แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลปัสกา
กิจการอัครสาวก 6:1-7; 1 เปโตร 2:4-9; ยอห์น 14:1-12

บทรำพึงที่ 1
การเดินทางสองครั้ง
พระเยซูเจ้าทรงเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต

    ระหว่างฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1927 ชายหนุ่มขี้อายคนหนึ่งปีนขึ้นเครื่องบินเล็กลำหนึ่งในนครนิวยอร์ก เครื่องบินออกวิ่งไปตามทางวิ่ง และบินขึ้นสู่ท้องฟ้า สามสิบชั่วโมงต่อมา ชายหนุ่มคนนี้นำเครื่องบินลงจอดในกรุงปารีส ขณะที่เครื่องบินของเขาจอดสนิท คนหลายพันคนกรูกันเข้ามารุมล้อมชายหนุ่มและเครื่องบินลำนั้นจากทุกทิศทุกทาง

    ชาร์ลส ลินด์เบิร์ก กลายเป็นบุคคลแรกที่ขับเครื่องบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โดยไม่แวะพักที่ใดเลย

    หลายวันต่อมา ประธานาธิบดีคูลิดจ์ สั่งการให้นำทั้งนักบิน และเครื่องบิน ชื่อสปิริต ออฟ เซนต์หลุยส์ ขึ้นมาบนเรือชื่อ ยู.เอส. เมมฟิส และพากลับมาบ้าน เขาได้รับการต้อนรับอย่างวีรบุรุษในนิวยอร์ก

    เมื่อลินด์เบิร์ก เขียนหนังสือเกี่ยวกับการผจญภัยครั้งนี้ในเวลาต่อมา เขาระลึกถึงสองเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น

    เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นขณะที่เขาบินเข้าใกล้ทวีปยุโรป เขามองเห็นเรือหาปลาลำหนึ่งกลางมหาสมุทร เขาบินลงต่ำ และตะโกนสุดเสียงถามทิศทาง และพวกชาวประมงไม่เข้าใจที่เขาพูด เขาจึงเดินทางต่อไปตามทิศที่เขาคิดว่าถูกต้อง โชคดีที่นั่นเป็นทิศทางที่ถูกต้อง

    เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นสองสามวันหลังจากการบินข้ามมหาสมุทรครั้งประวัติศาสตร์นั้น ลินด์เบิร์กบินไปยังประเทศอังกฤษเพื่อทำธุระบางอย่าง และกำลังบินกลับประเทศฝรั่งเศส แต่ทัศนวิสัยไม่ดีเลย เขาประสบปัญหาในการหาทิศทาง และอาศัยเพียงเครื่องหมายบนพื้นดินช่วยนำทาง

    ทันใดนั้น เขาก็เห็นเครื่องบินลำหนึ่งบินอยู่ข้างหน้า เขาคิดเอาเองว่าเครื่องบินลำนี้กำลังเดินทางไปกรุงปารีส และขับตามไป โชคดีที่เครื่องบินลำนั้นบินไปปารีสจริง ๆ และเขาเดินทางมาถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย

    เมื่อเราไตร่ตรองเรื่องการเดินทางผจญภัยของชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก ... เราจะพบว่าเรามีหลายสิ่งหลายอย่างเหมือนเขา เรากำลังเดินทางเหมือนกัน เรากำลังเดินทางตามเส้นทางชีวิตไปหาพระบิดาของเราในสวรรค์ เรารู้สึกเหมือนลินด์เบิร์ก ว่าเรารู้เส้นทาง และสามารถไปถึงจุดหมายของเราได้ แต่บางครั้ง เราก็เหมือนกับลินด์เบิร์ก เมื่อเราหลงทางไปชั่วคราว เราหลงทาง และต้องการความช่วยเหลือ

