แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako
chaiya1

 

อาทิตย์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มาระโก 8:27-35
เปโตรประกาศความเชื่อ
(27)พระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในบริเวณเมืองซีซารียาแห่งฟีลิป ขณะทรงพระดำเนิน พระองค์ตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายว่าเราเป็นใคร”  (28)เขาทูลตอบว่า “บ้างว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างก็ว่าเป็นประกาศกองค์หนึ่ง”  (29)พระองค์ตรัสถามอีกว่า “ท่านล่ะ ว่าเราเป็นใคร” เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า”  (30)พระองค์ทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระองค์แก่ผู้ใด
พระเยซูเจ้าทรงทำนายครั้งแรกถึงพระทรมาน
(31)พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสอนบรรดาศิษย์ว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับการทรมานอย่างมากจะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ  และจะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมา จะกลับคืนชีพ”  (32)พระองค์ทรงประกาศพระวาจานี้อย่างเปิดเผย เปโตรนำพระองค์แยกออกไป ทูลทัดทาน  (33)แต่พระเยซูเจ้าทรงหันไปทอดพระเนตรบรรดาศิษย์ ทรงตำหนิเปโตรว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง  อย่าขัดขวาง เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์”
เงื่อนไขในการติดตามพระคริสตเจ้า
(34)พระเยซูเจ้าทรงเรียกประชาชนและบรรดาศิษย์เข้ามา ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง ให้แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา  (35)ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น จะต้องสูญเสียชีวิตนั้น แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา และเพราะข่าวดี ก็จะรักษาชีวิตได้

********************************

เมืองซีซารียาแห่งฟีลิปตั้งอยู่นอกเขตแดนของชาวยิว เดิมชื่อบาลีนัส (Balinas) เพราะเป็นศูนย์กลางของการนับถือพระบาอัล  ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบานีอัส (Banias) หรือจะเรียกว่าพานีอัส (Panias) สลับกันก็ได้ เพราะเชื่อกันว่า “พาน” (Pan) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งธรรมชาติของกรีกถือกำเนิดจากถ้ำแห่งหนึ่งในเทือกเขาของดินแดนแห่งนี้
นอกจากนั้นยังมีถ้ำอีกแห่งหนึ่งที่ถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำจอร์แดนซึ่งไหลพาดผ่านปาเลสไตน์ ดินแดนอันเป็นแหล่งรวมความทรงจำมากมายและยาวนานของชนชาติยิว
ที่สุด เหนือเทือกเขาสูงอีกแห่งหนึ่งยังเป็นที่ตั้งของวิหารหินอ่อน ที่กษัตริย์เฮโรดผู้พ่อและฟีลิปผู้ลูกได้ร่วมกันสร้างอย่างสวยงามวิจิตตระการตาถวายแด่เทพเจ้าซีซาร์ จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของโรมและของโลก
ท่ามกลางดินแดนอันอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบันนี้เอง ที่เปโตรค้นพบว่า “ช่างไม้ชาวกิลิลีที่ยากจนและไร้บ้านช่องผู้หนึ่ง” ทรงเป็น “พระคริสตเจ้า” (ข้อ 29)

จะมีคำพูดอันใดอธิบาย “บุคลิกภาพอันโดดเด่นของพระเยซูเจ้า” ที่ทำให้เปโตรค้นพบและสารภาพความจริงอันยิ่งใหญ่ได้เท่ากับเหตุการณ์ครั้งนี้ !!!
หากสิ่งที่พระองค์ทรงสอน  หากสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ  และหากชีวิตจิตใจของพระองค์ไม่โดดเด่นสุดยอดจริง ๆ เปโตรจะสารภาพได้อย่างไรว่าช่างไม้จน ๆ คนนี้ทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” !!!

