สมโภชนักบุญทั้งหลาย

ข่าวดี    มัทธิว 5:1-12
(1) พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชนมากมาย จึงเสด็จขึ้นบนภูเขา เมื่อประทับแล้ว บรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ (2) พระองค์ทรงเริ่มตรัสสอนว่า
(3) “ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
(4) ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน
(5) ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก
(6) ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม
(7) ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา
(8) ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า
(9) ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
(10) ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา (11) ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหงและใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา (12) จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก”


ก่อนศึกษาความหมายของความสุขแต่ละประการ มีข้อสังเกตสำคัญดังต่อไปนี้
    1.    ตามสำนวนแปลภาษาไทย ความสุขแต่ละประการเป็นประโยคเพราะประกอบด้วยคำกริยา “เป็น” เช่น “ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข”  ในขณะที่ต้นฉบับภาษากรีกกลับไม่ปรากฏคำกริยา “เป็น” เลย
         เมื่อย้อนกลับไปศึกษาพระธรรมเก่า เราพบว่าภาษาฮีบรูและอาราไมอิกก็มีสำนวนที่ไม่ปรากฏคำกริยาด้วยเช่นกัน แต่เป็นคำอุทานซึ่งมีความหมายทำนองว่า “โอ้ ช่างสุขจริงหนอ !” หรือ “แหม สุขจัง !”
        ในเมื่อความสุขทั้งแปดประการไม่ใช่ประโยคซึ่งอาจเป็นได้ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  แต่เป็นคำอุทานซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันเพราะคงไม่มีผู้ใดอุทานเผื่ออนาคตอย่างเช่น “ดีใจจัง ปีหน้าจะถูกหวย !”  ทั้งหมดนี้แสดงว่าความสุขทั้งแปดประการเกิดขึ้น “ขณะนี้”  ไม่ใช่ต้องรอถึงโลกหน้าในอนาคต
        จริงอยู่ ความสุขอย่างสมบูรณ์จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้พบพระเจ้าในโลกหน้า  แต่เราสามารถลิ้มรสความสุขแท้จริงได้แล้วตั้งแต่เวลานี้ และบนโลกนี้ !!
    2.    คำกรีก makarios  (มาคารีออส) ซึ่งแปลว่า “สุข” เป็นคำที่ใช้เฉพาะกับพระเจ้าเท่านั้น  ความสุขที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงจึงเป็น “ความสุขแบบพระเจ้า”  กล่าวคือเป็นความสุขที่สมบูรณ์ในตัวเอง ไม่ขึ้นกับโชค โอกาส หรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งไม่มีผู้ใดทำลายหรือแย่งชิงไปได้
         ต่างจากความสุข (happiness) ที่โลกหยิบยื่นให้ เพราะคำ happiness มาจากรากศัพท์ “hap-“  ซึ่งหมายถึง “โอกาส, โชค”  ความสุขตามประสาโลกจึงอาจเพิ่มขึ้น ลดลง หรือหมดไปได้หากโชคเปลี่ยน สุขภาพเปลี่ยน อากาศเปลี่ยน แผนเปลี่ยน หรือปัจจัยอื่น ๆ เปลี่ยน
         ความสุขที่พระเยซูเจ้าประทานให้จึงเป็น “ความสุขแท้จริง” ซึ่งจะทำให้ “ใจของท่านยินดี” และ “ไม่มีใครนำความยินดีไปจากท่านได้” (ยน 16:22)
       
1. ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
    ภาษากรีกใช้คำ “จน” สองคำคือ
    1.    Penēs (เปเนส) หมายถึง “จน” ในใจความของการขาดสิ่งของฟุ่มเฟือย แต่ยังช่วยเหลือตัวเองได้และสามารถดำรงชีพด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองได้
    2.    Ptōchos (ปโตคอส) มาจากรากศัพท์ ptossein (ปตอสเซน) ซึ่งหมายถึง หมอบ หรือ คลาน  “ปโตคอส” จึงหมายถึง “จน” แบบสิ้นเนื้อประดาตัวชนิดต้องหมอบหรือคลานไปพึ่งความช่วยเหลือจากผู้อื่น และไม่มีทางยืนหยัดดำรงชีพได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเลย
    คำที่ใช้ ณ ที่นี้คือ “ปโตคอส” ซึ่งหมายถึงความยากจนชนิดพึ่งลำแข็งตัวเองไม่ได้เลย
