แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ข้อคิดข้อรำพึง

อาทิตย์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา ปี B

26th Sunday 1

 มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งนำเอาเค้าโครงเรื่องมาจากชีวิตของนักบุญโทมัส โมร์ มรณสักขีชาวอังกฤษ (ค.ศ. 1477-1535) ในวัยหนุ่มท่านได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย อ๊อกฟอร์ด เมื่อจบการศึกษาได้เข้ารับราชการ และได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในตำแหน่งหน้าที่

 

 ในปี ค.ศ.1529 กษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 ทรงแต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งมหาเสนาบดีแห่งประเทศอังกฤษ (Chancellor of England)  แต่แล้ว โศกนาฏกรรมก็เข้ามาในชีวิตของท่านนักบุญ  มันเกิดขึ้นดังนี้ กษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 ได้ทรงหย่าร้างกับพระราชินี แล้วอภิเษกสมรสใหม่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้นเพื่อจะต่อสู้กับพวกที่คัดค้านการสมรสนี้  พระองค์ทรงออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้ทรงเกียรติในตำแหน่งสูงๆ ของรัฐลงลายมือชื่อในเอกสาร  โดยสาบานภายใต้คำปฏิญญาว่า การสมรสของพระองค์ครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมาย ทรงกำชับด้วยว่าถ้าใครปฏิเสธที่จะลงนามในเอกสาร ผู้นั้นจะถูกจับกุมในข้อหากบฏ

 

 ฉากที่เศร้าสะเทือนใจคือตอนที่ลอร์ด นอร์โฟล์ค นำเอกสารไปให้โทมัส โมร์  ท่านปฏิเสธที่จะลงนามนั้น  ไม่ว่าท่านลอร์ดจะเชิญชวนให้ท่านเปลี่ยนใจเช่นไร  ที่สุดท่านลอร์ดหมดความอดทน จึงพูดกับเพื่อนว่า

26th Sunday 2

 “ฉันสับสนไปหมดแล้ว… ฉันไม่รู้หรอกว่าการสมรสนี้มันจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่โทมัส ลองดูรายชื่อเหล่านี้สิ เธอรู้จักคนเหล่านี้ทุกคน แล้วเธอจะไม่ทำอย่างที่พวกเราได้ทำ เพื่อร่วมหัวจมท้ายด้วยกันหรือ”

 

 แต่โทมัส โมร์ ยังคงปฏิเสธ ท่านจะไม่ยอมสาบานในสิ่งที่ใจท่านรู้ว่ามันผิด ดังนั้น ต่อมาท่านถูกจับคุมขัง และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตในข้อหาเป็นกบฏในวันที่ 6กรกฎาคม ค.ศ. 1535

 

 เรื่องของนักบุญโทมัสสะท้อนให้เห็นคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าในพระวรสารของอาทิตย์นี้

 

 “ถ้ามือข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย… ถ้าเท้าข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย… ถ้าตาข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงควักมันออกเสีย ท่านจะเข้าพระอาณาจักรของพระเจ้า โดยมีตาข้างเดียว ยังดีกว่ามีตาทั้งสองข้าง แต่ต้องถูกโยนลงนรก…”

 

 แน่นอนครับ พระเยซูเจ้ามิได้ทรงบอกให้เราทำตามตัวอักษร พระองค์เพียงทรงใช้สำนวนโวหารง่ายๆ ที่ผู้คนในสมัยของพระองค์คุ้นเคยเพื่อสื่อความหมายที่สำคัญกว่านั้น กล่าวคือ  ผู้ที่ติดตามพระองค์ต้องเต็มใจจะอุทิศถวายแม้สิ่งที่จำเป็นเพื่อจะได้ห่างไกลจากบาป  พวกเขาต้องเต็มใจยกถวายแม้สิ่งที่มีค่ามากที่สุดสำหรับเขา เพื่อจะได้เข้าสู่พระอาณาจักรสวรรค์

 

 ในกรณีของนักบุญโทมัส โมร์ นี้ หมายถึงการอุทิศชีวิตของตนเอง  บางที เราคิดเอาง่ายๆ ว่า ก็ท่านเป็นนักบุญ การยอมสละชีวิตน่าจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับท่าน ลองอ่านจดหมายที่ท่านเขียนถึงลูกสาวไม่นานหลังการจับกุมว่าท่านต้องต่อสู้ภายในจิตใจอย่างหนักหน่วงเพียงไร

 

 “เม็ก ลูกรัก… พ่อจะไม่หมดความไว้วางใจในพระเจ้า แม้จะรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอมากเพียงไร และเกือบพ่ายแพ้ต่อความหวาดกลัว  พ่อจะจำในสิ่งที่นักบุญเปโตรได้ทำในขณะที่เผชิญกับลมพายุและรู้สึกว่ากำลังจะจมลงเพราะขาดความเชื่อ พ่อจะทำเช่นเดียวกับท่าน คือร้องเรียกหาพระคริสต์และขอความช่วยเหลือจากพระองค์ และพ่อเชื่อว่าพระองค์จะทรงยื่นพระหัตถ์อันศักดิ์สิทธิ์ดึงพ่อขึ้นมาจากการจมอยู่ในทะเลที่ปั่นป่วน  ดังนั้น ลูกสาวที่น่ารักของพ่อ อย่าให้จิตใจของลูกวิตกกังวลกับสิ่งที่กำลังจะเกิดกับพ่อในโลกนี้  ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ใช่พระประสงค์ของพระ และพ่อแน่ใจว่า อะไรที่จะเกิดขึ้น แม้ดูเหมือนเป็นสิ่งเลวร้าย แต่ที่สุดแล้วจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”  (Mark Link, SJ; Illustrated Sunday Homilies-Year B; pp. 216-218)

 

 มนุษย์สมัยนี้รวมทั้งเราทุกคนด้วยอาจจะคิดไม่ค่อยเหมือนนักบุญโทมัส โมร์ แล้ว บางทีอาจจะคิดตรงข้ามด้วยซ้ำ  บางทีเราเลือกที่จะทำบาปโดยไม่ค่อยหวั่นเกรงสิ่งใด  ที่สำคัญมโนธรรมที่เตือนให้เราละอายต่อบาป และละทิ้งบาปนั้นดูเหมือนไม่ค่อยขึงขังเท่าไหร่นัก การที่เราเลือกทำบาปง่ายๆ เท่ากับการที่เราคิดรักษาชีวิต รักษาความพึงพอใจตามราคะตัณหาไว้  โดยไม่ยอมเสียสละสิ่งใดเลย แล้วทราบไหมครับ ว่าผลสุดท้ายที่ตามมาจะเป็นเช่นไร คือการที่เราจะสูญเสียสิ่งที่เรารักษาไว้ไปทั้งหมด ไม่เหลืออะไรเลย แม้แต่ชีวิตแห่งความสุขนิรันดรกับองค์พระผู้เป็นเจ้า

 

(คุณพ่อ วิชา  หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2012

Based on : Illustrated Sunday Homilies, Year - B ;  by : Mark Link, SJ)

26th Sunday 326th Sunday 4