แม้คำพูดของเปโตรจะช่วยให้พระเยซูเจ้าบรรเทาใจได้ว่าอย่างน้อยยังมีคนรับรู้ว่าพระองค์เป็น “พระคริสต์” หรือ “พระเมสสิยาห์”  แต่เพราะทรงทราบดีว่าพวกศิษย์ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “พระคริสต์” หรือ “พระเมสสิยาห์”  พระองค์จึง “กำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระองค์แก่ผู้ใด” (ข้อ 30)
และทุกครั้งที่พระองค์ทรงห้ามผู้หนึ่งผู้ใดเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระองค์  สาเหตุล้วนเป็นเพราะความรอบคอบ เกรงว่าประชาชนจะเข้าใจผิดนี่เอง
เพื่อให้เห็นความเสี่ยงและอันตรายอันเกิดจากความเข้าใจผิด จึงของสรุปแนวความคิดของชาวยิวเกี่ยวกับ “พระเมสสิยาห์” ไว้โดยสังเขปดังนี้
ตลอดประวัติศาสตร์ของชนชาติยิว พวกเขาไม่เคยลืมเลยว่าตนเป็นประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงควรเป็นชาติที่มีตำแหน่งพิเศษในโลกใบนี้ นั่นคือควรเป็น “เจ้าโลก” ผู้ยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองดุจดังสมัยของกษัตริย์ดาวิด
แรกเริ่มพวกเขาคิดว่าความฝันนี้จะสำเร็จได้ด้วยวิธีธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งพาพระเจ้า แต่ข้อเท็จจริงคือความฝันนี้ไม่เคยเป็นจริงและไม่มีทางเป็นจริงด้วย  ชาวยิวสิบเผ่าถูกกวาดต้อนไปอัสซีเรียและหายสาบสูญไปชั่วนิรันดร  ต่อมากรุงเยรูซาเล็มถูกตีแตกและชนเผ่ายูดาห์ก็ถูกกวาดต้อนไปกรุงบาบิโลนด้วย  เมื่ออาณาจักรบาบิโลนหมดอำนาจลง พวกเขาตกเป็นทาสของชาวเปอร์เซีย ต่อมาเป็นทาสของชาวกรีก และเป็นเมืองขึ้นของชาวโรมันในที่สุด
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าลำพังแค่ “อิสรภาพ” พวกเขายังไม่มีโอกาสได้สัมผัสเลย  หากคิดจะเป็น “เจ้าโลก” จึงเหลือหนทางเดียวคือ “หนทางเหนือธรรมชาติ” นั่นคือต้องพึ่งพา “ฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า” เป็นขั้นเป็นตอนดังต่อไปนี้
1.    ก่อน “พระเมสสิยาห์” เสด็จมา จะเป็นยุคของความทุกข์ทรมานแสนสาหัสดุจดังสตรีคลอดบุตร  จะเกิดแผ่นดินไหว  นานาชาติจะแตกแยก โกลาหล และวุ่นวายสับสน
2.    ท่ามกลางความสับสนอลหม่านนี้ ประกาศกเอลียาห์จะกลับมาสร้างความสมานฉันท์เพื่อเตรียมทางรับเสด็จพระเมสสิยาห์
3.    “พระเมสสิยาห์” (ภาษาฮีบรู) หรือ “พระคริสต์” (ภาษากรีก) ซึ่งหมายถึง “ผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมให้เป็นกษัตริย์” นี้อาจสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ดาวิด หรือใครก็ได้ที่สามารถเป็น “ซูเปอร์ฮีโร่” นำพาพวกเขาพิชิตโลกและแก้แค้นให้พวกเขาได้
4.    นานาชาติจะรวมตัวกันต่อต้านพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าทรงส่งมานี้
5.    ผลคือนานาชาติถูกทำลายอย่างย่อยยับ พระเมสสิยาห์จะทำลายล้างศัตรูให้สิ้นซาก
6.    จะมีการปฏิสังขรณ์กรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่  บางคนคาดหวังว่าเยรูซาเล็มใหม่จะลอยลงมาจากสวรรค์
7.    ชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกจะกลับมารวมตัวกันที่กรุงเยรูซาเล็มใหม่
8.    ปาเลสไตน์จะเป็นศูนย์กลางของโลก นานาชาติจะยอมจำนนต่อชาวยิว
9.    ที่สุด “ยุคใหม่” ที่เต็มไปด้วยสันติสุขและความดีงามจะมาถึงและคงอยู่ชั่วนิรันดร
นี่คือความคิดของชาวยิวเกี่ยวกับ “พระเมสสิยาห์” ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง การทำลายล้าง การแก้แค้น และความเป็นชาตินิยม
จริงอยู่ความคิดของพวกเขาจบลงด้วย “ยุคใหม่” ซึ่งเป็น “พระอาณาจักรของพระเจ้า” แต่วิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นต้องแลกด้วยเลือดและเนื้อของผู้คนจำนวนมากมายมหาศาล !!!
ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงต้อง “กำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระองค์แก่ผู้ใด” (ข้อ 30) จนกว่าพระองค์จะสอนพวกเขาให้เข้าใจความหมายของ “พระเมสสิยาห์” ได้อย่างถูกต้องแล้วเท่านั้น....

