วันอาทิตย์ที่ 7 เทศกาลปัสกา
กิจการอัครสาวก 1:12-14; 1 เปโตร 4:13-16; ยอห์น 17:1-11

บทรำพึงที่ 1
พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้า
การถูกตรึงกางเขนของพระเยซูเจ้าทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ และเป็นการถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดาสวรรค์ของพระองค์

    ในบทอ่านพระวรสารประจำวันนี้ พระเยซูเจ้าอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาของพระองค์ด้วยถ้อยคำเหล่านี้

    “ข้าแต่พระบิดา ถึงเวลาแล้ว โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์แก่พระบุตรของพระองค์เถิด เพื่อพระองค์จะทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์จากพระบุตร”

    เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถึงเวลาแล้ว” พระองค์ทรงหมายถึงความตายบนไม้กางเขนของพระองค์ ซึ่งทำให้เกิดคำถามสองข้อ

    ข้อแรก - ความตายบนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าจะทำให้พระองค์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ได้อย่างไร เพราะดูเหมือนว่าการตรึงกางเขนนี้น่าจะมีผลตรงกันข้าม

    ข้อที่สอง - ความตายของพระเยซูเจ้าจะทำให้พระบิดาของพระองค์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ได้อย่างไร เพราะดูเหมือนว่าน่าจะมีผลตรงกันข้ามอีกเช่นกัน

    เราจะเริ่มต้นตอบคำถามข้อแรก ความตายของพระเยซูเจ้าจะทำให้พระองค์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ได้อย่างไร

    เมื่อเราบอกว่าบางสิ่งบางอย่างจะทำให้บุคคลหนึ่งได้รับเกียรติ เราหมายความว่าสิ่งนั้นจะเปิดเผยให้ชาวโลกเข้าใจความยิ่งใหญ่แท้จริงของบุคคลนั้น แต่น่าแปลกที่ประวัติศาสตร์แสดงให้เราเห็นว่าบ่อยครั้งที่ความยิ่งใหญ่แท้จริงของบุคคลหนึ่งจะเผยให้เห็นหลังจากบุคคลนั้นตายไปแล้วเท่านั้น

    ตัวอย่างหนึ่ง คือ กรณีของจิตรกรชาวดัทช์ ชื่อ วินเซนต์ แวนโกะ ตลอดชีวิตของเขา เขาได้วาดภาพไว้ 1,700 ภาพ แต่ระหว่างที่เขามีชีวิต เขาขายภาพวาดได้เพียงหนึ่งภาพในราคา 85 ดอลลาร์เท่านั้น เมื่อแวนโกะเสียชีวิต ทุกคนเชื่อว่าเขาเป็นจิตรกรที่ล้มเหลว แต่อีกเกือบ 100 ปีหลังจากเขาเสียชีวิต ภาพวาดภาพหนึ่งของเขาสามารถขายได้จากการประมูลในราคาสูงกว่า 40 ล้านดอลลาร์

    อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้มีคนต่อต้านมากมายระหว่างที่เขามีชีวิต คนเหล่านี้กระจายข่าวเท็จเพื่อทำให้เขาขาดความน่าเชื่อถือ และทำลายงานตามอุดมการณ์ของเขา เมื่อเขาเสียชีวิต ความจริงจึงเผยออกมา และคนทั้งโลกจึงรู้ว่าเขาเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ และจิตใจสูงส่งอย่างไร
    อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ โยอัน แห่งอาร์ค ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศฝรั่งเศส เธอถูกชาวอังกฤษเผาทั้งเป็นด้วยข้อหาว่าเป็นแม่มด และเป็นคนนอกรีต แต่เมื่อเขาเห็นว่าเธอยอมรับความตายอย่างกล้าหาญ ชาวอังกฤษคนหนึ่งพูดว่า “ขอให้วันหนึ่งวิญญาณของฉันไปอยู่ในสถานที่ซึ่งวิญญาณของหญิงคนนี้อยู่ในเวลานี้เถิด” ชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งพูดว่า “เราทุกคนพินาศแล้ว เพราะเราได้เผานักบุญองค์หนึ่ง”

    ความตายของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนก็มีผลต่อประชาชนในทำนองเดียวกันนี้ เช่น เมื่อทหารโรมันคนหนึ่งเห็นว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์อย่างไร เขาพูดว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มก 15:39)

    ความตายของพระเยซูเจ้าทำให้พระองค์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ เพราะเผยให้ชาวโลกรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง การมองเห็นพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน ดึงดูดประชาชนเข้ามาหาพระองค์เหมือนถูกดูดด้วยแม่เหล็ก

