วันอาทิตย์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา
บุตรสิรา 15:15-20; 1 โครินธ์ 2:6-10; มัทธิว 5:17-37

บทรำพึงที่ 1
ทางหลวงสู่สวรรค์
ถ้าเรานำพลังงานที่เราใช้ในการแสดงความโกรธ มาแสดงความเมตตากรุณา เราสามารถนำความยินดีมาสู่ชีวิตของเรา และชีวิตของผู้อื่นได้

    บ่ายวันศุกร์วันหนึ่ง ไมเคิล แลนดอน นักแสดงผู้ล่วงลับ กำลังขับรถอยู่บนถนนที่ไม่จำกัดความเร็วในเมืองลอสแองเจลีส วันนั้นอากาศร้อนและการจราจรติดขัดมาก ผู้ขับขี่รถยนต์กดแตรเสียงดัง หลายคนอารมณ์เสีย และตะโกนด่าทอกันจากหน้าต่างรถยนต์

    แลนดอนถามตนเองว่าทำไมจึงมีแต่ความโกรธทั่วไปอย่างนี้ ทำไมมนุษย์จึงเกลียดกันมากเช่นนี้ ทำไมเราจึงยอมเสียพลังงานมากมายไปกับความโกรธ อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราใช้พลังงานนี้ไปในการแสดงความเมตตากรุณาแทนที่จะแสดงความโกรธ

    เขาหวนคิดถึงวัยเด็กของเขา เขามักเห็นมารดาที่เป็นคาทอลิก และบิดาที่เป็นชาวยิว แสดงความเกรี้ยวกราดใส่กัน แล้วความคิดหนึ่งก็แวบเข้ามาในสมอง ทำไมจึงไม่มีภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ที่เสนอแนวคิดว่าความเมตตากรุณา - และมิใช่ความโกรธ - เป็นหนทางแก้ปัญหาชีวิต ในเวลานั้นเอง เขาก็เกิดความคิดที่จะผลิตภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ ชื่อ “ทางหลวงสู่สวรรค์ (Highway to Heaven)”

    หัวข้อของแต่ละตอนของภาพยนตร์เรื่อง “ทางหลวงสู่สวรรค์” เป็นหัวข้อเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนในบทเทศน์บนภูเขา ซึ่งเป็นหัวข้อพระวรสารในวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้ประชาชนแสดงความเมตตากรุณาต่อกัน ถึงกับว่า แม้เมื่อเราได้รับการปฏิบัติอย่างขาดความกรุณา ก็ให้ “หันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาตบด้วย”

    ในบทอ่านพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเตือนผู้ที่โกรธเคืองผู้อื่นว่า “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่าอย่าฆ่าคน ผู้ใดฆ่าคนจะต้องขึ้นศาล แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้องจะต้องขึ้นศาล”

    พระเยซูเจ้าทรงดำเนินชีวิตตามคำสอนข้อนี้ พระองค์ทรงแสดงความกรุณาต่อคนบาป ทรงแสดงความสงสารต่อคนป่วย ทรงแสดงความเมตตาต่อศัตรูของพระองค์

    ความเมตตากรุณานำพระพรมาสู่บุคคลที่เราแสดงความเมตตากรุณา และยังนำพระพรมาสู่เราด้วย ไมเคิล แลนดอน อธิบายประเด็นนี้ในบทความที่เขาเล่าว่า เขาเกิดความคิดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง Highway to Heaven มาได้อย่างไร

    เขาพูดถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเขาอายุ 19 ปี เขาเพิ่งได้รับค่าจ้างเป็นเงิน 260 ดอลลาร์ สำหรับงานแสดงครั้งแรกในรายการโทรทัศน์ชื่อ John Nesbitt’s Passing Parade เขาเขียนว่า

    “ผมรู้สึกว่าตนเองรวย และโด่งดัง จนผมตัดสินใจไปเยือนเบเวอร์ลี่ฮิลล์ ที่ซึ่งผมแทบไม่เคยไป และเดินชมสินค้าตามหน้าต่างร้านค้า” เมื่อมาถึงร้านขายของเล่น เขาเห็นเด็กชายเล็ก ๆ สองคนยืนจมูกชิดหน้าต่าง มองดูของเล่นในร้าน

    แลนดอนถามเด็กชายทั้งสองว่าเขาชอบของเล่นชิ้นใดมากที่สุด เด็กคนหนึ่งชี้ไปที่เกวียนเล่มหนึ่งอย่างตื่นเต้น อีกคนหนึ่งชี้เครื่องบินจำลอง แลนดอนพาเด็กทั้งสองเข้าไปในร้าน และซื้อของเล่นให้ เด็กทั้งสองดีใจจนทำอะไรไม่ถูก

