วันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต
1 ซามูเอล 16:1, 6-7, 10-13; เอเฟซัส 5:8-14; ยอห์น 9:1-41

บทรำพึงที่ 1
อัศจรรย์ครั้งที่สอง
ศีลล้างบาปขจัดความมืดบอดฝ่ายจิตของเรา และเปิดตาเราให้มองเห็นพระเยซูเจ้า

    เมื่ออายุ 37 ปี แจ็ค แอบบอท เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ In the Belly of the Beast ตั้งแต่เขาอายุ 12 ปี แอบบอทใช้เวลาทั้งชีวิต - ยกเว้นหนึ่งปี - ในโรงเรียนดัดสันดานและในคุก ระหว่างนั้น เขาใช้เวลา 15 ปีถูกขังเดี่ยว ประสบการณ์ขังเดี่ยวที่เลวร้ายที่สุดของเขาครั้งหนึ่งเป็นการขังเดี่ยวใน “คุกมืด” ซึ่งแอบบอทบรรยายไว้ดังนี้

    “ในห้องขังมีแต่ความมืด ไม่มีแสงสว่างเล็ดลอดเข้ามาได้เลย เป็นความมืดที่ดำสนิทเหมือนกับอยู่ในน้ำหมึก แสงเดียวที่ผมเห็นคือเมื่อผมปิดตา เมื่อนั้น เบื้องหน้าผมจะมีแสงสว่างจ้า มีสีสันเหมือนพลุ เมื่อผมเปิดตา แสงก็หายไป ตาของผมหิวกระหายแสงสว่างและสี เหมือนกับคนปากแห้งกระหายน้ำลาย”

    ขอให้เราเปรียบเทียบประสบการณ์การสูญเสียแสงสว่างของแอบบอท กับประสบการณ์ของชายอีกคนหนึ่งชื่อ เอเวินส์ หลังจากตาบอดมานาน 51 ปี เอเวินส์กลับมามองเห็นได้อีกครั้งหนึ่งจากการผ่าตัด เขาบรรยายความรู้สึกเมื่อเขามองเห็นเป็นครั้งแรกได้ดังนี้

    “มันเป็นสิ่งที่น่าทึ่งที่สุดในโลก ผมรอแทบไม่ไหวที่จะตื่นขึ้นในแต่ละวัน เพื่อจะมองเห็นสิ่งที่ผมสามารถเห็นได้ ... ทุกสิ่งทุกอย่างน่าตื่นเต้นไปหมด”

    ทั้งสองเรื่องนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าชายที่ตาบอดแต่กำเนิดรู้สึกอย่างไรเมื่อพระเยซูเจ้าทรงทำให้เขามองเห็นได้

    เขาเองก็กระหายจะเห็นแสงสว่างและสีสันต่าง ๆ เหมือนกับปากที่แห้งผากต้องการน้ำลาย เขาคงคิดเหมือนกันว่าการมองเห็นเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดในโลก และเขาคงแทบรอไม่ไหวที่จะตื่นขึ้นมาทุกเช้าเพื่อดูว่าเขาสามารถเห็นอะไรได้บ้าง

    แต่อัศจรรย์ที่ทำให้เขามองเห็นทางกายภาพเทียบไม่ได้เลยกับอัศจรรย์ครั้งที่สองที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเพื่อเขา นั่นคืออัศจรรย์การมองเห็นด้วยตาฝ่ายจิต เป็นพระพรแห่งความเชื่อที่พระเยซูเจ้าประทานแก่เขาด้วย

    และเป็นอัศจรรย์ครั้งที่สอง หรือพระพรแห่งความเชื่อนี้เองที่ยอห์นเน้นย้ำในพระวรสารวันนี้

    สิ่งแรกที่ยอห์นบอกเป็นนัย คือ พระพรแห่งความเชื่อจะเกิดขึ้นทีละน้อย และมิใช่พระพรที่ได้รับมาทั้งหมดในทันทีทันใด ยอห์นบรรยายว่าอัศจรรย์นี้เกิดขึ้นเป็นสามขั้นตอน