    และทุกวันนี้ ภาพของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนยังดึงดูดประชาชนมาหาพระองค์เหมือนถูกดูดด้วยแม่เหล็ก ไม่มีฉากเหตุการณ์ใดตลอดพระวรสารที่กระทบจิตใจของเราอย่างลึกซึ้งเท่ากับฉากเหตุการณ์ตรึงกางเขนพระเยซูเจ้า

    แต่ยังมีเหตุผลข้อที่สองที่ตอบคำถามว่าทำไมการตรึงกางเขนจึงทำให้พระเยซูเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์

    เหตุผลนั้นคือการตรึงกางเขนไม่ใช่จุดจบ แต่ยังมีเหตุการณ์ตามมา คือ การกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ และการกลับคืนพระชนมชีพนี้เองที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มากที่สุด

    นี่คือบทพิสูจน์ว่าบาปสามารถทำร้ายพระเยซูเจ้าได้มากที่สุด แต่บาปไม่สามารถชนะพระองค์ได้ ราวกับพระเจ้าทรงชี้ไปที่ไม้กางเขน และตรัสว่า “บาปทำเช่นนี้กับพระบุตรของเรา” แล้วพระองค์ก็ทรงชี้ไปที่การกลับคืนพระชนมชีพ และตรัสว่า “และนั่นคือสิ่งที่เราทำเพื่อพระบุตรของเราเป็นการตอบแทน”

    การกลับคืนพระชนมชีพ คือ การประทานพระสิริรุ่งโรจน์แก่พระเยซูเจ้าอย่างเด็ดขาด และสมบูรณ์ที่สุด โดยพระบิดาของพระองค์

    บัดนี้ เราจะตอบคำถามข้อที่สอง ความตายของพระเยซูเจ้าทำให้พระบิดาของพระองค์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ได้อย่างไร

    ที่เป็นเช่นนี้เพราะนี่คือกิจการแสดงความรักอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำบนแผ่นดินนี้ ถ้าพระเยซูเจ้าไม่ทรงยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พันธกิจของพระองค์ย่อมไม่สมบูรณ์

    เรากล่าวเช่นนี้เพราะพระเยซูเจ้าเสด็จมายังโลกนี้เพื่อเปิดเผยให้เรารู้ว่าพระบิดาของพระองค์ทรงรักเรามากเพียงไร

    ด้วยการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าทรงเผยให้เห็นความลึกล้ำของความรักของพระบิดาของพระองค์ พระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่ความรักของพระบิดาจะไม่ทำเพื่อเรา พระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นว่าพระบิดาทรงรักเราด้วยความรักที่ไม่มีขีดจำกัดเลย

    ดังนั้น การตรึงกางเขนพระองค์จึงเป็นการถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดา ด้วยการแสดงให้เราเห็นว่าพระบิดาทรงรักเรามากเพียงไร พระองค์ทรงรักเรามากจนทรงยอมให้พระบุตรของพระองค์ทรงถูกตรึงกางเขนเพื่อเรา

    ทั้งหมดนี้นำเรามาสู่สารของพระวรสารประจำวันนี้

    สำหรับเรา การตรึงกางเขนเป็นเครื่องหมาย เป็นคำเชิญ และการเผยแสดง

    ประการแรก การตรึงกางเขนเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระเยซูเจ้า และพระบิดาทรงรักเรามากเพียงไร “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13)

    ประการที่สอง การตรึงกางเขนเป็นคำเชิญสำหรับเรา และบอกเราแต่ละคนว่า “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)

    ประการสุดท้าย การตรึงกางเขนเป็นการเผยแสดง ซึ่งบอกเราว่าความรักจำเป็นต้องยอมรับความเจ็บปวด และบอกเราว่าถ้าเราตั้งใจจะเดินตามรอยพระบาทของพระเยซูเจ้า เราต้องพร้อมจะร่วมทนทรมานกับพระองค์ “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็จงเลิกนึกถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนทุกวัน และติดตามเรา” (ลก 9:23)

    และถ้าเรายกกางเขนของเราขึ้นแบกในแต่ละวัน และติดตามพระเยซูเจ้า เราได้รับคำรับรองจากพระองค์ว่าเราก็จะถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระองค์และพระบิดาเช่นกัน และวันหนึ่งพระองค์จะประทานสิริรุ่งโรจน์แก่เรา

เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา :

    พระสุรเสียงของพระเยซูเจ้า โปรดเรียกเราเมื่อเราเดินออกห่างจากพระองค์
    พระกรของพระเยซูเจ้า โปรดพยุงเราขึ้น เมื่อเราสะดุด และหกล้ม
    พระโลหิตของพระเยซูเจ้า โปรดชำระล้างเรา เมื่อเราเปื้อนมลทิน
    พระกายของพระเยซูเจ้า โปรดเลี้ยงดูเราเมื่อเราหิว
    พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า โปรดสอนเราให้รักกันและกัน เหมือนดังที่พระองค์ทรงรักเรา