    เมื่อลินด์เบิร์กประสบเหตุการณ์เช่นนี้ เขาหันไปพึ่งเรือที่มีชาวประมงเต็มลำ แต่คนเหล่านี้ช่วยอะไรเขาไม่ได้ โชคดีที่เขาสามารถหาทางพบโดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากชาวประมงเหล่านี้
    เขายังขอความช่วยเหลือด้วยการบินตามเครื่องบินอีกลำหนึ่ง ซึ่งเขาหวังว่ากำลังบินไปกรุงปารีส โชคดีที่เครื่องบินลำนี้กำลังบินไปกรุงปารีสจริง ๆ เขาจึงบินกลับมาได้อย่างปลอดภัย

    ในจุดนี้เองที่สถานการณ์ของเราแตกต่างจากของลินด์เบิร์ก เมื่อเขาหลงทาง และต้องการความช่วยเหลือ เขาไม่รู้ว่าจะพึ่งใครได้ เขาต้องเชื่อความเฉลียวฉลาดของตนเอง และโชคชะตา

    แต่ในสถานการณ์ของเรา เรามีผู้นำทางที่เราสามารถไว้ใจได้ในทุกระยะของการเดินทางของเรา และผู้นำทางนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น คือพระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ทรงเคยเดินบนเส้นทางนี้มาก่อนเรา และทรงรู้จักเส้นทาง และพระองค์สามารถนำทางเราได้ในทุกระยะการเดินทางไปหาพระบิดาของเรา

    นี่คือคำอธิบายพระวาจาของพระเยซูเจ้าในพระวรสารประจำวันนี้ เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา” พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้นำทางของเราในการเดินทางตามเส้นทางชีวิตไปหาพระบิดา นอกจากพระองค์แล้ว ไม่มีผู้นำทางอื่นที่เรามั่นใจได้

    นอกจากนี้ เรารู้ด้วยว่าพระองค์จะไม่ทำให้เราผิดหวัง “ผู้ที่ตามเรามาจะไม่เดินในความมืด แต่จะมีแสงสว่างส่องชีวิต” (ยน 8:12)

    ทั้งหมดนี้นำเรามาสู่ประเด็นที่สองเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า พระองค์ไม่ได้เป็นเพียง “หนทาง” ไปหาพระบิดา แต่ยังเป็น “ความจริง” เกี่ยวกับพระบิดาด้วย

    ในยุคปัจจุบัน เมื่อมนุษย์มีแต่ความคิดอันสับสนเกี่ยวกับพระเจ้า ถือได้ว่าเป็นพระพรสำคัญที่เราสามารถหันไปพึ่งพระเยซูเจ้า และเรียนรู้ความจริงว่า พระเจ้าไม่ใช่พลังอย่างหนึ่งที่ไม่สนใจใยดีกับเรา แต่ทรงเป็นพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก และความเมตตา

    และนำเรามาสู่ประเด็นที่สาม และประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า นั่นคือ พระองค์ไม่ได้เป็นเพียง “หนทาง” ไปหาพระบิดา และ “ความจริง” เกี่ยวกับพระบิดา แต่ในพระองค์ยังมี “ชีวิต” ของพระบิดาอีกด้วย

    การเดินทางของเราไม่ได้เป็นเพียงการเดินทางในชีวิตนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการเดินทางมุ่งหน้าสู่อีกชีวิตหนึ่ง เป็นการเดินทางไปสู่ชีวิตนิรันดร และเราไม่มีวันเดินทางเช่นนั้นได้ ถ้าเราไม่ได้รับเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตนิรันดรจากพระเยซูเจ้าผ่านทางศีลล้างบาป

    อาศัยศีลล้างบาป พระเยซูเจ้าทรงทำให้เราตายจากชีวิตบาปของเรา และกลับคืนชีพเข้าสู่ชีวิตใหม่ร่วมกับพระองค์

    วันนี้ เราแต่ละคนในวัดนี้จึงควรถามตนเองว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อขอบพระคุณพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ได้ทรงกระทำเพื่อเรา
    สิ่งแรกที่เราทำได้ คือ เราสามารถติดตามพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นหนทางไปหาพระบิดา แม้เมื่อเราไม่รู้สึกว่าอยากจะทำเช่นนั้นก็ตาม

    พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็จงเลิกนึกถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนทุกวัน และติดตามเรา” (ลก 9:23)

