แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่สาม เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 8:23-9:3; 1 โครินธ์ 1:10-14, 17; มัทธิว 4:12-23

บทรำพึงที่ 1
เบบ รูธ
ศีลอภัยบาปคือการได้พบกับพระเมตตา และสันติสุขของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ

    เบบ รูธ เป็นนักเบสบอลที่มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกเคยรู้จัก และเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในแวดวงกีฬาของสหรัฐอเมริกา ด้วย

    คืนหนึ่งที่อากาศหนาวเหน็บในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1946 พระวาจาของพระเยซูเจ้าในบทอ่านจากพระวรสารวันนี้มีความหมายเป็นพิเศษสำหรับ เบบ รูธ “จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” เขาอธิบายว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ในบทความหนึ่งที่เขาเขียนลงในนิตยสาร Guideposts เขาเขียนว่า

    “แม้ว่าผมได้ทิ้งวัด แต่ผมก็มีพระแท่นส่วนตัว คือหน้าต่างบานใหญ่ในห้องชุดของผมในนครนิวยอร์ก ซึ่งมองลงไปเห็นแสงสว่างของเมืองได้

    ผมมาคุกเข่าข้างหน้าหน้าต่างนี้บ่อย ๆ และสวดภาวนา ผมจะรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยมากในเวลาเช่นนั้น ผมจะวิงวอนพระเจ้าให้ทรงช่วยผม – และภาวนาให้ผมทำได้อย่างที่พระองค์ทรงคาดหมายให้ผมทำ”

    แต่ในคืนอันหนาวเหน็บในเดือนธันวาคมนั้น เบบ กำลังนอนป่วยหนักในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนครนิวยอร์ก พอล แครี่ เพื่อนเก่าแก่และสนิทที่สุดของเบบมาเยี่ยมเขา หลังจากสนทนาสักครู่ แครี่ก็ถามรูธ ว่า “เบบ เขาจะผ่าตัดคุณตอนเช้า คุณไม่คิดว่าคุณควรจะพบพระสงฆ์หรือ”

    รูธมองเห็นความห่วงใยในดวงตาของแครี่ และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาตระหนักว่าเขาอาจไม่รอด สำหรับเขา พระอาณาจักรของพระเจ้าอาจอยู่ใกล้แล้ว เขารู้ว่าเขาต้องเชื่อพระวาจาของพระเยซูเจ้าว่า “จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” รูธมองตาแครี่ และบอกว่า “พอล ผมจะขอบคุณมากถ้าคุณเชิญพระสงฆ์มาพบผม”

    คืนนั้น เบบ รูธ สนทนากับพระเยซูเจ้าเป็นเวลานาน โดยพระสงฆ์เป็นผู้ช่วยเหลือ เมื่อเขาพูดจบ เขาก็สารภาพบาปอย่างครบถ้วน และถ่อมตน โดยไม่ปิดบังสิ่งใดเลย

    หลังจากพระสงฆ์โปรดบาปให้รูธ พระสงฆ์ตบที่มือของเขาเบา ๆ และพูดว่า “เบบ พ่อจะกลับมาตอนเช้า และส่งศีลมหาสนิทให้ลูก แต่ลูกไม่จำเป็นต้องอดอาหาร”

    ในยุคทศวรรษที่ 1940 ชาวคาทอลิกต้องอดอาหารตั้งแต่เที่ยงคืน เพื่อจะรับศีลมหาสนิทในวันรุ่งขึ้น เบบยิ้มให้พระสงฆ์ และพูดว่า “คุณพ่อครับ ถึงอย่างไรผมก็จะอดอาหาร ผมจะไม่ดื่มน้ำเลยแม้แต่หยดเดียว”
    หลังจากพระสงฆ์จากไปแล้ว เบบ บอกว่า “ขณะที่ผมนอนบนเตียงคืนวันนั้น ผมคิดในใจว่าการหลุดพ้นจากความกลัวและความกังวล ทำให้รู้สึกสบายใจจริง ๆ ผมสามารถมอบความกลัว และความกังวลให้พระเจ้าทรงดูแล”

    ประสบการณ์กับสันติสุขลึกล้ำของรูธ หลังจากรับศีลอภัยบาป เป็นประสบการณ์ที่ชาวคาทอลิกทั่วไปได้สัมผัส

    เป็นสันติสุขที่ต้องประสบด้วยตนเองจึงจะเข้าใจได้

    เป็นสันติสุขที่ได้รับจากศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งสันติสุขนี้เท่านั้น