    ขั้นตอนแรกเกิดขึ้นเมื่อประชาชนซักถามชายตาบอดว่าตาของเขาหายบอดได้อย่างไร ชายตาบอดตอบว่า “คนที่ชื่อเยซูทำโคลนป้ายตาของฉัน และบอกฉันว่า ‘จงไปล้างตาที่สระสิโลอัมเถิด’ ฉันจึงไปล้าง พอล้างแล้วก็มองเห็น”

    ดังนั้น สิ่งแรกที่ชายตาบอดรับรู้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้าก็คือพระองค์ทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นมนุษย์ที่แปลกพิสดาร แต่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง

    ขั้นตอนที่สองของพระพรแห่งการมองเห็นฝ่ายจิตที่ชายตาบอดได้รับ เกิดขึ้นเมื่อชาวฟาริสีสอบถามเขาว่า “ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับคนนั้นที่เขาทำให้ตาของท่านกลับมองเห็น” ชายตาบอดตอบว่า “คนนั้นเป็นประกาศก”

    คำตอบของชายตาบอดเผยให้เห็นว่าเขามีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า สายตาฝ่ายจิตที่เขามองเห็นพระเยซูเจ้ามองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นอีก

    ยิ่งเขาคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากเท่าไร ชายตาบอดก็ยิ่งมั่นใจว่าพระเยซูเจ้าต้องเป็นอะไรที่มากกว่ามนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง พระองค์ต้องเป็นประกาศกแน่นอน

    แล้วก็มาถึงขั้นตอนที่สามที่ชายตาบอดมองเห็นพระเยซูเจ้า

    หลังจากนั้นชายตาบอดพบกับพระเยซูเจ้า เราต้องระลึกว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงอยู่ที่นั่นด้วยเมื่อชายตาบอดมองเห็นได้หลังจากไปล้างตาที่สระสิโลอัม บัดนี้พระเยซูเจ้าทรงมองเข้าไปในดวงตาของเขา และตรัสว่า “ท่านเชื่อในบุตรแห่งมนุษย์หรือ” ชายคนนี้ตอบว่า “บุตรแห่งมนุษย์คือใคร พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะได้เชื่อในพระองค์”

    พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านได้เห็นแล้ว เป็นผู้ที่กำลังพูดอยู่กับท่านนี่แหละ” เขาจึงตอบว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ พระเจ้าข้า” แล้วกราบลงนมัสการพระองค์

    ดังนั้น นี่จึงเป็นก้าวสุดท้ายที่สายตาฝ่ายจิตของชายคนนี้มองเห็นพระเยซูเจ้า เขามองเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นมากกว่ามนุษย์คนหนึ่ง เขามองเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นมากกว่าประกาศกคนหนึ่ง เขามองเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่ “ทุกคนในสวรรค์ และบนแผ่นดิน รวมทั้งใต้พื้นพิภพ จะย่อเข่าลงนมัสการ” (ฟป 2:10)

    ดังนั้น สายตาฝ่ายจิต หรือพระพรแห่งความเชื่อที่ชายคนนี้ได้รับ จึงเป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการได้รับสมรรถภาพการมองเห็นฝ่ายกาย

    ก่อนที่เราจะพรรณนาถึงพระพรแห่งความเชื่อในพระเยซูเจ้าที่ชายตาบอดคนนี้ได้รับ ขอให้เราระลึกว่าเราเองก็ได้รับพระพรแห่งความเชื่อในพระเยซูเจ้าเมื่อเรารับศีลล้างบาป

    ก่อนที่เราจะล้างตัวในน้ำแห่งศีลล้างบาป ตาฝ่ายจิตของเราก็บอด เหมือนกับชายคนนี้ที่ตาบอดมาแต่กำเนิด แต่หลังจากเราได้ล้างตัวในน้ำนี้แล้ว เราได้รับประสบการณ์อัศจรรย์แห่งสายตาฝ่ายจิต หรือความเชื่อในพระเยซูเจ้า ซึ่งทำให้เราเห็นความคล้ายคลึงประการที่สองระหว่างเรากับชายที่ตาบอดแต่กำเนิด นั่นคือ พระพรแห่งความเชื่อในพระเยซูเจ้าไม่ได้เกิดขึ้นรวดเดียวในทันทีทันใดเช่นกัน แต่เราได้รับมาทีละน้อย ทีละขั้นตอน

    ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเป็นเด็ก ภาพของพระเยซูเจ้าที่เรามองเห็น ก็คือภาพของมนุษย์คนหนึ่ง แม้จะเป็นมนุษย์ที่แปลกพิสดาร แต่ก็ยังเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง

    เมื่อเราโตขึ้น ความรู้ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าก็เติบโตขึ้นด้วย และยังคงเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงวันนี้ ไม่ว่าเราจะอายุมากเท่าไรก็ตาม

    สิ่งหนึ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าคือ ยิ่งเราอายุมากขึ้น เราก็เรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์มากขึ้น และยิ่งเราเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์มากขึ้น เราก็ยิ่งเห็นว่าพระองค์ทรงแปลกพิสดารมากขึ้น

    ในความสัมพันธ์กับบุคคล หรือสิ่งอื่น ๆ เหตุการณ์จะตรงกันข้าม ยิ่งเรารู้จักบุคคลหนึ่งมากเท่าใด เราจะยิ่งมองเห็นข้อบกพร่องของเขามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งต่างจากกรณีของพระเยซูเจ้า ยิ่งเรารู้จักพระองค์มากเท่าไร เรายิ่งเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มากขึ้นเท่านั้น ขอให้เราสรุปบทรำพึงนี้ด้วยความคิดต่อไปนี้เกี่ยวกับองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระผู้ไถ่ของเรา

    พระเยซูเจ้าเสด็จมาหาเราแต่ละคน เหมือนกับที่พระองค์เสด็จมาหาคนทั้งหลายในยุคพระคัมภีร์ พระองค์เสด็จมาในฐานะมนุษย์ที่น่าอัศจรรย์ใจคนหนึ่ง พระองค์ตรัสกับเราเหมือนกับที่พระองค์เคยตรัสกับคนทั้งหลายในยุคพระคัมภีร์ว่า “จงตามเรามาเถิด”

    และถ้าเราติดตามพระองค์เหมือนกับประชาชนในยุคพระคัมภีร์ พระเยซูเจ้าจะทรงเผยแสดงพระองค์แก่เราทีละน้อย ทีละขั้นตอน

    แล้วในเช้าวันหนึ่ง เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นบนท้องฟ้า เราก็จะเห็นอย่างที่เขาเหล่านั้นเคยเห็น เมื่อนั้น เราก็จะลงกราบนมัสการพระเยซูเจ้า และทูลพระองค์ว่า “เราเชื่อ พระเจ้าข้า เราเชื่อว่าพระองค์คือพระบุตรของพระเจ้า”

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 9:1-41

ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินผ่านไป พระองค์ทอดพระเนตรเห็นคนตาบอดแต่กำเนิดคนหนึ่ง

    ต่างจากการทำอัศจรรย์ครั้งอื่น ๆ พระเยซูเจ้าทรงทำอัศจรรย์ครั้งนี้มิใช่ตามคำร้องขอ แต่ทรงเป็นฝ่ายเริ่มต้นเอง...

    “พระเยซูเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นคนตาบอด ...” ข้อความนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการภาวนาของข้าพเจ้าได้ พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นความทุกข์ยากของข้าพเจ้าเช่นกัน...

บรรดาศิษย์ทูลถามพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ใครทำบาป ชายคนนี้หรือบิดามารดาของเขา เขาจึงเกิดมาตาบอด” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “มิใช่ชายคนนี้ หรือบิดามารดาของเขาทำบาป แต่เขาเป็นเช่นนี้ก็เพื่อให้กิจการของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา ตราบใดที่ยังเป็นกลางวันอยู่ เราทั้งหลายต้องทำกิจการของผู้ที่ทรงส่งเรามา แต่เมื่อกลางคืนมาถึง ก็ไม่มีใครทำงานได้ ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลก เราเป็นแสงสว่างส่องโลก”

    เราเองก็มักจะถามเหมือนกับบรรดาศิษย์ และอันที่จริงนี่เป็นคำถามที่คนทุกยุคสมัยมักจะถาม เมื่อพบเห็นสิ่งที่เลวร้าย เราจะมองหา “คำอธิบาย” และต้องการมองหาแพะรับบาป ... คนโบราณพอใจกับทฤษฏีที่ง่ายและเก่าแก่ นั่นคือ สิ่งเลวร้ายเป็นผลมาจากบาป...

    แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการให้เรามองปัญหาเช่นนี้ และทรงเสนอคำอธิบายอีกทางหนึ่ง สำหรับพระองค์สิ่งชั่วร้ายเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และไม่มีข้อแก้ตัวที่สมเหตุสมผล ... ปฏิกิริยาตามปกติ และเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของมนุษย์ คือ ต้องพยายามสุดความสามารถที่จะกำจัดสิ่งเลวร้ายนี้ให้หมดไป การต่อสู้กับความเจ็บปวดทรมานนี้ไม่ใช่กิจการที่เสียเวลาเปล่า ๆ และไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยความล้มเหลว เพราะพระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยให้เรารู้ว่านี่คือการต่อสู้ของพระเจ้าเองทีเดียว พระองค์ทรงบอกว่า นี่คือเหตุผลที่พระองค์ทรงถูกส่งมา...

    ส่งมาหรือ ... ใครส่งพระองค์มา ... พระเยซูเจ้าทรงมาจากที่ใด...

    คำถามเกี่ยวกับ “ที่มา” ของพระองค์ยิ่งสำคัญมากขึ้น เพราะพระเยซูเจ้าทรงต้องพบกับ “จุดจบ” เหมือนกับมนุษย์ทุกคน พระองค์ทรงรู้ว่าพระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์ในไม่ช้า ทรงรู้ว่า “กลางคืนมาถึงแล้ว” และพระองค์ทรงต้องทำงาน “ตราบใดที่พระองค์ยังอยู่ในโลก” ... ความตายนี้ ซึ่งพระองค์ทรงมองเห็นได้เนื่องจากพระองค์มีศัตรูที่เกลียดชังพระองค์ (ยน 7:19, 32, 44, 8:54) จะเป็นชัยชนะเหนือความชั่วร้าย เป็นชัยชนะเหนือความมืด (ยน 13:30) แต่ “ความมืดกลืนแสงสว่างนั้นไม่ได้” (ยน 1:5, 9)...

    ขอบพระคุณพระองค์ ข้าแต่พระเยซูเจ้า ... ขอถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระองค์ ผู้ทรงส่องแสงขับไล่ความมืดของเรา

เมื่อตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงถ่มพระเขฬะลงบนพื้นผสมกับดิน ป้ายตาคนตาบอด แล้วตรัสกับเขาว่า “จงไปล้างตาที่สระสิโลอัมเถิด” “สิโลอัม” หมายความว่า “ถูกส่งไป” คนตาบอดจึงไปล้างตา แล้วกลับมามองเห็น

    คำบรรยายอย่างละเอียดนี้แสดงว่ายอห์นเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์นี้ คนโบราณเชื่อว่าน้ำลายของคนบางคนมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค แต่ในกรณีนี้ เราเห็นอัจฉริยภาพของยอห์น ผู้เป็นนักเทววิทยาที่ชอบใช้สัญลักษณ์ ว่าเขายังเป็นนักเทววิทยาด้านศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วย

    ชายคนนี้ตาบอดมาแต่กำเนิด กรณีของเขาเป็นสัญลักษณ์แทนตัวมนุษยชาติอย่างแท้จริง เพราะมนุษย์จมลงสู่ความมืดเมื่อเขาไม่รู้จักพระเยซูเจ้า – เมื่อความทุกข์ทรมานของมนุษย์ดูเหมือนว่าไร้ความหมาย ... และสระสิโลอัม ... นอกจากจะเป็นสระน้ำที่อยู่ในถิ่นของชนชั้นต่ำในกรุงเยรูซาเล็มแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของศีลล้างบาป ซึ่งชะล้างมลทิน และให้ความสว่างอีกด้วย…

