แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย
(มัทธิว 6:9-15)


(9)ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานภาวนาดังนี้ “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์ พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ (10)พระอาณาจักรจงมาถึง พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดิน เหมือนในสวรรค์ (11)โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้ (12)โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น (13)โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ (14)เพราะถ้าท่านให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ ก็จะประทานอภัยแก่ท่านด้วย (15)แต่ถ้าท่านไม่ให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านก็จะไม่ประทานอภัยแก่ท่านเช่นเดียวกัน”

*********************


ก่อนศึกษาความหมายของบทภาวนาที่พระเยซูเจ้าทรงสอน มีข้อสังเกตสำคัญซึ่งเราพึงระลึกถึงอยู่เสมอคือ
1.    พระเยซูเจ้าทรงสอนบทภาวนานี้แก่ “บรรดาศิษย์” ดังที่นักบุญลูกาเล่าว่า “วันหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อทรงอธิษฐานจบแล้ว ศิษย์คนหนึ่งทูลพระองค์ว่า ‘พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนาเหมือนกับที่ยอห์นสอนศิษย์ของเขาเถิด’” พระองค์จึงตรัสสอนบท “ข้าแต่พระบิดา” แก่พวกเขา (ลก 11:1-4)
หมายความว่าคนที่จะสวดบทภาวนานี้ได้ต้องเป็นศิษย์ของพระองค์นั่นคือต้องเชื่อและอุทิศตนแด่พระองค์ก่อน จึงจะเข้าใจสิ่งที่กำลังภาวนาหรือวอนขอได้อย่างแท้จริง
2.    ข้อสังเกตประการที่สองคือ บทภาวนานี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน  ตอนแรกเป็นคำวอนขอ 3 ข้อเกี่ยวกับพระเจ้าและพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์  ส่วนตอนที่สองเป็นคำวอนขออีก 3 ข้อเกี่ยวกับความต้องการของเราเอง
ลำดับของคำวอนขอทั้งสองตอนบ่งบอกว่า สิ่งแรกสุดที่เราต้องทำเวลาสวดภาวนาคือ ยกย่องพระเจ้าไว้เหนืออื่นใดและวอนขอให้ “พระประสงค์จงสำเร็จไป”  เมื่อยอมรับพระองค์อย่างเหมาะสมแล้ว เราจึงวอนขอสิ่งที่ต้องการได้
หรือพูดง่าย ๆ คือ พระประสงค์ของพระเจ้าต้องมาก่อนความต้องการของเราแต่ละคน
3.    ข้อสังเกตประการสุดท้ายคือ คำวอนขอตอนที่สองทั้ง 3 ข้อล้วนเกี่ยวข้องกับความต้องการของเราทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
และที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งคือ ความต้องการของเราทั้ง 3 ข้อยังเกี่ยวข้องกับพระเจ้าทั้ง 3 พระบุคคล ดังจะเห็นได้จากตารางข้างล่างนี้

ความต้องการ                                            เวลา                ผู้ประทาน
สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต (อาหาร ฯลฯ)               ปัจจุบัน             พระบิดา
การอภัย                                                   อดีต                พระบุตร
ความช่วยเหลือในการต่อสู้กับการประจญ          อนาคต             พระจิต

การภาวนาจึงเป็นการนำตัวเราทั้งครบมามอบไว้ในความดูแลของพระเจ้า และในเวลาเดียวกันก็นำพระเจ้าทั้งครบมาไว้ในชีวิตของเรา !

ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย (มธ 6:9)
พระเยซูเจ้าทรงสรุปความเชื่อของเราคริสตชนไว้ดีที่สุดเมื่อทรงสอนให้เราเรียก “พระเจ้า” ว่า "บิดา"  เพราะความเป็น “บิดา” หรือความเป็น “พ่อ” ของ “พระเจ้า” ได้ก่อให้เกิด “ความสัมพันธ์” ใหม่ในชีวิตของเราถึง 5 ด้านด้วยกัน กล่าวคือ
1.      กับโลกที่มองไม่เห็น  ในอดีตมนุษย์เชื่อว่ามีเทพเจ้ามากมายสิงสถิตอยู่ในทะเล มหาสมุทร แม่น้ำ ลำธาร ต้นไม้ ป่า ภูเขา ก้อนหิน ฯลฯ  เทพเจ้าเหล่านี้ไม่เป็นมิตรกับมนุษย์  มนุษย์จึงเจริญชีวิตด้วยความหวาดกลัวและจำเป็นต้องเซ่นไหว้บรรดาเทพเจ้าเพื่อให้รอดพ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ
เทพนิยายกรีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ในยุคที่มนุษย์ยังไม่รู้จักไฟ เทพเจ้าแห่งไฟนามว่าโพรเมเทอุส (Prometheus) เห็นมนุษย์เจริญชีวิตด้วยความยากลำบาก ต้องกินอาหารดิบ หนาวเย็น จึงเกิดความสงสารและให้ไฟเป็นของขวัญแก่มนุษย์  แต่เซอุสซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งเทพเจ้าทรงพิโรธจัดที่โพรเมเทอุสทำผิดธรรมเนียมของเทพเจ้า เพราะนอกจากจะไม่กลั่นแกล้งมนุษย์ให้เกรงกลัวแล้ว ยังให้ของขวัญแก่มนุษย์อีก  เซอุสจึงจับโพรเมเทอุสล่ามโซ่ไว้กับหินกลางทะเลเอเดรียติคที่ร้อนจัดเวลากลางวันและหนาวจัดเวลากลางคืน พร้อมกับปล่อยให้แร้งคอยจิกกินตับของโพรเมเทอุสที่งอกขึ้นมาใหม่อีกด้วย
แม้ในปัจจุบัน ความเกรงกลัวเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็นก็ยังคงมีอยู่ทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการเซ่นไหว้บวงสรวงเจ้าที่เจ้าทาง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อให้แคล้วคลาดจากเคราะห์กรรมต่าง ๆ นานา
แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้มีมากมายจนเซ่นไหว้เอาใจไม่ถูก แต่มีพระเจ้าเที่ยงแท้เพียงพระองค์เดียว และที่สำคัญพระเจ้าองค์นั้นทรงเป็น “บิดา” ผู้มีหัวใจแบบ “พ่อ”  เราจึงไม่ต้องหวาดกลัวพระเจ้าหรืออำนาจเร้นลับที่มองไม่เห็นอีกต่อไป
2.      กับโลกที่มองเห็น  หลังจากได้ประสบกับภัยธรรมชาติมากมายดังเช่น สึนามิ เฮอริเคน ไซโคลน ไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว หรือที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เองเช่น สงคราม การก่อการร้าย การปล้นฆ่า เครื่องบินตก รถชนกัน คนฆ่าตัวตาย รวมถึงความทุกข์ยากต่าง ๆ นานาแล้ว  เราอาจวิตกกังวลว่าโลกใบนี้น่าอยู่และเป็นมิตรกับเราจริงหรือ ?
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสอนให้เราเรียกพระเจ้าผู้ทรงสร้างโลกใบนี้ว่า “พ่อ”  ความกังวลสงสัยดังกล่าวจึงหมดไป เพราะย่อมไม่มีพ่อคนใดสร้างโลกที่เป็นศัตรูให้ลูกอยู่อาศัยเป็นแน่
เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ เราจึงเข้าใจความหมายของความทุกข์ยากต่าง ๆ ว่าเป็นแผนการของ “พ่อ” ที่ต้องการสอนและเตรียมเราให้พร้อมสำหรับชีวิตใหม่ที่ดีกว่า  และเมื่อเข้าใจดังนี้ เราย่อมอดทนและเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากต่าง ๆ ได้ดีกว่าและมากกว่า
นอกจากนั้น ความทุกข์ยากบางประการยังเป็นผลดีกับตัวเราขณะนี้อีกด้วย เช่น “การเจ็บป่วย” ซึ่งแม้จะไม่ใช่สิ่งที่น่าปรารถนา แต่ก็เป็นเสมือน “สัญญาณเตือนภัย” ให้เราไปพบแพทย์ก่อนที่โรคร้ายจะลุกลามจนสายเกินแก้
3.      กับเพื่อนมนุษย์  เราทุกคนเป็นพี่น้องกันเพราะต่างก็มี “พ่อ” องค์เดียวกัน  ด้วยเหตุนี้เราต้องรักกัน ให้อภัยกัน และแบ่งปันซึ่งกันและกัน
ในบทข้าแต่พระบิดาไม่มีคำว่า “ฉัน”  คนที่เห็นแก่ตัวมัวคิดถึงแต่ “ฉัน” จึงสวดบทข้าแต่พระบิดาไม่ได้ อย่างดีก็แค่อ่านหรือท่องจำบทข้าแต่พระบิดาเท่านั้น
4.      กับตัวเอง  ในโลกนี้ไม่มีใครรู้จักตัวเราดีไปกว่าตัวเราเอง  เรารู้ว่าตัวเองเป็นคนบาป อ่อนแอ เหลวไหล หลอกลวง และก่อกรรมทำเข็ญผู้อื่นไว้มากน้อยเพียงใด จนบางครั้งเรารู้สึกหมดอาลัยตายอยาก เกลียดตัวเอง ดูหมิ่นตัวเอง และคิดว่าตัวเองไร้ค่า
แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนให้เราเป็น “มิตร” กับตัวเอง เพราะแม้เราจะรู้สึกหมดอาลัยตายอยากและไร้ค่าสักเพียงใดก็ตาม เรายังคงมีค่าเสมอในสายพระเนตรของพระเจ้าผู้ทรงเป็น “บิดา” ที่ทรงกางพระหัตถ์คอยต้อนรับเราผู้เป็นทั้ง “บุตร” และ “ทายาทสวรรค์” อยู่เสมอ
5.      กับพระเจ้า  ความสัมพันธ์ฉัน “พ่อ-ลูก” หาได้เป็นการดึงพระเจ้าลงมาเสมอกับมนุษย์แต่ประการใดไม่  แต่เป็นการทำให้เรามนุษย์เข้าถึงความรัก ความยิ่งใหญ่ และพระฤทธานุภาพของพระเจ้าผู้สูงสุดได้ง่ายขึ้น 
แล้วยังจะมี “ความสัมพันธ์” อันใดยิ่งใหญ่และสำคัญมากไปกว่าการมีพระเจ้าเป็น “บิดา” ของเราอีกเล่า ?

