แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 6:17, 20-26)                                    

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จลงมาจากภูเขาพร้อมกับบรรดาศิษย์และทรงหยุดอยู่ ณ ที่ราบแห่งหนึ่ง ที่นั่นมีศิษย์กลุ่มใหญ่และประชาชนจำนวนมากจากทั่วแคว้นยูเดีย จากกรุงเยรูซาเล็ม จากเมืองไทระ และจากเมืองไซดอนซึ่งอยู่ริมทะเล พระองค์ทอดพระเนตรบรรดาศิษย์ ตรัสว่า 

ท่านทั้งหลายที่ยากจนย่อมเป็นสุข เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของท่าน

ท่านที่หิวในเวลานี้ย่อมเป็นสุข เพราะท่านจะอิ่ม

ท่านที่ร้องไห้ในเวลานี้ย่อมเป็นสุข เพราะท่านจะหัวเราะ

ท่านทั้งหลายเป็นสุข เมื่อคนทั้งหลายเกลียดชังท่าน ผลักไสท่าน ดูหมิ่นท่าน  รังเกียจนามของท่านประหนึ่งนามชั่วร้ายเพราะท่านเป็นศิษย์ของบุตรแห่งมนุษย์  จงชื่นชมในวันนั้นเถิด จงโลดเต้นยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านนั้นยิ่งใหญ่นักในสวรรค์ บรรดาบรรพบุรุษของเขาเหล่านั้นเคยกระทำเช่นนี้กับบรรดาประกาศกมาแล้ว

วิบัติจงเกิดกับท่านที่ร่ำรวย เพราะท่านได้รับความเบิกบานใจแล้ว

วิบัติจงเกิดกับท่านที่อิ่มเวลานี้ เพราะท่านจะเป็นทุกข์และร้องไห้

วิบัติจงเกิดกับท่านเมื่อทุกคนกล่าวยกย่องท่าน เพราะบรรดาบรรพบุรุษของเขาเหล่านั้นเคยกระทำเช่นนี้กับบรรดาประกาศกเทียมมาแล้ว 


ลก 6:17  เมืองไทระและเมืองไซดอน : เป็นเมืองที่อาศัยของคนต่างศาสนา ในแถบปาเลสไตน์ 


ลก 6:20-26 นักบุญลูกาได้เขียนเกี่ยวกับเรื่อง ความสุขแท้จริง ไว้เพียงแค่สี่ประการ แต่ได้เพิ่ม “วิบัติ” ไว้อีกสี่ประการด้วย ท่านได้เตือนว่า ผู้ที่ใฝ่หาความสุขกับสิ่งของฝ่ายโลกจะพบเพียงแค่ความสุขชั่วคราว ในท้ายที่สุดจะพบว่าชีวิตนั้นว่างเปล่าและไร้ความหมาย นักบุญอัมโบรสได้สอนว่า ในความสุขแท้จริงสี่ประการของนักบุญลูกานั้นมีคุณธรรมหลัก 4 ประการอยู่ คือ ความรอบคอบ ความยุติธรรม ความพอประมาณ และความกล้าหาญ การติดต่อสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าเช่นนี้จะทำให้ได้รับการรักษาที่น่าอัศจรรย์อย่างต่อเนื่องในการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

ความรักต่อผู้ยากไร้

CCC ข้อ 2444 “ความเอาใจใส่ของพระศาสนจักรต่อผู้ยากไร้ […] ยังคงดำเนินเป็นธรรมเนียมตลอดมา” เรื่องนี้ได้รับพลังบันดาลใจจากการประกาศข่าวดีเรื่องความสุขแท้ จากความยากจนของพระเยซูเจ้าและการที่ทรงเอาพระทัยใส่ต่อผู้ยากไร้ ความเอาใจใส่ต่อผู้ยากไร้ยังต้องนับว่า เป็นเหตุผลของหน้าที่ที่จะต้องทำงานเพื่อจะได้มีความสามารถที่จะช่วยเหลือผู้มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ เรื่องนี้ไม่ครอบคลุมเพียงความยากไร้ด้านวัตถุเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงความยากไร้ด้านวัฒนธรรมและศาสนาอีกหลายรูปแบบด้วย

การมีจิตใจยากจน

CCC ข้อ 2546 “ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข” (มธ 5:3) ความสุขแท้ในพระวรสารเปิดเผยลำดับของความสุขและพระหรรษทาน ของความงดงามและสันติ พระเยซูเจ้าทรงเฉลิมฉลองความยินดีของผู้ยากจนที่อาณาจักรสวรรค์เป็นของเขาแล้ว “ข้าพเจ้าคิดว่าพระวจนาตถ์ทรงเรียกความสุภาพถ่อมตนโดยสมัครใจว่า ‘การมีจิตใจยากจน’ และท่านอัครสาวก (เปาโล) แสดงแบบอย่างความยากจนของพระเจ้าให้เราเห็นเมื่อท่านกล่าวว่า ‘แม้ทรงรํ่ารวยพระองค์ก็ยังทรงยอมกลายเป็นคนยากจนเพราะเห็นแก่เรา’ (2คร 8:9)”

CCC ข้อ 2547 องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงคร่ำครวญถึงคนร่ำรวยเพราะเขาได้รับความเบิกบานใจแล้ว “ให้ผู้หยิ่งผยองแสวงหาและรักอาณาจักรของโลกนี้เถิด แต่ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” ถ้าการมอบตนไว้กับพระญาณเอื้ออาทรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ช่วยเราให้พ้นจากความกังวลของวันพรุ่งนี้ ความไว้วางใจในพระเจ้าก็เป็นการจัดเตรียมไว้สำหรับความสุขของผู้ยากจน เขาจะเห็นพระเจ้า

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)