แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 29 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 45:1. 4-6; 1 เธสะโลนิกา 1:1-5; มัทธิว 22:15-21

บทรำพึงที่ 1
หนึ่งคะแนนเสียง
เราเป็นพลเมืองของสองโลก และมีความรับผิดชอบต่อทั้งสองโลก

    เมื่อหลายปีก่อน แอนน์ แลนเดอร์ส ได้ตีพิมพ์จดหมายฉบับหนึ่งในคอลัมน์ของเธอ ซึ่งทำให้ผู้อ่านหลายคนฉุกคิด ผู้เขียนจดหมายเป็นประชาชนในรัฐมิสซูรี ซึ่งกังวลที่มีประชาชนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ใช้สิทธิ์ของตนในการออกเสียงเลือกตั้ง

    คนเหล่านี้แก้ตัวว่า “คะแนนเสียงของฉันไม่สำคัญอยู่แล้ว ฉันจะไปลงคะแนนทำไม” และเพราะมีคนจำนวนมากที่ไม่ไปลงคะแนนเสียง พวกเขาจึงหยุดสนใจประเด็นปัญหา และผู้สมัครรับเลือกตั้ง

    จดหมายฉบับนั้นยังอ้างถึงบทความหนึ่งในคู่มือเลือกตั้ง บทความนี้ชื่อ “หนึ่งคะแนนเสียงสำคัญอย่างไร” ข้าพเจ้าขอแบ่งปันข้อมูลว่าหนึ่งคะแนนเสียงสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา

    ถ้ามิใช่เพราะหนึ่งคะแนนเสียงเมื่อ ค.ศ. 1776 ประเทศสหรัฐอเมริกาจะใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการ แทนที่จะเป็นภาษาอังกฤษ

    ถ้ามิใช่เพราะหนึ่งคะแนนเสียงเมื่อ ค.ศ. 1845 รัฐเท็กซัสก็ไม่กลายเป็นรัฐหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา

    ถ้ามิใช่เพราะหนึ่งคะแนนเสียงเมื่อ ค.ศ. 1868 แอนดรูว์ จอห์นสัน ก็ต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

    ถ้ามิใช่เพราะหนึ่งคะแนนเสียงเมื่อ ค.ศ. 1876 รูเธอร์ฟอร์ด เฮย์ส ก็ไม่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

    ตัวอย่างอื่น ๆ คงไม่จำเป็น เพราะเราสามารถมองเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ได้แล้ว การใช้สิทธิ์ออกเสียงของบุคคลหนึ่งสามารถทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมโหฬารได้

    นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาแล้ว หนึ่งคะแนนเสียงยังทำให้เกิดผลกระทบต่อชาติอื่น ๆ ในโลกอีกด้วย

    หนึ่งคะแนนเสียงทำให้ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ มีอำนาจควบคุมประเทศอังกฤษทั้งประเทศเมื่อ ค.ศ. 1645

    หนึ่งคะแนนเสียงทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 1 ของประเทศอังกฤษ ถูกประหารชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1649

    หนึ่งคะแนนเสียงได้เปลี่ยนการปกครองของประเทศฝรั่งเศส จากระบอบประชาธิปไตยเป็นสาธารณรัฐ เมื่อ ค.ศ. 1875

    และเมื่อ ค.ศ. 1923 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กลายเป็นผู้นำพรรคนาซีในประเทศเยอรมนี เพียงด้วยหนึ่งคะแนนเสียง

    ลองคิดดูเถิดว่าถ้ามิใช่เพราะหนึ่งคะแนนเสียงนั้น ชาวยิวหกล้านคนก็อาจไม่เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

    ลองคิดดูเถิดว่า ถ้ามิใช่เพราะหนึ่งคะแนนเสียงนั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นำมาซึ่งความเจ็บปวดสูญเสียและความตาย ก็อาจไม่เกิดขึ้น เพียงเท่านี้ เราก็เห็นความสำคัญของหนึ่งคะแนนเสียง และรู้ว่าหนึ่งคะแนนเสียงสามารถเปลี่ยนโลกทั้งใบได้จริง

