แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    มาระโก 12:38-44
    (38)พระเยซูเจ้าตรัสกับประชาชนขณะที่ทรงสั่งสอนว่า “จงระวังบรรดาธรรมาจารย์ที่ชอบสวมเสื้อยาวเดินไปมา พอใจให้คนทั้งหลายคำนับตามลานสาธารณะ  (39)พอใจนั่งแถวหน้าในศาลาธรรม พอใจนั่งที่หัวโต๊ะในงานเลี้ยง  (40)คนพวกนี้กินบ้านของหญิงม่าย และอธิษฐานภาวนายืดยาวเพื่อให้คนมอง คนเหล่านี้จะรับโทษหนักกว่าผู้อื่น”
 (41)ขณะที่พระองค์ประทับนั่งตรงหน้าตู้ทาน ทอดพระเนตรเห็นประชาชนใส่เงินลงในตู้ทาน  คนมั่งมีหลายคนใส่เงินจำนวนมาก  (42)หญิงม่ายยากจนคนหนึ่งเข้ามา  เอาเหรียญทองแดงสองเหรียญใส่ลงในตู้ทาน  (43)พระองค์จึงทรงเรียกบรรดาศิษย์เข้ามาตรัสว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า หญิงม่ายยากจนคนนี้ได้ทำทานมากกว่าทุกคนที่ได้ใส่เงินลงในตู้ทาน  (44)เพราะทุกคนเอาเงินที่เหลือใช้มาทำทาน แต่หญิงคนนี้ขัดสนอยู่แล้ว ยังนำเงินทั้งหมด นำทุกอย่างที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตมาทำทาน”



ตอนแรกของพระวรสารวันนี้กล่าวถึง “ข้อกล่าวหา” ที่พระเยซูเจ้าทรงมีต่อบรรดาธรรมาจารย์
ข้อกล่าวหาแรกคือ “บรรดาธรรมาจารย์ชอบสวมเสื้อยาวเดินไปมา” (ข้อ 38) เพราะพวกเขาเชื่อว่าเสื้อยิ่งยาวจนลากพื้นมากเท่าใด ยิ่งโดดเด่นและสะดุดตามากขึ้นเท่านั้น
เหตุผลของพวกเขาคือ ผู้ที่สวมเสื้อยาวลากพื้นย่อมไม่สามารถทำงานหรือเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ได้  จำเป็นต้องเดินเหินช้า ๆ แลดูสง่างาม  เพราะฉะนั้นผู้ที่จะสวมเสื้อยาวลากพื้นได้ ต้องเป็นผู้ว่างเว้นจากการงานและทรงเกียรติจริง ๆ เท่านั้น
นอกจากนั้น พระยาเวห์ตรัสสั่งโมเสสไว้ว่า “ท่านทั้งหลายและลูกหลานของท่านจะต้องทำพู่ห้อยไว้ที่มุมผ้าคลุมและใช้เชือกสีม่วงแดงเย็บติดไว้” (กดว 14:38) เพื่อเตือนใจชาวยิวให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์  แน่นอนว่าบรรดาธรรมาจารย์ต้องสวมพู่ห้อยที่ใหญ่สะดุดตาเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากเสื้อยาวลากพื้น (มธ 23:5) เพื่อเรียกร้องความสนใจและแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าพวกตนเคร่งครัดต่อบทบัญญัติมากสักเพียงใด
ข้อกล่าวหาที่สองคือพวกเขา “พอใจให้คนทั้งหลายคำนับตามลานสาธารณะ” (ข้อ 38) ดุจดัง “รับบี”
การที่พวกเขาทำตัวเป็น “รับบี” และสอนให้ประชาชนเรียก “รับบี” ซึ่งแปลว่า “ผู้ยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้า” ย่อมบ่งบอกได้ชัดเจนว่าพวกเขาหลงตัวเองมากขนาดไหน
ข้อกล่าวหาที่สามคือพวกเขา “พอใจนั่งแถวหน้าในศาลาธรรม” (ข้อ 39) ซึ่งทุกแห่งจะมีตู้เก็บม้วนพระคัมภีร์หันหน้ามาทางสัตบุรุษเหมือนตู้ศีลในบ้านเรา  หน้าตู้พระคัมภีร์เป็นม้านั่งยาวสำหรับบุคคลสำคัญเป็นพิเศษ  ผู้ที่นั่งบนม้าที่ชาวยิวถือว่าเป็น “แถวหน้า” ตัวนี้จึงเป็นจุดรวมสายตาของทุกคนที่มาร่วมพิธีในศาลาธรรม
ข้อกล่าวหาที่สี่คือพวกเขา “พอใจนั่งที่หัวโต๊ะในงานเลี้ยง” (ข้อ 39)  ที่นั่งในงานเลี้ยงของชาวยิวจะถูกกำหนดไว้ตายตัวตามลำดับความสำคัญของแขกรับเชิญ  แขกสำคัญที่สุดจะนั่งข้างขวาของเจ้าภาพ  แขกสำคัญอันดับสองนั่งข้างซ้าย แล้วสลับฟันปลาลดหลั่นลงไปเรื่อย ๆ จนรอบโต๊ะ
หากต้องการทราบว่าแขกแต่ละคนมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ให้ดูตำแหน่งที่นั่งของพวกเขา  รับรองว่าไม่พลาดแน่นอน
ข้อกล่าวหาที่ห้าซึ่งถือว่าหนักหน่วงที่สุดคือ “คนพวกนี้กินบ้านของหญิงม่าย” (ข้อ 40)
