แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

มธ 5:20-48  มาตรฐานใหม่ สูงกว่ามาตรฐานเดิม

(20)“เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีแล้วท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย  (21)“ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ผู้ใดฆ่าคนจะต้องขึ้นศาล  (22)แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้อง จะต้องขึ้นศาล ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า  ‘ไอ้โง่’ ผู้นั้นจะต้องขึ้นศาลสูง ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่บัดซบ’ ผู้นั้นจะต้องถูกปรับโทษถึงไฟนรก  (23)ดังนั้น ขณะที่ท่านนำเครื่องบูชาไปถวายยังพระแท่น ถ้าระลึกได้ว่าพี่น้องของท่านมีข้อบาดหมางกับท่านแล้ว(24)“จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น  (25)จงคืนดีกับคู่ความของท่านขณะที่กำลังเดินทางไปศาลด้วยกัน มิฉะนั้น คู่ความจะมอบท่านแก่ผู้พิพากษา และผู้พิพากษาจะมอบท่านให้ผู้คุม ซึ่งจะขังท่านในคุก (26)เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ท่านจะออกจากคุกไม่ได้ จนกว่าท่านจะชำระหนี้จนเศษสตางค์สุดท้าย  (27)“ท่านได้ยินคำกล่าวที่ว่า อย่าล่วงประเวณี  (28)แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว  (29)ถ้าตาขวาของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงควักมันทิ้งเสีย เพราะเพียงแต่เสียอวัยวะส่วนเดียว ยังดีกว่าปล่อยให้ร่างกายทั้งหมดของท่านตกนรก  (30)ถ้ามือขวาของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย เพราะเพียงแต่เสียอวัยวะส่วนเดียว ยังดีกว่าปล่อยให้ร่างกายทั้งหมดตกนรก  (31)“มีคำกล่าวว่า ผู้ใดจะหย่ากับภรรยา ก็จงทำหนังสือหย่ามอบให้นาง (32) แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดที่หย่ากับภรรยา ยกเว้นกรณีแต่งงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เท่ากับว่าทำให้นางล่วงประเวณี และผู้ใดที่แต่งกับหญิงที่ได้หย่าร้าง ก็ล่วงประเวณีด้วย  (33)“ท่านยังได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าผิดคำสาบาน แต่จงทำตามที่ได้สาบานไว้ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า  (34)แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย อย่าอ้างถึงสวรรค์ เพราะเป็นที่ประทับของพระเจ้า  (35)อย่าอ้างถึงแผ่นดิน เพราะเป็นที่รองพระบาทของพระองค์  “อย่าอ้างถึงกรุงเยรูซาเล็ม เพราะเป็นนครหลวงของพระมหากษัตริย์  (36)อย่าอ้างถึงศีรษะของท่าน เพราะท่านไม่อาจเปลี่ยนผมสักเส้นให้เป็นดำเป็นขาวได้  (37)ท่านจงกล่าวเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ ที่เกินไปนั้นมาจากปีศาจ  (38)“ท่านเคยได้ยินเขากล่าวว่า ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’  (39)แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า อย่าโต้ตอบคนชั่ว ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย  (40)ผู้ใดอยากฟ้องท่านที่ศาลเพื่อจะได้เสื้อยาวของท่าน ก็จงแถมเสื้อคลุมให้เขาด้วย (41)ผู้ใดจะเกณฑ์ให้ท่านเดินไปกับเขาหนึ่งหลัก จงไปกับเขาสองหลักเถิด  (42)ผู้ใดขออะไรจากท่าน ก็จงให้ อย่าหันหลังให้ผู้ที่มาขอยืมสิ่งใดจากท่าน  (43)“ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวว่า จงรักเพื่อนบ้าน จงเกลียดศัตรู  (44)แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า จงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน  (45)เพื่อท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม  (46)ถ้าท่านรักแต่คนที่รักท่าน ท่านจะได้บำเหน็จรางวัลอะไรเล่า บรรดาคนเก็บภาษีมิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ  (47)ถ้าท่านทักทายแต่พี่น้องของท่านเท่านั้น ท่านทำอะไรพิเศษเล่า คนต่างศาสนามิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ  (48)ฉะนั้น ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่าน ทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด

อำนาจใหม่
มธ.5:21-48 คำสอนของพระเยซูเจ้าในภาคนี้เป็นคำสอนที่สำคัญมากตอนหนึ่งในพันธสัญญาใหม่ ก่อนที่เราจะอธิบายคำสอนของพระองค์โดยละเอียด ขอให้เราสังเกต ความจริงข้อหนึ่ง คือ
ในพระวรสารมีบันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าทรงสอนอย่างผู้มีอำนาจซึ่งไม่มีใครเลยเคยแสดงอำนาจเหมือนกับพระองค์ จนกระทั่งว่า ฝูงชนที่เคยฟังคำสอนของพระองค์หรือเคยคิดต่อพระองค์ โดยการเทศน์สอนที่ศาลาธรรม เมือง      คาเปอรนาอุม นักบุญมาระโกได้บันทึกว่า “คำสั่งสอนของพระองค์ทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจอย่างมาก เพราะทรงสอนเขาอย่างทรงอำนาจไม่เหมือนกับบรรดาธรรมาจารย์” (มก.1:22) นักบุญมัทธิวได้ลงท้ายบทเทศน์บนภูเขาด้วยข้อความที่คล้าย ๆ กันคือ “เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสถ้อยคำเหล่านี้จบแล้ว ประชาชนต่างพิศวงในคำสั่งสอนของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสอนเขาอย่างผู้มีอำนาจ ไม่ใช่สอนเหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขา” (มธ.7:28-29)
การสอนแบบของพระเยซูเจ้านี้คงจะสะกิดใจพวกชาวยิวพอสมควร ทั้งนี้ก็เพราะว่า สำหรับชาวยิวแล้ว กฎหมายเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด กฎหมายเป็นกฎหมายของพระเจ้า อารีสเตอัส (Aristeas) ได้เคยกล่าวไว้ว่า “กฎหมายนั้นศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าเป็นผู้ประทานให้” พิลโล ได้เคยกล่าวไว้ว่า “กฎหมายโมเสสคงอยู่ชั่วนิรันดร์ไม่เปลี่ยนแปลง” พวกรับบีหรือธรรมาจารย์ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ใครที่บังอาจปฏิเสธว่ากฎหมายไม่ได้มาจากสวรรค์ก็ไม่มีส่วนในโลกหน้า” ยิ่งกว่านั้นพวกเขามีความเคารพต่อกฎหมายมากทีเดียว ก่อนจะเริ่มพิธีในศาลาธรรม เขาจะเชิญกฎหมายของโมเสสที่เก็บไว้ในตู้แห่ไปรอบ ๆ เพื่อให้ฝูงชนที่เข้าร่วมในพิธีแสดงความคาระก่อนที่จะเริ่มพิธีใด ๆ
เราจึงเห็นว่า พวกยิวมีความเคารพนับถือกฎหมายมาก ถึงกระนั้นก็ดีเรารู้ว่าพระเยซูเจ้าได้อ้างถึงกฎหมายไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง (มธ.5:21,27,33,38,43) และได้สอนคำสอนของพระองค์เองแทนกฎหมายนั้น พระองค์กล้าพอที่จะตรัสว่า กฎหมายที่ชาวยิวถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลกนั้นยังไม่สมบูรณ์ อย่างแท้จริงและพระองค์ได้แก้ไขโดยอาศัยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง พระองค์กระทำดังนี้อย่างผู้มีอำนาจ คำว่า อำนาจ ในภาษากรีกแปลว่า Exouria ซึ่งหมายถึง อำนาจที่จะเพิ่มเติมหรือตัดออกตามอำเภอใจ พระเยซูเจ้าอ้างว่าพระองค์มีอำนาจจะเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ซึ่งชาวยิวถือว่าแก้ไขและจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายคือพระวาจาของพระเจ้า ที่จริงพระองค์ไม่ได้พิสูจน์ว่าพระองค์มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแต่ว่าพระองค์ได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายด้วยพระองค์เองอย่างสงบ
ไม่มีชาวยิวคนใดเลยเคยได้ยินหรือเคยเห็นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำต่อหน้าพวกเขาธรรมาจารย์ชาวยิว แม้จะยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงอย่างไรก็ตามและแม้แต่ประกาศกด้วยมักจะเริ่มต้นคำสอนหรือบทเทศน์ของตนว่า “พระสวามีเจ้า” ตรัสดังนี้ คือ เขามักจะอ้างอำนาจของพระเจ้าและธรรมาจารย์มักจะย้ำคำสอนของอาจารย์ของตน เช่น เขาสอนกันมาว่าดังนี้เขามักจะไม่สอนสิ่งที่เขาคิดเองและแม้แต่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความของอาจารย์หลาย ๆ ครั้งเขาก็ไม่กล้าด้วยซ้ำไป ตรงข้ามพระเยซูเจ้าทรงสอนประชาชนด้วยอำนาจของพระองค์เอง พระองค์จะต้องมีความมั่นใจเป็นที่สุดในการสอนและเพิ่มเติมกฎหมายของโมเสส แม้แต่พวกยิวเองก็สังเกตเห็นความจริงข้อนี้ พูดง่าย ๆ ว่าทุกคนที่เคยเห็นและได้ยินพระองค์ตรัสสอนมีความรู้สึกว่าพระองค์มีอำนาจของพระเจ้าและพระองค์มีอำนาจมากกว่าประกาศกหรือธรรมาจารย์ใด ๆ ที่อยู่ก่อนพระองค์

