อาทิตย์ที่ 13 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    ลูกา 9:51-62
    (51)เวลาที่พระเยซูเจ้าจะต้องทรงจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม  (52)และทรงส่งผู้นำสารไปล่วงหน้า คนเหล่านี้ออกเดินทางและเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของชาวสะมาเรียเพื่อเตรียมรับเสด็จพระองค์  (53)แต่ประชาชนที่นั่นไม่ยอมรับเสด็จ เพราะพระองค์กำลังเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม (54)เมื่อยากอบและยอห์นศิษย์ของพระองค์เห็นดังนี้ก็ทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงพระประสงค์ให้เราเรียกไฟจากฟ้าลงมาเผาผลาญคนเหล่านี้หรือไม่ (55) พระเยซูเจ้าทรงหันไปตำหนิศิษย์ทั้งสองคน (56) แล้วทรงพระดำเนินต่อไปยังหมู่บ้านอื่นพร้อมกับบรรดาศิษย์
     (57)ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินตามทางพร้อมกับบรรดาศิษย์ ชายผู้หนึ่งทูลพระองค์ว่า “ข้าพเจ้าจะติดตามพระองค์ไปทุกแห่งที่พระองค์จะเสด็จ  (58)พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “สุนัขจิ้งจอกยังมีโพรง นกในอากาศยังมีรัง แต่บุตรแห่งมนุษย์ไม่มีที่จะวางศีรษะ” (59)พระองค์ตรัสกับอีกคนหนึ่งว่า “จงตามเรามาเถิด” แต่เขาทูลว่า “ขออนุญาตให้ข้าพเจ้าไปฝังศพบิดาของข้าพเจ้าเสียก่อน”  (60)พระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงปล่อยให้คนตายฝังคนตายของตนเถิด ส่วนท่านจงไปประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้า” (61)อีกคนหนึ่งทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะตามพระองค์ไป แต่ขออนุญาตกลับไปล่ำลาคนที่บ้านก่อน”  (62)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดที่จับคันไถแล้วเหลียวดูข้างหลัง ผู้นั้นก็ไม่เหมาะสมกับพระอาณาจักรของพระเจ้า”



    “พระเยซูเจ้าทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:51)
    จากแคว้นกาลิลีทางเหนือสู่กรุงเยรูซาเล็มทางใต้ เส้นทางสั้นที่สุดคือผ่านแคว้นสะมาเรียซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศ โดยไม่ต้องอ้อมข้ามไปเดินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน
    แต่ชาวยิวมักหลีกเลี่ยงเส้นทางนี้ เพราะความขัดแย้งระหว่างพวกเขากับชาวสะมาเรียมันฝังรากลึกมายาวนานเกินกว่าจะเยียวยา
    เริ่มจากปี 720 ก.ค.ศ. อาณาจักรทางเหนือถูกรุกราน “กษัตริย์แห่งอัสซีเรียทรงยกทัพมารุกรานแผ่นดินทั้งหมด เสด็จมาถึงกรุงสะมาเรียและทรงล้อมเมืองเป็นเวลาสามปี  ปีที่เก้าในรัชกาลกษัตริย์โฮเชยา กษัตริย์แห่งอัสซีเรียทรงยึดกรุงสะมาเรียได้ ทรงกวาดต้อนชาวอิสราเอลไปเป็นเชลยที่อัสซีเรีย ให้ตั้งหลักแหล่ง บ้างอยู่ที่เมืองฮาลาห์ บ้างอยู่ที่แม่น้ำฮาโบร์ในแคว้นโกซาน บ้างอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ของชาวมีเดีย” (2 พกษ 17:5-6)
    นอกจากกวาดต้อนชาวยิวออกไปจากสะมาเรียแล้ว “กษัตริย์แห่งอัสซีเรียทรงนำผู้คนจากบาบิโลน คูธาห์ อัฟวา ฮามัท และเสฟารวาอิมเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ในแคว้นสะมาเรียแทนที่ชาวอิสราเอล” (2 พกษ 17:24) อีกด้วย
