วันอาทิตย์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา
1 พงศ์กษัตริย์ 17:10-16; ฮีบรู 9:24-28; มาระโก 12:41-44

บทรำพึงที่ 1
หญิงม่ายสามคน
ผู้ที่ให้อย่างไม่เต็มใจ จะพูดว่า “ฉันให้ ทั้งที่ไม่อยากให้”
ผู้ที่ให้เพราะเป็นหน้าที่ จะพูดว่า “ฉันให้ เพราะฉันควรให้”
ผู้ที่ให้ด้วยหัวใจ จะพูดว่า “ฉันให้ เพราะฉันต้องการให้”

    สองปีก่อนการลงนามในคำประกาศอิสรภาพ สตรีคนหนึ่งเกิดมาในนครนิวยอร์ก ชื่อของเธอคือ เอลีซาเบ็ธ เบย์ลีย์ เมื่อเธออายุ 20 ปี เธอแต่งงานกับนักธุรกิจคนหนึ่ง ชื่อวิลเลียม ซีตัน ทั้งเธอและวิลเลียมไม่ได้เป็นคาทอลิก ต่อมาเขาทั้งสองมีบุตรด้วยกันห้าคน

    แล้วก็เกิดเรื่องเศร้าขึ้นในครอบครัว วิลเลียมล้มป่วยเป็นวัณโรค เขาพาครอบครัวย้ายไปอยู่ในประเทศอิตาลี เพราะหวังว่าอากาศที่นั่นจะช่วยให้อาการของเขาดีขึ้น แต่เขาป่วยหนักและเสียชีวิตอีกสองสามปีต่อมา

    ด้วยความช่วยเหลือจากครอบครัวชาวอิตาเลียนที่ใจบุญ ครอบครัวซีตันจึงย้ายกลับมายังสหรัฐอเมริกาได้ ความดีของครอบครัวชาวอิตาเลียนนั้นทำให้ม่ายสาวคนนี้สืบค้นเรื่องราวของพระศาสนจักรคาทอลิก สองปีต่อมาเธอก็เปลี่ยนนิกายเป็นคาทอลิก ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงของเอลีซาเบ็ธตกใจมาก พวกเขาตัดขาดเธอ เธอจำเป็นต้องทำงานสอนหนังสือเพื่อหาเลี้ยงบุตรทั้งห้าคนของเธอ

    เมื่อบุตรทั้งห้าคนบรรลุนิติภาวะแล้ว เอลีซาเบ็ธสมัครเข้าเป็นนักบวช และก่อตั้งอารามของคณะภคินีเมตตาธรรมสาขาประเทศอเมริกา คณะนักบวชนี้เป็นผู้บุกเบิกระบบโรงเรียนคาทอลิกในอเมริกา

    เอลีซาเบ็ธเคยบอกเพื่อนคนหนึ่งของเธอว่า “ฉันอยากละทิ้งความวุ่นวายของโลก และมีชีวิตภาวนาอย่างเรียบง่าย แต่พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันทำอย่างอื่น และฉันต้องเลือกทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ก่อนทำตามความต้องการของตนเอง”

    เอลีซาเบ็ธ ซีตัน เสียชีวิตเมื่ออายุ 46 ปี ตลอดชีวิตของเธอ เธอไม่ใช่ผู้บำเพ็ญฌาน เธอไม่ใช่มรณสักขี เธอเป็นเพียงหญิงม่ายคนหนึ่ง ที่ถวายสิ่งที่เธอมีแด่พระเจ้า

    เธอเป็นมารดาที่ต้องเลี้ยงดูบุตรตามลำพัง ผู้เปลี่ยนเรื่องเศร้าในชีวิตของเธอ – คือการสูญเสียสามี และถูกครอบครัวตัดขาด – ให้กลายเป็นของขวัญอันวิเศษถวายพระเจ้า และมอบให้พระศาสนจักร ดังนั้นจึงสมควรแล้วที่ในปี 1975 เอลีซาเบ็ธได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญคนแรกที่เกิดในสหรัฐอเมริกา

