แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
ยอห์น 18:1; 19:42

บทรำพึงที่ 1

    วันนี้ เราต้องอ่านเรื่องพระทรมานของพระเยซูเจ้า

“ท่านทั้งหลายเสาะหาใคร” – “หาเยซู ชาวนาซาเร็ธ” – “เราเป็น” เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็น” เขาเหล่านั้นก็ถอยหลัง ล้มลงกับพื้นดิน

    ผู้นิพนธ์พระวรสารเน้นรายละเอียดเชิงสัญลักษณ์นี้

    ตลอดพระวรสารของยอห์น เขาตั้งคำถามว่า “พระเยซูเจ้าเป็นใคร” ... บัดนี้ เขาเสนอคำตอบแล้ว และคำตอบนี้เหมือนกับสายฟ้าฟาด “พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้า”

    พระทรมานตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นมีความโดดเด่น เพราะทำให้มองเห็นพระเดชานุภาพของพระเจ้า ... พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในพระทรมานของพระองค์ บัดนี้ เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็น” ศัตรูของพระองค์ก็ “ล้มลงกับพื้นดิน”...

พระเยซูเจ้าตรัสกับเปโตร ว่า “เก็บดาบใส่ฝักเสีย เราจะไม่ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เราหรือ”

    พระองค์ทรงตัดสินใจอย่างอิสระ และมองเหตุการณ์อย่างสงบ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ยกกางเขนของเราขึ้นแบกโดยรู้ตัว และเต็มใจเหมือนพระองค์ด้วยเถิด...

“เราพูดให้โลกฟังอย่างเปิดเผย ... ท่านถามเราทำไม จงถามผู้ที่ได้ฟังเราเถิดว่าเราบอกสิ่งใดกับเขา เขารู้ว่าเราได้พูดสิ่งใด”

    พระเยซูเจ้าไม่เหมือนอาชญากรทั่วไป พระองค์ไม่ทรงก้มพระเศียรให้ผู้พิพากษา ... อันที่จริง พระองค์ทรงเป็นฝ่ายพิพากษาเขา!

“ถ้าเราพูดผิด จงชี้ให้เห็นว่าเราผิดอย่างไร แต่ถ้าเราพูดถูก ท่านตบหน้าเราทำไม”

    บัดนี้ พระองค์ทรงเป็นฝ่ายถามผู้ที่ไต่สวนพระองค์...

“ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา”
    พระองค์ทรงมั่นใจในตนเองอะไรเช่นนี้

    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้ายินดีที่เห็นว่า เมื่อทรงอยู่ในสภาพของมนุษย์คนหนึ่ง เหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่อาจทำให้พระองค์เสียกำลังใจได้ แต่พระองค์ยังยืนหยัดอย่างสง่าผ่าเผย

    เมื่อเราต้องเผชิญกับการทดลองต่าง ๆ โปรดประทานความกล้าหาญ และความหนักแน่นเช่นนี้แก่เราด้วยเถิด...

“อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้ ถ้าอาณาจักรของเรามาจากโลกนี้ ผู้รับใช้ของเราก็คงจะต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบให้ชาวยิว แต่อาณาจักรของเราไม่ได้เป็นของโลกนี้”

    เราไม่ได้มาจาก “ที่นี่” แต่มาจาก “ที่อื่น” ... มาจาก “เบื้องบน”...

    นี่คือธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระบุคคลของพระองค์...

    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้านมัสการความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ที่มนุษย์มองไม่เห็น...

“ท่านไม่มีอำนาจใดเหนือเราเลย ถ้าท่านมิได้รับอำนาจนั้นมาจากเบื้องบน”

    พระองค์ทรงแสดงสิทธิอำนาจของพระเจ้าของพระองค์เสมอ...

    พระสิริรุ่งโรจน์แห่งการกลับคืนพระชนมชีพปรากฏให้เห็นในตัวบุรุษผู้กำลังจะถูกประหารตั้งแต่บัดนี้แล้ว...

    แม้ว่าพระองค์ทรงถูกกดลงให้ต่ำที่สุด แต่ก็เห็นได้แล้วว่าพระองค์ทรงได้รับการยกย่องเชิดชูจากพระเจ้า...

    พิธีกรรมของวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่พิธีศพ แต่เป็นการเฉลิมฉลอง “พระสิริรุ่งโรจน์ของไม้กางเขน”

“แม่ นี่คือลูกของแม่” ... “นี่คือแม่ของท่าน”...

    พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเมตตากรุณาให้เราเห็นได้เสมอ...

“สำเร็จบริบูรณ์แล้ว”

    นี่ไม่ใช่ “จุดจบ” แต่เป็น “ความสำเร็จบริบูรณ์” ... งานที่ปฏิบัติจนสำเร็จลุล่วงอย่างไม่มีที่ติ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ปฏิบัติงานที่เราให้คำมั่นไว้จนสำเร็จสมบูรณ์ด้วยเถิด...

ทหารคนหนึ่งใช้หอกแทงด้านข้างพระวรกายของพระองค์ โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที...

    นี่คือสัญลักษณ์ของ “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ของ “ชีวิตใหม่” ที่ไหลหลั่งออกมา...

    นี่ไม่ใช่ “จุดจบ” แน่นอน แต่เป็นจุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ เป็นน้ำพุต้นธารของชีวิต เพราะคนนับล้านได้รับความรอดพ้น ... ศีลมหาสนิท และศีลล้างบาปสำหรับคนจำนวนมาก...

บทรำพึงที่ 2
อิสยาห์  52:13-53:12; ฮีบรู 4:14-16, 5:7-9

กลอนบทสุดท้ายของผู้รับใช้ผู้ทนทรมาน

    เราควรรำพึงตามข้อความนี้ทีละประโยค ...

    “คนเป็นอันมากตกตะลึงเพราะท่าน – รูปลักษณ์ของท่านเสียโฉมจนไม่เหมือนมนุษย์...”
    “ใครเล่าจะเชื่อสิ่งที่เขาได้ยิน”
    “ผู้รับใช้เจริญขึ้นต่อหน้าพระเจ้าเหมือนต้นไม้อ่อน และเหมือนรากที่แตกหน่อมาจากพื้นดินแห้ง...”
    “ท่านไม่มีรูปร่าง ไม่มีความสวยงามให้เราอยากมอง และไม่มีความงามให้เราปรารถนาท่าน...”
    “ท่านถูกมนุษย์ดูหมิ่นและทอดทิ้ง เป็นคนเศร้าหมองที่คุ้นเคยกับความเจ็บปวด เหมือนคนโรคเรื้อนที่คนทนมองดูไม่ได้..”
    “ท่านถูกดูหมิ่น และเราไม่เคารพนับถือท่าน...”
    “แน่ทีเดียว ท่านได้ยอมรับความทุกข์ใจของเรา และแบกความโศกเศร้าของเราไว้...”
    “ท่านได้รับบาดเจ็บเพราะการละเมิดของเรา...”
    “ท่านฟกช้ำเพราะความชั่วของเรา...”
    “ท่านได้รับการลงทัณฑ์ ซึ่งทำให้เราสมบูรณ์ รอยเฆี่ยนของท่านทำให้เราหายจากโรค”
    “ท่านถูกกดขี่ และท่านต้องเป็นทุกข์ ถึงกระนั้น ท่านก็ไม่ปริปาก...”
    “ท่านถูกนำไปฆ่าเหมือนลูกแกะ แต่ท่านก็ไม่ปริปาก...”
    “ท่านถูกนำตัวไปด้วยการบีบบังคับ และการตัดสิน ท่านถูกตัดขาดจากแดนคนเป็น...”
    “แม้ว่าท่านมิได้กระทำการรุนแรงใด ๆ และไม่เคยหลอกลวงใคร...”
    “แต่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าให้ท่านฟกช้ำ...”
    “เมื่อท่านยอมให้ตนเองเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาป ท่านจะเห็นพงศ์พันธุ์ของท่าน ท่านจะยืดวันเวลาของท่าน พระประสงค์ของพระเจ้าจะเจริญงอกงามในมือของท่าน...”
    “ท่านจะเห็นผลของความทุกข์ยากของวิญญาณของท่าน และจะพึงพอใจ...”
    “ด้วยการรู้จักความทุกข์ทรมาน ท่านผู้ชอบธรรม ผู้รับใช้ของเรา จะทำให้คนจำนวนมากกลายเป็นผู้ชอบธรรม...”