    พระวรสารวันนี้มีคำสั่งสอนข้อสำคัญสำหรับคริสตชนทุกคน พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าเราเป็นเสมือนบุคคลสองสัญชาติ เราเป็นพลเมืองของสองโลก คือพลเมืองของโลก และพลเมืองของสวรรค์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีความรับผิดชอบต่อทั้งสองโลก คือ ทั้งต่อพระเจ้า และต่อซีซาร์

    ความรับผิดชอบทั้งสองด้านนี้เหมือนกับสองหน้าของเหรียญเดียวกัน เมื่อเราละเลยหน้าที่พลเมืองของเรา ย่อมถือได้ว่าเราละเลยหน้าที่ของเราในฐานะคริสตชน

    เรามีความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ที่จะป้องกันไม่ให้การบริหารประเทศของเราตกอยู่ในมือของผู้นำที่เห็นแก่ตัว และปราศจากคุณสมบัติที่เหมาะสม

    เปโตรกล่าวถึงความรับผิดชอบนี้ โดยสอนคริสตชนในจดหมายฉบับที่หนึ่งของเขาว่า “จงเคารพยำเกรงพระเจ้า จงถวายพระเกียรติแด่พระจักรพรรดิ” (1 ปต 2:17)

    และเปาโลสั่งสอนคริสตชนในกรุงโรมในทำนองเดียวกันว่า “ทุกคนจงนอบน้อมต่อผู้มีอำนาจปกครอง ... จงเสียภาษีแก่ผู้มีสิทธิ์รับภาษี จงเสียค่าธรรมเนียมแก่ผู้มีสิทธิ์เก็บค่าธรรมเนียม จงเกรงกลัวผู้ที่ควรเกรงกลัว จงให้เกียรติแก่ผู้ที่สมควรจะได้รับเกียรติ” (รม 13:1, 7)

    แต่ก็มีหัวข้อสำคัญที่เราต้องพิจารณา นั่นคือจะเกิดอะไรขึ้นถ้าการเป็นพลเมืองสองโลกของเรานำเราไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพระเจ้า และประเทศของเรา

    เราหวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง เราต้องยุติความขัดแย้งโดยไม่ละเลยต่อหน้าที่ของเราต่อพระเจ้า และคริสตชนต้องทำเช่นนี้มาตลอดประวัติศาสตร์

    คริสตชนทำเช่นนี้ในยุคที่กรุงโรมเรืองอำนาจ ในเวลานั้น คริสตชนหลายพันคนยอมรับความตายมากกว่าจะนมัสการจักรพรรดิ

    เขาทำเช่นนี้ระหว่างศตวรรษที่ 17 เมื่อคริสตชนหลายพันคนในทวีปยุโรปหลบหนีไปยังทวีปอเมริกา เพื่อให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจของเขาได้

    และคริสตชนก็ยังทำเช่นนี้อยู่ในยุคปัจจุบัน เช่นในกรณีของฟรานซ์ แจ็กเกอร์สแตทเตอร์ ชาวนาชาวออสเตรีย ผู้เป็นบิดาของลูกเล็ก ๆ สามคน

    แจ็กเกอร์สแตทเตอร์ต่อต้านฮิตเลอร์ระหว่างทศวรรษที่ 1930 เมื่อฮิตเลอร์บุกเข้ายึดประเทศออสเตรีย และจัดการให้ประชาชนลงคะแนนเสียงปลอม ๆ เพื่อแสดงว่าประชาชนยอมรับการกระทำของเขา แจ็กเกอร์สแตทเตอร์ เป็นบุคคลเดียวในหมู่บ้านของชาวออสเตรียที่ต่อต้านฮิตเลอร์

    เมื่อเกิดสงครามใน ค.ศ. 1939 แจ็กเกอร์สแตทเตอร์ ไม่ยอมไปรายงานตัวเป็นทหารในกองทัพของฮิตเลอร์ เขาถึงกับปฏิเสธเมื่อกองทัพเสนอหน้าที่ที่ไม่ต้องสู้รบ ในที่สุด เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1943 เขาก็ถูกทหารจับกุม และประหารชีวิต