ส่วนชาวยิวที่รอดพ้นจากการถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย ก็เริ่มแต่งงานกับคนต่างชาติต่างศาสนาที่อพยพเข้ามาใหม่ จนสูญเสียความเป็นยิวแท้ นับเป็นความผิดหนักและน่าอดสูอย่างยิ่ง  แม้ทุกวันนี้ ชาวยิวที่เคร่งครัดยังถือว่าบุตรหลานที่แต่งงานกับคนต่างศาสนาตายแล้ว และนิยมจัดงานศพให้ด้วย
ต่อมาอีกร้อยปีเศษ คือราวปี 600 ก.ค.ศ. อาณาจักรทางใต้คือยูดาห์ก็ถูกชาวบาบิโลนตีแตกเช่นกัน  ชาวยิวถูกกวาดต้อนไปกรุงบาบิโลน  แต่ชาวยิวกลุ่มนี้สามารถรักษาความเป็น “ยิว” ไว้ได้อย่างเคร่งครัด
ในสมัยของประกาศกเอสราและเนหะมีอาห์ กษัตริย์เปอร์เซียได้ปล่อยชาวยิวที่อยู่ในกรุงบาบิโลนกลับปาเลสไตน์  ภารกิจศักดิ์สิทธิ์และเร่งด่วนที่สุดคือการสร้างพระวิหารใหม่
ชาวสะมาเรียเสนอตัวให้ความช่วยเหลือ แต่ถูกชาวยิวปฏิเสธพร้อมกับคำดูหมิ่นเหยียดหยามว่าไม่ใช่ “ยิว” แท้ จึงหมดสิทธิในพระอาณาจักรของพระเจ้าและไม่มีสิทธิร่วมสร้างพระวิหารถวายแด่พระองค์
จุดเริ่มต้นของความร้าวฉานนี้เกิดขึ้นราว 450 ปีก่อนพระเยซูเจ้า
ต่อมามีชาวยิวละทิ้งศาสนาคนหนึ่งชื่อมนัสเสห์ เขาเป็น “บุตรชายคนหนึ่งของเยโฮยาดา ผู้เป็นบุตรเอลียาชีบปุโรหิตใหญ่ ได้แต่งงานกับบุตรสาวของสันบาลลัท ชาวโฮโรนาอิม” (นหม 13:28) แล้วไปอาศัยอยู่ในสะมาเรีย  เขาได้สร้างวิหารถวายแด่พระเจ้าบนภูเขาเกรีซิมแข่งกับวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม
ราวปี 129 ก.ค.ศ. ในสมัยของมัคคาบี แม่ทัพชาวยิวชื่อ ยอห์น ฮีร์กานุส ได้ยกทัพไปตีสะมาเรีย และได้ทำลายวิหารบนภูเขาเกรีซิมจนราบคาบ  จากความร้าวฉานที่ก่อตัวขึ้นในปี 450 ก.ค.ศ. ได้พัฒนาจนกลายเป็น ความเกลียดชังฝังกระดูก ในที่สุด
ชาวยิวเรียกชาวสะมาเรียแบบดูหมิ่นเหยียดหยามว่า “ชาวคูเธียน” ซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ในสะมาเรียโดยกษัตริย์อัสซีเรีย  พร้อมกับกำชับชาวยิวห้ามกินขนมปังของชาวคูเธียน  ผู้ใดละเมิดถือว่ามีความผิดเทียบเท่าการกินเนื้อหมู
ชาวสะมาเรียเองก็ชอบกลั่นแกล้งและหน่วงเหนี่ยวชาวยิวที่เดินทางไปจาริกแสวงบุญยังกรุงเยรูซาเล็มอยู่เสมอ  พร้อมกันนั้นก็ชักชวนผู้จาริกแสวงบุญให้หันมานมัสการพระเจ้าที่ภูเขาเกรีซิมแทนอีกด้วย
    เมื่อต่างฝ่ายต่างเกลียดชังซึ่งกันและกันอย่างนี้ จึงเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงตัดสินพระทัยเลือกเส้นทางสู่กรุงเยรูซาเล็มโดยผ่านทางสะมาเรีย
    ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ยังทรงส่งผู้นำสารไปล่วงหน้า เพื่อแจ้งให้ชาวสะมาเรียเตรียมรับเสด็จพระองค์ (ลก 9:52)
    ทำไมพระองค์จึงคาดหวังการต้อนรับขับสู้จากศัตรูเยี่ยงนี้ ???
    คำตอบคือเปล่าเลย... พระองค์ไม่ได้หวังการต้อนรับ
แต่พระองค์กำลัง “หยิบยื่นไมตรีจิต” ให้แก่บรรดาศัตรูของพระองค์ต่างหาก !!
เมื่อชาวสะมาเรียปฏิเสธพระเยซูเจ้า พวกเขาไม่เพียงไม่ต้อนรับพระองค์เท่านั้น แต่ยังปฏิเสธมิตรภาพที่พระองค์ทรงหยิบยื่นให้อีกด้วย !!
    ด้วยเหตุนี้ ยากอบและยอห์นสองพี่น้องจึงคิดว่าเหมาะสมและชอบยิ่งนักที่จะขอไฟจากฟากฟ้ามาเผาผลาญชาวเมืองให้สูญสิ้น และลบสะมาเรียออกไปจากแผนที่โลก (เทียบ ลก 9:54)
    แต่ “พระเยซูเจ้าทรงหันไปตำหนิศิษย์ทั้งสองคน” (ลก 9:56)
    ทำไม ?....
