วันอาทิตย์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา
อพยพ 19:2-6; โรม 5:6-11; มัทธิว 9:36-10:8

บทรำพึงที่ 1
การประชุมที่แปลกประหลาด
เราได้รับมอบหมายจากพระเยซูเจ้าให้สานต่องานที่อัครสาวกสิบสองคนได้เริ่มต้นไว้

    เวลาสองทุ่มของคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 ได้มีการจัดประชุมที่แปลกประหลาดใน วอชิงตัน ดี.ซี. ภายในอาคารหนึ่งที่เคยเป็นสถานทูตมาก่อน นักโทษ 12 คน ประกอบด้วยหญิงสองคน และชายสิบคน ผิวดำหกคน ผิวขาวหกคน ... มานั่งรอบโต๊ะตัวหนึ่ง

    คนเหล่านี้ถูกนำตัวมาที่นี่จากคุกหกแห่ง โดยรถยนต์หกคันที่ไม่มีตราสัญลักษณ์ใด ๆ รถยนต์แต่ละคันมีนักโทษโดยสารมาสองคน

    ชายคนหนึ่งนั่งที่หัวโต๊ะเตรียมเปิดการประชุม เขาสวมเสื้อแจ็กเก็ตแบบช่างไม้ และสวมกางเกงหลวม ๆ สีน้ำตาล กิริยา ร่างกาย และเสียงของเขาก็ดูสมบุกสมบัน หยาบกระด้าง ไม่ต่างจากเสื้อผ้าของเขา

    เขาชื่อ แฮโรลด์ ฮิวส์ อดีตคนขับรถบรรทุก เขาเคยติดคุก และเคยเป็นทหารในสนามรบ และเขาได้กลับใจไปหาพระเยซูคริสตเจ้า จากนั้น เขากลายเป็นผู้ว่าราชการของรัฐไอโอวา และเป็นวุฒิสมาชิกคนหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา

    บุคคลที่นั่งข้างตัวเขาคือชาร์ลส์ โคลสัน อดีตที่ปรึกษาคนหนึ่งของประธานาธิบดี เขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากคุกเมื่อไม่นานมานี้หลังจากใช้โทษในคดีวอเตอร์เกต ซึ่งเป็นเหตุให้ประธานาธิบดีนิกสันต้องลาออกจากตำแหน่ง

    รอบอาคารนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ห่างออกไปเพียงสองสามช่วงตึก มีสิ่งเย้ายวนต่าง ๆ มากมาย ทั้งบาร์เหล้า โรงบิลเลียด และสถานอาบอบนวด

    เมื่อนาฬิกาตีบอกเวลาสองทุ่ม ฮิวส์ก้มศีรษะ และเปิดประชุมด้วยบทภาวนา จากนั้น เขาก็พูดกับนักโทษทั้งสิบสองคนว่า

    “พวกคุณทั้งชายและหญิง ไม่ได้มาที่นี่เพื่อเล่น หรือพักผ่อน คุณอยู่ที่นี่เพื่อเรียนรู้ความหมายของการเป็นศิษย์พระคริสต์ ผู้ปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเพื่อเห็นแก่พระเยซูคริสตเจ้า ถ้าคุณมีความคิดอะไรอยู่ในใจจงลบมันออกไปให้หมด ... พวกคุณอยู่ที่นี่เป็นตัวแทนของนักโทษอื่น ๆ อีกสามแสนคนในคุกทั่วประเทศ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีความหวัง คุณคือผู้รักษาผลประโยชน์ของพวกเขา ถ้าการทดลองครั้งนี้สัมฤทธิผล ผมสัญญากับคุณได้เลยว่าชีวิตของนักโทษอื่น ๆ ทุกคนจะดีขึ้น ถ้าคุณล้มเหลว เขาก็จะสิ้นหวังต่อไป”

    นักโทษชายและหญิงเหล่านี้ถูกคัดเลือกอย่างรอบคอบ ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของความฝันของชาร์ลส์ โคลสัน ขณะที่เขาเองกำลังรับโทษในคุกแม็กซ์เวลในรัฐอลาบามา