    ส่วนในภาษาอาราไมอิก คำ ’ani (อานี) และ ebiōn (เอบีโอน) ซึ่งต่างก็แปลว่า “จน” นั้น มีวิวัฒนาการทางความหมาย 4 ขั้นตอนด้วยกัน กล่าวคือ
1.    เริ่มแรกหมายถึง “จน”
     2.    เพราะ “จน” ความหมายจึงพัฒนาไปเป็น ไม่มีอิทธิพล ไม่มีอำนาจ ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครช่วยเหลือ
     3.    เพราะไม่มีอิทธิพล จึงถูกผู้อื่นดูหมิ่น และกดขี่ข่มเหงต่าง ๆ นานา
    4.    และเพราะถูกกดขี่ข่มเหงจนไม่มีที่พึ่งพิงในโลกนี้อีกแล้ว เขาจึง  “มอบความวางใจทั้งหมดไว้ในองค์พระผู้เป็นเจ้า”  ดังตัวอย่างจากเพลงสดุดีที่ว่า “พระองค์ทรงช่วยคนอ่อนแอและขัดสนให้พ้นจากผู้ที่ฉกฉวยทรัพย์สินของเขา” (สดด 35:10) จะเห็นว่าคน “ขัดสน” ไม่ได้หมายถึงคนจนเพราะเขาคงไม่มีทรัพย์สินให้ผู้อื่นฉกฉวย แต่หมายถึง “ผู้ที่วางใจในพระเจ้า” (ดู สดด 9:18; 34:6; 68:10; 72:4; 107:41; 132:15)
    เมื่อรวมความหมายในภาษากรีกและอาราไมอิกเข้าด้วยกัน เราอาจแปลความหมายท่อนแรกได้ดังนี้ “ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่ตระหนักว่าไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงมอบความวางใจทั้งหมดไว้ในพระเจ้า”
    ผู้ที่วางใจในพระเจ้าจะค้นพบว่าพระองค์คือความช่วยเหลือ ความหวัง และพละกำลัง  มีพระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่เที่ยงแท้  สิ่งอื่น ๆ ในโลกล้วนเป็นอนิจจังและไม่อาจหยิบยื่นความสุขและความมั่นคงแท้จริงให้แก่ชีวิตของตนได้
    พึงสังเกตด้วยว่าความยากจนนี้เป็นเรื่องของ “จิตใจ”  เพราะไม่มีทางเลยที่พระเจ้าจะปรารถนาให้บุตรของพระองค์อาศัยอยู่ในสลัม กินมื้ออดมื้อ หรือต้องทนเจ็บป่วยเรื้อรัง  ความยากจนขัดสนทางกายเหล่านี้คือเป้าหมายของเราคริสตชนที่จะต้องช่วยกันกำจัดให้หมดสิ้นไป
    ท่อนที่สอง พระองค์ตรัสถึงการได้ “อาณาจักรสวรรค์” มาเป็นกรรมสิทธิ์
     ชาวยิวนิยมลีลาการเขียนอย่างหนึ่งเรียกว่า Parallelism  ตามลีลานี้ พวกเขาเขียนสิ่งเดียวกันซ้ำ 2 ครั้ง โดยครั้งที่สองอาจเป็นเพียงการซ้ำครั้งแรกหรืออาจเป็นการขยายความเพิ่มเติมก็ได้  แทบทุกข้อในหนังสือเพลงสดุดีล้วนใช้ลีลาการเขียนแบบนี้ ตัวอย่างเช่น
    ครั้งแรก        “ผู้ชอบธรรมย่อมเป็นสุข” (สดด 1:1)
    ครั้งที่สอง    “เขาไม่เดินตามคำแนะนำของคนชั่ว” (สดด 1:1)
    เราจึงได้ความหมายของผู้ชอบธรรมว่าคือ ผู้ที่ไม่เดินตามคำแนะนำของคนชั่ว
    หากเรานำลีลาดังกล่าวมาใช้กับคำวอนขอที่พระเยซูเจ้าทรงสอนในบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ดังนี้
    ครั้งแรก        “พระอาณาจักรจงมาถึง” (มธ 6:10)
    ครั้งที่สอง    “พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์” (มธ 6:10)
เราอาจให้คำนิยามของพระอาณาจักรสวรรค์ได้ว่าเป็น “สังคมบนโลกนี้ที่พระประสงค์ของพระเจ้าได้รับการปฏิบัติอย่างสมบูรณ์เหมือนในสวรรค์”
    หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าเท่านั้นจึงจะมีสิทธิเป็นพลเมืองของอาณาจักรสวรรค์  ดังที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “คนที่กล่าวแก่เราว่า ‘พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า’ นั้นมิใช่ทุกคนจะได้เข้าสู่อาณาจักรสวรรค์  แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์นั่นแหละจะเข้าสู่สวรรค์ได้” (มธ 7:21)
    แล้วผู้ใดกันเล่าจะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าหากเขาไม่วางใจพระองค์  และผู้ที่จะมอบความวางใจทั้งหมดไว้ในพระองค์ได้ก็คือผู้ที่มีจิตใจยากจนดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง
    เพราะฉะนั้น ความหมายโดยรวมของความสุขประการนี้คือ
    “โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่ตระหนักว่าไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงมอบความวางใจทั้งหมดไว้ในพระเจ้า เหตุว่าเขาจะได้เป็นสมาชิกของอาณาจักรสวรรค์ เพราะสามารถนบนอบพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์”

2. ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้าย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน
    คำกรีก penthéō  (เพนแธโอ) บ่งบอกถึงความทุกข์โศกเศร้าถึงก้นบึ้งแห่งหัวใจจนไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้  มักใช้กับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง ดังเช่นความทุกข์โศกเศร้าของยาโคบเมื่อทราบว่าโยเซฟบุตรสุดที่รักเสียชีวิตแล้ว (ปฐก 37:34; และ ปฐก 50:3; 1 มคบ 12:52; 13:26; 2 คร 12:21) เป็นต้น
    เราอาจเข้าใจความสุขอันเกิดจากความทุกข์โศกเศร้าได้ 3 แนวทางด้วยกัน กล่าวคือ
    1.    เข้าใจตามตัวอักษรว่า “เป็นบุญของผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน”
        เหตุผลคือ เวลาปกติสุขเรามักมองชีวิตเพียงผิวเผินและไม่ค่อยสนใจใยดีกับผู้อื่นมากนัก  ต่อเมื่อความสูญเสียใหญ่หลวงถาโถมเข้ามาในชีวิต เราจึงเริ่มมองเห็นความรักและการปลอบโยนจากพระเจ้ารวมถึงความช่วยเหลือและน้ำใจดีของเพื่อนมนุษย์ชนิดที่ไม่เคยคาดหวังมาก่อน  ดังเช่นความช่วยเหลือที่หลั่งไหลมาสู่ผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิที่ถล่มภาคใต้ของไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004 ที่ผ่านมา
    2.    ความหมายนัยที่สองคือ “เป็นบุญของผู้เป็นทุกข์โศกเศร้าเพราะเห็นความทุกข์ยาก ความโศกเศร้า และความต้องการของผู้อื่น” เพราะนี่คือการดำเนินชีวิตตามรอยพระบาทของพระเยซูเจ้า
        เมื่อทอดพระเนตรเห็นประชาชนเจ็บป่วย (มธ 14:14) ตาบอด (มธ 20:29-34) เป็นโรคเรื้อน (มก 1:40-45) หิวโหย (มธ 14:13-21) ขาดคนดูแล (มธ 9:35-37) ตาย (ลก 7:11-17) ฯลฯ  พระองค์ไม่เคยนิ่งเฉย แต่ทรงสงสารและเยี่ยวยาช่วยเหลือความทุกข์ยากของทุกคน
     3.    สิ่งแรกที่พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนเมื่อเริ่มต้นภารกิจคือ “จงเป็นทุกข์กลับใจ”  ดังนั้นความหมายประการสุดท้ายซึ่งสำคัญที่สุดคือ “เป็นบุญของผู้เศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่เห็นว่าบาปของตนได้ทำร้ายพระเยซูเจ้า จึงเป็นทุกข์กลับใจ และได้รับการอภัยจากพระองค์”
     ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับเพลงสดุดีที่ว่า “ข้าแต่พระเจ้า เครื่องบูชาของข้าพเจ้าคือดวงจิตที่เป็นทุกข์   ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ไม่ทรงรังเกียจใจที่เป็นทุกข์และถ่อมตน” (สดด 51:17)
    เราอาจสรุปความหมายของความสุขประการที่สองได้ว่า
    “โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่หัวใจแตกสลายเพราะเห็นความทุกข์ยากของโลก และสำนึกในบาปของตนเอง เหตุว่าเขาจะพบความยินดีในพระเจ้า”

3. ผู้มีใจอ่อนโยนย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก
    คำ “อ่อนโยน” ตรงกับ praus  (พราอูส) ในภาษากรีกซึ่งมีความหมายดังต่อไปนี้
    1.    อริสโตเติ้ลถือว่าคุณธรรมย่อมเดินสายกลาง จึงให้คำจำกัดความของ “พราอูส” ว่าอยู่กึ่งกลางระหว่าง “โกรธสุด” กับ “ไม่โกรธเลย”  ความหมายประการแรกจึงได้แก่ “เป็นบุญของผู้ที่รู้จักโกรธในเวลาที่สมควรโกรธ  และไม่โกรธเลยในเวลาที่ไม่สมควรโกรธ”
        หลักปฏิบัติคือ เราจะโกรธแบบเห็นแก่ตัวเพราะตัวเองถูกทำร้ายหรือสูญเสียผลประโยชน์ไม่ได้  และในเวลาเดียวกันเราจะนิ่งเฉยไม่รู้ร้อนรู้หนาวเมื่อเห็นผู้อื่นถูกทำร้ายหรือไม่ได้รับความยุติธรรมก็ไม่ได้อีกเช่นกัน  เพราะกรณีแรกเราโกรธในเวลาที่ไม่สมควรโกรธ ส่วนกรณีหลังเราไม่โกรธในเวลาที่สมควรโกรธ
    2.    คำ “พราอูส” ยังใช้กับสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดีจนสามารถควบคุมหรือสั่งได้  ความหมายประการที่สองจึงหมายถึง “เป็นบุญของผู้ที่สามารถควบคุมสัญชาติญาณ แรงกระตุ้น และกิเลสตัณหาทั้งปวงของตนเองได้”