    แต่สิ่งที่ทำให้หนุ่มวัย 19 อย่างแลนดอนแปลกใจมากที่สุดคือความรู้สึกตื่นเต้นยินดีที่เขาเองรู้สึกจากการแสดงความเมตตากรุณาครั้งนี้ เขาบอกว่า “มันเป็นความรู้สึกที่ลึกกว่า และอิ่มใจกว่าที่ผมเคยรู้สึกมาก่อน และยั่งยืนกว่าด้วย เห็นไหมว่าผมกำลังบอกเล่าเรื่องนี้ให้คุณฟังหลังจากเวลาผ่านมาแล้วถึง 30 ปี

    เรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเกี่ยวกับความเมตตากรุณา นั่นคือ ความเมตตากรุณาไม่เพียงนำความสุขมาให้แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง แต่อาจถึงกับเปลี่ยนชีวิตคนเหล่านี้ได้อย่างอัศจรรย์

    ตอนหนึ่งของภาพยนตร์ชุดเรื่อง Highway to Heaven เป็นเรื่องของเด็กที่เป็นโรคมะเร็ง แลนดอน และทีมงานเกิดความคิดว่าเขาน่าจะใช้ผู้ป่วยตัวจริงรับบทนี้ในเรื่อง ผู้ป่วยเด็กคนหนึ่งเป็นเด็กชายชื่อ จอช วู้ด กรณีของเขาน่าเศร้าเป็นพิเศษ เพราะเขาได้สูญเสียขาข้างหนึ่งไปแล้วเพราะโรคมะเร็ง แต่สิ่งที่จอชกังวลมากกว่าก็คือ เขามีปัญหาในการพูด เขาพูดติดอ่าง คนทั่วไปไม่ค่อยอยากพูดกับเขา และเมื่อคนหลีกเลี่ยงที่จะพูดกับเขา เขาก็ติดอ่างมากขึ้นอีก

    แลนดอนทำให้ทุกคนประหลาดใจเมื่อเขาขอให้จอชมาทดสอบหน้ากล้องโดยบอกเด็กชายว่า “สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการแสดงคือการเป็นนักแสดงที่เก่ง (ถ้าเธอติดอ่างก็ไม่เป็นไร) เธอก็จะเป็นนักแสดงเก่ง ๆ คนหนึ่งที่ติดอ่าง” แล้วทุกคนก็ต้องประหลาดใจ เมื่อเด็กชายอ่านบท เขาอ่านได้โดยไม่ติดอ่างเลย หลายปีต่อมา โรคมะเร็งของจอชทุเลาลง และเขาไม่เคยติดอ่างอีกเลย

    กรณีของ จอช วู้ด เป็นตัวอย่างแสดงว่าความเมตตากรุณามีอานุภาพมากมายอย่างไร เขาเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นพลังมหาศาลที่ซ่อนอยู่ในการให้กำลังใจ และการยอมรับเพียงเล็กน้อย เขาแสดงให้เราเห็นว่าความเมตตากรุณาทำให้เกิดอัศจรรย์ได้

    บทอ่านวันนี้เชิญชวนเราให้พิจารณาชีวิตของเราเอง และถามตนเองว่ามีความเมตตากรุณาอยู่ในชีวิตของเรามากน้อยเพียงไร และเชิญชวนเราให้พิจารณาชีวิตและความรักของเราเอง และถามตัวเราว่า ชีวิตและความรักของเรา เมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตและความรักที่พระเยซูเจ้าทรงบรรยายไว้ในบทเทศน์บนภูเขาของพระองค์แล้ว เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

    บทอ่านวันนี้เชิญชวนเราให้พิจารณาชีวิตของเราเอง และถามตนเองว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราใช้พลังงานที่เราใช้ในการแสดงความโกรธ มาใช้แสดงความเมตตากรุณาแทน ชีวิตของเราและชีวิตของคนรอบตัวเราจะเปลี่ยนไป และมีความสุขมากขึ้นอย่างไร

    อาจเกิดอัศจรรย์อะไรขึ้นบ้างถ้าเราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าในบทเทศน์บนภูเขา

