วันที่ 29 มิถุนายน – วันฉลองนักบุญเปโตร และเปาโล

บทรำพึงที่ 1

กจ 12:1-11    ทูตสวรรค์ของพระเจ้าช่วยเปโตรให้พ้นจากเงื้อมมือของกษัตริย์เฮโรด จากโซ่ตรวนในคุก และจากความตาย เฮโรดได้ประหารยากอบ พี่ชายของยอห์นแล้ว ด้วยการตัดศีรษะ

2 ทธ 4:6-8, 17-18    เปาโลใกล้จะถูกถวายเป็นเครื่องบูชาแล้ว เขาวิ่งมาจนถึงเส้นชัยแล้ว และกำลังรอคอยมงกุฎแห่งความชอบธรรมที่เขาสมควรได้รับ

มธ 16:13-19    เมื่อเปโตรประกาศยืนยันความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ และพระบุตรของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนชื่อของเขาจาก “ซีโมน” เป็น “ศิลา” หรือเปโตร เพราะเขาจะต้องเป็นศิลาที่เป็นรากฐานของพระศาสนจักร

    การฉลองอัครสาวก “แฝด” สองคนนี้ในวันเดียวกัน เป็นการแสดงออกถึงแบบแผนพระคัมภีร์ที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน ตลอดพระคัมภีร์มีธรรมประเพณีสายหนึ่งที่สร้างเสถียรภาพและความต่อเนื่อง และธรรมประเพณีอีกสายหนึ่งที่สร้างความบริบูรณ์และการขยายพระศาสนจักร ธรรมประเพณีสายแรกช่วยให้พระศาสนจักรอยู่รอด ในขณะที่ธรรมประเพณีสายที่สองทำให้การอยู่รอดนั้นคุ้มค่า ธรรมประเพณีสายแรกชี้เส้นทางไปสู่จุดหมาย ธรรมประเพณีสายที่สองสร้างความอุดมบริบูรณ์ให้แก่การเดินทางนั้น เปโตรคือสัญลักษณ์ของธรรมประเพณีสายแรก เปาโลคือสัญลักษณ์ของธรรมประเพณีสายที่สอง ในพันธสัญญาเดิม กรุงเยรูซาเล็มเป็นภาพลักษณ์ของธรรมประเพณีสายแรก ส่วนการประกาศพระวาจาในอาณาจักรเหนือเป็นภาพลักษณ์ของธรรมประเพณีสายที่สอง

    ถ้าเราตั้งใจอ่านพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ เราจะเห็นว่าเปโตรปรากฏตัวอยู่ในห้วงเวลาสำคัญมากมาย เขาไม่เพียงประกาศยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ และพระบุตรของพระเจ้า แต่ยังเป็นบุคคลที่เริ่มดำเนินการต่าง ๆ เช่น
    ในการเลือกบุคคลหนึ่งมารับหน้าที่แทนยูดาส อิสคาริโอท (กจ 1:15)
    ในการเทศน์สอนต่อประชาชนเป็นครั้งแรกในวันเปนเตกอสเต (กจ 2:14)
    ในการรับคนต่างชาติเป็นคริสตชน โดยไม่ต้องเข้าสุหนัต (สำหรับผู้ชาย) หรือโดยไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของโมเสส (สำหรับทั้งชายและหญิง) (กจ 10)
    ในการเป็นประธานในการประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม (กจ 15:7)
    ในการย้ายศูนย์กลางของชีวิตพระศาสนจักรไปอยู่ที่เมืองอันทิโอก จากนั้นจึงย้ายมาที่กรุงโรม ห่างไกลจากสถานที่กำเนิดและครอบครัวของพระเยซูเจ้า (1 ปต 5:13)

    แม้ว่าเปโตรได้แยกตนเองและไม่กินอาหารร่วมกับคนต่างชาติระหว่างช่วงเวลาสั้น ๆ ที่อันทิโอก “เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากับพวกที่เข้าสุหนัต” และเปาโลต้อง “คัดค้านเขาซึ่ง ๆ หน้า เพราะเขาเป็นฝ่ายผิด” (กท 2:11-14) แต่เปโตรก็เป็นบุคคลที่สืบทอดความต่อเนื่องจากพระเยซูเจ้าในสายตาของคนทั่วไป

    ส่วนเปาโลเป็นตัวแทนธรรมประเพณีที่สร้างความหลากหลาย เปาโลพัฒนาความคิดทางเทววิทยาเกี่ยวกับการแพร่ธรรมในโลก ซึ่งเขากล่าวถึงเป็นครั้งแรกอย่างไม่ชัดเจนนักในจดหมายถึงชาวกาลาเทีย จากนั้นก็กล่าวอย่างชัดเจนในจดหมายถึงชาวโรม ในจดหมายฉบับหลังนี้ เปาโลไม่เพียงรู้สึกได้ว่ากรุงโรมมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการแพร่ธรรมแก่ชาวโลก แต่เขาอาจสังหรณ์ใจด้วยว่าอาจมีปัญหาที่เกิดจากความระมัดระวังและความกลัวในศูนย์กลางพระศาสนจักร ก่อนหน้านี้ เปโตรเคยระมัดระวังเกินไปเมื่อเขาอยู่ที่อันทิโอก และลังเลใจที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงที่กระทำระหว่างการประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม

    เราเห็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นควบคู่กันเช่นนั้นในพันธสัญญาเดิมเช่นกัน ขณะที่ประชาชนในอาณาจักรเหนือเริ่มยอมรับธรรมประเพณีของโมเสส และอนุรักษ์ธรรมประเพณีเหล่านั้นไว้ในหนังสือ เช่น หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ โฮเชยา เยเรมีย์ และอิสยาห์คนที่สอง (อสย 40-55) แต่หนังสือและธรรมประเพณีทั้งหมดของชาวยิวในอาณาจักรเหนือ ได้รับการอนุรักษ์ และถ่ายทอดมาถึงมือเราในยุคพันธสัญญาใหม่ ผ่านอาณาจักรใต้ของยูดาห์ที่กรุงเยรูซาเล็ม แม้ว่านครนี้ถูกทำลายหลายครั้ง แต่เยรูซาเล็มยังคงเป็นศูนย์กลางของความอยู่รอด แต่ถ้าไม่ได้รับการตักเตือนอย่างรุนแรง และมิใช่เพราะวิสัยทัศน์อันกล้าหาญของบรรดาประกาศก ความอยู่รอดของกรุงเยรูซาเล็มก็คงไม่คุ้มค่า พระเยซูเจ้าทรงใช้ธรรมประเพณีของอาณาจักรเหนือเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ และอิสยาห์คนที่สอง

    บทอ่านจากพระคัมภีร์ในพิธีมิสซาวันนี้แสดงให้เห็นลีลา และอารมณ์ของธรรมประเพณีของพันธสัญญาเดิมจากทั้งอาณาจักรเหนือและใต้ ในบทอ่านที่หนึ่งจากหนังสือกิจการอัครสาวก เปโตรได้รับการช่วยชีวิต แม้ว่าอัครสาวกอีกคนหนึ่ง คือ ยากอบ พี่ชายของยอห์น ถูกตัดศีรษะ และหายไปจากเอกสารพระคัมภีร์ บทบาทของยากอบ ซึ่งเป็นอัครสาวกคนหนึ่งในสิบสองคน ดูเหมือนไม่สำคัญและไม่ชัดเจน พระเยซูเจ้าทรงเคยอธิษฐานอ้อนวอนเพื่อให้ความเชื่อของเปโตรมั่นคงตลอดไป (ลก 22:32) บัดนี้ “พระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าเพื่อเขาตลอดเวลา” เปโตรคือผู้สืบทอดความต่อเนื่อง

    บทอ่านที่สองมาจากจดหมายถึงทิโมธีฉบับที่สอง ขณะนี้ดูเหมือนว่าการทำงานของเปาโลประสบความสำเร็จมากเขาบรรยายด้วยถ้อยคำที่น่าตื่นเต้น ยิ่งใหญ่อลังการ เช่น เขากำลังจะถวายชีวิตเป็นเครื่องบูชา เขาได้ต่อสู้มาอย่างดีแล้ว  เขาวิ่งมาถึงเส้นชัยแล้ว เขารักษาความเชื่อไว้ได้ และสมควรได้รับมงกุฎแห่งความชอบธรรมสำหรับทุกคนที่รอคอยให้พระเยซูเจ้าแสดงพระองค์ เขาได้รับพละกำลังจากองค์พระผู้เป็นเจ้า คนต่างชาติทั้งหลายจะได้ฟังข่าวดี เขาถูกฉุดให้พ้นจากปากสิงโต นำไปสู่อาณาจักรสวรรค์ของพระองค์อย่างปลอดภัย บทอ่านที่กล่าวถึงเปโตรดูเหมือนไม่มีชีวิตชีวาและน่าตื่นเต้นเช่นนี้ ไม่กล่าวถึงการวิ่งอย่างกล้าหาญ ปราศจากความกลัว จนถึงวาระสุดท้ายเช่นนี้

    พระวรสารย้ำข้อความที่กล่าวถึงเอกภาพของพระศาสนจักร ไม่ใช่เอกภาพของระเบียบวินัยของพระศาสนจักรเท่านั้น แต่รวมถึงเอกภาพของคำสั่งสอนของพระศาสนจักรด้วย เปโตร คือ “ศิลา” นี่คือความหมายของชื่อของเขาในภาษาโบราณนี้ เขาได้รับการเปลี่ยนชื่อ ซึ่งจงใจให้เป็นสัญลักษณ์ของรากฐานอันแข็งแกร่งของชีวิตพระศาสนจักร ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและจะดำรงอยู่เสมอจนกว่าพระคริสตเจ้าจะเสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง และทรงมอบพระอาณาจักรนี้ถวายพระบิดาสวรรค์ของพระองค์