    พระองค์ทรงตำหนิก็เพราะทั้งสองพี่น้องมี “จิตใจคับแคบ”  พวกเขาเชื่อ รัก และติดตามพระองค์  แต่ชาวสะมาเรียไม่ได้คิดและเชื่อเหมือนพวกเขา !     
    เราต้องทำลายทุกคนที่คิด เชื่อ หรือทำไม่เหมือนเรา ให้สิ้นซากไปกระนั้นหรือ ?
    เราคิดว่าคนที่คิดต่างจากเรา พูดไม่เหมือนเรา ทำไม่ตรงใจเรา สังกัดคนละกลุ่มกับเรา ต้องเป็นฝ่ายผิดและเป็นคนบาปเสมอไปกระนั้นหรือ ?
    ประชาชนที่ขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นแตกต่างจากเรา ล้วนเป็นพวกกวนบ้านกินเมืองที่น่าขยะแขยงกระนั้นหรือ ?
    อย่าลืมว่า พระเยซูเจ้าทรงมีพระทัยกว้างกับเรามากสักเพียงใด ?!
พระองค์ทรงเพียรหาวิธีการที่แตกต่างกันสำหรับช่วยเหลือเราแต่ละคน  ทรงมอบหมายบทบาทหน้าที่แก่เราแต่ละคนแตกต่างกันไปเพื่อประโยชน์สุขของโลกและเพื่อนมนุษย์ทุกคน  ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า “แม้ร่างกายเป็นร่างกายเดียว แต่ก็มีอวัยวะหลายส่วน.....” (1 คร 12:12-30)
การยึดมั่นว่าความคิด ความเชื่อ และวิธีการของตนเท่านั้นถูกต้อง ได้ก่อให้เกิดสงคราม และความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมายเหลือแสนในอดีต และกำลังเกิดขึ้นอีกมากมายหลายแห่งในปัจจุบัน
ได้แต่หวังว่าคำสอนเรื่อง “ความใจกว้าง” ของพระเยซูเจ้า จะช่วยให้เรายอมรับซึ่งกันและกันและเจริญชีวิตร่วมกันอย่างสันติ !
    สิ่งเดียวที่ต้องระลึกอยู่เสมอคือ “ความใจกว้าง” เป็นคนละเรื่องกับ “ใส่เกียร์ว่าง” ซึ่งมักชักนำให้เราคิดว่า “ธุระไม่ใช่” หรือ “ไม่อยากแกว่งเท้าไปหาเสี้ยน”
    เพราะ “ความใจกว้าง” ที่แท้จริงต้องมีพื้นฐานอยู่บน “ความรัก” ไม่ใช่ความเฉื่อยชา
    เมื่อใดก็ตามที่ผู้หนึ่งผู้ใด โดยเฉพาะผู้ที่คิดเห็นแตกต่างจากเรา เกิดความผิดพลาด  แทนที่จะสมน้ำหน้าหรือมองเขาเป็นศัตรู  เราต้องถือเขาเป็นเพื่อนผู้หลงผิดและต้องเยียวยาเขาด้วยความรักตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า
    ครั้งหนึ่งประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์นของสหรัฐอเมริกา ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าหน่อมแน้มต่อข้าศึกทางใต้มากเกินไป  แทนที่จะประหารชีวิตข้าศึกผู้ปราชัย กลับใส่เกียร์ว่างและยังให้เกียรติข้าศึกจนออกนอกหน้า
ท่านประธานาธิบดีกล่าวตอบว่า “เมื่อทำให้พวกเขาเป็นเพื่อน  ข้าพเจ้าไม่ได้ประหาร(ความเป็น)ศัตรูให้หมดสิ้นไปดอกหรือ ?” !!

    นอกจากสอนให้ “ใจกว้าง” แล้ว พระเยซูเจ้ายังสอนให้ “จริงใจ” อีกด้วย
    พระองค์ทรง “จริงใจ” กับทุกคนที่คิดจะติดตามพระองค์ โดยทรงเตือนให้ทุกคน :-
    1.    คิดให้ดี  พระองค์ตรัสว่า “สุนัขจิ้งจอกยังมีโพรง นกในอากาศยังมีรัง แต่บุตรแห่งมนุษย์ไม่มีที่จะวางศีรษะ” (ลก 9:58)
        พระองค์ไม่ประสงค์หลอกลวงผู้ใดให้ติดตามพระองค์ด้วยการสัญญาว่าจะประทานความสะดวกสบายหรือสิทธิพิเศษให้แต่อย่างใด
        ตรงกันข้าม แม้แต่ที่จะวางศีรษะก็ยังไม่มีให้ !