    เรื่องของหญิงม่ายใจกว้างคนนี้สอดคล้องกับบทอ่านจากพระคัมภีร์สำหรับวันนี้ เพราะบทอ่านอีกสองบทก็เป็นเรื่องของหญิงม่ายผู้ใจบุญเช่นกัน

    บทอ่านที่หนึ่งเป็นเรื่องของหญิงม่ายที่แบ่งอาหารทั้งหมดที่เธอจะใช้เลี้ยงชีวิตให้แก่ประกาศกเอลียาห์ บทอ่านจากพระวรสารเป็นเรื่องของหญิงม่ายที่มอบเงินทั้งหมดที่เธอใช้เลี้ยงชีพให้แก่พระวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม

    เช่นเดียวกับ เอลีซาเบ็ธ ซีตัน หญิงม่ายทั้งสองคนนี้ “ให้” อย่างใจกว้างเหมือนกัน แต่ละคนมีเหตุผลที่สามารถใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ให้ แต่ทั้งสองคนก็ไม่ยอมใช้ข้ออ้างนั้น

    เช่นเดียวกับ เอลีซาเบ็ธ ซีตัน หญิงม่ายทั้งสองรู้ว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เธอมีอะไรจะให้ แต่อยู่ที่เธอให้ด้วยความรัก ทั้งสองคนรู้ว่าสิ่งสำคัญในสายพระเนตรของพระเจ้า ไม่ใช่ปริมาณของสิ่งที่เธอให้ แต่อยู่ที่ขนาดของหัวใจของผู้ให้

    ถึงกระนั้น หญิงม่ายแต่ละคนไม่ได้ให้แต่สิ่งที่เหลือกินเหลือใช้ หรือสิ่งที่เธอสามารถให้ได้ แต่เธอให้สิ่งที่จำเป็นสำหรับตัวเธอ ให้สิ่งที่เธอไม่สามารถให้ได้ เธอให้ด้วยความใจกว้าง เหมือนกับที่พระเจ้าประทานด้วยความใจกว้างแก่เรา ดังนั้น พระเจ้าจึงทรงอวยพรหญิงม่ายแต่ละคนด้วยความใจกว้างอย่างที่เธอแสดงต่อพระองค์

    ใครคนหนึ่งเคยพูดว่ามี “ผู้ให้” สามประเภท คือ ผู้ให้อย่างไม่เต็มใจ ผู้ให้เพราะเป็นหน้าที่ และผู้ให้ด้วยหัวใจ

    ผู้ให้อย่างไม่เต็มใจจะพูดว่า “ฉันให้ ทั้งที่ไม่อยากให้” ผู้ให้เพราะเป็นหน้าที่จะพูดว่า “ฉันให้ เพราะฉันควรให้” และผู้ให้ด้วยหัวใจจะพูดว่า “ฉันให้ เพราะฉันต้องการให้” อาจกล่าวได้ว่าผู้ให้อย่างไม่เต็มใจนั้นฝืนใจให้ และให้ด้วยความรู้สึกเคืองใจ ผู้ให้เพราะเป็นหน้าที่ก็ฝืนใจให้เช่นกัน แต่ด้วยความรู้สึกว่าเป็นพันธะของเขา ผู้ให้ด้วยหัวใจจะให้อย่างจริงใจ โดยไม่รู้สึกเคืองใจ หรือคิดว่าเป็นพันธะ

    หญิงม่ายทั้งสามเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่ให้ด้วยหัวใจ เขาให้โดยไม่ถูกบีบคั้น เขาให้มิใช่เพราะเป็นหน้าที่ เขาให้จากหัวใจ

    เรื่องของหญิงม่ายทั้งสามเชิญชวนเราให้ถามตนเองว่าเราให้อย่างไร เราให้อย่างไม่เต็มใจ เพราะเราจำเป็นต้องให้ เพราะถ้าไม่ให้เราจะเสียหน้า หรือคิดถึงผลลัพธ์ว่า ถ้าเราไม่ให้จะเป็นอย่างไร?