    ขณะที่เราเฉลิมฉลองมรณสักขีกรรมของนักบุญเปโตร และเปาโล ที่กรุงโรม เราสามารถต่อสู้กับปัญหาของพระศาสนจักร เราสามารถใคร่ครวญปัญหาของมนุษย์ เราสามารถค้นหารูปแบบสำหรับจัดการปัญหาส่วนตัว พระศาสนจักรโดยทั่วไป สังคมมนุษย์ และมนุษย์แต่ละคน คือส่วนผสมของทางสองสายนี้ กล่าวคือ สายหนึ่งกำลังหาทางอยู่รอดอย่างระมัดระวัง อีกสายหนึ่งกำลังก้าวข้ามเขตแดนต่าง ๆ อย่างกระตือรือร้น สายหนึ่งต้องรับผิดชอบทุกการกระทำของตน อีกสายหนึ่งฝันหาวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ เสมอ สายหนึ่งพร้อมจะดูดซับและบูรณาการสิ่งใหม่เข้ากับสิ่งเก่า อีกสายหนึ่งไม่ยอมเสียเวลากับสิ่งเก่า ขณะที่แสวงหาดินแดนใหม่ที่อัครสาวก (เหมือนกับเปาโล) ยังไม่เคยเข้าไปทำงาน (รม 15:20)

    บิดามารดาอยากมีบุตรมีหลาน แม้ว่าเด็ก ๆ ทำให้เขารำคาญใจ และถึงกับทำให้คนรุ่นเก่าตกใจฉันใด เราก็ควรยินดีต้อนรับวันใหม่ ความคิดใหม่ การทดลองใหม่ โอกาสใหม่ฉันนั้น แต่กระนั้น เราจะเพิ่มความบริบูรณ์และเอกภาพของ “สิ่งใดที่จริง สิ่งใดประเสริฐ สิ่งใดชอบธรรม สิ่งใดบริสุทธิ์ สิ่งใดน่ารัก สิ่งใดควรยกย่อง สิ่งใดที่เป็นคุณธรรม สิ่งใดน่าสรรเสริญ” (ฟป 4:8) ขณะที่เปาโลกระตุ้นให้เราคิดถึงแต่สิ่งเหล่านี้ เปโตรก็เตือนใจเราว่าเราจะสูญเสียทุกสิ่ง และกลายเป็นคนที่ขาดสมดุล เว้นแต่เราจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกันภายในพระศาสนจักร

บทภาวนา – ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า เราถวายพรแด่พระองค์เสมอในพระศาสนจักรของพระองค์ ขอให้พระศาสนจักรนี้เข้มแข็ง เพื่อให้ผู้ต่ำต้อยทั้งหลายได้ยินและมีความยินดี ขอให้พระศาสนจักรส่องแสงด้วยความยินดี เพื่อจะไม่มีใครต้องอับอาย ขอให้พระศาสนจักรมีความเห็นอกเห็นใจ เพื่อว่าผู้เดือดร้อนทั้งหลายจะได้รับความรอดพ้น ในเอกภาพที่ผูกพันเราไว้ด้วยกันนี้ เราลิ้มรส และเห็นว่าพระองค์ทรงเมตตากรุณาอย่างไรต่อทุกคนที่เข้ามาหลบภัยในพระองค์ภายในพระศาสนจักร

บทรำพึงที่ 2

    คำว่า “พระคริสตเจ้า” ในประโยคที่เปโตรกล่าวนั้น ไม่ได้เป็นเพียงชื่อหนึ่ง แต่เป็นพระยศด้วยฉันใด คำว่า “เปโตร” ในประโยคที่พระเยซูเจ้าตรัสนั้น ก็ไม่ได้เป็นเพียงชื่อบุคคล แต่เป็นตำแหน่งหน้าที่ด้วยฉันนั้น เปโตรจะต้องทำหน้าที่เป็นศิลาที่เป็นรากฐานอันมั่นคงสำหรับพระศาสนจักร เขาจะต้องเป็นต้นกำเนิดของเสถียรภาพ เมื่อใดที่พระศาสนจักรเผชิญกับการโจมตีจากพลังชั่วต่าง ๆ เราเห็นได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงยืนยันความจริงนี้ เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ซีโมน ซีโมน ... เราอธิษฐานอ้อนวอนเพื่อท่าน ให้ความเชื่อของท่านมั่นคงตลอดไป และเมื่อท่านกลับใจแล้ว จงช่วยค้ำจุนพี่น้องของท่านเถิด” (ลก 22:31-32)

