แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 1:18-24)                                                                                          

เรื่องราวการประสูติของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นดังนี้ พระนางมารีย์ พระมารดาของพระองค์หมั้นกับโยเซฟ แต่ก่อนที่ท่านทั้งสองจะครองชีวิตร่วมกัน ปรากฏว่าพระนางตั้งครรภ์แล้วเดชะพระจิตเจ้า โยเซฟคู่หมั้นของพระนางเป็นผู้ชอบธรรมไม่ต้องการฟ้องหย่าพระนางอย่างเปิดเผย จึงคิดถอนหมั้นอย่างเงียบๆ ขณะที่โยเซฟกำลังคิดถึงเรื่องนี้อยู่ ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าก็มาเข้าฝัน กล่าวว่า “โยเซฟ โอรสกษัตริย์ดาวิด อย่ากลัวที่จะรับมารีย์มาเป็นภรรยาของท่านเลย เพราะเด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางมาจากพระจิตเจ้า นางจะให้กำเนิดบุตรชาย ท่านจงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู เพราะเขาจะช่วยประชากรของเขาให้รอดพ้นจากบาป” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อพระดำรัสขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสผ่านประกาศกจะเป็นความจริงว่า หญิงพรหมจารีจะตั้งครรภ์ และจะคลอดบุตรชาย ซึ่งจะได้รับนามว่า “อิมมานูเอล”แปลว่า พระเจ้าสถิตกับเรา” เมื่อโยเซฟตื่นขึ้น เขาก็ทำตามที่ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งไว้ คือรับภรรยามาอยู่ด้วย


มธ 1:18  ก่อนที่ท่านทั้งสองจะครองชีวิตร่วมกัน: พระนางมารีย์ทรงเป็นหญิงพรหมจารีเมื่อพระคริสตเจ้าทรงปฏิสนธิ  พระนางตั้งครรภ์แล้วเดชะพระจิตเจ้า: พระจิตของพระเจ้าทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้าปฏิสนธิอย่างนิรมลทินในครรภ์ของพระนางมารีย์ ทั้งนี้ทำให้คำทำนายของประกาศกอิสยาห์กลายเป็นจริงและยืนยันถึงความเป็นพระเจ้าของพระคริสตเจ้า (เทียบ อสย 7:14; มธ 1:23) พระเจ้าทรงเลือกโยเซฟให้เป็นภัสดาของพระนางมารีย์และเป็นผู้อารักขาครอบครัวศักดิ์สิทธิ์

CCC ข้อ 497 เรื่องที่เล่าในพระวรสารเข้าใจว่าการปฏิสนธิจากหญิงพรหมจารีเป็นผลงานของพระเจ้า ทั้งยังอยู่เหนือความเข้าใจและความสามารถของมนุษย์ ทูตสวรรค์บอกโยเซฟเรื่องมารีย์ซึ่งเป็นภรรยาว่า “เพราะเด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางนั้นมาจากพระจิตเจ้า” (มธ 1:20) พระศาสนจักรมองเห็นเหตุการณ์นี้เป็นการทำให้พระสัญญาที่ประกาศกอิสยาห์เคยกล่าวไว้ (ตามสำนวนภาษากรีกของ มธ 1:23) สำเร็จไป “หญิงพรหมจารีจะตั้งครรภ์และจะคลอดบุตรชาย” (อสย 7:14)


มธ 1:19 กฎของโมเสสกำหนดว่าผู้ผิดประเวณีต้องมีโทษถึงตาย บางคนคิดว่าโยเซฟอาจจะสงสัยว่า พระนางมารีย์ได้ทำผิดประเวณี แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบธรรม โยเซฟจึงตัดสินใจจัดการเรื่องนี้แบบส่วนตัว ส่วนอีกบางคนเชื่อว่า โยแซฟเข้าใจว่าเป็นพระจิตเจ้าที่ทรงทำงานในตัวพระนาง (เทียบ มธ 1:18) และคิดว่าท่านน่าจะไม่มีบทบาทในชีวิตของพระนางอีกต่อไป

