แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต

ข่าวดี    ยอห์น 11:1-45
(1)ชายคนหนึ่งชื่อลาซารัสกำลังป่วย เขาเป็นชาวเบธานี หมู่บ้านของมารีย์ และมารธาพี่สาว  (2)มารีย์คือหญิงที่ใช้น้ำมันหอมชโลมองค์พระผู้เป็นเจ้า ใช้ผมเช็ดพระบาท ลาซารัสที่กำลังป่วยนี้ เป็นพี่ชายของมารีย์  (3)พี่น้องทั้งสองคนจึงส่งคนไปทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า คนที่พระองค์ทรงรักกำลังป่วย”  (4)เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทราบข่าวนี้ ก็ตรัสว่า “โรคนี้มิได้เกิดขึ้นเพื่อความตาย แต่เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า เพราะโรคนี้ พระบุตรของพระเจ้าจะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์”  (5)พระเยซูเจ้าทรงรักมารธากับน้องสาว และลาซารัส  (6)หลังจากทรงทราบว่า ลาซารัสกำลังป่วย พระองค์ยังคงประทับอยู่ที่นั่นอีกสองวัน  (7)ต่อจากนั้นพระองค์ตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “เรากลับไปแคว้นยูเดียกันเถิด”  (8)บรรดาศิษย์ทูลว่า “พระอาจารย์ ชาวยิวเพิ่งพยายามเอาหินขว้างพระองค์ แล้วพระองค์ยังจะกลับไปที่นั่นอีกหรือ”  (9)พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า “วันหนึ่งมีสิบสองชั่วโมงมิใช่หรือ ถ้าใครเดินเวลากลางวันก็ไม่สะดุดเพราะเห็นแสงสว่างของโลกนี้ (10)แต่ถ้าใครเดินเวลากลางคืน ก็สะดุดเพราะเขาไม่มีแสงสว่างเพื่อนำทาง” (11)เมื่อตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเสริมว่า “ลาซารัสเพื่อนของเรากำลังหลับอยู่ แต่เรากำลังจะไปปลุกให้ตื่น”  (12)บรรดาศิษย์จึงทูลว่า “พระเจ้าข้า ถ้าเขาหลับอยู่ เขาก็จะหายจากโรค”  (13)พระเยซูเจ้าตรัสถึงความตายของลาซารัส แต่บรรดาศิษย์คิดว่า พระองค์ตรัสถึง “การนอนหลับ”  (14)ดังนั้นพระองค์จึงตรัสอย่างชัดเจนว่า “ลาซารัสตายแล้ว (15)เรายินดีสำหรับท่านทั้งหลายที่เราไม่ได้อยู่ที่นั่น เพื่อท่านจะได้เชื่อเรา ไปหาเขากันเถิด”  (16)โทมัส ที่เรียกกันว่าฝาแฝด กล่าวกับศิษย์คนอื่น ๆ ว่า “พวกเราจงไปตายพร้อมกับพระองค์เถิด”  (17)เมื่อเสด็จมาถึง พระเยซูเจ้าทรงพบว่าลาซารัสถูกฝังในคูหามาสี่วันแล้ว  (18)หมู่บ้านเบธานีอยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม ห่างกันราวสามกิโลเมตร  (19)ชาวยิวจำนวนมากมาหามารธาและมารีย์เพื่อปลอบใจนางในการตายของพี่ชาย  (20)เมื่อมารธารู้ว่า พระเยซูเจ้ากำลังเสด็จมา นางก็ออกไปรับเสด็จ ส่วนมารีย์ยังคงนั่งอยู่ที่บ้าน  (21)มารธาทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ถ้าพระองค์ทรงอยู่ที่นี่ พี่ชายของดิฉันคงไม่ตาย  (22)แต่บัดนี้ ดิฉันรู้ดีว่า สิ่งใดที่พระองค์ทรงวอนขอจากพระเจ้า พระเจ้าจะประทานให้”  (23)พระเยซูเจ้าตรัสกับนางว่า “พี่ชายของท่านจะกลับคืนชีพ”  (24)มารธาทูลว่า “ดิฉันรู้ว่า เขาจะกลับคืนชีพเมื่อมนุษย์ทุกคนจะกลับคืนชีพในวันสุดท้าย”  (25)พระเยซูเจ้าตรัสกับนางว่า เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต ใครเชื่อในเรา แม้ตายไปแล้วก็จะมีชีวิต (26)และทุกคนที่มีชีวิตและเชื่อในเราจะไม่มีวันตายเลย ท่านเชื่อเช่นนี้หรือ’ (27)มารธาทูลตอบว่า “เชื่อพระเจ้าข้า ดิฉันเชื่อว่าพระองค์เป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า ที่จะต้องเสด็จมาในโลกนี้” (28)เมื่อมารธาทูลดังนี้แล้ว นางก็ไปเรียกมารีย์น้องสาว กระซิบบอกว่า “พระอาจารย์อยู่ที่นี่ และทรงเรียกน้องด้วย”  (29)เมื่อมารีย์ได้ยินดังนั้น ก็รีบลุกขึ้นไปเฝ้าพระองค์  (30)พระเยซูเจ้ายังไม่ได้เสด็จเข้าในหมู่บ้าน แต่ยังประทับอยู่ในที่ที่มารธามาเฝ้า  (31)ชาวยิวซึ่งอยู่ที่บ้านกับมารีย์เพื่อปลอบใจนาง เมื่อเห็นนางรีบลุกขึ้นออกไป ก็ตามไปด้วย คิดว่านางคงจะไปร้องไห้ที่คูหาฝังศพ  (32)เมื่อมารีย์มาถึงที่ที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ และเห็นพระองค์ ก็กราบพระบาท ทูลว่า “พระเจ้าข้า ถ้าพระองค์ทรงอยู่ที่นี่ พี่ชายของดิฉันคงไม่ตาย”  (33)พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นนางกำลังร้องไห้ และชาวยิวที่ตามมาก็ร้องไห้ด้วย พระองค์ทรงสะเทือนพระทัยและเศร้าโศกมาก  (34)ตรัสถามว่า “ท่านฝังเขาไว้ที่ไหน” เขาทูลว่า “พระเจ้าข้า เชิญเสด็จมาทอดพระเนตรเถิด”  (35)พระเยซูเจ้าทรงกันแสง  (36)ชาวยิวจึงพูดว่า “ดูซิ พระองค์ทรงรักเขาเพียงไร”  (37)แต่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า “พระองค์ทรงรักษาคนตาบอดได้ จะทำให้คนนี้ไม่ตายไม่ได้หรือ” (38)พระเยซูเจ้าทรงสะเทือนพระทัยอีก เสด็จถึงคูหาฝังศพ ซึ่งเป็นโพรงหินมีหินแผ่นหนึ่งปิดอยู่  (39)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงยกแผ่นหินออก” มารธาน้องสาวของผู้ตายทูลว่า “พระเจ้าข้า ศพมีกลิ่นแล้ว เพราะฝังมาถึงสี่วัน”  (40)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เรามิได้บอกท่านหรือว่า ถ้าท่านมีความเชื่อ ท่านจะเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า”  (41)คนเหล่านั้นจึงยกแผ่นหินออก พระเยซูเจ้าทรงเงยพระพักตร์ขึ้น ตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงฟังคำของข้าพเจ้า (42)ข้าพเจ้าทราบดีว่า พระองค์ทรงฟังข้าพเจ้าเสมอ แต่ที่ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ก็เพื่อประชาชนที่อยู่รอบข้าพเจ้า เขาจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา” (43)ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเปล่งพระสุรเสียงดังว่า “ลาซารัสเอ๋ย จงออกมาเถิด” (44) ผู้ตายก็ออกมา มีผ้าพันมือพันเท้า และผ้าคลุมใบหน้าด้วย พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงเอาผ้าออกและให้เขาไปเถิด” (45)ชาวยิวหลายคนที่มาเยี่ยมมารีย์ และเห็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ ก็เชื่อในพระองค์


1.    บ้านเบธานี
    ที่หมู่บ้านเบธานี พระเยซูเจ้าผู้ไม่มีแม้แต่ที่ “จะวางศีรษะ” (ลก 9:58) ได้พานพบสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นเสมือน “บ้าน” ของพระองค์
        บ้านที่พระองค์จะเสด็จเยือนเมื่อใดก็ได้
        บ้านที่พระองค์สามารถพักผ่อนได้
        บ้านที่เปี่ยมด้วยความเข้าใจ
        บ้านที่เต็มไปด้วยสันติสุข
        บ้านที่อบอุ่นด้วยความรัก......
    บ้านซึ่งอย่างน้อยมี 3 คนคือมารธา ลาซารัส และมารีย์ ที่รักพระองค์และพระองค์ทรงรักพวกเขามากเช่นกัน  บ้านซึ่งพระองค์สามารถพักผ่อนจากภารกิจหนัก  บ้านซึ่ง “เข้าใจ” และพร้อม “ต้อนรับ” พระองค์เสมอ
    ทุกวันนี้พระองค์ยังแสวงหา “บ้าน” แบบเดียวกับที่เบธานีในหมู่บ้านของเราทุกคน
    บ้านซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงก่อสร้างให้ใหญ่โตสวยงาม แต่เป็นบ้านซึ่งสมาชิกมีหัวใจที่พร้อมจะ “ต้อนรับและเข้าใจ” พระองค์และแขกผู้มาเยือนทุกคน
    ลองคิดดูสิว่าจะเป็นสุขมากสักเพียงใด หากเรามีใครสักคนที่สามารถไปเยือนได้ทุกเวลา โดยไม่ต้องกังวลว่าเขาจะซ้ำเติมความผิดพลาดของเรา หรือหัวเราะเยาะความคิดของเรา หรือเข้าใจความมุ่งมั่นของเราผิด ๆ
    หัวใจที่พร้อมจะ “ต้อนรับและเข้าใจ” จึงเป็นของขวัญประเสริฐสุดเท่าที่เราจะมอบให้แก่กันและกันได้
    หัวใจดังนี้คือ “บ้าน” ที่พระองค์ทรงแสวงหา !