    ระหว่างสองสัปดาห์ต่อมา พวกเขาแบ่งปันความเชื่อกัน ศึกษาพระคัมภีร์ และสวดภาวนาร่วมกัน มีคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่ล่วงรู้ถึงการทดลองประหลาดครั้งนี้ และบางคนก็ไม่มั่นใจเลยว่าการทดลองครั้งนี้จะมีผลลัพธ์อย่างไร

    สัปดาห์แรกผ่านไป เป็นสัปดาห์ที่เข้มข้นที่สุด ทั้งฮิวส์และโคลสันรู้สึกได้ว่าถึงเวลาที่ควรหยุดพักแล้ว ทั้งสองประกาศในคืนวันเสาร์ ว่าหลังจากไปวัดวันอาทิตย์แล้ว นักโทษเป็นอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ เขาสามารถออกไปเปิดหูเปิดตา นอน หรือออกกำลังกายในห้องยิมก็ได้

    นักโทษจับกลุ่มกัน แล้วก็ประกาศการตัดสินใจว่าพวกเขาจะไปเยี่ยมคุกในพื้นที่นั้นในวอชิงตัน และเป็นพยานยืนยันความเชื่อของพวกเขาในพระเยซูเจ้า การตัดสินใจของเขาแสดงให้เห็นจิตตารมณ์อันเหลือเชื่อของพวกเขาที่มีอยู่ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของการประชุมสองสัปดาห์นี้

    เกิดอะไรขึ้นกับนักโทษกลุ่มนี้ และการทดลองของเขา? สรุปสั้น ๆ ได้ว่า การประชุมครั้งนี้กลายเป็นเมล็ดมัสตาร์ดที่เติบโตจนกลายเป็นโครงการเพื่อนนักโทษที่น่าทึ่ง เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา โครงการนี้สร้างความแตกต่างให้กับชีวิตของนักโทษ 25,000 คน ในคุกมากกว่า 500 แห่ง

    นอกจากจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ และสวดภาวนาแล้ว โครงการนี้มีกิจกรรมต่อไปนี้

•    ให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวัตถุ และจิตวิญญาณแก่ครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวเป็นนักโทษในเรือนจำ
•    เตรียมความพร้อมให้คู่สมรสของนักโทษเพื่อรับมือกับความยากลำบาก ซึ่งบ่อยครั้งเกิดขึ้นหลังจากนักโทษออกจากคุก และ
•    ให้ความช่วยเหลือด้านจิตวิญญาณแก่นักโทษระหว่างช่วงเวลาหลายสัปดาห์  หลายเดือน หรืออาจเป็นปี หลังจากนักโทษได้รับการปล่อยตัว

    การประชุมของนักโทษสิบสองคนในคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน 1975 ในอาคารที่เคยเป็นสถานทูต มีความคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับพระวรสารที่เราอ่านในวันนี้ ซึ่งบอกเล่าถึงการประชุมอีกครั้งหนึ่งของคนสิบสองคนที่กลับใจมาติดตามพระเยซูคริสตเจ้า และได้รับมอบหมายให้ออกไปเพื่อเปลี่ยนโลกของเขา

    ทั้งสิบสองคนนี้ก็ผ่านโครงการอบรมอย่างหนักเช่นกัน และเขาเป็นผู้กำความหวังในอนาคตไว้ในมือของเขา คนจำนวนมากในยุคสมัยของเขาไม่มั่นใจว่าพวกเขามีความสามารถพอจะปฏิบัติงานตามความฝันของผู้นำของเขา

    เกิดอะไรขึ้นกับการประชุมของอัครสาวก 12 คน ในแคว้นกาลิลี ในวันนั้น? เราทุกคนรู้คำตอบ การประชุมของเขากลายเป็นเมล็ดมัสตาร์ด ซึ่งเติบโตกลายเป็นขบวนการที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่าคริสตศาสนา
    บัดนี้ ขบวนการนี้ขยายไปทั่วโลก และสร้างความแตกต่างให้แก่ชีวิตของมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้