    ยอห์น ผู้เป็นนักเทววิทยา ไม่ได้ให้ความสำคัญมากที่สุดแก่อัศจรรย์อันพิสดารนี้ ซึ่งเขาบรรยายด้วยข้อความเพียงสามบรรทัด ... แต่เขาให้ความสำคัญกับ “เครื่องหมาย” เชิงสัญลักษณ์ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเปรียบเทียบกับพระองค์เอง ... และซึ่งถูกเผยผ่านทางชื่อของสระ “สิโลอัม” ซึ่งในภาษาฮีบรู คือ Shilloah แปลว่า “ผู้ถูกส่งไป” ... ส่งไป ... โดยผู้ใด...

    บุคคลที่ชื่อเยซูคนนี้ - ชายที่ “ถูกส่งไป” นี้ - เป็นต้นเหตุให้เกิดคำถาม ความคลางแคลงใจ ความคิดเห็น และความขัดแย้งว่า เขาเป็นใคร ... ไม่เคยมีมนุษย์คนใดเป็นต้นเหตุให้เกิดคำถามมากมายเช่นนี้มาก่อน...

    ทำไม ... ชะตากรรมของเขาจะเป็นอย่างไร...

    อัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับชายตาบอดเกิดขึ้นยังไม่ทันไร ก็ดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้าทรงออกไปจากเหตุการณ์นี้แล้ว แต่พระองค์จะกลายเป็นเป้าหมายของการพิจารณาคดี “ลับหลัง” อันแปลกประหลาด ผ่านทางตัวชายคนหนึ่งผู้ได้รับประโยชน์จากความเมตตาของพระองค์ ... เราจะได้เห็นการสอบสวนที่ยิ่งทียิ่งหนักข้อถึงสี่ครั้ง แต่ในที่สุด พระเยซูเจ้าจะทรงเข้าแทรกแซงอีกครั้งหนึ่ง และทรงทำให้ศัตรูของพระองค์กลายเป็นจำเลยเสียเอง...

    การพิจารณาคดีครั้งแรก

เพื่อนบ้าน และคนที่เคยเห็นเขาเป็นขอทานมาก่อนพูดว่า “คนนี้เป็นคนที่เคยนั่งขอทานอยู่มิใช่หรือ” บางคนพูดว่า “ใช่แล้ว” บางคนพูดว่า “ไม่ใช่ แต่เป็นคนอื่นที่คล้ายคลึงกัน” แต่คนที่เคยตาบอดพูดว่า “ใช่แล้วเป็นฉันเอง” คนเหล่านั้นจึงถามเขาว่า “ตาของท่านหายบอดได้อย่างไร” เขาตอบว่า “คนที่ชื่อเยซู ทำโคลนป้ายตาของฉัน และบอกฉันว่า ‘จงไปล้างตาที่สระสิโลอัมเถิด’ ฉันจึงไปล้างตา พอล้างแล้วก็มองเห็น” พวกนั้นถามว่า “เวลานี้คนนั้นอยู่ที่ไหน” เขาตอบว่า “ฉันไม่รู้”

    ดังนั้น เพื่อนบ้านจึงเป็นคนกลุ่มแรกที่ไต่สวนเขาว่าเกิดอะไรขึ้น ... เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไร ... ใครเป็นคนทำ...

    ปฏิกิริยาขณะนี้เป็นเพียงการแสดงความอยากรู้อยากเห็นด้วยความเห็นใจตามธรรมชาติ ... แม้แต่ในทุกวันนี้ คนร่วมสมัยของเราจำนวนมากก็สนใจพระเยซูเจ้าเพียงเท่านี้ คือเขาสังเกตเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เขาไม่ต้องการทำให้ชีวิตของตนเองยุ่งยาก ดังนั้น เขาจึงไม่สนใจมากไปกว่านี้...

    สำหรับชายที่หายจากตาบอด เขาเองก็ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า เขารู้แต่เพียงว่า ใคร ๆ เรียกพระองค์ว่า “เยซู”...