    สิ่งที่สอง คือ เราสามารถทำความรู้จักพระเยซูเจ้าให้มากขึ้น เพราะพระองค์ทรงเป็นความจริงเกี่ยวกับพระบิดา

    พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดาด้วย ... เราดำรงอยู่ในพระบิดา และพระบิดาทรงดำรงอยู่ในเรา” (ยน 14:9-10)

    ท้ายที่สุด เราสามารถรับพระเยซูเจ้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา เพราะพระองค์ทรงเป็นชีวิตของพระบิดา

    พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเรา ก็มีชีวิตนิรันดร เราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย” (ยน 6:54)

    จึงสรุปได้ว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต และไม่มีใครไปหาพระบิดาได้ นอกจากผ่านทางพระองค์

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาดังนี้

    พระเจ้าข้า พระองค์ทรงเป็นหนทางไปหาพระบิดา
    โปรดทรงช่วยเราให้ยกกางเขนของเราขึ้นแบกในแต่ละวัน
    และติดตามพระองค์ไปตามทางนั้น

    พระเจ้าข้า พระองค์ทรงเป็นความจริงเกี่ยวกับพระบิดา
    โปรดทรงช่วยเราให้รู้จักพระองค์ และพระบิดามากขึ้น

    พระเจ้าข้า พระองค์ทรงเป็นชีวิตของพระบิดา
    โปรดทรงช่วยเราให้เปิดใจต้อนรับพระองค์อย่างเต็มที่มากขึ้น
    โดยเฉพาะผ่านทางการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์อย่างเหมาะสม


บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 14:1-12

ก่อนจะทรงออกจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา พระเยซูเจ้าตรัสกับศิษย์ของพระองค์ว่า “ใจของท่านจงอย่าหวั่นไหวเลย...”

    บทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้ นำเราย้อนกลับไปสู่วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ครั้งแรก ในช่วงท้ายของอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้า

    บรรยากาศในกลุ่มศิษย์ของพระองค์มีแต่ความเศร้าหมอง พระเยซูเจ้าทรงเพิ่งประกาศว่ายูดาสจะทรยศพระองค์ และเขาออกจากห้องนั้นไปสู่ความมืดข้างนอก (ยน 13:21-30) ... จากนั้น พระเยซูเจ้าทรงบอกบรรดาศิษย์ว่าพระองค์กำลัง “จะจากไป” และเพื่อน ๆ ของพระองค์ไม่สามารถติดตามไปในที่ที่พระองค์จะเสด็จไปได้ (ยน 13:31-36) ... ท้ายที่สุด พระองค์ทรงทำให้ทุกคนวิตกกังวลมากที่สุด เมื่อทรงทำนายว่าเปโตรจะปฏิเสธพระองค์ถึงสามครั้งในคืนนั้นก่อนไก่ขัน (ยน 13:37-38) ... เราจึงเข้าใจได้ว่าทั้งความคิด และจิตใจของบรรดาศิษย์จะต้องวิตกกังวลมาก...

    ในชีวิตของเราก็เช่นกัน มีบางช่วงเวลาที่ความกลัวเข้ามาเกาะกุมหัวใจของเรา ไม่ว่าจะเกิดจากความไม่แน่นอนของอนาคต อุปสรรคที่ดูเหมือนไม่มีทางเอาชนะได้ ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกิดจากวัยชรา โรคที่รักษาไม่หาย ... นอกจากนี้ ยังมีความกลัวของเราทุกคน เช่น กลัวตกงาน ความรุนแรง ประชากรล้นเมือง ความหิว มลภาวะ ภัยจากนิวเคลียร์ เป็นต้น ... และวิกฤติการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจผู้มีความเชื่อแท้ทุกคนว่า คุณค่ายิ่งใหญ่ที่มนุษย์ยึดถือกำลังจะสูญหายไปแล้วหรือ ... มนุษย์จะเชื่อในสิ่งใดในวันข้างหน้า...