    เราให้เพราะเป็นหน้าที่หรือเปล่า เพราะเราคิดว่าเรามีพันธะที่จะต้องให้ หรือจำเป็นต้องให้?

    หรือเราให้ด้วยหัวใจ เพราะความรักและความเชื่อของเราบอกให้เราให้ – เหมือนกับความรักและความเชื่อของหญิงม่ายทั้งสามนี้บอกให้พวกเธอให้?

    ถ้าการให้ของเรามีคุณค่าน้อยกว่าที่ควรเป็น เมื่อนั้น พระเยซูเจ้ากำลังตรัสกับเราโดยเฉพาะผ่านบทอ่านจากพระวรสารวันนี้ พระองค์ทรงกำลังเตือนเราให้คิดถึงพระดำรัสที่พระองค์ตรัสไว้ในที่อื่นในพระวรสาร

    “จงให้ แล้วพระเจ้าจะประทานแก่ท่าน ท่านจะได้รับเต็มสัดเต็มทะนาน อัดแน่นจนล้น เพราะว่าท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา พระเจ้าก็จะทรงใช้ทะนานนั้นตวงตอบแทนให้ท่านด้วย” (ลก 6:38)

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยข้อคิดสั้น ๆ เกี่ยวกับความใจกว้างของพระเจ้าในการประทานสิ่งต่าง ๆ แก่เรา
   
    เราวอนขอดอกไม้ดอกหนึ่ง แต่พระเจ้าก็ประทานดอกไม้ทั้งช่อแก่เรา
    เราวอนขอใบไม้ใบหนึ่ง แต่พระเจ้าประทานต้นไม้ทั้งต้นแก่เรา
    เราวอนขอน้ำหยดหนึ่ง แต่พระเจ้าประทานมหาสมุทรแก่เรา
    เราวอนขอทรายเม็ดหนึ่ง แต่พระเจ้าประทานให้ทั้งชายหาด
    เราวอนขอข้าวสาลีรวงหนึ่ง แต่พระเจ้าประทานทุ่งนาข้าวสาลีแก่เรา
    เราวอนขออาหาร แต่เราได้รับพระกายและพระโลหิตของพระเจ้า

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 12:38-44

พระเยซูเจ้าตรัสกับประชาชนขณะที่ทรงสั่งสอนว่า “จงระวังบรรดาธรรมาจารย์...”

    ธรรมาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพระคัมภีร์ และเป็นผู้มีอำนาจตีความพระคัมภีร์ คนเหล่านี้ต้องศึกษาพระคัมภีร์เป็นเวลายาวนาน กว่าจะศึกษาจบเขาก็อายุเกิน 40 ปีแล้ว เขาอุทิศตนปฏิบัติหน้าที่และกลายเป็นผู้ให้คำแนะนำอย่างเป็นทางการในการตัดสินใจทุกครั้งเกี่ยวกับบทบัญญัติ พระเยซูเจ้าและบรรดาอัครสาวกไม่ได้รับการศึกษาอบรมระดับสูงเช่นนี้

    พวกธรรมาจารย์ไม่เคยหยุดต่อต้านพระเยซูเจ้ามาตั้งแต่ต้น พระวรสารของมาระโกบอกเล่าตัวอย่างของความขัดแย้งนี้หลายครั้ง (มก 2:6, 3:22, 7:1, 11:18) ในข้อความนี้ พระเยซูเจ้าตรัสเตือนอย่างรุนแรง นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่พระองค์ทรงแสดงจุดยืนต่อหน้าสาธารณชนก่อนรับพระทรมาน – เพียงสองสามสัปดาห์ก่อนพระองค์จะถูกตัดสินประหารชีวิตในสภาซันเฮดริน ซึ่งมีธรรมาจารย์นั่งอยู่ด้วยในฐานะอาจารย์ที่ทุกคนยอมรับ สำหรับมัทธิว เขานำพระดำรัสต่าง ๆ ของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับหัวข้อนี้มารวมไว้ด้วยกันเป็นคำปราศรัย “วิบัติจงเกิดแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมาจารย์...” (มธ 23)

    อนิจจา ศาสตร์ทั้งหลาย – ไม่เว้นแม้แต่ศาสตร์ทางศาสนา – ไม่ใช่ต้นกำเนิดของคุณธรรมเสมอไป!...