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 17:1-1

    เราอยู่ในช่วงนพวารครั้งสำคัญของพระศาสนจักร เป็นช่วงเก้าวันของการรอคอย และการภาวนาระหว่างวันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ และวันสมโภชพระจิตตาคม นี่คือช่วงเวลาที่บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้ามาชุมนุมกันในห้องชั้นบน และอธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอ พระวรสารนำเราขึ้นไปยังห้องชั้นบนแห่งความคิดของพระคริสตเจ้า เราได้รับสิทธิพิเศษให้ได้ฟังคำสนทนาอย่างสนิทสนมระหว่างพระเยซูเจ้าและพระบิดา จากนั้น พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อศิษย์ของพระองค์ ผู้ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพระองค์ต่อไปในโลกนี้

ข่าวดี

    พระบิดา และพระบุตร ประทับอยู่ร่วมกันในความสนิทสัมพันธ์แห่งความรู้และความรักอันใกล้ชิด ศิษย์พระคริสตเจ้าได้รับข้อมูลเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของความรู้นี้ และได้รับเรียกให้มีส่วนแบ่งปันความรักนี้

อธิษฐานภาวนาในห้องชั้นบน

    วันนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นวันอาทิตย์แห่งห้องชั้นบน เราถือได้ว่าห้องชั้นบนก็คือส่วนหนึ่งของตัวตนภายในของเรา ที่เราเข้าไปภายในเมื่อใดที่เราต้องการยกสายตาขึ้นมองสวรรค์ เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเมื่อพระองค์เริ่มต้นอธิษฐานภาวนา คำนิยามหลักของการอธิษฐานภาวนาก็คือการยกความคิด และจิตใจขึ้นหาพระเจ้า ดังนั้น การขึ้นไปยังห้องชั้นบนจึงเป็นสัญลักษณ์ของการภาวนา

    ยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร ได้รับการดลใจจากพระเจ้าให้ทำสิ่งที่ตามปกติมนุษย์ทำไม่ได้ ท่านเคยสังเกตใครบางคนที่กำลังภาวนาอย่างลึกซึ้งหรือไม่ เราจะบรรยายเป็นคำพูดได้อย่างไรว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างที่พระเจ้าประทานความรู้ของพระองค์อย่างใกล้ชิดสนิทสนมให้แก่ดวงใจดวงหนึ่ง ซึ่งตอบสนองพระองค์ด้วยการเต้นด้วยความรัก และถ้าการภาวนาของมนุษย์ธรรมดาที่รู้จักตายคนหนึ่งยังยากที่จะบรรยายแล้ว จะบรรยายการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าได้อย่างไร

    ด้วยการดลใจของพระเจ้า พระจิตเจ้าทรงกลายเป็นแสงสว่างส่องความคิดของผู้นิพนธ์ ทรงเป็นพลังงานในมือของเขา และเป็นน้ำหมึกในปากกาของเขา เพราะยอห์นได้รับการดลใจจากพระเจ้า เขาจึงสามารถพาเราเข้าไปในความคิดของพระเยซูเจ้าในเวลาที่ชีวิตของพระองค์มาถึงจุดสุดยอดที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ ในห้องชั้นบน หลังจากเสวยอาหารแห่งพันธสัญญาใหม่ร่วมกับศิษย์ของพระองค์แล้ว พระเยซูเจ้าทรงเงยพระพักตร์ขึ้นเบื้องบน ตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา ถึงเวลาแล้ว”

    ถ้ามองตามทรรศนะของมนุษย์ นี่คือเวลาที่ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังล้มเหลว และทั้งขบวนการกำลังพังทลายลงมารอบตัวพระองค์ ยูดาสเดินออกไปจากอาหารมื้อนี้ เวลานั้นพลบค่ำแล้ว เหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

    แต่เมื่อทรงอธิษฐานภาวนา และทรงยกพระเนตรขึ้นมองเบื้องบน พระเยซูเจ้าทรงกลับมาสู่ศูนย์กลางซึ่งเป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งทุกอย่าง ระหว่างพระบิดาและพระบุตรมีเอกภาพอันสงบในระดับที่ลึกจนมรสุมในชีวิตพัดไปไม่ถึง นี่คือเอกภาพของเป้าหมาย เอกภาพของพระประสงค์

    ไม่มีสิ่งใดสามารถทำลายแกนในของเอกภาพนี้ได้ แม้แต่การทรยศและความตาย แท้จริงแล้ว เมื่อความตายได้ทำลายทุกสิ่งที่หุ้มอยู่ภายนอกจนหมดสิ้นแล้ว แกนในแห่งความนบนอบต่อพระเจ้าจึงถูกเผยให้โลกเห็นได้ชัดเจนที่สุด ในเอกภาพของพระประสงค์นี้ เราจึงเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา

    พระเยซูเจ้าทรงภาวนาวอนขอให้ศิษย์ของพระองค์เข้าร่วมอยู่ในศูนย์กลางภายในแห่งความรู้และความรักนี้ด้วย ความบริบูรณ์ของชีวิตคือ “การรู้จักพระองค์ (พระบิดา) พระเจ้าแท้จริงแต่พระองค์เดียว และพระเยซูคริสตเจ้าผู้ที่พระองค์ทรงส่งมา”

    เราผู้เป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้ายัง “อยู่ในโลก” และทุกครั้งที่เราประสบความล้มเหลว หรือเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนว่ากำลังพังทลายลงมารอบตัวเรา เมื่อนั้น เป็นเวลาที่เราต้องยกความคิด และจิตใจของเราขึ้นไปยังห้องชั้นบน และกลับมาสู่ศูนย์กลาง เป็นความจริงที่ว่าในยุคปัจจุบันที่มนุษย์เผชิญกับแรงกดดัน ความเปลี่ยนแปลง และการพลัดพราก พระจิตเจ้าทรงนำคนจำนวนมากมาสู่สิ่งที่เรียกกันว่าการภาวนาที่จุดศูนย์กลาง (centering prayer) คือการฝึกสำรวมความคิด และจิตใจให้อยู่ที่คำพูดคำหนึ่งที่ง่าย และไม่ซับซ้อน หรือความคิดเกี่ยวกับพระเจ้า ที่ศูนย์กลางภายในตัวตนของเรา

    เรายอมให้จิตใจของเราจมอยู่ใต้ข่าวร้ายได้ง่ายเกินไป เราละเลยความสงบนิ่งภายใน เราดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วยความวิตกกังวล เพราะดูเหมือนว่าชีวิตกำลังหลุดลอยออกจากอำนาจควบคุมของเรา

    พฤติกรรมของสังคม การแต่งกาย และรสนิยมเปลี่ยนไปโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีสิ่งใดที่มนุษย์ให้ความเคารพ และทุกสิ่งถูกระแวงสงสัยไปหมด เรายกเลิกแนวทางปฏิบัติที่คุ้นเคยทั้งที่ไม่มีสิ่งที่ดีกว่ามาทดแทน เทคโนโลยีล้ำหน้าจนเราไม่สามารถควบคุมได้ สื่อมวลชนหมกมุ่นกับเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น และข่าวที่ชวนให้หดหู่ใจ

    ถ้าท่านต้องการใช้วันเวลาในชีวิตของท่านวิตกกังวลสลับกับหดหู่ใจ ท่านก็ควรเข้าร่วมกลุ่มกับคนที่รู้สึกว่าตนเองต้องคอยฟังข่าวสารทางวิทยุทุกชั่วโมง และดูข่าวทางโทรทัศน์อย่างน้อยสองช่องทุกคืน ท่านจะได้รับรู้สถิติที่น่ากลัวของภัยพิบัติครั้งล่าสุด ตั้งแต่ในประเทศชิลีจนถึงประเทศจีน ท่านจะรับรู้เรื่องราวความวุ่นวายในภาคอุตสาหกรรม การก่อความรุนแรงของมือปืนทั้งหลาย การล่มสลายของเศรษฐกิจ และการปิดโรงงาน ท่านจะยอมรับทัศนคติว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังพังทลาย แล้วท่านจะใช้เวลาในชีวิตของท่านในห้องชั้นล่าง หรือในห้องใต้ดินที่มืดมิด ที่ซึ่งมีแต่ความสิ้นหวัง

    เมื่อถึงช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด เราต้องทำเหมือนพระเยซูเจ้า นั่นคือ เราต้องขึ้นไปยังห้องชั้นบน และยกจิตใจของเราขึ้นเบื้องบน

    เราต้องกลับมาสู่ศูนย์กลางของตัวเรา ซึ่งเป็นที่พำนักของพระเจ้า ในที่นั้น เราจะได้รับพระพรแห่งการรู้จักพระเจ้า ... พระเจ้าแท้จริงหนึ่งเดียว ... ผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงถูกส่งมาเพื่อเปิดเผยให้มนุษย์รู้จักพระเจ้า

    สารของวันอาทิตย์นี้ในห้องชั้นบนแบ่งออกเป็นสามขั้นตอนคือ :
    กลับคืนสู่ศูนย์กลาง
    รอคอยด้วยการอธิษฐานภาวนาอย่างต่อเนื่อง
    พระจิตเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ห่างไกลเรา อย่างที่โลกพยายามชักนำให้เราคิด