แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya

ข่าวดี    ยอห์น 20:19-31
พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์กับบรรดาศิษย์
(19)ค่ำวันนั้นซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์ ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด”  (20)ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกาย เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็มีความยินดี  (21)พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”
(22)ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด
(23)ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”
(24)โทมัส ซึ่งเรียกกันว่า “ฝาแฝด” เป็นคนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคน ไม่ได้อยู่กับอัครสาวกคนอื่น ๆ เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา  (25)ศิษย์คนอื่นบอกเขาว่า “พวกเราเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” แต่เขาตอบว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด”  (26)แปดวันต่อมา บรรดาศิษย์อยู่ด้วยกันในบ้านนั้นอีก โทมัสก็อยู่กับเขาด้วย ทั้ง ๆ ที่ประตูปิดอยู่ พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด”  (27)แล้วตรัสกับโทมัสว่า “จงเอานิ้วมาที่นี่ และดูมือของเราเถิด จงเอามือมาที่นี่ คลำที่สีข้างของเรา อย่าสงสัยอีกต่อไป แต่จงเชื่อเถิด”  (28)โทมัสทูลพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า”  (29)พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า
“ท่านเชื่อเพราะได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็น ก็เป็นสุข”
(30)พระเยซูเจ้ายังทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์อื่นอีกหลายประการให้บรรดาศิษย์เห็น แต่ไม่ได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้  (31)เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่า พระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็จะมีชีวิตเดชะพระนามของพระองค์



“พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:21)


หลังจากพระเยซูเจ้าถูกตรึงตายบนไม้กางเขนแล้ว  พวกอัครสาวกกลับมาหลบซ่อนในห้องชั้นบนที่เคยใช้เลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย  พวกเขาคอยเงี่ยหูฟังคนขึ้นบันไดหรือเคาะประตูด้วยความหวาดกลัว เกรงว่าสายลับของสภาสูงจะมาจับกุม และคงไม่แคล้วถึงเวรของพวกตนที่จะถูกตัดสินประหารชีวิตให้ตายตกตามพระอาจารย์ไป

ทันใดนั้นพระเยซูเจ้าเสด็จมาหาพวกเขาและทักทายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด”  คำทักทายนี้มีความหมายมากกว่าการอวยพรให้พวกเขาแคล้วคลาดจากภยันตรายใด ๆ ซึ่งเป็นคำอวยพรเชิงปฏิเสธ  แต่หมายถึง “ขอพระเจ้าโปรดประทานทุกสิ่งที่ดีที่สุดแก่ท่านทั้งหลายเถิด”  ตัวอย่างเช่น การอวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรงสุขสมบูรณ์ย่อมดีกว่าการขอให้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น

หลังจากทักทายกันแล้ว พระองค์เข้าสู่ประเด็นสำคัญทันที นั่นคือทรงตรัสสั่งว่า “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” คำสั่งนี้แฝงนัยสำคัญ 3 ประการ คือ
1.    พระเยซูเจ้าต้องการพระศาสนจักรให้เป็น “พระกาย” ของพระองค์ (อฟ 1:23; 1คร 12:12) เนื่องจากพระองค์กำลังจะกลับไปหาพระบิดา พระองค์จึงต้องการให้พระศาสนจักรเป็นดั่งปาก มือ และเท้าของพระองค์เพื่อนำข่าวดีไปสู่มนุษย์ทุกคน โดยไม่เลือกชาติ ศาสนา เพศ วัย หรือฐานะ
2.    พระศาสนจักรต้องการพระเยซูเจ้าเพื่อให้พระองค์เป็นผู้ส่ง ผู้มอบข่าวดี ผู้สนับสนุน ผู้ส่องสว่างจิตใจ รวมถึงเป็นผู้ประทานพละกำลังและความกล้าหาญในการปฏิบัติภารกิจของพระศาสนจักร   หากปราศจากผู้ส่งดังเช่นพระองค์ พระศาสนจักรย่อมไม่มีข่าวดีและไม่มีอำนาจใด ๆ เลยที่จะอภัยบาปแก่มวลมนุษย์
3.    “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”  พระเยซูเจ้าถูกส่งมาประกาศข่าวดีของพระบิดา และพระองค์ตอบสนองการส่งนั้นด้วยความรักและการนบนอบเชื่อฟังพระบิดาแบบสุด ๆ  เพราะฉะนั้นพระศาสนจักรจะประกาศข่าวดีได้ก็ต่อเมื่อ “รักและนบนอบเชื่อฟังพระเยซูเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจ” เช่นกัน