    เป็นสันติสุขที่พระเยซูเจ้าประทานให้แก่ศีลศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพระองค์ทรงตั้งศีลนี้ในคืนวันปัสกา เมื่อพระองค์ตรัสแก่อัครสาวกว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด ... จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”

    แต่สันติสุขจากศีลอภัยบาปนี้ได้มาด้วยการแลกกับบางสิ่งบางอย่าง คือการยอมรับอย่างถ่อมตนว่าเราเป็นคนบาป และเราต้องการเปลี่ยนชีวิตของเรา

    เอมิลี กริฟฟิน ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโฆษณาในนครนิวยอร์กขณะที่เธอรู้สึกว่าอยากเป็นคาทอลิก ในหนังสือชื่อ Turning ของเธอ เธอบรรยายปฏิกิริยาแรกของเธอต่อศีลอภัยบาปว่า “ความคิดเรื่องการสารภาพบาปของดิฉันเป็นเรื่องน่าชังสำหรับดิฉัน ไม่ใช่ว่าดิฉันไม่เต็มใจสารภาพบาปของดิฉันต่อมนุษย์อีกคนหนึ่ง แต่ดิฉันไม่เต็มใจสารภาพบาปเลย ดิฉันไม่สามารถยอมรับกับตนเองว่าดิฉันเป็นคนบาป แต่ในส่วนหนึ่งของตัวดิฉัน ดิฉันรู้ว่าดิฉันมีตำหนิ ... และดิฉันละอายใจมาก”

    ดังนั้น เมื่อเอมิลีตัดสินใจเข้าเป็นคาทอลิก เธอจึงพบว่าตนเองต้องเผชิญหน้าเป็นครั้งแรกกับการยอมรับว่าเธอเป็นคนบาป และในที่สุดก็ถึงเวลาที่เธอต้องรับศีลอภัยบาป

    นั่นเป็นประสบการณ์ที่เธอจะไม่มีวันลืม เหมือนเบบ รูธ เอมิลี รู้สึกได้ถึงสันติสุขลึกล้ำ เธอสัมผัสกับอิสรภาพฝ่ายจิตที่ทำให้เธออยากกระโดด และร้องตะโกนด้วยความยินดี

    และเธอรู้สึกแปลกใจมากที่เธอพบว่าการสารภาพบาปของเธอต่อพระสงฆ์ไม่ใช่การสารภาพบาปต่อพระสงฆ์เลย เธอกล่าวในหนังสือของเธอว่า “ดิฉันเริ่มเห็นว่าพระสงฆ์ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นพระคริสตเจ้าเอง และดิฉันนึกขึ้นมาได้ว่าพระองค์ทรงแสดงความอ่อนโยนต่อคนเก็บภาษี และหญิงที่ล่วงประเวณีอย่างไร”

    ข้าพเจ้าคิดว่านี่คือคำตอบว่าทำไมคนจำนวนมากจึงสัมผัสกับสันติสุขอันลึกล้ำในศีลอภัยบาป เป็นเพราะเขารับรู้ว่าศีลนี้แท้จริงแล้วเป็นการพบกับพระเยซูเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา

    เป็นการพบกับพระเยซูเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา ผู้ตรัสอย่างอ่อนโยนกับคนเป็นอัมพาตว่า “บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” (ลก 5:20)

    เป็นการพบกับพระเยซูเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา ผู้ตรัสอย่างอ่อนโยนกับหญิงที่ถูกจับได้ว่าล่วงประเวณี ว่า “เราก็ไม่ลงโทษท่านด้วย” (ยน 8:11)

    บทอ่านจากพระวรสารในวันนี้เป็นคำเชิญให้เรามาพบกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความเมตตาในศีลอภัยบาป เป็นคำเชิญให้เราเข้ามาสัมผัสด้วยตนเองกับสันติสุขเต็มหัวใจ อย่างที่ เบบ รูธ เคยสัมผัสในคืนอันหนาวเหน็บในเดือนธันวาคม ปี 1946 เป็นคำเชิญให้เราเข้ามาสัมผัสด้วยตนเองกับสันติสุขเต็มหัวใจ อย่างที่เอมิลี กริฟฟิน เคยสัมผัสภายหลังการสารภาพบาปครั้งแรกของเธอ

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาอันไพเราะที่บางคนใช้ภาวนาเมื่อเขารับศีลอภัยบาป