    การพิจารณาคดีครั้งที่สอง

คนเหล่านั้นจึงพาคนที่เคยตาบอดไปหาชาวฟาริสี วันที่พระเยซูเจ้าทรงถ่มพระเขฬะผสมดิน และทรงรักษาตาของคนตาบอดนั้นเป็นวันสับบาโต ... ชาวฟาริสีบางคนพูดว่า “คนนั้นไม่ได้มาจากพระเจ้า เขาไม่ถือวันสับบาโต” แต่บางคนแย้งว่า “คนบาปจะทำเครื่องหมายอัศจรรย์อย่างนี้ได้อย่างไร” ชาวฟาริสีเหล่านั้นมีความคิดเห็นแตกต่างกัน จึงถามคนที่เคยตาบอดอีกว่า “ท่านล่ะ ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับคนนั้นที่เขาทำให้ตาของท่านกลับมองเห็น” เขาตอบว่า “คนนั้นเป็นประกาศก”

    เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์นี้ ประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่างกัน บางคนเห็นชอบ - บางคนต่อต้าน ... แต่ชายที่เคยตาบอดเริ่มต้นก้าวหน้าอย่างช้า ๆ อันที่จริง สิ่งที่กระตุ้นให้เขาก้าวหน้าก็คือการถูกรังควานจากการสอบถาม บัดนี้ เขาจึงแสดงความคิดเห็นว่า “คนนั้นเป็นประกาศก”...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ก้าวหน้าในความเชื่อด้วยเทอญ...

    การพิจารณาคดีครั้งที่สาม

แต่ชาวยิวไม่ยอมเชื่อว่าชายคนนี้เคยตาบอดแล้วกลับมองเห็น จึงเรียกบิดามารดาของเขามา แล้วถามว่า “คนนี้เป็นลูกของท่าน ซึ่งท่านบอกว่าเกิดมาตาบอดใช่หรือไม่ บัดนี้ เขากลับมองเห็นได้อย่างไร” บิดามารดาตอบว่า “เรารู้ว่าคนนี้เป็นลูกของเราและเกิดมาตาบอด แต่เราไม่รู้ว่าบัดนี้เขามองเห็นได้อย่างไร หรือใครรักษาตาของเขา เราก็ไม่รู้ ท่านจงถามเขาเองเถิด เขาโตพอจะตอบเองได้แล้ว” บิดามารดาตอบเช่นนี้ก็เพราะกลัวชาวยิว ซึ่งตกลงกันแล้วว่าใครยอมรับว่าพระองค์เป็นพระคริสตเจ้าจะถูกขับออกจากศาลาธรรม

    นี่เป็นอีกทัศนคติหนึ่งเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า คือ การหนีเอาตัวรอด ... เราไม่ยอมถามคำถามบางข้อกับตนเองเพราะกลัวจะทำให้ตนเองลำบาก...

    บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าก็นับรวมอยู่ในกลุ่มบุคคลประเภทนี้ไม่ใช่หรือ ... เรายอมไม่ทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา...