    เรื่องของนักโทษสิบสองคน และของอัครสาวกสิบสองคน สื่อสารอะไรแก่เราในวันนี้ สารนี้เป็นสารเดียวกับสารที่ แฮโรลด์ ฮิวส์ บอกแก่นักโทษที่นั่งรอบโต๊ะในวอชิงตัน เป็นสารเดียวกับสารที่พระเยซูเจ้าทรงบอกแก่อัครสาวกที่มารวมกลุ่มกันรอบพระองค์ในแคว้นกาลิลี

    “ข้าวที่จะเก็บเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย ... ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทนก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย”

    พระเยซูเจ้ากำลังตรัสกับเราเหมือนกับที่พระองค์ตรัสแก่อัครสาวก พระองค์ทรงกำลังบอกให้เราออกไป และแบ่งปันความเชื่อที่เราได้รับมาโดยไม่จ่ายค่าตอบแทน ให้แก่พี่น้องชายหญิงของเรา

    พระองค์กำลังตรัสกับเราด้วยข้อความที่คล้ายกับที่ แฮโรลด์ ฮิวส์ กล่าวแก่นักโทษสิบสองคนที่นั่งอยู่รอบโต๊ะในวอชิงตัน ดี.ซี. ในคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน 1975 ว่า

    “พวกท่านทั้งชายและหญิง อยู่ที่นี่ในฐานะตัวแทนของคนหลายล้านคนบนโลกนี้ พวกเขาส่วนใหญ่ไม่มีความหวัง ท่านทั้งหลายเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ของพวกเขา ถ้าท่านนำความเชื่อของพระเยซูเจ้าไปมอบให้เขาได้สำเร็จ เราขอสัญญากับท่านว่าชีวิตของเขาจะดีขึ้น ถ้าท่านล้มเหลว พวกเขาก็จะสิ้นหวังต่อไป”

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 9:36-10:8

    วันนี้ เราเริ่มต้นอ่านอีกบทหนึ่งของพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว

    หลังจากการเทศน์สอนช่วงแรก ซึ่งเริ่มต้นด้วยบทเทศน์บนภูเขา และพระเยซูเจ้าทรงระบุหลักการพื้นฐานของคำสั่งสอนของพระองค์ และทรงเริ่มแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีสิทธิอำนาจพิเศษ โดยทรงทำ “เครื่องหมายอัศจรรย์” ... บัดนี้ เราเข้าสู่ช่วงใหม่ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “คำสั่งสอนอัครสาวก” โดยทรงใช้คำสั่งสอนนี้รวบรวมบุคคลที่จะมาร่วมปฏิบัติพันธกิจของพระองค์

เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นประชาชน ก็ทรงสงสาร...

    พระเนตรของพระเยซูเจ้า ... สายพระเนตรของพระเยซูเจ้า ... เราเห็นสายพระเนตรที่เปี่ยมด้วยความสงสารนี้จากภาพวาดหลาย ๆ ภาพ...

    เรา “มอง” ได้หลายวิธี หญิงสาวที่ขายของในร้านค้าผู้เคยชินกับการถูกมองอย่างเฉยเมยจากคนทั่วไป บอกลูกค้าสตรีคนหนึ่งว่า “คุณมองดิฉันต่างจากที่คนอื่น ๆ มอง ดิฉันเดาว่ามี ‘บางสิ่งบางอย่าง’ ในตัวคุณ”...
    พระเยซูเจ้า “ทรงสงสาร” ... คำกริยาภาษากรีกว่า esplachnizon ซึ่งแปลตรงตัวว่า “สะเทือนถึงลำไส้ (to be moved in the bowels)” ทำให้คิดถึงคำภาษาฮีบรูว่า rahamim ซึ่งแปลได้ด้วยว่า “ครรภ์มารดา” และ “ความรัก” ... ในพระวรสาร คำกริยานี้สงวนไว้สำหรับพระเจ้า และพระเยซูเจ้าเท่านั้น (มธ 20:34, 18:27; ลก 10:33, 7:13, 15:20; มก 9:22; ฮชย 2:21; สดด 51:3; ยรม 31:20; อสย 54:7; กดว 27:16-27)

    พระเยซูเจ้าทรงรู้สึกสงสาร ... ทำไม ... พระองค์ทรงมองเห็นอะไรที่ทำให้พระเนตรของพระองค์หม่นหมองด้วยความสงสาร...

... เพราะเขาเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อย และท้อแท้ ประดุจฝูงแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง

    บางครั้ง ข้อความนี้ถูกแปลว่า “ท้อแท้ และสิ้นหวัง” หมายถึงคนทั้งหลายที่จนตรอก ... มีแต่ความเหนื่อยหน่าย ... ความรังเกียจลึก ๆ ต่อชีวิตที่ไร้สาระ ไร้ความหมาย ... ฝูงชนที่ไม่มีผู้นำทาง ... ชายและหญิงที่ไม่นับถือพระเจ้า คนที่เหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางโดยปราศจากจุดหมาย เหมือนฝูงแกะที่ถูกทิ้งให้เร่ร่อนโดยไม่มีคนเลี้ยง...

    สภาพชีวิตของคนจนยุคนี้ต่างจากสภาพของคนจนในสมัยของพระเยซูเจ้ามากนักหรือ พระเยซูเจ้าทรงมองมนุษยชาติในเวลานี้ด้วยความรู้สึกที่ต่างจากที่พระองค์ทรงมองฝูงชนในยุคนั้นหรือ...

    สำหรับเรา ... เราก็ได้รับการตักเตือนให้มองฝูงชนอย่างจริงจังด้วยไม่ใช่หรือ ... ให้เรามองดูความทุกข์ทรมานแสนสาหัสของชาย หญิง และเด็กหลายล้านคนในโลกนี้ที่ขาดแคลนอาหาร ... ความเสื่อมทางศีลธรรมของคนทั้งหลายที่ล้มเหลวในชีวิต คนที่ถูกเพื่อนมนุษย์ผลักไส และรู้สึกว่าไม่มีใครรักเขา ... ความล้มเหลวของคนที่ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ คนที่ใช้ยาเสพติดเพื่อให้ลืมความเศร้าของตน และทำลายตนเองทีละน้อย...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยศิษย์ของพระองค์ให้มองบุคคล และเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างที่พระองค์ทรงเคยมอง และอย่างที่พระองค์ยังทรงมองอยู่ในปัจจุบันด้วยเถิด...

    ทุกวันนี้ เรามองเห็นโลกทั้งใบได้ผ่านโทรทัศน์ ... เราพบเห็นชุมชนแออัดได้ในเมืองใหญ่ และที่หน้าประตูบ้านของเราเอง เราเห็นถิ่นที่อยู่ของประชากรที่ลำบากยากแค้น เรามองสภาพความเป็นจริงเหล่านี้แล้วคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร...

    เราจะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เฉยเมย ไม่สนใจ ได้แต่มองดูโดยไม่ทำอะไรเลยหรือเปล่า ... พระเยซูเจ้าทรงกำลังทำอะไร...

แล้วพระองค์ตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “ข้าวที่จะเก็บเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย”...

    พระเยซูเจ้ามิได้ทรงมองดูอย่างเฉยเมย ไม่สนใจ พระองค์ทรงมองมนุษยชาติว่าเป็นเหมือนทุ่งข้าวสาลีที่กำลังสุก หรือทุ่งนาที่ถูกพัดไหวตามลมราวกับคลื่น ข้าวพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวแล้ว และกำลังรอคอยให้มีผู้มาเก็บเกี่ยว ... ผลผลิตเหล่านี้หมายถึงความยินดี...
    แต่คนงานมีน้อย ... พระเยซูเจ้าทรงตระหนักดีว่างานของพระองค์เป็นงานใหญ่มาก พระองค์ทรงต้องการให้คนอื่นๆ มาช่วยพระองค์ทำงาน ... ใครบ้างจะอาสา...