มาตรฐานใหม่
เรารู้สึกพิศวงในอำนาจของพระเยซูเจ้า แต่ว่าคำสอนของพระองค์หรือข้อเรียกร้องหรือมาตรฐานในการดำรงชีวิตที่พระองค์เทศน์ให้ฝูงชนฟังนั้นน่าพิศวงมากกว่าอีก พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ในสายพระเนตรของพระเจ้า ไม่ใช่แต่ฆาตกรเท่านั้นที่ทำความผิด ผู้ที่เพียงแต่โกรธพี่น้องของเขาก็มีความผิดและสมควรจะถูกลงโทษด้วย พระองค์ตรัสว่าไม่ใช่แต่ผู้ที่ล่วงประเวณีเท่านั้นที่มีความผิด แม้คนที่ปล่อยตัวปรารถนาความชั่วช้าก็ต้องถือว่ามีความผิดด้วย นี่เป็นสิ่งใหม่ที่พระองค์ได้ทรงสอน พระองค์ทรงเน้นเรื่องจิตใจซึ่งเป็นบ่อเกิดของการกระทำมากกว่า พระองค์ต้องการตัดรากถอนโคนมากกว่าตัดลำต้น
เป็นไปได้ที่เราไม่เคยฆ่าใคร แต่บางครั้งเราปรารถนาจะฆ่าศัตรูหรือผู้ที่ทำอะไรขัดใจเราหรือขัดต่อผลประโยชน์ของเรา เป็นไปได้ที่เราไม่เคยล่วงประเวณี แต่หลาย ๆ ครั้งเราปล่อยใจตามความใคร่ของเนื้อหนัง ความคิดมักจะนำไปถึงกิจการ เราทำตามที่เราคิด เพราะฉะนั้นความคิดจึงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก กิจกรรมดีหรือชั่วเป็นผลของการคิดชอบหรือคิดชั่ว
มาตรฐานการตัดสินทางโลกไม่ใช่เช่นนี้ โลกตัดสินแต่พียงภายนอกเท่านั้น เพราะไม่มีใครสามารถล่วงรู้ความคิดภายในได้ โลกตัดสินว่าคนใดคนหนึ่งเป็นคนดี ถ้าหากเขาไม่เคยมีความคิดเลวทรามหรือต่ำช้าอย่างไรก็ตาม  พระเยซูเจ้าเพ่งเล็งความคิด ความปรารถนาของมนุษย์มากกว่า
ถ้าหากเราจะพิจารณาคำสอนของพระองค์ เราจะเห็นว่าพระองค์สอนดี ถูกต้องและถ้าหากใครปฏิบัติตามก็จะเกิดความปลอดภัยมั่นคง ความจริงในตัวมนุษย์เรานี้มีอำนาจ 2 ฝ่าย คือ ความโน้มเอียงไปในทางดีและความโน้มเอียงไปทางความชั่วซึ่งต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา เหตุผลและราคะตัณหาจะต่อสู้ในตัวเราเสมอ ชีวิตเป็นการต่อสู้ระหว่างอำนาจฝ่ายสูงและอำนาจฝ่ายต่ำ เหตุผลจะต้องควบคุมราคะตัณหาให้ได้ การบังคับตัวเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น ตราบใดที่เหตุผลยังบังคับหรือปราบตัณหาไม่ได้ ตราบนั้นเราก็ไม่มีความปลอดภัย เราเสี่ยง พระเยซูเจ้าจึงทรงสอนเราว่าวิธีเดียวที่เราจะปลอดภัย ก็คือ พยายามถอนรากถอนโคนความปรารถนาหรือตัณหาที่ชักนำให้เราตกต่ำอยู่ร่ำไปหรือทำสิ่งที่พระเจ้าทรงห้าม
ให้เราจำไว้ด้วยว่าพระเจ้าเท่านั้นทรงเป็นผู้ตัดสินมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์เห็นแก่ภายนอกและไม่สามารถจะล่วงรู้ภายในจิตใจ พระเจ้าทรงล่วงรู้สารพัด พระองค์จึงตัดสินได้อย่างถูกต้อง ส่วนมนุษย์นั้นอาจจะตัดสินได้ถูกต้อง แต่หลาย ๆ ครั้งอาจจะผิดพลาดได้ ฉะนั้นเราจึงต้องดำรงชีวิตอย่างดีทั้งภายนอกและภายใน เราจึงจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า
ข้อคิดประการสุดท้ายก็คือว่า เมื่อพระเจ้าเป็นผู้ตัดสิน เราต้องยอมรับว่าเราทุกคนเป็นคนบาป เคยผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น แม้เราจะพยายามดำรงชีวิตอย่างดีเท่าไรก็ตาม ข้อคิดนี้จะทำให้เราเป็นผู้สุภาพและพระองค์จะยกมาตรฐานการดำรงชีวิตของเราให้สูงขึ้น

ความโกรธ
มธ.5:21-22 บทเทศน์นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของมาตรฐานใหม่ที่พระเยซูเจ้าเรียกร้องจากบรรดาศิษย์ของพระองค์ กฎหมายเก่าได้บัญญัติไว้ว่า “จงอย่าฆ่าคน” (อพย.20:13) แต่พระเยซูเจ้าได้ทรงวางกฎใหม่ว่า แม้แต่การโมโหก็ต้องห้ามด้วย พระองค์ห้ามเราไม่ให้โมโหเพื่อนมนุษย์ มิใช่แต่ห้ามทุบตีเท่านั้น แม้แต่มีความรู้สึกเป็นศัตรูกับเพื่อนมนุษย์หรือการแก้แค้น ก็ทรงห้ามด้วย
ให้เราสังเกตพระดำรัสของพระองค์ด้วยว่า พระองค์ตรัสถึงความโกรธและโทษของความโกรธเป็นขั้น ๆ คือ
1) พระองค์ตรัสว่า ใครที่โกรธกับพี่น้องจะต้องถูกนำขึ้นศาล ในภาษา กรีก คำว่า “โกรธ” มีอยู่ 2 คำ คือ Thumos หมายถึง ความโกรธที่เกิดขึ้นทันทีทันใดแล้วก็สงบลงทันที คล้าย ๆ กับเปลวไฟที่มีฟางเป็นเชื้อเพลิงลุกขึ้นมาทันทีแล้วก็มอดดับลง แต่มีอีกคำหนึ่ง คือ Orge หมายถึง ความโกรธที่คุกกรุ่นหรือสุมอยู่ในอกเป็นเวลาช้านานและผู้โกรธนั้นไม่ยอมจะให้มันดับไปง่าย ๆ ในที่นี้นักบุญมัทธิวใช้ศัพท์ orgizesthai หมายถึง คนที่มีความรู้สึกโกรธโมโหชนิดหลังนี้ คนนั้นสมจะถูกพิพากษาจากศาล
ศาลตามหมู่บ้านหรือหัวเมืองมีหน้าที่ตัดสินความตามความยุติธรรม ถ้าหากเป็นหมู่บ้านที่มีคนน้อยกว่า 150 คน เจ้าหน้าที่ศาลมีเพียง 3 คนเท่านั้น ถ้าหากเป็นบ้านที่ใหญ่กว่าหรือตำบลเจ้าหน้าที่ศาลมีได้ถึง 23 คน
พระเยซูเจ้าทรงห้ามไม่ให้เราโมโหและเก็บความรู้สึกไว้เพื่อจะหาทางแก้แค้นเพื่อนมนุษย์ นักบุญยากอบ (ยก.1:20) และนักบุญเปาโล (คส.3:5) ก็ได้สอนเช่นเดียวกัน ซีเซโร กล่าวไว้ว่า “เวลาเราโมโหเราทำอะไรไม่ถูกต้องเลย” และ  เซเนกา กล่าว่า “ความโมโหคือความบ้าชั่วคราว”
2) หลังจากนั้นพระเยซูเจ้าได้ตรัสถึงเรื่องเกี่ยวกับความโมโหอีก 2 กรณี ซึ่งชาวยิวและพวกรับบีมักจะกล่าวถึง พระองค์ทรงห้ามไม่ให้มีความครุ่นคิดหรือเก็บความโกรธไว้ในคุกกรุ่นอยู่ตลอดเวลาและพระองค์ก็ยังได้ห้ามทางด้านวาจาหรือคำพูดด้วย พวกรับบีมักจะพูดว่า มีคนอยู่ 3 จำพวก พวกที่ตกนรกและไม่มีวันที่จะกลับมาได้ คือ “คนที่ล่วงประเวณี คนที่ทำให้เพื่อนบ้านได้รับความอับอายขายหน้าและคนที่ด่าว่าพี่น้อง”
คนที่เรียกพี่น้องว่า “ไอ้โง่” จะต้องโทษ คำว่า “ไอ้โง่” หมายถึงคนที่ไม่มีมันสมอง คนที่โง่เขลาเบาปัญญา เป็นคำสบประมาท ถ้าหากใครใช้คำว่า “ไอ้โง่” กับเพื่อนมนุษย์ คนนั้นจะต้องถูกนำตัวไปยังศาลสูงของพวกยิว (Suneotrion) หมายความว่าพระองค์ต้องการที่จะตรัสสอนประชาชนว่า บาปที่เกิดจากคำพูดสบประมาทนั้นหนักยิ่งกว่าบาปที่เกิดจากจิตใจที่มีความโกรธ การที่คนใดคนหนึ่งสบประมาทผู้อื่นมันอาจจะเป็นเพราะว่าเขาเกิดในตระกูลสูงกว่า ร่ำรวยกว่ามีสติปัญญาดีกว่าก็เป็นได้ พระเยซูเจ้าตรัสสอนว่าเขาไม่มีสิทธิที่จะสบประมาทผู้อื่นเพราะพระองค์ได้สิ้นพระชนม์และได้ไถ่กู้และในฐานะที่ทุกคนต่างก็เป็นบุตรของพระเจ้า
3) ถ้าหากใครว่าเพื่อนมนุษย์เป็น “Moros” ซึ่งหมายถึง ไอ้โง่บัดซบ หมายถึงคนที่ชั่วช้าสามานย์ คนที่ผิดศีลธรรม คนที่มีความประพฤติไม่ดีไม่ยำเกรงพระเจ้า คนที่ดำรงชีวิตประหนึ่งว่าพระเจ้าไม่มี (สดด.14:1) คนที่ว่าเพื่อนมนุษย์เช่นนั้นเท่ากับทำลายชื่อเสียงเขาทั้งหมดและเขาสมจะต้องโทษไฟนรก
คำว่า “Genhenna” เป็นศัพท์ที่มีประวัติศาสตร์อยู่บ้าง ปกติเรามักจะแปลว่านรก พวกชาวยิวชอบใช้ศัพท์นี้มาก (มธ.5:22,29,30, 10:28, 18:9, 23:15-33, มก.9:43-45,47, ลก.12:5, ยก.3:6) ความหมายที่แท้จริงคือหุบเขา ฮินโนม ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม กษัตริย์อาฮาส ซึ่งได้ทำการฟื้นฟูจิตใจชาวอิสราเอลได้ลบล้างพิธีกรรมแบบนั้นและได้สาบแช่งสถานที่นั้น (2 พกษ.23:10) ในภายหลังหุบเขาฮินโนม ก็กลายเป็นสถานที่สำหรับทิ้งขยะมูลฝอยของแตก ฯลฯ ที่คนเราไม่ต้องการและเขามักจะเผาสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เหล่านั้นทำให้เกิดควันไฟและมีกลิ่นเหม็น ภายหลังประชาชนก็เรียกสถานที่นั้นว่า นรก เป็นสถานที่พระเจ้าทรงสาปแช่ง
เพราะฉะนั้นพระเยซูเจ้าได้ทรงเน้นว่าบาปที่หนักที่สุดในประเภทนี้คือ การทำลายชื่อเสียงของผู้อื่น ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากการนินทาหรือการใส่ความหรือการพูดสบประมาทโดยตรงก็ได้
เราจึงอาจจะสรุปคำสอนของพระองค์จากข้อความตอนนี้ว่าดังนี้คือ พระองค์ตรัสสอนว่าตามกฎหมายเดิมหรือในอดีต การฆาตกรรมเป็นสิ่งที่ผิด แต่พระองค์ยังเสริมด้วยว่าพระเจ้ามิได้ทรงตัดสินกิจการภายนอกเท่านั้น พระองค์ยังทรงตัดสินความนึกคิดในจิตใจด้วย เพราะฉะนั้นความโกรธจึงเป็นสิ่งที่ผิด การพูดคำสบประมาทเป็นสิ่งที่เลวกว่าอีกและการทำลายชื่อเสียงของเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งที่ชั่วร้ายที่สุด เขาเป็นฆาตกรอย่างแท้จริง แม้ไม่เคยฆ่าใครก็ตาม

มธ.5:23-24
23ดังนั้น ขณะที่ท่านนำเครื่องบูชาไปถวายยังพระแท่น ถ้าระลึกได้ว่าพี่น้องของท่านมีข้อบาดหมางกับท่านแล้ว  24“จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น