    ความตื่นตระหนกพัดกระหน่ำเหมือนพายุ แม้แต่ประชาชนที่มีความเชื่อมั่นคงที่สุด ... และกล่าวกันว่า แม้แต่ในพระศาสนจักร ก็ดูเหมือนว่ามีแต่เรื่องที่ไม่ถูกต้อง...

    ท่ามกลางสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมเช่นนี้เอง ที่การมองโลกในแง่ดีของพระเยซูเจ้าส่องแสงราวกับเปลวไฟที่ลุกโชติช่วงในเวลากลางคืน ... พระองค์จะต้องถูกตรึงกางเขนในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า แต่พระองค์ทรงเป็นฝ่ายให้กำลังใจมิตรสหายของพระองค์ “ใจของท่านทั้งหลายอย่าหวั่นไหวเลย”

    ขอให้เรารับฟังเหตุผลที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า เราไม่มีอะไรต้องกลัวอีกต่อไป...

“จงเชื่อในพระเจ้า และเชื่อในเราด้วย”

    พระเยซูเจ้าทรงขอให้เพื่อน ๆ ผู้วิตกกังวลของพระองค์ หันสายตาไปในทิศทางหนึ่งเดียว คือหันไปหาความเชื่อ ... สันติสุขอันลึกล้ำของพระเยซูเจ้า – สันติสุขที่เอาชนะความกลัวทุกอย่างได้ – ไม่ได้พึ่งพาอาศัยมนุษย์ แต่พึ่งพาพระเจ้า ... ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถถล่มทลายลงได้ แต่พระเยซูเจ้ายังสามารถหันไปหาป้อมปราการที่ไม่มีอำนาจใดทำลายได้ ... แม้แต่ความตายก็ไม่สามารถทำลายสันติสุขของพระองค์ เพราะสันติสุขของพระองค์ไม่ได้มาจากมนุษย์ แต่มาจากพระเจ้า...

    นอกจากนี้ เราสังเกตได้ว่าเราต้องเชื่อในพระองค์ด้วยความเชื่อเดียวกันกับที่เราเชื่อในพระเจ้า หลักเหตุผลของมนุษย์ระเบิดเป็นจุณภายใต้แรงอัดของความไร้ขอบเขตของพระเจ้า พระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระเจ้า สามารถพูดถึงพระเจ้าราวกับว่าทรงพูดถึงใครคนหนึ่งที่ต่างจากพระองค์เองได้อย่างไร “จงเชื่อในพระเจ้า และเชื่อในเราด้วย”...

    พระองค์เป็นใครจึงกล้าพูดเช่นนี้

“ในบ้านพระบิดาของเรามีที่พำนักมากมาย ถ้าไม่มี เราคงบอกท่านแล้ว เรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน”

    ในข้อความนี้ พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับการรับสภาพมนุษย์ของพระองค์ ซึ่งเป็นธรรมล้ำลึกที่สุดจะหยั่งถึงได้ กล่าวคือ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงจำแนกความแตกต่างระหว่างพระองค์ และพระบิดาเสมอ ... พระองค์ตรัสถึงพระเจ้าเสมือนว่าเป็น “ใครอีกคนหนึ่ง” อันที่จริง พระองค์ทรงหมายถึง “พระบิดา”...

    พระเยซูเจ้าไม่เคยต้องการให้มนุษย์ยกย่องพระองค์ พระองค์ไม่ทรงต้องการให้มนุษย์คารวะหรือนมัสการตัวพระองค์ พระองค์ทรงหันไปหาใครอีกคนหนึ่งนั้น และทรงต้องการทำให้เราหันไปหาใครอีกคนหนึ่ง – ผู้ที่เราไม่เคยเห็น - นั้นด้วย คือ พระบิดา...

    ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงทรงมองว่าความตายของพระองค์ – การจากโลกนี้ไป – เป็นการ “กลับบ้าน” ในที่นั้น พระองค์จะทรงพบกับใครบางคนที่พระองค์ทรงรัก และเป็นผู้ที่รักพระองค์ ... พระเยซูเจ้าทรงรู้ตัวว่าพระองค์ทรงได้รับความรัก...