    เมื่อวิเคราะห์กันแล้ว ความเมตตากรุณามีพลังยิ่งใหญ่กว่าพลังนิวเคลียร์ และไม่ได้เป็นเพียงทรัพยากรของชนชาติหนึ่งใด หรือบุคคลหนึ่งใดเท่านั้น แต่เป็นทรัพยากรที่อยู่ในตัวของทุกบุคคล และทุกชนชาติ ไม่ว่าจะด้อยความสำคัญ หรือยากจนเพียงไรก็ตาม

    นอกจากนี้ ความเมตตากรุณาในตัวเรายังเป็นทรัพยากรที่มีปริมาณไม่จำกัด ยิ่งเราให้ไปมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยให้เราตระหนักถึงอานุภาพของความเมตตากรุณา
    โปรดทรงช่วยเราให้ใช้พลังนี้อย่างที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เราใช้ เมื่อพระองค์ทรงสร้างเรา
    โปรดทรงช่วยเราให้ใช้ความเมตตากรุณานี้นำความสุขมาสู่บุคคลรอบตัวเรา
โปรดทรงช่วยเราให้ใช้ความเมตตากรุณานี้ทำอัศจรรย์เยียวยาคนทั้งหลายในยุคของเรา
เหมือนกับที่พระองค์ทรงใช้ความเมตตากรุณาเยียวยาประชาชนในยุคของพระองค์เทอญ

บทรำพึงที่ 2

    บุญลาภ หรือความสุขแท้เป็นอารัมภบทของบทเทศน์บนภูเขา ซึ่งมีความยาวถึงสามบท ในส่วนแรกของบทเทศน์นี้ มัทธิวนำบทบัญญัติหกข้อที่แย้งกัน ระหว่างบัญญัติของโมเสส (“ท่านได้ยินคำกล่าวว่า”) และบทบัญญัติใหม่ของพระเยซูเจ้า (“แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า”) มารวมไว้ด้วยกัน

    ในวันอาทิตย์นี้ เราอ่านบทบัญญัติที่แย้งกันสี่ข้อแรก ซึ่งเริ่มต้นด้วยคำนำที่แสดงความคิดโดยทั่วไป

“จงอย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติ หรือคำสอนของบรรดาประกาศก เรามิได้มาเพื่อลบล้าง แต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์”

    พระเยซูเจ้าไม่ใช่นักปฏิวัติที่ต้องการเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง และเริ่มต้นใหม่โดยไม่คำนึงถึงอดีต และไม่ใช่นักอนุรักษ์ที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ราวกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างในอดีตนั้นดีไปหมดทุกด้าน...

    เราไม่ควรลืมว่ามัทธิวเขียนพระวรสารของเขาเพื่อผู้อ่านที่เป็นกลุ่มคริสตชนในปาเลสไตน์ และซีเรีย คนเหล่านี้เป็นชาวยิวที่กลับใจมาเป็นคริสตชน “วิวัฒนาการ” หรือ “ความเปลี่ยนแปลง” เป็นปัญหาที่แก้ได้ยากที่สุด ธรรมบัญญัติโบราณ และธรรมประเพณีของโมเสสข้อใดบ้างที่ควรรักษาไว้ ... เด็ก ๆ ควรเข้าสุหนัตอีกหรือไม่ เมื่อเขาได้รับศีลล้างบาปแล้ว ... ควรยึดถือข้อห้ามวันสับบาโต ต่อไปหรือไม่ ... และยังจำเป็นต้องกินเฉพาะอาหารที่อนุญาตเท่านั้นหรือไม่...

    ปัญหาของวิวัฒนาการ และความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์ ยังเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในทุกยุคสมัย ทุกครั้งที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอระหว่าง “คนหัวโบราณ” และ “คนหัวสมัยใหม่” ... ระหว่าง “พวกประเพณีนิยม” และ “พวกนวยุคนิยม” ... นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วไปทั้งในพระศาสนจักร ในบ้านเมือง ในด้านการเมืองการปกครอง ในวิชาชีพ และในครอบครัว...

    ตามความคิดของพระเยซูเจ้า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การลบล้างกฎในอดีต หรือรักษาไว้ตามเดิม แต่ควรให้ชีวิตใหม่แก่บทบัญญัติเหล่านั้น และทำให้บทบัญญัตินั้น “สมบูรณ์” ... ประเพณีไม่จำเป็นต้องดีเพียงเพราะเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ... และความคิดอย่างหนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องดีกว่าเพียงเพราะเป็นความคิดใหม่...

    พระเยซูเจ้าทรงยกหกตัวอย่างในย่อหน้าต่อไปของบทเทศน์บนภูเขา...

“เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินยังไม่สูญสิ้นไป แม้แต่ตัวอักษรหรือจุดเดียวจะไม่ขาดหายไปจากธรรมบัญญัติ จนกว่าทุกอย่างจะสำเร็จไป ดังนั้น ผู้ใดละเมิดธรรมบัญญัติเพียงข้อเดียว แม้เล็กน้อยที่สุด และสอนผู้อื่นให้ละเมิดด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่ำต้อยที่สุดในอาณาจักรสวรรค์ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติ และสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรสวรรค์”

    พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าศาสนาคริสต์เกิดขึ้นเพื่อทำให้ศาสนายิวสมบูรณ์ “พันธสัญญาใหม่” เป็นกิ่งใหม่ที่ถูกนำมาทาบกับต้นมะกอกโบราณ และรับน้ำเลี้ยงจากต้นมะกอกนั้น คือพันธสัญญาเดิม เพื่อให้กิ่งใหม่นี้ผลิตผล (รม 11:17-24) ...

    พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลที่พระคัมภีร์ประกาศถึง และเตรียมทางไว้ให้อย่างแท้จริง ทรงเป็นผู้เสด็จมาทำให้ธรรมบัญญัติและวาจาของประกาศก – หมายถึงพระคัมภีร์ทั้งเล่ม - สมบูรณ์และเป็นจริง ... อับราฮัม โมเสส ดาวิด อิสยาห์ เพลงสดุดี ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณ ... ทั้งประวัติศาสตร์ และความคิดของชนชาติอิสราเอล ได้รับการพัฒนา และผลิบานในองค์พระเยซูเจ้า...

“เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์ และชาวฟาริสีแล้ว ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย”

    ประโยคนี้เป็นข้อความระบุหลักการทั่วไป ซึ่งพระเยซูเจ้าจะทรงขยายความโดยยกตัวอย่างบทแย้งทั้งหกข้อนี้

    “ความชอบธรรม (righteousness)” เป็นภาษาพระคัมภีร์ที่มีความหมายกว้าง และเป็นคำที่มัทธิวชอบใช้ (มัทธิว 1:19; 3:15; 5:6, 10, 20; 6:1, 33; 9:13; 10:41; 11:19; 12:37; 13:17, 43, 49; 20:4; 21:32; 23:28, 29, 35; 25:37, 46; 27:19, 24) ... พระวรสารฉบับแปลบางฉบับใช้คำว่า “ความยุติธรรม (justice)” แทน “ความชอบธรรม” แต่คำที่ใช้ในตัวบทเดิมมีความหมายกว้างกว่าความหมายของ “ความยุติธรรม” ในภาษายุคใหม่ คือหมายถึงความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นกฎควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ... ในพระคัมภีร์ “ความชอบธรรม” ประกอบด้วยการ “เป็นอย่างที่พระเจ้าทรงต้องการให้เราเป็น” ... มนุษย์ผู้ชอบธรรมคือบุคคลที่ดำเนินชีวิตอย่างกลมกลืนกับพระเจ้าผู้ทรงวางแผน และสร้างเอกภพนี้ขึ้นมา และทรงควบคุมเอกภพด้วยสติปัญญาที่ไร้ขีดจำกัด ... เนื่องจากมนุษย์ผู้ชอบธรรมดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า เขาจึงมีส่วนร่วมในชีวิตของพระองค์ และบรรลุถึงความสุข ซึ่งหมายถึง “จุดหมายที่กำหนดไว้สำหรับเขา”...

    บัดนี้ พระเยซูเจ้าทรงเสนอ “ความชอบธรรมแบบใหม่” หรือความครบครันแบบใหม่สำหรับมนุษย์ เพื่อให้มีความชอบธรรมเช่นนี้ พระองค์ตรัสว่าความชอบธรรมใหม่นี้จะต้องดีกว่าความชอบธรรมแบบเดิม ... พระองค์ทรงหมายถึงใคร...

    ธรรมาจารย์คือนักเทววิทยาของยุคนั้น เขาเป็นผู้อธิบายความหมายของพระคัมภีร์ และได้รับการยอมรับให้เป็นอาจารย์ เป็น “รับบี” ผู้สอนศาสนาอย่างเป็นทางการ...

    ชาวฟาริสี คือกลุ่มฆราวาสที่ศรัทธาในยุคนั้น และพยายามปฏิบัติตามบทบัญญัติทุกข้อโดยไม่ประนีประนอม...