“จงวอนขอเจ้าของนาให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวข้าวของพระองค์เถิด”

    การภาวนาคือปฏิกิริยาแรกของพระเยซูเจ้าในการปฏิบัติพันธกิจ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น...

    ทำไมพระเจ้าผู้ทรงเป็นเจ้าของนา จึงไม่ทรงส่งคนงานที่จำเป็นมาเอง ... ทำไมพระองค์จึงทรงขอให้เราวอนขอ...

    นี่คือความเคารพอันยิ่งใหญ่ในความรับผิดชอบของมนุษย์ พระเจ้าทรงต้องการความช่วยเหลือจากมนุษย์...

    นี่คือธรรมล้ำลึกของการภาวนาวอนขอ การภาวนาทำให้เราเห็นว่าเรากำลังทำงานเพื่อเก็บเกี่ยว ... ท่านเป็นคนงานคนแรกที่พระเจ้าทรงขอให้ช่วย ... ถ้าท่านภาวนา ... จงอย่าเพียงแต่วอนขอให้พระเจ้าทรงส่งคนอื่น ๆ มาทำงานนี้ แต่จงไปทำด้วยตนเอง “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ โปรดส่งข้าพเจ้าไปเถิด” (อสย 6:8)

    ทุกวันนี้ เราแสดงความห่วงใยอย่างยิ่งเกี่ยวกับงานประกาศพระวาจาที่หนักมาก เราห่วงใยแต่วิธีการทำงาน ... แต่ก่อนที่เราจะหมกมุ่นอยู่กับวิธีการ ไม่ควรหรือที่เราจะปลุกจิตสำนึกของเราให้รับรู้ถึงหัวใจของพันธกิจนี้ ... งานของเราในฐานะธรรมทูตขึ้นอยู่กับใครคนหนึ่ง ผู้ทรงส่งเราไป ... งานนี้ไม่ใช่งาน “ของเรา” เราไม่ได้ทำงานเพื่อผลประโยชน์ “ของเรา”...

    เราทำงานในนาข้าวของพระเจ้า เรากำลังเก็บเกี่ยวข้าวของพระองค์ และ “พระองค์มีพระประสงค์ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้น”  (1 ทธ 2:4) ... ดังนั้น การภาวนาจึงสำคัญเหนือวิธีการอื่นทั้งหมด...

    วิกฤติกระแสเรียกในปัจจุบัน ลึก ๆ แล้วก็เป็นวิกฤติของการภาวนาไม่ใช่หรือ...

พระเยซูเจ้าทรงเรียกศิษย์สิบสองคนเข้ามาพบ ประทานอำนาจให้เขาขับไล่ปีศาจ ให้รักษาโรค และความเจ็บไข้ทุกชนิด

    พระเยซูเจ้าไม่ประสงค์จะปฏิบัติงานตามแผนการของพระเจ้าด้วยพระองค์เองตามลำพัง พระองค์ทรงมอบหมายพันธกิจและอำนาจของพระองค์ให้มนุษย์ “บางคน” ให้แก่ศิษย์สิบสองคนจากบรรดาศิษย์นับร้อยคนที่ติดตามพระองค์ ... ในข้อความนี้ เราเห็นต้นกำเนิดของสังฆภาพ พระเยซูเจ้าทรงต้องการกำหนดโครงสร้างให้พระศาสนจักรของพระองค์

    จำนวน “สิบสอง” มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ หมายถึงชนสิบสองเผ่าของอิสราเอล ซึ่งประกอบขึ้นเป็น “ประชากรของพระเจ้า” ซึ่งจะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในแต่ละเดือนตลอดสิบสองเดือนของปีจันทรคติ ... ดังนั้น จำนวน “สิบสอง” จึงหมายถึงความครบถ้วนของ “ดินแดนพันธสัญญา” และความครบบริบูรณ์ของ “กาลเวลา” อีกด้วย...

