วันฉลองพระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์
วิวรณ์ 11:19; 12:1-6, 10; 1 โครินธ์ 15:20-26; ลูกา 1:39-56

บทรำพึงที่ 1
แรงบันดาลใจ
ความทุกข์ การรับใช้ และจิตใจอธิษฐานภาวนาของพระนางมารีย์ ควรเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเรา

    ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน นักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวว่า “ความต้องการอันดับแรกของเราคือ ใครสักคนที่จะทำให้เราทำสิ่งที่เราสามารถทำได้” ข้อคิดของเอเมอร์สันน่าสนใจทีเดียว

    ความต้องการอันดับแรกของเราไม่ใช่การค้นหาใครบางคนที่จะช่วยบอกเราว่าเราควรทำอะไร เพราะเรารู้ดีอยู่แล้วว่าเราควรทำอะไร

    ความต้องการอันดับแรกของเรา คือ ค้นหาใครบางคนที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำสิ่งที่เรารู้ว่าเราควรทำ

    และเอเมอร์สันกล่าวว่านี่คือบทบาทของเพื่อน ของคู่สมรส หรือบิดามารดา และในฐานะคริสตชนคนหนึ่ง ผมขอเพิ่มเติมว่านี่คือบทบาทของพระนางมารีย์ด้วย

    คุณสมบัติที่เราพบเห็นในชีวิตของพระนางมารีย์คือการทนรับความทุกข์ทรมาน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่พระนางและนักบุญโยเซฟนำพระกุมารเยซูไปถวายที่พระวิหาร ในที่นั้นสิเมโอน บุรุษผู้ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวถึงพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าทรงกำหนดให้กุมารนี้เป็นเหตุให้คนจำนวนมากในอิสราเอลต้องล้มลงหรือลุกขึ้น และเป็นเครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” (ลก 2:34)

    และเขาหันไปกล่าวกับพระนางมารีย์ว่า “ส่วนท่าน ดาบจะแทงทะลุจิตใจของท่าน” (ลก 2:35)

    ความทุกข์ทรมานยังเกิดขึ้นในชีวิตของพระนางมารีย์ต่อไปหลังจากนั้น เมื่อพระนางทรงเห็นว่ามีผู้ต่อต้านพระเยซูเจ้ามากขึ้น และในที่สุด ความทุกข์ทรมานของพระนางเพิ่มทวีถึงจุดสูงสุด เมื่อพระนางประทับยืนข้างใต้พระกายที่ถูกตรึงกางเขนของพระบุตรของพระนางบนเขากัลวารีโอ

    พระนางมารีย์ทรงรับทนความทุกข์ของพระนางอย่างกล้าหาญและอดทน เพราะเหตุนี้พระนางจึงเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเรา พระนางทรงทำให้เรามีกำลังใจรับทนความทุกข์ยากของเราอย่างกล้าหาญ และอดทน เหมือนพระนาง

    คุณสมบัติประการที่สองที่เราพบเห็นในชีวิตของพระนางมารีย์ คือ จิตตารมณ์การรับใช้ผู้อื่น เราเห็นจิตตารมณ์นี้ในตัวพระนางเมื่อทูตสวรรค์แจ้งข่าวว่าพระนางจะเป็นมารดาของพระเยซูเจ้า คำตอบของพระนางทั้งสั้นและตรงประเด็น “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38)

    เราเห็นจิตตารมณ์การรับใช้ของพระนางมารีย์ได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระนางได้รับแจ้งข่าวว่านางเอลีซาเบ็ธตั้งครรภ์ และพระนางรีบเดินทางไปช่วยเหลือญาติของพระนาง (ลก 1:39-45)

    ในที่สุด เราเห็นจิตตารมณ์การรับใช้ของพระนางมารีย์ เมื่อพระนางทรงขอร้องพระเยซูเจ้าให้ทรงช่วยเหลือคู่สมรสหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่หมู่บ้านคานา (ยน 2:5)

    ใครคนหนึ่งเคยกล่าวว่า “ชีวิตของฉันพลิกผันทันทีที่ฉันหยุดขอให้พระเจ้าทรงทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อฉัน และถามพระองค์ว่าฉันจะทำอะไรเพื่อพระองค์ได้บ้าง”