โดยไม่รอช้า “พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสอนบรรดาศิษย์ว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับการทรมานอย่างมากจะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ  และจะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมา จะกลับคืนชีพ”” (ข้อ 31)
สำหรับพระองค์ “พระเมสสิยาห์” คือผู้ที่จะต้องทนทุกข์และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ไม่ใช่นักรบนองเลือดที่ทำให้นานาชาติสยบอยู่แทบเท้า
คำพูดนี้ทำให้พวกศิษย์พากันช้อคไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะเปโตรถึงกับดึงพระองค์ออกมาและทูลคัดค้านหัวชนฝา
จนพระองค์ต้องตำหนิเปโตรอย่างรุนแรงว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง อย่าขัดขวาง เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์” (ข้อ 33)
ทำไมพระองค์ต้องตำหนิเปโตรรุนแรงเช่นนี้ ?
เหตุผลคือ ไม่มีใครอยากตาย ยิ่งเป็นความตายอันแสนทรมานและอัปยศอดสูบนไม้กางเขนด้วยแล้วยิ่งไม่มีใครต้องการ
พระองค์ก็ไม่ต้องการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเหมือนกับคนอื่น ๆ
แล้วอยู่ ๆ เปโตรดันมาล่อลวงพระองค์ให้ละทิ้งหนทางที่ไม่พึงประสงค์อยู่แล้ว !!!
เปโตรกำลังทำเหมือนปีศาจที่เคยนำพระองค์ไปบนยอดเขาสูง ชี้ให้ทอดพระเนตรอาณาจักรรุ่งเรืองต่าง ๆ ของโลก แล้วทูลว่า “เราจะให้ทุกสิ่งนี้แก่ท่าน ถ้าท่านกราบนมัสการเรา” (มธ 4:8-9)
หนทางของปีศาจพิชิตโลกได้ง่ายกว่าและสบายกว่ากันมาก !!
และแม้ไม่ยอมกราบนมัสการปีศาจ  พระเยซูเจ้าก็ตระหนักดีว่าลำพังฤทธิ์อำนาจของพระองค์อย่างเดียวก็สามารถเอาชนะโลกได้โดยไม่ต้องผ่านไม้กางเขนแล้ว
เมื่อเปโตรมา “จี้จุด” เช่นนี้ พระองค์จึงเสียใจมากเป็นธรรมดา
และยิ่งเสียใจมากขึ้นเป็นร้อยเท่าพันทวี เมื่อคนที่จี้โดนจุดหรือคนที่ขัดขวางพระองค์มิให้เดินตามหนทางของพระบิดานี้กลับเป็น “ศิษย์เอก” ที่พระองค์ทรงรักและวางใจมาก  อีกทั้ง “ศิษย์เอก” คนนี้ก็รักพระองค์ชนิดยอมตายถวายหัวอีกด้วย
น่าเสียดายที่เหตุการณ์ทำนองนี้ยังเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน  หลายครั้งการเดินตามหนทางของพระเจ้าถูกขัดขวางโดย “คนที่รักเรา” หรือ “คนที่เรารัก” มากที่สุด
บางคนต้องปฏิเสธเสียงเรียกของพระเจ้าเพียงเพราะคำถามที่ว่า “แล้วใครจะดูแลพ่อกับแม่ยามแก่เฒ่าเล่า ?”
หวังว่าคำตำหนิอันเกรี้ยวกราดของพระเยซูเจ้าที่ว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง อย่าขัดขวาง เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์” คงช่วยให้เราทราบคำตอบดีว่าจะ “ถอย” หรือจะ “สู้” เพื่อพระเจ้าดี ?!?