   
2.    หนทางสู่พระสิริรุ่งโรจน์
    เมื่อลาซารัส ซึ่งชื่อของเขามีหมายความว่า “พระเจ้าคือความช่วยเหลือของข้าพเจ้า” ป่วย  มารธาและมารีย์ส่งคนไปทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า คนที่พระองค์ทรงรักกำลังป่วย” (ยน 11:3) โดยไม่ได้เชิญชวนหรือเรียกร้องให้พระองค์เสด็จมาแต่ประการใด
นั่นเป็นเพราะทั้งสองพี่น้องมั่นใจเต็มร้อยว่าพระองค์จะเสด็จมาแน่ ด้วยประสบการณ์สอนพวกเขาว่า “พระองค์ไม่เคยเหลียวหลังให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์เลย” !
    เมื่อทรงทราบข่าว พระองค์ตรัสว่า “โรคนี้มิได้เกิดขึ้นเพื่อความตาย แต่เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า  เพราะโรคนี้ พระบุตรของพระเจ้าจะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์” (ยน 11:4)
    แปลว่า การรักษาลาซารัสจะทำให้มนุษย์ได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าชนิดชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น
    แต่อย่าพึ่งด่วนสรุปว่าพระองค์ทรงเห็นแก่ตัวที่แสวงหาพระสิริรุ่งโรจน์บนความทุกข์ของผู้อื่น  เพราะนักบุญยอห์นย้ำหลายครั้งหลายหนว่า “กางเขนคือพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์” และ “หนทางสู่พระสิริรุ่งโรจน์คือไม้กางเขน”
    ตัวอย่างเช่นเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดกระหาย จงมาหาเราเถิด  ผู้ที่เชื่อในเรา จงดื่มเถิด ตามที่พระคัมภีร์กล่าวว่า ‘ลำธารที่ให้ชีวิตจะไหลออกมาจากภายในผู้นั้น’” (ยน 7:37-38) นักบุญยอห์นได้อธิบายถึงลำธารที่ให้ชีวิตว่า “พระเยซูเจ้าตรัสดังนี้หมายถึงพระจิตเจ้า ซึ่งผู้ที่เชื่อในพระองค์จะได้รับ แต่เวลานั้นพระเจ้ามิได้ประทานพระจิตเจ้าให้ เพราะพระเยซูเจ้ายังมิได้รับพระสิริรุ่งโรจน์” (ยน 7:39)
    “พระองค์ยังมิได้รับพระสิริรุ่งโรจน์” เพราะ “พระองค์ยังมิได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน” !
    อีกตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม ประชาชนจำนวนมากถือใบปาล์มออกไปโห่ร้องต้อนรับพระองค์  นักบุญยอห์นอธิบายว่า “ครั้งแรก บรรดาศิษย์ไม่เข้าใจความหมายของเหตุการณ์นี้ แต่เมื่อพระเยซูเจ้าได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แล้ว เขาจึงระลึกได้ว่า สิ่งที่ประชาชนกระทำแด่พระองค์นั้นมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์แล้ว” (ยน 12:16)
    และเมื่อชาวกรีกไปขอพบพระองค์ที่กรุงเยรูซาเล็มก็ทรงตรัสล่วงหน้าถึงการสิ้นพระชนม์ว่า “เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มาถึงแล้ว” (ยน 12:23)
    เห็นได้ชัดว่าสำหรับพระเยซูเจ้าและยอห์น ทั้ง “พระสิริรุ่งโรจน์” และ “กางเขน” ถือเป็นเรื่องเดียวกัน
    เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์ตรัสถึงการรักษาลาซารัสว่าจะทำให้พระองค์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ จึงหมายความว่า พระองค์ทรงรู้อยู่เต็มอกแล้วว่า การรักษาครั้งนี้จะนำพระองค์ไปสู่จุดจบบนไม้กางเขน !
    แล้วก็เป็นจริงดังว่าเพราะ “ชาวยิวหลายคนที่มาเยี่ยมมารีย์และเห็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ ก็เชื่อในพระองค์  แต่บางคนไปพบชาวฟาริสีเล่าเรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำให้ฟัง  บรรดาหัวหน้าสมณะและชาวฟาริสีจึงเรียกประชุมสภา ....ตั้งแต่วันนั้น ที่ประชุมได้ตกลงกันที่จะประหารพระองค์” โดยมหาสมณะคายาฟาสให้เหตุผลว่า “ถ้าคนคนเดียวจะตายเพื่อประชาชน จะเป็นประโยชน์มากกว่าที่ชนทั้งชาติจะต้องพินาศไป” (ยน 11:45-54)
    พระเยซูเจ้าจึงมิได้เห็นแก่พระองค์เองเลย  แต่ทรงพร้อมจะพลีชีพของพระองค์เพื่อช่วยลาซารัสและเราทุกคนให้รอดพ้นจากความตาย !!