    หลังจากตรัสพระวาจาเหล่านี้ ซึ่งสร้างความงุนงง พระเยซูเจ้าตรัสด้วยถ้อยคำที่มนุษย์คุ้นเคย และใช้กันทั่วไป คือบ้าน ... ที่พำนัก – ที่ ... ไปเตรียมที่...

“และเมื่อเราไป และเตรียมที่ให้ท่านแล้ว เราจะกลับมารับท่านไปอยู่กับเราด้วย”...

    ถ้อยคำนี้เต็มไปด้วยความรักลึกล้ำ และอ่อนโยนยิ่งนัก “เราจะกลับมา” ... “รับท่านไปอยู่กับเรา” ... พระเจ้าทรงเป็นบุคคลที่แตกต่างจากเรา และเราเอื้อมไม่ถึงแน่นอน แต่พระองค์ก็ทรงเป็นคนรักที่ใกล้ชิดที่สุด สนิทสนมที่สุดด้วย...

    พระเจ้าของเราไม่ใช่พระเจ้าผู้เลือดเย็นและเฉยเมย แต่ทรงเป็นพระบิดาผู้อ่อนโยนที่สุด เป็นพี่ชายที่ทรงยอมให้พระองค์เองรู้สึกเจ็บปวดไปกับความวิตกกังวลของเรา และตรัสคำที่ปลอบประโลมใจ และเป็นมิตรกับเรา...

... “เพื่อว่าเราอยู่ที่ใด ท่านทั้งหลายจะอยู่ที่นั่นด้วย”

    เราไม่ควรอ่านข้อความที่ดูเหมือนเรียบง่ายนี้แบบผ่าน ๆ ... เพราะมีหลักเทววิทยาทั้งหมดรวมอยู่ในข้อความนี้ เมื่อพระองค์ทรงกล้าตรัสว่า “เราอยู่ที่ใด ท่านทั้งหลายจะอยู่ที่นั่นด้วย” พระเยซูเจ้าทรงเปิดมุมมองใหม่ให้มนุษย์ทุกคน ให้เราเข้าใจว่าพระองค์กำลังเสนอ “ชีวิตพระเจ้า” ให้แก่เรา ... เป้าหมายของมนุษย์อยู่ในพระเจ้า ... มนุษยชาติกำลังเดินหน้าไปยัง “ที่ซึ่งพระเยซูเจ้าประทับอยู่” ... มนุษย์ถูกตั้งโปรแกรมให้กลายเป็น “เหมือนพระเจ้า”...

    เราเข้าใจอย่างไรเมื่อพระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า “ใจของท่านทั้งหลายจงอย่าหวั่นไหวเลย”...

“ที่ที่เราจะไปนั้น ท่านรู้จักหนทางแล้ว” โทมัสทูลว่า “พระเจ้าข้า พวกเราไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด แล้วจะรู้จักหนทางได้อย่างไร”

    โทมัสกำลังถามคำถามนี้แทนเรา เป็นคำถามที่อยู่ในใจของมนุษย์ชายหญิงทุกคน ... เรากำลังจะไปที่ใด ... อะไรคือความหมาย และเป้าหมายสุดท้ายของชีวิต ... หลังจากความตาย จะเกิดอะไรขึ้น...

พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้ นอกจากผ่านทางเรา”

    พระเยซูเจ้าไม่เคยคิดว่ามีสิ่งใดสามารถบดบังสายตาของเรา ไม่เคยคิดว่าอนาคตจะสิ้นหวัง ... สำหรับผู้ที่มีความเชื่อ และยอมรับพระวาจาของพระเยซูเจ้า ประวัติศาสตร์มีความหมาย และชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ...

    พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้ค้นหาเส้นทาง” พระองค์ทรงเปิดเส้นทางออกจากธรรมชาติมนุษย์ที่มีขีดจำกัด และรู้จักตาย ... ถ้าปราศจากพระคริสตเจ้า มนุษย์ก็ยังคงเป็นนักโทษที่ถูกขังอยู่ภายในข้อจำกัดของตนเอง ... เมื่อเราอยู่กับพระองค์ – และพระองค์เท่านั้น ... เราจะพบว่ามีทางหนึ่งที่ไม่ได้นำเราไปสู่หลุมศพอันมืดมิด แต่นำเราไปยัง “บ้านของพระบิดา”...