มธ.5:23-24 เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสสอนข้อความนี้พระองค์ทรงพระประสงค์จะเตือนชาวยิวให้คิดถึงกฎเกณฑ์ซึ่งพวกเขามักจะลืมหรือละเลย กล่าวคือ ถ้าหากมนุษย์ทำผิดต่อพระเจ้าก็เท่ากับว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระเจ้าเสื่อมคลายลงและถ้าหากเขาต้องการจะเชื่อมความสัมพันธ์ให้กระชับใหม่เขาจะต้องถวายเครื่องบูชา อย่างไรก็ดีเราควรสังเกตด้วยว่า ชาวยิวมีความเชื่อถือว่าบาปที่เขาทำโดยเจตนานั้น เครื่องบูชาช่วยอะไรไม่ได้เลย เครื่องบูชาจะมีผลต่อบาปที่ทำโดยไม่เจตนาหรือบาปที่เกิดจากความอ่อนแอของมนุษย์เช่นเวลาโมโหเราอาจจะด่าว่าหรือทำร้ายผู้อื่น ทั้งนี้เพราะเราบังคับตัวเองไม่อยู่ อีกประการหนึ่งก็คือ เครื่องบูชาจะบังเกิดผลก็ต่อเมื่อคนบาปจะต้องสารภาพบาปและต้องมีความสำนึกในความผิดอย่างแท้จริงและการเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างจริงใจนั้นรวมความตั้งใจที่จะชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นและรวมทั้งความตั้งใจที่จะดัดแปลงแก้ไขตัวเองด้วย
ในวันชดเชยบาป บาปของชาติยิวทั้งหมดนั้น ชาวยิวทุกคนจะตระหนักดีว่าเครื่องบูชาในวันนั้นจะสัมฤทธิ์ผลก็ต่อเมื่อเขาคืนดีกับเพื่อนบ้านแล้ว หมายความว่าเขาจะได้รับอภัยโทษก็ต่อเมื่อเขาคืนดีกับพี่น้องแล้ว ถ้าหากคนหนึ่งขโมยของที่คนอื่นมีและขอสมาโทษจากพระเจ้าโดยถวายเครื่องบูชา โดยยังไม่ได้นำของที่ขโมยมาคืนเจ้าของ เครื่องบูชานั้นถือว่ามีมลทินและจะต้องเผาทำลายนอกพระวิหาร
เวลาถวายเครื่องบูชา ผู้ถวายเอามือวางบนหัวสัตว์ นอกจากจะแสดงว่าตัวเป็นเจ้าของแล้ว ยังมีความหมายว่าสัตว์นั้นแทนตัวเองและคล้าย ๆ กับว่าเขาถ่ายทอดบาปและความผิดให้กับเครื่องบูชานั้นพร้อมกับภาวนาว่า “ข้าพเจ้าได้ทำบาป ข้าพเจ้าได้ทรยศ ข้าพเจ้าได้ทำบาป ดังนี้คือ (หลังจากนั้นเขาก็สารภาพบาป) แต่ว่าบัดนี้ข้าพเจ้าเสียใจและขอให้เครื่องบูชานี้ลบล้างความผิดของข้าพเจ้าด้วย”
การถวายเครื่องบูชาจะถูกต้องและบังเกิดผลก็ต่อเมื่อได้สารภาพความผิดและได้ทำการชดเชยความผิดแล้ว ผู้ที่ต้องการถวายเครื่องบูชาไม่ได้ถวายเอง แต่ว่าพระสงฆ์เป็นผู้ถวายแทน เขาเข้าไปในพระวิหาร เขาต้องผ่านลานสำหรับคนต่างศาสนา ลานสำหรับผู้หญิง ลานสำหรับผู้ชาย หลังจากนั้นก็ถึงลานสำหรับบรรดาพระสงฆ์ซึ่งฆราวาสเข้าไปไม่ได้และระหว่างที่เขายื่นเครื่องบูชาให้พระสงฆ์ เขาก็เอามือวางไว้บนเครื่องบูชาและสารภาพบาปและถ้าหากเขาระลึกได้ว่าเขามีเรื่องกับเพื่อนบ้านหรือเพื่อนบ้านมีเรื่องกับเขา เขาจะต้องกลับไปคืนดีกับเพื่อนบ้านเสียก่อนการถวายบูชาจึงจะบังเกิดผล
พระเยซูเจ้าทรงรู้ดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าจะมีขึ้นไม่ได้ถ้าหากเราไม่มีความสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องร่วมโลก บางครั้งเราแปลกใจที่พระเจ้าไม่ทรงฟังคำภาวนาของเรา บางทีอุปสรรคนั้นเราสร้างมันขึ้นมาเอง เราจำต้องขจัดอุปสรรคนั้นเสีย คืนดีกับพี่น้องแล้วพระเจ้าจะทรงรับเครื่องบูชาและฟังคำภาวนาของเรา

มธ.5:25-26
25จงคืนดีกับคู่ความของท่านขณะที่กำลังเดินทางไปศาลด้วยกัน มิฉะนั้น คู่ความจะมอบท่านแก่ผู้พิพากษาและผู้พิพากษาจะมอบท่านให้ผู้คุม ซึ่งจะขังท่านในคุก 26เราบอกความจริงแก่ท่านว่า “ท่านจะออกจากคุกไม่ได้ จนกว่าท่านจะชำระหนี้จนเศษสตางค์สุดท้าย”

มธ.5:25-26 พระเยซูเจ้าทรงให้คำแนะนำที่มีประโยชน์มาก กล่าวคือ เมื่อเราเห็นว่ามีอะไรผิดพลาด เราจะต้องจัดการแก้ไขสถานการณ์ทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้เป็นดินพอกหางหมู มิฉะนั้นจะแก้ไขไม่ได้หรือไม่ทันการ พระองค์ทรงยกตัวอย่างว่าถ้าหากสองคนที่มีเรื่องทะเลาะกัน ก็ให้จัดการตกลงกันให้เรียบร้อยแทนที่จะไปขึ้นศาล เพราะเมื่อขึ้นศาลแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องลำบากอย่างแน่นอน
เราทุกคนต่างก็มีประสบการณ์และเห็นดีด้วยกันกับคำสอนของพระองค์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเรื่องใหญ่  ๆ โต เกิดขึ้นเนื่องจากเราไม่ได้จัดการเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เสร็จไป ความคิดเห็นขัดแย้งกัน ทำให้เกิดการทะเลาะกันและในที่สุดอาจจะมีการทำร้ายหรือฆ่ากันได้ ตึกที่มีรอยร้าวเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าหากเราไม่จัดการซ่อมเสียให้ทันการอาจจะทำให้ตึกพังทลายลงมาได้ การทะเลาะกันระหว่างเด็กสองคนทำให้ผู้ใหญ่ผิดใจกันและบางครั้งอาจจะทำให้สองตระกูลมองหน้ากันไม่ติด ถ้าหากว่ากรณีที่เกิดการทะเลาะหรือการขัดแย้งกันและถ้าหากฝ่ายที่ผิดยอมรับผิดปรับความเข้าใจและขอโทษ เรื่องก็ลงเอยเพียงเท่านั้นและทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเรียบร้อย ถ้าหากว่าเราเป็นคนสุภาพ ถ้าหากเราจะคิดเสมอว่าเราผิดพลาดได้และเราไม่จำเป็นจะต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอ ถ้าหากเราจะคิดว่าเราเป็นผู้ถูก แต่ว่าเราพร้อมที่จะปรับความเข้าใจและคืนดีกับฝ่ายตรงข้าม มิตรภาพก็จะกลับคืนมา ทั้งฝ่ายเขาและฝ่ายเราย่อมมีความสุข ขอให้เราสังเกตด้วยว่าพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าหากเราระลึกได้ว่าคนอื่นเขามีเรื่องอะไรกับเราก็ให้เราไปคืนดีกับเขาเสีย” ไม่ใช่ว่าเรามีเรื่องอะไรกับใครก็ให้เราคืนดีกับเขาหรือพูดง่าย ๆ ว่าเราจะถูกหรือผิดอย่างไร เราต้องพยายามสร้างสันติให้ได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ถ้าหากว่าคู่กรณีคิดหรือเข้าใจว่าตัวเป็นฝ่ายถูกต้องและฝ่ายถูกไม่จำเป็นจะต้องไปคืนดีกับใคร แต่ขอให้ฝ่ายผิดกลับมาคืนดีก่อน การคืนดีหรือมิตรภาพจะมีขึ้นได้ยากมาก เพราะต่างฝ่ายคิดว่าฝ่ายตัวเองถูก เราจึงเห็นได้ว่าคำสอนของพระเยซูเจ้าเป็นคำสอนที่สูงส่งและถ้าหากว่าคู่กรณีปฏิบัติตามได้ มิตรภาพจะกลับคืนมาอย่างแน่นอนที่สุด คู่กรณีจะปฏิบัติได้ก็ต่อเมื่อเขามีความสุภาพ มีความรัก มีความเสียสละยอมถ่อมตน คุณลักษณะทั้งหมดนี้พระเยซูเจ้าทรงบัญชาให้บรรดาสาวกของพระองค์ทุกคนปฏิบัติให้ได้ จึงจะคู่ควรกับนามว่า คริสตชนหรือสาวกของพระคริสตเจ้า
พระเยซูเจ้าเน้นว่าระหว่างที่เรายังมีเวลาหรือมีชีวิตอยู่ก็ขอให้เรารีบเร่งจัดการกับชีวิตของเราให้อยู่ในความสงบและสันติสุขกับมนุษย์เพื่อนร่วมโลก ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราทั้งหมดต่างก็ไม่รู้ว่าพระเจ้าจะประทานเวลาให้เราอีกนานเท่าใด เราไม่รู้ว่าเมื่อไรเราจะต้องไปปรากฏตัวเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า
ถ้าหากเราจะสรุปพระดำรัสของพระเยซูเจ้าในตอนนี้ เราพอจะเข้าใจได้ดังนี้ คือ พระองค์ตรัสว่า “ถ้าหากเราต้องมีสันติสุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า เราจะต้องพยายามหาทางตกลงและคืนดีกับพี่น้องทันที ถ้าหากว่ามีการทะเลาะหรือการเข้าใจผิดเกิดขึ้นระหว่างเรา”

มธ.5:27-28
27“ท่านได้ยินคำกล่าวที่ว่า “อย่าล่วงประเวณี”  28แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า “ผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว”