    การพิจารณาคดีครั้งที่สี่

ชาวยิวเรียกคนที่เคยตาบอดมาอีก บอกเขาว่า “จงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าเถิด พวกเรารู้ว่าคนนั้นเป็นคนบาป” คนที่เคยตาบอดแย้งว่า “เขาเป็นคนบาปหรือไม่ฉันไม่รู้ ฉันรู้อย่างเดียวว่าฉันเคยตาบอด และบัดนี้มองเห็นแล้ว” ... พวกนั้นจึงด่าเขาว่า “พวกเรารู้ว่าพระเจ้าตรัสกับโมเสส แต่เยซูคนนี้ เราไม่รู้ว่าเขามาจากไหน” คนที่เคยตาบอดจึงพูดว่า “แปลกจริง ท่านทั้งหลายไม่รู้ว่าเขามาจากไหน แต่เขาได้รักษาตาของฉันให้กลับมองเห็น เราทั้งหลายรู้ว่าพระเจ้าไม่ทรงฟังคนบาป แต่ทรงฟังผู้ที่ยำเกรงพระองค์ และปฏิบัติตามพระประสงค์เท่านั้น ... ถ้าเขาไม่ได้มาจากพระเจ้า เขาก็คงจะทำอะไรไม่ได้” คนเหล่านั้นตอบว่า “ท่านเกิดมาในบาปทั้งตัว แล้วยังกล้ามาสั่งสอนพวกเราอีกหรือ” แล้วจึงขับไล่เขาออกไป
    ชาวฟาริสีจมปลักยิ่งทียิ่งลึกอยู่ในระบบความคิดของตน พวกเขา “รู้” เขาย้ำคำนี้ซ้ำ ๆ หลายครั้ง ซึ่งเป็นคำที่แสดงออกว่าเขาไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร เขาไม่ยอมเปลี่ยนแปลง และพึ่งพาแต่ธรรมประเพณีเท่านั้น ... สำหรับคนเหล่านี้ การยอมรับ “สิ่งแปลกใหม่” ที่เกิดจากชายคนหนึ่งที่ละเมิดกฎของวันสับบาโต ย่อมเป็นอันตรายต่อระบบการสั่งสอนของเขา ดังนั้น เขาจึงปฏิเสธสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน และดังนั้น เขาจึงทำบาปข้อเดียวที่ปรากฏในพระวรสารของนักบุญยอห์น คือการปฏิเสธความเชื่อ ... การไม่ยอมเชื่อโดยรู้ตัว และเต็มใจ ... เป็นการปิดตาต่อธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้า...

    เราต้องสังเกตการใช้คำกริยาว่า “รู้” อย่างแยบยลนี้ ซึ่งเผยให้เห็นทั้งการเปิดใจยอมรับความเชื่อ และอุปสรรคที่ขัดขวางการยอมรับความเชื่อ

    1)    บิดามารดา “รู้” ว่าชายคนนี้เป็นลูกของเขา ... แต่เขาไม่ต้องการ “รู้” ว่าใครเป็นผู้รักษาตาของเขาให้มองเห็นได้ ด้วยเกรงว่าเขาอาจตกอยู่ในฐานะที่ลำบาก (9:20-21)

    2)    ชาวฟาริสี “รู้” ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นคนบาป และ “รู้” ว่าพระเจ้าตรัสกับโมเสส – แต่เขาไม่ต้องการ “รู้” ว่าพระเยซูเจ้ามาจากไหน (9:24, 29)

    3)    ส่วนชายตาบอด เขา “ไม่รู้” ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นคนบาปหรือไม่ ... แต่เขา “รู้” ว่าตัวเขาหายจากตาบอดแล้ว และ “รู้” ด้วยว่าพระเจ้าไม่ทรงฟังคนบาป (9:12, 25, 31)

พระเยซูเจ้าทรงได้ยินว่าชาวฟาริสีขับไล่คนที่เคยตาบอดออกไปจากศาลาธรรม เมื่อทรงพบเขาจึงตรัสถามว่า “ท่านเชื่อในบุตรแห่งมนุษย์หรือ” เขาทูลถามว่า “บุตรแห่งมนุษย์คือใครพระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะได้เชื่อในพระองค์” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านได้เห็นแล้ว เป็นผู้ที่กำลังพูดอยู่กับท่านนี่แหละ” เขาจึงทูลว่า “ข้าพเจ้าเชื่อพระเจ้าข้า” แล้วกราบลงนมัสการพระองค์

    ในขณะที่ชาวฟาริสีกักขังตนเองอยู่ในความไม่เชื่อของเขา ชายตาบอดไม่เคยหยุดก้าวหน้าในความเชื่อ ... แต่เราสังเกตได้ว่าความเชื่อนี้เข้าถึงระดับสมบูรณ์เพียงเมื่อพระเยซูเจ้าทรงถามเขาด้วยพระองค์เอง คำถามทุกข้อที่ได้ยินจากศัตรูของพระเยซูเจ้าทำให้ชายตาบอดก้าวหน้า – แต่การประกาศยืนยันความเชื่อแท้จริงเกิดขึ้นโดยเป็นผลมาจากการพบกับพระเยซูเจ้าด้วยตัวเขาเองเท่านั้น...