    นี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงบอกเราอย่างมั่นใจเช่นนั้น...

ถ้าท่านทั้งหลายรู้จักเรา ท่านก็รู้จักพระบิดาของเราด้วย บัดนี้ ท่านก็รู้จักพระบิดา และเห็นพระองค์แล้ว”

    นี่คือประโยคหนึ่งของนักบุญยอห์น ที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า พระเจ้าเป็นบุคคลที่ “เหนือคำบรรยาย” และแม้แต่การเผยแสดงของพระองค์ก็ยังมีบางส่วนที่ “เหนือความคิด” ... เป็นแสงสว่างที่ยังมีบางส่วนที่ “มืด” ... นี่คือแสงสว่างแห่งความเชื่อ...

    เห็นได้ชัดว่าพระเจ้าไม่ใช่บุคคลที่เราเห็นได้อย่างเด่นชัด และลึกลงไปแล้ว เราไม่รู้จักพระองค์ ... เราอาจถึงกับพูดว่า เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพระองค์ และคำถามของโทมัส ยังมีความคลางแคลงใจเจือปนอยู่ด้วย “พวกเราไม่ทราบ...”

    นี่คือสถานการณ์แท้จริงของเราเช่นเดียวกัน บางที เราอาจรู้จักพระเจ้าสักวันหนึ่ง ความไม่รู้ของเราในปัจจุบันจะเปลี่ยนไป พระเยซูเจ้าทรงบอกว่า “ท่านจะรู้จักพระองค์” แต่ในองค์พระเยซูเจ้า ความไม่รู้จักพระเจ้าของเราจะถูกสั่นคลอนจนกระทั่งความเป็นจริงนี้ปรากฏให้เราเห็นตั้งแต่บัดนี้แล้ว “บัดนี้ ท่านก็รู้จักพระบิดา และเห็นพระองค์แล้ว” ... อาจกล่าวได้ว่าสำหรับทุกคนที่เชื่อในพระเยซูเจ้า อนาคตก็คือการคาดหวังโดยมองจากเหตุการณ์ปัจจุบัน “ผลสุดท้าย” เริ่มต้นขึ้นแล้ว แม้ว่ายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ... พระศาสนจักรซึ่งเป็นที่พำนักของผู้มีความเชื่อทั้งหลายก็คือ “ที่พำนักของพระเจ้าในหมู่มนุษย์” ตั้งแต่บัดนี้แล้ว (วว 21:3) ... อาศัยบ่อน้ำแห่งความเชื่อ เราได้รับบางส่วนของความรู้เกี่ยวกับพระบิดาแล้ว ความรู้นี้จะเป็นของเราเมื่อเราพบพระองค์แบบหน้าต่อหน้าในบ้านของพระองค์ ... นี่คือสิ่งที่นักเทววิทยาเรียกว่า “อันตกาลวิทยา (eschatology)” หัวใจของผู้มีความเชื่อคาดหมาย และรอคอยอนาคตตั้งแต่บัดนี้ ในพระเยซูคริสตเจ้า...

ฟิลิปทูลว่า “พระเจ้าข้า โปรดทำให้พวกเราได้เห็นพระบิดาเถิด เท่านี้ก็พอแล้ว” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ฟิลิปเอ๋ย เราอยู่กับท่านมานานเพียงนี้แล้ว ท่านยังไม่รู้จักเราอีกหรือ ผู้ที่เห็นเราก็เห็นพระบิดาด้วย ท่านพูดได้อย่างไรว่า ‘โปรดทำให้เราได้เห็นพระบิดาเถิด’ ท่านไม่เชื่อหรือว่าเราดำรงอยู่ในพระบิดา และพระบิดาทรงดำรงอยู่ในเรา”

