วันอาทิตย์ที่ 27 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 5:1-7; ฟิลิปปี 4:6-9; มัทธิว 21:33-43

บทรำพึงที่ 1
ด้านที่เข้มงวดของพระเจ้า
เรามักบรรยายสิ่งต่าง ๆ อย่างที่เราอยากให้สิ่งนั้นเป็น มิใช่อย่างที่สิ่งนั้นเป็นจริง เราทำเช่นนี้แม้แต่กับพระเจ้า

    เมื่อ 700 ปีก่อนพระเยซูเจ้าประสูติ มีอาจารย์ชื่อดังคนหนึ่งในประเทศกรีก ชื่ออีสป เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของคนทั่วไปก็คือ เขาใช้นิทานเป็นสื่อในการสอน เขาจะเล่านิทานเรื่องหนึ่ง จากนั้นก็ชี้ให้เห็นความจริงข้อหนึ่งในนิทานเรื่องนั้น

    เช่นนิทานเรื่องหนึ่งของเขา เป็นเรื่องการถกเถียงกันระหว่างสิงโตและชายคนหนึ่งว่ามนุษย์แข็งแรงกว่าสิงโตหรือไม่

    ชายคนนั้นยืนยันว่ามนุษย์แข็งแรงกว่า เพื่อยืนยันคำอ้างของเขา เขาจึงพาสิงโตไปที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง และชี้ให้ดูรูปปั้นของชายคนหนึ่งกำลังฉีกกรามของสิงโตด้วยมือเปล่า

    สิงโตมองรูปปั้นนั้น และบอกว่า “นั่นยืนยันอะไรไม่ได้ เพราะมนุษย์เป็นผู้ปั้นรูปนี้”

    ประเด็นที่อีสปต้องการสอน คือ มนุษย์มักบรรยายสิ่งต่าง ๆ อย่างที่ตนเองอยากให้สิ่งนั้นเป็น และมิใช่อย่างที่สิ่งนั้นเป็นจริง อีกนัยหนึ่งคือ บ่อยครั้งที่เราบิดเบือนความจริงเพื่อให้ความจริงนั้นพูดสิ่งที่เราต้องการให้พูด แทนที่จะพูดความจริง

    นักเทววิทยาบางคนกังวลว่าคริสตชนยุคปัจจุบันกำลังทำเช่นนี้กับพระเจ้าเช่นกัน พวกเรากังวลว่าเรากำลังบิดเบือนความคิดในพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระเจ้า กล่าวคือ เรากำลังเปลี่ยนให้พระเจ้าเป็นอย่างที่เราต้องการให้พระองค์เป็น

    เรากำลังทำเช่นนี้เมื่อเราเน้นที่คุณลักษณะของพระเจ้าที่เราชอบ ขณะที่พยายามลบเลือนคุณลักษณะของพระองค์ที่เราไม่ชอบ เช่น เรากำลังเน้นที่ความรักและความเมตตาของพระเจ้า และพยายามเจือจางความจริงที่ว่าพระเจ้ายังเป็นผู้พิพากษาที่ยุติธรรมอีกด้วย และเราต้องไปรายงานการดำเนินชีวิตของเราต่อพระองค์ในวันใดวันหนึ่ง

    ความจริงข้อนี้ปรากฏในเรื่องอุปมาอันน่าทึ่งในพระวรสารวันนี้ ข้าพเจ้ากล่าวว่า “น่าทึ่ง” เพราะมีอุปมาน้อยเรื่องที่มีบทเรียนสอนใจเรามากเท่าเรื่องนี้

    อุปมาเรื่องนี้นับว่าเป็นการย่อเรื่องความรอดพ้นในพระคัมภีร์ ข้าพเจ้าจะขออธิบายดังนี้

    สวนองุ่นเป็นเครื่องหมายของประชาชนชาวอิสราเอล ดังที่บทอ่านที่หนึ่งบอกเรา

    เจ้าของสวนองุ่นคือพระเจ้า

    คนเช่าสวน หมายถึงบรรดาหัวหน้าสมณะ และชาวฟาริสี ที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ดูแลประชากรของพระองค์

    ผู้รับใช้กลุ่มแรกที่เจ้าของสวนส่งไปพบคนเช่าสวนเพื่อรับส่วนแบ่งจากผลผลิต หมายถึงประกาศกยุคแรกที่พระเจ้าทรงส่งมาหาชาวอิสราเอล