3.    ไร้การกดดัน
“หลังจากทรงทราบว่า ลาซารัสกำลังป่วย พระองค์ยังคงประทับอยู่ที่นั่นอีกสองวัน” (ยน 11:6)
ทำไมพระองค์จึงอ้อยอิ่งอีก 2 วันแทนที่จะรีบเสด็จไปรักษาลาซารัสที่เบธานี ?
    บางคนอธิบายว่าพระองค์ทรงอ้อยอิ่งเพื่อมิให้มีคนสงสัยว่าลาซารัสตายจริงหรือเพียงแค่สลบไป  และบางคนให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าพระองค์ทรงรอให้ลาซารัสตายถึงสี่วันจนศพเน่าก็เพื่ออัศจรรย์ของพระองค์จะได้ยิ่งใหญ่และฝังใจผู้คนนานขึ้น
    แต่เหตุผลจริง ๆ ของนักบุญยอห์นกลับเพื่อแสดงให้เห็นว่า พระเยซูเจ้าไม่ทรงยินยอมให้ใครกดดันพระองค์เพื่อทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเด็ดขาด  พระองค์ทรงปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น !!
    เมื่อเหล้าองุ่นหมดระหว่างงานสมรสที่เมืองกานา พระมารดาทรงขอให้ช่วยเหลือ แต่พระองค์ตรัสกลับว่า “หญิงเอ๋ย ท่านต้องการสิ่งใด เวลาของเรายังมาไม่ถึง” (ยน 2:1-12)
    หรือเมื่อบรรดาพี่น้องของพระองค์ชักชวนพระองค์ไปร่วมฉลองเทศกาลอยู่เพิงที่แคว้นยูเดีย  พระองค์ตรัสกลับเช่นกันว่า “‘เราจะไม่ขึ้นไปร่วมงานฉลองนี้ เพราะเวลาของเรายังไม่ครบกำหนด’ แล้วพระองค์ก็ประทับอยู่ในแคว้นกาลิลีต่อไป อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บรรดาพี่น้องของพระองค์ขึ้นไปร่วมงานฉลองแล้ว พระองค์ก็เสด็จขึ้นไปด้วยอย่างเงียบ ๆ” (ยน 7:1-10)
    ในเมื่อรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้ผู้ใดกดดันพระองค์เช่นนี้แล้ว  เรายังจะบีบบังคับพระองค์ให้กระทำสิ่งต่าง ๆ ตามวิถีทางของเราต่อไปอีกหรือ ?!

4.    มีเวลาพอแต่ไม่เหลือเฟือ
หลังจากสองวันผ่านไป พระองค์ตรัสว่า “เรากลับไปแคว้นยูเดียกันเถิด” (ยน 11:7)  บรรดาศิษย์ตกใจกลัวยิ่งนัก เพราะกลับไปแคว้นยูเดียก็เท่ากับฆ่าตัวตายชัด ๆ
    ก่อนหน้านี้ ระหว่างเทศกาลฉลองพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม เมื่อชาวยิวได้ยินพระองค์ตรัสว่า “เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน” พวกเขาก็หยิบก้อนหินขึ้นจะขว้างพระองค์ (ยน 10:30-31)  และเมื่อพระองค์ทรงย้ำว่า “พระบิดาสถิตอยู่ในเรา และเราอยู่ในพระบิดา” พวกเขาพยายามจะจับกุมพระองค์ แต่พระองค์ทรงเลี่ยงพ้นจากเงื้อมมือของพวกเขาไปได้ (ยน 10:38-39)
    บรรดาศิษย์จึงทักท้วงพระองค์ ทูลว่า “พระอาจารย์ ชาวยิวเพิ่งพยายามเอาหินขว้างพระองค์ แล้วพระองค์ยังจะกลับไปที่นั่นอีกหรือ” (ยน 11:8)
     พระองค์จึงทรงอธิบายว่า “วันหนึ่งมีสิบสองชั่วโมงมิใช่หรือ” (ยน 11:9) ซึ่งอาจเข้าใจได้ดังนี้
    1.    วันหนึ่งมี 12 ชั่วโมงตายตัว ไม่มีใครทำให้สั้นลงหรือยาวขึ้นได้  เมื่อยังไม่ครบ 12 ชั่วโมง ทุกคนย่อมมีเวลาสำหรับทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ต้องเกรงกลัวภยันตรายใด ๆ แม้แต่การถูกหินขว้าง ทั้งนี้เพราะกลางคืนยังมาไม่ถึง
    2.    วันหนึ่งมี 12 ชั่วโมง ซึ่งเพียงพอสำหรับแต่ละคนจะทำสิ่งที่ควรต้องทำ
    3.    วันหนึ่งมี 12 ชั่วโมงเท่านั้น จะยืดให้ยาวมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์
    ทั้งหมดนี้หมายความว่า พระเจ้าทรงประทาน “เวลา” ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวก็ตาม ให้แก่เราแต่ละคนสำหรับกระทำสิ่งที่จำเป็นอย่างพอเพียง โดยไม่เหลือไว้ให้เรานำมา “ฆ่า” เล่นเลย !
    พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงกล่าวเสริมว่า “ถ้าใครเดินเวลากลางวันก็ไม่สะดุดเพราะเห็นแสงสว่างของโลกนี้  แต่ถ้าใครเดินเวลากลางคืน ก็สะดุดเพราะเขาไม่มีแสงสว่างเพื่อนำทาง” (ยน 11:9-10)
    ชาวยิวถือว่า “กลางคืน” เริ่มเมื่อดวงอาทิตย์ตกและไม่มีแสงหลงเหลือนอกจากความมืดมิด  การเดินทางยามค่ำคืนจึงไม่อาจกระทำได้หรือทำได้แต่ไม่สะดวก  เราจึงต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างขณะที่เป็นเวลากลางวันและยังมีแสงอาทิตย์อยู่
หากทำทุกสิ่งให้เสร็จสิ้นก่อนกลางคืนมาถึง เราย่อมเป็นสุขและนอนตาหลับ  ส่วนพวกที่อดนอน เร่งรีบ และเหน็ดเหนื่อย นั่นเป็นเพราะพวกเขามัวไล่เก็บงานที่ควรจะทำให้เสร็จสิ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว
    ที่สำคัญ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นแสงสว่างส่องโลก ผู้ที่ตามเรามา จะไม่เดินในความมืด แต่จะมีแสงสว่างส่องชีวิต” (ยน 8:12) !
“กลางคืน” จึงหมายถึง “ชีวิตที่ไม่ติดตามพระเยซูเจ้า”  เป็นชีวิตที่ถูกครอบงำโดยความชั่วร้ายดังที่ยอห์นเล่าว่า เมื่อยูดาสทรยศพระองค์ “ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน” (ยน 13:30)
    เท่ากับว่างานใหญ่ที่พระเยซูเจ้าทรงประสงค์ให้ทุกคนทำให้แล้วเสร็จขณะที่เป็นเวลากลางวันก็คือ “จงคืนดีและติดตามพระองค์ขณะที่ยังมีโอกาส หาไม่แล้วเมื่อกลางคืนมาถึง ทุกอย่างจะสะดุดไปหมด” !!

5.    บุรุษผู้ไม่ยอมถอย
เมื่อเห็นพระเยซูเจ้าทรงแน่วแน่ที่จะกลับไปแคว้นยูเดียเพื่อช่วยลาซารัส  โทมัสจึงกล่าวกับศิษย์คนอื่น ๆ ว่า “พวกเราจงไปตายพร้อมกับพระองค์เถิด” (ยน 11:16)
โทมัส มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ฝาแฝด”
    ชาวยิวสมัยก่อนนิยมมี 2 ชื่อ ชื่อแรกเป็นภาษาฮีบรูซึ่งใช้ในวงจำกัด  อีกชื่อหนึ่งเป็นภาษากรีกซึ่งนิยมใช้กันกว้างขวางกว่า  ตัวอย่างเช่น เคฟาสเป็นชื่อฮีบรู เปโตรเป็นชื่อกรีก  เช่นเดียวกัน โทมัสเป็นชื่อฮีบรู ชื่อกรีกของท่านคือ Didymus ซึ่งแปลว่าฝาแฝด  ชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายจนมีเรื่องเล่าในหนังสืออธิกธรรมว่าท่านเป็นคู่แฝดของพระเยซูเจ้า
    แม้จะมีบางคนกล่าวหาโทมัสว่า ท่านชักชวนเพื่อนไปตายพร้อมกับพระเยซูเจ้า ไม่ใช่เพราะเชื่อ แต่เพราะสิ้นหวังก็ตามที  แต่เหนืออื่นใดท่านได้ตัดสินใจแล้วว่า “อะไรจะเกิดก็เกิดไปเถิด ฉันไม่ยอมละทิ้งพระเยซูเจ้าเด็ดขาด”
    อย่างนี้สิจึงจะเรียกว่า “ผู้กล้า” จริง !