... ที่ชอบสวมเสื้อยาวเดินไปมา พอใจให้คนทั้งหลายคำนับตามลานสาธารณะ พอใจนั่งแถวหน้าในศาลาธรรม พอใจนั่งที่หัวโต๊ะในงานเลี้ยง

    คริสตชนบางคนยังไม่พอใจที่เห็นความพยายามของพระศาสนจักรที่จะกำจัดพิธีรีตองภายนอกออกไปให้หมด เราต้องยอมรับว่าความพยายามเหล่านี้ (ซึ่งยังทำไม่สำเร็จ) เป็นการตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อข้อเรียกร้องของพระเยซูเจ้า พระศาสนจักรในทุกยุคสมัยถูกประจญให้เห็นแก่เกียรติภูมิ ตำแหน่ง และสถานะอันทรงเกียรติ

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ยอมรับได้มากขึ้นว่าพระศาสนจักรควรเป็นพระศาสนจักรที่ยากจน และปราศจากเกียรติยศและพระสงฆ์ที่ “เหมือนกับคนอื่น ๆ” ... คือ ปราศจากเกียรติภูมิใด ๆ ทั้งสิ้น!

    “ประเพณีของฟาริสี” ที่พระเยซูเจ้าทรงประณาม คือการใช้เครื่องมือภายนอก เพื่อทำให้ผู้อื่นยกย่องสรรเสริญตนเอง และความนิยมที่เขาไม่สมควรได้รับ ในปัจจุบันยังมีประเพณีของฟาริสีใหม่ ที่หลอกลวงไม่ต่างจากฟาริสียุคแรก ซึ่งประกอบด้วยการโอ้อวดตน การทำตัวว่าเป็นบุคคลทันสมัยที่มีจุดยืนแบบคนหัวก้าวหน้า แม้ว่าเป็นความก้าวหน้าที่ว่างเปล่าก็ตาม

... คนพวกนี้กินบ้านของหญิงม่าย และอธิษฐานภาวนายืดยาวเพื่อให้คนมอง

    ดังนั้น พฤติกรรมที่พระเยซูเจ้าทรงประณามในตัวของธรรมาจารย์ในยุคของพระองค์ ก็คือการโอ้อวด ความโลภ และความหน้าซื่อใจคดของพวกเขา คนเหล่านี้คงเรียกค่าธรรมเนียมสูงเกินควรจากผู้ที่มาขอคำแนะนำ – พฤติกรรมนี้เป็นข้อบกพร่องที่หนักมากขึ้น เพราะประชาชนถือว่าธรรมาจารย์เป็นคนที่ศรัทธาในพระเจ้า และอธิษฐานภาวนาเป็นเวลานานนับชั่วโมง...

    ใครก็ตามที่อ้างตัวเป็นผู้ประกาศข้อเรียกร้องจากพระวาจาของพระเจ้า ต้องเป็นผู้ที่เข้มงวดกับตนเองมาก เมื่อคริสตชน หรือพระศาสนจักรกระทำการใดที่เป็นความอยุติธรรมทางสังคม การกระทำนั้นย่อมร้ายแรงมากกว่าการกระทำของคนทั่วไป พระเจ้าทรงสดับฟังเสียงร้องของคนยากจนและผู้ถูกกดขี่ “พระองค์ประทานความยุติธรรมแก่ผู้ถูกกดขี่ พระองค์ทรงค้ำจุนหญิงม่ายและลูกกำพร้า” (สดด 45) ผู้ใดที่อ้างว่าเขาอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้า จะต้องเป็นคนซื่อสัตย์และยุติธรรมมากกว่าคนอื่น ๆ

คนเหล่านี้จะรับโทษหนักกว่าผู้อื่น

    พระศาสนจักร ซึ่งเป็นชุมชนของพระคริสตเจ้า ต้องฟังคำเตือนนี้ เราจะต้องถูกตัดสินอย่างเข้มงวดมากกว่า เพราะเราได้รับมากกว่า ไม่มีใครตบตาพระเจ้าได้!