พระองค์สถิตในสวรรค์
พระเจ้าไม่ได้เป็นเพียง “พ่อ” ของเราเท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงเป็น “พ่อที่อยู่ในสวรรค์” อีกด้วย  คำ “สวรรค์” บ่งบอก 2 นัยคือ
1.    ความศักดิ์สิทธิ์  สวรรค์เป็นสถานที่แห่งความศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าคือผู้ศักดิ์สิทธิ์
บางคนจงใจใช้ความสัมพันธ์กับ “พ่อ” เป็นข้ออ้างที่จะดำเนินชีวิตสบาย ๆ และปล่อยตัวอยู่ในบาป โดยคิดว่า “เดี๋ยวพ่อ (พระเจ้า) ก็ยกโทษให้เองแหละ”
แต่เราจะหยุดอยู่ที่คำว่า “พ่อของเรา” เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องระลึกด้วยว่า “พ่อของเราอยู่ในสวรรค์” และทรงไว้ซึ่งความ “ศักดิ์สิทธิ์”
ในพระวรสารนักบุญมาระโก พระเยซูเจ้าทรงเรียกพระเจ้าเป็น “บิดา” เพียงหกครั้ง  แสดงว่าแม้จะเป็นพระบุตรของพระเจ้า พระองค์ยังทรงเคารพในความศักดิ์สิทธิ์ของ “พระบิดา” ผู้สถิตในสวรรค์
เพราะฉะนั้นเราต้องดำเนินชีวิตอย่าง “ศักดิ์สิทธิ์” เฉกเช่นเดียวกับ “พ่อในสวรรค์” ของเราทรงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์
2.      พระอานุภาพ (power)  สวรรค์ให้ความรู้สึกว่าเป็นสถานที่ของผู้ทรงฤทธิ์
พ่อแม่ทุกคนย่อมรักและปรารถนาให้ลูกเป็นคนดีและประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ใช่ว่าความรักและความปรารถนานั้นจะดลบันดาลความสำเร็จให้แก่ลูกได้ทุกคน หลายครั้งด้วยซ้ำไปที่กลับลงเอยด้วยความผิดหวัง  ทั้งนี้เป็นเพราะความรักตามประสามนุษย์ของพ่อแม่ไม่มีฤทธิ์อำนาจใดรองรับ
ตรงกันข้ามกับ “พ่อ” ของเราผู้สถิตในสวรรค์ พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยฤทธิ์อำนาจ  ทุกคนที่มาพึ่งพา “ความรัก” ของพระองค์จึงไม่มีทางพบกับคำว่าผิดหวัง
เราจึงวางใจในพระเจ้าผู้ทรงเป็น “พ่อ” ของเราได้อย่างเต็มเปี่ยม และแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ
คำ สักการะ ตรงกับคำกริยากรีก hagiazesthai (ฮากีอาเซสธาย) ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกันกับคำคุณศัพท์ hagios (ฮากีออส)
ฮากีออส แปลตามตัวคือ “แยก, แตกต่าง” แต่โดยทั่วไปมักแปลว่า “ศักดิ์สิทธิ์”
สักการะ หรือ ฮากีอาเซสธาย จึงหมายถึงการ “ทำให้สิ่งหนึ่งหรือบุคคลหนึ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยการแยกให้แตกต่างจากสิ่งอื่นหรือบุคคลอื่น” 
วัดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ฮากีออส) เพราะถูกแยกออกมาให้แตกต่างจากสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ   วันของพระเจ้าก็ศักดิ์สิทธิ์เพราะถูกแยกออกมาจากวันอื่นเพื่อพระเจ้าโดยเฉพาะ เป็นต้น
คำวอนขอนี้จึงหมายถึง “ขอให้พระนามของพระเจ้าได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากนามอื่น” หรือ “ขอให้พระนามของพระองค์อยู่ในตำแหน่งอันเป็นเอกลักษณ์สูงสุด ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน”
อนึ่งคำ พระนาม ในภาษาฮีบรูมีความหมายพิเศษเพราะไม่ได้หมายถึงเพียง “ชื่อ” หรือ “นาม” ที่ใช้เรียกคนใดคนหนึ่งเท่านั้น  แต่หมายรวมถึง “บุคลิกลักษณะหรือธรรมชาติเฉพาะ” ที่ทำให้เป็น “บุคคลคนนั้น”  หรือพูดง่าย ๆ คือหมายถึง “คนนั้นทั้งคน”
พระคัมภีร์กล่าวว่า “ผู้ที่รู้จักพระนาม ย่อมวางใจในพระองค์” (สดด 9:10) ความหมายคือ ผู้ที่รู้จักบุคลิกลักษณะและธรรมชาติของพระเจ้าว่าทรงเป็นเช่นใดแล้วเท่านั้น จึงจะกล้าวางใจในพระองค์  ไม่ใช่เพียงแค่รู้จักชื่อของพระเจ้าก็วางใจในพระองค์แล้ว
“บางคนหวังพึ่งรถศึก บางคนทระนงด้วยม้าศึก แต่เราทั้งหลายเรียกหาพระนามพระยาห์เวห์ พระเจ้าของเรา” (สดด 20:7) ยอมบ่งบอกชัดเจนว่าในยามสงคราม ชาวยิววางใจพระเจ้าไม่ใช่เพราะจำได้ว่าพระองค์ชื่อยาห์เวห์ แต่เพราะพวกเขารู้จักธรรมชาติของพระองค์ว่าทรงฤทธิ์และทรงรักพวกเขามากเพียงใด
ประกาศกอิสยาห์ทำนายถึงยุคสมัยของพระเมสสิยาห์ไว้ว่า “ประชากรของเราจะรู้จักพระนามของเรา” (อสย 52:6) นั่นคือรู้จริงและรู้อย่างเต็มเปี่ยมว่าพระเจ้าทรงเป็นเช่นใด เพราะพระเมสสิยาห์คงไม่เสด็จมาเพียงเพื่อบอกว่าพระเจ้าชื่ออะไรเท่านั้น
เมื่อรวมความหมายของคำว่า “พระนาม” และ “สักการะ” เข้าด้วยกัน  เราอาจอธิบายความหมายของคำวอนขอประการนี้ได้ว่า “โปรดให้เราสามารถวางพระเจ้าไว้ในที่อันเหมาะสมกับธรรมชาติของพระองค์” หรือสั้น ๆ คือ “โปรดให้เรามีความเคารพยำเกรงพระเจ้า” (Reverence)
เพื่อจะได้ชื่อว่ามีความเคารพยำเกรงพระเจ้า เราต้อง
1.      เชื่อว่ามีพระเจ้า เพราะเราไม่อาจเคารพยำเกรงผู้ที่ไม่มีตัวตนได้
2.      รู้จักพระองค์ ผู้ทรงมีคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการคือ “ศักดิ์สิทธิ์ ยุติธรรม และเปี่ยมด้วยความรัก”  หากพระองค์เป็นเหมือนเทพเจ้ากรีกที่มักกลั่นแกล้งมนุษย์ให้เกรงกลัว เราคงไม่เคารพรักพระองค์เป็นแน่
3.      รับรู้ว่าพระองค์สถิตอยู่ทุกแห่ง และทุกเวลา
4.      นบนอบเชื่อฟังพระองค์