ข้าแต่พระบิดาผู้ทรงเมตตา ข้าพเจ้ากลับมาหาพระองค์เหมือนลูกล้างผลาญ
และทูลพระองค์ว่า “ลูกได้ทำบาปผิดต่อพระองค์ และไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระองค์”

ข้าแต่พระคริสตเยซู พระผู้ไถ่ของโลก
ข้าพเจ้าวิงวอนร่วมกับโจรผู้สำนึกผิด
ผู้ที่พระองค์ทรงสัญญาจะประทานสวรรค์แก่เขาว่า
“พระเจ้าข้า โปรดระลึกถึงข้าพเจ้าด้วย
เมื่อพระองค์เสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์”

ข้าแต่พระจิตเจ้า ผู้ทรงเป็นน้ำพุแห่งชีวิต
ข้าพเจ้าร้องขอพระองค์ด้วยความวางใจว่า
“โปรดทรงชำระหัวใจของข้าพเจ้า
และช่วยข้าพเจ้าให้ดำเนินชีวิตเป็นบุตรแห่งแสงสว่างเทอญ”

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 4:12-23

เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทราบว่ายอห์น (ผู้ทำพิธีล้าง) ถูกจองจำ...

    เรามักคิดว่าโลกยุคปัจจุบันของเรามีแต่ความรุนแรง การจับตัวประกัน ฆาตกรรม การโจมตีด้วยอาวุธ เป็นยุคที่วุ่นวายที่สุด ... แต่พระวรสารของมัทธิว แสดงให้เห็นว่าในยุคของพระเยซูเจ้าก็มีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นเหมือนกัน ในเวลาที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองจับญาติของพระองค์ขังคุกเพื่อให้เขาหยุดเทศน์สอน พระเยซูเจ้าทรงตัดสินใจเริ่มต้นงานเทศนาสั่งสอน การตัดสินใจเช่นนี้จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญมาก...
    พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นภารกิจที่จะนำพระองค์ไปสู่ชะตากรรมอันน่าเศร้าเช่นเดียวกัน ในข้อความนี้ มัทธิวบรรยายโดยใช้คำเดียวกันกับที่เขาใช้บรรยายพระทรมานของพระองค์ “เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทราบว่ายอห์น ‘ถูกจองจำ’ … น่าเสียดายที่ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้คำที่ต่างกัน หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าจะตรัสว่า “บัดนี้ พวกเรากำลังขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม บุตรแห่งมนุษย์จะ ‘ถูกมอบ’ แก่บรรดาหัวหน้าสมณะ และบรรดาธรรมาจารย์ เขาจะถูกตัดสินประหารชีวิต และจะถูกมอบให้คนต่างชาติ” (มธ 20:18 เทียบ 26:2)

    ชีวิตของข้าพเจ้าเองก็อาจเต็มไปด้วยปัญหายุ่งยาก

    ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าต้องเผชิญจะเป็นโอกาสให้ข้าพเจ้าสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าได้หรือไม่...

จึงเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี...

    คำว่าเสด็จไปนี้ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า withdraw (ถอยออกไป) ซึ่งเป็นคำที่มัทธิวชอบใช้ในพระวรสาร และเน้นความจริงว่าพระเยซูเจ้า (เช่นเดียวกับพระเจ้า) ทรงเป็นผู้เทศน์สอนที่ไม่มีใครต้อนรับ และต้องถูกบังคับให้หลบหนีเสมอ เพราะถูกจองล้างจองผลาญจากศัตรูที่เกลียดชังพระองค์ (มธ 12:15, 14:13, 15:21) มัทธิวใช้คำเดียวกันนี้บรรยายการหลบหนีของโยเซฟออกจากแคว้นยูเดีย ซึ่งกลายเป็นสถานที่อันตรายเพราะอารเคลาอัสขึ้นครองราชย์ และ “กลับไป (withdrawing) ยังแคว้นกาลิลี” (มธ 2:22-23)

ทรงออกจากเมืองนาซาเร็ธ มาประทับอยู่ที่เมืองคาเปอรนาอุม บนฝั่งทะเลสาบในดินแดนเผ่าเศบูลุน และนัฟทาลี

    พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนสถานที่พำนัก พระองค์ทรงออกจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่พระองค์ทรงพำนักมาตั้งแต่วัยเยาว์ และเดินทางไป “เมืองใหญ่” ในศตวรรษของเราที่มีผู้พลัดถิ่นจำนวนมาก เราคงรู้สึกดีขึ้นบ้างเมื่อคิดว่าแม้แต่พระเยซูเจ้าก็ทรงต้องทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านใหม่ ๆ ต้องสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในชีวิตของพระองค์

    มัทธิวจะบอกในภายหลังว่าเมืองที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกให้เป็น “เมืองของพระองค์” คือที่ใด (มธ 9:1)

    คาเปอรนาอุมเป็นเมืองของซีโมนเปโตร การขุดหาซากทางโบราณคดีนำไปสู่การค้นพบบ้านอันสมถะของชาวประมงคนนี้ใกล้ท่าเรือ นี่คือบ้านที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาพำนัก...

    คาเปอรนาอุมเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสองรัฐที่ปกครองโดยเฮโรด และฟิลิป เมืองนี้เป็นที่ตั้งของด่านเก็บภาษี และเป็นที่ตั้งกองทหารโรมัน ต่างจากนาซาเร็ธ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางเนินเขา เมืองคาเปอรนาอุมเป็นทางผ่าน มีประชากรจากถิ่นต่าง ๆ เข้ามาพักอาศัย และเป็นจุดพักสำคัญบน “เส้นทางไปสู่ทะเล” ซึ่งเชื่อมต่อไปยังดามัสกัส เป็นประตูสู่ทะเลทราย และแคว้นเซซารียา เป็นประตูสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

    พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงเปลี่ยนที่พำนักโดยปราศจากเหตุผล สถานที่ที่พระองค์ทรงเลือกมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้เพื่อให้พระดำรัสที่ตรัสไว้ผ่านทางประกาศกอิสยาห์เป็นความจริงว่า “ดินแดนเศบูลุน และนัฟทาลี เส้นทางไปสู่ทะเล ฟากโน้นของแม่น้ำจอร์แดน แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ ประชาชนที่จมอยู่ในความมืดได้เห็นความสว่างยิ่งใหญ่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดน และในเงาแห่งความตาย แสงได้ส่องขึ้นมาเหนือพวกเขาแล้ว”

    ข้อความที่มัทธิวยกมาอ้างจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ แสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา พระองค์ทรงกระทำตามที่พระเจ้าได้ตรัสไว้ ... นี่คือการยอมรับพระประสงค์อย่างเต็มใจ และด้วยความรัก และอย่างไม่มีขีดจำกัด ผู้นิพนธ์พระวรสารยังชี้ให้เห็นด้วยว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นส่วนหนึ่งที่ต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ของชนชาติของพระองค์ มัทธิวอ้างข้อความจากพันธสัญญาเดิมถึง 66 ครั้ง แต่เราก็เห็นเจตนาของพระเยซูเจ้าในการตัดสินใจเลือกสถานที่ กล่าวคือ พระองค์เสด็จไปหาประชาชนที่ห่างไกลพระเจ้ามากที่สุด...

    ทั้งนี้เพราะกาลิลีเป็นแคว้นที่มีคนหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน เป็นพื้นที่เปิดซึ่งมีกองคาราวานเดินทางผ่าน พระเยซูเจ้าทรงเลือกมาพำนักที่นี่! พื้นที่แรกที่พระองค์ทรงเลือกเป็นสถานที่เทศน์สอน ไม่ใช่กรุงเยรูซาเล็ม นครศักดิ์สิทธิ์ หรือในแคว้นยูเดีย แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นแคว้นทางเหนือที่เปิดตัวรับอิทธิพลของชนชาติที่ไม่ใช่ชาวยิว ดังนั้น จึงเป็นสถานที่ซึ่งผู้นำชาวยิวไม่ได้วางใจ และเหยียดหยามเพราะถือได้ว่าเป็นถิ่นของคนนอกรีต

    พระศาสนจักรในปัจจุบันมีจิตตารมณ์ธรรมทูตเหมือนพระเยซูเจ้าหรือเปล่า...

    ส่วนข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้ามีปฏิกิริยาลึก ๆ อย่างไร ... ข้าพเจ้าชอบอยู่ในกลุ่มเดียวกับบุคคลที่คิดเหมือนข้าพเจ้าหรือเปล่า ... ข้าพเจ้าหลีกเลี่ยงที่จะติดต่อสื่อสารกับบุคคลที่ไม่ใช่คริสตชน และผู้ไม่นับถือพระเจ้าหรือเปล่า ... หรือข้าพเจ้าทำตัวเหมือนพระเยซูเจ้า โดยเข้าไปในชุมชนของคนนอกศาสนา ... ข้าพเจ้ากล้าเข้าไป “ในดินแดน และในเงาแห่งความตาย” หรือเปล่า เพื่อเปิดทางให้ลำแสงเล็ก ๆ ส่องเข้าไปได้...

    ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเยซูเจ้า ขณะที่พระองค์ทรงออกจากหมู่บ้านของพระองค์มาพักอาศัยในเมืองคาเปอรนาอุม...

นับแต่นั้นมา พระเยซูเจ้าทรงเริ่มประกาศเทศนาว่า “จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว”

    พระเยซูเจ้าทรงสานต่องานเทศน์สอนของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง (มธ 3:2) โดยไม่เปลี่ยนข้อความแม้แต่คำเดียว ... และหลังจากพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ เปโตรก็จะประกาศสารข้อเดียวกันนี้เช่นกัน (กจ 2:38)...

    จงกลับใจเถิด ... จงเปลี่ยนวิถีชีวิตเถิด...

    เราคิดหรือไม่ว่าเราเองก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง ... เรายังไม่เต็มใจหันไปหาพระเจ้า หรือหันไปหาผู้อื่น ... เรายึดตนเองเป็นศูนย์กลางโดยธรรมชาติ ถ้าเราเป็นคนมองการณ์ไกล เราจะตระหนักว่าเราต้องเปลี่ยนตนเองอย่างสิ้นเชิง ถ้าจะให้พระเจ้าทรงครองราชย์ในตัวเราได้อย่างแท้จริง ... ถ้าจะให้พระอาณาจักรของพระเจ้าดำรงอยู่ในชีวิตของเรา...

    พระเจ้าทรงกำลังขอให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนวิถีชีวิต และกลับใจในด้านใดในเวลานี้...
ขณะที่ทรงดำเนินไปตามชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพี่น้องสองคนคือ ซีโมน ที่เรียกว่าเปโตร กับอันดรูว์น้องชาย กำลังทอดแห เขาเป็นชาวประมง พระองค์ตรัสสั่งว่า “จงตามเรามาเถิด เราจะทำให้ท่านเป็นชาวประมงหามนุษย์”

    มัทธิวบอกเล่าเหตุการณ์อย่างเคร่งขรึมและเรียบง่าย ซึ่งเป็นลีลาปกติของเขา เหตุการณ์นี้ไม่มีอะไรแปลกประหลาด “การกระทำ” แรกของพระเยซูเจ้าตามคำบอกเล่าของมัทธิว ไม่ใช่การทำอัศจรรย์ แต่เป็น “การเรียก” การผจญภัยของพระศาสนจักร – ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่เปลี่ยนโฉมหน้าของโลก – เริ่มขึ้นเช่นนี้ ในสภาพแวดล้อมปกติของชาวประมงที่ทำงานหาเลี้ยงชีพของเขา ... ขอให้เราสังเกตจุดที่สำคัญที่สุดนี้ คือพระเจ้าทรงเรียกอัครสาวกของพระองค์ มิใช่ท่ามกลางกิจกรรมทางศาสนา ... แต่ท่ามกลางวิถีชีวิตปกติของเขา เมื่อเขากำลังทำงานของเขา...

    พระเยซูเจ้าทรงกล้าจริง ๆ พระองค์ทรงเป็นฝ่ายริเริ่ม ... พระองค์ทรงเรียก ... ดูเหมือนพระองค์ทรงรู้ดีที่สุดว่าพระองค์ทรงต้องการทำอะไร พระองค์ทรงเชิญมนุษย์ให้ติดตามพระองค์ พระองค์ไม่ทรงลังเลใจที่จะประกาศว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องเป็นศิษย์ของพระองค์ และเราต้องออกไป และ “จับ” เขาเหมือนกับชาวประมงจับปลา...

เปโตร กับอันดรูว์ ก็ทิ้งแหไว้ แล้วตามพระองค์ไปทันที

    ในปัจจุบัน เรามีความต้องการ “ชาวประมงหามนุษย์” อีกจำนวนมาก พระวรสารประจำวันนี้ควรปลุกเราให้ตื่นขึ้น เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้ายังทรงเรียกเราต่อไปอย่างแน่นอน...