    ศิษย์ของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นประชาชนที่ยากจน ซื่อ ๆ และไม่รู้หนังสือ จะเปรียบเทียบได้อย่างไรกับผู้เชี่ยวชาญธรรมบัญญัติ และกลุ่มคนที่เคร่งครัดศรัทธาเช่นนั้น...

    ตัวอย่างสามข้อแรกของ “ความชอบธรรมที่ดีกว่า” ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงยกมานั้นเป็นบทบัญญัติที่สำคัญ และจำเป็นที่สุดสำหรับชีวิตมนุษย์

    1)    ความรุนแรง ... การถ่วงดุลการใช้กำลังในหมู่มนุษย์...
    2)    เรื่องทางเพศ ... ความสัมพันธ์ทางอารมณ์ และกายภาพระหว่างชายและหญิง...
    3)    ความจริง ... การฟัง และการเสวนาในการสื่อสาร...

ความรุนแรง
“ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ผู้ใดฆ่าคนจะต้องขึ้นศาล แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้อง จะต้องขึ้นศาล ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่’ ผู้นั้นจะต้องขึ้นศาลสูง ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่บัดซบ’ ผู้นั้นจะต้องถูกปรับโทษถึงไฟนรก ดังนั้น ขณะที่ท่านนำเครื่องบูชาไปถวายยังพระแท่น ถ้าระลึกได้ว่าพี่น้องของท่านมีข้อบาดหมางกับท่านแล้ว จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น จงคืนดีกับคู่ความของท่านขณะที่กำลังเดินทางไปศาลด้วยกัน มิฉะนั้นคู่ความจะมอบท่านแก่ผู้พิพากษา และผู้พิพากษาจะมอบท่านให้ผู้คุม ซึ่งจะขังท่านในคุก เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ท่านจะออกจากคุกไม่ได้ จนกว่าท่านจะชำระหนี้จนเศษสตางค์สุดท้าย”

    นี่คือส่วนแรกที่มนุษย์ต้องเอาชนะตนเองให้ได้ คือส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ส่วนของความขัดแย้ง และความก้าวร้าว พระเยซูเจ้าทรงรู้ดีว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในหัวใจมนุษย์ การดูถูกและความอยากมีอำนาจเหนือผู้อื่นทำให้หัวใจมนุษย์มีมลทินตั้งแต่ก่อนจะเปลี่ยนไปกลายเป็น “การกระทำ” ที่ทำร้ายกัน ความรุนแรงไม่ได้มีอยู่แต่ในลูกระเบิดของผู้ก่อการร้าย ซึ่งเราคิดว่าน่ารังเกียจ แต่ความรุนแรงมีอยู่ในตัวท่านแล้ว ใจของท่าน “โกรธ” ใครที่คิดไม่เหมือนท่าน ... พระเจ้าทรงเรียกร้องความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพจากท่าน นั่นคือ ก่อนจะไปอธิษฐานภาวนา ท่านต้อง “คืนดีกับศัตรูของท่าน”...

    นี่คือความแปลกใหม่ของพระวรสาร ... เมื่อเทียบกับธรรมบัญญัติเดิม

เรื่องทางเพศ
“ท่านได้ยินคำกล่าวที่ว่า อย่าล่วงประเวณี แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว ถ้าตาขวาของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงควักมันทิ้งเสีย เพราะเพียงแต่เสียอวัยวะส่วนเดียวยังดีกว่าปล่อยให้ร่างกายทั้งหมดของท่านตกนรก ถ้ามือขวาของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย เพราะเพียงแต่เสียอวัยวะส่วนเดียวยังดีกว่าปล่อยให้ร่างกายทั้งหมดตกนรก ... มีคำกล่าวว่าผู้ใดจะหย่ากับภรรยา ก็จงทำหนังสือหย่ามอบให้นาง แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดที่หย่ากับภรรยา ยกเว้นกรณีแต่งงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เท่ากับว่าทำให้นางล่วงประเวณี และผู้ใดที่แต่งกับหญิงที่ได้หย่าร้าง ก็ล่วงประเวณีด้วย”

    ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงเป็นส่วนที่สองที่พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนเราให้เป็นผู้ชอบธรรมเกินกว่าที่กำหนดไว้ในธรรมบัญญัติ ก่อนอื่น เราสังเกตว่าพระเยซูเจ้าตรัสจาก “มุมมองของบุรุษ” เพราะในยุคของพระองค์เป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ดังนั้น เราจึงควรอ่านจากมุมมองของสตรีด้วย “หญิงใดมองชายด้วยความใคร่ ... หญิงใดละทิ้งสามี เป็นต้น”