    ผู้รับใช้กลุ่มที่สองหมายถึงประกาศกยุคหลัง

    บุตรของเจ้าของสวนที่ถูกคนเช่าสวนฆ่า ก็คือพระเยซูเจ้า

    คนเช่าสวนรายใหม่ที่เจ้าของสวนให้เช่าสวนองุ่น หมายถึงบรรดาอัครสาวกของพระเยซูเจ้า คนเหล่านี้มารับหน้าที่แทนหัวหน้าสมณะ และชาวฟาริสี โดยเป็นผู้นำใหม่ของประชากรของพระเจ้า

    การให้เช่าสวนองุ่นครั้งแรกหมายถึงพันธสัญญาเดิม และการให้เช่าสวนองุ่นครั้งที่สองหมายถึงพันธสัญญาใหม่

    ดังนั้น อุปมาเรื่องนี้ ซึ่งเป็นการย่อเรื่องความรอดพ้นในพระคัมภีร์ทั้งเล่ม นี่คือพระคัมภีร์ฉบับย่อ ภายในพระคัมภีร์ฉบับเต็ม

    นอกจากสรุปเรื่องความรอดพ้นในพระคัมภีร์ให้เราเห็นแล้ว อุปมาเรื่องนี้ยังสรุปให้เราเห็นภาพของพระเจ้าตามคำบอกเล่าในพระคัมภีร์ด้วย โดยเสนอภาพทั้งสองด้านของพระเจ้า กล่าวคือ พระเจ้าทรงเป็นบิดาผู้อดทน และพระเจ้าทรงเป็นผู้พิพากษาที่ยุติธรรม

    เช่นเดียวกับเจ้าของสวนองุ่นในเรื่องอุปมา พระเจ้าทรงแสดงความอดทนอย่างไม่น่าเชื่อต่อผู้นำชาวอิสราเอล พระองค์ประทานโอกาสให้พวกเขาหลายครั้งเพื่อให้เขาเปลี่ยนวิถีชีวิต พระองค์ทรงส่งประกาศกคนแล้วคนเล่ามาเตือนเขา แต่เมื่อทรงประจักษ์ชัดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะอดทนต่อไป พระเจ้าก็ทรงพิพากษาเขา พระเจ้าทรงให้เขารับผิดชอบการกระทำของเขา

    ดังนั้น บทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้จึงบอกเราว่าพระเจ้าไม่ได้เป็นเพียงบิดาผู้อดทนและรักเรามาก แต่ยังเป็นผู้พิพากษาที่ยุติธรรมที่จะให้เรารับผิดชอบการกระทำของเรา

    พระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้า ทรงสะท้อนคุณลักษณะสองด้านนี้ของพระเจ้าให้เราเห็นเช่นกัน บางครั้งเราลืมไปว่าพระเยซูเจ้าก็ทรงมี “ด้านที่เข้มงวด” เหมือนพระเจ้า พระเยซูเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความสงสารทรงบอกประชาชนว่า “ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาพบเราเถิด เราจะให้ท่านได้พักผ่อน” (มธ 11:28) ยังตรัสแก่ผู้ที่ไม่สนใจใยดีคนที่ขัดสนว่า “ท่านทั้งหลายที่ถูกสาปแช่ง จงไปให้พ้น ลงไปในไฟนิรันดร” (มธ 25:41)
    และพระเยซูเจ้าผู้อ่อนโยน ผู้ตรัสแก่ประชาชนว่า “จงมาเป็นศิษย์ของเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยน และถ่อมตน” (มธ 11:29) ยัง “ทรงใช้เชือกเป็นแส้” (ยน 2:15) ขับไล่ผู้รับแลกเงินออกจากพระวิหารอีกด้วย

    และทรงเป็นพระเยซูเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรัก ผู้ตรัสว่า “ทุกคนที่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ และผู้ที่ไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราก็จะไม่รับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์ด้วย” (มธ 10:32-33)

    ดังนั้น เราจึงเห็นภาพสะท้อนคุณลักษณะสองด้านนี้ของพระเจ้าในตัวพระเยซูเจ้า

    เราควรนำความรู้นี้มาปรับใช้กับชีวิตของเรา เราจำเป็นต้องรู้ว่าพระเจ้าทรงเป็นบิดาที่อดทน นานมาแล้วที่มนุษย์มองว่าพระเจ้าเป็นผู้ที่ต้องการลงโทษมากกว่าต้องการรัก

