แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    ลูกา 11:1-13
(1)วันหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อทรงอธิษฐานจบแล้ว ศิษย์คนหนึ่งทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนาเหมือนกับที่ยอห์นสอนศิษย์ของเขาเถิด” (2) พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “เมื่อท่านทั้งหลายอธิษฐานภาวนา จงพูดว่า
        “ข้าแต่พระบิดา พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ
        พระอาณาจักรจงมาถึง
        (3)โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายทุกวัน
        โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
        (4)เหมือนข้าพเจ้าทั้งหลายให้อภัยแก่ผู้อื่น
        โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายไม่ให้แพ้การประจญ”
    (5)พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์อีกว่า “สมมติว่าท่านคนหนึ่งมีเพื่อนและไปพบเพื่อนนั้นตอนเที่ยงคืนกล่าวว่า “เพื่อนเอ๋ย ให้ฉันขอยืมขนมปังสักสามก้อนเถิด (6) เพราะเพื่อนของฉันเพิ่งเดินทางมาถึงบ้านของฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้เขากิน” (7) สมมติว่าเพื่อนคนนั้นตอบจากในบ้านว่า “อย่ารบกวนฉันเลย ประตูปิดแล้ว ลูก ๆ กับฉันก็เข้านอนแล้ว ฉันลุกขึ้นให้สิ่งใดท่านไม่ได้หรอก” (8) เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าคนนั้นไม่ลุกขึ้นให้ขนมปังเพราะเป็นเพื่อนกัน เขาก็จะลุกขึ้นมาให้สิ่งที่เพื่อนต้องการเพราะถูกรบเร้า
    (9)เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ จงแสวงหาเถิด แล้วท่านจะพบ จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน  (10)เพราะคนที่ขอย่อมได้รับ  คนที่แสวงหาย่อมพบ คนที่เคาะประตูย่อมมีผู้เปิดประตูให้  (11)ท่านที่เป็นพ่อ ถ้าลูกขอปลา จะให้งูแทนปลาหรือ (12)ถ้าลูกขอไข่ จะให้แมงป่องหรือ  (13)แม้แต่ท่านทั้งหลายที่เป็นคนชั่วยังรู้จักให้ของดี ๆ แก่ลูก แล้วพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะไม่ประทานพระจิตเจ้าแก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์มากกว่านั้นหรือ”


    ถือเป็นธรรมเนียมของบรรดารับบีที่จะสอนบทภาวนาเพื่อพวกศิษย์จะได้ใช้สวดเป็นประจำ  ยอห์นผู้ทำพิธีล้างได้สอนศิษย์ของท่านสวดภาวนาแล้ว  ศิษย์ของพระเยซูเจ้าจึงเข้ามาทูลขอพระองค์ให้สอนบทสวดแก่พวกเขาด้วยเช่นเดียวกัน
    พระองค์จึงสอนบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ที่เรายังสวดกันจนถึงทุกวันนี้
    แม้บท “ข้าแต่พระบิดา” ตามสำนวนของลูกาจะสั้นกว่าของมัทธิว (มธ 6:9-15) แต่ก็เพียงพอที่จะสอนเราว่าต้อง “สวดภาวนาอย่างไร” และต้อง “วอนขออะไร” บ้าง
    ประการแรกสุด เราต้องสวดภาวนาโดยเรียกพระเจ้าเป็น “บิดา” ของเรา
    การได้เรียกพระเจ้าเป็น “บิดา” ถือเป็นพระพรและอภิสิทธิ์อันยิ่งใหญ่เฉพาะเราคริสตชนเท่านั้น  ดังคำกล่าวของนักบุญเปาโลที่ว่า “ท่านทั้งหลายไม่ได้รับจิตการเป็นทาสซึ่งมีแต่ความหวาดกลัวอีก  แต่ได้รับจิตการเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งทำให้เราร้องออกมาว่า ‘อับบา พ่อจ๋า’” (รม 8:15)
    เมื่อเรียกพระองค์เป็น “พ่อจ๋า” ย่อมแสดงว่าเรากำลังภาวนาวอนขอต่อ “บิดา” ผู้ทรงปีติยินดีและเต็มพระทัยอย่างยิ่งที่จะประทานทุกสิ่งที่ลูกต้องการ ไม่ใช่ต้องรอให้ลูกคะยั้นคะยอหรือเคี่ยวเข็ญแต่อย่างใด
    ประการที่สอง เราต้องสวดภาวนาด้วยความ “วางใจ”
     หนึ่งในคำวอนขอที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเราคือ “พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ”
ในภาษาฮีบรู คำว่า “นาม” ไม่ได้หมายเพียง “ชื่อ” ที่ใช้เรียกผู้หนึ่งผู้ใดเท่านั้น แต่หมายรวมถึงอุปนิสัยใจคอ หน้าตา ท่าทาง ตลอดจนบุคลิกลักษณะทั้งหมดที่ทำให้ผู้นั้นเป็นบุคคลนั้น
    ดังตัวอย่างจากเพลงสดุดีที่กล่าวว่า “บรรดาผู้ที่รู้จักพระนามของพระองค์  ก็วางใจในพระองค์” (สดด 9:10) ย่อมมิได้หมายความว่าคนที่รู้ว่าพระเจ้าชื่อ “ยาห์เวห์” แล้วจะวางใจในพระองค์  แต่หมายความว่า คนที่รู้จักหัวจิตหัวใจของพระเจ้าว่าทรงเป็นเช่นใดแล้วเท่านั้น จึงยินดีมอบความวางใจทั้งหมดไว้ในพระองค์
    พูดโดยย่อก็คือ เมื่อเราภาวนาว่า “พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ” ย่อมแสดงว่าเรารู้แล้วว่าพระเจ้าทรงมีความคิดและจิตใจอย่างไร
กอปรกับพระองค์ทรงเป็น “บิดา” ของเรา  เราจึงต้องทูลขอพระองค์ด้วยความ “วางใจ” อย่างยิ่ง !