มธ.5:27-28 นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พระเยซูเจ้าต้องการจะชี้ให้เราเห็นว่ามาตรฐานดำรงชีวิตที่พระองค์เรียกร้องจากเรานั้นเป็นมาตรฐานสูงส่งและประเสริฐ ในหนังสืออพยพ 20:14 กล่าวไว้ว่า “จงอย่าล่วงประเวณี” เป็นข้อห้ามที่มีโทษหนักจริง ๆ สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ถ้าหากว่ามีใครจับได้ว่ามีการล่วงประเวณีกัน คู่ที่ล่วงประเวณีนั้นจะต้องถูกลงโทษประหาร (ลวต.20:10) แต่พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ไม่ใช่แต่กิจการเท่านั้นที่ต้องห้าม แม้แต่ความปรารถนาไม่ดีก็ต้องห้ามด้วย” ในที่นี้พระองค์ไม่ได้ตรัสถึงเรื่องความคิดที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติหรือตามสัญชาตญาณของมนุษย์ ที่เรามักจะเรียกว่าความคิดไม่ดี ซึ่งมักจะเป็นความคิดที่เข้ามาในหัวของเรา โดยที่เราไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นมา แต่ว่ามันเป็นมาเองตามลำพังและโดยปกติเราก็ไม่มีความพอใจในความคิดนั้น ยิ่งกว่านั้นในหลาย ๆ กรณีเรายังถือว่าเป็นการรบกวนและเราต้องการจะขับไล่มันให้พ้นไปด้วยซ้ำ ตามศัพท์ภาษากรีกในกรณีนี้พระเยซูเจ้าตรัสว่า “คนที่มองดูสตรีโดยมีความปรารถนาทางด้านความใคร่ด้วยความพอใจและเต็มใจ คนนั้นจะต้องโทษ”
พวกธรรมาจารย์มีความเข้าใจดี เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสข้อความตอนนี้ ทั้งนี้เพราะพวกเขาเคยพูดว่า “ดวงตาและมือมักจะทำบาป” “ดวงตาและหัวใจเป็นทาสของบาป” “การมองทำให้เกิดตัณหา” เราจะเห็นว่าในโลกของเรานี้เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยวนใจ เช่น การโฆษณา ภาพ หนังสือ ภาพยนตร์และละคร ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้หลาย ๆ ครั้งมีจุดประสงค์เพื่อหาเงินทองเข้ากระเป๋าก็ตาม ปัญหาอาชญากรรมทางเพศเกิดขึ้นเพราะการดูภาพยนตร์หรือเกิดจากภาพลามกต่าง ๆ สังคมของเรารู้สึกว่าจะไม่สนใจต่อปัญหานี้เท่าที่ควรและขาดการรับผิดชอบทำอย่างไรเราจึงจะช่วยสังคมของเราให้สะอาดบริสุทธิ์มีศีลธรรม สังคมคงจะดีขึ้นถ้าหากว่าเราแต่ละคนลงมือปฏิบัติตามคำสั่งของพระเจ้า ตั้งแต่บัดนี้คือพยายามบำเพ็ญตนเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งทางด้านความคิดและกิจการ

มธ.5:29-30
29ถ้าตาขวาของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงควักมันทิ้งเสีย เพราะเพียงแต่เสียอวัยวะส่วนเดียว ยังดีกว่าปล่อยให้ร่างกายทั้งหมดของท่านตกนรก  30ถ้ามือขวาของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย เพราะเพียงแต่เสียอวัยวะส่วนเดียว ยังดีกว่าปล่อยให้ร่างกายทั้งหมดตกนรก

มธ.5:29-30 จากพระวรสารตอนนี้พระเยซูเจ้าทรงวางเงื่อนไขขั้นเด็ดขาดสำหรับทุกคนที่ประสงค์จะเอาตัวรอด พระองค์ตรัสว่าอะไรไม่ว่าซึ่งเป็นสาเหตุหรือเป็นอุปสรรคกีดขวางหนทางสวรรค์ เราจะต้องขจัดเสียและไม่ต้องเสียดายมันด้วยและแม้เราจะต้องเสียสละมากเพียงไรก็ตาม จากศัพท์ภาษากรีก Skandalon หมายถึง ทุกอย่างซึ่งอาจจะทำลายมนุษย์ให้พินาศไปได้ เรามักจะแปลว่าสิ่งที่ทำให้เราสะดุด ทำให้เราหกล้ม เช่น ก้อนหินที่วางไว้แล้วเราเดินสะดุดโดยที่เรามองไม่เห็นหรืออาจจะเป็นเชือกที่ขึงกั้นไว้แล้วเรามองไม่เห็น เราอาจจะเดินไปสะดุดมันได้หรืออาจจะหมายถึงหลุมพรางที่เขาเอาใบไม้ปิดไว้เพื่อดักคนหรือสัตว์ที่ไม่รู้เรื่องและเดินผ่านทางนั้นจะได้พลาดตกลงไปในหลุมซึ่งอาจจะมีอันตรายถึงชีวิตก็ได้ เพราะฉะนั้น Skandalon จึงอาจจะหมายถึงสิ่งที่ทำให้คนสะดุดหกล้ม สิ่งที่จะก่อให้เกิดหายนะสิ่งที่ล่อลวงให้มนุษย์พลาดพลั้งและประสบความพินาศในที่สุด
แน่นอนเราต้องไม่เข้าใจพระวาจาของพระเยซูเจ้าตามตัวอักษร มิฉะนั้นพวกเราคงจะเป็นคนตาบอดหรือแขนด้วนกันหมดแล้ว เพราะเราทุกคนเคยพลาดพลั้งเพราะตาและมือมานับครั้งไม่ถ้วน ความหมายที่แท้จริงของพระวาจาก็คือ ไม่ว่าอะไรที่จะชักนำเราให้ตกในบาป เราจำจะต้องขจัดมันเสียหรือหาทางหลีกเลี่ยงไม่ว่าจะเป็นบุคคล สถานที่ ความสนุกสนาน อาชีพ ฯลฯ จากการเปรียบเทียบโดยใช้ภาพที่หนักแน่น ทำให้เราเข้าใจว่าพระองค์ทรงพระประสงค์ให้เราตัดสินใจอย่างเด็ดขาด

มธ.5:31-32
31“มีคำกล่าวว่า ผู้ใดจะหย่ากับภรรยา ก็จงทำหนังสือหย่ามอบให้นาง   32แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดที่หย่ากับภรรยายกเว้นกรณีแต่งงานไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็เท่ากับว่าทำให้นางล่วงประเวณีและผู้ใดที่แต่งกับหญิงที่ได้หย่าร้างก็ล่วงประเวณีด้วย”