    เพราะผู้กล้าที่แท้จริง ไม่ใช่พวก “ซิ่ง” บ้าบิ่นไม่กลัวตาย  แต่เป็นคนที่รู้ว่าอันตรายรออยู่เบื้องหน้าและกลัวจนขนหัวลุก กระนั้นก็ตามเขายังตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง
เหมือนที่โทมัสพูดกับเพื่อนในวันนั้น
    เราจึงไม่ต้องอับอายหากรู้สึกกลัว แต่ควรอับอายอย่างยิ่ง หากความกลัวนั้นทำให้เราไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำ !!!

6.    ปลอบใจ
หมู่บ้านเบธานีอยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม ห่างกันราวสามกิโลเมตร “เมื่อเสด็จมาถึง พระเยซูเจ้าทรงพบว่าลาซารัสถูกฝังในคูหามาสี่วันแล้ว  ชาวยิวจำนวนมากมาหามารธาและมารีย์เพื่อปลอบใจนางในการตายของพี่ชาย” (ยน 11:17, 19)
    เพื่อเป็นการเคารพต่อผู้ล่วงลับ ชาวยิวถือเป็นธรรมเนียมที่จะไม่กินเนื้อหรือดื่มเหล้าองุ่น ไม่ห้อยกลักพระคัมภีร์ ไม่ศึกษาเล่าเรียน ไม่ปรุงหรือกินอาหารขณะที่ศพยังอยู่ในบ้าน
    เพราะอากาศร้อนจึงต้องรีบฝังศพโดยเร็ว  ชาวบ้านเกือบทั้งหมดจะเข้าร่วมขบวนแห่ศพเพื่อเป็นเกียรติและแสดงเคารพต่อผู้ล่วงลับ  มีหญิงคนหนึ่งเดินนำหน้าขบวนเป็นเครื่องหมายว่าบาปและความตายเข้ามาสู่โลกเพราะหญิงคนหนึ่ง (เอวา)  ที่คูหาฝังศพอาจมีการกล่าวไว้อาลัยได้แต่ต้องไม่ยืดเยื้อจนเป็นการทรมานผู้กำลังโศกเศร้าโดยไม่จำเป็น
หลังพิธี ผู้ร่วมงานจะยืนเป็นแถวสองข้างให้กำลังใจขณะที่บรรดาญาติสนิทของผู้ล่วงลับเดินผ่าน  มีการเลี้ยงอาหารซึ่งจัดเตรียมโดยเพื่อนบ้าน ประกอบด้วยขนมปัง ไข่ต้มและถั่ว  โดยไข่ต้มและถั่วกลม ๆ เป็นสัญลักษณ์ถึงชีวิตที่กำลังกลิ้งไปสู่ความตาย
    การไว้ทุกข์ดำเนินต่อไปอีกเจ็ดวันโดยสามวันแรกต้องมีการร้องไห้  ระหว่างเจ็ดวันนี้ ห้ามแต่งตัว สวมรองเท้า ชำระล้าง ศึกษาเล่าเรียน หรือทำธุรกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น  ครบเจ็ดวันแล้ว อาจไว้อาลัยต่อได้อีก 30 วันโดยไม่เคร่งครัดเหมือนเจ็ดวันแรก
    ทั้งหมดนี้ ชาวยิวถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือหน้าที่อื่น ๆ  พวกเขาถือว่าการให้ความเคารพต่อผู้ล่วงลับ และการปลอบโยนญาติผู้โศกเศร้าเป็นส่วนสำคัญยิ่งของศาสนายิว  และเมื่อออกจากคูหาฝังศพ พวกเขาจะกล่าวว่า “ขอให้จากไปในสันติสุข” แล้วจะไม่เอ่ยชื่อผู้ล่วงลับโดยปราศจากการอวยพรอีกเลย
    การแสดงความเคารพต่อผู้ล่วงลับและการปลอบใจผู้โศกเศร้าจากการสูญเสีย ช่างเป็นธรรมเนียมที่น่ารักจริง ๆ !