    ใครจะยอมเข้าร่วมในการผจญภัยของบรรดาอัครสาวก เหมือนกับชาวประมงในยุคนั้นยอมเข้าร่วม ... คนกลุ่มแรกที่ได้ยินเสียงเรียกในเวลานั้นตอบสนองอย่างปราศจากเงื่อนไข ... ข้าพเจ้าตอบสนองอย่างไร

เมื่อทรงดำเนินไปจากที่นั่น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพี่น้องอีกสองคนคือ ยากอบ บุตรของเศเบดี และยอห์น น้องชาย กำลังซ่อมแหอยู่ในเรือกับเศเบดี ผู้บิดา พระองค์ทรงเรียกเขา ทันใดนั้น เขาก็ทิ้งเรือและบิดา แล้วตามพระองค์ไป

    เราคงคิดว่าการตอบสนองอย่างรวดเร็วเช่นนั้นแทบจะไม่น่าเชื่อ เราไม่ควรลืมว่าชายเหล่านี้ได้ถูกเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนแล้วโดยยอห์นผู้ทำพิธีล้าง พวกเขาไม่ได้พบพระเยซูเจ้าเป็นครั้งแรก เขาเคยพบพระองค์มาแล้วบนฝั่งแม่น้ำจอร์แดน  (ยน 1:35-50) ... แต่เราก็ไม่ควรลดน้ำหนักของข้อเรียกร้องของพระเยซูเจ้า คำบอกเล่านี้มีโครงสร้างเหมือนกับคำบอกเล่าเรื่องประกาศกเอลียาห์เรียกเอลีชา (1 พกษ 19:20-21) แล้วเอลีชาก็ “เผาคันไถและวัวของเขา” เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองเปลี่ยนใจ ... นี่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ปกติระหว่างศิษย์และรับบี เพราะยากอบและยอห์น อันดรูว์และเปโตร ไม่ได้แสวงหาพระเยซูเจ้า แต่พระองค์ทรงเป็นฝ่ายเชิญชวนเขาเอง...

    ถ้าพระเจ้าตรัสเรียกข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร

พระองค์เสด็จไปทั่วแคว้นกาลิลี ทรงสั่งสอนในศาลาธรรม ทรงประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักร ทรงรักษาโรค และความเจ็บไข้ทุกชนิดของประชาชน

    มัทธิวสรุปกิจกรรมทั้งปวงของพระเยซูเจ้าด้วยข้อความเหล่านี้ เขาจะใช้ข้อความเดียวกันนี้บรรยายการเริ่มต้น “พันธกิจ” อันยิ่งใหญ่ของอัครสาวก 12 คน (มธ 9:35)

    ข้าพเจ้าควรใช้เวลาเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าท่ามกลางความเงียบ ... และเป็นเวลานาน ... ข้าพเจ้านึกถึงภาพพระองค์ทรงพระดำเนินไปตามถนน จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง...

    พระองค์ทรง “เทศน์สอน” พระวรสาร ประกาศข่าวดี พระคัมภีร์ใช้คำว่า Kerusson ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ร้องตะโกน” บอกข่าวดี คำนี้ทำให้คิดถึงคนประกาศข่าวต่อสาธารณชน ... เขาไม่พูดยืดยาว แต่ตะโกนแจ้งข่าว ... คืออาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว...

    พระองค์ทรง “สั่งสอน” ด้วย คำที่ใช้ในที่นี้คือ didaskan ซึ่งหมายถึงกิจกรรมสั่งสอนที่พัฒนาให้เป็นขั้นตอนแล้ว บัดนี้ เรานึกถึงภาพของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงกำลังบอกเล่าเรื่องอุปมาให้แก่ประชาชนที่มาห้อมล้อมฟังพระองค์ นักวิชาการบางคนคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงใช้วิธีการสั่งสอนเหมือนกับรับบีในสมัยนั้น ที่ให้ศิษย์ของพระองค์ท่องจำบางข้อความซึ่งเขาจะไม่มีวันลืม

    ท้ายที่สุด พระองค์ “ทรงรักษาโรค” เราเห็นคำภาษากรีก therapeuon ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการบำบัดรักษา พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุรุษผู้อ่อนโยน ผู้ทรงยอมให้ตนเองรู้สึกสะเทือนใจเมื่อทรงพบเห็นความเจ็บปวดทรมานที่พระองค์ทรงพบระหว่างทาง

    พระเจ้าข้า โปรดทรงรักษาโรคให้เราด้วยเถิด โปรดทรงช่วยเราให้รอดพ้นด้วยเถิด และโปรดทรงทำให้เราเป็นผู้ไถ่กู้ร่วมกับพระองค์ด้วยเทอญ...