        แต่เนื่องจากไม่มีผู้ใดสามารถควบคุมตัวเองได้อย่างสมบูรณ์  เพราะเมื่อพยายามกระตุ้นเตือนให้ควบคุมตัวเอง เรากลับถูกควบคุมโดยแรงกระตุ้นนั้นเอง
         วิธีแก้ไขจึงมีเพียงหนทางเดียวนั่นคือ ยินยอมให้พระเจ้าควบคุมตัวเราให้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์  ด้วยวิธีนี้เราจะสามารถควบคุมอัตตาของเราได้อย่างสมบูรณ์และด้วยหัวใจที่กระตือรือร้นเป็นอิสระสุดยอด เพราะหัวใจของเราได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดแล้วนั่นเอง
    3.    ในภาษากรีก คำ “พราอูส” ใช้เป็นคำตรงข้ามกับ “หยิ่งยโส”  ความหมายประการสุดท้ายจึงได้แก่ “เป็นบุญของผู้ที่มีความสุภาพ” เพราะเขาจะยอมรับว่าตัวเอง “ไม่รู้” จึงปรารถนาและสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้  ต่างจากคนหยิ่งยโสที่ทะนงตนว่ารู้ทุกสิ่งแล้ว จึงไม่ยอมเรียนรู้หรือรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต
         นอกจากนั้นผู้ที่มีความสุภาพยังจะมีศาสนาอยู่ในหัวใจอย่างแท้จริง เพราะเขาตระหนักถึงความอ่อนแอของตนและ “ต้องการพระเจ้า” อย่างสิ้นสุดหัวใจ
    การควบคุมตัวเองให้รู้จักโกรธหรือไม่โกรธและให้มีความสุภาพถ่อมตนเช่นนี้เองที่ทำให้เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่จริง เพราะหากควบคุมตัวเองได้เราก็ย่อมควบคุมผู้อื่นได้ด้วย  ตรงกันข้ามหากตัวเราเองยังควบคุมไม่ได้แล้วจะไปควบคุมผู้อื่นได้อย่างไรกัน  ดูอย่างกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ที่ควบคุมสติไม่ได้และพุ่งหอกใส่เพื่อนรักจนเสียชีวิตสิ  พระองค์ทรงเป็นมหาราชก็จริงแต่ไม่อาจครองใจประชาชนไว้ได้  ที่สุดอาณาจักรของพระองค์ก็ล่มสลายไปในเวลาไม่นานนัก
    ความหมายของความสุขประการนี้คือ   
“โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่รู้จักโกรธในเวลาที่สมควรโกรธ และไม่โกรธในเวลาที่ไม่สมควรโกรธ  ผู้ที่สามารถควบคุมสัญชาติญาณ แรงกระตุ้น และตัณหาของตัวเองเพราะว่าเขาอยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้า  ตลอดจนผู้มีความสุภาพที่ตระหนักถึงความไม่รู้และความอ่อนแอของตนเอง  เหตุว่าเขาผู้นั้นจะเป็นกษัตริย์ท่ามกลางมวลมนุษย์”

4. ผู้หิวกระหายความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม
    ความหมายของคำใดคำหนึ่งจะลึกซึ้งหรือหนักแน่นเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้พูดและผู้ฟังด้วย
    เรายังไม่เคยมีประสบการณ์เลยว่า คนหิวอาหารหรือกระหายน้ำถึงขั้นอดตายมีอาการอย่างไร ?  ทรมานมากน้อยแค่ไหน ?
    แต่สิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงประสบก็คือ ลำพังค่าแรงงานแต่ละวันของพวกกรรมกรก็แทบไม่พอประทังชีวิตอยู่แล้ว  หากวันใดป่วยหรือไม่มีงานทำวันนั้นทุกคนในครอบครัวย่อมหมิ่นเหม่ต่อการอดตายเป็นอย่างยิ่ง  ด้วยเหตุนี้ แม้จะเป็นเวลาเย็นมากแล้วก็ยังมีคนรอคอยเจ้าของสวนออกมาจ้างให้ไปทำงานในสวนองุ่นอยู่ (มธ 20:1-16)
    นอกจากนั้น เมื่อพบพายุทรายระหว่างเดินทาง สิ่งที่ชาวยิวทำได้คือเอาเสื้อคลุมมาคลุมตัวเองไว้ หันหลังให้พายุ แล้วรอจนกว่าพายุจะสงบ  ขณะที่พายุก็จะพัดทรายเข้าจมูกและคอจนแสบและหายใจแทบไม่ออก  จะกินน้ำก็ไม่ได้เพราะทรายเต็มถ้วยเต็มปากไปหมด  ตอนนี้แหละที่พวกเขาตระหนักดีว่าการอดน้ำตายเป็นอย่างไร
    ความหิวและกระหายที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงจึงมิใช่แค่ความ “อยากกิน”  แต่เป็นความหิวชนิดที่หากไม่มีอาหารตกถึงท้องเป็นต้องอดตายแน่ และเป็นความกระหายชนิดที่หากไม่ได้ดื่มน้ำสักแก้วเป็นต้องอดน้ำตายแน่
ความหมายของความสุขประการนี้จึงขึ้นอยู่กับ “ความเข้มข้น” ของความหิวและกระหาย  ดังนั้นเราควรถามตัวเองว่า “เราต้องการความชอบธรรมมากเพียงใด  มากเท่าคนที่กำลังหิวตายต้องการอาหาร  หรือมากเท่าคนที่กำลังกระหายน้ำตายต้องการน้ำหรือไม่ ?”