    เปาโลแห่งทาร์ซัส (เมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเอเชียน้อย) ได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมาเป็นฟาริสีที่เคร่งครัดศรัทธา เขาอยู่ในที่เกิดเหตุ เมื่อสเทเฟนถูกฆ่าเป็นมรณสักขีในกรุงเยรูซาเล็ม และเขาเห็นชอบกับการฆาตกรรมนี้ เขาได้ยินสเทเฟนอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้ที่จะฆ่าเขา และคำภาวนาของเขาก็ได้รับการตอบสนอง ไม่นานหลังจากนั้น ขณะที่เขาเดินทางไปยังเมืองดามัสกัสเพื่อจับพวกคริสตชนไปขังคุก เขาได้พบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพในนิมิตที่ทำให้เขาตาบอด และเหตุการณ์นั้นเปลี่ยนเขาจากผู้เบียดเบียนคริสตชน ให้กลายเป็นผู้นำที่โดดเด่นของกลุ่มคริสตชน

    เปาโลเป็นผู้ที่ประกาศพระวาจาในไซปรัส เอเชียน้อย มาซิโดเนีย และกรีซ ไม่ว่าเขาไปถึงที่ใด เขาจะพบกับความกระตือรือร้นมากมาย หรือการต่อต้านอย่างรุนแรง เขาทนทุกข์ทรมานจากการถูกจองจำในคุก ถูกขว้างด้วยก้อนหิน ถูกเฆี่ยน เคยโดยสารในเรือที่อับปาง เคยล้มป่วย และต้องสู้ทนความยากลำบากอื่น ๆ แต่เขาก็ยังประกาศพระวาจาต่อไป ไม่ว่าเขาไปถึงที่ใด เขาจะพูดถึงพระคริสตเจ้า ทั้งในศาลาธรรมและสถานที่สาธารณะ และในทุกสถานที่ เขาสามารถรวบรวมผู้มีความเชื่อที่เหมือนกับแกะฝูงเล็ก ๆ เขาทำงานเพื่อพระคริสตเจ้าอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย เขาเทศน์สอน เดินทาง เขียนจดหมาย และก่อตั้งพระศาสนจักรขึ้นในที่ต่าง ๆ

    เปาโลเป็นนักปลุกระดม เขามีความเชื่อมั่น และเขาประกาศโดยไม่ลังเลใจเลยว่าเขาได้รับเลือกและได้รับมอบหมายจากพระคริสตเจ้าให้เขาทำหน้าที่อัครสาวก นักบุญเปาโลยังเป็นอีกหลายสิ่งหลายอย่าง เขาเป็นนักเทศน์ ผู้อภิบาล นักเทววิทยา และผู้ก่อตั้งพระศาสนจักรหลายแห่ง

    ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงดำรงชีพบนโลกนี้ พระองค์ทรงส่งอัครสาวก 12 คน ออกไปเทศน์สอนพระวรสาร และองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพและประทับอยู่ในพระสิริรุ่งโรจน์ ทรงส่งเปาโลออกไปในฐานะทูตของพระองค์ เปาโลย้ำหลายครั้งว่าเขาได้รับมอบอำนาจให้ทำงานแพร่ธรรม เช่นเดียวกับอัครสาวก 12 คน เขาทำอัศจรรย์ ทำงานหนัก ทนรับความทุกข์ยาก และตายเพื่อพระคริสตเจ้า เขาเขียนจดหมายถึงชาวโครินธ์ว่า “วาจาและคำเทศน์ของข้าพเจ้า มิใช่คำพูดชวนเชื่ออย่างชาญฉลาด แต่เป็นถ้อยคำแสดงพระอานุภาพของพระจิตเจ้า” (1 คร 2:4)

    แต่เปาโลได้รับมอบหมายมากกว่าอำนาจในการแพร่ธรรม เขาเป็นบุคคลที่ไม่เหมือนใคร เขาเป็นผู้ได้รับพระพรพิเศษระดับสูง และพันธกิจของเขามีลักษณะส่วนตัว เขาได้รับมอบหมายจากพระคริสตเจ้าให้ประกาศพระวาจาแก่คนต่างชาติ และได้รับความรู้พิเศษเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า เพื่อให้เขาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับธรรมล้ำลึกนี้ให้แก่ชนชาติต่าง ๆ เขายอมทนได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นความหิว ขาดแคลนเสื้อผ้า ถูกเฆี่ยน ถูกเบียดเบียน และภัยธรรมชาติ เขากล่าวว่า ความรักต่อพระคริสตเจ้าผลักดันให้เขาเดินหน้าต่อไป