CCC ข้อ 495 พระนางมารีย์ ซึ่งในพระวรสารได้รับพระนามว่า “พระมารดาของพระเยซูเจ้า” (ยน 2:1; 19:25) แม้ก่อนจะประสูติพระบุตร นางเอลีซาเบธก็ได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าประกาศว่าพระนางทรงเป็น “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 1:43) แล้ว พระองค์ที่พระนางได้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์เดชะพระจิตเจ้า และทรงรับสภาพมนุษย์มาเป็นพระบุตรของพระนางนี้ก็มิใช่ผู้ใดอื่นจากพระบุตรนิรันดรของพระบิดา พระบุคคลที่สองของพระตรีเอกภาพ พระศาสนจักรประกาศว่าพระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า (Theotokos) โดยแท้จริง

CCC ข้อ 496 นับตั้งแต่สูตรแสดงความเชื่อแบบแรกๆ แล้ว พระศาสนจักรประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางพรหมจารีมารีย์เดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้า โดยยืนยันถึงลักษณะทางกายภาพของเหตุการณ์นี้ด้วยว่า พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิ “เดชะพระจิตเจ้า […]โดยไม่มีเชื้อพันธุ์ของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” ในการปฏิสนธิจากพรหมจารีนี้ บรรดาปิตาจารย์แลเห็นเครื่องหมายจากการที่พระบุตรของพระเจ้าเสด็จมารับสภาพมนุษย์เหมือนกับสภาพมนุษย์ของเรานักบุญอิกญาซีโอแห่งอันทิโอค (ต้นศตวรรษที่ 2) กล่าวไว้ดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าท่านทั้งหลายมีความเชื่อมั่นเต็มที่ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราโดยธรรมชาติมนุษย์ทรงบังเกิดโดยแท้จริงในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าตามพระประสงค์และโดยพระอานุภาพของพระเจ้าทรงบังเกิดจริงๆ จากหญิงพรหมจารี... พระกายถูกตะปูตรึงบนไม้กางเขนเพื่อพวกเราสมัยปอนทิอัสปีลาต... ทรงรับทรมานโดยแท้จริงเพื่อจะทรงกลับคืนพระชนมชีพโดยแท้จริงด้วย”


มธ 1:20  ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า: ในพันธสัญญาใหม่นั้นมีการบันทึกอยู่บ่อยครั้งถึงบทบาทหน้าที่อันสำคัญของทูตสวรรค์ในชีวิตและพันธกิจของพระคริสตเจ้า ทูตสวรรค์คือผู้นำสารของพระเจ้าที่คอยนมัสการและปกป้องพระคริสตเจ้าและประกาศข่าวดีของพระเจ้าอยู่เสมอ  ความฝัน: พระเจ้าตรัสกับโยเซฟในความฝัน (เทียบ มธ 2:13, 19, 22) ดังเช่นที่พระองค์เคยตรัสกับโยเซฟผู้เป็นบรรพบุรุษ (เทียบ ปฐก 37:5-11) 

CCC ข้อ 333 นับตั้งแต่การรับสภาพมนุษย์จนถึงการเสด็จสู่สวรรค์ พระชนมชีพของพระวจนาตถ์ผู้รับสภาพมนุษย์มีทูตสวรรค์คอยนมัสการและรับใช้อยู่ตลอดเวลา เมื่อพระเจ้า “ทรงส่งพระโอรสองค์แรกมาสู่โลกมนุษย์ พระองค์ตรัสว่า‘ให้ทูตสวรรค์ทั้งหลายของพระเจ้ากราบนมัสการพระองค์เถิด’” (ฮบ 1:6) บทเพลงสรรเสริญของบรรดาทูตสวรรค์ในการสมภพของพระคริสตเจ้ายังคงดังก้องอยู่ตลอดมาในการขับร้องสรรเสริญของพระศาสนจักร “พระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระเจ้าในสวรรค์สูงสุด...”(ลก 2:14) บรรดาทูตสวรรค์คอยปกป้องพระเยซูเจ้าในปฐมวัย คอยปรนนิบัติรับใช้พระองค์ในถิ่นทุรกันดาร มาปลอบโยนเมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์ในสวนเกทเสมนี ถ้าทรงประสงค์ พระองค์อาจทรงได้รับความช่วยเหลือจากทูตสวรรค์ให้พ้นจากเงื้อมมือของบรรดาศัตรู เช่นเดียวกับที่อิสราเอลเคยได้รับในอดีตด้วย บรรดาทูตสวรรค์ยังนำข่าวดีมาบอก ให้บรรดาคนเลี้ยงแกะรู้เรื่องการที่พระเจ้าเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ และประกาศข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าให้บรรดาศิษย์รู้ บรรดาทูตสวรรค์จะปรากฏมาประกาศการเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้า และมารับใช้พระองค์ในการพิพากษามวลมนุษย์