    ส่วนเราเล่า ... ความเชื่อของเราก้าวหน้าเหมือนกับความเชื่อของชายตาบอดคนนี้ที่ก้าวไปข้างหน้าทีละก้าว “เปิดตาของเขามองดูธรรมล้ำลึก” หรือเปล่า ... เมื่อเริ่มต้น เราเพียงอยู่เบื้องหน้า “คนที่ชื่อเยซู” (9:11) ... จากนั้น เราค้นพบ “ประกาศกคนหนึ่ง” (9:17) ... “ผู้ที่มาจากพระเจ้า” (9:33) ... และในที่สุดเราพบกับ “บุตรแห่งมนุษย์” (9:35) และ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (9:38)...

    นี่คือการล้างแค้นของพระเจ้า ชายผู้น่าสงสารได้พบความสุขแท้ประการเดียว เขาตาบอดแต่กำเนิด เพื่อนบ้านไม่ได้ช่วยอะไรเขามากนัก บิดามารดาก็ไม่ได้เลี้ยงดูเขา เขาถูกขับไล่ออกจากศาลาธรรมเหมือนคนเป็นโรคติดต่อ ... แต่ความเชื่อนำความยินดียิ่งใหญ่มาให้เขา...
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เรามาในโลกนี้เพื่อพิพากษา คนที่มองไม่เห็นจะได้มองเห็น ส่วนคนที่มองเห็นจะกลายเป็นคนตาบอด” ชาวฟาริสีบางคนซึ่งอยู่ที่นั่นได้ยินพระวาจาเหล่านี้ จึงทูลถามพระองค์ว่า “พวกเราก็ตาบอดด้วยใช่ไหม” พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า “ถ้าท่านทั้งหลายตาบอด ท่านก็ไม่มีบาป แต่ท่านกล่าวว่า ‘เรามองเห็น’ บาปของท่านจึงยังคงอยู่”

    สถานการณ์พลิกผันไปโดยสิ้นเชิง “บาป” ไม่ได้อยู่ในที่ที่ชาวฟาริสีมองเห็น เมื่อเขาเหยียดหยามชายคนหนึ่งที่ “เกิดมาในบาปทั้งตัว” และ “การตาบอดแท้” ก็ไม่ได้อยู่ในที่ที่เขาคิด ... แท้จริงแล้ว พวกเขาเท่านั้นที่ตาบอด เพราะเขาไม่ยอมเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของเขา...

    ขอให้เราสังเกตคำยืนยันของพระเยซูเจ้า กล่าวคือ พระเจ้าไม่ทรงลงโทษชาวฟาริสีจากภายนอก – พวกเขาต่างหากที่ลงโทษตนเอง ... การปฏิเสธความเชื่อเป็นการกระทำที่ไร้สาระ ซึ่งร้ายแรงเหมือนกับการฆ่าตัวตาย ก่อนหน้านี้ พระเยซูเจ้าตรัสกับนิโคเดมัสว่า “ผู้ที่ไม่มีความเชื่อก็ถูกตัดสินลงโทษอยู่แล้ว ... ประเด็นของการตัดสินลงโทษก็คือ ... มนุษย์รักความมืดมากกว่ารักความสว่าง” (ยน 3:18-19)

    พระบุคคลของพระเยซูเจ้าบังคับให้มนุษย์ต้องเลือก ... ในพระวรสารของนักบุญยอห์น มีการใช้คำว่า “เห็น” และ “เชื่อ” เพื่อสนับสนุนกันอยู่เสมอ ... เราเห็นเครื่องหมายซึ่งเชิญชวนให้เราเชื่อ (ยน 1:50, 3:36, 4:48, 6:26, 36, 40, 9:39, 41, 11:45, 20:8, 20:29) … และพระเยซูเจ้าทรงยืนยันในที่นี้ว่าชาวฟาริสี “ไม่มีข้อแก้ตัว” ที่จะไม่เชื่อ เพราะเขาเห็น “เครื่องหมาย” แล้ว “ท่านกล่าวว่า ‘เรามองเห็น’ ... บาปของท่านจึงยังคงอยู่”...