แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 2:1-12)                                                                                             

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมาที่เมืองคาเปอรนาอุม เมื่อเป็นที่รู้กันว่าพระองค์ประทับอยู่ในบ้าน ประชาชนจำนวนมากจึงมาชุมนุมกันจนไม่มีที่ว่างแม้กระทั่งที่ประตู พระองค์ประทานพระโอวาทสอนประชาชนเหล่านั้น ชายสี่คนหามคนอัมพาตคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ แต่เขานำคนอัมพาตนั้นฝ่าฝูงชนเข้าไปถึงพระองค์ไม่ได้ เขาจึงเปิดหลังคาบ้านตรงที่พระองค์ประทับอยู่ แล้วหย่อนแคร่ที่คนอัมพาตนอนอยู่ลงมาทางช่องนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นความเชื่อของคนเหล่านี้จึงตรัสแก่คนอัมพาตว่า “ลูกเอ๋ย บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” ที่นั่นมีธรรมาจารย์บางคนนั่งอยู่ด้วย เขาคิดในใจว่า “ทำไมคนนี้จึงพูดเช่นนี้เล่า เขากล่าวดูหมิ่นพระเจ้า ใครเล่าอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” ทันใดนั้น พระเยซูเจ้าทรงทราบความคิดของเขาด้วยพระจิตของพระองค์ จึงตรัสว่า “ท่านทั้งหลายคิดเช่นนี้ในใจทำไม อย่างใดง่ายกว่ากัน การบอกคนอัมพาตว่า ‘บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว’ หรือบอกว่า ‘ลุกขึ้น แบกแคร่เดินไปเถิด’ แต่เพื่อให้ท่านรู้ว่า บุตรแห่งมนุษย์มีอำนาจอภัยบาปได้บนแผ่นดินนี้” พระองค์ตรัสแก่คนอัมพาตว่า “เราสั่งท่าน จงลุกขึ้น แบกแคร่ กลับไปบ้านเถิด” เขาก็ลุกขึ้นแบกแคร่ออกเดินไปทันทีต่อหน้าคนทั้งปวง ทุกคนต่างประหลาดใจ ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าและพูดว่า “พวกเรายังไม่เคยเห็นอะไรเช่นนี้มาก่อนเลย”


มก 2:1-12  เป็นความเชื่อโดยทั่วไปในช่วงเวลานั้นว่า ความเจ็บป่วยหรือความพิการเป็นผลมาจากบาป ไม่ว่าจากบาปส่วนตัวของผู้ที่กำลังทนทุกข์ทรมานหรือจากครอบครัวของเขาก็ตาม เพื่อแก้ไขความเข้าใจที่ผิดนี้พระคริสตเจ้าทรงสอนเราถึงพลังแห่งการไถ่กู้ของความทุกข์ทรมาน ซึ่งเมื่อร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระมหาทรมานของพระองค์แล้ว ก็จะกลับกลายเป็นหนทางสู่การกลับใจและความศักดิ์สิทธิ์ เรื่องราวนี้ยังยืนยันถึงพระเทวภาพของพระคริสตเจ้าอีกด้วย เนื่องจากมีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถอภัยบาปได้ และพระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถรักษาผู้ป่วยอัมพาตนั้นได้ในทันที การที่พระคริสตเจ้าทรงรักษาผู้ป่วยอัมพาตนี้เป็นการพิสูจน์ถึงอำนาจแห่งพระเทวภาพของพระองค์ในการอภัยบาป มีความเจ็บป่วยอยู่สองประเภทคือ ทางด้านจิตใจและด้านร่างกาย ซึ่งนำสู่ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการรักษาสองประการคือ ศีลแห่งการคืนดีและอภัยบาป และศีลเจิมคนไข้ พึงสังเกตความแตกต่างกับคนโรคเรื้อนในบทที่แล้วตรงที่ว่า “คำภาวนา” สำหรับคนอัมพาตนั้นถูกแสดงออกอย่างเงียบๆ ด้วยการการะทำของผู้ที่แบกเขามา ผู้ซึ่งแสดงออกถึงความเชื่อของตนด้วยความพากเพียร