CCC ข้อ 437 ทูตสวรรค์แจ้งข่าวการสมภพของพระเยซูเจ้าว่าเป็นการสมภพของพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้แก่อิสราเอล “วันนี้ในเมืองของกษัตริย์ดาวิด พระผู้ไถ่ประสูตรเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 2:11) ตั้งแต่แรกแล้ว พระองค์ทรงเป็น “ผู้ที่พระบิดาทรงบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์และทรงส่งมาในโลก” (ยน 10:36) เป็น “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งปฏิสนธิในพระครรภ์พรหมจารีของพระนางมารีย์32 พระเจ้าทรงเรียกโยเซฟให้มารับพระนางมารีย์ผู้ทรงครรภ์แล้วเป็นภรรยา เพราะ “เด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางนั้นมาจากพระจิตเจ้า” (มธ 1:20) เพื่อให้พระเยซูเจ้า “ที่ขานพระนามว่า ‘พระคริสตเจ้า’” จะได้เกิดจากภรรยาของโยเซฟ อยู่ในลำดับวงศ์ตระกูลพระเมสสิยาห์ของกษัตริย์ดาวิด (มธ 1:16)

CCC ข้อ 486 พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระบิดาทรงปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในพระครรภ์ของพระนางมารีย์พรหมจารี ทรงเป็น “พระคริสตเจ้า” นั่นคือทรงรับเจิมจากพระจิตเจ้า ตั้งแต่แรกเริ่มที่ทรงความเป็นอยู่อย่างมนุษย์ แม้ว่าการแสดงความจริงประการนี้ค่อยๆ ปรากฏตามลำดับ แก่บรรดาผู้เลี้ยงแกะ แก่โหราจารย์ แก่ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง แก่บรรดาศิษย์ ดังนั้น พระชนมชีพทั้งหมดของพระเยซูคริสตเจ้าจะแสดงให้ปรากฏว่า “พระเจ้าทรงเจิมพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38)

CCC ข้อ 497 อ่านเพิ่มเติมด้านบน มธ 1:18


มธ 1:21-25  พระนาม เยซู แสดงถึงอัตลักษณ์ของพระเยซูเจ้าและพันธกิจแห่ง “การช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้นจากบาป” ด้วยอัตลักษณ์ของความเป็นพระเจ้าพระองค์จึงทรงอภัยบาปได้ พระคริสตเจ้าทรงเปิดเผยของประทานแห่งพระเมตตาจากพระเจ้าให้แก่คนบาป พระนามของพระเยซูเจ้านั้นเป็นหัวใจของบทภาวนาของคริสตชน เหตุว่าการภาวนาถึงพระเยซูเจ้าหมายถึงการตระหนักในความเป็นพระเจ้า พระอานุภาพแห่งการช่วยให้รอดพ้นและการประทับอยู่ในทุกหนแห่งของพระองค์

CCC ข้อ 430 “เยซู” ในภาษาฮีบรูแปลว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” เมื่อทูตสวรรค์กาเบรียลมาแจ้งข่าว ท่านถวายพระนามให้พระองค์ว่า “เยซู” ซึ่งในเวลาเดียวกันก็แสดงถึงพันธกิจของพระองค์ด้วย ในเมื่อไม่มีใคร “อภัยบาปได้ นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7) พระองค์จึง “จะทรงช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21) ในพระเยซูเจ้าพระบุตรนิรันดรของพระองค์ ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ดังนี้ ในพระเยซูเจ้า พระเจ้าจึงทรงเริ่มประวัติศาสตร์ของพระองค์ที่จะทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นขึ้นมาใหม่