    ก่อนหน้านี้ เราได้เห็นพระเยซูเจ้าตรัสถึงพระองค์เอง ในลักษณะที่ทรงแยกออกต่างหากจากพระบิดา แต่บัดนี้ ดูเหมือนพระองค์ทรงกำลังบอกว่าพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา .. พระเยซูเจ้า “เสด็จไปหาพระบิดา” พระองค์ทรงเป็น “หนทางที่นำเราไปสู่พระบิดา” และในเวลาเดียวกัน พระองค์ทรง “ดำรงอยู่ในพระบิดา” และใครที่เห็นพระเยซูเจ้า ก็เห็นพระบิดา ... พระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์แท้ แต่ทรงเป็นมนุษย์ที่ “เปี่ยมด้วยพระเจ้า” ทรงเป็น “มนุษย์-พระ” เราต้องยอมให้ถ้อยคำที่เรียบง่ายจนไม่น่าเชื่อนี้ซึมลึกลงไปภายในตัวเรา

    “เราดำรงอยู่ในพระเจ้า และพระเจ้าทรงดำรงอยู่ในเรา ... เราดำรงอยู่ในพระบิดา และพระบิดาทรงดำรงอยู่ในเรา”

    ถูกแล้ว ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่งชื่อเยซู ชาวนาซาเร็ธ ผู้มีชีวิตอยู่บนโลกนี้เมื่อสองพันปีก่อน ในเมืองเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน ... ชายคนนี้มีเลือดมีเนื้อ เป็นมนุษย์แท้ ... เป็นคนที่อยู่ในดินแดนอิสราเอล ... ชายคนนี้มีเพื่อนฝูง เขากินดื่มเหมือนกับคนทั่วไป และในเวลาเดียวกันนั้น ชายคนนี้ก็ติดต่อสื่อสารกับพระเจ้า และเข้าใจความรู้สึกของพระองค์ ... และชายที่ชื่อเยซูนี้ไม่ได้เสียสติ เขาเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นคนสุภาพถ่อมตน ไม่มีความทะเยอทะยาน หรือจองหอง เป็นชายที่คุกเข่าแทบเท้าของศิษย์ของตนเพื่อล้างเท้าให้ เหมือนกับคนรับใช้คนหนึ่งในยุคสมัยนั้น ... และยอมมอบร่างกายที่ถูกบิของเขา ... และหลั่งโลหิตเพื่อคนเหล่านั้น...

“วาจาที่เราบอกกับท่านทั้งหลายนี้ เรามิได้พูดตามใจของเรา แต่พระบิดาผู้สถิตในเราทรงกระทำกิจการของพระองค์ ท่านทั้งหลายจงเชื่อเราเถิดว่า เราดำรงอยู่ในพระบิดา และพระบิดาก็ทรงดำรงอยู่ในเรา หรืออย่างน้อยท่านทั้งหลายจงเชื่อเพราะกิจการเหล่านี้เถิด เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า ผู้ที่เชื่อในเราก็จะทำกิจการที่เรากำลังทำอยู่ด้วย และจะทำกิจการที่ใหญ่กว่านั้นอีก เพราะเรากำลังจะไปเฝ้าพระบิดา”

    สวนสวรรค์ไม่ใช่การหลบหนีไปหาอนาคต และความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริง ... สวรรค์ไม่ใช่ขนมหวานที่สัญญาไว้ว่าเราจะได้รับในอนาคต เพื่อบรรเทาความขมขื่นของเราในปัจจุบัน ... พระเจ้าไม่ใช่ฝิ่นที่ช่วยให้ลืมความทุกข์ของเราชั่วครั้งชั่วคราว และให้คิดถึงนิรันดรกาลที่จะมาถึงในวันข้างหน้า...

    แต่สวรรค์เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่บัดนี้แล้วสำหรับผู้ที่ “ทำกิจการ” ของพระเยซูเจ้า สวรรค์คือแนวหนึ่งของการคิด และตัดสินใจ ... แนวหนึ่งของการพบกับพระเจ้า และมนุษย์ ... เป็นแนวหนึ่งของการดำเนินชีวิต ... ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของพระเยซูเจ้าเอง...