    แต่บัดนี้ ดูเหมือนว่าลูกตุ้มกำลังเหวี่ยงไปในทิศทางตรงกันข้าม และทำให้เรามองเห็นภาพที่บิดเบือนของพระเจ้าไม่น้อยกว่ากันเลย สิ่งที่เราต้องการในช่วงเวลาปัจจุบันของประวัติศาสตร์มิใช่ภาพที่บิดเบือน แต่เราต้องการความจริง และเราพบความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าได้ในบทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้ กล่าวคือ พระเจ้าทรงเป็นทั้งบิดาผู้อดทน และผู้พิพากษาที่ยุติธรรม

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาของพระสันตะปาปาคลีเมนต์ ที่ 11 ซึ่งกล่าวถึงคุณลักษณะทั้งสองด้านนี้ของพระเจ้า

    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าเชื่อในพระองค์ โปรดประทานความเชื่อที่หนักแน่นยิ่งขึ้นแก่ข้าพเจ้า
    ข้าพเจ้ามีความหวังในพระองค์ โปรดประทานความหวังที่มั่นคงยิ่งขึ้นแก่ข้าพเจ้า
    ข้าพเจ้ารักพระองค์ โปรดให้ข้าพเจ้ารักพระองค์มากยิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด

    ข้าพเจ้านมัสการพระองค์ เพราะทรงเป็นจุดเริ่มต้นของข้าพเจ้า
    และถวิลหาพระองค์ เพราะทรงเป็นบั้นปลายของข้าพเจ้า
    ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์ เพราะทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูข้าพเจ้า
    และข้าพเจ้าเรียกหาพระองค์ เพราะทรงเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองข้าพเจ้า

    โปรดทรงนำข้าพเจ้าไปตามทางแห่งปรีชาญาณของพระองค์
    โปรดทรงรั้งข้าพเจ้าไว้ด้วยความยุติธรรมของพระองค์
    โปรดทรงบรรเทาใจข้าพเจ้าด้วยความเมตตาของพระองค์
    โปรดทรงปกป้องข้าพเจ้าด้วยพระอานุภาพของพระองค์

    ข้าพเจ้าถวายแด่พระองค์
    ความคิดของข้าพเจ้า ให้เพ่งพินิจพระองค์
    วาจาของข้าพเจ้า ให้พระองค์ทรงเป็นหัวข้อสนทนาของข้าพเจ้า
    กิจการของข้าพเจ้า ให้การกระทำของข้าพเจ้าสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 21:33-43

“จงฟังอุปมาอีกเรื่องหนึ่งเถิด”

    จงฟัง ... นี่คือคำเชิญแรกของพระเยซูเจ้าสำหรับเราในวันนี้...

    มนุษย์ยุคปัจจุบันต้องรับข้อมูลจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาท่วมตัวเรา ต่างจากบรรพบุรุษของเรา เรามีความเสี่ยงที่จะ “สร้างภูมิคุ้มกัน” ข่าวสาร ดังนั้น รายงานเรื่องภัยพิบัติต่าง ๆ จึงอาจไหลผ่านหูของเรา โดยไม่เกิดผลใด ๆ เลย เพราะเราได้ยินเรื่องทำนองนี้มากเกินไป ... อีกทั้งยังเป็นเรื่องไกลตัว ... เราไม่สนใจ หรือห่วงใยอีกต่อไป นอกจากนี้ เหตุการณ์เหล่านี้ยังเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า...

    พระเยซูเจ้าทรงขอเวลาเราสักครู่ ให้เราสนใจข่าวสารและข้อมูล พระองค์ทรงต้องการบอกความจริงที่สำคัญแก่เรา ... “จงฟัง” ... เราจะตั้งใจฟังจริง ๆ ได้หรือไม่...

“คหบดีผู้หนึ่งปลูกองุ่นไว้สวนหนึ่ง ทำรั้วล้อม ขุดบ่อย่ำองุ่น สร้างหอเฝ้า”...

    ทุกคนที่ฟังพระเยซูเจ้าคุ้นเคยดีกับพระคัมภีร์ ดังนั้น เขาจึงเข้าใจทันทีว่าพระองค์กำลังตรัสถึงใคร คหบดีที่รักสวนองุ่นของเขามากนี้คือพระเจ้า (อสย 5:17; ยรม 2:1; อสค 17:6, 19:10 เป็นต้น)

    แต่พระเจ้าทรงผิดหวังกับสวนองุ่นของพระองค์ พระองค์ทรงดูแลสวนนี้อย่างดี ทรงพรวนดิน ... เก็บก้อนหินออกไป ... คัดเลือกต้นไม้พันธุ์ดี ... ทรงปลูก ... สร้างรั้วล้อมรอบเพื่อป้องกันสวน ... ขุดบ่อย่ำองุ่น ... สร้างหอเฝ้า ... ถ้อยคำเหล่านี้ทำให้ทั้งพระเยซูเจ้า และผู้ฟังพระองค์คิดถึง “เพลงรักของผู้ที่รักสวนองุ่น” ในหนังสือประกาศกอิสยาห์ ... การดูแลต้นองุ่นเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งความสามารถ และการดูแลเอาใจใส่ ... แต่ชาวสวนจะยินดีมากเมื่อถึงเวลาเก็บผลองุ่นในฤดูใบไม้ร่วง

“... ให้ชาวสวนเช่า แล้วก็ออกเดินทางไปต่างเมือง”

    พระเยซูเจ้าทรงเพิ่มเติมรายละเอียดนอกเหนือจากธรรมประเพณี พระองค์ไม่ทรงกล่าวถึงเฉพาะ “สวนองุ่น” แต่ตรัสถึง “คนเช่าสวน” และ “การเดินทาง” ของเจ้าของสวน ขอให้สังเกตว่าในคำบอกเล่าของพระเยซูเจ้า “คหบดี” ผู้นี้เป็นผู้ทำงานทุกอย่างมาจนถึงจุดนี้ อันที่จริง เขาทำงานทุกอย่างที่จำเป็น เขาเป็นผู้ลงทุนลงแรง นี่คือสวนองุ่น “ของเขา” โดยแท้ สวนองุ่นนี้เกิดผลเพราะหยาดเหงื่อของเขา...

    แต่กระนั้น พระเยซูเจ้าก็ทรงยืนยัน แม้ว่าพระเจ้าทรงทำงานทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อสวนองุ่นของพระองค์แล้ว แต่พระองค์ไม่ได้ทรงทำทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์ทรงมอบหมายความรับผิดชอบให้มนุษย์ พระองค์ทรงไว้วางใจมนุษย์ ... การเดินทางไปต่างเมืองของเจ้าของสวนเป็นการเน้นย้ำว่าพระเจ้าทรงต้องการให้เรามีเสรีภาพและรู้จักรับผิดชอบเพียงไร “จงมีลูกมาก และทวีจำนวนขึ้นจนเต็มแผ่นดิน จงปกครองแผ่นดิน...” (ปฐก 1:25)...

    พระสมณสาสน์ของพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ว่าด้วยการทำงาน เตือนใจเราให้คิดถึงศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ บางครั้งเราบ่นว่า “พระเจ้าไม่ประทับอยู่กับเรา” แต่พระเยซูเจ้าทรงมีความคิดที่ทันสมัยมาก พระองค์ทรงกำลังบอกเราว่านี่คือ “ดุลพินิจ” ของพระเจ้า พระองค์ทรงต้องการให้เราเป็นผู้ใหญ่ ... พระองค์ทรงมอบหมายสวนองุ่นของพระองค์ ... เอกภพของพระองค์ให้เราดูแล ... มนุษย์เป็นผู้ดูแลกิจการของพระเจ้า...

    ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแลส่วนหนึ่งของ “กิจการ” นี้ซึ่งยังเป็นสมบัติของพระเจ้า พระองค์เพียงแต่มอบหมายให้ข้าพเจ้าดูแลเท่านั้น พระองค์ทรงให้ข้าพเจ้าเช่าส่วนหนึ่งของสมบัติของพระองค์ เป็นส่วนเล็ก ๆ ของพระอาณาจักรของพระองค์ ... พระองค์ทรงให้ข้าพเจ้ารับผิดชอบอะไร...

    ข้าพเจ้าต้องทำอะไรเพื่อให้เกิดผลผลิต...

    ข้าพเจ้าต้องรายงานความรับผิดชอบของข้าพเจ้าต่อพระเจ้า สำหรับสิ่งใด และบุคคลใด...

“เมื่อใกล้ถึงฤดูเก็บผล เจ้าของสวนจึงให้ผู้รับใช้ไปพบคนเช่าสวน เพื่อรับส่วนแบ่งจากผลผลิต...”