    แจ็กเกอร์สแตทเตอร์มีความรับผิดชอบสองด้าน ด้านหนึ่งคือความรับผิดชอบต่อพระเจ้า อีกด้านหนึ่งคือความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ เมื่อความรับผิดชอบทั้งสองด้านขัดแย้งกัน เขาเลือกที่จะซื่อสัตย์ต่อหน้าที่อันดับแรกของเขา คือต่อพระเจ้า

    ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงเตือนเราในบทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้ว่าเรามีหน้าที่ทั้งต่อพระเจ้า และต่อประเทศชาติ เราหวังว่าหน้าที่ทั้งสองด้านนี้จะไม่ขัดแย้งกัน แต่เมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เราต้องตัดสินใจกระทำเหมือนกับ ฟรานซ์ แจ็กเกอร์สแตทเตอร์ คือ ไม่ยอมละเลยหน้าที่ของเราต่อพระเจ้า

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยคำภาวนาของ โทมัส เจฟเฟอร์สัน ที่ภาวนาเพื่อประเทศสหรัฐอเมริกา

    ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ
    พระองค์ได้ประทานแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์นี้ให้เป็นมรดกของเรา...
    โปรดทรงอวยพรแผ่นดินของเรา...
    โปรดทรงช่วยเราให้ปลอดภัยจากความรุนแรง...
    และจากวิถีทางอันชั่วร้ายทั้งปวง
    โปรดทรงปกป้องเสรีภาพของเรา...
    โปรดประทานพระจิตแห่งปรีชาญาณ
    ให้แก่ผู้ที่เรามอบหมายให้ปกครองประเทศในพระนามของพระองค์...
    ในยามรุ่งเรือง โปรดให้หัวใจของเราเปี่ยมด้วยความสำนึกในพระคุณ
    และในยามทุกข์ยาก ขอให้เราอย่าได้หมดความวางใจในพระองค์

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 22:15-21

ชาวฟาริสีปรึกษากันเพื่อจับผิดพระวาจาของพระเยซูเจ้า จึงส่งศิษย์ของตนพร้อมกับคนที่เป็นฝ่ายของกษัตริย์เฮโรด...

    เรามักคิดว่ายุคสมัยของเราเป็นยุคแรกที่การดำเนินชีวิตเป็นเรื่องยาก เพราะมีความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับหลักศีลธรรม และสังคม ... และประชาชนที่มีความคิดเห็นตรงกันข้ามสามารถแสดงความคิดได้อย่างโจ่งแจ้ง ... เราไม่รู้อีกต่อไปแล้วว่าควรคิดอย่างไร หรือปฏิบัติตนอย่างไร เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาหนักบางอย่าง...

    ถ้าเรารู้จักอ่านพระวรสาร เราจะค้นพบว่าการดำเนินชีวิตในสมัยของพระเยซูเจ้าก็ยากเย็นเช่นกัน ... พระเยซูเจ้าทรงอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเวลา กองทัพโรมันยึดครองปาเลสไตน์ และเสียงต่อต้านชาวยิวก็ดังกระหึ่มตลอดเวลา ... ตลอดเวลา 30 ปี ซีซาร์ ผู้ปกครองอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ คือ ทีเบเรียส ชายชราผู้ปกครองอาณาจักรของเขาจากเกาะคาปรี ในประเทศอิตาลี ... ชาวยิวผู้รักชาติ (Zealots) ต่อต้านกองกำลังที่ยึดครองแผ่นดินของเขา และรณรงค์ไม่ให้ชาวยิวจ่ายภาษี ... ตรงกันข้ามกับคนที่เป็นฝ่ายของกษัตริย์เฮโรด (the Herodians) ที่อาศัยอำนาจของกรุงโรมค้ำจุนตำแหน่งหน้าที่ของตน ... ส่วนชาวฟาริสี พวกเขาพยายามรักษาเสรีภาพทางศาสนาของตน แต่ก็ยอมประนีประนอมกับผู้มีอำนาจทางการเมือง...

    กลุ่มตัวแทนที่มาหาพระเยซูเจ้าเพื่อวางกับดักจับผิดพระองค์จึงประกอบด้วยบุคคลต่าง ๆ ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกัน (คือ ชาวฟาริสี และกลุ่มผู้สนับสนุนเฮโรด) ... ไม่ว่าพระเยซูเจ้าจะทรงเข้าข้าง “ฝ่ายซ้าย” หรือ “ฝ่ายขวา” พวกเขาก็ต้องจับผิดพระองค์ได้...

... มาทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์ พวกเรารู้ว่าท่านเป็นคนเที่ยงตรง สั่งสอนวิถีทางของพระเจ้าตามความจริงโดยไม่ลำเอียง เพราะท่านไม่เห็นแก่หน้าใคร”

    คำชมนี้เป็นเหยื่อที่ซ่อนกับดัก แต่ผู้ปลุกปั่นกลุ่มนี้ก็แสดงความเคารพต่อรับบีหนุ่มผู้นี้ในเวลาเดียวกัน  พวกเขายอมรับว่าพระองค์ทรงเทศน์สอนอย่างเป็นเอกเทศ ทรงมีความศรัทธาลึกล้ำต่อพระเจ้า และทรงมั่นคงในความเชื่อของพระองค์ ... อันที่จริง เรารู้ว่าบ่อยครั้งที่พระเยซูเจ้าทรงสวนกระแสและความคิดของประชาชน เช่น พระองค์ทรงชมเชยความเชื่อของนายร้อยกองทัพโรมัน (มธ 8:10) พระองค์ทรงคบหาคนเก็บภาษี และทรงเลือกคนเก็บภาษีคนหนึ่งเป็นอัครสาวกของพระองค์ (มธ 9:9-10)…
    ก่อนจะรำพึงต่อไป ขอให้เราใช้เวลาสักครู่เพ่งพินิจพระเยซูเจ้า – บุรุษที่ไม่เหมือนใคร

    พระเจ้าข้า โปรดประทานความเข้มแข็งให้เราเป็นคนเที่ยงตรงเหมือนพระองค์ ... ให้เราเดินตามวิถีทางเที่ยงแท้ของพระเจ้า ... ให้เราไม่ยอมให้อิทธิพลต่าง ๆ นำเราไปในทิศทางที่เราไม่ต้องการไป ... ให้เรามีจิตใจเป็นอิสระโดยไม่เข้มงวดจนเกินไป หรือยอมประนีประนอมเกินไป...

“ดังนั้น โปรดบอกเราเถิดว่า ท่านมีความเห็นว่าการเสียภาษีแก่พระจักรพรรดิซีซาร์ เป็นการถูกต้องหรือไม่”

    คำถามนี้ฉลาดมาก ถ้าพระองค์ทรงตอบว่า “ถูกต้อง” ประชาชนจะหมดความนิยมในตัวพระองค์ พระองค์ทรงอยู่ท่ามกลางประชาชนที่กำลังรอคอยพระเมสสิยาห์ให้เสด็จมาขับไล่ผู้รุกรานออกไปจากแผ่นดินของเขา ... ถ้าพระองค์ทรงตอบว่า “ไม่ถูกต้อง” พวกของกษัตริย์เฮโรด ก็จะกล่าวโทษว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลอันตรายที่ปลุกปั่นประชาชนให้ต่อต้านกรุงโรม...

    เช่นเดียวกับในทุกยุคสมัย พระศาสนจักรในวันนี้ก็เผชิญหน้ากับปัญหานี้ พระศาสนจักรไม่สามารถแสดงบทบาททางการเมืองโดยตรงได้ – แต่พระศาสนจักรก็ไม่อาจทำตัวเป็นกลางได้ ... แต่ไม่ว่าพระศาสนจักรจะบอกว่า “ถูกต้อง” หรือ “ไม่ถูกต้อง” ไม่ว่าจะคัดค้าน หรือเงียบ ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกเดียวกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง...

    พระเยซูเจ้าจะตอบอย่างไร...