พระอาณาจักรจงมาถึง พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์ (มธ 6:10)
“พระอาณาจักรของพระเจ้า” เป็นศูนย์กลางของ “ข่าวดี” และเป็น “ภารกิจหลัก” ของพระเยซูเจ้าดังที่ทรงตรัสว่า “เราต้องประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้าให้แก่เมืองอื่นด้วย เพราะเราถูกส่งมาก็เพื่อการนี้” (ลก 4:43; 8:1 เทียบ มก 1:38)
ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ไม่สู้ยินดีกับ “ข่าวดีเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า” มากนักเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของอนาคตในโลกหน้า ซ้ำร้ายบางคนถึงกับกลัวและไม่อยากได้เพราะคิดว่าต้อง “ตาย” ก่อนจึงจะมีสิทธิลุ้น “สวรรค์” หรือเข้าสู่ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” ได้
อันที่จริงพระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึง “พระอาณาจักรของพระเจ้า” ทั้งในแง่ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ดังเช่น
อดีต – “ท่านทั้งหลายจะร่ำไห้คร่ำครวญและขบฟันด้วยความขุ่นเคืองเมื่อแลเห็นอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ กับบรรดาประกาศกในพระอาณาจักรของพระเจ้า” (ลก 13:28)
ปัจจุบัน – “ไม่มีใครจะพูดว่า ‘พระอาณาจักรอยู่ที่นี่ หรืออยู่ที่นั่น’  เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ในหมู่ท่านทั้งหลายแล้ว” (ลก 17:21)
อนาคต – “พระอาณาจักรจงมาถึง” (มธ 6:10)
เป็นไปได้อย่างไรที่พระอาณาจักรของพระเจ้าเกิดขึ้นแล้วในอดีต (ก่อนพระเยซูเจ้าประสูติ) ดำรงอยู่ในปัจจุบัน (สมัยพระเยซูเจ้า) และจะมาถึงในอนาคต (เมื่อสิ้นพิภพ) ?
กุญแจสำหรับไขปัญหานี้อยู่ที่ลีลาการเขียนในภาษาฮีบรูที่เรียกว่า Parallelism  ตามลีลานี้  ชาวยิวนิยมพูดสิ่งเดียวกันซ้ำ 2 ครั้ง โดยครั้งที่สองอาจเป็นเพียงการกล่าวซ้ำครั้งแรก หรืออาจเป็นการขยายความเพิ่มเติมให้คำพูดครั้งแรกก็ได้  แทบทุกข้อในหนังสือเพลงสดุดีล้วนใช้ลีลาการเขียนแบบนี้ ตัวอย่างเช่น
ครั้งแรก        “ผู้ชอบธรรมย่อมเป็นสุข” (สดด 1:1)
ครั้งที่สอง    “เขาไม่เดินตามคำแนะนำของคนชั่ว” (สดด 1:1)
เราจึงได้ความหมายของผู้ชอบธรรมว่าคือ ผู้ที่ไม่เดินตามคำแนะนำของคนชั่ว
หากเรานำลีลาเดียวกันมาใช้กับคำวอนขอทั้งสองประการ ดังนี้
ครั้งแรก        “พระอาณาจักรจงมาถึง” (มธ 6:10)
ครั้งที่สอง    “พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์” (มธ 6:10)
เราอาจให้คำนิยามของพระอาณาจักรของพระเจ้าได้ว่าเป็น “สังคมบนโลกนี้ที่พระประสงค์ของพระเจ้าได้รับการปฏิบัติอย่างสมบูรณ์เหมือนในสวรรค์”
เพราะ อับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ได้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า ท่านจึงเป็นสมาชิกของพระอาณาจักรตั้งแต่ก่อนพระเยซูเจ้าเสด็จมาบังเกิด
ทุกวันนี้ ผู้ใดปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าก็เป็นสมาชิกของพระอาณาจักรแล้วตั้งแต่เวลานี้ และบนโลกใบนี้
แต่เนื่องจากโลกนี้ยังอยู่ห่างไกลจากการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ เราจึงต้องวอนขอให้พระอาณาจักรมาถึงในอนาคตด้วย
พระอาณาจักรของพระเจ้ามิได้เป็นเรื่องระดับประเทศหรือเป็นเรื่องขององค์การสหประชาชาติ  แต่เป็นเรื่องส่วนตัวของเราแต่ละคนที่จะ “มอบสติปัญญาของเรา มอบอำเภอใจของเรา และมอบชีวิตของเรา” เพื่อจะได้ “คิดเหมือนพระเจ้า ปรารถนาเหมือนพระเจ้า และดำเนินชีวิตเหมือนพระเจ้า” ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าผู้ทรงสร้างเรามาตามภาพลักษณ์ (Image) ของพระองค์และให้เป็นเหมือน (Likeness) พระองค์ (ปฐก 1:26)
นอกจากมอบน้ำใจของเราเพื่อดำเนินชีวิตเหมือนพระเจ้าด้วยการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์แล้ว เรายังต้องคำนึงถึง “ท่าทีในการปฏิบัติตามพระประสงค์” อีกด้วย
1.      ต้องไม่ใช่แบบจำนนต่อฤทธิ์อำนาจของพระองค์ หรือเพราะหมดทางเลือกอื่น
2.      ต้องไม่ใช่แบบจำยอมโดยที่ลึก ๆ แล้วไม่พอใจการตัดสินของพระเจ้า
3.      แต่ ต้องเป็นไปด้วยความรักและความวางใจอย่างเต็มเปี่ยม  เพราะพระองค์ทรงเปี่ยมด้วยปรีชาญาณและความรักยิ่งใหญ่ ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “พระองค์มิได้ทรงหวงแหนพระบุตรของพระองค์ แต่ทรงมอบพระบุตรเพื่อเราทุกคน แล้วพระองค์จะไม่ประทานทุกสิ่งให้เราพร้อมกับองค์พระบุตรหรือ” (รม 8: 31-32)

โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้ (มธ 6:11)
ต้นฉบับใช้คำ “ปัง” แทน “อาหาร” ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้ต่าง ๆ กัน เช่น 
1.     หมายถึง “ปัง” ในอาหารค่ำครั้งสุดท้ายซึ่งเรารื้อฟื้นทุกครั้งเวลาถวายบูชามิสซา  คำภาวนานี้จึงเป็นการวอนขอให้ได้รับ “ศีลมหาสนิท” ทุกวัน
2.     หมายถึงอาหารฝ่ายวิญญาณซึ่งได้แก่ “พระวาจาของพระเจ้า” ดังที่ทรงตรัสว่า “มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มธ 4:4)
3.     หมายถึง “พระเยซูเจ้า” เอง เพราะพระองค์ตรัสว่า “เราเป็นปังแห่งชีวิต ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิว และผู้ที่เชื่อในเราจะไม่กระหายอีกเลย” (ยน 6:34)
4.     หมายถึง “งานเลี้ยงในอาณาจักรสวรรค์” หรือ messianic banquet  คำภาวนานี้จึงเป็นการวอนขอพระเจ้าโปรดประทานที่นั่งในงานเลี้ยงบนสวรรค์
สาเหตุที่ผู้คนสมัยก่อนเน้นการอธิบายความหมายของคำ “ปัง” เป็นเพราะพวกเขาไม่เข้าใจความหมายของคำกรีก epiousios (เอปีอูซีออส) ซึ่งพบการใช้เพียงครั้งเดียว จนออริยิน (Origen) ซึ่งเป็นปิตาจารย์ของพระศาสนจักรสรุปว่ามัทธิวประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมาเอง
จวบจนไม่นานมานี้เองที่เราพบคำ “เอปีอูซีออส” ปรากฏอยู่ในรายการสั่งซื้อ “สิ่งที่จำเป็นสำหรับวันนี้” ของหญิงผู้หนึ่ง
ความหมายของคำภาวนาประการนี้จึงอธิบายได้ง่าย ๆ ว่า โปรดประทานทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตวันนี้
ในเมื่อพระเยซูเจ้าทรงสอนให้เราวอนขอทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตเช่นนี้  ความคิดที่ตามมาคือ
1.      พระเจ้าทรงเอาพระทัยใส่ร่างกายของเรา  ความรอดจึงเป็นเรื่องของบุคคลทั้งครบ ไม่ใช่เรื่องของวิญญาณเพียงด้านเดียว
2.      ให้เราวอนขอเฉพาะสิ่งที่จำเป็นสำหรับวันนี้เท่านั้น  อย่าวิตกกังวลถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง จงดูเรื่องมานนาในที่เปลี่ยวเป็นตัวอย่าง (อพย 16:1-21)
3.    เราต้องวอนขอทุกสิ่งเพราะ “ทุกสิ่งเป็นของประทานจากพระเจ้า”  บางคนอาจแย้งว่าพืชผลในไร่นาเป็นผลพวงจากน้ำพักน้ำแรงของตนเองไม่ใช่ของพระเจ้า  จริงอยู่เราเป็นผู้เพาะปลูก แต่ผู้ที่ทำให้มันเจริญเติบโตคือพระเจ้า ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้ปลูก อปอลโลเป็นผู้รดน้ำ แต่พระเจ้าทรงเป็นผู้บันดาลให้เติบโตขึ้น” (1 คร 3:6)
4.      เราต้องร่วมมือกับพระเจ้า เพราะหากเราวอนขออาหาร แล้วนั่งงอมืองอเท้ารอให้อาหารลอยลงมาจากสวรรค์ เราอดตายแน่
เพราะฉะนั้นพึงระลึกอยู่เสมอว่า “คำภาวนาที่ปราศจากกิจการเป็นคำภาวนาที่ไร้ผล” (Prayer without deeds is dead.) เหตุว่า “ปราศจากพระเจ้าเราทำอะไรไม่ได้ฉันใด  ปราศจากความพยายามและความร่วมมือของเรา พระองค์ก็ช่วยอะไรเราไม่ได้ฉันนั้น”
5.      เราต้อง “แบ่งปัน” ซึ่งกันและกัน เพราะพระองค์ทรงสอนให้เราภาวนาว่า “give us” ไม่ใช่ “give me”   การแบ่งปันซึ่งกันและกันจึงเป็นการช่วยพระเจ้าแจกจ่ายสิ่งที่จำเป็นแก่ผู้วอนขอ
คำภาวนาข้อนี้จึงไม่ใช่การวอนขอสิ่งที่เราต้องการเพียงด้านเดียว แต่ยังเป็นการวอนขอให้เราสามารถแบ่งปันสิ่งที่มีแก่ผู้ขัดสนหรือด้อยโอกาสกว่าอีกด้วย

โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า (มธ 6:12)
เพื่อจะวอนขอการอภัยได้ ก่อนอื่นใดหมดเราต้องสำนึกว่าตัวเราเป็นคนบาป และเราจะสำนึกว่าเป็นคนบาปได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่า “บาปคืออะไร” แล้วเท่านั้น
พระธรรมใหม่ใช้ศัพท์กรีก 5 คำเพื่อหมายถึงบาป คือ
1.     anomia (อาโนมีอา) แปลว่า ไม่มีกฎ  “บาป” จึงหมายถึงการรู้ว่าอะไรถูกและอะไรผิด แต่ยังเลือกทำผิดราวกับว่าไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ ทั้งสิ้น
2.     parabasis (พาราบาซิส) แปลว่า ก้าวข้าม  “บาป” หมายถึงการก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างถูกและผิด ซื่อสัตย์และหลอกลวง จริงและเท็จ ใจกว้างและเห็นแก่ตัว ฯลฯ
3.       paraptōma (พารัพโตมา) แปลว่า ลื่นข้าม  “บาป” หมายถึงการลื่นข้ามเส้นแบ่งเหมือน “ก้าวข้าม” ในข้อ 2  โดยมีสาเหตุมาจากการไม่ระมัดระวังตัว ปล่อยให้แรงกระตุ้นหรือตัณหาเข้าครอบงำจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้และ “ลื่นข้าม” ในที่สุด
4.     opheilēma (โอเฟยเลมา) แปลว่า หนี้   “บาป” หมายถึงการไม่สามารถทำ “หน้าที่” ชำระหนี้คืนได้ตามกำหนด หรือไม่สามารถทำ “หน้าที่” ที่ต้องทำทั้งต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์
5.     hamartia (ฮามาร์ทีอา) แปลว่า พลาดเป้า  “บาป” เป็นการพลาดเป้าจากสิ่งที่เรา “ควรเป็น” (should) หรือ “สามารถเป็นได้” (could)
สิ่งที่ทุกคนควรเป็นและต้องเป็นให้ได้คือ “ฉายาของพระเจ้า” (Image of God)  ไม่ว่าเราจะเป็นพระสงฆ์ นักบวช พ่อแม่ ลูกหลาน ครู นักเรียน ข้าราชการ พนักงาน หรืออยู่ในฐานะใดก็ตาม เราต้องพยายาม “คิด” และ “ทำ” เหมือนพระเจ้าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“บาป” จึงไม่ใช่การ “ทำผิดบัญญัติ” เพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการ “ไม่ทำหน้าที่ที่ควรทำหรือสามารถทำได้” อีกด้วย

เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น
ความหมายตามตัวอักษรคือ “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าตามสัดส่วนที่ข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”
ถ้าเราไม่ให้อภัยผู้อื่น เมื่อสวดบทข้าแต่พระบิดา เรากำลังวอนขอพระเจ้าไม่ต้องให้อภัยแก่เราเช่นกัน  เรื่องนี้สำคัญมากจนพระองค์ต้องตรัสเสริมตอนท้ายบทภาวนาว่า “ถ้าท่านให้อภัยผู้กระทำผิด พระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์ก็จะประทานอภัยแก่ท่านด้วย  แต่ถ้าท่านไม่ให้อภัยผู้ทำผิด พระบิดาของท่านก็จะไม่ประทานอภัยแก่ท่านเช่นเดียวกัน” (มธ 6:14-15)
เพื่อจะให้อภัยแบบคริสตชนได้  เราต้องพยายาม
1.      เข้าใจ ทุกคนทำอะไรย่อมมีเหตุผลของเขาเสมอ เช่น เขาอาจโมโหเพราะกำลังวิตกกังวลหรือเจ็บป่วย  เขาไม่ชอบหน้าเราเพราะไม่เข้าใจหรือเข้าใจเราผิด  เขามีนิสัยก้าวร้าวเพราะเป็นกรรมพันธุ์หรือเพราะสภาพแวดล้อมหล่อหลอมเขามาเช่นนั้น เป็นต้น
หากเราเข้าใจเหตุผล เราย่อมให้อภัยได้ง่ายขึ้น
2.      ลืม  ถ้าเราไม่สามารถลืมความผิดที่ผู้อื่นกระทำต่อเราได้ เราจะไม่มีทางให้อภัยผู้ใดได้เลย  วิธีแก้ไขคือให้เราเพ่งมองที่ไม้กางเขนและวอนขอให้ “น้ำ” ที่ไหลออกมาจากสีข้างของพระองค์ช่วยชำระล้างความทรงจำอันเลวร้ายเหล่านั้นออกไปให้หมด
3.      รัก แบบ Agapē (อากาเป) คือปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสิ่งที่ดีที่สุดโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าผู้นั้นจะปฏิบัติต่อเราเลวร้ายเพียงใดก็ตาม
ความรักแบบ “อากาเป” เป็นความรักแบบพระเยซูคริสตเจ้าซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพระองค์เสด็จมาประทับอยู่ในจิตใจของเรา แต่พระองค์จะเสด็จเข้ามาประทับในจิตใจของเราได้ก็ต่อเมื่อเราเปิดประตูหัวใจและเชิญพระองค์เข้ามาเท่านั้น

โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การผจญ แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ (มธ 6:13)
คำ peirazein ในภาษากรีกมีความหมายว่า “ทดลอง, ทดสอบ” มากกว่าจะแปลว่า “ผจญ, ประจญ, หรือ ล่อลวง” ซึ่งส่อไปในทางชักชวนผู้อื่นให้กระทำผิด
เหตุผลคือ หากเราแปลคำ peirazein ในหนังสือปฐมกาลบทที่ 22 ข้อ 1 เป็น “ผจญ” เราจะได้ความว่า “พระเจ้าทรงผจญอับราฮัมให้ถวายอิสอัคบุตรชายเป็นเครื่องเผาบูชา”  ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่พระเจ้าจะล่อลวงอับราฮัมให้ทำผิด
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงควรเปลี่ยนความคิดจากสิ่งที่เราเคยเรียกว่า “การผจญ” แล้วมักลงเอยด้วยความพ่ายแพ้หรือ “บาป” เสียใหม่
ความคิดใหม่คือ พระเจ้าทรง “ประทานการทดสอบ” แก่ผู้ที่ทรงเลือกสรร  เพื่อทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น  มีโอกาสชนะมากขึ้น  และเป็นคนดีเหมาะสมกับงานที่จะทรงมอบหมายให้มากขึ้น
ดุจเดียวกับการส่งมนุษย์ขึ้นไปโคจรในอวกาศ  นักบินอวกาศจำเป็นต้องได้รับการทดสอบจนกว่าจะแน่ใจว่าเขาพร้อมและเหมาะสมสำหรับภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้มิใช่หรือ ?
การทดสอบจึงมิใช่สิ่งที่น่ากลัวหรือน่าอับอายที่จะต้องปกปิดกันอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่เราจะต้องเอาชนะและผ่านการทดสอบให้จงได้

ซาตานคือใคร ?
คำ ซาตาน (Satan) ในภาษาฮีบรูมีวิวัฒนาการทางความหมายควบคู่กับประวัติศาสตร์ของชาวยิว ดังจะเห็นร่องรอยได้จากพระธรรมเดิม
1.    เริ่มแรกหมายถึง “ฝ่ายตรงข้าม” หรือ “ปรปักษ์” เช่น หัวหน้าชาวฟีลิสเตียห้ามดาวิดออกรบด้วยเพราะเกรงว่า “เขาอาจจะหันกลับมาเป็นศัตรู (ซาตาน) กับเราขณะทำการรบอยู่” (1 ซมอ 29:4) หรือเมื่อกษัตริย์ดาวิดเสด็จกลับกรุงเยรูซาเล็ม อาบีชัยต้องการให้ประหารชีวิตชิเมอีซึ่งเคยสาปแช่งและขว้างก้อนหินใส่ดาวิด แต่ดาวิดตรัสกับอาบีชัยว่า “เรามีความคิดไม่ตรงกัน (ซาตาน)” (2 ซมอ 19:22)
2.    ต่อมาความหมายพัฒนาไปสู่เชิงลบมากขึ้น และย้ายจากมนุษย์ไปสู่เทวดาในสวรรค์  ซาตานคือบุตรของพระเจ้า (โยบ 1:6) ซึ่งทำหน้าที่ “กล่าวหา” มนุษย์ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า (โยบ 1:7; 2:2; ศคย 3:2)
ระยะนี้ชาวยิวรับอิทธิพลของคำกรีก Diabolos (ดีอาโบสอส – แปลว่า “การให้ร้าย”) ซึ่งตรงกับ Devil ในภาษาอังกฤษเข้ามา ซาตานจึงมิใช่เพียง “ผู้กล่าวหา” แต่หมายถึง “ผู้ใส่ร้าย” มนุษย์ต่อหน้าพระเจ้า  กระนั้นก็ตามซาตานยังไม่เป็นปรปักษ์กับพระเจ้า เป็นแค่ฝ่ายตรงข้ามกับมนุษย์
3.    ระหว่างถูกกวาดต้อนไปบาบิโลน ชาวยิวรับอิทธิพลความคิดของชาวเปอร์เซียเรื่องการตัดสินใจเลือกระหว่าง “อำนาจแห่งความสว่าง” และ “อำนาจแห่งความมืด” ซาตานจึงถูกผลักให้เป็น “อำนาจแห่งความมืด” และยืนอยู่ขั้วตรงข้ามกับพระเจ้าและมนุษย์อย่างสุดโต่ง
ในพระธรรมใหม่ “ซาตาน” หรือ “ปีศาจ” คือผู้อยู่เบื้องหลังความเจ็บไข้และความทุกข์ทรมานต่าง ๆ ดังที่พระเยซูเจ้าตรัสว่า “หญิงผู้นี้ (ถูกปีศาจสิง เจ็บป่วย หลังค่อม ยืดตัวตรงไม่ได้) เป็นบุตรหญิงของอับราฮัม ซึ่งซาตานล่ามไว้เป็นเวลาสิบแปดปีแล้ว ไม่สมควรที่จะถูกแก้จากพันธนาการนี้ในวันสับบาโตด้วยหรือ” (ลก 13:16)
นอกจากนี้ ซาตานคือผู้ที่ล่อลวงยูดาสให้ทรยศพระเยซูเจ้า (ยน 13:2) ซาตานคือผู้ที่เราต้อง “ต่อสู้มันด้วยใจมั่นคงในความเชื่อ” (1 ปต 5:9) และคือผู้ที่จะต้องถูกทำลายชั่วนิรันดรดังคำอุปมาที่ว่า “แล้วพระองค์จะตรัสกับพวกที่อยู่เบื้องซ้ายว่า ‘ท่านทั้งหลายที่ถูกสาปแช่ง จงไปให้พ้น ลงไปในไฟนิรันดรที่ได้เตรียมไว้ให้ปีศาจและพรรคพวกของมัน’” (มธ 25:41)
เมื่อเห็นวิวัฒนาการของ “ซาตาน” ดังนี้แล้ว  ตัวตนของซาตานจึงไม่น่ากลัวเท่ากับวิธีการโจมตีของมัน  เพราะมันมักใช้ “ความคิดและความปรารถนา” ของเราเองเป็นพันธมิตรและเป็นอาวุธของมัน จน    อาจกล่าวได้ว่า “ศัตรู” ที่น่ากลัวที่สุดและต้องเฝ้าระวังมากที่สุดก็คือ “ตัวตนของเรา” นั่นเอง !!!

