แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา (พระนางมารีย์ พรหมจารีแห่งภูเขาคาร์แมล)

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 12:1-8)                     

ครั้งหนึ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านนาข้าวสาลีในวันสับบาโต บรรดาศิษย์รู้สึกหิว จึงเด็ดรวงข้าวมากิน เมื่อชาวฟาริสีสังเกตเห็นดังนั้น จึงทูลพระองค์ว่า “ดูซิ ศิษย์ของท่านกำลังทำสิ่งต้องห้ามในวันสับบาโต” พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านไม่ได้อ่านในพระคัมภีร์หรือว่า กษัตริย์ดาวิดและผู้ติดตามได้ทำสิ่งใดเมื่อหิวโหย พระองค์เสด็จเข้าไปในพระนิเวศของพระเจ้า เสวยขนมปังที่ตั้งถวายพร้อมกับบรรดาผู้ติดตาม ขนมปังนั้นผู้ใดจะกินไม่ได้ นอกจากบรรดาสมณะเท่านั้น ท่านไม่ได้อ่านในธรรมบัญญัติหรือว่า ในวันสับบาโตนั้น บรรดาสมณะในพระวิหารย่อมละเมิดวันสับบาโตได้โดยไม่มีความผิด เราบอกท่านทั้งหลายว่า ที่นี่มีสิ่งยิ่งใหญ่กว่าพระวิหารเสียอีก ถ้าท่านเข้าใจความหมายของข้อความที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ ท่านคงจะไม่กล่าวโทษผู้ไม่มีความผิด เพราะบุตรแห่งมนุษย์เป็นนายเหนือวันสับบาโต”


มธ 12:1-8 คำสอนของชาวยิวสอนว่า ห้ามทำงานใดๆ ในวันสับบาโต แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง พระคริสตเจ้าทรงให้เกียรติแก่วันสับบาโตอย่างมากที่สุดเสมอ และทรงสอนผู้ที่ติดตามพระองค์ให้เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของวันสับบาโต พระองค์ทรงสอนว่า การรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นการผิดต่อกฎบัญญัติเรื่องการหยุดพักในวันสับบาโต เช่นเดียวกับตัวอย่างของบรรดาสมณะในพระวิหารที่ “ทำงาน” ของพวกเขาในวันสับบาโตด้วย

CCC ข้อ 581 ประชาชนชาวยิวและผู้นำทางจิตใจของเขาเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นเพียง “อาจารย์”(รับบี) คนหนึ่ง หลายครั้งพระเยซูเจ้าเองก็ทรงใช้เหตุผลในกรอบการอธิบายธรรมบัญญัติในรูปแบบของบรรดาธรรมาจารย์ด้วย แต่ในขณะเดียวกันพระเยซูเจ้าก็จำเป็นต้องขัดแย้งกับบรรดานักกฎหมายเหล่านี้ เพราะพระองค์ไม่ทรงจำกัดวิธีที่ทรงอธิบายพระคัมภีร์อยู่ในขอบเขตการอธิบายของพวกเขา “เพราะพระองค์ทรงสอนเขาอย่างผู้มีอำนาจไม่ใช่สอนเหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขา” (มธ 7:29) ในพระองค์ พระวาจาเดียวกันที่ดังก้องบนภูเขาซีนายเพื่อประทานธรรมบัญญัติให้โมเสสบันทึกไว้ แสดงตัวอีกครั้งหนึ่งให้ประชาชนได้ยินบนภูเขาที่ทรงเทศน์สอนเรื่องความสุขแท้ พระวาจานี้ไม่ได้ลบล้างธรรมบัญญัติ แต่ปรับปรุงให้สมบูรณ์โดยใช้พระวาจาของพระเจ้าให้คำอธิบายขั้นสุดท้าย “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า[…] แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า...”(มธ 5:33-34) พระองค์ยังทรงใช้อำนาจของพระเจ้าเช่นเดียวกันเพื่อลบล้าง “ธรรมเนียมของมนุษย์” ซึ่งทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นโมฆะ

CCC ข้อ 582 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงปฏิรูปกฎเกี่ยวกับเรื่องอาหารมีมลทินหรือไม่มีมลทิน ที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวยิว ให้สมบูรณ์ขึ้น โดยทรงอธิบายความหมายในมุมมองของความเป็นเหมือน “ครูพี่เลี้ยง” ของกฎเหล่านี้ “สิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขาเป็นมลทินไม่ได้ […] – ดังนี้ ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน พระองค์ยังตรัสอีกว่า สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย” (มก 7:18-21) พระเยซูเจ้าซึ่งทรงใช้อำนาจพระเจ้าอธิบายความหมายสุดท้ายของกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงทรงขัดแย้งกับนักกฎหมายบางคนที่ไม่ยอมรับการอธิบายของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อยืนยันพระวาจาที่ทรงสั่งสอน การเช่นนี้เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในปัญหาเรื่องวันสับบาโต หลายครั้งพระเยซูเจ้าทรงใช้เหตุผลของบรรดาธรรมาจารย์เอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นการผิดพระบัญญัติให้หยุดพักในวันสับบาโต เพราะพระองค์ทรงรักษาโรคในวันสับบาโต

CCC ข้อ 2173 พระวรสารเล่าถึงหลายกรณีที่พระเยซูเจ้าทรงถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดวันสับบาโต แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงเคยฝ่าฝืนความศักดิ์สิทธิ์ของวันนี้เลย พระองค์ทรงตีความหมายของกฎนี้อย่างทรงอำนาจ “วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต” (มก 2:27) พระคริสตเจ้าทรงใช้ความเห็นอกเห็นใจชี้ให้เห็นว่าทรงมีอำนาจทำดีในวันสับบาโต ไม่ใช่ทำชั่ว ช่วยชีวิตให้รอด ไม่ใช่ทำลายชีวิต วันสับบาโตเป็นวันแห่งพระกรุณาขององค์พระผู้เป็นเจ้า และวันถวายเกียรติแด่พระเจ้า88 “บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย” (มก 2:28)

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)