    ประการที่สาม เราต้องจัดลำดับการวอนขอให้ถูกต้อง
     พระเยซูเจ้ามิได้ทรงสอนให้เราเริ่มภาวนาด้วยการเสนอ “ความต้องการ” ของเราแต่ละคน  แต่ทรงสอนให้เราเริ่มต้นด้วยการสักการะ ยกย่อง ให้เกียรติ และเคารพยำเกรงพระเจ้าผู้ทรงครองราชย์ในพระอาณาจักรสวรรค์
    ต่อเมื่อเรายอมรับพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ให้อยู่เหนือ “ความต้องการ” ส่วนตัวของเราแล้วเท่านั้น คำวอนขออื่น ๆ จึงเกิดขึ้นและเป็นไปได้
    ประเด็นสุดท้ายคือ เราต้องวอนขออะไร ?
    คำตอบคือ “ทุกสิ่ง”
    1.    ทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับ “ปัจจุบัน” ไม่ว่าจะเป็นอาหารประจำวัน ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ฯลฯ
        ขอย้ำเตือนเมื่อสวด “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้” ว่า ให้เราวอนขอเฉพาะสิ่งที่จำเป็นสำหรับ “วันนี้” เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้รอดพ้นจากความวิตกกังวลถึง “วันพรุ่งนี้” ซึ่งไม่มีผู้ใดล่วงรู้เลยว่าจะมีหรือไม่  และหากมี “วันพรุ่งนี้” จริง อะไรจะเกิดขึ้นบ้างเราก็ไม่รู้
         ขอให้ระลึกถึงอุทาหรณ์เรื่องนกคุ่มและมานนาที่พระเจ้าทรงใช้เลี้ยงชาวอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร “คนที่เก็บมากก็ไม่ได้มีมากกว่าผู้อื่น และคนที่เก็บมาน้อยก็ไม่ได้มีน้อยกว่าผู้อื่น” (อพย 16:18)  และเมื่อบางคนพยายามเก็บอาหารส่วนหนึ่งไว้จนถึงวันรุ่งขึ้น “อาหารนั้นก็เกิดมีหนอนและเน่าเสีย” (อพย 16:20)
2.    การอภัยสำหรับความผิดพลาดใน “อดีต”  ซึ่งจำเป็นสำหรับเราทุกคนโดยไม่เว้นผู้ใดเลย เพราะแม้แต่ผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในท่ามกลางพวกเรา ก็ยังเป็นคนบาปเมื่ออยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้า
    3.    การปกป้องคุ้มครองสำหรับ “อนาคต”  โดยไม่จำกัดเฉพาะเรื่องการประจญหรือเมื่อถูกประจญล่อลวงให้ทำบาปเท่านั้น แต่รวมถึงทุกสิ่ง ทุกกิจกรรม และทุกเวลาตลอดชีวิตของเรา
        แน่นอนว่าพระเจ้าจะไม่ทรงช่วยเราให้รอดพ้นจากปัญหา อุปสรรค และความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ ในชีวิต  แต่เรามั่นใจได้ว่าพระองค์จะทรงประทับอยู่เคียงข้างเราและจะทรงคุ้มครองเราให้สามารถเผชิญหน้าและเอาชนะปัญหาทุกข์ยากเหล่านั้นได้ด้วยดี

--------------------------
   
    เพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนจากแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน ชาวยิวจึงนิยมเดินทางเวลาเย็น  เพราะฉะนั้นนักเดินทางที่พระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึงคงมาถึงบ้านของเพื่อนดึกมาก
    การต้อนรับแขกถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์  นอกจากให้ที่พักอาศัยแล้วยังต้องเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างเต็มที่ จะกระทำตามมีตามเกิดหรือแบบขอไปทีไม่ได้
    ปกติชาวยิวแต่ละครอบครัวจะทำขนมปังไว้กินเองแบบวันต่อวัน เพื่อขนมปังจะได้ใหม่และสดน่ากินอยู่เสมอ
    การมาเยือนของเพื่อนผู้เดินทางยามวิกาลโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า คงทำให้เจ้าของบ้านกระอักกระอ่วนใจมากทีเดียว เพราะขนมปังหมดแล้ว ในตู้กับข้าวก็ไม่มีอะไรเหลือ แล้วเขาจะทำหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ให้ครบถ้วนได้อย่างไรกัน ?