    เราคริสตชนในวันนี้ ควรเพาะบ่มจิตตารมณ์ของอัครสาวกเปโตรและเปาโล และปฏิบัติงานแพร่ธรรมเหมือนกับท่านทั้งสอง ท่านทำงานเพื่อพระคริสตเจ้าอย่างที่เราทำไม่ได้ในปัจจุบัน ทั้งที่ท่านอยู่ในยุคที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างที่เรามีในปัจจุบัน ถ้าเรามีเสี้ยวหนึ่งของความกระตือรือร้นของท่านทั้งสอง เราจะทำสิ่งอัศจรรย์ได้มากเพียงไรเพื่อพระเจ้าและประชากรของพระองค์ เมื่อเรามีเครื่องมือมากมายที่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพได้ประทานแก่เรา

    แต่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะทำสิ่งใดได้ ข้าพเจ้าต้อง “เป็น” ใครสักคนหนึ่ง การแพร่ธรรมแท้เกิดจากบุคคลที่เป็นอัครสาวกแท้เท่านั้น ถ้าเราดำเนินชีวิตในความสนิทสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า ถ้าพระองค์ทรงดำรงอยู่ในตัวเรา และเราเป็นผู้ติดตามพระคริสตเจ้าอย่างซื่อสัตย์ เมื่อนั้นเท่านั้นที่เราจะสามารถทำได้อย่างที่อัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้เคยทำ บุคคลเหล่านี้ยอมตายเพื่อพระคริสตเจ้า เราพร้อมหรือไม่ที่จะตายต่อตนเอง ตายต่อความเห็นแก่ตัวของเรา อัตตา และความทะเยอทะยานของเรา เพื่อให้พระคริสตเจ้าสามารถดำรงอยู่ในตัวเราได้? กิ่งก้านที่ไม่ติดอยู่กับเถาองุ่นย่อมไม่อาจให้ผลองุ่นได้

    เรามีเหตุผลมากมายที่จะชื่นชมยินดีในวันฉลองอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่สองท่านนี้ และขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้ประทานท่านทั้งสองให้เป็นอาจารย์ ผู้นำทาง และต้นแบบสำหรับเรา ท่านได้ใช้พระพรต่างกันที่ท่านแต่ละคนได้รับเพื่อสร้างพระศาสนจักรหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า เปโตรเป็นผู้ประกาศยืนยันความเชื่อเป็นคนแรก และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนกลุ่มแรก ส่วนเปาโลเป็นผู้อธิบายธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระคริสตเจ้าให้เราเข้าใจ และเป็นผู้เทศน์สอนเรื่องความรอดพ้นให้แก่คนต่างชาติ

    เราสรุปบทรำพึงของเราด้วยถ้อยคำของนักบุญออกัสตินว่า “เรากำหนดให้วันหนึ่งเป็นวันฉลองมรณสักขีกรรมของอัครสาวกสองท่านนี้ แต่ทั้งสองท่านเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้ว่ามรณสักขีกรรมของท่านทั้งสองไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียวกัน แต่ก็เป็นหนึ่งเดียวกัน เปโตรล่วงลับไปก่อน และเปาโลก็ตามไป เราเฉลิมฉลองวันนี้ ซึ่งโลหิตของอัครสาวกเหล่านี้ได้ทำให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา เราจงรักความเชื่อของท่านทั้งสอง ชีวิตของท่าน ความทุกข์ยากของท่าน ความหลงใหลของท่าน คำประกาศยืนยันความเชื่อของท่าน และคำสั่งสอนของท่าน”

บทรำพึงที่ 3
ท่านรักเราไหม? – ยอห์น 21:15-19

พระคัมภีร์: พระเยซูเจ้าตรัสกับซีโมน เปโตร ว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเรามากกว่าคนเหล่านี้รักเราไหม” เปโตรทูลตอบว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด” (ยน 21:15)

ข้อไตร่ตรอง – คำสนทนาระหว่างพระเยซูเจ้าและเปโตร เกี่ยวกับความรักและการเลี้ยงดูฝูงแกะ (21:15-19) เป็นส่วนหนึ่งของบทส่งท้าย (บทที่ 21) ของพระวรสารของนักบุญยอห์น พระวรสารของยอห์นจบลงที่ข้อ 30-31 ของบทที่ 20 ส่วนเหตุการณ์ที่บรรยายในบทที่ 21 เป็นส่วนที่รวบรวมขึ้นมาและนำมาเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งน่าจะเป็นเวลาก่อนเผยแพร่พระวรสารฉบับนี้