    ข้อความในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกทั้งหนักแน่น และชัดเจน โดยบอกว่า “เพื่อรับผลผลิตของเขา” ... พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่านี่คือผลผลิตของคหบดี ... และเราคิดว่าตัวเราเป็นนายเสียเอง! ดังนั้น แม้ดูเหมือนว่าพระเจ้า “ไม่อยู่” แต่พระองค์ไม่ได้โง่! การอยู่ห่าง ๆ ของพระองค์ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ไม่สนใจใยดี ราวกับว่ามนุษย์สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ และเป็นนายของตนเองได้ ซึ่งเป็นการประจญที่เกิดขึ้นกับอาดัมมาตั้งแต่ต้น (ปฐก 3:5) เขาต้องการ “เป็นเหมือนพระเจ้า” ... พระเจ้าไม่ทำตัวเป็นกลาง หรืออ่อนแอ หรือนิ่งเฉย แต่พระองค์ทรงจัดการกับมนุษย์ในฐานะบุคคลที่รู้จักรับผิดชอบ จะมีวันหนึ่งที่เป็นวันเก็บเกี่ยว...

    “ฤดูเก็บผล” เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ้าเก็บเร็วเกินไป ผลไม้จะไม่สุก แต่ถ้าเก็บช้าเกินไป ผลไม้จะเน่าและกินไม่ได้ ... ดังนั้น ในชีวิตของเราจึงมีช่วงเวลาที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน ในเวลานั้น เราไม่ควรพลาดเวลาเก็บเกี่ยว...

    พระเจ้าข้า พระองค์ทรงคาดหมายสิ่งใดจากข้าพเจ้าบ้าง...

    อะไรบ้างที่ข้าพเจ้าทำได้ในวันนี้ ซึ่งข้าพเจ้าทำไม่ได้เมื่อวานนี้ และจะทำไม่ได้ในวันพรุ่งนี้ ... ในส่วนของแผนการของพระองค์ที่ทรงมอบหมายให้ข้าพเจ้ารับผิดชอบ...

    อะไรบ้างที่ข้าพเจ้าอยากจะทิ้งให้เน่าในยุ้งฉาง...
“... แต่คนเช่าสวนได้จับคนใช้ ทุบตีคนหนึ่ง ฆ่าอีกคนหนึ่ง เอาหินทุ่มอีกคนหนึ่ง”

    ฤดูเก็บเกี่ยวที่นองเลือด! นี่คือสัญลักษณ์ของการปฏิเสธพระเจ้า...

    การปฏิเสธพระเจ้ายังเกิดขึ้นตราบจนทุกวันนี้ มนุษย์มองว่าพระเจ้าเป็นผู้ขัดขวางความสุข เมื่อพระองค์ทรงเชิญชวนเราให้มอบผลผลิต “ของพระองค์” คืนให้พระองค์ ... ถูกแล้ว เราทุกคนอยากจะอยู่โดยไม่มีพระเจ้า และต้องการบริหารจัดการสวนองุ่นของพระองค์เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง...

    ในชีวิตของข้าพเจ้ามีผลผลิตใดบ้างที่ข้าพเจ้าไม่ยอมถวายคืนให้พระเจ้า ... มีข้อเรียกร้องใดบ้างที่มาพร้อมกับกระแสเรียกของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าไม่เต็มใจปฏิบัติตาม

“เจ้าของสวนจึงส่งผู้รับใช้จำนวนมากกว่าพวกแรกไปอีก คนเช่าสวนก็ทำกับพวกนี้เช่นเดียวกัน”

    แม้จะพบแต่การปฏิเสธและการต่อต้านจากคนเช่าสวน เจ้าของสวนก็ยังส่งผู้นำสารมาหาครั้งแล้วครั้งเล่า “พระองค์ทรงกระทำพันธสัญญากับเขาอีก และทรงสั่งสอนเขาผ่านประกาศกทั้งหลายให้เขามีความหวังว่าจะได้รับความรอดพ้น” ... นี่แหละความอดทนของพระเจ้า ... และความเมตตาของพระองค์...

    พระเยซูเจ้าทรงย่อประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล ไว้ในข้อความนี้ – และเป็นประวัติศาสตร์ของเราด้วย...