พระเยซูเจ้าทรงหยั่งรู้เจตนาร้ายของเขา จึงตรัสว่า “พวกคนเจ้าเล่ห์ เจ้ามาทดลองเราทำไม จงนำเงินที่ใช้เสียภาษีมาให้ดูสักเหรียญหนึ่ง” เขานำเงินเหรียญมาถวาย

    ก่อนอื่น พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เขาเห็นว่าพระองค์ไม่ทรงหลงกล ทรงเริ่มต้นด้วยการกระชากหน้ากากของเขา และทรงขอให้เขาแสดงเงินเหรียญที่เขาใช้เสียภาษีให้พระองค์ดู ... พวกเขาหยิบเหรียญออกมาจากกระเป๋าอย่างไม่ลังเลใจ ... ดังนั้น เขาจึงเผยความจริงว่า แม้ว่าเขาพยายามแสดงออกว่าเขาระมัดระวัง ไม่ทำให้ตนเองมีมลทินตามธรรมบัญญัติในการติดต่อกับชาวโรมันผู้ยึดครองแผ่นดิน แต่เขาก็ใช้เงินของ “คนวิปริต” นี้เพื่อซื้อขาย … การเสียภาษีไม่ควรรบกวนมโนธรรมของเขามากไปกว่าการใช้ “เงินชั่ว” นี้ในชีวิตประจำวัน...

พระองค์จึงตรัสถามว่า “รูป และคำจารึกนี้เป็นของใคร” เขาตอบว่า “เป็นของพระจักรพรรดิซีซาร์”

    ชาวโรมันเท่านั้นที่มีสิทธิผลิตเงินเหรียญ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงอำนาจปกครองประเทศนี้ และเงินเหรียญนั้นก็มีภาพและพระนามของจักรพรรดิประทับอยู่ ภาพของทีเบเรียสนี้เองที่ชาวยิวถือว่าเป็นเครื่องหมายเลวทรามของการอยู่ภายใต้อาณัติของกรุงโรม  เพราะชาวโรมันยกย่องจักรพรรดิขึ้นเป็นพระเจ้า ... เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมชาวยิวผู้รักชาติจึงห้ามคนของเขาไม่ให้เสียภาษี...

    เป็นที่รู้กันว่าพระเยซูเจ้าทรงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าเท่านั้น พระองค์จะทรงหลีกเลี่ยงอย่างไรจึงจะไม่ถือว่าเป็น “ฝ่ายซ้าย” คือ กลุ่มคนที่สนับสนุนให้ประชาชนเป็นกบฏโดยอ้างพระคัมภีร์ ... พระองค์ตรัสตอบว่า

“ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้า ก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด”

    คำตอบของพระเยซูเจ้าได้กลายเป็นสุภาษิตไปแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางปัญญา ซึ่งพบได้ในทุกวัฒนธรรม แต่บ่อยครั้งที่พระดำรัสของพระองค์ถูกเข้าใจผิด ราวกับว่าพระเยซูเจ้าทรงเสนอให้ “แยกพระศาสนจักรและรัฐออกจากกัน” และทรงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจปกครองตนเองอย่างสิ้นเชิง – หรือเข้าใจในแง่ตรงกันข้ามว่าพระเยซูเจ้าทรงขอให้ศิษย์ของพระองค์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง...

    เราจะมาพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง พระเยซูเจ้าทรงเอาชนะความพยายามของศัตรูของพระองค์ที่จะกล่าวโทษว่าพระองค์ทรงเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลโรมัน โดยพระองค์ทรงชี้ให้เขาดูภาพบนเหรียญ ทรงบอกให้เขามอบให้ซีซาร์สิ่งใดที่เป็นของซีซาร์ และมอบให้พระวิหาร และธรรมบัญญัติ (ซึ่งเป็นตัวแทนของพระเจ้า) สิ่งใดที่เป็นของพระเจ้า ศัตรูของพระองค์ล่าถอยไปเมื่อพระเยซูเจ้าทรงเปิดโปงเจตนาลับของเขา

    หลักการที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศนี้ แม้ว่าทรงตั้งพระทัยให้เป็นคำตอบสำหรับคำถามของชาวฟาริสี แต่ก็ได้กลายเป็นหลักการอันถาวร และใช้ได้กับมนุษย์ทุกยุคสมัย พระองค์ทรงบอกเราโดยใช้ถ้อยคำไม่กี่คำว่ามนุษย์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งในฐานะที่เป็นพลเมือง และในฐานะที่เป็นผู้ถือศาสนายิว ชาวยิวก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนา ซึ่งพระเจ้าทรงเป็นผู้กำหนด จึงไม่จำเป็นต้องมีความขัดแย้งใด ๆ ในประเด็นนี้ เพราะทั้งหน้าที่พลเมืองและธรรมบัญญัติต่างก็มาจากต้นกำเนิดเดียวกัน - คือพระเจ้า