  CCC ข้อ 1421 พระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า แพทย์ผู้ทรงบำบัดรักษาวิญญาณและร่างกายของเรา ทรงอภัยบาปและประทานสุขภาพของร่างกายแก่คนง่อย ยังทรงประสงค์ให้พระศาสนจักรของพระองค์ใช้พระอานุภาพของพระจิตเจ้า ปฏิบัติงานบำบัดรักษาโรคและบันดาลสุขภาพให้แก่บรรดาสมาชิกของตนด้วย นี่คือจุดประสงค์ของศีลแห่งการบำบัดรักษาทั้งสองศีล คือศีลอภัยบาปและศีลเจิมคนไข้

  CCC ข้อ 1502 ในพันธสัญญาเดิม มนุษย์เมื่อเจ็บป่วยมีชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า  เขารำพันถึงความเจ็บป่วยของเขาเฉพาะพระพักตร์พระองค์ และวอนขอให้พระองค์ผู้ทรงเป็นนายของชีวิตและความตายช่วยบำบัดรักษาตน ความเจ็บป่วยเป็นหนทางการกลับใจ และพระกรุณาของพระเจ้าก็เริ่มบำบัดรักษา ชาวอิสราเอลรู้สึกว่าความเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์กับบาปและความชั่วอย่างลึกลับ และความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าตามธรรมบัญญัตินำชีวิตกลับคืนมา “เราคือพระยาห์เวห์ ผู้รักษาท่านให้หาย” (อพย 15:26) ประกาศกยังเห็นด้วยว่าความทุกข์มีความหมายอาจช่วยผู้อื่นให้พ้นจากบาปได้ด้วย[101] ในที่สุด ประกาศกอิสยาห์ยังประกาศว่าพระเจ้าจะทรงนำช่วงเวลามาให้ศิโยน ซึ่งในเวลานั้นพระองค์จะทรงอภัยความผิดทั้งหมดและจะทรงบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งหมดด้วย

  CCC ข้อ 1503 การที่พระคริสตเจ้าทรงแสดงความเห็นใจต่อคนเจ็บป่วยและทรงรักษาโรคคนเจ็บป่วยชนิดต่างๆ หลายครั้งเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระเจ้าทรงมาเยี่ยมประชากรของพระองค์และพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้เต็มทีแล้ว พระเยซูเจ้าไม่ทรงมีแต่เพียงอำนาจบำบัดรักษาเท่านั้น แต่ยังทรงมีอำนาจที่จะอภัยบาปด้วย พระองค์เสด็จมาเพื่อจะทรงบำบัดรักษามนุษย์ทั้งตัว คือทั้งร่างกายและวิญญาณ พระองค์ทรงเป็นนายแพทย์ที่คนเจ็บป่วยต้องการ ความเห็นอกเห็นใจที่ทรงมีต่อทุกคนที่กำลังทนทุกข์ก้าวไปไกลจนทำให้พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับเขาเหล่านั้น “เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม” (มธ 25:36) ตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ความรักของพระองค์เป็นพิเศษต่อคนเจ็บป่วยไม่ได้หยุดยั้งที่จะปลุกให้บรรดาคริสตชนมีความเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อผู้ที่ต้องทนทุกข์ทั้งในร่างกายหรือจิตใจ ความพยายามอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะช่วยเขาเหล่านี้เกิดจากความเอาใจใส่นี้เอง

  CCC ข้อ 2616 พระเยซูเจ้าทรงรับฟังการอธิษฐานภาวนาต่อพระองค์แล้วตั้งแต่ในเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชน ผ่านทางเครื่องหมายที่เกริ่นล่วงหน้าแล้วถึงอานุภาพของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อที่แสดงออกด้วยคำพูด (จากคนโรคเรื้อน จากไยรัส จากหญิงชาวคานาอัน จากโจรกลับใจ) หรือที่แสดงออกเงียบๆ (จากคนที่แบกคนอัมพาตเข้ามา จากหญิงตกเลือดที่มาสัมผัสฉลองพระองค์ ด้วยน้ำตาและเครื่องหอมของหญิงคนบาป) การพร่ำขอของคนตาบอดว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิดโปรดเมตตาเราเถิด” (มธ 9:27) หรือ “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (มก 10:47) ซึ่งจะถูกรับไว้ในธรรมประเพณีต่อมาที่เรียกว่า การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า คือวลีว่า “ข้าแต่พระเยซู ข้าแต่พระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า พระเจ้าข้า โปรดทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระเยซูเจ้าทรงตอบการอธิษฐานภาวนาที่อ้อนวอนพระองค์ด้วยความเชื่อเสมอ โดยทรงรักษาโรคหรือประทานอภัยบาป “จงไปเป็นสุขเถิด ความเชื่อของลูกช่วยลูกให้รอดพ้นแล้ว”