ข่าวดีที่พระศาสนจักรประกาศจึงต้องเป็นข่าวดีของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่ข่าวดีของพระศาสนจักรเอง
และพระศาสนจักรต้องพร้อมเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามน้ำพระทัยของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่ตามนโยบายหรือตามความนึกคิดประสามนุษย์ของพระศาสนจักรเอง
ถ้าทำได้ดังนี้ ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าพระศาสนจักรในปัจจุบัน เช่น ปัญหาการหย่าร้าง การทำแท้ง การคุมกำเนิด การแต่งงานกับคนเพศเดียวกัน ฯลฯ ก็จะคลี่คลายลง

“จงรับพระจิตเจ้าเถิด” (ยน 20:22)
นอกจากทรงส่งพวกอัครสาวกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “พระกายของพระคริสตเจ้า” ไปประกาศข่าวดีแล้ว  พระองค์ยังทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลายตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด”
เมื่อพูดถึง “เป่าลม” ยอห์นกำลังคิดถึงการสร้างมนุษย์ในพระธรรมเก่าที่บันทึกไว้ว่า “พระเจ้าทรงปั้นมนุษย์ด้วยผงคลีดิน ระบายลมปราณเข้าทางจมูก มนุษย์จึงเป็นผู้มีชีวิต” (ปฐก 2:7)  และเรื่องกระดูกแห้งในหุบเขามรณะที่พระเจ้าตรัสกับลมว่า “ลมหายใจเอ๋ย จงมาจากลมทั้งสี่ มาหายใจเข้าไปในคนที่ถูกฆ่าเหล่านี้เพื่อให้เขามีชีวิต” (อสค 37:9)
จะเห็นว่า “ลม” ให้ “ชีวิต”
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเป่าลมเหนือพวกสาวกพร้อมกับตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด” จึงแปลเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “พระจิตเจ้าคือลม” ซึ่งเท่ากับว่า “พระจิตเจ้าคือชีวิต”  และนั่นคือพระองค์ทรงประทานชีวิตใหม่แก่พวกอัครสาวก แก่พระศาสนจักร และแก่เราทุกคน โดยทางพระจิตเจ้า
พูดง่าย ๆ คือ พระจิตเจ้าทรงทำให้พระศาสนจักรและเราทุกคนมีชีวิต
เมื่อได้รับชีวิตใหม่แล้ว พวกอัครสาวกเลิกกลัว เลิกหลบซ่อน  ทุกคนต่างแยกย้ายไปปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายจากพระเยซูเจ้า
แล้วเราจะใช้ชีวิตใหม่ที่ได้รับมาอย่างไร ?

“ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใดบาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย” (ยน 20:23)
ภารกิจแรกของพระเยซูเจ้าหลังกลับเป็นขึ้นมาจากความตายคือการส่งพระศาสนจักรออกไปประกาศข่าวดี และข่าวดีแรกที่พระศาสนจักรต้องประกาศคือ “การอภัยบาป”
แต่การจะอภัยบาปหรือไม่อภัยบาปแก่ผู้ใด หาได้ขึ้นกับอำเภอใจของพระศาสนจักรหรือของพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งแต่ประการใดไม่
เมื่อเริ่มภารกิจเปิดเผย พระเยซูเจ้าทรงประกาศเทศนาว่า “จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” (มธ 4:17)
เพราะฉะนั้น พระศาสนจักรต้องประกาศการอภัยบาปแก่ผู้ที่เป็นทุกข์กลับใจ  ส่วนผู้ที่ยังไม่เป็นทุกข์กลับใจ พระศาสนจักรต้องตักเตือน ต้องสั่งสอน และต้องช่วยพวกเขาทุกวิถีทางให้เป็นทุกข์กลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาปด้วย
วันนี้ เราช่วยให้ใครได้รับการอภัยบาปบ้างแล้วหรือยัง ?

“องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 20:28)
โทมัสเป็นศิษย์ที่รักพระเยซูเจ้ามาก แถมยังเป็นคนกล้าหาญอีกต่างหาก  เป็นโทมัสเองที่ชักชวนเพื่อน ๆ ให้ไปกรุงเยรูซาเล็มโดยกล่าวว่า “พวกเราจงไปตายพร้อมกับพระองค์เถิด” (ยน 11:16) แต่เมื่อยูดาสนำทหารมาจับกุมพระองค์ เขากลับหลบหน้าหนีไป
ชีวิตของโทมัสให้บทเรียนบางประการแก่เรา
1.    โทมัสทำผิดพลาดอยู่ประการหนึ่งคือ หลังทอดทิ้งพระเยซูเจ้าและหลบหนีไป เขาเกิดความละอายใจ ไม่กล้าสู้หน้าคนอื่น และหลบไปอยู่ตามลำพัง  ทำให้พลาดโอกาสพบพระเยซูเจ้าเมื่อเสด็จมาหาพวกอัครสาวกครั้งแรก
เมื่อเราต้องพบกับความละอายใจไม่ว่าจะมากน้อยสักเพียงใดก็ตาม ขออย่าให้เราหลบหน้าไปจากผู้คนหรือ “ทิ้งวัด” เลย เพราะจะทำให้เราพลาดโอกาสดี ๆ เหมือนที่โทมัสได้เคยพลาดมาแล้ว
วัด ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมของบรรดาคริสตชนนี่แหละ ที่เราจะได้พบกับองค์พระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ !
2.    โทมัสมีข้อดีคือ “ตรงไปตรงมา”  สำหรับท่าน เชื่อคือเชื่อ สงสัยคือสงสัย และความสงสัยนี้เองที่นำท่านไปสู่ความเชื่อที่แน่นอน มั่นใจ และมั่นคง
คนที่ชอบพูดซ้ำซากว่า “ฉันเชื่อ” ในขณะที่จิตใจยังเต็มไปด้วยความสงสัย หรือไม่เข้าใจ  แถมยังไม่เคยแม้แต่จะพยายามแสวงหาความรู้และความเข้าใจเพิ่มเติม  เขาจะไม่มีทางเชื่อแบบที่โทมัสเชื่อได้เลย
3.    ข้อดีอีกประการหนึ่งของโทมัสคือ เมื่อเขาเชื่อแล้ว เขาทุ่มเทชีวิตให้สุด ๆ เขายอมรับว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า !”
ในหนังสือกิจการของโทมัส (The Acts of Thomas) มีเรื่องเล่าว่า แม้ไม่เต็มใจนัก แต่โทมัสก็ยอมไปประกาศข่าวดีที่อินเดียตามที่บรรดาอัครสาวกมอบหมาย  พระราชาของอินเดียมีบัญชาให้โทมัสสร้างพระราชวังให้หลังหนึ่ง พร้อมกับมอบเงินจำนวนมากเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย  แต่โทมัสกลับนำเงินทั้งหมดไปแจกจ่ายคนจน  มิหนำซ้ำยังรายงานพระราชาว่าการก่อสร้างกำลังรุดหน้าไปเรื่อย ๆ  ที่สุดพระราชาขอให้โทมัสพาไปดูพระราชวังหลังใหม่ โทมัสทูลว่า “ตอนนี้พระองค์ไม่อาจทอดพระเนตรเห็นได้ ต้องรอให้จากโลกนี้ไปก่อน จึงจะทรงเห็นได้”  พระราชาทรงกริ้วมาก เกือบสั่งประหารชีวิตโทมัส  แต่ในที่สุดพระองค์กลับใจและเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า
ด้วยการเสี่ยงนำชีวิตเข้าแลก โทมัสนำคริสต์ศาสนามาสู่อินเดีย !

เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อ (ยน 20:31)
วัตถุประสงค์ในการเขียนพระวรสารของยอห์น คือ
1.    ไม่ใช่บอกรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าแต่ คัดเลือกมาเพียงบางเรื่องเพื่อให้ทราบว่าพระองค์เป็นใคร และทรงทำอะไร
“พระเยซูเจ้ายังทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์อื่นอีกหลายประการให้บรรดาศิษย์เห็น แต่ไม่ได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้” (ยน 20:30)
2.    ไม่ใช่ต้องการให้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์หรือหนังสืออัตชีวประวัติของพระเยซูเจ้า แต่ “เป็นหนังสือเพื่อชีวิต” กล่าวคือมุ่งให้ผู้อ่านเห็นและเข้าใจว่าบุคคลที่สามารถพูด สอน กระทำ หรือรักษาโรคได้เช่นพระเยซูเจ้า จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก “พระบุตรของพระเจ้า” และเมื่อเชื่อเช่นนี้แล้ว เขาจะได้มีชีวิตนิรันดร
เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ประการแรกสุดในการอ่านพระวรสารจึงได้แก่ การแสวงหาพระเจ้า ไม่ใช่แสวงหาข้อมูล