    เยซูเจ้าตรัสถึงเรื่องทางเพศของตัวท่าน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในชีวิตสมรส หรือชีวิตถือโสด ... ขอให้อ่านข้อความเหล่านี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เสมือนว่าพระเยซูเจ้ากำลังตรัสกับตัวท่าน พระเนตรของพระองค์จับจ้องอยู่ที่ตาของท่าน ... ข้อความเหล่านี้เปิดแผลเก่ามากมายหลายแผล สะกิดใจให้คิดถึงอุดมการณ์ที่ถูกเย้ยหยัน ความฝันที่ไม่เคยกลายเป็นจริง ... คงจะดีกว่าถ้าไม่กล่าวถึงประเด็นนี้มากนัก ... การอธิบายความหมายของ “ข้อยกเว้นในพระวรสารของมัทธิว” (“ยกเว้นกรณีแต่งงานไม่ถูกต้อง”) ก็อธิบายได้ยาก จนต้องขอให้ผู้อ่านดูคำอธิบายในหมายเหตุของพระคัมภีร์เกี่ยวกับปัญหานี้...

    แต่อย่างน้อย เราก็ควรคิดถึง และจำใส่ใจ ว่าพระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนอย่างชัดเจนอย่างไร ... ในโลกของเราที่พยายามทำลายความเป็นมนุษย์ พระวาจาของพระเยซูเจ้าปฏิวัติความคิด และดูเหมือนว่าสวนกระแสความต้องการของมนุษย์ทั้งชายและหญิงอย่างแท้จริง ... อันที่จริง ลึกลงไปในหัวใจของเรา เราเข้าใจได้ว่าคำสั่งสอนนี้เพียงข้อเดียวก็ชี้ทางที่อาจหาญ และแปลกใหม่ ที่นำไปสู่ความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์อย่างแท้จริงได้แล้ว ... แต่เราไม่ควรมองว่าคำสั่งสอนนี้เป็นคำบัญชาตามกฎหมาย

    เมื่อเราเดินคู่ไปกับพระเยซูคริสตเจ้า และโดยได้รับความช่วยเหลือจากพระหรรษทานและความรักของพระองค์เท่านั้น เราจึงสามารถเป็นผู้ชอบธรรมได้มากกว่าเมื่อเราเพียงปฏิบัติตามบทบัญญัติภายนอก อย่างที่พระองค์ทรงเชิญชวนให้เราเป็น...
ความจริง
“ท่านยังได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าผิดคำสาบาน แต่จงทำตามที่ได้สาบานไว้ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย อย่าอ้างถึงสวรรค์ เพราะเป็นที่ประทับของพระเจ้า อย่าอ้างถึงแผ่นดิน เพราะเป็นที่รองพระบาทของพระองค์ อย่าอ้างถึงกรุงเยรูซาเล็ม เพราะเป็นนครหลวงของพระมหากษัตริย์ อย่าอ้างถึงศีรษะของท่าน เพราะท่านไม่อาจเปลี่ยนผมสักเส้นให้เป็นดำเป็นขาวได้ ท่านจงกล่าวเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ ที่เกินไปนั้นมาจากปีศาจ”

    คำสั่งสอนเหล่านี้ของพระเยซูเจ้าฟังดูทันสมัยที่สุด เพราะระบุปัญหาทุกด้านของการสื่อสารระหว่างบุคคล ... ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ถูกทำลายจากภายใน ด้วยการตีสองหน้า การวางแผน การหลอกลวง ความเจ้าเล่ห์ การโกหก ... สื่อมวลชนที่ยอมรับสินบน เป็นต้น…

    พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนเราให้ซื่อตรงในการสนทนาและติดต่อกัน ไม่มีประโยชน์ที่จะมองหาหลักประกันภายนอกด้วยการ “สาบาน” (“ฉันสาบานว่าฉันกำลังพูดความจริง”) คำพูดของท่านในฐานะมนุษย์คนหนึ่งต้องมีคุณค่าในตัวเอง คำว่า “ใช่” ต้องแปลว่า “ใช่” ... คำว่า “ไม่ใช่” ต้องแปลว่า “ไม่ใช่” ... พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงคิดค้นหลักจริยธรรมใหม่ พระองค์ไม่ได้ทรงล้มล้างบทบัญญัติเดิมเลย พระองค์เพียงแต่ทำให้อุดมการณ์ของมนุษย์ – ซึ่งมีอยู่แล้วในใจมนุษย์ - กลายเป็นความจริง