    คำสนทนาระหว่างพระเยซูเจ้าและเปโตร เป็นเหตุการณ์ตามคำบอกเล่าของยอห์น ที่กอบกู้ชื่อเสียงของเปโตร ตามประวัติศาสตร์ เปโตรเป็นผู้นำคนสำคัญของพระศาสนจักรที่เพิ่มเริ่มก่อตั้งขึ้น แต่กลุ่มคริสตชนที่เป็นศิษย์ของยอห์นต้องการรู้ว่าเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร เมื่อเปโตรเคยปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซูเจ้าถึงสามครั้ง (เทียบ ยน 18:17, 25-27) เพื่อแสดงให้เห็นภาวะผู้นำของเปโตรได้เด่นชัดมากขึ้น ผู้เขียนพระวรสารของยอห์น จึงบอกเล่าเหตุการณ์ที่กอบกู้ชื่อเสียงของเขา หลังจากพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว

    เมื่อเปโตรปฏิเสธพระเยซูเจ้าสามครั้ง ในฉากนี้ เขาจึงต้องยืนยันความรักของเขาต่อพระเยซูเจ้าถึงสามครั้ง พระเยซูเจ้าทรงถามเปโตรครั้งแรกว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเรามากกว่าคนเหล่านี้รักเราไหม” (21:15) หมายถึงความรักที่มากกว่าศิษย์คนอื่น ๆ หรือมากกว่าความรักต่อชีวิตชาวประมง

    จากนั้นพระเยซูเจ้าทรงถามเปโตรเป็นครั้งที่สองว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม” (21:16, 17) เปโตรตอบสองคำถามนี้เหมือนกันว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” (21:15, 16) คำตอบครั้งที่สามของเขาเน้นที่คุณสมบัติของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ว่าพระองค์ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” (21:17) ดังนั้น การยืนยันความรักที่เปโตรมีต่อพระเยซูเจ้าทั้งสามครั้ง จึงเป็นการชดเชยที่เขาปฏิเสธพระเยซูเจ้าสามครั้ง องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ทรงคืนตำแหน่งผู้นำของพระศาสนจักรให้แก่เปโตร ถ้าสมาชิกคนใดในกลุ่มคริสตชนของยอห์น ไม่มั่นใจในตำแหน่งผู้นำของเปโตร ความสงสัยของเขาเหล่านั้นย่อมหมดไป เมื่อได้อ่านข้อความนี้

    เปโตรไม่เพียงประกาศยืนยันความรักของเขา แต่เขาได้รับมอบหมายงานจากพระเยซูเจ้าอีกด้วย พระเยซูเจ้าทรงบอกเขาว่า “จงเลี้ยงดูลูกแกะของเราเถิด” “จงดูแลลูกแกะของเราเถิด” และ “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (21:15, 16, 17) เมื่อพิจารณาจากคำปราศรัยของพระเยซูเจ้าเรื่องการเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี (10:1-30) จึงถือได้ว่าเปโตรได้รับมอบหมายให้รับบทบาทของผู้เลี้ยงแกะ ทั้งนี้มิใช่เพราะเขามีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ แต่เพราะเขาได้คืนดีด้วยความรักกับพระเยซูเจ้าแล้ว ในที่นี้ ผู้เขียนพระวรสารของนักบุญยอห์นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระเจ้าทรงทำงานผ่านบุคคลที่อ่อนแอ และผู้ที่เคยผิดพลาดมาก่อน พระเจ้าทรงทำงานของพระองค์ผ่านเนื้อหนังมนุษย์

    ผู้เขียนพระวรสารตอนนี้รู้ดีว่าเปโตรได้ถูกจับตรึงกางเขนและเสียชีวิตแล้ว ดังนั้น เขาจึงกล่าวเป็นนัยถึงความจริงข้อนี้ในข้อความต่อมาว่า “เมื่อท่านยังหนุ่ม ท่านคาดสะเอวด้วยตนเอง และเดินไปไหนตามใจชอบ แต่เมื่อท่านชรา ท่านจะยื่นมือ แล้วคนอื่นจะคาดสะเอวให้ท่าน พาท่านไปในที่ที่ท่านไม่อยากไป” (21:18) ผู้เขียนเพิ่มเติมข้อคิดเห็นของเขาเพื่อประโยชน์ของผู้อ่านว่า “พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้ เพื่อแสดงว่าเปโตรจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยตายอย่างไร” (21:19)

    เปโตร ผู้เลี้ยงแกะ ติดตามผู้เลี้ยงแกะที่ดีจนถึงยอมสละชีวิตเพื่อแกะของเขา เขาจะเดินหน้าไปสู่มรณสักขีกรรมของเขาเหมือนอาชญากรคนหนึ่ง และเหมือนกับพระเยซูเจ้า ยอห์นกำลังบอกว่า นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความรักของเขาถูกทดสอบ แต่ในครั้งที่สองนี้ เปโตรจะยืนหยัดมั่นคง และไม่ปฏิเสธพระเยซูเจ้า

    พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสถ้อยคำสุดท้ายในคำบอกเล่าส่วนนี้ ว่า “จงตามเรามาเถิด” (21:19) นี่คือถ้อยคำที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ในพระวรสารของยอห์น เพื่อเรียกศิษย์กลุ่มแรกของพระองค์ การใช้ข้อความเดียวกันในที่นี้ ผู้เขียนพระวรสารยืนยันการเรียกเปโตรเป็นครั้งที่สอง และการตอบสนองของเขา

ข้อรำพึง –  เมื่อใดเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่านปฏิเสธพระเยซูเจ้า และรู้สึกว่าท่านได้กลับเป็นศิษย์ของพระองค์อีกครั้งหนึ่งด้วยการประกาศยืนยันความรักที่ท่านมีต่อพระองค์?