CCC ข้อ 1507 หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรื้อฟื้นพันธกิจประการนี้โดยตรัสว่า “ในนามของเรา […] เขาจะปกมือเหนือคนเจ็บ คนเจ็บเหล่านั้นก็จะหายจากโรคภัย” (มก 16:17-18) และทรงรับรองพันธกิจนี้โดยเครื่องหมายอัศจรรย์ต่างๆ ที่พระศาสนจักรกระทำโดยเรียกขานพระนามของพระองค์ เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้แสดงให้เห็นโดยเฉพาะว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น”

CCC ข้อ 1846 พระวรสารเป็นการเปิดเผยพระเมตตาที่พระเจ้าทรงมีต่อคนบาปในพระเยซูคริสตเจ้า ทูตสวรรค์แจ้งข่าวนี้แก่โยเซฟว่า “ท่านจงตั้งชื่อเขาว่าเยซู เพราะเขาจะช่วยประชากรของเขาให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21) ข้อความนี้ยังเป็นจริงอีกด้วยกับศีลมหาสนิท ศีลแก่การไถ่กู้ “นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกมาเพื่ออภัยบาปมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 26:28)

CCC ข้อ 2663 ในธรรมประเพณีที่มีชีวิตชีวาของการอธิษฐานภาวนา พระศาสนจักรแต่ละแห่งเสนอภาษาของการอธิษฐานภาวนา ได้แก่ถ้อยคำ ทำนองเพลง ท่าทาง รูปภาพศักดิ์สิทธิ์ ให้แก่บรรดาผู้มีความเชื่อสมาชิกของตนตามบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของเขา เป็นหน้าที่ผู้มีอำนาจสอนของพระศาสนจักร ที่จะพิจารณาแนวทางของการอธิษฐานภาวนาเหล่านี้ว่าซื่อสัตย์สอดคล้องกับธรรมประเพณีความเชื่อที่ได้รับตกทอดมาจากบรรดาอัครสาวก และเป็นหน้าที่ของบรรดาผู้อภิบาลและผู้สอนคำสอน ที่จะอธิบายความหมายของบทภาวนาเหล่านี้ ซึ่งกล่าวพาดพิงถึงพระเยซูคริสตเจ้าเสมอ

CCC ข้อ 2664 การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนไม่มีหนทางอื่นใดนอกจากพระคริสตเจ้า การอธิษฐานภาวนาของเรา ไม่ว่าจะเป็นการอธิษฐานภาวนาร่วมกันของชุมชนหรือส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการอธิษฐานภาวนาโดยออกเสียงหรือเป็นการภาวนาในใจ จะไปถึงพระบิดาไม่ได้นอกจากเราจะอธิษฐานภาวนา “ในพระนาม” ของพระเยซูเจ้า พระธรรมชาติมนุษย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าจึงเป็นหนทางที่พระจิตเจ้าทรงใช้สอนเราให้อธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าพระบิดาของเรา

CCC ข้อ 2665 การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร ซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาของพระเจ้าและการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ สอนเราให้อธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า แม้ว่าการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรส่วนใหญ่จะมุ่งหาพระบิดา ก็ยังมีสูตรบทภาวนาจำนวนหนึ่งในทุกธรรมประเพณีทางพิธีกรรมที่มุ่งหาพระคริสตเจ้าด้วย เพลงสดุดีบางบทที่ในปัจจุบันได้รับการปรับใช้ตามสถานการณ์ในการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร และพันธสัญญาใหม่ยังเชิญชวนให้เราใช้คำพูดกล่าวเพลงสดุดีเหล่านี้ และคิดคำนึงในใจให้เป็นการอธิษฐานภาวนาเรียกหาพระคริสตเจ้า เช่น ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า ข้าแต่พระวจนาตถ์ของพระเจ้า ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าแต่พระผู้ไถ่กู้ ลูกแกะพระเจ้า ข้าแต่พระมหากษัตริย์ ข้าแต่พระบุตรสุดที่รักข้าแต่พระบุตรของพระนางพรหมจารี ข้าแต่ผู้อภิบาลที่ดี ชีวิตของข้าพเจ้าทั้งหลาย แสงสว่างของข้าพเจ้าทั้งหลาย ความหวังของข้าพเจ้าทั้งหลาย การกลับคืนชีพของข้าพเจ้าทั้งหลายมิตรของมวลมนุษย์ ฯลฯ