อัครสาวกสิบสองคนมีนามดังนี้ คนแรกคือซีโมน ผู้มีสมญาว่าเปโตร กับอันดรูว์น้องชาย ฟิลิปและบาร์โธโลมิว โธมัสและมัทธิวคนเก็บภาษี ยากอบ บุตรอัลเฟอัส และธัดเดอัส ซีโมนจากกลุ่มชาตินิยม และยูดาส อิสคาริโอท ต่อมายูดาสผู้นี้ทรยศพระองค์

    ผู้นิพนธ์พระวรสารเอ่ยรายชื่อนี้สี่ครั้ง โดยมีความแตกต่างกันเล็กน้อย และชื่อส่วนใหญ่ตรงกัน มัทธิวเอ่ยชื่อบุคคลเหล่านี้โดยจับเป็นคู่ ซึ่งน่าจะมีจุดประสงค์บางอย่าง องค์ประกอบของทีมงานของพระเยซูเจ้ามีนัยสำคัญมาก พระองค์ทรงเลือกผู้ร่วมงานใกล้ชิด ในเวลาเดียวกัน มี “คนเก็บภาษี” ซึ่งโดยอาชีพถือว่าเป็นผู้ยอมอ่อนข้อให้แก่กองทัพโรมันที่ยึดครองแผ่นดินของชาวยิว และยังมีซีโมน ชาวคานาอัน ที่มาจาก “กลุ่มชาตินิยม” ซึ่งต่อต้านชาวโรมัน มัทธิวย้ำให้เห็นส่วนผสมที่ไม่น่าจะเข้ากันได้นี้ บางทีเขาอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าพระศาสนจักรจำเป็นต้องมีลักษณะพหุนิยม สามารถรับมือกับความแตกต่างและความขัดแย้ง และสนับสนุนให้เกิดความสนิทสัมพันธ์ในระดับที่สูงกว่า ... “ถ้าท่านทักทายแต่พี่น้องของท่านเท่านั้น ท่านทำอะไรพิเศษเล่า ... แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า จงรักศัตรู” (เทียบ มธ 5:43-48)...

    ท้ายที่สุด เราเดาได้จากถ้อยคำเหล่านี้ว่าพระศาสนจักรควรมีลักษณะต่ำต้อยอย่างไร .. ในบรรดาผู้นำมี “คนที่หนึ่ง” คือเปโตร ผู้ปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซูเจ้า และ “คนสุดท้าย” คือยูดาส ผู้ทรยศและมอบพระองค์ให้แก่เพชฌฆาต เป็นทีมงานที่น่าสงสารจริง ๆ ความเข้มแข็งของทีมงานนี้อยู่ที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกเขาด้วยเหตุผลอันเร้นลับ “เราไม่เรียกท่านว่าเป็นผู้รับใช้อีกต่อไป ... เราเรียกท่านเป็นมิตรสหาย” (ยน 15:15)...

พระเยซูเจ้าทรงส่งอัครสาวกสิบสองคนนี้ออกไป ทรงสั่งเขาว่า “อย่าเดินตามทางของคนต่างชาติ อย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมาเรีย แต่จงไปหาแกะพลัดฝูงของวงศ์วานอิสราเอลก่อน”

    พระเยซูเจ้าทรงส่งเขาไป ... จงไป ... จงเริ่มทำงาน .. แต่ขอให้สังเกตว่าพระองค์ทรงจำกัดพื้นที่ของการทำงาน ตรงกันข้ามกับพันธกิจสากล ซึ่งพระองค์จะทรงมอบหมายให้ภายหลังกลับคืนพระชนมชีพ “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา” (มธ 28:19)