    พระเจ้าทรงมองมนุษย์ทุกคนที่พระองค์ทรงสร้างทะลุถึงก้นบึ้งของหัวใจ ... และความหน้าซื่อใจคดของเราจะถูกเปลื้องออกหมดเบื้องหน้าพระองค์!

ขณะที่พระองค์ประทับตรงหน้าตู้ทาน ทอดพระเนตรเห็นประชาชนใส่เงินลงในตู้ทาน

    มาระโกเป็น “ผู้สร้างภาพยนตร์” ฝีมือเยี่ยม เราควรชื่นชมการรายงานที่กระชับและชัดเจนของเขา...
    พระเยซูเจ้าทรงเลือกสถานที่สังเกตการณ์ที่เหมาะสมอย่างยิ่ง พระองค์ประทับนั่งบนบันใดข้างหน้าตู้ทาน พระองค์ทรงสังเกตกลุ่มผู้แสวงบุญที่เดินผ่านไปมาเบื้องหน้าพระองค์ ขอให้เราสังเกตว่าพระเยซูเจ้าทรงมีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง พระองค์สนพระทัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวพระองค์

    เราสามารถใส่ใจเช่นนี้ได้หรือเปล่า? เราสามารถสังเกตผู้อื่นหรือไม่?...

คนมั่งมีหลายคนใส่เงินจำนวนมาก

    ยุคของพระเยซูเจ้าก็ไม่ต่างจากยุคปัจจุบัน ที่แบ่งประชาชนออกเป็นชนชั้นต่าง ๆ แต่ละชนชั้นมีรายได้ไม่เท่าเทียมกัน เศรษฐีที่ดิน พ่อค้า ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และหัวหน้าสมณะเป็นคนรวย และอาศัยอยู่ในย่านคนรวยที่สวยงามในกรุงเยรูซาเล็ม เขาอยู่ในวังที่สะดวกสบายและหรูหรา มีห้องมากมาย สระน้ำ สวน และเสาหินอ่อน แต่คนจนต้องหาเช้ากินค่ำ และอาศัยอยู่ในย่าน “เยรูซาเล็มใต้”...

    ถ้าเราตั้งใจอ่านพระวรสารของนักบุญมาระโก เราจะเห็นว่าคนรวยบริจาค “เงินจำนวนมาก” คนเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในการบำรุงพระวิหาร มาระโกไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์คนรวยเหล่านี้ เขาเพียงแต่อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบ... 

หญิงม่ายยากจนคนหนึ่งเข้ามา...

    หญิงยากจนคนหนึ่งเดินมา นี่คือคนต่ำต้อยท่ามกลางฝูงชน ... ปราศจากเกียรติยศและชื่อเสียง ... ไม่มีใครรู้จัก...

    นี่คือหญิงคนหนึ่งในโลกที่ชายเป็นใหญ่ ... นี่คือหญิงม่ายในโลกที่ชายเท่านั้นมีสิทธิตามกฎหมาย ... นี่คือหญิงที่ยากจน ปราศจากรายได้ใด ๆ...

    พระเยซูเจ้าทรงกำลังเพ่งมองนาง...

เอาเหรียญทองแดงสองเหรียญใส่ลงในตู้ทาน

    ช่างแตกต่างจาก “เงินจำนวนมาก” ของคนอื่น ๆ... ข้าพเจ้าต้องการเพ่งพินิจเหรียญเล็ก ๆ สองเหรียญนั้น เงินน้อยนิดที่ซ่อนอยู่ในอุ้งมือของนาง...

พระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกบรรดาศิษย์เข้ามา ตรัสว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า หญิงม่ายยากจนคนนี้ได้ทำทานมากกว่าทุกคนที่ได้ใส่เงินลงในตู้ทาน

    นี่คือวิธีคำนวณที่แปลกประหลาด! พระเยซูเจ้าตรัสว่า “นางทำทานมากกว่าทุกคน” พระองค์ทรงพลิกฐานานุกรมในสังคมของเราอย่างสิ้นเชิง พระองค์ไม่ทรงสนใจหรือเคารพการแบ่งประเภทและชนชั้นของเรา  - ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับ “การเลื่อนชั้น” ของเรา ... การอยู่บนขั้นบนสุดของบันใด ฐานะที่ร่ำรวย การมีชื่อเสียง การสวมเสื้อผ้าหรูหรา การได้รับการคำนับจากคนทั่วไปตามลานสาธารณะ การนั่งในที่มีเกียรติในงานเลี้ยง – ทั้งหมดนี้ไม่น่าสนใจสำหรับพระเยซูเจ้า! ... แต่น่าสนใจสำหรับเราหรือเปล่า?

    เรารู้สึกอย่างไรต่อข้อความตอนนี้ในพระวรสาร? ได้ยินแล้วรบกวนจิตใจ หรือทำให้เราขัดเคืองใจหรือเปล่า? ... หรือได้ยินแล้วก็ยักไหล่ แต่ไม่รู้สึกอะไรเลย?...

    ในสังคมผู้บริโภคของเรา เรามีทัศนคติอย่างไรต่ออาชีพบางอย่าง “ที่สงวนไว้สำหรับคนจนโดยเฉพาะ”? ... ข้าพเจ้าดูถูกบางคน เพียงเพราะเชื้อชาติของเขา หรือสภาพแวดล้อมทางสังคมของเขา หรืออาชีพของเขา หรือความยากจนของเขาหรือเปล่า?... 

เพราะทุกคนเอาเงินที่เหลือใช้มาทำทาน แต่หญิงคนนี้ขัดสนอยู่แล้ว ยังนำเงินทั้งหมด...

    ไม่มีใครทำให้พระเจ้าประทับใจได้ด้วยการแสดงออกภายนอก! พระองค์ทรงมองเห็นส่วนลึกที่สุดของหัวใจของเขา

    หญิงยากจนผู้นี้บริจาคเงิน “มาก” เพราะนางบริจาคเงิน “ทั้งหมดที่มี” เพื่อจะรู้คุณค่าของของขวัญ เราไม่อาจมองแต่เพียงตัวของขวัญ แต่ต้องมองด้วยว่าผู้ให้มีอะไรเหลืออยู่บ้าง หลังจากเขาให้ของขวัญนั้นแล้ว! พระเจ้าทรงมองเช่นนี้ พระองค์ทรงมองสิ่งที่เหลืออยู่ในตู้นิรภัย หรือในบัญชีธนาคาร...

    เราต้องรำพึงตามถ้อยคำที่พระเยซูเจ้าทรงใช้

    คิดกันแบบง่าย ๆ “ยากจน” หมายถึงสภาพที่มีเงินไม่พอเลี้ยงชีพ ... “พอมีพอกิน” หมายถึงการมีปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตตามปกติ ... “เหลือเฟือ” หมายถึงการมีมากกว่าที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต...

    เราไม่สามารถคำนวณและกำหนดจำนวนที่แน่นอนว่า เท่าใดจึงถือว่าเกินระดับ “พอมีพอกิน” และเป็นจุดเริ่มต้นของระดับของการมีกินมีใช้อย่าง “เหลือเฟือ”?...