CCC ข้อ 2666 แต่พระนามที่ครอบคลุมทุกอย่าง และที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับพร้อมกับพระธรรมชาติมนุษย์ก็คือพระนาม “เยซู” พระนามของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ปากของเรากล่าวไม่ได้ แต่พระวจนาตถ์ของพระเจ้าเมื่อทรงรับพระธรรมชาติมนุษย์ ได้ทรงมอบพระนามนี้ให้เราทูลเรียกพระองค์ คือพระนาม “เยซู” ซึ่งแปลว่า “พระยาห์เวห์ทรงช่วยให้รอดพ้น” พระนาม “เยซู” หมายความถึงทุกอย่าง หมายถึงพระเจ้าและมนุษย์ รวมทั้งสิ่งสร้างและแผนการการความรอดพ้นทั้งหมดอธิษฐานภาวนาถึง “พระเยซู” เป็นการร้องหาพระองค์ เป็นการเรียกพระองค์ในตัวเรา พระนามของพระองค์เป็นพระนามเดียวที่มีสิ่งที่พระนามนี้หมายถึงร่วมอยู่ด้วย พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว และใครๆที่เรียกขานพระนามของพระองค์ย่อมรับพระบุตรของพระเจ้าซึ่งทรงรักเขาและทรงมอบพระองค์เพื่อเขา

CCC ข้อ 2812 ในที่สุด พระนามของพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็ได้รับการเปิดเผยและประทานให้เราในพระเยซูเจ้าพระผู้ไถ่ที่ทรงรับสภาพมนุษย์ ได้รับการเปิดเผยจากสภาพที่พระองค์เองทรงเป็น จากพระวาจาที่ตรัสและจากการถวายบูชาของพระองค์ การเปิดเผยนี้เป็นหัวใจของคำอธิษฐานภาวนาของพระองค์ในฐานะมหาสมณะ เมื่อตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าถวายตนเป็นบูชาสำหรับเขา เพื่อเขาจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงด้วย” (ยน 17:19) เพราะว่าพระเยซูเจ้าทรง “บันดาลความศักดิ์สิทธิ์” แก่พระนามของพระองค์ ก็ยังทรง “แสดง” พระนามของพระบิดาให้แก่เราด้วย เมื่อปัสกาของพระเยซูเจ้าสิ้นสุดแล้ว พระบิดาก็ประทานพระนามที่ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้นให้แก่พระองค์ด้วยโดยทรงประกาศว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าพระบิดา


มธ 1:23  ตลอดประวัติศาสตร์แห่งการไถ่กู้ พระเจ้าทรงเตรียมประชากรของพระองค์ให้พร้อมสำหรับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า พระจิตเจ้าทรงทำให้การเตรียมพร้อมนี้สำเร็จไปในพระนางมารีย์  พระเจ้าสถิตกับเรา: การรับสภาพเป็นมนุษย์และการบังเกิดมาของพระคริสตเจ้าประกาศถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าท่ามกลางประชากรของพระองค์ ซึ่งเป็นการประทับอยู่อย่างถาวร (เทียบ มธ 28:20)

CCC ข้อ 497 อ่านเพิ่มเติมด้านบน มธ 1:18

CCC ข้อ 744 เมื่อถึงเวลาที่ทรงกำหนดไว้ พระจิตเจ้าทรงทำให้การเตรียมรับพระคริสตเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ในหมู่ประชากรของพระเจ้า สำเร็จไปในพระนางมารีย์ อาศัยพระราชกิจของพระจิตเจ้า ในพระนาง พระบิดาประทาน “องค์อิมมานูเอล – พระเจ้าสถิตกับเรา” แก่โลกนี้ (มธ 1:23)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)