แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 10 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มัทธิว 9:9-13

(9)ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงดำเนินไปจากที่นั่น ทรงเห็นชายคนหนึ่งชื่อมัทธิว กำลังนั่งอยู่ที่ด่านภาษี  จึงตรัสสั่งเขาว่า “จงตามเรามาเถิด” เขาก็ลุกขึ้นตามพระองค์ไป (10)ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารที่บ้านของมัทธิว คนเก็บภาษีและคนบาปหลายคนมาร่วมโต๊ะกับพระองค์และบรรดาศิษย์  (11)เมื่อเห็นดังนี้ ชาวฟาริสีจึงถามศิษย์ของพระองค์ว่า “ทำไมอาจารย์ของท่านจึงกินอาหารร่วมกับคนเก็บภาษีและคนบาปเล่า” (12) พระเยซูเจ้าทรงได้ยินดังนั้น จึงตรัสตอบว่า “คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บไข้ต้องการ (13) จงไปเรียนรู้ความหมายของพระวาจาที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ เพราะเราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป”

***************************


1. จงตามเรามาเถิด
ในบรรดาอัครสาวกทั้งสิบสองคน ดูเหมือนมัทธิวจะมีคุณสมบัติเป็น “สายล่อฟ้า” มากที่สุดเพราะเขาเคยเป็น “คนเก็บภาษี” มาก่อน
โรมเลือกใช้วิธีเก็บภาษีที่ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดแต่เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด นั่นคือ “ประมูล” หาผู้ที่เสนอเงินแก่โรมสูงสุดแล้วมอบสิทธิในการจัดเก็บภาษีแต่ละเขตให้แก่ผู้นั้น
เท่ากับว่าโรมขายสิทธิในการขูดรีดภาษีอย่างถูกกฎหมายให้แก่คนเก็บภาษี !
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าระบบนี้ถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่คนเก็บภาษีอย่างไร  ยิ่งในยุคที่ไม่มีหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ด้วยแล้ว ประชาชนแทบไม่มีทางรู้ได้เลยว่าต้องจ่ายภาษีเท่าใด ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือพวกเขาไม่มีช่องทางอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคนเก็บภาษีได้เลย
เพราะระบบถูกนำไปใช้อย่างผิด ๆ โรมจึงยกเลิกระบบประมูลก่อนสมัยพระเยซูเจ้าไม่นาน แล้วหันมาจัดเก็บภาษีเอง  กระนั้นก็ตามโรมยังต้องจ้างคนเก็บภาษีหน้าเดิม ๆ อยู่ดี และการขูดรีดคอรัปชั่นก็ยังคงดำเนินต่อไป
ภาษีสำคัญที่โรมเรียกเก็บมี 3 ประเภทคือ
1.     ภาษีที่ดิน อัตราร้อยละสิบหากปลูกข้าว และร้อยละยี่สิบหากปลูกผลไม้หรือองุ่น โดยจะจ่ายเป็นเงินหรือผลผลิตก็ได้
2.     ภาษีรายได้ อัตราร้อยละหนึ่ง
3.     ภาษีรัชชูปการ เรียกเก็บจากชายชาวยิวผู้มีอายุระหว่าง 14-65 ปี และหญิงชาวยิวอายุระหว่าง 12-65 ปี เพราะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหารเหมือนชนชาติอื่น
ภาษีเหล่านี้มีกฎหมายกำหนดอัตราไว้ชัดเจน จึงยากแก่การแสวงหาผลประโยชน์
แต่นอกเหนือจากภาษีทั้งสามที่กล่าวมา ยังมีภาษีอากรอีกมากมายหลายชนิดให้เลือกจัดเก็บได้ตามดุลยพินิจของคนเก็บภาษี ตัวอย่างเช่น ภาษีนำเข้าและส่งออกร้อยละ 2.5–12.5  ภาษีเดินทางบนถนนหลวง ภาษีข้ามสะพาน ภาษีเข้าตลาด ภาษีเข้าเมืองหรือท่าเรือ ภาษีฝูงสัตว์ ภาษีล้อและเพลาเกวียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอื่น ๆ อีกมาก