   
7.    ทุกคนที่มีชีวิตและเชื่อในเราจะไม่มีวันตายเลย
เมื่อมารธารู้ว่าพระเยซูเจ้าเสด็จมา นางรีบออกไปรับเสด็จพร้อมกับทูลพระองค์กึ่งตำหนิกึ่งเชื่อว่ามาช้า แต่ถ้าขออะไรก็จะได้  และเมื่อพระองค์ตรัสกับนางว่า “พี่ชายของท่านจะกลับคืนชีพ”  นางทูลตอบว่า “ดิฉันรู้ว่า เขาจะกลับคืนชีพเมื่อมนุษย์ทุกคนจะกลับคืนชีพในวันสุดท้าย” (ยน 11:20-24)
น่าแปลกที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของพระธรรมเก่ายังไม่เชื่อเรื่องการกลับคืนชีพ  ชาวยิวถือว่าทั้งคนดีและคนเลวเมื่อตายแล้วจะไปอยู่ในแดนมรณะ (Sheol)  ที่นั่นทุกคนดำเนินชีวิตแบบมืด ๆ เลือน ๆ ไม่มีเรี่ยวแรงหรือความร่าเริงยินดี ดังเพลงสดุดีที่ว่า “ในหมู่ผู้ตายไม่มีใครระลึกถึงพระองค์  ในแดนมรณะไม่มีใครสรรเสริญพระองค์” (สดด 6:5; 30:9; 88:5,10-12; 115:17; บสร 9:10; อสย 38:18)
จวบจนสมัยของโยบ ชาวยิวจึงเริ่มมีความเชื่อในชีวิตที่ไม่รู้จักตาย ! (โยบ 14:7-12)
และแม้ในสมัยพระเยซูเจ้า พวกสะดูสียังไม่ยอมเชื่อว่ามีการกลับคืนชีพเลย
ดังนั้น เมื่อมารธาพูดว่า “เขาจะกลับคืนชีพเมื่อมนุษย์ทุกคนจะกลับคืนชีพในวันสุดท้าย” จึงเท่ากับว่านางกำลังยืนยันความเชื่อสูงสุดของชนชาติยิวต่อพระเยซูเจ้า
เมื่อทอดพระเนตรเห็นนางมีความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพ พระองค์จึงขยายความเพิ่มเติมว่า “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต  ใครเชื่อในเรา แม้ตายไปแล้วก็จะมีชีวิต และทุกคนที่มีชีวิตและเชื่อในเราจะไม่มีวันตายเลย” (ยน 11:25-26)
แน่นอนว่าพระองค์ไม่ได้หมายถึงชีวิตทางกายภาพ เพราะบรรดานักบุญที่เชื่อในพระองค์ล้วนต้องตายทั้งนั้น  แต่สิ่งที่อยู่ในความคิดของพระองค์คือ
1.    ความตายเพราะบาป  บาปทำให้ชีวิตของเราหมดคุณค่าไม่ต่างจากคนตาย
    - เราอาจเห็นแก่ตัวจนตายต่อความต้องการของผู้อื่น
    - เราอาจเย็นเฉยจนตายต่อความรู้สึกของคนอื่น
    - เราอาจไม่ซื่อสัตย์จนตายต่อเกียรติยศของตนเอง
    - เราอาจสิ้นหวังจนกลายเป็นคนเฉื่อยชาและวิญญาณตายสนิท
    แต่พระองค์สามารถทำให้ผู้ที่ตายเพราะบาปกลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ดังที่ทรงตรัสกับหญิงคนบาปที่เคยร้องไห้จนน้ำตาหยดลงเปียกพระบาท ใช้ผมเช็ดพระบาท จูบพระบาท และใช้น้ำมันหอมชโลมพระบาทของพระองค์ว่า “บาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว” (ลก 7:48)
    พระองค์สามารถช่วยคนบาปทุกคนให้ลุกขึ้นมามีชีวิตใหม่ดุจเดียวกับพระองค์ และทุกวันนี้ อำนาจของพระองค์ที่จะช่วยเราให้มีชีวิตใหม่มิได้ลดน้อยถอยลงเลย !
2.    ชีวิตในโลกหน้า พระองค์ทรงรับประกันว่าความตายไม่ใช่การสิ้นสุด แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ชีวิตใหม่ที่สูงกว่าและไม่มีวันตายสำหรับผู้ที่เชื่อในพระองค์
    “เชื่อ” คือยอมรับว่าทุกสิ่งที่พระองค์ทรงสอนเป็นความจริง แล้วผูกพันชีวิตของตนเข้ากับความจริงนั้นด้วยความวางใจอย่างเต็มเปี่ยม
    เมื่อเรา “เชื่อ” จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ 2 ด้าน
    2.1    เรามีความสัมพันธ์กับพระเจ้า เพราะเราเชื่อว่าพระเจ้าตามที่พระเยซูเจ้าทรงสอนนั้น เป็นพระเจ้าแห่งความรักและพระผู้ช่วยให้รอด  นับจากนี้ไป เราไม่กลัวความตายอีกต่อไป เพราะความตายเป็นการกลับไปหาพระเจ้าผู้ทรงรักเราและเรามีความสัมพันธ์อันดีกับพระองค์
    2.2    เรามีความสัมพันธ์อันดีกับตัวเราเอง เพราะเมื่อเรายอมรับและปฏิบัติตามหนทางของพระเยซูเจ้าซึ่งรวมถึงคำสอนและบทบัญญัติของพระองค์ เราจะมีชีวิตใหม่ที่เต็มเปี่ยมด้วยความรัก ความสุขสงบ พละกำลัง และชัยชนะเหนือความชั่วร้ายทั้งปวง
         ไม่มีสงครามและการแตกแยกภายในจิตใจของเราอีกต่อไป !