นักบุญออกัสตินสรุปเกี่ยวกับสามมิติของการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าไว้อย่างน่าฟังว่า “พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อเราในฐานะพระสงฆ์ของเรา ทรงอธิษฐานภาวนาในตัวเรา ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของเรา ทรงรับคำอธิษฐานภาวนาจากเรา ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้าของเรา ดังนั้น เราจงยอมรับเสียงของเราในพระองค์ และเสียงของพระองค์ในเรา”


มก 2:5  เมื่อเห็นถึงความเชื่อของผู้ที่นำคนเป็นอัมพาตมาหาพระองค์ พระคริสตเจ้าจึงทรงอภัยบาปให้แก่เขา ในทำนองเดียวกันกับที่บรรดาผู้ปกครองและพ่อแม่ทูนหัวที่นำเด็กมารับศีลล้างบาป เด็กนั้นได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ทั้งจากบาปกำเนิดและจากบาปปัจจุบันของเขา ด้วยพระวาจาคล้ายกันกับที่กล่าวแก่คนอัมพาต ในทุกวันนี้พระคริสตเจ้าทรงให้อภัยเราโดยทางศีลแห่งการคืนดีและอภัยบาปว่า “ข้าพเจ้าอภัยบาปให้ท่าน...”  การสารภาพบาปแบบส่วนตัวเป็นข้อปฏิบัติเพื่อการคืนดีกับพระเจ้าและกับพระศาสนจักรสำหรับบาปที่ได้กระทำหลังจากการรับศีลล้างบาป

  CCC ข้อ 1441 พระเจ้าเท่านั้นทรงอภัยบาปได้ พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า พระองค์จึงตรัสถึงพระองค์เองว่า “บุตรแห่งมนุษย์มีอำนาจอภัยบาปได้บนแผ่นดิน” (มก 2:10) และทรงใช้อำนาจนี้ของพระเจ้า “บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” (มก 2:5) ยิ่งกว่านั้น พระองค์เองทรงใช้อำนาจพระเจ้าของพระองค์ ประทานอำนาจนี้แก่มนุษย์ เพื่อจะได้ใช้อำนาจนี้ในพระนามของพระองค์

  CCC ข้อ 1484 “การสารภาพบาปทีละคนอย่างครบถ้วนและการอภัยบาปยังคงเป็นวิธีการปกติวิธีเดียวที่ผู้มีความเชื่อจะกลับคืนดีกับพระเจ้าและพระศาสนจักรได้ เว้นแต่ว่าเมื่อการสารภาพบาปเช่นนี้ทำไม่ได้เพราะมีเหตุขัดข้องทางกายภาพ (คือในกรณีพิเศษที่เกิดขึ้น) หรืออาจมีเหตุจำเป็นหรือควรอนุญาตให้อภัยบาปพร้อมกันหลายๆ คน โดยไม่ต้องสารภาพบาปทีละคนก่อนเลยก็ได้” จะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องมีเหตุผลจำเป็นจริงๆ พระคริสตเจ้าทรงทำงานในศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละศีลทรงกล่าวเป็นการส่วนตัวแก่คนบาปแต่ละคน “ลูกเอ๋ย บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” (มก 2:5) พระองค์ทรงเป็นนายแพทย์ผู้เอาใจใส่ต่อคนเจ็บแต่ละคนที่ต้องการพระองค์เพื่อทรงบำบัดรักษาเขา พระองค์ทรงยกเขาขึ้นมาและทำให้เขากลับมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดาพี่น้องอีก การสารภาพบาปทีละคนจึงเป็นรูปแบบการกลับคืนดีกับพระเจ้าและกับพระศาสนจักรที่มีความหมายอย่างที่สุด


มก 2:7  โดยยืนยันถึงเรื่องการอภัยบาป พระคริสตเจ้าทรงประกาศตนเสมอเท่าพระเจ้า และการยืนยันเช่นนี้ทำให้ผู้มีอำนาจของชาวยิวหลายคนกล่าวหาว่าพระองค์ดูหมิ่นพระเจ้า การดูหมิ่นและการพยากรณ์เท็จเป็นความผิดอย่างร้ายแรงภายใต้บทบัญญัติของโมเสส ซึ่งพวกเขากำหนดโทษให้ผู้กระทำความผิดต้องถูกขว้างด้วยหินจนถึงตาย