    ข้าพเจ้าจะนำข้อความทั้งหมดนี้มาภาวนาอีกครั้งหนึ่ง
    ขณะที่ภาวนา ข้าพเจ้าจะเปลี่ยนคำว่า “ท่าน” ให้เป็น “พระองค์”
        “รูปลักษณ์ของพระองค์เสียโฉม...
        พระองค์ไม่มีรูปร่าง...
        พระองค์ได้รับบาดเจ็บ เพราะการละเมิดของเรา...” เป็นต้น...

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระองค์ทรงถูกมนุษย์ดูหมิ่น...

เรามิได้มีมหาสมณะที่ร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอไม่ได้ แต่เรามีมหาสมณะผู้ทรงผ่านการทดลองทุกอย่างเหมือนกับเรา ยกเว้นบาป
ดังนั้น เราจงเข้าไปสู่บัลลังก์แห่งพระหรรษทานด้วยความมั่นใจ...

    นับแต่นั้นมา ความเจ็บปวดทรมานของมนุษย์ทุกคนจึงเหมือนกับพระทรมานของพระองค์...

ถึงแม้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตร ก็ยังทรงเรียนรู้ที่จะนอบน้อมเชื่อฟังโดยการรับทรมาน

    การนอบน้อมเชื่อฟังนี้เองที่ยากสำหรับข้าพเจ้า...

    พระองค์ทรงเรียนรู้แล้วว่าการนอบน้อมเชื่อฟังเป็นอย่างไร ... โปรดเสด็จมาสอนข้าพเจ้าด้วยเทอญ...

บทรำพึงที่ 3

พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน

(1)    พระเยซูเจ้าทรงขออภัยแทนผู้ที่ทำร้ายพระองค์

    พระเยซูเจ้าทรงถูกตอกตะปูบนไม้กางเขน ... ทั้งชีวิตของพระเยซูเจ้ามุ่งหน้ามาหาห้วงเวลาสูงสุดนี้ พระองค์ทรงเดินอย่างเหน็ดเหนื่อย หายใจหอบและหมดแรง ขึ้นมาจนถึงยอดเนินที่เรียกกันว่า “เนินหัวกะโหลก” เพชฌฆาตจับพระองค์นอนเหยียดบนพื้น และเริ่มตอกตะปูตรึงพระองค์กับไม้กางเขน เขาตอกตะปูบนฝ่าพระหัตถ์ก่อน ตะปูแทงทะลุเนื้อที่บอบช้ำของพระองค์ หลังจากนั้น พวกเขาก็ดึงพระองค์ขึ้นไปแขวนบนท่อนไม้ที่ปักตั้งฉากกับพื้นดิน จากนั้น เขาจึงตอกตะปูที่พระบาท พระนางมารีย์ พระมารดาของพระองค์ทรงต้องเพ่งพินิจเหตุการณ์นี้

    องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงถูกตอกตะปูตรึงอย่างมั่นคงบนไม้กางเขน พระองค์ทรงรอคอยเวลานี้มานานหลายปี และวันนี้ พระองค์จะทรงไถ่กู้มนุษย์ทั้งมวลสมดังความปรารถนาของพระองค์ เครื่องมือประหารที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นเครื่องมือของความเสื่อมเสีย บัดนี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นต้นไม้แห่งชีวิต และบันใดที่นำไปสู่สิริรุ่งโรจน์ ในพระหฤทัยเปี่ยมด้วยความยินดีลึกล้ำขณะที่พระองค์ทรงเหยียดพระกรบนไม้กางเขน เพราะบัดนี้ คนบาปทั้งหลายที่เข้ามาขอพึ่งพระองค์จะรู้ว่าพระองค์จะทรงอ้าพระกรต้อนรับเขา...
    พระองค์ทรงเห็น ... และทรงยินดี ... ว่าไม้กางเขนจะได้รับความรักและนมัสการ เพราะพระองค์กำลังจะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนนี้ พระองค์ทรงเห็นนักบุญทั้งหลายที่จะยอมรับมรณสักขีกรรมคล้ายกันนี้ เพราะพวกเขารักและปกป้องความจริง พระองค์ทรงเห็นความรักของมิตรสหายของพระองค์ พระองค์ทรงเห็นน้ำตาของเขาที่เชิงกางเขน “พระองค์ทรงเห็นคริสตชนได้รับชัยชนะภายใต้ธงกางเขน พระองค์ทรงเห็นอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ต่าง ๆ ทั่วโลกที่กระทำด้วยเครื่องหมายกางเขน พระองค์ทรงเห็นมนุษย์จำนวนมากผู้จะกลายเป็นนักบุญด้วยการพลีชีวิตของตน เพราะเขารู้ว่าจะตายเหมือนพระองค์ได้อย่างไร คือ ตายโดยชนะบาป” (L. de la Palma, The Passion of the Lord) พระองค์ทรงเห็นหลาย ๆ โอกาสที่เราจะจูบไม้กางเขน

    พระเยซูเจ้าทรงถูกยกชูขึ้นบนไม้กางเขน รอบ ๆ พระองค์มีแต่ภาพชวนหดหู่ใจ บางคนเดินผ่านไปและหัวเราะเยาะ หัวหน้าสมณะเย้ยหยันพระองค์ ส่วนคนอื่น ๆ เพียงแต่มามุงดูอย่างเฉยเมย ในพระเนตรของพระเยซูเจ้าไม่มีการตำหนิ ... มีแต่ความสงสาร มีคนนำเหล้าองุ่นเปรี้ยวมาถวายพระองค์ “จงให้เครื่องดื่มรสแรงแก่ผู้ที่ใกล้ตาย และให้เหล้าองุ่นแก่คนที่เป็นทุกข์ขมขื่นใจ ให้เขาดื่มและลืมเคราะห์กรรมของเขา และไม่จดจำทุกขเวทนาของเขาอีกเลย” (สภษ 31:6-7) เป็นธรรมเนียมที่ต้องแสดงความกรุณาเช่นนี้ต่อคนที่ถูกประหาร เครื่องดื่มนี้คือเหล้าองุ่นเปรี้ยวรสแรงผสมมดยอบ ซึ่งช่วยให้รู้สึกชา และทนรับความเจ็บปวดได้

    พระเยซูเจ้าทรงจิบ อันเป็นการขอบคุณผู้ที่นำมาถวาย แต่ไม่ทรงต้องการดื่มอีก เพราะทรงต้องดื่มถ้วยแห่งพระทรมานจนหยดสุดท้าย นักบุญออกัสตินตั้งคำถามว่า “ทำไมจึงต้องทรมานมากมายเช่นนั้น” และเขาก็ตอบเองว่า “ความเจ็บปวดทรมานทั้งหมดที่ทรงยอมรับเป็นค่าไถ่สำหรับตัวเรา” (นักบุญออกัสติน, คำอธิบายเพลงสดุดี 21, 11, 8) พระองค์ไม่พอพระมัยเพียงการรับทรมานเล็กน้อย แต่ปรารถนาจะดื่มถ้วยแห่งพระทรมานจนถึงหยดสุดท้าย เพื่อให้เรารู้ว่าความรักของพระองค์ยิ่งใหญ่เพียงไร และบาปต่ำช้าเพียงไร เพื่อให้เรายอมสละตนเอง ยอมตัดกิเลส และรับใช้ผู้อื่นด้วยใจกว้าง

(2)    พระคริสตเจ้าทรงถูกตรึงกางเขน การไถ่กู้เราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว

    การตรึงกางเขนเป็นวิธีประหารชีวิตที่โหดร้ายที่สุดและอัปยศที่สุดเท่าที่มนุษย์ยุคโบราณรู้จัก พลเมืองโรมันจะถูกจับตรึงกางเขนไม่ได้ นักโทษต้องเจ็บปวดทรมานเป็นเวลานานก่อนจะสิ้นใจ บางครั้ง เพชฌฆาตจะเร่งเวลาตายโดยหักขาของผู้ถูกตรึง นับแต่ยุคอัครสาวกจนถึงทุกวันนี้ มีคนจำนวนมากที่ไม่อาจยอมรับพระเจ้าผู้เสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ ผู้สิ้นพระชนม์บนไม้ท่อนหนึ่งเพื่อช่วยเราให้รอดพ้น เรื่องของกางเขนยังเป็นที่สะดุดสำหรับชาวยิว และเป็นเรื่องโง่เขลาสำหรับคนต่างศาสนา (1 คร 1:23) มนุษย์ถูกประจญมาโดยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ให้ลดคุณค่าของไม้กางเขน

    ก่อนที่คริสตชนแต่ละคนจะสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของเขาได้ เขาต้องรู้เรื่องราวทั้งหมดในชีวิตของพระองค์ รวมถึงเรื่องไม้กางเขน การไถ่กู้มนุษยชาติสำเร็จบริบูรณ์บนไม้กางเขนนี้ เราพบคำอธิบายความทุกข์ทรมานในโลกได้ที่นี่ และเราเรียนรู้ความชั่วร้ายของบาป และความรักของพระเจ้าต่อมนุษย์แต่ละคนได้ที่นี่ เราไม่อาจยืนเบื้องหน้าไม้กางเขนอย่างเฉยเมยได้

    “บัดนี้ เขาได้ตรึงพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนแล้ว เพชฌฆาตจัดการลงโทษพระองค์อย่างไม่ปรานี องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้เขากระทำตามใจปรารถนาด้วยความถ่อมตน”
    พระองค์ไม่จำเป็นต้องทนรับทารุณกรรมแสนสาหัสเช่นนี้เลย พระองค์ทรงสามารถหลีกเลี่ยงความทุกข์ยาก ความอัปยศ ทารุณกรรม การพิพากษาอย่างไม่ชอบธรรม และความอับอายของตะแลงแกง ตะปู และหอกได้ ... แต่พระองค์ทรงต้องการรับทนความเจ็บปวดทั้งหมดนี้เพื่อท่าน และเพื่อข้าพเจ้า ส่วนเราเล่า เราจะไม่ตอบสนองเลยหรือ

    เป็นไปได้ที่บางครั้ง เมื่อท่านอยู่เบื้องหน้าไม้กางเขนตามลำพัง ท่านพบว่าท่านกำลังน้ำตาไหล อย่าพยายามกลั้นน้ำตาไว้เลย ... แต่จงพยายามทำให้น้ำตาเหล่านั้นนำไปสู่ความตั้งใจบางอย่าง” (J. Escriva, เดินทางกางเขน, สถานที่ 1)

(3)    ผลของไม้กางเขน “ผู้ร้ายกลับใจ”

    ไม้กางเขนบังเกิดผลในไม่ช้า ผู้ร้ายคนหนึ่งยอมรับว่าเขาได้ทำบาป และหันไปทูลพระเยซูเจ้าว่า “ข้าแต่พระเยซู โปรดระลึกถึงข้าพเจ้าด้วย เมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์” เขาพูดกับพระองค์ด้วยความมั่นใจของผู้ร่วมรับความเจ็บปวด เขาคงเคยได้ยินเรื่องของพระคริสตเจ้ามาก่อน รวมทั้งวิถีชีวิต และอัศจรรย์ที่พระองค์เคยกระทำ แต่บัดนี้ เขาได้พบพระเยซูเจ้าในเวลาที่ดูเหมือนว่าพระเทวภาพของพระองค์ถูกซ่อนไว้มิดชิดที่สุด เขาได้เห็นพฤติกรรมของพระเยซูเจ้า เพราะพวกเขาเดินขึ้นเขากัลวารีโอมาพร้อมกับพระองค์ ความเงียบของพระองค์น่าประทับใจ เช่นเดียวกับสายพระเนตรที่มองใบหน้าของผู้ที่พระองค์พบเห็นระหว่างทางด้วยความเมตตาสงสาร เขาสังเกตเห็นความสง่าผ่าเผยของพระองค์ แม้ในขณะที่ทรงเหน็ดเหนื่อย และเจ็บปวดทรมานมาก คำพูดของเขาไม่ได้เปล่งออกมาโดยไม่ต้องคิด แต่เป็นผลมาจากกระบวนการที่เริ่มต้นภายในใจเขา เมื่อเขาพบพระคริสตเจ้าเป็นครั้งแรก เขาไม่จำเป็นต้องเห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ เพื่อจะกลับใจเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า การได้เห็นความเจ็บปวดทรมานของพระเยซูเจ้าด้วยตาตนเองก็เพียงพอแล้ว คนอื่น ๆ อีกจำนวนมากจะกลับใจเมื่อได้รำพึงตามเหตุการณ์พระทรมานที่บอกเล่าในพระวรสาร

    องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสะเทือนพระทัย เมื่อทรงได้ยินเสียงที่ยอมรับว่าพระองค์เป็นพระเจ้าท่ามกลางเสียงด่าแช่งสบประมาท หลังจากทรงผ่านความเจ็บปวดทรมานมากมายมาแล้ว เสียงนั้นคงทำให้พระหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยความยินดี พระองค์ตรัสตอบเขาว่า “วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” (ลก 23:43)

    พระทรมานมีประสิทธิภาพอย่างไร้ขีดจำกัด สามารถบันดาลให้โลกเต็มไปด้วยสันติสุข พระหรรษทาน การให้อภัย ความสุขในวิญญาณ และความรอดพ้น การไถ่กู้ของพระคริสตเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะมีผลต่อมนุษย์แต่ละคนที่ยอมรับการไถ่กู้นี้โดยสมัครใจ เราแต่ละคนสามารถพูดได้อย่างแท้จริงว่า พระบุตรของพระเจ้า “ทรงรักข้าพเจ้า และทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า” (กท 2:20) มิใช่เพื่อ “เราทุกคน” แต่ “เพื่อข้าพเจ้า” ราวกับว่ามีข้าพเจ้าอยู่ในโลกนี้เพียงคนเดียว การไถ่กู้จะสำแดงฤทธิ์ทุกครั้งที่เราเฉลิมฉลองพิธีมิสซา (สภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2, Lumen gentium, 3 และ บทภาวนาขอบพระคุณสำหรับพระพรต่าง ๆ, วันอาทิตย์สัปดาห์ที่สอง เทศกาลธรรมดา)

    “พระเยซูคริสตเจ้าทรงปรารถนาจะมอบพระองค์เพราะความรัก โดยรู้ตัวและเต็มใจ และด้วยพระหฤทัยที่อ่อนไหว ... ไม่มีมนุษย์คนใดตายเหมือนพระเยซูคริสตเจ้า เพราะพระองค์เองคือชีวิต ไม่มีมนุษย์คนใดชดเชยบาปได้เหมือนพระองค์ เพราะพระองค์ทรงเป็นความบริสุทธิ์” (R. Guardini, Our Lord) บัดนี้ เราได้รับผลอันอุดมของความรักของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน มีแต่ “ความไม่ต้องการ” ของเราเท่านั้นที่ทำให้เราไม่ได้รับผลจากพระทรมานของพระคริสตเจ้า

    พระมารดาของพระเยซูเจ้าประทับอยู่ใกล้พระองค์ พร้อมกับสตรีใจศรัทธาคนอื่น ๆ ในที่นั้น ยังมียอห์น อัครสาวกที่อายุน้อยที่สุด “เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นพระมารดา และศิษย์ที่รักยืนอยู่ใกล้ ๆ จึงตรัสกับพระมารดาว่า ‘แม่ นี่คือลูกของแม่’ แล้วตรัสกับศิษย์ผู้นั้นว่า ‘นี่คือแม่ของท่าน’ นับตั้งแต่นั้น ศิษย์ผู้นั้นก็รับพระนางเป็นมารดาของตน” (ยน 19:26-27) หลังจากได้ประทานพระองค์เองระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้ายแล้ว บัดนี้ พระเยซูเจ้าทรงต้องการจะประทานสิ่งที่พระองค์ทรงรักมากที่สุดในโลกนี้แก่เรา นี่คือทรัพย์อันมีค่าที่สุดที่พระองค์ยังเหลืออยู่ เพราะเขาได้ยึดทุกสิ่งทุกอย่างไปจากพระองค์หมดแล้ว พระองค์ประทานพระนางมารีย์ให้เป็นมารดาของเรา