มธ.5:31-32  ก) การแต่งงานระหว่างพวกชาวยิว
สำหรับชาวยิวการแต่งงานถือว่าเป็นหน้าที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชายทุกคนจะต้องทำตาม ปกติเขาแต่งงานยกเว้นกรณีเดียวเท่านั้นคือ เขาอาจจะรอการแต่งงานหรืออาจจะไม่แต่งงานเลยก็ได้ ถ้าหากเขาต้องการทุ่มเทชีวิตทั้งหมดเพื่อศึกษากฎหมายของโมเสส ชาวยิวถือว่าถ้าหากใครไม่ยอมแต่งงานไม่ยอมมีบุตรก็เท่ากับว่าเขาไม่ถือพระบัญญัติของพระเจ้าที่ได้มีพระบัญชาให้มนุษย์แต่งงานและสืบตระกูลมีลูกหลาน
โดยทั่ว ๆ ไปแล้วชาวยิวรังเกียจการหย่าร้าง พระเจ้าตรัสว่า “เราเกลียดการหย่าร้าง” (มลค.2:16) พวกธรรมาจารย์มักจะพูดเสมอว่า “เรารู้ว่าพระเจ้าทรงเพียรทนต่อบาปทุกชนิดนอกจากบาปผิดต่อความบริสุทธิ์” “ชาวยิวทุกคนยอมพลีชีวิตดีกว่าจะนมัสการพระเท็จเทียมฆ่าคนหรือล่วงประเวณี” “พระแท่นบูชาหลั่งน้ำตาเมื่อสามีหย่าร้างกับภรรยาของตน”
อุดมคติก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ในภาคปฏิบัติชาวยิวก็หย่าร้างบ้างเหมือนกัน เพราะไม่สามารถทำตามอุดมคติได้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้การหย่าร้างเกิดขึ้นง่ายก็คือ ตามกฎหมายสตรีเป็นเหมือนสิ่งของ สตรีเป็นสมบัติของบิดาหรือของสามี สตรีไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ภรรยาจะหย่าร้างกับสามีของตนไม่ได้เลยไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนสามีนั้นจะหย่าร้างกับภรรยาจะเนื่องจากเหตุผลใดก็ได้ทั้งสิ้น กฎหมายของธรรมาจารย์กล่าวไว้ว่า “สามีจะหย่ากับภรรยาโดยที่ภรรยาจะเต็มใจหรือไม่ก็ย่อมทำได้ แต่ภรรยาจะหย่ากับสามีโดยที่สามีไม่ยินยอมไม่ได้”
ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ 24:1 กล่าวถึงการหย่าร้างไว้ดังนี้คือ “เมื่อชายใดแต่งงานมีภรรยาและภายหลังนางไม่เป็นที่โปรดปรานของสามี เนื่องจากฝ่ายสามีพบว่านางไม่บริสุทธิ์ ก็ให้สามีเขียนใบหย่าร้างและไล่ภรรยาออกจากบ้านและภรรยาของเขาก็เป็นอิสระจะแต่งงานกับชายคนใดก็ได้ตามปรารถนาและเมื่อทางฝ่ายสามียื่นใบหย่าร้างนั้น เขาเขียนข้อความว่าเขาได้ออกใบหย่าร้างนี้ให้ภรรยาของเขาแล้วและภรรยาของเขาก็เป็นอิสระจะแต่งงานกับชายคนใดก็ได้ตามปรารถนาและเมื่อทางฝ่ายสามียื่นใบหย่าร้างให้ภรรยาของเขา ต่อหน้าพยานสองคนแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี ทั้งสองหย่าร้างกันถูกต้องตามกฎหมาย”
จากข้อความในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ 24:1 นั้น บรรดาธรรมาจารย์จากสองสถาบันที่มีชื่อแปลผิดกัน คือสถาบันของซามมาย (Shammai) ซึ่งเคร่ง คัดมาก แปลความหมายว่า สามีจะหย่าร้างกับภรรยาไม่ได้เลยนอกจากในกรณีที่ภรรยาคบชู้ แม้ว่าภรรยานั้นจะเลวทรามเหมือนกับภรรยาของอาดัมก็ตาม ส่วนสถาบันของฮิลเลล (Hilllel) หลวมกว่ามากแปลข้อความตอนนั้นว่า สามีจะหย่าร้างกับภรรยาในกรณีใด ๆ ก็ได้ เช่นถ้าหากว่าภรรยาใส่เกลือในอาหารมากเกินไป กินไม่ถูกปากก็หย่าร้างได้ หรือว่าถ้าหากภรรยาไปพูดกับผู้ชายตามถนนหรือว่าออกไปในที่สาธารณะโดยไม่มีผ้าคลุมศรีษะหรือว่าเป็นคนชอบทะเลาะวิวาทหรือว่ากล่าวบิดามารดาของสามีต่อหน้าสามี เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น รับบีอาคีบา (Akiba) แปลข้อความที่ว่า “ถ้าหากภรรยาไม่เป็นที่โปรดปรานของสามี” นั้นหมายความว่า ถ้าหากสามีเห็นว่าสตรีคนใดสวยและน่าสนใจมากกว่าภรรยาของตนก็มีเหตุผลพอเพียงที่จะหย่าร้างกับภรรยาของตนได้แล้ว
เราพอจะตัดสินได้ว่ามนุษย์เราชอบทำตามการแปลของสถาบันไปมากกว่ากัน เหตุเราทุกคนชอบกฎหมายที่หลวม ๆ เพราะฉะนั้นสถาบันฮิลเลลจึงมีอิทธิพลมากในสมัยนั้น ในสมัยพระเยซูเจ้า การหย่าร้างยิ่งทียิ่งง่ายขึ้น จนกระทั่งทุกสิ่งทุกอย่างสามีเป็นผู้จัดการหมดและจะหย่าร้างเมื่อไรและด้วยเหตุผลประการใดก็ได้ เมื่อพระเยซูเจ้าวางกฎนี้พระองค์ไม่ใช่ทรงพระประสงค์ที่จะปฏิวัติ พระองค์ทรงพระประสงค์ให้พวกเขาปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะสังคมยิวในสมัยนั้นตกต่ำลงมากเป็นต้นในด้านการแต่งงาน
ข) การแต่งงานระหว่างชาวกรีก
ชาวกรีกตีคุณค่าของการแต่งงานค่อนข้างจะต่ำทั้งนี้ก็เพราะว่าชาวกรีกประมาทสตรี ความสัมพันธ์แบบชู้สาวถือเป็นของปกติและไม่มีใครประณามว่าเป็นสิ่งไม่ดี เดโมสเตเนส (Demosthenes) ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เรามีโสเภณีเพื่อความสนุกฝ่ายเนื้อหนัง เรามีคู่นอนเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ได้ทุกวัน เรามีภรรยาเพื่อจะได้มีบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายและเพื่อดูแลบ้านช่อง”
แปลกที่ผู้ชายชาวกรีกต้องการให้ผู้หญิงขังตัวเองอยู่ในบ้าน ไม่อยากให้ภรรยาเดินไปตามถนนคนเดียว ห้ามสตรีกินอาหารร่วมกับผู้ชาย สตรีไม่มีส่วนในชีวิตสังคม สำหรับฝ่ายหญิงผู้ชายต้องการให้เจริญชีวิตอย่างบริสุทธิ์ที่สุดสำหรับตัวเองพวกเขาปล่อยชีวิตสนุกสนานที่สุด โสกราตีส (Socrates) ได้เคยกล่าวไว้ว่า “มีใครเล่าที่ท่านจะมอบความไว้วางใจมากเท่ากับภรรยาและมีใครเล่าที่ท่านพูดกับเขาน้อยกว่าพูดกับภรรยาของตนเอง” สำหรับชาวกรีกภรรยามีไว้เพื่อความมั่นคงในครอบครัว เมื่อบังเกิดบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อดูแลบ้านช่อง เพื่อเป็นเกียรติในครอบครัวเท่านั้น ส่วนความสุขทางเพศนั้นพวกผู้ชายมักจะหาเอานอกบ้าน
คุณค่าของการแต่งงานตกต่ำมากระหว่างชาวกรีกเพราะสาเหตุอีกประการหนึ่งคือ ชาวกรีกหย่าร้างกันได้ง่าย ๆ สามีจะหย่าร้างกับภรรยาของตนเมื่อไรก็ได้ขอแต่ให้ทำต่อหน้าพยานสองคนก็พอ แต่เขาจะต้องคืนสินสอดให้ภรรยา
ก)    การแต่งงานระหว่างชาวโรมัน
สำหรับชาวโรมัน ศาสนาและสังคมเดิมทีเดียวมีพื้นฐานมาจากครอบครัว อำนาจของผู้เป็นบิดาหรือพ่อเป็นอำนาจสูงสุด ในครอบครัวพ่อบ้านมีอำนาจเด็ดขาดหรือเป็นเจ้าชีวิตก็ว่าได้ ลูกชายในสายตาของชาวโรมันจะไม่มีวันเป็นผู้ใหญ่ได้เลย ตราบเท่าที่บิดายังมีชีวิตอยู่ เขาอาจจะได้เป็นถึงผู้ปกครองที่สูงส่งหรือได้ครองอำนาจที่สูงมาก แต่ว่าตราบใดที่ฝ่ายบิดาของเขายังมีชีวิตอยู่เขาก็ต้องอยู่ในอำนาจของบิดาอยู่เสมอ แม่บ้านชาวโรมันไม่เหมือนกับแม่บ้านชาวกรีกที่ต้องบังคับตัวอยู่ในบ้านตลอดเวลา แต่ว่าเธอยังมีบทบาทต่อสังคมได้ สตรีที่แต่งงานแล้วก็ยังมีคนนับถือ แม้ว่าพวกโรมันจะมีโสเภณี ถึงกระนั้นก็ดีเฮลก็เป็นคนที่สังคมรังเกียจและใครที่มีความสัมพันธ์กับโสเภณีก็ถูกสบประมาทเช่นกัน มาตรฐานศีลธรรมของพวกโรมันครั้งหนึ่งเคยสูงมากทีเดียวจนกระทั่งว่าตลอดเวลาถึง 5 ศตวรรษแรกของจักรวรรดิโรมัน เราไม่เคยพบเรื่องราวการหย่าร้างที่มีบันทึกไว้เลย คนแรกที่หย่าร้างกับภรรยาของตนตามที่บันทึกไว้ก็คือ สบูรีอัส การ์ลิสิอัส รูก้า (Spurius Carilius Ruga) ในปี 234 ก.ค.ศ. ที่หย่าร้างก็เพราะว่าภรรยาของเขาเป็นหมันและเขาต้องการมีบุตร
เมื่อชาวโรมันชนะชาวกรีก แต่ความจริงชาวโรมันชนะชาวกรีกทางด้านทหารเท่านั้น ทางด้านศีลธรรมและสังคมกรีกกลับชนะพวกโรมัน ในราวศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาล ศีลธรรมกรีกซาบซึ้งเข้าไปในกรุงโรม ยังความเสื่อมโทรมและหายนะมาสู่ชาวโรมันอย่างมากมาย การหย่าร้างถือว่าเป็นของปกติ เซเนก้า(Seneca) พูดถึงสตรีที่แต่งงานแล้วก็หย่าร้างแล้วก็แต่งงานใหม่อีกบ่อย ๆ ยูเลนัว (Jurenal) ได้เคยเขียนไว้ว่า ได้มีสตรีคนหนึ่งที่มีสามีถึง 8 คนในเวลา 5 ปี เมื่อสังคมกรีกและโรมันเป็นแบบนี้ในด้านการแต่งงาน มาตรฐานที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องหรือประกาศให้ชาวยิวยึดถือในสมัยของพระองค์จึงเป็นเรื่องที่สูงส่งมาก
มธ.5:33-37
33“ท่านยังได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าผิดคำสาบาน แต่จงทำตามที่ได้สาบานไว้ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า  34แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย อย่าอ้างถึงสวรรค์ เพราะเป็นที่ประทับของพระเจ้า  35อย่าอ้างถึงแผ่นดิน เพราะเป็นที่รองพระบาทของพระองค์ อย่าอ้างถึงกรุงเยรูซาเล็ม เพราะเป็นนครหลวงของพระมหากษัตริย์  36อย่าอ้างถึงศีรษะของท่าน เพราะท่านไม่อาจเปลี่ยนผมสักเส้นให้เป็นดำเป็นขาวได้  37ท่านจงกล่าวเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ ที่เกินไปนั้นมาจากปีศาจ

มธ.5:33-37 บางครั้งเขารู้สึกแปลกใจที่พระเยซูเจ้าเทศน์สิ่งที่พวกยิวรู้แล้ว ทั้งนี้พระองค์ต้องการจะเน้นว่าความรู้อย่างเดียวไม่พอ พวกเขาจะต้องปฏิบัติตามที่พวกเขารู้ด้วย ที่พระองค์ทรงเน้นเป็นพิเศษก็เพราะว่าพระองค์ทรงรู้ถึงความอ่อนแอของมนุษย์ ความจริงพวกธรรมาจารย์ก็ได้เคยพูดไว้เหมือนกันว่า “โลกเราจะมั่นคงถ้าหากมีความยุติธรรม ความจริงและสันติภาพ” พวกเขารู้ดีว่า ความสัตย์จริงเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน พวกเขามักจะพูดว่า “ใครที่กลับคำพูดเลวเท่า ๆ กับคนนมัสการพระเท็จเทียม” อาจารย์ชามมาย (Shammai) และบรรดาสาวกถือเคร่งครัดมากในด้านคำพูด คำพูดใด ๆ ที่ไม่เป็นความจริง พวกเขาห้ามทั้งหมดแม้จะเป็นคำพูดสรรเสริญเยินยอหรือพูดปดเพื่อสนุกก็ตาม
พระเยซูเจ้าทรงสอนเขาให้พูดแต่ความสัตย์จริงโดยไม่ต้องสาบานในหนังสืออพยพย 20:7 “จงอย่าออกพระนามพระเจ้าโดยไม่สมเหตุ”
ในที่นี้พระคัมภีร์ไม่ได้พูดถึงการสาบานในใจความใช้คำด่าหรือคำที่ไม่สุภาพ แต่พูดถึงว่าสาบานที่ใช้พระเจ้ามาเป็นพยานต่อสิ่งที่เขาพูด เช่น ในบางครั้งบางคนพูดเท็จแล้วยังบังอาจอ้างพระ ที่ใช้พระเจ้ามาเป็นพยานต่อสิ่งที่เขาพูด หรือบางคนพูดความจริงก็ตามแต่ไม่จำเป็นจะต้องอ้างเอาพระเจ้ามาเป็นพยานเขาก็อ้างแม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เขามักจะพูดว่าถ้าไม่จริงก็ขอให้ตัดหัว เขาพูดประหนึ่งว่าเขาเป็นเจ้าชีวิตและพระเจ้าไม่ใช่เจ้าชีวิตเหนือเขา อนึ่งพระนามของพระเจ้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะออกพระนามของพระเจ้าเล่น ๆ หรือโดยขาดความเคารพไม่ได้
การสาบานของพวกยิวยังแยกออกเป็นสองประเภท คือ ถ้าหากคำสาบานนั้นมีพระนามของพระเจ้าอยู่ด้วย ผู้สาบานจะต้องถือตามคำสาบานโดยเด็ดขาด จะบิดพลิ้วหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าหากคำสาบานไม่มีพระนามของพระเจ้า ผู้สาบานไม่จำเป็นจะต้องถือตามที่ได้สาบานก็ได้ ถ้าหากผู้สาบานอ้างถึงสวรรค์ แผ่นดิน หรือนครเยรูซาเล็มเป็นพยาน เขาไม่ต้องถือตามคำสาบานก็ได้ เขาหาคิดไม่ว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสวรรค์ ฟ้าและแผ่นดินและนครเยรูซาเล็มเป็นที่ประทับของพระองค์ ไม่ว่าเขาจะอ้างพระนามของพระองค์หรืออ้างถึงสวรรค์หรือแผ่นดิน พระองค์ทรงรู้ทุกสิ่งและพระองค์ทรงประทับทุกหนแห่งเพราะฉะนั้นพระองค์เป็นพยานในการสาบานทุกครั้งไป
พระเยซูเจ้าสรุปว่า เมื่อเราต้องการพูดว่าใช่ก็ให้พูดว่าใช่ เมื่อเราต้องการพูดว่าไม่ใช่ก็ให้พูดว่าไม่ใช่โดยไม่ต้องต่อเติมอะไรทั้งนั้นและโดยไม่ต้องเอาพระเจ้ามาเป็นพยานต่อคำพูดของเราด้วย ความประพฤติที่ดีงามของเราก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้คนอื่นเชื่อถือคำพูดของเรา โซกราตีส (Socratis) นักวาทศิลป์ชาวกรีกกล่าวไว้ว่า “มนุษย์เราควรจะดำเนินชีวิตจนกระทั่งว่าใคร ๆ เขาก็มีความวางใจต่อเขา แม้เขาไม่สาบานด้วยซ้ำไป” นักบุญเคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย    เตือนคริสตชนให้ดำรงชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งว่าไม่มีใครเรียกร้องให้เขาสาบานเลย สังคมที่สมบูรณ์ต้องเป็นสังคมที่มนุษย์เราสามารถติดต่อและไว้เนื้อเชื่อใจกันและกันได้โดยไม่ต้องมีการสาบาน
พระเยซูเจ้าทรงห้ามไม่ให้สาบานเลยไม่ว่าในกรณีใด ๆ ใช่ไหม มีคนบางกลุ่มที่ไม่ยอมสาบานเลยไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น พวกแรกคือพวกเอสเซนต์ (Essenes) ซึ่งเป็นพวกดำรงชีวิตคล้าย ๆ พวกฤษีและมีสำนักอยู่ใกล้ ๆ ทะเลตายในประเทศปาเลสไตน์ โยเซฟุส (Jusephus) นักประวัติศาสตร์ชาวยิวได้เขียนถึงพวกนี้ว่า “พวกนี้เป็นพวกที่ซื่อสัตย์อย่างยอดเยี่ยมเป็นผู้ที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสร้างสันติ ทุกสิ่งที่เขาพูดนั้น แน่นอนยิ่งกว่าคำสาบานเสียอีก พวกเขาห้ามการสาบานอย่างเด็ดขาดและถือว่าเป็นสิ่งที่เลวมาก” ส่วนในปัจจุบันเราก็พบพวกแควกเกอร์ ซึ่งไม่ยอมสาบานเลยไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
ถ้าหากเราจะตอบคำถามว่าพระเยซูเจ้าทรงห้ามไม่ให้เราสาบานไม่ว่าในกรณีใด ๆ ใช่ไหม เราต้องตอบว่าไม่ใช่ เพราะว่าแม้แต่ในพระศาสนจักรเองเราก็เห็นว่าในบางกรณีเราต้องสาบานด้วยและบางคนในพวกเราก็เคยสาบานมาแล้วในเมื่อมีเหตุผลอันสมควร นักบุญเปาโลเองได้เคยสาบานด้วย (เทียบ 2 คร.1:231 และ กท.1:20) มหาปุโรหิตเองก็ได้สาบานด้วยเวลาที่ไต่สวนพระเยซูเจ้าในที่นี้ก็คือ พระองค์ทรงพระประสงค์ให้เราดำรงชีวิตอย่างครบครันจนกระทั่งว่าทุกคนที่ติดต่อกับเรามีความไว้วางใจเราได้อย่างสนิทและเมื่อเราพูด เมื่อเราสัญญาว่าเราจะทำอะไร เขาก็เชื่อตามคำพูดของเราโดยที่เขาไม่ต้องการให้เราหรือเขาจัดหาพยานมาเพื่อยืนยันความจริงหรือโดยที่เขาไม่ต้องการให้เราสาบานหรืออ้างพระนามของพระเจ้าทั้งนี้ก็เพราะว่าความประพฤติอย่างซื่อสัตย์สุจริตก็เป็นประกันอยู่แล้ว