    แม้พระองค์จะทรงเรียกร้องให้เราใฝ่หาความดีและความชอบธรรมอย่างเข้มข้นจนหลายคนเกรงว่าจะทำไม่ได้  แต่อย่าพึ่งท้อใจเพราะพระองค์ตรัสว่า “เป็นบุญของผู้ที่หิวกระหาย” ไม่ใช่ “เป็นบุญของผู้ที่อิ่มแล้ว”  ความหมายคือ “ผู้ที่ใฝ่หาความชอบธรรมโดยยังไม่บรรลุถึงความชอบธรรม ก็เป็นบุญแล้ว”
ดังนั้น แม้เราจะทำผิดพลาดซ้ำซากจนบางครั้งรู้สึกท้อแท้ แต่หากยังใฝ่หาความดีอยู่ก็เป็นบุญของเราแล้ว  ดุจเดียวกับกษัตริย์ดาวิดที่แม้จะสังหารข้าศึกจำนวนมากในการรบ แต่พระองค์ไม่เคยหยุดใฝ่หาความชอบธรรมด้วยการสร้างพระวิหารถวายพระเจ้าเลย ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้ามาก
    อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ คำกริยาจำพวก “หิว” และ “กระหาย” ในภาษากรีกมักตามด้วย genitive case ซึ่งบ่งบอกความเป็นเจ้าของ เวลาแปลเป็นไทยมักมีคำว่า “ของ” นำหน้า  ในทางภาษาศาสตร์เรียกว่า partitive genitive ซึ่งหมายถึงการเป็นเจ้าของเพียงบางส่วน  เมื่อชาวกรีกต้องการพูดว่า “ฉันกระหายน้ำ”  เขาจะพูดว่า “ฉันกระหายบางส่วนของน้ำ” เพราะเขาอยากได้น้ำส่วนเดียว ไม่ใช่ทั้งตุ่มหรือทั้งบ่อ
    แต่ในกรณีนี้ “ความชอบธรรม” (dikaiosunēn – ดีคัยออซูเนน) ไม่ได้อยู่ในรูป genitive case แต่อยู่ในรูป accusative case ซึ่งเทียบได้กับ “กรรมตรง” (direct object) ในภาษาไทย
    หมายความว่า ความสุขประการนี้นอกจากจะเรียกร้องให้เราใฝ่หาความชอบธรรมอย่างเข้มข้นที่สุดแล้ว ยังเรียกร้องให้เราใฝ่หาความชอบธรรมทั้งครบอีกด้วย
    ตัวอย่างของผู้ใฝ่หาความชอบธรรมหรือทำดีแต่เพียงบางส่วนเช่น บรรดาผู้ที่มีคุณธรรมสูงส่ง ซื่อสัตย์ น่ายกย่อง  แต่ไม่มีผู้ใดอยากเข้าหาเพราะนิสัยเย็นเฉย ขาดมนุษยสัมพันธ์ ไม่รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นต้น
    หรือคนขี้เหล้าเมายา ชอบเล่นการพนัน แต่พร้อมจะหยิบเหรียญบาทสุดท้ายในกระเป๋าของตนออกมาทำบุญแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ก็เป็นผู้ชอบธรรมเพียงบางส่วนเช่นกัน
    เราอาจสรุปความหมายของความสุขประการนี้ได้ว่า
    “โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่ใฝ่หาความชอบธรรมทั้งครบดุจเดียวกับคนใกล้อดตายอยากได้อาหาร  หรือคนกระหายน้ำใกล้ตายอยากได้น้ำ  เหตุว่าเขาจะอิ่มหนำจริง ๆ”

5. ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา
    ความคิดที่ว่า “ผู้ที่เมตตาผู้อื่นย่อมได้รับความเมตตาจากพระเจ้า” สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในพระธรรมใหม่ เช่น “ผู้ใดที่ไม่แสดงความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ จะถูกพิพากษาโดยปราศจากความเมตตากรุณา” (ยก 2:13) หรือในบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น เพราะถ้าท่านให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ ก็จะประทานอภัยแก่ท่านด้วย  แต่ถ้าท่านไม่ให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านก็จะไม่ประทานอภัยแก่ท่านเช่นเดียวกัน” (มธ 6:12, 14-15)
    คำ “เมตตา” ตรงกับภาษาฮีบรู chesedh  (เขะเส็ด) ซึ่งหมายถึง “ความสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในผู้อื่น แล้วมองด้วยสายตาของผู้อื่น คิดด้วยความคิดของผู้อื่น และรู้สึกด้วยความรู้สึกของผู้อื่น”