          พระองค์ทรงเรียกร้องมาตรฐานการดำเนินชีวิตขั้นสูงสุดชนิดหาจากที่อื่นใดในโลกนี้ไม่ได้อีกแล้ว
         ดังนั้น ผู้ที่สอนหรือปล่อยให้คริสตชนดำเนินชีวิตหย่อนยาน เข้ากับมาตรฐานของโลกเป็นปี่เป็นขลุ่ย จึงต้องถือว่าได้ทำร้ายพระเยซูเจ้าอย่างเจ็บปวดที่สุด
        ยิ่งพวกที่คิดว่าเป็นคริสตชนแล้วต้องได้สิทธิพิเศษเหนือผู้อื่น ได้เช่าที่วัด ได้ส่วนลด  ลูกหลานได้เรียนฟรี....ฯลฯ
        วันนี้ยิ่งต้อง “คิดให้ดี” หากยังคิดจะติดตามพระองค์ต่อไป !
    2.    ทำทันที
         ข้าราชการชาวอังกฤษผู้หนึ่งเล่าว่า เด็กชาวอาหรับผู้มีสติปัญญายอดเยี่ยมคนหนึ่งได้รับทุนการศึกษาให้เลือกเรียนต่อที่ออกซ์ฟอร์ดหรือแคมบริดจ์  คำตอบของเขาคือ “ผมจะรับทุนต่อเมื่อฝังศพบิดาเรียบร้อยแล้ว” ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นบิดาของเขาพึ่งจะมีอายุ 40 ปีต้นๆ
        นี่คือความคิดของชาวตะวันออก !
         เพราะฉะนั้น เมื่อชายคนที่สองทูลพระเยซูเจ้าว่า “ขออนุญาตให้ข้าพเจ้าไปฝังศพบิดาของข้าพเจ้าเสียก่อน” (ลก 9:59) จึงไม่ได้หมายความว่าบิดาของเขาตายแล้ว
        สิ่งที่อยู่ในความคิดของเขาคือ “ข้าพเจ้าจะติดตามพระองค์หลังจากบิดาของข้าพเจ้าสิ้นบุญแล้ว”
        พระองค์จึงตรัสถ้อยคำที่ฟังแล้วเหมือนแล้งน้ำใจอย่างยิ่ง นั่นคือ “จงปล่อยให้คนตายฝังคนตายเถิด  ส่วนท่านจงไปประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้า” (ลก 9:60)
        ประเด็นของพระองค์คือต้อง “ทำทันที” !
     ถ้าคิดจะติดตามพระองค์ ก็ไม่ต้องรีรอ
        พระองค์ทรงทราบดีว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีช่วงเวลาวิกฤติของมัน  หากเราผิดพลาดในช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งนี้ โอกาสที่สิ่งนั้นจะไม่สำเร็จหรือไม่เกิดขึ้นเลยย่อมมีอยู่สูง
        นักจิตวิทยาก็ยืนยันเหมือนกันว่า หากเราเกิดความรู้สึกที่ดี แล้วไม่รีบลงมือทำ โอกาสที่จะเกิดความรู้สึกดี ๆ เช่นนั้นอาจไม่หวนกลับมาอีกเลย ดุจดังสายน้ำที่ไม่ไหลกลับ
        ฉะนั้น หากวันนี้เราคิดจะกลับมาหาพระองค์ ต้องรีบลงมือทันที  อย่ารีรอจนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน !
    3.    อย่าท้อถอย  พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดที่จับคันไถแล้วเหลียวดูข้างหลัง  ผู้นั้นก็ไม่เหมาะสมกับพระอาณาจักรของพระเจ้า” (ลก 9:62)
        นี่คือความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ !
        มีผู้ใดหรือที่สามารถไถดินให้เป็นร่องตรงได้ โดยที่สายตาจับจ้องอยู่เบื้องหลัง?         ฟังดูเหมือนเกินจริงที่จะมีผู้ใดหันหลังไถนา  แต่จริง ๆ แล้วเราทำแบบนี้บ่อยจนเป็นความเคยชิน นั่นคือ เราชอบดำเนินชีวิตหันไป “จมอยู่กับอดีต”
        จริงอยู่ ในอดีต เราอาจเคยมีตำแหน่งใหญ่โต  มีบทบาทสำคัญในวัด หรือในหมู่บ้านของเรามาก่อน
        แต่วันนี้ ไม่ใช่วันวาน !
        เราจะมัวคิดถึงอดีต เรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติต่อเราเหมือนในอดีต  หรือจะมัวจมอยู่กับความผิดพลาดที่ผ่านมาทำไม ?
        วันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกเรา “ให้ดำเนินชีวิตมุ่งไปข้างหน้าเสมอ”
        และข้างหน้าของเราคือ “พระอาณาจักรของพระเจ้า”
        อย่ามัวอาลัยอาวรณ์อดีต…..
อย่ามัวจมอยู่กับอดีต แม้มันจะหวานชื่นหรือขื่นขมสักเพียงใดก็ตาม !!!