บทภาวนา – ข้าแต่พระเจ้าแห่งคณะอัครสาวก พระองค์ทรงเรียกเปโตรให้ติดตามพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระองค์ และทรงทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในหมู่ชนชาติอิสราเอล พระองค์ทรงเรียกเปาโลให้เทศน์สอนพระวรสารท่ามกลางคนต่างชาติ บัดนี้ พระองค์ทรงเรียกเราให้เป็นผู้นำข่าวดีของพระองค์ไปประกาศจนสุดปลายแผ่นดินโลก โปรดทรงทวีความรักที่เรามีต่อพระองค์ โปรดทรงช่วยเราให้ซื่อสัตย์ต่อพันธกิจของเรา โปรดทรงนำทางเราด้วยพระจิตของพระองค์ เราวอนขอดังนี้เดชะพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ผู้ทรงจำเริญและครองราชย์ร่วมกับพระองค์ และพระจิตเจ้า พระเจ้าหนึ่งเดียว ตลอดไป อาแมน

 

บทรำพึงที่ 4
บนศิลานี้ – มัทธิว 16:13-19

พระคัมภีร์: ซีโมน เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุข เพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย เราบอกท่านว่า ท่านคือศิลา และบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา” (มธ 16:15-18)

ข้อไตร่ตรอง – มัทธิวได้นำเรื่องการประกาศยืนยันความเชื่อของเปโตร ที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป (8:27-29) ในพระวรสารของมาระโก มารวมกับคำบอกเล่าของเขาเกี่ยวกับเปโตรในพระวรสารของเขา (16:13-19) นอกจากนี้ ผู้นิพนธ์พระวรสารผู้นี้ระบุชัดว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้เป็นเพียงพระเมสสิยาห์ เหมือนกับที่ระบุในพระวรสารของมาระโก แต่พระองค์ทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” อีกด้วย (16:16)

    มัทธิวได้ดัดแปลงคำถาม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคำสนทนานี้อย่างมีนัยสำคัญ ในพระวรสารของมาระโก พระเยซูเจ้าทรงถามว่า “คนทั้งหลายว่าเราเป็นใคร” (มก 8:27) แต่ในพระวรสารของมัทธิว พระเยซูเจ้าทรงถามว่า “คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร” (16:13) “บุตรแห่งมนุษย์” เป็นคำที่ใช้เรียกพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกปฏิเสธ ทนทรมาน สิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพ มัทธิวกำลังใช้คำประกาศยืนยันความเชื่อในพระเยซูเจ้าที่กล่าวหลังจากพระองค์กลับคืนพระชนมชีพแล้ว บางส่วนของบทนี้อาจเป็นคำบอกเล่าที่แต่เดิมกล่าวถึงการปรากฏพระองค์ของพระเยซูเจ้าหลังจากกลับคืนพระชนมชีพแล้ว

    เราสมควรวิเคราะห์คำตอบของบรรดาศิษย์ ที่ตอบคำถามของพระเยซูเจ้า คำตอบแรกคือ “ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง” (16:14) สะท้อนความเข้าใจของเฮโรดว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นใคร (เทียบ 14:1-2) ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ถูกต้องแน่นอน คำตอบที่สองคือ “เอลียาห์” (16:14) สะท้อนความคาดหวังของชาวยิวว่าเอลียาห์จะกลับมา เพื่อเตรียมทางก่อนที่พระเมสสิยาห์จะปรากฏพระองค์ มัทธิวกำลังเสนอว่า ยอห์นผู้ทำพิธีล้างคือผู้เตรียมทางนี้ (เทียบ 3:4)

    คำตอบที่สามคือ “ประกาศกเยเรมีย์ หรือประกาศกองค์ใดองค์หนึ่ง” (26:14) เป็นส่วนที่เพิ่มเติมนอกจากข้อความที่ได้จากแหล่งข้อมูลของมาระโก เยเรมีย์เป็นประกาศกผู้ประสบความทุกข์ยากมากมายระหว่างที่เขาประกาศพระวาจาแก่ชาวอิสราเอล แต่มัทธิวมองว่าพระเยซูเจ้าทรงเหมือนกับเยเรมีย์ พระเยซูเจ้าจะทรงได้รับความทุกข์ทรมานอย่างหนักในกรุงเยรูซาเล็ม

    ซีโมน เปโตร เป็นผู้ที่ให้คำตอบที่ถูกต้องว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (16:16) “พระเมสสิยาห์” (หรือ “พระคริสตเจ้า”) เป็นคำภาษาฮีบรูแปลว่า “ผู้ได้รับเจิม” เมื่อมัทธิวนำคำว่า “พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” มาเชื่อมต่อกับข้อมูลที่มาระโกใช้ เขากำลังระบุอย่างชัดเจนว่าคำว่า “พระเมสสิยาห์ หรือพระคริสตเจ้า” มีความหมายอย่างไรสำหรับกลุ่มคริสตชนของเขา การระบุว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสตเจ้า ก็คือการระบุว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า

    ซีโมน เปโตรไม่ได้รับความรู้นี้มาโดยบังเอิญ พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุข เพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย” (16:17) “เปโตรเป็นสุข” หมายความว่าเขาได้รับพระพรจากพระเจ้าด้วยการเปิดเผยว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นใคร การเปิดเผยจากพระเจ้าในลักษณะนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพระวรสารของมัทธิว

    เมื่อเปโตรถวายตำแหน่ง “พระบุตรของพระเจ้า” แก่พระเยซูเจ้า พระองค์ทรงมอบตำแหน่งหนึ่งแก่เขาเช่นกัน “ท่านคือศิลา และบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา” (16:18) การเล่นคำเช่นนี้สูญเสียความหมายเมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่มีความหมายทั้งในภาษากรีก และอาราเมอิค (Petros/petra; Kephas/kepa)

    มัทธิวเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพียงคนเดียวที่ใช้คำว่า “พระศาสนจักร” ซึ่งปรากฏทั้งในที่นี้ และในข้อ 18:17 ในทั้งสองกรณีนี้ คำนี้หมายถึง “ที่ชุมนุม” หรือ “ชุมชน” ในกรณีนี้ เปโตรได้รับการประกาศให้เป็นศิลาที่เป็นรากฐานของพระศาสนจักร ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า มัทธิวพยายามเสนอเหตุผลสนับสนุนที่เปโตรได้รับตำแหน่งผู้นำของพระศาสนจักรยุคแรก แม้ว่าเขาเคยปฏิเสธพระเยซูเจ้าก็ตาม

    พระศาสนจักรนี้จะได้รับความคุ้มครองให้รอดพ้นจาก “ประตูนรก” (16:18) นรก หรือโลกใต้บาดาล เป็นที่อยู่ของผู้ตาย ความตายไม่มีอำนาจเหนือพระศาสนจักร พระเยซูเจ้าจะทรงแสดงให้เห็นความจริงข้อนี้ด้วยการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ใครก็ตามที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ จะมีชะตากรรมเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้า

    เปโตรได้รับมอบ “กุญแจอาณาจักรสวรรค์” และทุกสิ่งที่เขาจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (16:19) กุญแจเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจปกครอง เปโตรดำรงตำแหน่งผู้มีอำนาจปกครองในพระศาสนจักรยุคแรก เมื่อมัทธิวเสนอภาพว่าพระเยซูเจ้าประทานกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้แก่เปโตร เขารับรองว่าเปโตรมีอำนาจปกครองในชุมชนคริสตชน นี่คือภาพที่ อิสยาห์ เสนอใน 22:15-25 เมื่อ เอลียาคิม ซึ่งเป็นผู้ดูแลพระราชวังต่อจากเชบนา ได้รับมอบกุญแจพระราชวังของกษัตริย์ดาวิด และได้รับมอบหมายอำนาจให้เปิดและปิดพระราชวังนี้ด้วย

ข้อรำพึง – ท่านเคยรู้สึกว่าท่านจำเป็นต้องพึ่งพาผู้มีอำนาจปกครองในพระศาสนจักรอย่างไร?

บทภาวนา – ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงชีวิต พระองค์ทรงเปิดเผยพระองค์ในเลือดเนื้อของพระเยซูเจ้า พระบุตรพระองค์เดียวของพระองค์ ซีโมน เปโตร ยอมรับการเปิดเผยของพระองค์ และประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสตเจ้า ผู้ทรงได้รับการเจิมจากพระองค์ เมื่อเปโตรประกาศยืนยันความเชื่อ พระองค์ทรงสร้างพระศาสนจักรของพระองค์ และประทานอำนาจที่จะผูก หรือแก้ ให้แก่พระศาสนจักร โปรดทรงนำทางพระศาสนจักรต่อไป โปรดประทานผู้นำที่ซื่อสัตย์แก่พระศาสนจักร โปรดประทานพระพรแห่งพระจิตเจ้าแก่พระศาสนจักร เราวอนขอดังนี้เดชะพระคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา อาแมน