    แต่ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้เมื่อฝ่ายหนึ่งล่วงล้ำสิทธิของอีกฝ่ายหนึ่ง และเมื่อใดที่มนุษย์ไม่เข้าใจแก่นแท้ของพันธะเหล่านี้ ดังนั้น เราจึงจะควรไตร่ตรองต่อไป

    ก)    ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์

    ถ้ามองตามทรรศนะของพระคัมภีร์ “อำนาจทั้งปวงล้วนมาจากพระเจ้า” เราถึงกับได้ยินจากบทอ่านที่หนึ่งของวันนี้ว่า พระเจ้าทรง “เจิม” ไซรัส กษัตริย์ที่ไม่ใช่ชาวยิว เพื่อให้เขาปฏิบัติงานของพระเจ้า “แม้ว่าเขาไม่รู้จักพระเจ้า” (อสย 45:1, 4, 6) ... นักบุญเปาโลก็อ้างถึงหลักการเดียวกันนี้ เมื่อเขาขอให้คริสตชนยุคแรกนอบน้อมต่อผู้มีอำนาจปกครอง (รม 13:1-7; ทต 3:1-2) ... นักบุญเปโตรก็จะแนะนำเช่นเดียวกันว่า “เพราะความรักต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า จงอ่อนน้อมเชื่อฟังมนุษย์ทุกคนที่มีอำนาจปกครอง” (1 ปต 2:13)...

    นี่คือความจริง ไม่มีพลเมืองคนใดที่สามารถเพิกเฉยต่อหน้าที่ทางสังคม และหน้าที่พลเมือง ความเข้าใจพระวรสารผิด ๆ อาจชักนำเราให้แบ่งชีวิตมนุษย์ออกเป็นส่วน ๆ - ราวกับว่าคริสตชน และพระศาสนจักร สามารถเพิกเฉยได้เมื่อเห็นกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง - หรือขังศาสนาให้อยู่ภายในกำแพงสี่ด้านของวัด และไม่ยอมให้ศาสนามีอิทธิพลใด ๆ ต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ต่อการประกอบธุรกิจ ต่อชีวิตครอบครัว กฎหมาย ภาษี เป็นต้น...
    และเป็นความจริงด้วยว่าพระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธบทบาทของ “พระเมสสิยาห์ทางสังคม และการเมือง” มาโดยตลอด ซึ่งประชาชนต้องการให้พระองค์เป็น นี่คือความหมายของเหตุการณ์ต่อไปนี้

-    ประสบการณ์ฝ่ายจิตของการประจญพระองค์ ก่อนทรงเริ่มต้นชีวิตสาธารณะ (มธ 4:8-10)
-    เมื่อพระองค์ทรงหลบไปอธิษฐานภาวนา เมื่อประชาชนต้องการยกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์หลังจากทรงทวีขนมปัง (ยน 6:14-15)
-    เมื่อพระองค์ทรงตำหนิเปโตรอย่างรุนแรง เมื่อเขาทัดทาน และไม่ยอมให้พระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ผู้ต้องทนรับความเจ็บปวดทรมาน (มธ 16:21-23)
-    เมื่อทรงประกาศแก่ปิลาต ว่า “อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้” (ยน 18:36)...
-    และเมื่อพระองค์ทรงยอมรับว่าปิลาตมีอำนาจพิพากษาพระองค์ “ท่านไม่มีอำนาจใดเหนือเราเลย ถ้าท่านมิได้รับอำนาจนั้นมาจากเบื้องบน” (ยน 19:11)