    ทำไมพระองค์จึงทรงจำกัดพื้นที่งานแพร่ธรรมครั้งแรกให้อยู่ภายในแคว้นกาลิลีเท่านั้น อาจเป็นเพราะทรงต้องการแสดงว่าพระเจ้าทรงรักษาสัญญาของพระองค์ และอิสราเอลต้องเป็นชนชาติแรกที่ได้ยินข่าวดี (นักบุญเปาโลก็จะทำเช่นเดียวกันนี้) เหตุผลอีกข้อหนึ่งก็คือ ไม่มีมนุษย์คนใดทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน เราต้องเริ่มต้นจากที่ใดที่หนึ่ง ... และไม่อ้างว่างานนี้ใหญ่เกินไปเพื่อจะไม่ทำอะไรเลย...

    จงไป ... จงเริ่มต้นทำงาน ... ท่านเป็นผู้ถูกส่งไป ... การชุมนุมของคริสตชนแต่ละครั้งจบลงด้วยคำว่า Ite, missa est ซึ่งแปลตรงตัวว่า “จงไปปฏิบัติพันธกิจนี้เถิด (Go, this is the mission)”

    ชุมชนพระศาสนจักรเป็นชุมชนที่ต้องแยกตัวจากกัน และกระจายตัวไปอยู่ร่วมกับชาวโลก เพื่อร่วมกับผู้มีความเชื่อ หรือผู้ไม่มีความเชื่อ และสร้าง “ชุมชนมนุษย์” ขึ้นมา ... พระศาสนจักรที่มารวมตัวกันในพิธีบูชาขอบพระคุณ มีหน้าที่ประกาศแผนการของพระเจ้า คือให้นำบุตรทั้งหลายของพระเจ้าที่กระจัดกระจาย มารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ... มีหน้าที่แสดงว่ามนุษยชาติที่มีหลากหลายชนชาติจะต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวกันตามภาพลักษณ์ของพระตรีเอกภาพ “ให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงอยู่ในข้าพเจ้า และข้าพเจ้าอยู่ในพระองค์ ... เพื่อโลกจะได้เชื่อ” (ยน 17:21)...

    “พันธกิจ” หรือ “การส่งไป” คือแก่นแท้ของพระศาสนจักร งานแรกของพระศาสนจักรไม่ใช่เพื่อหาสมาชิกใหม่ (“มาร่วมงานกับเราซิ”) แต่เพื่อประกาศว่า “พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว ... พระเจ้าประทับอยู่กับท่าน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด”...

    การประกาศพระวาจา ... การประกาศข่าวดีเป็นภารกิจแรกที่ต้องทำ...

“จงไปประกาศว่าอาณาจักรสวรรค์ใกล้เข้ามาแล้ว จงรักษาคนเจ็บไข้ จงปลุกคนตายให้กลับคืนชีพ จงรักษาคนโรคเรื้อนให้สะอาด จงขับไล่ปีศาจให้ออกไป ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน ก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย”

    ข้อความนี้ประกาศแผนการของพระเจ้าโดยใช้ภาษาสัญลักษณ์ พระเจ้าประทับอยู่แล้วในชีวิตมนุษย์ ดังนั้น ชีวิตมนุษย์จึงมีความสำคัญมากกว่าที่เราคิด เพราะการรักใครสักคนก็คือการบอกเขาว่า “ท่านจะไม่ตาย” ... การสมรส และให้กำเนิดบุตร ก็คือการแสดงความเชื่อในชีวิตที่อยู่เหนือความตาย...

    พระอาณาจักรของพระเจ้าเริ่มต้นขึ้นแล้ว ความแตกต่างระหว่างผู้มีความเชื่อ และผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า ก็คือ ผู้มีความเชื่อรับฟังในส่วนลึกของตัวเขา ว่าชีวิตของเขามีความหมายอย่างไร และรู้ว่าเขากำลังมุ่งหน้าไปที่ใด ... เขาเชื่อว่าพระเจ้าทรงกำลังนำทางประวัติศาสตร์ และเขามีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์โดยรู้ตัว และเต็มใจให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ... ด้วยการทำให้ชีวิตได้รับชัยชนะ!