  CCC ข้อ 430 “เยซู” ในภาษาฮีบรูแปลว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” เมื่อทูตสวรรค์กาเบรียลมาแจ้งข่าว ท่านถวายพระนามให้พระองค์ว่า “เยซู” ซึ่งในเวลาเดียวกันก็แสดงถึงพันธกิจของพระองค์ด้วย ในเมื่อไม่มีใคร “อภัยบาปได้ นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7) พระองค์จึง “จะทรงช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21) ในพระเยซูเจ้าพระบุตรนิรันดรของพระองค์ ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ดังนี้ ในพระเยซูเจ้า พระเจ้าจึงทรงเริ่มประวัติศาสตร์ของพระองค์ที่จะทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นขึ้นมาใหม่

  CCC ข้อ 574 นับตั้งแต่แรกที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอนประชาชน ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด รวมทั้งบรรดาสมณะและธรรมาจารย์ ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร เพราะกิจการบางอย่างที่ทรงกระทำ เช่น การขับไล่ปีศาจ การอภัยบาป การรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต การที่ทรงตีความตามแบบของพระองค์เกี่ยวกับกฎเรื่องการมีมลทินหรือไม่มี การที่ทรงคบค้ากับคนเก็บภาษีเพื่อรัฐบาลโรมและคนบาป บางคนที่มีเจตนาร้ายได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงถูกปีศาจสิง พระองค์ยังทรงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้า และเป็นประกาศกเทียม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดทางศาสนาที่ธรรมบัญญัติกำหนดโทษให้ประหารชีวิตโดยใช้ก้อนหินทุ่มให้ตาย

  CCC ข้อ 589 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจโดยเฉพาะ เพราะทรงประกาศว่าการที่ทรงแสดงพระทัยเมตตากรุณาต่อคนบาปนั้นเป็นเหมือนกับที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อพวกเขาด้วย พระองค์ยังตรัสเป็นนัยอีกว่าการที่ทรงร่วมโต๊ะกับพวกคนบาปนั้น เป็นการที่ทรงรับพวกเขาให้ร่วมโต๊ะในยุคพระเมสสิยาห์ แต่โดยเฉพาะเมื่อทรงอภัยบาป พระเยซูเจ้าทรงทำให้ผู้นำทางศาสนาของอิสราเอลจนตรอก เขากล่าวถูกต้องแล้วด้วยความขัดเคืองมิใช่หรือว่า “ใครอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7) ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอภัยบาป ก็หมายความว่าพระองค์กล่าวดูหมิ่นพระเจ้า เป็นมนุษย์ผู้ตั้งตนเสมอเท่าพระเจ้า หรือมิฉะนั้นก็ทรงกล่าวความจริง และพระองค์ก็ทรงเปิดเผยและทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จักแก่ทุกคน

  CCC ข้อ 1441 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มก 2:5)


มก 2:8  พระเยซูเจ้าทรงทราบ... ด้วยพระจิตของพระองค์ : พระคริสตเจ้าทรงทราบถึงความคิดและเจตจำนงของมนุษย์

  CCC ข้อ 473 แต่ในเวลาเดียวกัน ความรู้แบบมนุษย์จริงๆ นี้ของพระบุตรพระเจ้าก็สะท้อนชีวิตพระเจ้าที่ทรงมีด้วย “พระบุตรพระเจ้าทรงทราบทุกสิ่ง และโดยทางพระองค์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ไม่ใช่โดยธรรมชาติ แต่ในฐานะที่ทรงร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระวจนาตถ์ [...] สภาพมนุษย์ที่ทำให้พระองค์รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระวจนาตถ์นี้รู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับพระเจ้าและแสดงทุกสิ่งเหล่านี้ให้เห็นในพระองค์ว่าทรงพระเดชานุภาพ” นี่เป็นกรณีโดยเฉพาะของความรู้ลึกซึ้งและโดยตรงที่พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงเป็นมนุษย์ทรงมีเกี่ยวกับพระบิดาของพระองค์ พระบุตร แม้ในความรู้แบบมนุษย์ที่ทรงมี ก็ยังแสดงให้เห็นว่าทรงทราบถึงความคิดลึกลับภายในใจมนุษย์ได้ด้วย

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)