แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 1:1-4; 4:14-21)                                                                                                               

ท่านเธโอฟีลัสที่เคารพยิ่ง คนจำนวนมากได้เรียบเรียงเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเรา ผู้ที่เป็นพยานรู้เห็นและประกาศพระวาจามาตั้งแต่แรกได้ถ่ายทอดเหตุการณ์เหล่านี้ให้เรารู้แล้ว ข้าพเจ้าจึงตกลงใจค้นคว้าเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ต้นอย่างละเอียด แล้วเรียบเรียงตามลำดับเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งสำหรับท่านด้วย ท่านเธโอฟีลัสที่เคารพ เพื่อท่านจะได้รู้ว่าคำสอนที่ท่านรับมานั้นเป็นความจริง

พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปแคว้นกาลิลีพร้อมด้วยพระอานุภาพของพระจิตเจ้า กิตติศัพท์ของพระองค์เลื่องลือไปทั่วแว่นแคว้นนั้น พระองค์ทรงสอนตามศาลาธรรมของชาวยิวและทุกคนต่างสรรเสริญพระองค์ พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองนาซาเร็ธซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงเจริญวัย ในวันสับบาโต พระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาธรรมเช่นเคย ทรงยืนขึ้นเพื่อทรงอ่านพระคัมภีร์ มีผู้ส่งม้วนหนังสือประกาศกอิสยาห์ให้พระองค์ พระเยซูเจ้าทรงคลี่ม้วนหนังสือออก ทรงพบข้อความที่เขียนไว้ว่า พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า แล้วพระเยซูเจ้าทรงม้วนหนังสือส่งคืนให้เจ้าหน้าที่และประทับนั่งลง  สายตาของทุกคนที่อยู่ในศาลาธรรมต่างจ้องมองพระองค์ พระองค์จึงทรงเริ่มตรัสว่า “ในวันนี้ ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว” 


ลก 1:3  เธโอฟีลัส : แม้อัตลักษณ์ของบุคคลจะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่นามนี้มีความหมายว่า “ผู้ที่พระเจ้าทรงรัก” เป็นคำทักทายทั่วไปที่สามารถใช้ได้กับสมาชิกทุกคนของหมู่คณะคริสตชน    

  


ลก 4:16  ศาลาธรรม : สถานที่ซึ่งชาวยิวใช้นมัสการพระเจ้าและอธิบายหลักธรรมคำสอน  


      

ลก 4:18-19  ข้อความตอนนี้ของประกาศกอิสยาห์ (เทียบ อสย 61:1) ถูกตีความไปอย่างกว้างขวางในศตวรรษแรก ชาวยิวต้องการชี้ให้เห็นว่า พระเมสสิยาห์คือผู้นำทรงพลังที่จะปลดปล่อยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระจากชาวโรมัน ส่วนพระคริสตเจ้าทรงมอบอิสรภาพจากบาปและจากความตายให้แก่ประชากรของพระองค์ ถ้อยคำที่ว่า “พระคริตเจ้าได้ประกาศข่าวดีแห่งการไถ่กู้แก่คนยากจน / อิสระแก่ผู้ที่ถูกจองจำ / และดวงใจที่เป็นสุขแก่ผู้ที่เศร้าหมอง” นั้นถูกกล่าวถึงอีกครั้งในบทขอบพระคุณที่ 5 ในพิธีบูชาขอบพระคุณ  พระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ : คำว่า พระคริสตเจ้า มีความหมายเดียวกับคำว่าพระเมสสิยาห์ในภาษาฮีบรู ซึ่งหมายความว่า “ผู้ได้รับการเจิม” พระเยซูเจ้าคือผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมไว้ ผู้ซึ่งความเป็นมนุษย์ของพระองค์ได้รับการเจิมจากพระจิตเจ้าอย่างสมบูรณ์ พระองค์คือพระคริสตเจ้าตั้งแต่วินาทีแห่งการปฏิสนธิ กล่าวคือ ด้วยเหตุผลของความเป็นหนึ่งเดียวของสองธรรมชาติในพระบุคคลของพระคริสตเจ้า พระองค์ทรงรับพระหรรษทานอย่างเต็มเปี่ยม

สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 695 "การเจิม” การใช้น้ำมันเจิมยังหมายถึงพระจิตเจ้า จนกลายเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน” ด้วย ในพิธีรับคริสตชนใหม่ การเพิ่มเป็นเครื่องหมายของศีลกำลัง ซึ่งในพระศาสนจักรตะวันออกเรียกว่า “การเจิมน้ำมันคริสมา” แต่เพื่อจะเข้าใจความหมายทั้งหมดของการนี้ ก่อนอื่นจำเป็นต้องกลับไปยังการเพิ่มครั้งแรกที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ คือการเพิ่มของพระเยซูเจ้า พระคริสตเจ้า ("พระเมสสิยาห์” ในภาษาฮีบรู) หมายถึง “ผู้รับเจิม”ของพระจิตเจ้า ในพันธสัญญาเดิมมี “ผู้รับเจิม" อยู่หลายคน” กษัตริย์ดาวิดทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษ” แต่พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษสุดของพระเจ้า พระธรรมชาติมนุษย์ที่พระบุตรทรงรับมานั้น ได้รับเจิมทั้งหมดจากพระจิตเจ้า” พระเยซูเจ้าทรงได้รับแต่งตั้งจากพระจิตเจ้าเป็น "พระคริสตเจ้า" พระนางมารีย์พรหมจารีทรงปฏิสนธิพระคริสตเจ้าเดชะพระจิตเจ้าผู้ทรงใช้ทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวเมื่อทรงประสูติว่าทรงเป็นพระคริสตเจ้า และยังดลใจผู้เฒ่าสีเมโอนให้เข้ามาในพระวิหารเพื่อจะได้เห็นพระคริสต์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าฯ พระคริสตเจ้าทรงรับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม และพระพลังของพระจิตเจ้าออกจากพระคริสตเจ้าเมื่อพระองค์ทรงรักษาโรคและประทานความรอดพ้นๆ ในที่สุด พระจิตเจ้ายังทรงปลุกพระเยซูเจ้าให้กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” บัดนี้พระเยซูเจ้าผู้ทรงได้รับแต่งตั้งเป็น “พระคริสตเจ้า” (ผู้รับเพิ่ม) โดยสมบูรณ์ในสภาพมนุษย์ที่มีชัยชนะเหนือความตาย ทรงหลั่งพระจิตเจ้าอย่างอุดมบริบูรณ์จนกระทั่งว่า “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์" ร่วมกับพระธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้า "เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ตามมาตรฐานความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า” (อฟ4:13) หรือเป็น “พระคริสตเจ้าสมบูรณ์" ตามสำนวนของนักบุญออกัสติน

การรอคอยพระเมสิยาห์และจิตของพระองค์

CCC ข้อ 714 เพราะเหตุนี้ พระคริสตเจ้าจึงทรงเริ่มประกาศข่าวดีโดยทรงนำข้อความนี้ของประกาศกอิสยาห์มาเป็นของพระองค์ (ลก 4:18-19): “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาแก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า”

ความรักต่อผู้ยากไร้

CCC ข้อ 2443 พระเจ้าทรงอวยพระพรผู้ที่ให้ความช่วยเหลือต่อผู้ยากไร้และทรงตำหนิผู้ที่ไม่ยอมทำเช่นนี้ “ผู้ใดขออะไรจากท่าน ก็จงให้ อย่าหันหลังให้ผู้ที่มาขอยืมสิ่งใดจากท่าน” (มธ 5:42) “ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน ก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย” (มธ 10:8) พระเยซูเจ้าจะทรงยอมรับผู้ที่ทรงเลือกสรรจากการที่เขาปฏิบัติต่อผู้ยากจน ในเมื่อการที่ “คนยากจนได้รับการประกาศข่าวดี” (มธ 11:5) เป็นเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า

พระคริสตเจ้า 

CCC ข้อ 453 พระนาม “พระคริสตเจ้า” หมายความว่า “ผู้รับเจิม” หรือ “พระเมสสิยาห์” พระเยซูทรงเป็นพระคริสตเจ้าเพราะ “พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38) พระองค์ทรงเป็น “ผู้ที่จะต้องมา” (ลก 7:19) เป็นความหวังของชาวอิสราเอล

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)