    แต่ในเวลาเดียวกัน ในคำตอบของพระเยซูเจ้าว่า “ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์” ยังมีคำเชิญชวนให้เรายอมรับ และเคารพในสิทธิของผู้มีอำนาจปกครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ... ด้วยการแสดงจุดยืนเช่นนี้ พระเยซูเจ้าทรงชี้ให้คนยุคโบราณมองเห็นความแตกต่าง กล่าวคือ ทรงบอกว่าซีซาร์เป็นจักรพรรดิ แต่เขาไม่ใช่พระเจ้า ... เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จงยอมให้ซีซาร์เป็นจักรพรรดิต่อไป เพราะนี่คืองานและความรับผิดชอบของมนุษย์ ที่มีทั้งเจริญรุ่งเรืองและตกต่ำ เราควรยอมรับความเป็นจริงอันซับซ้อนของสังคม และการเมือง ซึ่งมีระบอบ ระบบ และอุดมการณ์ต่าง ๆ

    แต่พระองค์ยังตรัสต่อไปด้วยว่า ...

    ข)    ของของพระเจ้า ก็จงคืนให้พระเจ้า

    มนุษย์ยุคปัจจุบันรู้ดีว่า เมื่อผู้มีอำนาจทางการเมืองเพิกเฉยต่อความคิดเห็นส่วนที่สองของพระเยซูเจ้า เขาจะทำให้สังคมของเรากลายเป็นสังคมที่ไร้พระเจ้า สังคมไร้พระเจ้ายังเป็นสังคมของอมนุษย์อีกด้วย ... เมื่อรัฐกลายเป็น “พระเจ้า” รัฐนั้นจะทำลายมนุษย์ ... ดังนั้น ซีซาร์เองก็ต้องยอมรับอำนาจของพระเจ้า และมอบสิ่งใดที่เป็นของพระองค์คืนให้พระองค์

    น่าสังเกตว่าพระเยซูเจ้าทรงเน้นถึง “หน้าที่ของเราต่อพระเจ้า” เมื่อมีผู้ถามพระองค์เกี่ยวกับเรื่องทางโลก ... ข้อความส่วนที่สองนี้คือจุดสุดยอดของพระวรสารทั้งบท...

    “ของของพระเจ้าก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด” ... ตลอดชีวิตของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงประกาศข้อความนี้ไม่เคยหยุด

    แม้ว่าการเมืองการปกครองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็น “ศิลปะเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน” แต่ไม่ได้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับมนุษย์ และไม่ใช่แม้แต่ “ส่วนที่จำเป็นที่สุดของมนุษย์” ... “มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น”  - และมิได้ดำรงชีวิตด้วยที่พักอาศัย หรือการตลาด หรือการผลิต ... มนุษย์ถูกสร้าง “ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า และให้คล้ายคลึงกับพระเจ้า” มนุษย์ถูกกำหนดให้เข้าร่วมในชีวิตของพระเจ้าในที่สุด ... ถ้าซีซาร์สามารถประทับภาพลักษณ์ของเขาลงบนเหรียญกษาปณ์ได้ (ดังนั้น เราจึงต้องคืนเหรียญนี้ให้เขา) ... มนุษย์ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ และให้คล้ายคลึงกับพระเจ้า จะไม่ต้อง “มอบตนเอง” คืนให้พระเจ้ามากยิ่งกว่านั้นหรือ (ปฐก 1:26)...

    มนุษย์สมควรได้รับความเคารพอย่างไร้ขีดจำกัด ก็เพราะเขาต้องกลับคืนไปหาพระเจ้าในที่สุด...

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงยอมตกหลุมพรางของคนเหล่านี้ พระองค์ทรงเปิดเผยความลับ และพันธกิจของพระองค์ให้เรารู้อีกครั้งหนึ่ง คือ พระองค์เสด็จมาเพื่อสถาปนาพระอาณาจักรของพระเจ้า – และอาศัยพระอาณาจักรนี้ พระองค์จะทรงเปิดเผยมิติสูงสุดของมนุษย์...

    แต่ขอให้เราตอบอย่างจริงใจเถิดว่า ... ข้าพเจ้าคืนของของซีซาร์ ให้แก่ซีซาร์ หรือเปล่า และในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ข้าพเจ้าสนใจมิติด้านการเมืองในชีวิตของข้าพเจ้าหรือเปล่า...

    และข้าพเจ้าคืนของของพระเจ้าให้แก่พระเจ้าหรือเปล่า ข้าพเจ้าถวายทั้งชีวิตของข้าพเจ้าให้พระเจ้าหรือเปล่า...