     จากคำนิยามนี้ ผู้ที่มีความเมตตาสูงสุดก็คือพระเจ้านั่นเอง เพราะพระองค์ทรงส่งพระบุตรแต่เพียงองค์เดียวลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อพระบุตรจะได้มองแบบมนุษย์ คิดแบบมนุษย์ และรู้สึกแบบมนุษย์  พระบุตรจึงทรงรู้จักและเข้าใจชีวิตมนุษย์อย่างถ่องแท้ อีกทั้งทรงสามารถช่วยเหลือเราได้ในทุกกรณีและทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเลวร้ายเพียงใดก็ตาม
    อาศัยความเมตตานี้เอง เราจึงเจริญชีวิตร่วมกันได้อย่างสงบสุข เพราะแต่ละคนต่างเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน และคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นก่อนตนเอง
    นอกจากนี้ ความเมตตายังช่วยให้เรา
    1.    ไม่เมตตาผู้อื่นอย่างผิด ๆ ดังเช่นเมื่อครั้งที่พระเยซูเจ้าทรงแวะบ้านของมาร์ธาและมารีย์ก่อนเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการตรึงกางเขน (ลก 10:38-42)  จริงอยู่ทั้งสองต่างรักและต้องการต้อนรับพระองค์อย่างดีที่สุด  แต่มีเพียงมารีย์ที่ต้อนรับพระองค์ด้วยความเมตตา และเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของพระองค์นั่นคือความสงบและการพักผ่อน
    2.    อดทนและให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายขึ้น  มีหลักการอยู่ข้อหนึ่งคือ “ไม่ว่าผู้ใดจะคิดหรือทำอะไรก็ตาม เขาย่อมมีเหตุผลของเขาเสมอ”  หากเราเข้าถึงเหตุผลของเขาได้ เช่น เขากำลังวิตกกังวล  เจ็บป่วย  อกหัก  มีคนอื่นใส่ไฟ  เป็นลูกคนเดียวที่พ่อแม่ตามใจมาตลอด ฯลฯ ก็จะช่วยให้เราอดทนและให้อภัยเขาได้ง่ายขึ้น
    ความหมายของความสุขประการนี้คือ
    “โอ้ ช่างสุขจริงหนอ  ผู้ที่สามารถเข้าไปอยู่ในผู้อื่นจนกระทั่งสามารถมองด้วยดวงตาของพวกเขา  คิดด้วยความคิดของพวกเขา  และรู้สึกด้วยความรู้สึกของพวกเขา  เหตุว่าผู้อื่นก็จะปฏิบัติต่อเขาเช่นเดียวกัน  และเขายังได้รับรู้อีกว่า นี่คือสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำในองค์พระเยซูคริสตเจ้า”

6. ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า
    คำ “บริสุทธิ์” ตรงกับภาษากรีก katharos  (คาธารอส) ซึ่งมีความหมายดังนี้
    1.    สะอาด เช่น เสื้อผ้าสะอาด จานสะอาด
    2.    แยกแยะ เช่น ฝัดข้าว (กระพือข้าวหรือสิ่งอื่น ๆ เพื่อให้แกลบ รำ หรือผงแยกออกไป) หรือใช้เพื่อหมายถึงการคัดแยกทหารดีออกจากทหารเลว
    3.    ไม่เจือปน เช่น เหล้าองุ่นที่ไม่มีน้ำเจือปน โลหะแท้ที่ไม่มีสิ่งอื่นเจือปน เป็นต้น
    ความหมายเบื้องต้นของความสุขประการนี้จึงได้แก่ “ผู้มีแรงจูงใจอันสะอาดและบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งอื่นเจือปน ย่อมเป็นสุข เหตุว่าเขาจะเห็นพระเจ้า”
    เพื่อจะมีแรงจูงใจอันสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งอื่นเจือปน เราจำเป็นต้องสำรวจมโนธรรมของตนเองอย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น
     - เรารับใช้พระเจ้าอย่างไม่เห็นแก่ตัวหรือเพราะอยากเด่นอยากดังกว่าคนอื่น ?
     - เราไปวัดเพราะอยากพบพระเจ้าหรือเพราะถูกบังคับโดยบทบัญญัติ ?
    - เราทำบุญให้ทานเพราะเห็นแก่พระเจ้าหรือเพราะเห็นแก่ชื่อเสียงของตนเอง ?
- เราสวดภาวนาและอ่านพระคัมภีร์เพราะต้องการสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าหรือเพราะอยากเท่ห์กว่าคนอื่น ?