ภาษีที่เปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เช่นนี้แหละ ที่ทำให้คนเก็บภาษีร่ำรวยได้บนคราบน้ำตาของประชาชน !
“คนเก็บภาษี” นอกจากจะเป็นที่เกลียดชังของคนทุกชาติแล้ว พวกเขายังขึ้นชื่อลือชาเรื่องความเลวถึง 3 เด้งด้วยกัน  เด้งแรกคือโกงโรมซึ่งเป็นนายจ้างของตนเอง  เด้งที่สองคือรับสินบนคนรวยเพื่อเลี่ยงภาษี  และเด้งที่สามคือถอนขนหน้าแข้งคนจนซึ่งไม่มีปากไม่มีเสียง
สำหรับชาวยิวแล้ว ความเกลียดชังที่มีต่อคนเก็บภาษีนั้นมากเป็นสองเท่าของชนชาติอื่น ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ
1.     ชาวยิวเป็นพวกชาตินิยมสุดโต่ง  คนเก็บภาษีทำงานให้กับโรมผู้เป็นเจ้าอาณานิคม จึงถูกตราหน้าว่าเป็นคนขายชาติ
2.     ชาวยิวเชื่อมั่นว่าพระยาเวห์คือกษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียวของพวกเขา การจ่ายภาษีให้แก่ผู้อื่นเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิของพระยาเวห์และดูหมิ่นเหยียดหยามความยิ่งใหญ่ของพระองค์
ด้วยเหตุนี้ ชาวยิวจึงมีกฎหมายห้ามคนเก็บภาษีเข้าศาลาธรรมหรือเป็นพยานในทุกกรณี และให้ปฏิบัติต่อพวกเขาเฉกเช่นเดียวกับสิ่งของหรือสัตว์มีมลทิน  พวกเขาถูกจัดเป็นคนบาปในกลุ่มเดียวกับขโมยและฆาตกร ซึ่งถือเป็นชนชั้นเลวสุดในสังคมยิว
ทั้ง ๆ ที่มัทธิวอยู่ในชนชั้นเลวสุดและทุกคนต่างพากันจงเกลียดจงชัง แต่พระเยซูเจ้าทรงเรียกเขา “จงตามเรามาเถิด” (มธ 9:9)
นี่คืออัจฉริยภาพของพระองค์ที่ทรงมองเห็นความสามารถของมนุษย์  พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยว่าเขาเคยเป็นเช่นใดในอดีต  แต่ทรงสนพระทัยว่าเขาจะเป็นอะไรได้ในอนาคต
ไม่มีใครเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์เท่ากับพระองค์อีกแล้ว !
เมื่อมัทธิวลุกขึ้นจากโต๊ะเก็บภาษีแล้วติดตามพระองค์ไป สิ่งที่เขา “สูญเสีย” เทียบกับสิ่งที่เขา “ได้” คือ
1.     เขาสูญเสียงานสบาย ๆ แต่ได้พบกับจุดหมายของชีวิต
2.     เขาสูญเสียรายได้งาม แต่ได้รับการยอมรับนับถือแทนการดูหมิ่นเหยียดหยามจากสังคม
3.     เขาสูญเสียความมั่นคงและความสะดวกสบายในชีวิต แต่ได้พบกับการผจญภัยอันไม่อาจคาดฝันได้ที่นำไปสู่ความรุ่งโรจน์เช่นเดียวกับพระคริสตเจ้า
4.     เขาต้องละทิ้งโต๊ะเก็บภาษี แต่สิ่งที่ได้มาคือความเชื่อใจของพระเยซูเจ้าในความสามารถที่จะใช้ “ปากกา” ของเขาเพื่องานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์
มัทธิวได้รวบรวมคำสอนของพระองค์ไว้ในหนังสือพระวรสาร และกลายเป็นหนึ่งในหนังสือสำคัญที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา
เช่นเดียวกับมัทธิว หากเราตอบรับ “การเรียก” ของพระเยซูเจ้า เราอาจยากจนลงทางวัตถุหรือต้องเสียสละความทะเยอทะยานทางโลกไปบ้าง  แต่สิ่งที่จะได้รับคือความสุขและความยินดีชนิดที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะมีอยู่ในโลกใบนี้
เป็นความสุขที่ “สงบ” และ “อิ่ม” จริง ๆ
พระองค์ทรงคุณค่าเหนือทุกสิ่งที่เราได้เสียสละไปมากมายนัก !