มธ.5:38-42
38“ท่านเคยได้ยินเขากล่าวว่า ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’  39แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่าอย่าโต้ตอบคนชั่ว ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย  40ผู้ใดอยากฟ้องท่านที่ศาลเพื่อจะได้เสื้อยาวของท่าน ก็จงแถมเสื้อคลุมให้เขาด้วย 41ผู้ใดจะเกณฑ์ให้ท่านเดินไปกับเขาหนึ่งหลัก จงไปกับเขาสองหลักเถิด  42ผู้ใดขออะไรจากท่าน ก็จงให้ อย่าหันหลังให้ผู้ที่มาขอยืมสิ่งใดจากท่าน

มธ.5:38-42 คำสอนของพระเยซูเจ้าตอนนี้ แสดงให้เห็นว่ามาตรฐานการดำเนินชีวิตอย่างคริสตชนนั้นมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากคนอื่น ๆ มาก
พระเยซูเจ้าได้ตรัสถึงที่เก่าแก่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ คือ กฎตาต่อตาและฟันต่อฟัน เป็นกฎที่เราพบในหนังสือกฎหมายของพระเจ้าฮัมมูราบี (Hammurabi) กษัตริย์แห่งบาบิโลนซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ปี 2285-2242 ก.ค.ศ.
ในพันธสัญญาเดิมเราพบกฎนี้ไม่น้อยกว่า 3 ครั้งด้วยกัน กล่าวคือ ในหนังสืออพยพ 21:23-25 “ถ้าหากมีความผิดเกิดขึ้น เจ้าจะต้องชดใช้ชีวิตด้วยชีวิต ตาต่อตา ฟันต่อฟัน มือต่อมือ เท้าต่อเท้า ฯลฯ” (เทียบ ลนต.24:19-20 และ ฉธบ.19:21) ปกติกฎหมายนี้เรามักจะถือว่าเป็นกฎของคนกระหายเลือด พวกป่าเถื่อน พวกที่ไร้ความเมตตา แต่ก่อนที่เราจะวิจารณ์กฎหมายนี้เราควรจะรู้ด้วย
1) ที่จริงกฎหมายนี้ก็มีอะไรดีอยู่เหมือนกันเป็นกฎที่ทำให้มนุษย์เราเริ่มมีความเมตตาสงสารต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จุดประสงค์ของผู้ตั้งกฎก็เพื่อกำหนดขอบเขตการแก้แค้นเพราะว่าในสมัยนั้น การล้างแค้นถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนเผ่าสมัยโบราณ เช่น ถ้าหากว่าคนใดคนหนึ่งในเผ่าใดเผ่าหนึ่งถูกทำร้ายโดยคนเผ่าหนึ่งที่ถูกทำร้าย ทั้งเผ่าก็จะยกพวกไปต่อสู้หรือทำร้ายไม่ใช่คนที่ทำร้ายเขาเท่านั้น แต่ว่าคนทั้งเผ่าเลยทีเดียวและไม่ใช่ตาต่อตาและฟันต่อฟัน แต่ว่าฆ่ากันเลยทีเดียวและฆ่าล้างโคตรด้วย เพราะฉะนั้นกฎหมายข้อนี้จึงตราไว้ว่า เฉพาะคนนี้ทำผิดเท่านั้นสมควรจะถูกลงโทษและโทษนั้นก็ให้พอเหมาะกับความผิดด้วย ไม่ใช่ลงโทษเกินกว่าเหตุ ถ้าหากเราเข้าใจวัฒนธรรมสมัยนั้น เราคงรู้ดีว่ากฎตาต่อตาและฟันต่อฟันไม่ใช่เป็นกฎหมายป่าเถื่อนทารุณโหดร้ายอะไร แต่เป็นกฎแห่งความยุติธรรมและเป็นการเริ่มเมตตาจิตในภายหลัง
2) กฎหมายข้อนี้ ไม่ได้อนุญาตให้บุคคลใดนำไปใช้ตามอำเภอใจ แต่ว่าเป็นกฎหมายที่จะใช้โดยตุลาการหรือผู้พิพากษาในศาล เพื่อว่าผู้พิพากษาจะได้ใช้ลงโทษผู้กระทำผิด (อพย.18:20,22) เพราะฉะนั้นใครที่ถูกทำร้ายจนตาบอด เขาจะไปทำร้ายผู้อื่นจนตาบอดตามอำเภอใจไม่ได้ กฎหมายนี้ตราไว้สำหรับผู้พิพากษาในการดำเนินคดีต่างหาก
3) ยิ่งกว่านั้นในการแปลกฎหมายข้อนี้ นักกฎหมายชาวยิวก็ไม่ได้แปลตามตัวอักษรเลย เพราะถ้าหากแปลตามตัวอักษรก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีขึ้น แต่คณะลูกขุนมักจะแปลว่าถ้าหากใครก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ผู้ใดก็ตาม เขาผู้นั้นจะต้องทำการชดเชยความเสียหายที่เขาเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้นนั้น ตัวอย่างเช่นถ้าหากผู้ถูกทำร้ายเป็นทาส ราคาทาสเท่าไรในเมื่อทาสนั้นไม่ถูกทำร้ายและในเวลานี้ที่ทาสนั้นถูกทำร้ายหรือพิการแล้วราคาตกเหลือเท่าไร ก็ให้ผู้ที่ทำร้ายทาสจ่ายค่าชดเชยที่เสียหายนั้นให้แก่เจ้าของ ในกรณีที่ผู้ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บและทรมานมาก ผู้ที่ทำร้ายเขาจะต้องจ่ายเป็นเงินให้คุ้มกับความเจ็บปวดนั้น ส่วนในการรักษานั้นก็ต้องจ่ายค่ายารักษาให้หายเป็นปกติ ในด้านการเสียเวลาก็เช่นกัน ผู้ถูกทำร้ายเรียกเงินชดเชยได้เพราะเสียเวลาทำมาหากินและแม้กระทั่งการเสียชื่อเสียง ผู้ที่ทำร้ายเขาก็จะต้องหาทางชดเชยชื่อเสียงของผู้ถูกทำร้ายด้วย
4) สิ่งที่สำคัญก็คือว่า เราอย่าคิดว่ากฎหมายข้อนี้เป็นกฎศีลธรรมทั้งหมดในพันธสัญญาเดิม เราอย่าคิดว่าพันธสัญญาเดิมมีแต่กฎแห่งความยุติธรรมเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราพบกฎแห่งความรักมากมายหลายตอนในพันธสัญญาเดิมด้วย เช่น ลวต.19:18 ก็มีกฎห้ามการแก้แค้นและใน สภษ.25:21 “ถ้าหากศัตรูของท่านหิว จงหาอาหารให้เขากิน ถ้าหากเขากระหายจงให้น้ำเขาดื่ม”
อย่างไรก็ดี “กฎตาต่อตาฟันต่อฟัน” แม้ว่าในตัวของมันเองจะดีอยู่บ้าง เพราะช่วยให้คนในสมัยนั้นไม่ให้แก้แค้นเกินกว่าเหตุและถ้าหากเขาพิจารณากฎนี้ตามที่อธิบายมาแล้ว เราจะเห็นว่าในตัวกฎเองมีเมตตาธรรมอยู่บ้าง ถึงกระนั้นก็ดีพระเยซูเจ้าทรงพระประสงค์ที่จะต่อเติมกฎนี้ พระองค์ทรงพระประสงค์จะให้จิตตารมณ์ใหม่แก่ผู้ติดตามพระองค์ โดยยกตัวอย่างประกอบขออย่าให้เราเข้าใจตัวอย่างของพระองค์ตามตัวอักษรเป็นอันขาด มิฉะนั้นเราจะไม่เข้าใจพระวาจาของพระองค์
1) พระองค์ตรัสว่า “ถ้าหากใครตบแก้มขวาของเรา ก็ให้เราหันแก้มซ้ายให้เขา” หมายความว่า แม้เราจะถูกใส่ความ ถูกสบประมาท ถูกโจมตีหรือถูกปองร้ายอย่างไร เราก็จะต้องมีความอดทน พระเยซูเจ้าเองได้เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคนตะกละ เป็นนักดื่มสุรา เป็นเพื่อนของคนเก็บภาษีและหญิงชั่วหรือคนบาปต่าง ๆ คล้าย ๆ กับว่าพระองค์มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับกิจการชั่วช้าเหล่านั้น พวก คริสตชนสมัยแรก ๆ ก็เช่นกัน ถูกเขากล่าวหาว่าเป็นมนุษย์กินคน เป็นคนเผาเมือง เป็นคนกาลีบ้านกาลีเมือง ไร้ศีลธรรม
ถึงกระนั้นก็ดีพวกเขาได้ยอมรับการสบประมาท การเหยียดหยามได้อย่างดี เพราะว่าพวกเขาได้เรียนรู้และได้ปฏิบัติตามแบบฉบับและการสั่งสอนของพระอาจารย์ ที่ไม่เคยคิดจะแก้แค้นใคร แต่ยอมแพ้และยอมให้เขาสบประมาทพระองค์จนถึงที่สุด
2) พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดอยากฟ้องท่านที่ศาลเพื่อจะได้เสื้อยาวของท่าน ก็จงแถมเสื้อคลุมให้เขาด้วย” เสื้อ Trinic เป็นเสื้อคลุมยาวทอด้วยผ้าฝ้ายหรือผ้าลินิน ปกติคนทั่ว ๆ ไปสวมเสื้อชนิดนี้ ส่วนเสื้อคลุมนั้นนอกจากจะมีเอาไว้คลุมเวลากลางวันแล้ว เป็นต้นในระหว่างฤดูหนาว ตอนกลางคืนเขายังอาจใช้แทนผ้าห่มได้ด้วย (อพย.22:26-27) โดยปกติชาวยิวทั่ว ๆ ไปมีเสื้อ Trinic หลายตัวและเสื้อคลุมเพียงตัวเดียวและถือว่าเป็นของมีค่ามากกว่าเสื้อ Trinic มาก เพราะฉะนั้นพระเยซูเจ้าทรงพระประสงค์จะสอนเราว่า เราไม่ควรจะยึดถือในสิทธิของเรามากเกินไปหรือยึดถือแต่เพียงหลักแห่งความยุติธรรมโดยขึ้นโรงขึ้นศาล เพื่อสิทธิของเรา แต่ว่าเราควรจะต้องมีเมตตาด้วยในสังคม ถ้าหากว่ามีคนที่เอาแต่สิทธิถือแต่กฎแห่งความยุติธรรมเท่านั้นและขาดเมตตาและบางครั้งยึดถือสิทธิมากเกินไปจนกระทั่งไปกีดกันหรือทำลายสิทธิของผู้อื่น สังคมก็จะสงบสุขยากและมักจะมีเรื่องมีราวกันเรื่อย ๆ ไม่รู้จักจบ คริสตชนที่ดีจะไม่คำนึงถึงสิทธิหรืออภิสิทธิ์มากเกินไป แต่ว่าเขาจะคิดถึงแต่หน้าที่และการรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า
3) พระองค์ตรัสว่า “41ผู้ใดจะเกณฑ์ให้ท่านเดินไปกับเขาหนึ่งหลัก จงไปกับเขาสองหลักเถิด” ศัพท์กรีก Aggarcucin แปลว่า บังคับ เนื่องจากประเทศปาเลสไตน์เคยเป็นเมืองขึ้นของพวกโรมัน บางครั้งพวกโรมันก็มักจะบังคับให้ชาวเมืองทำโน่นทำนี่ตามอำเภอใจของตน เช่น ซีโมน ชาวไซรีน ถูกบังคับให้แบกกางเขนของพระเยซูเจ้า เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงพระประสงค์ที่จะตรัสสอนในที่นี้ก็คือ ถ้าหากว่าเราถูกบังคับให้แบกของเป็นระยะทาง 1 ไมล์ ขออย่าให้เรารู้สึกขมขื่นหรือขัดขวาง แต่ให้เดินไป 2 ไมล์ด้วยความยินดี พระองค์ต้องการสอนเราอย่าให้เราใช้เสรีภาพของเราตามที่เราปรารถนาเสมอหรือเพื่อความสะดวกสบายของเราอย่างเดียว แต่ว่าให้เราคิดถึงหน้าที่ที่จะต้องบริการผู้อื่นบ้างและให้เราทำหน้าที่นั้นด้วยความเต็มใจและยินดี แม้ว่าหน้าที่นั้นจะยากลำบากและเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบก็ตาม ก็ให้เราพยายามทำอย่างดี ขอให้เราพยายามคิดถึงตัวอย่างทั้ง 3 เรื่องนี้และนำไปปฏิบัติ เราจะได้ชื่อว่าเป็นสาวกของพระเยซูเจ้า