การประจญมาจากไหน ?
1.      จากภายนอก 
1.1     เกิดจากเพื่อน สังคมที่ทำงาน สภาพแวดล้อมรอบบ้าน ฯลฯ
1.2     เกิดจากผู้ที่รักเรา เช่นเรามีกระแสเรียกที่จะทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นโรคติดต่อร้ายแรง แต่ถูกพ่อแม่ห้ามปรามด้วยความรักและห่วงใย
1.3     เกิดจากการตามกระแส ชอบลองดี แข่งกันเลว มักเกิดกับพวกวัยรุ่น
2.      จากภายใน 
2.1     เกิดจากความคิด ความปรารถนา และจุดอ่อนของเราแต่ละคน  เราจึงต้องพยายามค้นให้พบจุดอ่อนของเราแล้วเฝ้าระวังไว้ให้ดี
2.2     เกิดจากพรสวรรค์และจุดแข็ง ซึ่งทำให้เรามั่นใจตัวเองมากเกินไป และตั้งตัวอยู่ในความประมาท

การประจญเกิดขึ้นเมื่อใด ?
พระวรสาร 3 ฉบับเน้นเหมือนกันว่าการทดลองของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้นทันทีหลังรับพิธีล้างจากยอห์น  โดยเฉพาะมาระโกระบุไว้ชัดเจนว่า “ทันใดนั้น พระจิตเจ้าทรงดลให้พระองค์เสด็จเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร” (มก 1:12)
เป็นความจริงว่าเมื่อชีวิตของเราขึ้นสู่จุดสูงสุดหรือผ่านเหตุการณ์สำคัญที่สุดแล้ว จะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ และส่วนใหญ่มักเป็นภัยมากกว่าเป็นคุณ เหมือนดอกไม้ไฟที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดและสว่างไสวที่สุดแล้วก็จะดับมืดและร่วงตกลงมา
พระเยซูเจ้าก็เช่นกัน พระองค์พึ่งจะได้รับเกียรติสูงสุด โดยพระจิตเจ้าที่เสด็จมาในรูปของนกพิราบทรงรับรองพระองค์ว่า “เป็นบุตรสุดที่รัก” ของพระบิดา  และทันทีเป็นพระจิตเจ้าอีกเช่นกันที่ทรงนำพระองค์สู่ถิ่นทุรกันดารและการทดลอง
เราจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อประสบความสำเร็จ หรือขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิต !!
และอย่าคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงถูกทดลองในถิ่นทุรกันดารครั้งเดียวแล้วจบเลย  ลูกาเล่าว่า “เมื่อปีศาจทดลองพระองค์ทุกวิถีทางแล้ว จึงแยกจากพระองค์ไป  รอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม” (ลก 4:13)
ที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป หลังจากพระองค์ตรัสทำนายถึงพระทรมานแล้ว เป็นเปโตรศิษย์เอกนั่นเองที่คัดค้านวิถีทางของไม้กางเขน และชักชวนพระองค์ให้เลือกหนทางที่สบายกว่าและมีเกียรติมากกว่า จนพระองค์ทรงดุว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง” (มธ 16:21-23)
เมื่อใกล้วาระสุดท้าย พระองค์กล่าวกับพวกศิษย์ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่ยืนหยัดอยู่กับเราในการทดลองที่เราได้รับ” (ลก 22:28)
และที่หนักสุดคือบนภูเขามะกอก เมื่อพระองค์ทรงภาวนาว่า “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ โปรดทรงนำถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด” (ลก 22:39-46)
แสดงว่าพระองค์ทรงถูกทดลองตลอดชีวิต !!!
เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงต้อง “เฝ้าระวังตลอดชีวิต”  ไม่ใช่หลงผิดตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญตบะหรือทำการใด ๆ เพื่อให้บรรลุถึงขั้นที่เรียกว่าจิตว่าง “ปลอดจากการทดลอง”  เพราะพระเยซูเจ้าเองก็ไม่เคยและไม่ทรงพยายามด้วยที่จะบรรลุถึงขั้นนี้

วิธีต่อสู้กับการประจญ
1.      เคารพตนเอง ลองถามตัวเองว่า “คนอย่างฉันน่ะหรือจะทำสิ่งแบบนี้”
2.      คิดถึงศักดิ์ศรีของบรรพบุรุษ ของวัด สถาบัน ประเทศชาติ ฯลฯ
3.      คิดถึงคนที่เรารักและคนที่รักเรา “ถ้าติดคุก แล้วใครจะเลี้ยงดูลูกเมียล่ะ ?”
4.      คิดว่าเรากำลังอยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าเสมอ “ถ้าพระองค์อยู่ต่อหน้าเรา เราจะกล้าทำสิ่งนี้หรือ ?”

การป้องกันเชิงรุก
ให้ถือหลักว่า “การหนี” หรือ “การตั้งรับ” มีแต่ทรงกับทรุด เพราะฉะนั้นเราต้อง
1.      คิดดี
2.      ทำดี
หากเรากำลัง “คิดดี” และ “ทำดี” อยู่  ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีสิ่งใดมาชักนำเราให้ “คิดชั่ว” หรือ “ทำชั่ว” ได้
นี่คือวิธี “ป้องกัน” การประจญที่ดีที่สุด !