2. เรามาเพื่อเรียกคนบาป

พระเยซูเจ้าไม่เพียงเลือกและเรียกมัทธิวเท่านั้น พระองค์ยังทรงร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารกับคนเก็บภาษีเหมือนเขาและกับคนบาปอื่น ๆ อีกด้วย
พวกฟาริสีเห็นแล้วแทบเป็นลมล้มทั้งยืน !
เพราะพวกเขาแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม  กลุ่มแรกคือพวก “เคร่งศาสนา” (Orthodox) ที่ถือกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดทุกตัวอักษร  อีกกลุ่มหนึ่งคือพวก “ชาวโลก” (People of the Land) ซึ่งไม่ค่อยถือกฎเคร่งครัดนัก
พวกเคร่งศาสนาถูกห้ามเดินทางร่วมกับชาวโลก ทำธุรกิจกับชาวโลก ให้หรือรับสิ่งใดจากชาวโลก หรือแม้แต่จะเชิญชาวโลกมาเป็นแขกหรือไปเป็นแขกของชาวโลกก็ไม่ได้
แล้วพระเยซูเจ้าไปนั่งกินข้าวกับชาวโลกได้งัย ?
คำตอบของพระองค์คือ “คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บไข้ต้องการ” (มธ 9:12) ซึ่งความหมายนั้นซื่อและแสนง่ายคือ “พระองค์พร้อมไปทุกแห่งที่มีคนต้องการพระองค์”  ดุจเดียวกับหมอซึ่งควรอยู่ในที่ที่มีคนป่วยฉันใด พระองค์ก็พร้อมอยู่ในที่ที่มีคนบาปฉันนั้น
และเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป” (มธ 9:13) พระองค์ไม่ได้หมายความว่ามีบางคนดีครบครันจนไม่ต้องการสิ่งใดจากพระองค์อีก หรือพระองค์ไม่ทรงสนพระทัยคนดี
แต่ความหมายของพระองค์คือ “พระองค์ไม่ได้เสด็จมาหาผู้ที่คิดว่าตัวเองดีแล้วจนไม่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใดอีก แต่ทรงมาหาผู้ที่สำนึกตนว่าเป็นคนบาปและรู้ตัวดีว่าต้องการพระผู้ช่วยให้รอดเป็นอย่างยิ่ง”
เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความคิดเกี่ยวกับศาสนาของบรรดาธรรมาจารย์และฟาริสี ซึ่งน่าจะหมดสิ้นไปแล้วในยุคสมัยของเรา นั่นคือ
1.    พวกเขามุ่งรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของตนไว้มากกว่าจะคิดช่วยเหลือคนบาป พวกเขาเป็นดังหมอที่ไม่ยอมไปเยี่ยมคนป่วยด้วยเกรงว่าจะติดเชื้อ
อันที่จริงศาสนาของพวกเขาคือ “ความเห็นแก่ตัว” เพราะพวกเขาสนใจเฉพาะความรอดของตนเอง แต่ไม่สนใจช่วยเหลือวิญญาณของผู้อื่น
2.    พวกเขาสนใจวิพากษ์วิจารณ์ความผิดของผู้อื่นมากกว่าจะให้กำลังใจและช่วยเหลือเขาแก้ไขความผิดบกพร่องนั้น
เราทุกคนควรมีสัญชาติญาณในการช่วยเหลือคนบาปมากกว่าติฉินนินทาหรือด่าแช่งคนบาป !
3.    ความดีในสายตาของพวกเขาอยู่ที่การตัดสินและประณามคนบาป หาใช่การเห็นอกเห็นใจและให้อภัยแต่ประการใดไม่
พวกเขาเป็นเสมือนหมอที่ชอบวินิจฉัยโรคแต่ไม่รักษาโรค !
4.    พวกเขาถือศาสนาที่เน้นรูปแบบหรือพิธีกรรมภายนอกมากกว่าการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเมตตา
พระเยซูเจ้าจึงทรงตักเตือนพวกเขาด้วยถ้อยคำของประกาศกโฮเชยาที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ (ฮชย 6:6)
คนอื่นอาจมองเราเป็นคนเคร่งครัดน่าศรัทธา แต่ตราบใดที่มือของเราไม่เคยยื่นออกไปช่วยเหลือผู้ขัดสน ตราบนั้นเราหาได้ศรัทธาและเป็นที่พอพระทัยแต่ประการใดไม่ !!!