    การกระทำนี้มีนัยสำคัญในสองแง่ แง่ที่หนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงดูแลพระมารดาของพระองค์ตามบัญญัติข้อที่ 4 ของบัญญัติ 10 ประการ แง่ที่สอง พระองค์ทรงประกาศว่าพระนางทรงเป็นมารดาของเรา ... “ดังนั้น พระนางพรหมจารีจึงก้าวไปข้างหน้าในการเดินทางแห่งความเชื่อของพระนาง และทรงเป็นหนึ่งเดียวอย่างซื่อสัตย์กับพระบุตรของพระนางจนถึงไม้กางเขน พระนางทรงยืนอยู่ที่นั่นตามแผนการของพระเจ้า ทรงร่วมรับความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัสกับพระบุตรพระองค์เดียวของพระนาง ทรงร่วมถวายเครื่องบูชากับพระองค์ในหัวใจของผู้เป็นมารดา และทรงยินยอมถวายเครื่องบูชาที่พระนางเป็นผู้ให้กำเนิดนี้ ท้ายที่สุด พระคริสตเยซูผู้กำลังใกล้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนก็ประทานพระนางให้เป็นมารดาแก่ศิษย์ของพระองค์ (สภาสังคานาวาติกัน ครั้งที่ 2, Lumen gentium, 58)

    ตั้งแต่เวลาเที่ยงทั่วแผ่นดินก็มืดจนถึงเวลาบ่ายสามโมง ครั้นถึงเวลาบ่ายสามโมง พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดังว่า “เอลี เอลี ลามาสะบัคทานี” ซึ่งแปลว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า” (มธ 27:45-46)

    หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าทุกสิ่งสำเร็จแล้ว จึงตรัสว่า “เรากระหาย” พระคัมภีร์ตอนนี้จึงเป็นจริงด้วย (ยน 19:28)

    ทหารจึงใช้ฟองน้ำชุบน้ำองุ่นเปรี้ยวเสียบปลายกิ่งไม้ยื่นถึงพระโอษฐ์ พระเยซูเจ้าทรงจิบน้ำองุ่นเปรี้ยวแล้วตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30)

    ม่านในพระวิหารฉีกขาดตรงกลาง พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดังว่า “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ก็สิ้นพระชนม์ (ลก 23:46)

    นี่คือเครื่องบูชาแห่งความรัก เป็นน้ำพุแห่งชีวิตภายใน จงรักไม้กางเขนเถิด เพราะนี่คือพระแท่นถวายเครื่องบูชา จงรักความเจ็บปวดจนกระทั่งท่านดื่มถ้วยกาลิกษ์จนถึงหยดสุดท้าย เหมือนที่พระคริสตเจ้าทรงดื่มมาแล้ว (J. Escriva, เดินทางกางเขน, สถานที่ 12))

    เมื่อเรามีพระนางมารีย์เป็นมารดาของเรา เราจะทำเช่นนี้ได้ง่ายขึ้น ดังนั้น เราจะขับร้องบทเพลงในพิธีกรรมว่า

    โอ้ พระมารดา ผู้ทรงเป็นน้ำพุแห่งความรัก
    โปรดทรงสัมผัสจิตของข้าพเจ้าจากเบื้องบน
    โปรดทำให้หัวใจของข้าพเจ้าเหมือนดวงพระทัยของพระแม่
    โปรดให้น้ำตาของข้าพเจ้าไหลปนกับน้ำพระเนตรของพระแม่
    คร่ำครวญถึงพระองค์ ผู้ทรงคร่ำครวญเพื่อข้าพเจ้า
    ข้าพเจ้าวอนขอท่าน
    โปรดช่วยข้าพเจ้าให้ยืนข้างไม้กางเขนเคียงข้างพระแม่
    โปรดให้ข้าพเจ้าร่ำไห้ และภาวนาร่วมกับพระแม่
    ทุกวันในชีวิตของข้าพเจ้าเทอญ