“ในที่สุด เจ้าของสวนได้ส่งบุตรชายของตนไปพบกับคนเช่าสวน คิดว่า ‘คนเช่าสวนคงจะเกรงใจลูกของเราบ้าง’”

    เช่นเดียวกับอุปมาส่วนใหญ่ ข้อความนี้แปลกจนถึงกับไม่น่าเชื่อ ไม่มีมนุษย์คนใดบนโลกของเราที่กระทำการเช่นนี้ ไม่มีบิดาคนใดคิดจะส่งบุตรชาย “สุดที่รัก” ของเขา (มก 12:6, ลก 20:13) ไปหากลุ่มคนที่เคยฆ่า “คนรับใช้” ของเขาไปแล้วเป็นจำนวนมาก...

    แต่นี่คือประเด็นสำคัญ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ – และพระเจ้าก็ทรงเป็น “ผู้กล้า” ที่แท้จริง พระองค์ทรงยอมมอบพระบุตรของพระองค์เป็นเดิมพัน ... พระบุตรองค์นี้คือผลของความรักอ่อนโยนในพระตรีเอกภาพ – เพื่อพยายามทำให้มนุษยชาติให้ผลผลิต...

    เมื่อพระเจ้าทรงรักเราจนถึงกับประทานพระบุตรของพระองค์แก่เรา ใครจะสามารถพรากเราไปจากความรักที่มาจากพระองค์ได้ ... ขอบพระคุณ พระเจ้าข้า...

“แต่เมื่อคนเช่าสวนเห็นบุตรของเจ้าของสวนมา ก็พูดกันว่า ‘คนนี้เป็นทายาท เราจงฆ่าเขาเสียเถิด เราจะได้มรดกของเขา’ ”

    เมื่อพิจารณาสัญลักษณ์ที่ใช้ในเรื่องอุปมานี้ เราจะเห็นว่าบาปของคนเช่าสวนเหล่านี้ไม่ใช่เพราะเขาไม่สามารถทำให้สวนองุ่นออกผลได้ แต่เป็นเพราะเขาต้องการยึดผลผลิตที่ไม่ใช่สมบัติของเขาไว้เป็นของตน ... นี่คือบาปของลัทธิอเทวนิยม คือ ความต้องการจัดการโลกเพื่อประโยชน์ของมนุษย์เท่านั้น โดยไม่คิดเลยว่านี่คือสมบัติ และของประทานจากพระเจ้า ... โดยไม่คำนึงถึงแผนการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ให้มนุษยชาติ...

    เมื่อมนุษย์ไม่ยอมรับอีกต่อไปว่าพระเจ้าทรงเป็นความสุขสูงสุดของเขา เป็นความดีอย่างสมบูรณ์ เป็นทิศทางในชีวิตของเขา ... เมื่อนั้น มนุษย์ย่อมแสวงหาความสุข ความดี และทิศทางนี้ภายในตนเอง แต่นี่คือภาพลวงตา ... และปรัชญาสมัยใหม่ก็แสดงให้เราเห็นอย่างชัดแจ้งว่า “การฆาตกรรมพระเจ้า” หมายถึงความตายของมนุษย์ด้วย เห็นได้ชัดว่า เมื่อปราศจากพระเจ้า ความตายจะชนะเสมอ ความชั่วจะเป็นผู้ชนะเสมอ และมนุษย์จะหันไปหาสิ่งไร้สาระเสมอ (เจ. พี. ซาร์ตร)

“เขาจึงจับบุตรเจ้าของสวน นำตัวออกไปนอกสวน แล้วฆ่าเสีย”

    นี่คือ “ฆาตกรรมตามจารีต” อย่างแท้จริง ซึ่งกระทำตามแบบแผนทุกประการ เป็นอาชญากรรมโดยรู้ตัวและวางแผนไว้ก่อน และกระทำตามกฎในการประหารชีวิต (ลนต 24:14-16) กล่าวคือ ก่อนอื่น ผู้ที่เขาจะฆ่าต้องถูก “ตัดขาด” จากชุมชน – ถูกโยนออกไปนอกสวนองุ่น – (กจ 7:58, ลก 4:29) พระเยซูเจ้า และสเทเฟน จะถูกประหาร “นอกตัวเมือง” ... แต่ท่านไม่ควรอ่านข้อความเหล่านี้ด้วยความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชาวยิว หรือโทษชาวยิวที่ปฏิเสธพระเยซูเจ้า และพระเจ้า ... เพราะเราก็ไม่ได้พ้นผิดในข้อหานี้เช่นกัน...