เมื่อพระเยซูเจ้าทรงตัดสินพระทัยเด็ดขาดที่จะ “สู้” เพื่อพระบิดาต่อไป  พระองค์ทรงตรัสสอนบรรดาศิษย์และประชาชนว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง ให้แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา” (ข้อ 34)
คำสอนนี้น่าจะถือได้ว่า “เป็นหัวใจและเป็นศูนย์กลางของความเชื่อคริสตชน” เลยทีเดียว !
ผู้ที่ปรารถนาเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้าจำเป็นต้องพูด “ครับ ค่ะ ใช่ Yes, Si” กับพระองค์  แล้วพูด “ไม่ – No” กับ :-
- ตัวเอง
- ความนิยมชมชอบชีวิตง่าย ๆ และสะดวกสบาย
- การทำทุกสิ่งเพื่อตอบสนองความต้องการและอำเภอใจส่วนตน
- สัญชาติญาณและความปรารถนาที่จะลิ้มรสและสัมผัสกับสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดโทษทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น
ศิษย์ของพระองค์ต้องไม่ลังเลที่จะพูดแบบนักบุญเปาโลว่า “ข้าพเจ้าถูกตรึงกางเขนกับพระคริสตเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า ชีวิตที่ข้าพเจ้ากำลังดำเนินอยู่ในร่างกายขณะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตในความเชื่อถึงพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรักข้าพเจ้าและทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า” (กท 2:20)
และจากคำสอนนี้อีกเช่นกันที่ทำให้เราเห็น “นิสัยใจคอ” ของพระเยซูเจ้า ชนิดที่ทำให้เปโตรต้องสารภาพว่า “พระองค์คือพระบุตรของพระเป็นเจ้า”
ประการแรกพระองค์ทรง “สัตย์ซื่อและจริงใจ” ต่อทุกคน  พระองค์ไม่ได้ล่อลวง ติดสินบน หรือสัญญาว่าจะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อชักนำผู้คนให้หันมาติดตามพระองค์
หากจะถือว่าเป็นการ “ให้” ... สิ่งเดียวที่ทรงสัญญาว่าจะให้แก่ผู้ที่ติดตามพระองค์คือ “ไม้กางเขน”
พระองค์ไม่ได้สัญญาว่าจะให้ชีวิตที่สะดวกสบายแก่เรา แต่พระองค์เสด็จมาเพื่อทำให้ชีวิตของเรายิ่งใหญ่ มีคุณค่า มีความสุข และมีความมั่นคงอย่างแท้จริง
ด้วยจิตตารมณ์เดียวกันนี้ การีบัลดี ผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่ชาวอิตาเลียน ได้กล่าวเชิญชวนทหารใหม่ว่า “ข้าพเจ้าไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีที่พัก ไม่มีเสบียง  สิ่งที่ข้าพเจ้ามีให้พวกท่านคือความหิว ความกระหาย การเดินทัพอันเหน็ดเหนื่อย สงคราม และความตาย  ขอให้ทุกคนที่รักประเทศชาติของตนด้วยหัวใจ ไม่ใช่แค่ริมฝีปาก จงตามข้าพเจ้ามาเถิด”
ประการที่สอง พระองค์ไม่ใช่ “ผู้นำ” ประเภท “สั่งแต่ไม่ทำ” !
พระองค์ทรงเรียกร้องให้เรา “แบกกางเขนตามพระองค์”  ไม่ใช่ให้เรา “แบกกางเขนตามลำพัง”
นี่คือบุคลิกลักษณะของ “ผู้นำ” ที่ยิ่งใหญ่โดยแท้ !
เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชนำกองทหารตามล่าดาริอุสกษัตริย์แห่งเปอร์เซีย พวกเขาเร่งรีบเดินทางจนทำสถิติได้หกร้อยกว่ากิโลเมตรภายใน 11 วัน  ขณะที่พวกทหารพากันเหน็ดเหนื่อยและหิวกระหายจนเกือบสิ้นหวังเพราะไม่พบแหล่งน้ำ  ชาวมาซีโดเนียกลุ่มหนึ่งได้นำน้ำเทใส่หมวกเหล็กมาให้อเล็กซานเดอร์ พวกทหารพากันชูคอมองด้วยความอยากดื่มน้ำใจจะขาด  แต่อเล็กซานเดอร์กลับขอบคุณและคืนน้ำแก่ชาวมาซีโดเนียพร้อมกับกล่าวว่า “ถ้าข้าพเจ้าดื่มน้ำเพียงผู้เดียว คนที่เหลือก็จะพากันถอดใจ”  เมื่อทหารเห็นความอดกลั้นแบบไม่เห็นแก่ตัวเช่นนี้ พวกเขาจึงกระตุ้นม้าและร้องขอให้อเล็กชานเดอร์นำพาพวกเขาต่อไปอย่างห้าวหาญ
เห็นไหม เป็นการง่ายมากที่จะติดตามผู้นำที่ไม่เคยเรียกร้องให้ผู้อื่นทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยแม้แต่จะคิดทำ !!!
พระเยซูเจ้าไม่ใช่ “ผู้นำ” ที่เห็นชีวิตมนุษย์เป็นเหมือนผักปลา แล้วคอยนั่งกด “รีโมท” อยู่ห่าง ๆ  แต่พระองค์ทรงเรียกร้องให้เราทำในสิ่งที่พระองค์ทรงพร้อมจะเผชิญหน้า นั่นคือ “แบกไม้กางเขน”

นี่คือ “ผู้นำที่จริงใจ ยิ่งใหญ่ และน่าติดตามอย่างยิ่ง”  !!!