โยเซฟุส ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวยิวและเป็นฟารีสีคนหนึ่งได้บันทึกไว้ว่า พวกฟารีสีเคยสมรู้ร่วมคิดกันหลอกลวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่นโดยเฉพาะจากผู้หญิง
เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถรับค่าตอบแทนจากการสอนธรรมบัญญัติและกฎหมายต่าง ๆ ได้ ทุกคนต้องทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง  พวกเขาจึงสมรู้ร่วมคิดกัน “สร้างมูลค่าเพิ่ม” ให้ตัวเองโดยรวมหัวกันสอนว่า พวกเขาเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเพราะรอบรู้และเชี่ยวชาญเรื่องธรรมบัญญัติของพระองค์  ดังนั้นจึงไม่มีหน้าที่ใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการเลี้ยงดู “รับบี” ให้ได้รับความสะดวกสบาย เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้ตำแหน่งในสวรรค์เลื่อนสูงขึ้น
ผลที่ตามมาคือผู้หญิงจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่ยากจนขัดสนอย่างเช่นหญิงม่าย ต้องแบกรับภาระหนักเลี้ยงดูจอมเจ้าเล่ห์พวกนี้ที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทำมาหากิน
ข้อกล่าวหาสุดท้ายที่ขึ้นชื่อลือชามากคือพวกเขา “อธิษฐานภาวนายืดยาวเพื่อให้คนมอง” (ข้อ 40) จนผู้คนพากันเยาะเย้ยว่าพวกเขาอธิษฐานวอนขอไม่ใช่จากพระเจ้าแต่จากมนุษย์ด้วยกันเอง  พวกเขาพยายามอธิษฐานภาวนาในสถานที่และด้วยลีลาท่าทางชนิดที่คนตาดีทุกคน ไม่มีทางพลาดโอกาสเห็นความศรัทธาแก่กล้าของพวกเขา
จากข้อกล่าวหาที่มีต่อบรรดาธรรมาจารย์ดังได้กล่าวมานี้  เราอาจสรุปสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงปรารถนาให้เรา “ละเว้น” ได้ 3 ประการด้วยกันคือ
1.    อยากเด่น  ยังคงเป็นความจริงอันน่าเศร้าตราบจนถึงทุกวันนี้ ที่คนจำนวนมากรับใช้พระเจ้าและประชากรของพระองค์ ไม่ใช่เพราะ “เสียสละ” แต่เพราะเห็นแก่ “อภิสิทธิ์” อันเกิดจากตำแหน่งและหน้าที่การงาน
    ยิ่งมีอภิสิทธิ์มากเท่าใด ดูเหมือนยิ่งดี เด่น ดัง มากเท่านั้น !
2.    อยากให้คนเคารพ  ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงย้ำอยู่เสมอว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเราก็จงเลิกนึกถึงตนเอง” (ลก 9:23) แต่แทบทุกคนก็ยังชอบให้ผู้อื่นเคารพยกย่องอยู่ดี
    ฤาษีศักดิ์สิทธิ์มากผู้หนึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการของอารามแห่งหนึ่ง  เมื่อเดินทางไปถึงอารามแห่งนั้น ด้วยความที่มีบุคลิกสุภาพถ่อมตน บรรดาฤาษีจึงมอบหมายให้ท่านทำหน้าที่ล้างจานในครัวเหมือนคนใช้ทั่วไป  ท่านน้อมรับหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้โต้แย้งหรือบอกตำแหน่งของท่านให้ผู้ใดทราบ
         เวลาล่วงเลยไปนานจนกระทั่งพระสังฆราชมาเยี่ยมอารามแห่งนั้น ความจริงจึงได้ปรากฏว่าคนล้างจานนั้นคือท่านอธิการผู้ศักดิ์สิทธิ์
     ตรงข้ามกับอธิการผู้ศักดิ์สิทธิ์คือผู้ที่เริ่มต้นตำแหน่งหน้าที่ของตนด้วยการเรียกร้องความเคารพจากผู้อื่น  การเริ่มต้นเช่นนี้ไม่ใช่หนทางของพระเยซูเจ้า และหากไม่เปลี่ยนวิถีดำเนินชีวิตแล้วไซร้ ย่อมยากเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นั้นจะเป็น “ผู้รับใช้” ของพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ได้อย่างแท้จริง
3.    แสวงหาผลประโยชน์จากศาสนา  ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทำมาหากินหรือเป็นบันไดไต่เต้าสำหรับตนเอง