    นอกจากความหมายเบื้องต้นแล้ว ยังมีหลักการอีกข้อหนึ่งคือ “คนเรามองเห็นเฉพาะสิ่งที่ตนสามารถเห็นได้เท่านั้น”  อย่างเช่นในคืนที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาว สิ่งที่เราสามารถมองเห็นได้คือแสงระยิบระยับของดวงดาวเท่านั้น  ต่างจากนักดาราศาสตร์ซึ่งนอกจากจะมองเห็นเช่นเดียวกับเราแล้ว พวกเขายังรู้จักชื่อดาว แบ่งดาวเป็นกลุ่มต่าง ๆ  หรือแม้แต่มองเห็นดาวดวงอื่นซึ่งอยู่ไกลออกไปได้  ทั้งนี้เป็นเพราะพวกเขามีความสามารถที่จะเห็นดวงดาวได้มากกว่าเรานั่นเอง
    จากหลักการเดียวกัน ผู้ที่สามารถมองเห็นพระเจ้าผู้ทรงเป็นองค์ความบริสุทธิ์ได้ จึงต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์เท่านั้น
    ความหมายของความสุขประการนี้คือ
    “โอ้ ช่างสุขจริงหนอ  ผู้ที่มีแรงจูงใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากสิ่งเจือปน เหตุว่าสักวันหนึ่งเขาจะเห็นพระเจ้า”

7. ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
    เพื่อจะเข้าใจความหมายของความสุขประการนี้ มี 3 ประเด็นที่ควรคำนึงถึงคือ
    1.    คำ shalōm (ชาโลม) ในภาษาฮีบรูซึ่งแปลว่า “สันติ” นั้นหมายถึง “ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้เราบรรลุความดีสูงสุด”  คำนี้ไม่เคยถูกใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธอย่างเช่น “ขอให้ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน” เลย
        การไม่มีโรคภัยเบียดเบียนถือว่าดีมากแล้ว แต่ยังไม่อาจรับประกันความสำเร็จให้แก่ชีวิตของเราได้  จำเป็นที่จิตใจและร่างกายทุกด้านต้องบรรลุความสมบูรณ์สูงสุดควบคู่ไปด้วย
         สำหรับพระเยซูเจ้า “ไม่” อย่างเดียวจึงยังไม่พอ ต้อง “ดีที่สุด” ด้วย
    2.    พระองค์ทรงเรียกร้องให้เรา “สร้างสันติ” ไม่ใช่แค่ “รักสันติ”
        หลายคนชอบอ้างว่าตนรักสันติ ต้องการสมานฉันท์ จึงไม่เผชิญหน้ากับปัญหาใด ๆ เลย  อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นผู้สร้างสันติไม่ได้ เพราะปัญหาถูกซุกไว้ใต้พรมโดยยังไม่ได้รับการแก้ไข มีแต่รอวันและเวลาที่จะระเบิดออกมาเท่านั้น
         ผู้สร้างสันติที่แท้จริงจักต้องพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหา จัดการกับปัญหา และเอาชนะปัญหาให้ได้ แม้ว่าตัวเองจะต้องดิ้นรนและเจ็บปวดสักเพียงใดก็ตาม
    3.    ภาษาฮีบรูไม่ค่อยมีคำคุณศัพท์ จึงต้องเลี่ยงไปใช้คำว่า “บุตรของ” หรือ “บุตรแห่ง” (son of…) แล้วตามด้วยคำนามแทน  สำหรับชาวฮีบรู “บุตรแห่งความสว่าง” จึงหมายถึง “คนดี” และ “บุตรของพระเจ้า” หมายถึง “เหมือนพระเจ้า” เป็นต้น
        พระเจ้าคือผู้สร้างสันติ ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า “ขอพระเจ้าผู้ประทานสันติ สถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเทอญ” (รม 15:33) และ “จงดำเนินชีวิตอย่างสันติ แล้วพระเจ้าแห่งความรักและสันติจะสถิตอยู่กับท่าน” (2 คร 13:11)
         ผู้สร้างสันติจึงทำเหมือนพระเจ้า และดังนี้จึงได้ชื่อว่า “บุตรของพระเจ้า”
    ในทางปฏิบัติ ผู้สร้างสันติหมายถึง
    1.    ทุกคนที่มีส่วนทำให้โลกนี้ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น เพื่อผู้ที่อาศัยอยู่ในโลกนี้จะบรรลุถึงความดีสูงสุดได้
    2.    ทุกคนที่มีสันติในจิตใจ ไม่มีความขัดแย้งหรือการต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่วในจิตใจอีกต่อไป
    3.    ทุกคนที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ใช่เข้าที่ไหนวงแตกที่นั่น หรือชอบสร้างความขัดแย้งและทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นอยู่ร่ำไป
    ความหมายของความสุขประการนี้คือ
    “โอ้ ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง เหตุว่าเขากำลังทำแบบพระเจ้า”

8. ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุขเมื่อถูกดูหมิ่นข่มเหงและใส่ร้ายต่าง ๆ  นานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก เขาได้เบียดเบียนบรรดาประกาศกที่อยู่ก่อนท่านดังนี้ด้วยเช่นกัน
    ความสุขประการสุดท้ายนี้บ่งบอกความจริงใจของพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง  พระองค์ทรงบอกกล่าวผู้ที่ปรารถนาติดตามพระองค์ตั้งแต่แรกเลยว่า พระองค์เสด็จมาไม่ใช่เพื่อทำให้ชีวิตของพวกเขาสะดวกสบายขึ้น  แต่เพื่อทำให้ชีวิตของพวกเขายิ่งใหญ่และได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ดุจเดียวกับพระองค์
    คริสตชนยุคเริ่มแรกจำนวนมากได้ยืนหยัดอยู่เคียงข้างพระองค์อย่างน่าชื่นชม แม้จะต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตก็ตาม ตัวอย่างเช่น
    1.    พวกเขาสูญเสียอาชีพและการงาน เช่น ช่างไม้ที่ได้รับการว่าจ้างให้สร้างวัดของคนต่างศาสนา หรือช่างตัดเสื้อที่ถูกขอร้องให้ตัดเย็บอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระต่างศาสนา  พวกเขาไม่ลังเลเลยที่จะเลือกข้างพระเยซูเจ้ามากกว่าความอยู่รอดของธุรกิจ
    2.    พวกเขาสูญเสียฐานะทางสังคม ในสมัยโบราณงานเลี้ยงมักจัดในวิหารของเทพเจ้า เริ่มต้นด้วยการดื่มให้เกียรติแด่เทพเจ้า แล้วกินเนื้อที่เหลือจากการเผาถวายแด่เทพเจ้า พวกเขาจึงต้องพร้อมปฏิเสธงานเลี้ยงและสูญเสียฐานะในสังคมเพื่อจะเป็นคริสตชนที่สัตย์ซื่อ
    3.    พวกเขาสูญเสียครอบครัว  สมาชิกในครอบครัวบางคนกลับใจเป็นคริสตชน บางคนไม่ยอมกลับใจ ครอบครัวต้องแตกแยก  แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะรักพระเยซูเจ้ามากกว่าภรรยาและบุตรซึ่งอยู่ใกล้ชิดเขามากที่สุดและเขาเองก็รักมากที่สุดด้วย
    นอกจากนี้ ยังมีคริสตชนจำนวนมากต้องทนทุกข์และพลีชีพเพื่อเป็นพยานยืนยันถึงพระเยซูเจ้า  บางคนถูกโยนให้สิงโตกิน  บางคนถูกเผาไฟทั้งเป็น  บางคนถูกห่อด้วยผ้าเต็นท์ชุบน้ำมันแล้วจุดเป็นคบไฟในสวนของจักรพรรดิเนโร  บางคนถูกเย็บติดกับหนังสัตว์สด ๆ แล้วปล่อยให้สุนัขล่าเนื้อไล่ล่าจนตาย  บางคนถูกคีมบีบ  ถูกรมควัน ฯลฯ อีกมากมาย
    สาเหตุของการถูกเบียดเบียนอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ
    1.    การใส่ร้าย
        1.1 จากคำที่ว่า “นี่คือกายของเรา นี่คือโลหิตของเรา”  พวกเขาถูกใส่ร้ายว่าฆ่าและกินเนื้อเด็ก
        1.2 พวกคริสตชนเน้นความรัก และมี kiss of peace (พิธีแสดงความเป็นมิตรต่อกัน) จึงถูกใส่ร้ายว่าประพฤติผิดศีลธรรม มั่วเซ็กซ์
        1.3 พวกเขาโดนข้อหาเป็นนักวางเพลิง เพราะชอบพูดถึงไฟล้างโลกอยู่บ่อย ๆ
        1.4 พวกเขาถูกกล่าวหาว่าทำให้ครอบครัวแตกแยก
    2.    การเมือง
        เนื่องจากอาณาจักรโรมันมีขนาดใหญ่มาก ประกอบด้วยชนหลายชาติหลายศาสนา  เพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวกัน พลเมืองทุกคนจึงถูกบังคับให้ถวายกำยานแด่ “เทพเจ้าซีซาร์” อย่างน้อยปีละครั้ง  หลังจากได้หนังสือรับรองว่าถวายกำยานแด่ซีซาร์แล้ว แต่ละคนจึงนมัสการพระเจ้าที่ตนนับถือได้
        คริสตชนจำยอมประกอบอาชญากรรมอันใหญ่หลวงด้วยการนมัสการพระเยซูเจ้าเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้แต่เพียงพระองค์เดียว  พวกเขา “วางพระเยซูเจ้าไว้เหนือซีซาร์” !
    ทุกวันนี้ แม้โอกาสที่จะ “พลีชีพ” เพื่อยืนยันความเชื่อในพระเยซูเจ้าคงไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก  แต่เราสามารถเป็นพยานยืนยันพระองค์ได้ด้วยการ “เจริญชีพ”  เช่น รักและรับใช้เพื่อนมนุษย์  ให้อภัยเพื่อนมนุษย์  ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงานแม้จะถูกเพื่อนร่วมงานเยาะเย้ยค่อนขอด เป็นต้น
    สิ่งที่ต้องจำใส่ใจคือ ถึงจะ “พลีชีพ” เพื่อพระองค์ไม่ได้  แต่เราสามารถ “เจริญชีพ” เพื่อพระองค์ได้ทุกวัน จนตลอดชีวิต !