของคู่สมรสที่พระเจ้าทรงต้องการนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น “ที่จุดเริ่มต้น” – เหมือนกับเป็น “สวรรค์ที่หลุดลอยไป” ในอดีต! แต่เป็นทางเดินที่ต้องเดินร่วมทางกันในแต่ละวัน เพื่อสร้าง “สวรรค์ที่กลับคืนมา” ซึ่งจะเป็นของเรา เมื่อเรากลายเป็นภาพลักษณ์อันสมบูรณ์ของพระเจ้า ผู้ทรงเป็นสามพระบุคคลและพระเจ้าหนึ่งเดียว