นอกจากทรงห้ามใช้ศาสนาเป็นเครื่องแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนแล้ว  พระองค์ยังทรงเชิญชวนและท้าทายทุกคนให้ “ใจกว้าง” ต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์อีกด้วย
พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มแบ่งเป็นสัดส่วนสำหรับคนแต่ละกลุ่ม  ชั้นนอกสุดเป็นลานสำหรับคนต่างศาสนา ถัดเข้ามาด้านในเป็นลานสำหรับผู้หญิงและเด็ก ตามด้วยลานสำหรับผู้ชาย และสำหรับพระสงฆ์ตามลำดับ
ที่ลานสำหรับผู้หญิงและเด็กมีตู้ทาน 13 ใบ เรียกชื่อตามรูปร่างของมันว่า “แตรเดี่ยว” (Trumpets)  แต่ละตู้มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น เพื่อซื้อข้าวโพด เหล้าองุ่น น้ำมัน ฯลฯ สำหรับใช้ในการถวายบูชาและเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันของพระวิหาร
พระเยซูเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นคนมั่งมีหลายคนใส่เงินจำนวนมากลงในตู้ทาน ที่สุดมีหญิงม่ายยากจนคนหนึ่งเข้ามา นางใส่เหรียญทองแดงสองเหรียญลงในตู้ทาน (ข้อ 42)
เหรียญทองแดงมีค่าน้อยที่สุดในสมัยนั้น เปรียบได้กับเหรียญหนึ่งสตางค์ในบ้านเรา !
กระนั้นก็ตาม พระองค์ทรงชื่นชมการบริจาคของนางมากกว่าคนอื่น เพราะคนอื่นเอาเงินที่เหลือใช้มาทำทาน  แต่นางนำเงินทั้งหมดที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตมาทำทาน (ข้อ 43-44)
บทเรียนที่พระองค์ต้องการสอนเราคือ
1.    การบริจาคที่แท้จริงต้องเป็นการเสียสละ  จำนวนเงินที่บริจาคไม่สำคัญเท่ากับว่ามัน “มีค่า” ต่อผู้บริจาคมากน้อยเพียงใด
    พูดง่าย ๆ คือ จำนวนเงินบริจาคไม่สำคัญเท่ากับการเสียสละ  ผู้ที่ใจกว้างจริงจะบริจาคจนกระทั่งตัวเองเดือดร้อน
    นี่คือปัญหาใหญ่ของเรา ที่ทุกวันนี้เราทำงานรับใช้พระเจ้าโดยแทบจะไม่มีความเสียสละเจือปนอยู่เลย...
    มิหนำซ้ำ ยังมีน้อยคนนักที่พร้อมจะเสียสละความสุขส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ  เด็กกำพร้า  และผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ
    ที่สำคัญ ต้องถือว่าเป็นความเสื่อมของพระศาสนจักรที่ไม่สามารถ “ปลูกฝังความเสียสละ” ให้แก่สัตบุรุษจนต้องคะยั้นคะยอหรือต้องใช้รางวัลหลอกล่อให้บริจาคทาน
    คงมีน้อยคนที่ฟังพระวรสารวันนี้ได้ โดยไม่รู้สึกละอายใจแต่ประการใด !!!
2.    การบริจาคที่แท้จริงต้องกล้าได้กล้าเสีย  ดังเช่นหญิงม่ายยากจนที่อาจจะเก็บเหรียญทองแดงไว้หนึ่งเหรียญ ซึ่งแม้จะไม่มีค่ามากนัก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย
    กระนั้นก็ตาม นางให้ทุกสิ่งที่มี !!!
    น่าเสียดายที่เราแทบทุกคน ยังมีชีวิตบางส่วน หรือมีกิจกรรมบางอย่าง ที่สงวนไว้กับตัวโดยมิได้มอบถวายแด่พระเยซูเจ้า
    เรายังไม่ “กล้าได้กล้าเสีย” หรือยังไม่เสียสละจนถึงที่สุดเหมือนหญิงม่าย !

ช่างน่าพิศวงและน่าชื่นชมมากสักเพียงใดที่พระเยซูเจ้าทรงวางหลักการเรื่อง “ความใจกว้าง” โดยอาศัยแบบอย่างของสตรีนางหนึ่งซึ่งบริจาคเงินเพียง 2 สตางค์
เพราะฉะนั้น เราอาจรู้สึกว่าตนเองไม่ร่ำรวยเงินทอง หรือไม่มีความสามารถมากพอที่จะถวายแด่พระคริสตเจ้าได้ นั่นไม่สำคัญ….
สิ่งที่สำคัญคือ หากเรากล้าได้กล้าเสีย “มอบทุกสิ่งที่มี” แด่พระองค์  พระองค์สามารถใช้สิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ยิ่งใหญ่เกินกว่าเราจะจินตนาการได้
เว้นแต่เราไม่กล้าแทงหมดหน้าตักเท่านั้น !!!