แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อย่ากังวล


มธ 6:25-34  ความวางใจในพระเจ้า


(25)“ฉะนั้น เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่ากังวลถึงชีวิตของท่านว่าจะกินอะไร อย่ากังวลถึงร่างกายของท่านว่าจะนุ่งห่มอะไร ชีวิตย่อมสำคัญกว่าอาหาร และร่างกายสำคัญกว่าเครื่องนุ่งห่มมิใช่หรือ  (26)จงดูนกในอากาศเถิด มันมิได้หว่าน มิได้เก็บเกี่ยว มิได้สะสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงเลี้ยงมัน ท่านทั้งหลายมิได้มีค่ามากกว่านกหรือ  (27)ท่านใดบ้างที่กังวลแล้วต่ออายุของตนให้ยาวออกไปอีกสักหนึ่งวันได้  (28)ท่านจะกังวลถึงเครื่องนุ่งห่มทำไม จงพิจารณาดอกไม้ในทุ่งนาเถิด มันเจริญงอกงามขึ้นได้อย่างไร มันไม่ทำงาน มันไม่ปั่นด้าย  (29)แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า กษัตริย์ซาโลมอนเมื่อทรงเครื่องอย่างหรูหรา ก็ยังไม่งดงามเท่าดอกไม้นี้ดอกหนึ่ง  (30)แม้แต่หญ้าในทุ่งนา ซึ่งมีชีวิตอยู่วันนี้ รุ่งขึ้นจะถูกโยนทิ้งในเตาไฟ  พระเจ้ายังทรงตกแต่งเช่นนี้ พระองค์จะไม่สนพระทัยท่านมากกว่านั้นหรือ ท่านช่างมีความเชื่อน้อยจริง  (31)ดังนั้น อย่ากังวลและกล่าวว่า ‘เราจะกินอะไร หรือจะดื่มอะไร  หรือเราจะนุ่งห่มอะไร’  (32)เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คนต่างศาสนาแสวงหา พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการทุกสิ่งเหล่านี้  (33)จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้”  (34)“เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่ากังวลถึงวันพรุ่งนี้ เพราะวันพรุ่งนี้จะกังวลสำหรับตนเอง แต่ละวันมีทุกข์พออยู่แล้ว”

************************


ก่อนอื่นใดหมด เราต้องพยายามเข้าใจว่าพระเยซูเจ้าทรงห้ามอะไรเมื่อทรงตรัสว่า “อย่ากังวลถึงชีวิตของท่าน”
แน่นอนว่าพระองค์ไม่ได้ทรงห้ามการมองการณ์ไกลด้วยความสุขุมรอบคอบ  พระองค์ไม่ได้สนับสนุนการดำเนินชีวิตแบบสุรุ่ยสุร่าย เสี่ยง ไม่ยั้งคิด ประมาทเลินเล่อ ไม่เตรียมตัวล่วงหน้า หรือไม่รู้จักเบี่ยงบ่ายหนทางสู่ความหายนะเอาเสียเลย  ตรงกันข้าม สิ่งเดียวที่พระองค์ทรงห้ามคือ “ความวิตกกังวล” หรือ “ความหวาดวิตก” จนความร่าเริงยินดีในชีวิตนี้ต้องหมดไป
คำที่ใช้ในภาษากรีกคือ merimnan (เมริมนาน) ซึ่งหมายถึง “ความกังวลร้อนใจ” ตัวอย่างที่พบในกระดาษ papyrus คือจดหมายของภรรยาถึงสามีซึ่งจากบ้านไปว่า “ฉันนอนไม่หลับทั้งกลางวันและกลางคืนเพราะเป็นห่วง (merimnan) สุขภาพของคุณ”  หรือกวีชาวกรีกผู้หนึ่งเขียนไว้ว่า “เมื่อข้าพเจ้าดื่มเหล้าองุ่น ความวิตกกังวล (merimnan) ก็หลับไป”
จากตัวอย่างเหล่านี้ จะเห็นว่าในสายตาของชาวกรีก ความวิตกกังวลไม่ใช่เรื่องที่น่าพิสมัยแต่ประการใด
พวกรับบีก็กระตุ้นให้ชาวยิวสอนลูกหลานทำมาหากิน หาไม่แล้วก็เท่ากับสอนลูกหลานให้เป็นขโมยในอนาคต  นี่เป็นความรอบคอบในการดำเนินชีวิตของชาวยิว
แต่ในเวลาเดียวกัน พวกรับบีก็สอนว่า ผู้ใดที่มีขนมปังอยู่ในตะกร้าแล้วยังถามอีกว่า “พรุ่งนี้ฉันจะกินอะไร?” ผู้นั้นช่างมีความเชื่อน้อยเหลือเกิน
นับว่าชาวยิวเป็นผู้ที่รู้จักประสมประสานความรอบคอบ การมองการณ์ไกล ความร่าเริงยินดี และความไว้วางใจในพระเจ้า เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน

จากพระวรสารข้างบนนี้ พระเยซูเจ้าทรงให้เหตุผล 7 ประการเพื่อต่อสู้กับความวิตกกังวล กล่าวคือ
1.    พระองค์ตรัสว่า “อย่ากังวลถึงร่างกายของท่านว่าจะนุ่งห่มอะไร ชีวิตย่อมสำคัญกว่าอาหาร และร่างกายสำคัญกว่าเครื่องนุ่งห่มมิใช่หรือ”
ถ้าพระเจ้าประทานสิ่งที่สำคัญคือชีวิตให้แก่เรา ทำไมสิ่งที่สำคัญน้อยกว่า เช่น อาหารและเครื่องนุ่งห่ม พระองค์จะขี้เหนียวไม่ยอมประทานให้ดอกหรือ
เมื่อพระองค์ให้ชีวิตแก่เราได้  พระองค์ย่อมให้สิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตแก่เราด้วยอย่างแน่นอน
2.    พระองค์ทรงยกตัวอย่างของนก “จงดูนกในอากาศเถิด มันมิได้หว่าน มิได้เก็บเกี่ยว มิได้สะสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงเลี้ยงมัน ท่านทั้งหลายมิได้มีค่ามากกว่านกหรือ”
จากคำพูดนี้มิได้หมายความว่านกไม่ทำงาน  เพราะมีคนกล่าวไว้ว่าไม่มีผู้ใดทำงานหนักเท่านกกระจอกโดยเฉลี่ยเลย  แต่ประเด็นที่พระเยซูเจ้าต้องการสอนเราคือ “นกไม่กังวล”
เรามีค่ามากกว่านกมากมายนัก เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ต้องเคร่งเครียดกับอนาคตที่มองไม่เห็น  และไม่จำเป็นต้องแสวงหาความมั่นคงสำหรับอนาคตด้วยการสะสมสิ่งของของโลกนี้
3.    พระเยซูเจ้าถือว่าความกังวลไม่มีประโยชน์แต่ประการใด เพราะจะช่วยต่ออายุให้ยืนยาวขึ้นสักนิดก็ไม่ได้  “ท่านใดบ้างที่กังวลแล้วต่ออายุของตนให้ยาวออกไปอีกสักหนึ่งวันได้”
4.    พระองค์ทรงยกตัวอย่างของ “ดอกไม้” ชนิดหนึ่งซึ่งบานสะพรั่งเพียงวันเดียว แล้วก็เหี่ยวแห้งไป เหมาะสำหรับแม่บ้านนำไปใส่เตาไฟเพื่อเร่งความร้อน
“แม้แต่หญ้าในทุ่งนา ซึ่งมีชีวิตอยู่วันนี้ รุ่งขึ้นจะถูกโยนทิ้งในเตาไฟ  พระเจ้ายังทรงตกแต่งเช่นนี้ พระองค์จะไม่สนพระทัยท่านมากกว่านั้นหรือ ท่านช่างมีความเชื่อน้อยจริง”
5.    ความกังวลเป็นพฤติกรรมของคนต่างศาสนา เพราะพวกเขาเชื่อในเทพเจ้าที่เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา เอาแต่ใจตัวเอง และแปรปรวน
แต่สำหรับเราคริสตชน เราเรียกพระเจ้าว่า “บิดา” ที่เต็มเปี่ยมด้วยความรัก เราจึงเชื่อและวางใจในพระองค์โดยปราศจากความวิตกกังวล
6.    เมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน ความรักนั้นจะเป็นพลังผลักดันให้เราปรับนิสัยให้ตรงใจคนรัก  ความรักจะเป็นพลังให้เราทำงานเก็บเงินเพื่อคนที่เรารัก  เรียกว่าความรักครอบงำชีวิตของเราทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงสั่งว่า “จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าก่อน” เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าคือ “สังคมบนโลกนี้ที่น้ำพระทัยของพระเจ้าได้รับการปฏิบัติเหมือนในสวรรค์” และเราจะปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเจ้าได้ก็ต่อเมื่อเรารักพระองค์
พระเยซูเจ้าเชื่อมั่นว่า ด้วยความรักต่อพระเจ้าเช่นนี้เอง เราจะมีพลังดำเนินชีวิตโดยไม่มีความวิตกกังวลเข้ามาเกี่ยวข้อง
7.    วิธีสุดท้ายที่จะเอาชนะความวิตกกังวลคือ “อย่ากังวลถึงวันพรุ่งนี้” เพราะวันพรุ่งนี้จะกังวลสำหรับตนเอง แต่ละวันมีทุกข์พออยู่แล้ว
เราต้องทำหน้าที่ ณ เวลานี้ให้ดีที่สุด และเมื่อสิ้นวันเราก็จะได้ผลรวมของหน้าที่ตลอดวันที่ดีที่สุด  แต่ถ้าเรามัวกังวลถึงวันพรุ่งนี้ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น  เราจะทำหน้าที่ ณ เวลานี้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร ?