แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 8:4-15)                  

ขณะนั้นประชาชนจำนวนมากเดินทางจากเมืองต่างๆ มาเฝ้าพระเยซูเจ้าและชุมนุมกัน พระองค์จึงทรงกล่าวเป็นอุปมาว่า “ชายคนหนึ่งออกไปหว่านเมล็ดพืช ขณะที่กำลังหว่านอยู่นั้น บางเมล็ดตกอยู่ริมทางเดิน จึงถูกเหยียบย่ำ และนกในอากาศจิกกินจนหมด บางเมล็ดตกบนหิน พองอกขึ้นมาก็เหี่ยวแห้งเพราะขาดความชุ่มชื้น บางเมล็ดตกกลางกอหนาม ต้นหนามที่งอกขึ้นพร้อมกันก็คลุมไว้จนตาย บางเมล็ดตกในที่ดินดี จึงงอกขึ้นและเกิดผลร้อยเท่า” พระองค์ตรัสดังนี้แล้วทรงเปล่งเสียงดังว่า “ใครมีหูสำหรับฟัง ก็จงฟังเถิด” บรรดาศิษย์ทูลถามพระองค์ว่า อุปมาเรื่องนี้มีความหมายว่าอย่างไร พระองค์จึงตรัสว่า “พระเจ้าโปรดให้ท่านรู้ธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้าอย่างชัดเจน แต่สำหรับคนอื่นพระองค์โปรดให้รู้เป็นอุปมาเท่านั้น เพื่อว่าเขาจะมองแล้วมองอีก แต่ไม่เห็นฟังแล้วฟังอีก แต่ไม่เข้าใจ”

“อุปมามีความหมายดังนี้ เมล็ดพืชคือพระวาจาของพระเจ้า เมล็ดที่ตกริมทางเดิน หมายถึงบุคคลที่ได้ฟังพระวาจา ต่อจากนั้น ปีศาจก็มาช่วงชิงพระวาจาออกไปจากใจของเขา มิให้เขามีความเชื่อและรอดพ้น เมล็ดที่ตกบนหินหมายถึงบุคคลที่ฟังแล้วรับพระวาจาไว้ด้วยความยินดี แต่ไม่มีราก เขามีความเชื่ออยู่เพียงชั่วระยะหนึ่ง เมื่อถึงเวลาถูกผจญ เขาก็เลิกเชื่อ เมล็ดที่ตกในกอหนาม หมายถึงบุคคลที่ฟังพระวาจาแล้วปล่อยให้ความกังวลถึงทรัพย์สมบัติและความสนุกของชีวิตมาบีบรัด จึงไม่เกิดผล ส่วนเมล็ดที่ตกในที่ดินดีหมายถึงบุคคลที่ฟังพระวาจาด้วยใจดีเลิศ ยึดพระวาจาไว้ด้วยความพากเพียรจนเกิดผล”


ลก 8:4-15  อุปมาต่างๆ คือเรื่องราวที่อธิบายความจริงเกี่ยวกับพลวัตแห่งพระอาณาจักรของพระเจ้าด้วยการเล่าเรื่อง อุปมาเรื่องผู้หว่านนำเสนอวิธีหลากหลายของผู้คนในการตอบรับต่อพระวาจาของพระเจ้า ท่าทีของเราที่มุ่งไปหาพระคริสตเจ้านั้น ต้องเกี่ยวโยงความปรารถนาทั้งครบและมั่นคง ควบคู่ไปกับความพยายามอย่างจริงจังที่จะเลียนแบบพระคริสตเจ้าในทุกแง่มุมของชีวิตของเรา ให้สังเกตว่าพระคริสตเจ้าทรงอธิบายอุปมาอย่างครบสมบูรณ์กับบรรดาศิษย์ของพระองค์อย่างไร ผู้ซึ่ง “พระเจ้าโปรดให้ท่านรู้ธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้าอย่างชัดเจน” (ลก 8:10) นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพวกเขาสำหรับการเป็นผู้นำในพระศาสนจักรของพระองค์

CCC ข้อ 546 พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เข้าในพระอาณาจักรโดยใช้เรื่องอุปมาซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะสำคัญของคำสอนของพระองค์ อาศัยเรื่องอุปมาเหล่านี้ พระองค์ทรงเชิญทุกคนเข้ามาร่วมงานเลี้ยงของพระอาณาจักร แต่ก็ยังทรงเรียกร้องให้ต้องเลือกอย่างเด็ดขาดด้วย เพื่อจะได้พระอาณาจักรนี้จำเป็นต้องสละทุกสิ่ง คำพูดเท่านั้นไม่พอ จำเป็นต้องมีกิจการด้วย เรื่องอุปมาเป็นเสมือนกระจกสำหรับมนุษย์ เขาได้รับพระวาจาเหมือนกับพื้นดินแข็งหรือเหมือนกับดินดี? เขาทำอะไรกับเงินตะลันต์ที่ได้รับมาพระเยซูเจ้าและพระอาณาจักรที่มีอยู่ในโลกนี้ซ่อนอยู่ในความหมายของเรื่องอุปมาเหล่านี้ จำเป็นที่เราต้องเข้าในพระอาณาจักร นั่นคือต้องเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้าเพื่อรู้จัก “ธรรมล้ำลึกเรื่องอาณาจักรสวรรค์” (มธ 13:11) สำหรับผู้ที่อยู่ “ภายนอก” (มก 4:11) ทุกสิ่งเป็นปริศนา

CCC ข้อ 2607 เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา พระองค์ก็ทรงสอนเราแล้วให้อธิษฐานภาวนาด้วย การอธิษฐานภาวนาของพระองค์เป็นหนทางนำเราไปพบพระเจ้า [เป็นหนทางความเชื่อ ความหวังและความรัก] ไปพบพระบิดาของพระองค์ แต่พระวรสารก็ยังให้คำสอนที่ชัดเจนของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนาแก่เราด้วย คล้ายกับครูพี่เลี้ยง พระองค์ทรงรับเราตามที่เราเป็นและทรงค่อยๆ นำเราไปพบพระบิดา เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จออกไปพบประชาชนที่ติดตามพระองค์พระองค์ทรงเริ่มจากจุดที่เขารู้จักเรื่องการอธิษฐานภาวนาตามพันธสัญญาเดิมและเปิดความรู้ใหม่ๆ เรื่องพระอาณาจักรที่กำลังมาถึงให้เขาทราบ แล้วนั้นจึงทรงใช้เรื่องอุปมาเปิดเผยความใหม่นี้แก่เขา และในที่สุดพระองค์จะตรัสอย่างเปิดเผยเรื่องพระบิดาและพระจิตเจ้ากับบรรดาศิษย์ที่จะต้องเป็นครูสอนผู้อื่นให้รู้จักการอธิษฐานภาวนาในพระศาสนจักร

CCC ข้อ 2668 การเรียกขานพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าเป็นหนทางซื่อที่สุดที่ทุกคนจะอธิษฐานภาวนาได้ตลอดเวลาการเรียกขานพระนามที่เอาใจใส่ทำซํ้าด้วยความถ่อมตนอยู่บ่อยๆ เช่นนี้ย่อมไม่สูญหายไป “ในการพูดพร่ำ” (มธ 6:7) แต่เป็นการ “ยึดพระวาจาไว้ด้วยความพากเพียรจนเกิดผล” การอธิษฐานภาวนาเช่นนี้ทำได้ “ตลอดเวลา” เพราะไม่ใช่การทำงานหนึ่งซ้อนกับอีกงานหนึ่ง แต่เป็นการทำงานเดียวกัน คือการรักพระเจ้างานนี้เป็นพลังบันดาลใจและปรับปรุงกิจการทุกอย่างในพระเยซูคริสตเจ้า

CCC ข้อ 2731 ความยากลำบากอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ปรารถนาจะอธิษฐานภาวนาจากใจจริงก็คือ ความรู้สึก (มีใจ) แห้งแล้ง ความรู้สึกเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอธิษฐานภาวนาเมื่อใจรู้สึกว่างเปล่าไม่มีรสชาติสำหรับความคิด ความจดจำและความรู้สึกแม้ในเรื่องทางจิตใจ เวลาเช่นนี้จึงเป็นเวลาสำหรับความเชื่อล้วนๆ ที่อยู่กับพระเยซูเจ้าอย่างแนบแน่นเมื่อทรงเข้าตรีทูตและอยู่ในพระคูหา. เมล็ดข้าว “ถ้า […] ตายไป ก็จะบังเกิดผลมากมาย” (ยน 12:24) แต่ถ้าความ (รู้สึกมีใจ) แห้งแล้ง นี้มาจากการขาดราก เพราะพระวาจาตกลงไปบนหิน ก็จำเป็นจะต้องต่อสู้เพื่อการกลับใจ


ลก 8:13-15  ยึดพระวาจาไว้ด้วยความพากเพียรจนเกิดผล: ก้าวแรกของการประกาศพระวรสาร คือการประกาศพระวาจาของพระเจ้าทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ การเดินทางแห่งความเชื่อนั้นทวีขึ้นเรื่อยๆ และพบกับการทดลอง แต่หากดำเนินชีวิตด้วยความพากเพียรอดทนและด้วยคุณธรรม ก็จะสามารถสร้างความเข้มแข็งภายในและพัฒนาชีวิตฝ่ายจิตให้เติบโตขึ้นได้

CCC ข้อ 854 โดยพันธกิจของตน พระศาสนจักร “ดำเนินไปพร้อมกับมวลมนุษยชาติและประสบชะตากรรมเดียวกันร่วมกับโลกและเป็นประดุจวิญญาณของสังคมมนุษย์ที่ต้องรับการฟื้นฟูในพระคริสตเจ้าและเปลี่ยนให้เป็นครอบครัวของพระเจ้า” งานธรรมทูตจึงเรียกร้องให้มีความพากเพียร งานนี้เริ่มโดยการประกาศพระวรสารแก่ประชากรและกลุ่มชนต่างๆ ที่ยังไม่มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า ดำเนินต่อไปโดยตั้งชุมชนคริสตชนซึ่งเป็นเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระเจ้าในโลก และตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่นเริ่มกระบวนการเข้าสู่วัฒนธรรมเพื่อทำให้การประกาศข่าวดีอยู่ในวัฒนธรรมของประชากรเหล่านั้น แต่ก็อาจต้องประสบผลตรงกันข้าม “ส่วนที่เกี่ยวกับกลุ่มชนและประชากรนั้น พระศาสนจักรค่อยๆ เข้าถึงและแทรกซึมเข้าไปได้เท่านั้น และดังนี้จึงอาจนำเขาเข้ามาเป็นสากลหรือคาทอลิกได้อย่างสมบูรณ์”

CCC ข้อ 2847 พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้เรารู้จักแยกแยะระหว่างการทดสอบที่จำเป็นสำหรับความก้าวหน้าด้านจิตใจ และมุ่งหา “คุณธรรมที่แท้จริง” กับการผจญที่นำไปหาบาปและความตาย เรายังต้องแยกแยะระหว่าง “ถูกผจญ” และ “ยอมแพ้” แก่การผจญ ในที่สุด การรู้จักแยกแยะยังเปิดเผยให้เรารู้จักการมุสาของการประจญ ซึ่งดูภายนอกเกี่ยวกับเรื่อง “ดี […] งดงามชวนมองและยังน่าปรารถนา” (ปฐก 3:6) แต่โดยแท้จริงแล้ว ผลของมันก็คือความตาย “พระเจ้าไม่ทรงบังคับให้เราต้องทำดีด้วยความจำเป็น แต่โดยอิสระ [...] การประจญนี้จึงมีประโยชน์ด้วย สิ่งที่อยู่ในใจของเรานั้นไม่มีใครรู้นอกจากพระเจ้า และบางทีเราเองก็ไม่รู้ด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมปรากฏออกมาโดยการประจญ เพื่อเราจะได้รู้จักตัวเองด้วยว่าเราเป็นอย่างไร แต่เมื่อเรารู้จักตัวเองแล้ว เราก็รู้ว่าเราอยากทำชั่วหรือเปล่า และเรายังอาจขอบพระคุณสำหรับความดีที่ปรากฏให้เรารู้โดยการประจญเหล่านี้ด้วย”

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)