    ไม่ว่าจะวัดระดับกันอย่างไร เราก็จำต้องยอมรับว่ายังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากในสภาพทางสังคมของประชาชนในประเทศเดียวกัน และมีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งกว่าระหว่างแต่ละประเทศ สิ่งที่บรรจุอยู่ในถังขยะใกล้โรงแรมห้าดาวในเมืองใหญ่ของเรา อาจมีมากพอเลี้ยงคนนับพันในชุมชนแออัด สิ่งที่อยู่ในถังขยะในนครนิวยอร์กอาจมากพอจะเลี้ยงประชาชนในเมืองขนาดเดียวกันในประเทศในโลกที่สามได้ สิ่งที่เราทิ้งขว้างเหมือนกับการตบหน้าคนจน ... และร้องอุทธรณ์ต่อพระเจ้า! พระเยซูเจ้าทรงกล้าตรัสว่าในยุคของพระองค์มีบางคนที่มีกินมีใช้อย่าง “เหลือเฟือ” พระองค์จะตรัสอย่างไรในวันนี้หนอ?

หญิงคนนี้นำเงินทั้งหมด นำทุกอย่างที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตมาทำทาน”

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงมองสิ่งของและสถานการณ์ เหมือนกับที่เรามอง พระองค์เองทรงดำรงชีพอย่างคนยากจน ... เพลงภาษาฝรั่งเศสบทหนึ่งกล่าวว่า “พระบุตรของพระเจ้าทอดพระเนตร และทรงเห็นหัวใจที่ยอมสละทุกสิ่งทุกอย่าง พระเนตรขององค์พระผู้เป็นเจ้าจับจ้องที่คนจน คนจนคือความยินดีของพระเจ้าของเขา”

    พระเยซูเจ้าทรงยกย่องหญิงม่ายและเงินสองเหรียญของนาง ... พระเจ้าข้า พระองค์ทรงคิดอย่างไรกับความใจกว้างของ “ข้าพเจ้า”? ... ข้าพเจ้ากำลัง “ให้” อย่างแท้จริงหรือเปล่า? “ให้” มากเท่าไร? “ให้” อย่างไร?...

    วันนี้ เราอาจพูดได้ว่าหญิงคนนี้มีเหตุผลที่ดีที่จะเก็บเงินเล็กน้อยของนางไว้ และปล่อยให้ผู้อื่นเป็นผู้ “ให้” ... นักบุญวินเซนต์ เดอ ปอล เคยกล่าวว่า “นับเป็นโชคดีที่มีคนจนอยู่ในโลกนี้ เพราะพวกเขารู้ว่าควรให้อย่างไร” ... และคุณแม่เทเรซา ก็พูดเช่นนี้เหมือนกันบ่อยครั้ง...

    ก่อนเข้าสู่พระทรมาน พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยให้เรารู้ความลับของความตายของพระองค์ที่ใกล้เข้ามา หญิงคนนี้คือ “ภาพลักษณ์” ของพระเจ้า ผู้ประทานได้ทุกสิ่ง ทุกสิ่งที่เป็นชีวิตของพระองค์ นักบุญเปาโลกล้ากล่าวว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา แม้ทรงร่ำรวย พระองค์ก็ยังทรงยอมกลายเป็นคนยากจนเพราะเห็นแก่ท่าน เพื่อท่านจะได้ร่ำรวยเพราะความยากจนของพระองค์” (2 คร 8:9)

    ความรักไม่รู้จักคิดคำนวณ! พระเจ้าทรงเป็นความรัก พระองค์ไม่ทรงคิดคำนวณ – พระองค์ประทานทุกสิ่งทุกอย่าง!

    ถ้าพระศาสนจักรยุคแรกบรรจุเรื่องที่ดูเหมือนไม่สำคัญนี้ไว้ก่อนพระทรมาน ก็อาจเป็นเพราะคริสตชนทั้งหลายคิดว่า “ใช่แล้ว พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นพระองค์เองในตัวหญิงที่ “ให้ทุกสิ่งทุกอย่างได้” คนนี้...