การให้ด้วยความยินดี
ในที่สุดพระเยซูเจ้าได้ตรัสสอนเราว่า “เราควรจะให้ทุกคนที่ขอและอย่าให้เราปฏิเสธผู้ที่ขอยืมเราเลย” (เทียบ ฉธบ.15:7-11)
จากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ พวกนักกฎหมายได้ตั้งกฎ 5 ข้อ เกี่ยวกับการให้ผู้อื่น กล่าวคือ
1) เราจะต้องให้เสมอ “จงระวังจงอย่าปฏิเสธเมตตา เพราะว่าถ้าหากใครไม่แสดงเมตตาต่อผู้อื่นเขาก็เปรียบเหมือนกับผู้ที่นับถือพระเท็จเทียม” สิ่งที่มักจะเกิดกับคนที่ไร้ความปรานี ก็คือ สักวันหนึ่งเขาจะต้องพึ่งความเมตตาของผู้อื่นและเป็นไปได้ที่เขาอาจจะมาพึ่งความเมตตาผู้ที่เขาเคยปฏิเสธความช่วยเหลือนั้นเอง เรื่องชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นเสมอ
2) การให้นั้นจะต้องให้อย่างเพียงพอด้วย ไม่ใช่แต่ให้พอไม่ให้อดตาย แต่ว่าเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตได้โดยไม่แร้นแค้นด้วย หรือว่าเหมาะสมตามอัตภาพ
3) การให้นั้นควรจะทำอย่างเงียบ ๆ ไม่โจ่งแจ้งหรือร้ายกว่านั้นอีก ให้หรือทำบุญเพื่อเอาหน้า เช่นโดยการโฆษณา เป็นต้น พวกธรรมาจารย์เคยพูดว่าถ้าจะให้ดีนั้นจะต้องไม่รู้ว่าผู้รับนั้นเป็นใคร และผู้รับนั้นก็ไม่รู้ว่าผู้ให้นั้นเป็นใครด้วย ที่พระวิหารมีสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นที่สำหรับรวบรวมทานที่ผู้ทำทานไปมอบเงินให้อย่างเงียบ ๆ เพื่อจะได้ช่วยเหลือพวกขุนนางที่ตกอับและช่วยเหลือพวกบุตรหญิงขุนนางให้มีโอกาสได้แต่งงานโดยจัดหาสินสอดให้
4) วิธีที่จะให้นั้นจะต้องรักษาเกียรติของผู้รับด้วย เช่น ในกรณีที่ผู้ยากจนไม่กล้าขอความช่วยเหลือ เพราะอายหรือเพราะอะไรก็ตาม เราต้องสนใจที่จะช่วยเหลือเขาด้วย การให้หรือเพราะอะไรก็ตามเราต้องสนใจที่จะช่วยเหลือเขาด้วย การให้หรือการให้ยืมนั้น เราต้องให้โดยไม่เป็นการลบหลู่เขา แต่ว่าแม้ว่าเขาจะเป็นผู้รับแต่เขาก็ยังมีเกียรติด้วย
5) ให้ถือว่าการทำบุญหรือการทำทานเป็นการกระทำต่อพระเจ้าเอง การทำทานไม่ใช่ว่าสิ่งที่ควรทำ ใครที่ไม่ยอมช่วยเหลือคนยากจนก็เท่ากับว่าเขาปฏิเสธพระเจ้าด้วย ใครที่ช่วยเหลือคนยากจน พระเจ้าจะทรงบำเหน็จรางวัลและจะชดเชยเขา
พระเยซูเจ้าทรงกำชับให้เราทำทาน ไม่ว่ากรณีใด ๆ ใช่ไหม ขอตอบว่าเราจะต้องเลือกกรณีเหมือนกันเช่น ถ้าหากเรารู้แน่แก่ใจว่าการทำทานหรือการช่วยเหลือผู้อื่นนั้นจะเปิดโอกาสให้เขาเป็นคนเกียจคร้าน ไม่ยอมทำกิน แต่หวังจะพึ่งผู้อื่นอยู่เสมอ เราก็ไม่ควรจะทำทานให้คนชนิดนี้อย่างแน่นอน แต่ว่าในหลาย ๆ กรณีคนเราไม่ยอมทำทาน เพราะเหตุผลที่เข้ากับตัวเองหลายประการ เช่นว่าเขาเองก็ยังเป็นคนนอนบ้างและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขามักจะกลัวว่าผู้ขอทานนั้นเป็นคนหลอกหลวง ทำมาหากินได้แต่เกียจคร้านบ้างขอให้เราคิดว่า ตามหลักทั่ว ๆ ไปแล้ว คนที่ขอทานเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเราจริง ๆ การขอทานเองก็เป็นสิ่งที่น่าอับอายขายหน้าอยู่แล้ว ถ้าหากว่าเขาช่วยตัวเองได้ เขาคงไม่เลือกอาชีพขอทานและขอให้เราคิดว่าถ้าหากเราผิดพลาดในเรื่องความใจดี ก็ยังดีกว่าเราผิดพลาดในด้านใจแคบ เป็นไปได้ที่ขอทานคนนั้นอาจจะหลอกเราจริง ๆ แต่เมื่อเราทำทานด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อช่วยเหลือเขาและเพื่อเห็นแก่พระเจ้าผลบุญกุศลเราก็ได้รับแล้ว เรามีความสบายใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สมมติว่าเราคิดว่าขอทานผู้นั้นหลอกหลวงเราและเราไม่ได้ให้ทาน แต่ตามความเป็นจริงเขาเป็นผู้ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ เขามีความต้องการจริง ๆ และถ้าหากเรารู้ความจริงเช่นนั้น เราก็คงจะเสียใจที่ไม่ได้ให้ทานเขาและความเสียใจมีมากกว่าเมื่อเราผิดพลาด เพราะว่าเราใจดีเกินไปที่ได้ทำทานให้คนที่เกียจคร้าน

มธ.5:43-48
43“ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวว่า จงรักเพื่อนบ้าน จงเกลียดศัตรู  44แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า จงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน  45เพื่อท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม    46ถ้าท่านรักแต่คนที่รักท่าน ท่านจะได้บำเหน็จรางวัลอะไรเล่า บรรดาคนเก็บภาษีมิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ  47ถ้าท่านทักทายแต่พี่น้องของท่านเท่านั้น ท่านทำอะไรพิเศษเล่า คนต่างศาสนามิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ  48ฉะนั้น ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่าน ทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด

มธ.5:43-48 หลายคนยอมรับว่าข้อความตอนนี้เป็นตอนที่สำคัญที่สุดของบทเทศน์บนภูเขา ทุกคนเห็นว่าบทเทศน์นี้เป็นคำสอนที่ประเสริฐที่สุดที่สอนให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างไร บทเทศน์นี้เป็นจุดศูนย์กลางของ คริสตศาสนาก็ว่าได้และสิ่งที่พระองค์ทรงสอนนี้ไม่ใช่เป็นแต่เพียงทฤษฎีแต่ว่า คริสตชนทุกคนจะต้องนำไปปฏิบัติในชีวิตจริงให้ได้ด้วย
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงกำชับเราให้รักศัตรูของเราหมายความว่าอะไร ในภาษากรีก คำว่า “รัก” มีอยู่ด้วยกัน 4 คำ คือ
1)    Stergein คำนามคือ Storge บ่งถึงความรักในครอบครัว บ่งถึงความรักที่บิดามารดามีต่อบุตรและบุตรมีต่อบิดามารดา
2)    Eran คำนามคือ Ero’s หมายถึง ความรักของชายต่อหญิง เป็นความรักทางเพศ มีตัณหาปนอยู่ ในพันธสัญญาใหม่เราไม่เคยพบคำนี้เลย
3)    Philein คำนามว่า Philia หมายถึง ความรักอยู่ดูดดื่ม ความรักอย่างแท้จริง เช่น ความรักระหว่างเพื่อนฝูงที่ใกล้ชิด การเป็นเพื่อนแท้หรือเพื่อนตาย
4)    Agapan คำนามว่า Agape’ ในที่นี้พระเยซูเจ้าใช้ศัพท์นี้ ใจความของ Agape’ ที่แท้จริงคือ ความรักอย่างยอดเยี่ยม ความรักที่เต็มไปด้วยความเสียสละ ความรักที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเลย แต่เป็นความรักหรือน้ำใจดีที่แสดงต่อผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนเลย เป็นความรักที่บริสุทธิ์ที่สุด ไม่ว่าผู้ที่เรารักนั้นจะทำอะไรและอย่างไรต่อเรา ไม่ว่าเขาจะด่าเรา สบประมาทเรา ทารุณเรา อิจฉาใส่ความและคอยปองร้ายเรา เราก็ยังรักเขาอยู่ดีเรารักเขาเพื่อความดีของเขาเอง
เพราะฉะนั้น พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงกำชับเราให้เรารักศัตรูทำนองเดียวกันให้เรารักคนที่เรารักที่สุด คนที่ใกล้ชิดและสนิทสนมกับเรามากที่สุด ทั้งนี้เรารู้จากศัพท์ที่พระองค์ทรงให้ อนึ่ง การที่เราจะรักศัตรูเหมือนกับที่เรารักผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเรายิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นความรักคนละแบบ
ความแตกต่างของความรักทั้งสองแบบนี้ก็คือว่า ในกรณีที่เรารักคนรักของเรา เช่น บิดามารดา ญาติพี่น้องใกล้ชิด เรารักได้สบาย ๆ ง่าย ๆ เรารู้จักเขา เราเห็นเขาเราก็รู้สึกรักใคร่ เรามีอารมณ์รักหรือบางทีเราเรียกว่าเราหลงรักแต่ในกรณีรักศัตรู ไม่ใช่แบบนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของหัวใจแต่เป็นเรื่องของน้ำใจมากกว่า เราจะต้องฝืนใจของเราเองในด้านความรักต่อศัตรู เราจะต้องพยายามชนะใจของเรา หรือความโน้มเอียงตามธรรมชาติของเรา Agape’ เป็นความรักเป็นอำนาจที่จะรักคนที่เราไม่ชอบและคนที่ไม่ชอบเราและเราจะไม่มีความรักแบบนี้เลย ถ้าหากพระเยซูเจ้าไม่ทรงช่วยเราหรือไม่ทรงประทานพระหรรษทานให้แก่เรา
ความรักที่เราจะต้องมีต่อผู้อื่นตามที่พระเยซูเจ้าเรียกร้องนี้ไม่ใช่เป็นความรักแบบที่ว่าปล่อยให้เขาทำอะไรก็ได้ตามใจ ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นภัยสำหรับเขา ความรักแบบคริสตังเรียกร้องให้เราสนใจเพื่อมนุษย์และหาทางแก้ไข ถ้าหากว่าเขาประพฤติไม่ดีไม่เหมาะสม คงไม่มีใครกล้าพูดว่า ถ้าหากบิดามารดารักลูกก็ต้องปล่อยให้ลูกทำตามใจไม่ขัดใจลูกเป็นแน่ ถ้าหากเรามีความปรารถนาดีอย่างแท้จริงต่อเพื่อนมนุษย์ เราจำเป็นจะต้องห้ามปรามเขาหรือขัดใจเขา ยิ่งกว่านั้นอีก ลงโทษเขาถ้าหากเขาทำผิด แต่การว่ากล่าวตักเตือนและลงโทษนั้น เราจะต้องทำโดยที่เรามีความหวังดีและความรักต่อเขาจริงๆ เพื่อว่าเขาได้กลับกลายเป็นคนดี ไม่ใช่ว่ากล่าวหรือลงโทษเขา เพราะเรารู้สึกไม่พอใจหรือเพราะความโมโหหรือเพราะแก้แค้น การลงโทษจะต้องเป็นยารักษาให้เขาเป็นคนครบครันยิ่งขึ้น
ขอให้เราคิดด้วยว่า กฎเกณฑ์ที่พระเยซูเจ้าได้ประทานให้แก่เรานี้เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน บางคนตีใจความคำสอนตอนนี้เพื่อเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาติ ซึ่งก็อาจจะถูกเหมือนกัน แต่พระเยซูเจ้าทรงพระประสงค์ให้กฎนี้เป็นพื้นฐานแห่งสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล เช่น ภายในครอบครัว ภายในโรงเรียน โรงงานและระหว่างเพื่อนบ้านด้วยกันที่เรามีโอกาสติดต่อกันและพบปะกันอยู่เสมอ ๆ เป็นประจำ เป็นของง่ายมากถ้าเราจะวิจารณ์ว่าชาติโน้นไม่ควรจะโจมตีชาตินี้ ฯลฯ แต่สิ่งที่ยากกว่าอีกคือ ทำอย่างไรเราจึงจะเจริญชีวิตอย่างผาสุขระหว่างพ่อแม่และลูก ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในครอบครัวและสร้างความสัมพันธ์อันดีงามกับเพื่อนบ้าน พยายามหลีกเลี่ยงการทะเลาะ ความขมขื่น การเข้าใจผิดต่อกันและกัน ฯลฯ เราควรจะคิดว่าพระองค์ทรงพระประสงค์จะสอนเราโดยตรง
เราควรจะคิดด้วยว่า พระบัญญัติประการนี้เป็นของคริสตชนโดยเฉพาะ เพราะว่าอาศัยพระหรรษทานของพระเยซูเจ้าเท่านั้น คริสตชนจึงจะสามารถบำเพ็ญกุศลความรักขั้นสูงสุดต่อเพื่อนมนุษย์ได้ เราจะมีความรู้สึกรักศัตรูได้ก็ต่อเมื่อพระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่ในจิตใจของเราเท่านั้น หลายคนพูดว่าถ้าหากมนุษย์ปฏิบัติตามบทเทศน์บนภูเขา มนุษย์เราคงจะอยู่ด้วยความสันติและโลกของเราก็จะน่าอยู่มากกว่านี้เป็นไหน ๆ แต่ตามความจริงมนุษย์เราไม่ได้นำคำสั่งสอนของพระองค์ไปปฏิบัติหรือว่านำไปปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์
ที่สุดและข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดด้วย คือ เราจะต้องพยายามทำทุกวิถีทางที่จะช่วยให้เพื่อนมนุษย์เป็นคนดีด้วย เราควรจะต้องภาวนาอุทิศให้เขา ถ้าหากเราภาวนาเพื่อใครก็แสดงว่าเราไม่เกลียดเขาผู้นั้น แม้ในจิตใจของเรา เราอาจจะมีความรู้สึกขมขื่นอยู่บ้างก็ตามและถ้าหากเราพยายามภาวนาอุทิศให้เขาอยู่เสมอ ๆ ความขมขื่น ความน้อยอกน้อยใจ ความโกรธ ความยากแค้นซึ่งบางทีเราเคยมีความรู้สึกมากจริง ๆ ก็จะค่อย ๆ คลี่คลายลงในทางที่ดี จนกระทั่งว่าคนที่เราคิดว่าเป็นศัตรูของเรานั้นได้กลับกลายเป็นเพื่อนรักของเราอีกครั้งหนึ่ง

เหตุผลที่เราต้องรักเพื่อนมนุษย์
ถ้าหากเราจะค้นหาเหตุผลว่าทำไมพระเยซูเจ้าจึงมีพระบัญชาให้เรารักเพื่อนมนุษย์ทุกคนแม้แต่ศัตรูของเราด้วย คำตอบก็คือ ความรักนั้นทำให้เรามนุษย์เหมือนกับพระเจ้า
พระเยซูเจ้าเองได้ทรงชี้ให้เราเห็นกิจการของพระเจ้าที่ได้ทรงกระทำต่อโลกของเราซึ่งป็นเมตตาโดยแท้ พระองค์ก็ได้ทรงสร้างดวงอาทิตย์และให้มันส่องแสงทั้งสำหรับคนดีและคนชั่ว พระองค์ได้ทรงประทานฝนให้แก่คนดีและคนชั่วให้แก่อิสราเอลและนานาชาติในโลก พระองค์ทรงพระเมตตาต่อมนุษย์โลกทุกคน เพลงสดุดีที่ 145:15 “ดวงตาของทุกคนเฝ้ารอคอยพระองค์และพระองค์ประทานเนื้อตามฤดูกาล พระองค์แบพระหัตถ์และบันดาลให้ความปรารถนาของทุกสิ่งที่มีชีวิตอิ่มหนำ” พระองค์ทรงพระเมตตาแม้แต่คนบาปที่ไม่ยอมถือพระบัญญัติของพระองค์และพยายามที่จะขัดต่อน้ำพระทัยของพระองค์
พระเยซูเจ้าตรัสว่า เราต้องมีความรักแบบคริสตังนี้ เพื่อว่าเราจะได้กลายเป็น “บุตรของพระบิดาเจ้าซึ่งประทับในสวรรค์” หมายความว่า เราจะเป็นคล้าย ๆ พระเจ้า ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราทำกิจการอันเดียวกันกับที่พระเจ้าได้ทรงกระทำ คือ แสดงความเมตตาต่อมนุษย์ทุกคน
พระเยซูเจ้าได้สรุปว่า “ ท่านต้องเป็นผู้ครบครันเหมือนกับพระบิดาเจ้าสวรรค์ทรงเป็นผู้ครบครัน” ศัพท์กรีกที่แปลว่าครบครัน คือ teleios ไม่ใช่เป็นศัพท์ปรัชญา แต่เป็นศัพท์ที่เขามักจะใช้กันอยู่เสมอ ๆ เช่น สัตว์ที่เหมาะสำหรับถวายบูชาแด่พระเจ้าหรือเป็นสัตว์ที่ไม่มีมลทิน เราเรียกสัตว์ที่ครบครัน teleios คนที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ เรียกว่าสมบูรณ์หรือครบครัน teleios นักศึกษาที่มีความรู้แตกฉานสมบูรณ์เป็นคนครบครัน พูดง่าย ๆ ว่ามนุษย์เราจะเป็นคนครบครันก็ต่อเมื่อเขาได้ปฏิบัติจนบรรลุถึงความสำเร็จตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่ได้ทรงสร้างเขามา ถ้าหากเราจะถามว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาเพื่ออะไร คำตอบก็คือ ในหนังสือปฐมกาลแล้วคือ “ให้เราสร้างมนุษย์ให้เป็นเหมือนกับพระองค์” คุณลักษณะของพระเจ้าก็คือ ความเมตตากรุณา ความปรารถนาดีของพระองค์ พระองค์ทรงพระประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะดีเลวอย่างไรให้ดีด้วย ฉะนั้น ถ้าหากมนุษย์เราเอาใจใส่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รักเพื่อนมนุษย์ อภัยให้แก่เพื่อนมนุษย์เหมือนกับพระบิดาบนสวรรค์ เขาก็เป็นคนครบครันเหมือนพระองค์