    นี่คือจิตตารมณ์การรับใช้ในตัวพระนางมารีย์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เราต้องการพยายามรับใช้เหมือนกับที่พระนางทรงเคยรับใช้

    คุณสมบัติประการที่สามที่เราพบเห็นในชีวิตของพระนางมารีย์ คือ จิตตารมณ์การอธิษฐานภาวนา ซึ่งเราเห็นได้จากคำสรรเสริญพระเจ้าของพระนาง พระนางมารีย์ทรงถวายบทสรรเสริญนี้หลังจากพระนางทรงได้ยินว่าบุตรของนางเอลีซาเบ็ธดิ้นในครรภ์ เมื่อพระนางเข้าไปหานางพร้อมด้วยพระเยซูเจ้าในครรภ์ของพระนางเอง (ลก 1:46-55)

    จิตตารมณ์การอธิษฐานภาวนาของพระนางมารีย์ยังแสดงตัวต่อไปเมื่อพระเยซูเจ้าประสูติ พระวรสารบอกเราว่าพระนางมารีย์ “ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย และยังทรงคำนึงถึงอยู่” (ลก 2:19) จิตตารมณ์การอธิษฐานภาวนานี้เพิ่มทวีถึงจุดสูงสุด เมื่อหนังสือกิจการอัครสาวกบอกเราว่า พระนาง “อธิษฐานภาวนาสม่ำเสมอ” ร่วมกับบรรดาอัครสาวก เพื่อเตรียมรับเสด็จพระจิตเจ้า (กจ 1:14)

    คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา เคยกล่าวว่า “การภาวนาขยายหัวใจให้ใหญ่ขึ้นจนกระทั่งสามารถรองรับพระเจ้า ผู้ประทานพระองค์เองแก่เราได้” การอธิษฐานภาวนาบังเกิดผลเช่นนี้สำหรับพระนางมารีย์ และการภาวนาสามารถบังเกิดผลเช่นนี้สำหรับเราได้เช่นเดียวกัน

    ดังนั้น พระนางมารีย์จึงเป็นบุคคลสำคัญสำหรับเราเป็นพิเศษในวันนี้ เพราะพระนางทรงเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเรา เราเห็นคุณสมบัติสามประการได้อย่างชัดเจนในตัวพระนาง คือ ความทุกข์ทรมานที่พระนางทนรับอย่างกล้าหาญ การรับใช้ผู้อื่นด้วยความยินดี และการภาวนาอย่างสม่ำเสมอ

    เพราะเหตุนี้ พระนางมารีย์จึงสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เราต้องการแบกกางเขนของเราอย่างอดทน เหมือนกับที่พระนางเคยแบกกางเขนของพระนาง พระนางเป็นแรงบันดาลใจให้เราต้องการรับใช้ผู้อื่นด้วยความยินดี เหมือนกับที่พระนางเคยรับใช้ และพระนางเป็นแรงบันดาลใจให้เราต้องการภาวนาอย่างสม่ำเสมอ เหมือนกับที่พระนางเคยอธิษฐานภาวนา

    และถ้าเราเลียนแบบพระนางในทั้งสามด้านนี้ วันหนึ่งเราจะได้ชื่นชมยินดีร่วมกับพระนางในสวรรค์ เบื้องหน้าพระตรีเอกภาพ เหมือนกับที่พระนางทรงกำลังชื่นชมยินดีอยู่ในเวลานี้

    นี่คือสารของวันฉลองในวันนี้ นี่คือข่าวดีที่เราร่วมกันเฉลิมฉลอง นี่คือคำเชิญที่พระเจ้าทรงเสนอแก่เราแต่ละคนในพิธีกรรมวันนี้

บทรำพึงที่ 2
ลูกา 1:38-56

    พระศาสนจักร ทั้งจารีตตะวันออกและตะวันตก เริ่มเฉลิมฉลองพระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ห้า พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ทรงกำหนดให้เป็นข้อความเชื่อเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1950 ว่า “การได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของพระนางมารีย์เป็นเอกสิทธิ์ ที่พระมารดาผู้นิรมลของพระเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ทั้งในวิญญาณและร่างกาย เมื่อถึงวาระสุดท้ายในชีวิตบนโลกนี้ของพระนาง โดยไม่ต้องรอให้ถึงการกลับคืนชีพในวันสุดท้าย” ... พระศาสนจักรเชื่อเช่นนี้มานานหลายศตวรรษแล้ว ดังจะเห็นหลักฐานได้จากอาสนวิหารหลายแห่งของยุคกลาง และกระจกสีที่แสดงภาพของ “การบรรทมหลับของพระนางมารีย์”...

    วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า จิตใจของข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้า พระผู้กอบกู้ข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์ ตั้งแต่นี้ไป ชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า พระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์

    พระนางมารีย์ทรงเป็นมนุษย์คนแรกที่ “ได้รับความรอดพ้น” ... บทเพลงสรรเสริญพระเจ้าของพระนาง เป็นการถวายเกียรติมงคลของเหตุการณ์นี้คืนแก่ “พระผู้กอบกู้” และ “พระผู้ทรงสรรพานุภาพ”...

    พระนางมารีย์ทรงได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ที่ไม่มีใครเหมือน และไม่ได้เกิดขึ้นจากบุญบารมีใด ๆ ของพระนาง แต่เกิดจากพระหรรษทานของพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระนางเท่านั้น...

    พระนางมารีย์ไม่ใช่เทพธิดา – พระนางทรงเรียกตนเองว่า “ผู้รับใช้ผู้ต่ำต้อยของพระเจ้า” บทเพลงสรรเสริญพระเจ้าของพระนางไม่ใช่บทเพลงแสดงความภาคภูมิใจ แต่แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ว่าทุกสิ่งที่ประกอบกันเป็นตัวของพระนางล้วนมาจากพระเจ้า เป็นของประทานที่พระนางได้รับมาเปล่า ๆ และพระนางตอบแทนด้วยการถวายคำสรรเสริญพระองค์ เพราะเหตุนี้ การแสดงความศรัทธาอย่างแท้จริงต่อพระนางมารีย์ จึงนำเราไปสู่ธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าเสมอ

    เพื่อให้เข้าใจการได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของพระนางพรหมจารีมารีย์ ก่อนอื่นเราต้องเพ่งพินิจพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ...

    พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนม์ชีพจากบรรดาผู้ตาย เป็นผลแรกของบรรดาผู้ล่วงหลับไปแล้ว ... มนุษย์ทุกคนจะกลับมีชีวิตเพราะพระคริสตเจ้า แต่จะเป็นไปตามลำดับของแต่ละคน พระคริสตเจ้าทรงเป็นผลแรก ต่อไปก็คือผู้ที่เป็นของพระคริสตเจ้า... (1 คร 15:20-26)

    “ยุคสุดท้าย” เริ่มต้นขึ้นแล้วในองค์พระเยซูเจ้า นี่คือสิ่งที่นักเทววิทยาเรียกว่า “อันตกาลวิทยา (eschatology)” (มาจากคำภาษากรีก eschaton แปลว่า “สุดท้าย”) ... เมื่อเราพูดถึง “กาลอวสาน” เรามักคิดถึงอนาคตที่ยังห่างไกล ... อนิจจา นี่คือข้ออ้างที่ทำให้เราไม่สนใจ “กาลอวสาน” นี้ ซึ่งเราคิดว่าเราไม่มีทางได้พบเจอกับตนเอง แต่คำว่า “อวสานของโลก” ตามความหมายทางอันตกาลวิทยา หมายถึงความเป็นจริงที่ “เริ่มต้นขึ้นแล้ว แม้ว่ายังไม่สำเร็จสมบูรณ์”...

    เมื่อเข้าใจตามความหมายนี้ “อวสาน” จึงเป็น “เป้าหมาย” ซึ่งกำหนดทิศทางของกิจการหนึ่งมาตั้งแต่ต้น...

    “พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ... ทรงเป็นบุตรหัวปีของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ... มนุษย์ทุกคนจะกลับมีชีวิต แต่จะเป็นไปตามลำดับของแต่ละคน” ... สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในองค์พระเยซูคริสตเจ้า คือความเป็นจริงสุดท้ายของพระเจ้า และความเป็นจริงสุดท้ายของมนุษย์ด้วย ... การกลับคืนชีพไม่ได้เป็นเพียง “อวสานของทุกสิ่ง” เท่านั้น แต่ยังเป็น “ความหมายที่ลึกสุดของทุกสิ่ง” อีกด้วย เพราะในองค์พระเยซูผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระเจ้าทรงเปิดเผยความลับที่ลึกล้ำที่สุดของการเนรมิตสร้างของพระองค์ และพระองค์ทรง “ตั้งโปรแกรม” ให้ตัวเรามาตั้งแต่ต้นให้นำเราไปสู่อัศจรรย์แท้จริงแห่งชีวิตนี้ ... ในพระเยซูผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ กาลอวสาน หรือเป้าหมายของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ได้เอื้อมมาหาเรา...