    “การปฏิเสธพระเจ้า” เป็นปัญหาที่แท้จริง และเป็นคำถามที่ข้าพเจ้าต้องตอบ ... เราไม่สามารถตอบคำถามนี้ทางทฤษฏีได้ แต่ชีวิตของข้าพเจ้าเองคือคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นการตอบรับ หรือปฏิเสธ ... ข้าพเจ้าต้อนรับ หรือปฏิเสธพระเยซูเจ้า ... ข้าพเจ้ารับฟังพระวรสาร หรือทำราวกับว่าไม่มีพระวรสารอยู่ในโลกนี้ ... ข้าพเจ้าจะดำเนินชีวิตด้วยความรัก หรือโดยปราศจากความรัก ... ข้าพเจ้าจะถวายผลผลิตคืนให้พระเจ้า หรือจะยึดไว้เป็นของตนเอง ... ทางเลือกทั้งหมดนี้ไม่ได้มีคุณค่าเท่าเทียมกันหมด!

“ดังนี้ เมื่อเจ้าของสวนมา เขาจะทำอย่างไรกับคนเช่าสวนพวกนั้น” บรรดาผู้ฟังตอบว่า “เจ้าของสวนจะกำจัดพวกใจอำมหิตนี้อย่างโหดเหี้ยม และจะยกสวนให้คนอื่นเช่า ซึ่งจะแบ่งผลคืนให้เขาตามกำหนดเวลา”

    ดังนั้น นี่คือการพิพากษา – เป็นคำเตือน มิใช่เพื่อข่มขู่ แต่เพื่อนำประชาชนไปสู่การกลับใจ ถ้าเป็นไปได้ ขอเพียงให้คนเหล่านั้นฉวยโอกาสครั้งสุดท้ายของเขา ... ถ้าเขาเริ่มต้นต้อนรับบุตรของเจ้าของสวนในที่สุด แม้ว่าเขาได้เคยปฏิเสธ และฆ่าคนรับใช้ของเจ้าของสวนไปแล้วก็ตาม...

    เรารับรู้จากเรื่องอุปมานี้ว่าพระเยซูเจ้าทรงตระหนักในบทบาทของพระองค์อย่างแน่นอน พระองค์ทรงรู้ตัวว่าพระองค์คือ “พระบุตร” ผู้เสด็จมาภายหลังประกาศกทั้งหลาย ... พระองค์ทรงรู้ตัวว่าพระองค์กำลังมุ่งหน้าไปสู่ความตายด้วยความซื่อสัตย์ต่อ “พันธกิจ” ของพระองค์ ในฐานะบุคคลที่พระเจ้าทรงส่งมา ... พระองค์ทรงรู้ตัวด้วยว่างานของพระองค์ไม่อาจล้มเหลวได้ เพราะแม้ว่าพระบุตรจะสิ้นพระชนม์ แต่สวนองุ่นก็จะมอบผลผลิตให้แก่พระเจ้าได้ในที่สุด...
พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ท่านมิได้อ่านในพระคัมภีร์หรือว่า หินที่ช่างก่อสร้างทิ้งเสียนั้น ได้กลายเป็นศิลาหัวมุม”

    คริสตชนรุ่นแรกมีคำถามในใจสองข้อ คือ
-    ทำไมพระบุตรของพระเจ้าจึงถูกฆ่า
-    ทำไมผู้นำทั้งหลายของชาวอิสราเอล จึงปฏิเสธพระองค์...

    ในพระคัมภีร์ – ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าในศาสนาของเรา – เราพบคำตอบสำหรับปริศนาสองข้อนี้ เพลงสดุดี 118 ประกาศไว้ว่าศิลาที่ช่างก่อสร้างคิดว่ารูปร่างไม่เหมาะสม และโยนทิ้งไปเพราะใช้ก่อสร้างไม่ได้ ... แต่ในแผนการของพระเจ้า กลายเป็นศิลาที่สวยงาม และสำคัญ ที่วางไว้ในจุดสำคัญของอาคาร คือที่หัวมุมของกำแพงสองด้าน ซึ่งช่วยให้อาคารทั้งหลังมั่นคงแข็งแรง...

    พระเยซูเจ้าทรงกล้ายืนยันว่า พระองค์ทรงเป็นองค์ประกอบสำคัญในแผนการอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า...