8.    ทรงสะเทือนพระทัย
เมื่อมารธายืนยันความเชื่อในพระเยซูเจ้าว่าทรงเป็นพระคริสตเจ้าและพระบุตรของพระเจ้าแล้ว (ยน 11:27) นางกลับไปตามมารีย์น้องสาว  เมื่อมารีย์มาถึง นางก็พูดเหมือนจะตำหนิพระองค์เช่นกันว่า “พระเจ้าข้า ถ้าพระองค์ทรงอยู่ที่นี่ พี่ชายของดิฉันคงไม่ตาย” (ยน 11:32)  เมื่อทอดพระเนตรเห็นนางร้องไห้และชาวยิวที่ตามมาก็ร้องไห้ด้วย พระองค์ทรงสะเทือนพระทัยและเศร้าโศกมาก (ยน 11:33, 38) ถึงกับทรงกันแสง (ยน 11:35)
    คำ “สะเทือนพระทัย” ตรงกับภาษากรีก embrimaomai (เอมบริมาออมาย) พบในพระธรรมใหม่อีก 3 ครั้งคือ คราวที่พระองค์ทรงกำชับคนตาบอด (มธ 9:30) และคนโรคเรื้อน (มก 1:43) มิให้เปิดเผยเรื่องการรักษา  และอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีคนบ่นว่าหญิงที่นำน้ำมันหอมราคาแพงมาชโลมพระเศียรของพระองค์ (มก 14:5)
    ทั้งสามครั้งส่อความหมายไปทางขึงขัง จริงจัง และรุนแรง
    นอกจากนั้น คำ embrimaomai ยังหมายถึงการหายใจของม้า ซึ่งมีเสียงคล้ายคนกำลังกรนหรือคราง
    เมื่อรวมเสียงครางเข้ากับท่าทางขึงขังจริงจังแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่า พระเยซูเจ้าทรงมีอารมณ์ร่วมกับความโศกเศร้าของมนุษย์อย่างสุด ๆ จนเสียงครวญครางจากห้วงลึกแห่งหัวใจของพระองค์ดังออกมาโดยไม่ตั้งใจดุจเดียวกับคนกรน
    นี่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากสำหรับชาวกรีก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของพระวรสารโดยนักบุญยอห์น เพราะชาวกรีกถือว่าคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของพระเจ้าคือ apatheia (อาพาเธยอา) ซึ่งหมายถึงไม่มีความรู้สึก
    เหตุผลของชาวกรีกคือ เมื่อเรารู้สึกโศกเศร้าหรือยินดี แสดงว่ามีบางคนกำลังมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของเรา และหากเขามีอิทธิพลเหนือเราได้ก็ย่อมมีอำนาจเหนือเราด้วย
    เนื่องจากไม่มีผู้ใดมีอำนาจเหนือพระเจ้า พระองค์จึงไร้อารมณ์และความรู้สึก  พระเจ้าของชาวกรีกจึงโดดเดี่ยวและไม่รู้จักเมตตาสงสารมนุษย์
    นับว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวกรีกรับรู้ภาพใหม่ของพระเจ้าที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง นั่นคือทรงมีพระทัยปวดร้าวเมื่อเห็นความทุกข์ทรมานของมนุษย์
    พระเจ้าทรงเอาพระทัยใส่มนุษย์ !
    นี่คือข่าวดีสุด ๆ ที่พระเยซูเจ้าทรงบอกเรา

9.    ทรงเงยพระพักตร์
พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้ “ยกแผ่นหินออก” (ยน 11:39) แล้วทรงเงยพระพักตร์ขึ้น ตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงฟังคำของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทราบดีว่า พระองค์ทรงฟังข้าพเจ้าเสมอ แต่ที่ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ก็เพื่อประชาชนที่อยู่รอบข้าพเจ้า เขาจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา” (ยน 11:41-42)
    เห็นได้ชัดเจนว่า ก่อนจะตรัสเรียกลาซารัส  พระองค์ทรง
    1.    สวดภาวนาวอนขอพระบิดาเจ้า เพราะทรงตระหนักดีว่าอำนาจในการทำอัศจรรย์ต่าง ๆ ไม่ได้มาจากพระองค์เอง แต่มาจากพระบิดาเจ้า
    2.    ถวายเกียรติแด่พระบิดาเจ้า  พระองค์ไม่เคยแสวงหาเกียรติยศหรือชื่อเสียงให้พระองค์เองเลย  ทุกสิ่งที่ทรงกระทำล้วนเป็นไปเพื่อพระบิดาผู้ทรงส่งพระองค์มา
    ช่างตรงกันข้ามกับเราจริง ๆ !
     เราชอบทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวของเราเอง และเพื่อชื่อเสียงเกียรติยศของเราเอง  คติพจน์ประจำใจของเราเกือบทุกคนคือ “ของตัวเอง โดยตัวเอง และเพื่อตัวเอง”
    หาก “อัญเชิญพระเจ้ามาเป็นศูนย์กลางของชีวิต”  เราคงได้สัมผัสกับสิ่งมหัศจรรย์ยิ่งกว่าลาซารัสมากมายในชีวิตของเรา !!