    ด้วยเอกสิทธิ์พิเศษ พระนางมารีย์ทรงไปถึงสิริรุ่งโรจน์นี้แล้ว อาจกล่าวได้ว่าพระนางทรงเป็น “บุคคลต้นแบบ” ของสิ่งสร้างทั้งมวลของพระเจ้า ที่พระเจ้ายังทรงสร้างสรรค์อยู่ต่อไปในปัจจุบัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระนางมารีย์ ในพระคริสตเยซู จะต้องเกิดขึ้นกับพระศาสนจักรทั้งมวล และกับเราแต่ละคน ... ความเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงที่จะเปลี่ยนสภาพเราจากสิ่งมีชีวิตที่รู้จักตาย ให้กลายเป็นบุคคลที่มีชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้วในองค์พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ จะต้องเกิดขึ้นกับพระนางมารีย์พระมารดาของพระองค์ด้วย ... แต่สำหรับมนุษย์อื่น ๆ ทั้งหลาย กระบวนการนี้กำลังดำเนินอยู่ ... ตราบใดที่ประวัติศาสตร์ยังดำเนินต่อไป “โฉมหน้า” อันสมบูรณ์ของมนุษย์ก็ยังไม่ถูกเปิดเผยอย่างสิ้นเชิง เพราะเราแต่ละคนถูกประทับไว้ชั่วคราวด้วยเงาแห่งความตาย และ “ความทรมานของพระคริสตเจ้ายังขาดสิ่งใด ข้าพเจ้าก็เสริมให้สมบูรณ์ด้วยการทรมานในกายของข้าพเจ้า เพื่อพระกายของพระองค์ คือพระศาสนจักร” (คส 1:24)... 

    เครื่องหมายยิ่งใหญ่ปรากฏในสวรรค์ คือสตรีผู้หนึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์ มีดวงจันทร์อยู่ใต้เท้า มีมงกุฎดาวสิบสองดวงประดับศีรษะ นางมีครรภ์แก่กำลังร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดจะคลอดบุตร (วว 12:1-2)

    ถูกทารุณกรรม ร้องตะโกนด้วยความเจ็บปวด – นี่คือสภาพของมนุษยชาติที่เราเห็น ตราบใดที่ประวัติศาสตร์ยังดำเนินต่อไป ... ทุกวันเราเห็นภาพน่าเศร้านี้จากรายงานข่าวทางหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ ... ในวันนี้ ซึ่งเราเฉลิมฉลองสิริรุ่งโรจน์และความสุขของพระนางมารีย์ พระศาสนจักรเตือนเราให้ระลึกว่าความเป็นมารดาของพระนางมารีย์นั้นเจ็บปวดเพียงไร เมื่อพระนางทรงให้กำเนิดเราที่เชิงไม้กางเขน...

    ถูกแล้ว ความทุกข์ยากของเราแต่ละคน เปรียบเสมือนการคลอดบุตร ความเจ็บปวดทรมานในปัจจุบันของเราให้กำเนิดโลกใหม่ เมื่อเราสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน...

    มนุษย์ทุกคนตายเพราะอาดัมฉันใด มนุษย์ทุกคนก็จะกลับมีชีวิตเพราะพระคริสตเจ้าฉันนั้น ... แล้วจะถึงวาระสุดท้าย เวลานั้น พระองค์จะทรงมอบพระอาณาจักรให้แก่พระเจ้าพระบิดา หลังจากทรงทำลายการปกครอง อำนาจ และอานุภาพทั้งหลาย เพราะพระคริสตเจ้าจะต้องทรงครองราชย์จนกว่าพระเจ้าจะทรงปราบศัตรูทั้งมวลให้อยู่ใต้พระบาทของพระองค์ ศัตรูสุดท้ายที่จะถูกทำลายคือความตาย (1 คร 15:20-26)

    บางคนพอใจแล้วเมื่อคิดถึง “ความเป็นอมตะของวิญญาณ” เขาถามว่าทำไมเราจะต้องพูดถึง “การกลับคืนชีพของร่างกาย” ด้วย?...

    แต่เราเชื่อว่าพระวจนาตถ์ (พระวาจา) เสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ ... ในพิธีบูชาขอบพระคุณทุกครั้ง พระเยซูเจ้าทรงทำให้เรากลายเป็นพระกายของพระองค์ ... และพระนางมารีย์ทรงได้รับเกียรติยกขึ้นไปหาพระเจ้าทั้งร่างกายและวิญญาณ ... นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือเป็นความจริงที่สำคัญเป็นอันดับรอง “ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเรา ก็มีชีวิตนิรันดร ... เราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย” (ยน 6:39, 51, 54)...

    ในวันที่เราฉลองพระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายนี้ เราต้องค้นหาความหมายที่ถูกต้องของ “ร่างกาย”...

    “ร่างกายของเรา” ไม่ใช่ส่วนที่อยู่ภายนอกตัวเรา แต่เป็นส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นตัวตนของเราตามพระประสงค์ของพระเจ้า ในประเด็นนี้ นักปรัชญาสมัยใหม่หันมาเชื่อสหัชญาณของผู้เขียนพระคัมภีร์ โดยแทนที่จะกล่าวว่าตัวเรา “ประกอบด้วยวิญญาณและร่างกาย” คงจะเหมาะสมกว่าถ้าจะกล่าวว่าเราเป็น “ร่างกายที่มีจิตเป็นชีวิต (spiritual body)” หรือเป็น “จิตที่เกิดมาในร่างกายมนุษย์ (incarnate spirit)”...

     นักบุญโทมัส อากวีนัส กล่าวว่า “พระเจ้าประทานจิตใจและมือแก่มนุษย์” ... ถูกแล้ว มือของข้าพเจ้าไม่ได้เป็นเพียงอวัยวะหนึ่งที่เป็นวัตถุ แต่มีสติปัญญาแทรกอยู่ด้วย และมือของข้าพเจ้าจะทำสิ่งที่จิตใจของข้าพเจ้าสั่งให้ทำ ในทางกลับกัน จิตใจของข้าพเจ้าก็ไม่อาจทำอะไรได้โดยปราศจากมือของข้าพเจ้า ไม่มีทางแยกสองส่วนของธรรมชาติมนุษย์นี้ออกจากกันได้ ไม่มีสิ่งใดที่เป็นกายล้วน และไม่มีสิ่งใดที่เป็นจิตล้วน...

    เมื่อเราพูดถึง “วิญญาณ” เราไม่ได้หมายถึง “บางสิ่ง” ที่แยกออกจากร่างกาย ... เราใช้ภาษานี้เพื่อบอกว่า “ตัวบุคคล” ยังคงเป็นบุคคลเดิมไม่ว่าเขาผ่านการแปรสภาพทางกายภาพมาแล้วมากเท่าไรระหว่างช่วงชีวิตของเขา ชายชราวัยแปดสิบปี ผู้มีร่างกายทรุดโทรมและผ่านความเจ็บปวดมามาก ยังคงเป็นคนเดียวกันกับผู้ใหญ่วัยสี่สิบปีที่เคยทำงานได้ หรือทารกวัยสิบวันที่นอนร้องไห้อยู่ในเปล ... ร่างกายนี้เปลี่ยนไปมาก – และบุคคลนั้นยังเป็นคนเดิม ... เราเรียกองค์ประกอบอันถาวรนี้ว่า “วิญญาณ” การพูดเช่นนี้เป็นวิธีที่ถูกต้อง...

    อย่างไรก็ดี ตามธรรมชาติแท้ของมนุษย์ชายหญิง ตามแผนการของพระผู้สร้างของเรา ร่างกายของเราเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของเรา ... พระเยซูเจ้าทรงเคยมีร่างกาย พระเยซูเจ้าทรงมีร่างกายอยู่ในปัจจุบัน ... และการกลับคืนชีพของเนื้อหนังไม่ใช่ความจริงที่เป็นเพียงส่วนประกอบ แต่เป็นผลงานชิ้นเอกในแผนการของพระเจ้า...

    เราเข้าใจว่าการได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของพระนางมารีย์ เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้เกิดขึ้นกับเราทุกคน พระเจ้าทรงต้องการ “ทำลายอานุภาพของความชั่วทั้งปวง” จนถึง “ศัตรูสุดท้ายของพระองค์ คือความตาย”...

    พระนางมารีย์ทรงรีบออกเดินทางไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาแคว้นยูเดีย พระนางเสด็จเข้าไปในบ้านของเศคาริยาห์ และทรงทักทายนางเอลีซาเบธ เมื่อนางเอลีซาเบธได้ยินคำทักทายของพระนางมารีย์ บุตรในครรภ์ก็ดิ้น นางเอลีซาเบธได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม...

    คำบอกเล่าในพระวรสารเรื่องพระวจนาตถ์เสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ และพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบ็ธ นำเราย้อนกลับมาคิดถึงความเป็นจริงของร่างกาย ในเหตุการณ์นี้ พระจิตเจ้าทรงใช้ครรภ์ของสตรีสองคนเพื่อเสด็จเข้ามาประทับท่ามกลางมนุษยชาติในวงกว้างมากขึ้น ... ร่างกายจึงไม่ต่ำช้า หรือน่าเหยียดหยาม ... ผู้ใดสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ร่างกาย ผู้นั้นสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ “ภาพลักษณ์ของพระเจ้า” ... ความคิดเรื่องการยกพระนางมารีย์ขึ้นสู่สวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณ เริ่มต้นตั้งแต่ในเหตุการณ์อันน่าชื่นชมนี้แล้ว...

    “พระเยซู โอรสของท่าน ทรงได้รับพระพรยิ่งนัก ... และท่านได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด ๆ”...

    เราควรยินดีที่พระศาสนจักรเลือกเหตุการณ์อันต่ำต้อยและแสดงสภาพของมนุษย์ได้อย่างชัดเจนเช่นนี้ เป็นบทอ่านสำหรับวันฉลองพระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ... เราต้องเคารพที่พระวรสารไม่กล่าวถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของพระนางมารีย์บนโลกนี้ เราไม่รู้รายละเอียดการเสียชีวิตของพระนางพรหมจารี ทำไมชีวิตของพระนางจึงจบลงอย่างเงียบ ๆ พระนางเสียชีวิตอย่างไร ... ไม่มีใครรู้คำตอบ ไม่มีใครคิดว่าสมควรบอกเล่าเหตุการณ์นี้ ... เรารู้เพียงว่าพระนางมารีย์สิ้นใจ “ภายหลังพระบุตรของพระนาง” เพราะพระนางประทับยืนอยู่ที่เชิงกางเขน และแหงนมองพระองค์ ขณะที่พระองค์สิ้นพระชนม์...

    ดังนั้น เราจึงสรุปบทรำพึงในวันนี้ ด้วยการเพ่งพินิจพระนางมารีย์ในวัยสาว ขณะที่พระนางเร่งรีบเดินทางไปตามถนนในแถบภูเขาแคว้นยูเดีย พร้อมกับพระกุมารที่พระนางอุ้มไว้ในครรภ์ ... พระนางเสด็จไปที่บ้านของญาติของพระนาง เพื่อช่วยเหลือนาง และจะประทับอยู่ที่นั่นนานถึงสามเดือน! การอยู่กับพระนางมารีย์คงทำให้นางเอลีซาเบ็ธมีความสุขมาก ... พระมารดาของพระเจ้าทรงอุทิศทั้งชีวิตแสดงความรักต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าและต่อผู้อื่น  นี่คือกองไฟที่ลุกไหม้เงียบ ๆ จนไม่เหลือแม้แต่ “เถ้า” ... เวลาที่ชีวิตของร่างกายพระนางสิ้นสุดลงคือเวลาที่พระนางทรงถวายเครื่องบูชาแห่งความรักอันสูงสุด โดยไม่เหลือตะกอนใด ๆ ไว้เลย ... ในร่างนี้ ซึ่งได้รับพลังชีวิตจากวิญญาณดวงนี้ ไม่มีส่วนใดเหลือไว้ให้เน่าเปื่อย เพราะทุกส่วนได้ถูกเผาผลาญเป็นเครื่องบูชาไปหมดสิ้นแล้ว...