    ทางออกคือ “บากหน้า” ไปขอยืมขนมปังจากเพื่อนอีกต่อหนึ่ง เผื่อว่าเขาอาจมีเหลือติดตู้กับข้าวอยู่บ้าง !
    ที่ต้องบากหน้าก็เพราะเป็นธรรมเนียมของชาวยิวที่จะเปิดประตูบ้านตลอดวัน แต่เมื่อตกเย็นและประตูบ้านปิดแล้ว ความเป็นส่วนตัวต้องได้รับการเคารพสูงสุด…
     หากไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายจริง ๆ แล้ว ห้ามรบกวนกันเด็ดขาด !
    เหตุผลคือ บ้านของชาวชนบทผู้ยากจนมักมีเพียงห้องเดียวและหน้าต่างเล็ก ๆ อีกบานเดียว  พื้นบ้านเป็นดินอัด ปูด้วยต้นอ้อหรือต้นกก  ภายในบ้านแบ่งออกเป็นสองส่วนต่างระดับกัน  ส่วนแรกอยู่ระดับเดียวกับพื้นดิน มีเนื้อที่ประมาณเศษสองส่วนสามของบ้าน  ส่วนที่สองคือเนื้อที่ที่เหลือทั้งหมดซึ่งถูกยกพื้นให้สูงขึ้นเล็กน้อย ใช้สำหรับปูเสื่อนอนแบบเบียดกันเพื่อความอบอุ่นของสมาชิกบ้าน โดยมีเตาถ่านติดไฟไว้ตลอดคืนเพื่อเพิ่มความอบอุ่นอีกทางหนึ่ง
 เพราะต้องนอนเบียดกัน หากผู้ใดตื่นและลุกขึ้นก็แปลว่าทุกคนในบ้านต้องตื่นตามไปด้วย  จึงไม่แปลกเลยที่เพื่อนบ้านจะตอบว่า “อย่ารบกวนฉันเลย ประตูปิดแล้ว ลูก ๆ กับฉันก็เข้านอนแล้ว ฉันลุกขึ้นให้สิ่งใดท่านไม่ได้หรอก” (ลก 11:7)
    แต่เมื่อถูกตื๊อแบบไม่รู้จักอายและถูกรบเร้าแบบไม่มีคำว่า “เกรงใจ” จนคนทั้งบ้านตื่นหมดแล้ว  เพื่อนบ้านคนนั้นก็จำใจต้องลุกขึ้นมาหยิบขนมปังให้ !
    ปกติพระเยซูเจ้าจะเล่านิทานเปรียบเทียบเพื่อสอนให้เราเจริญรอยตาม  แต่ในกรณีนี้พระองค์ทรงยกเรื่อง “เพื่อนบ้านจอมตื๊อ” ขึ้นมาเพื่อสอนเรามิให้เอาเยี่ยงอย่างเขา !
นั่นคือ อย่า “เคี่ยวเข็ญพระเจ้า”  เพราะพระองค์ไม่ใช่พระเจ้าที่ “ใส่เกียร์ว่าง” โดยไม่สนใจช่วยเหลือเรามนุษย์
แต่ให้เราคิดอีกมุมหนึ่งว่า เพื่อนบ้านที่หน้างอและไม่เต็มใจลุกจากที่นอน ยังยอมให้เพื่อนยืมขนมปังได้  ไฉนเลย พระเจ้าผู้ทรงเป็น “บิดา” ที่เปี่ยมล้นด้วยความรัก จะไม่ประทานทุกสิ่งที่ลูกต้องการด้วยความเต็มพระทัยอย่างยิ่งดอกหรือ ?!?
    กระนั้นก็ตาม เราจะเอา “น้ำพระทัยดี” จากฝ่ายพระเจ้า มาเป็นข้ออ้างสำหรับฝ่ายเราที่จะละเว้นการสวดภาวนาอย่าง “เข้มข้น” ไม่ได้  เพราะความเข้มข้นนี้บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นและความปรารถนาอันแท้จริงของเรา
“จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ” (ลก 11:9)
ไม่มีคำภาวนาใดที่พระเจ้าไม่ทรงตอบรับ !!!
    หากเราไม่ได้รับสิ่งที่วอนขอ นั่นไม่ใช่เพราะพระเจ้าทรงปฏิเสธคำวอนขอของเรา  แต่เป็นเพราะว่าคำตอบของพระองค์ไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา
เพราะพระองค์ทรงประทาน “สิ่งที่ดีกว่า” แก่เรา !!!
พระองค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยปรีชาญาณและความรัก ทรงล่วงรู้ความต้องการของเรามากกว่าตัวเราเองเสียอีก !
    ฉะนั้น “จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ”