แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สมโภชพระวรกายพระโลหิตของพระคริสตเจ้า

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 14:12-16.22-25)  

วันแรกของเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ เมื่อเขาฆ่าลูกแกะปัสกา บรรดาศิษย์ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า"พระองค์มีพระประสงค์ให้เราจัดเตรียมการเลี้ยงปัสกาที่ไหน" พระองค์จึงทรงใช้ศิษย์สองคนไป สั่งเขาว่า"จงเข้าไปในกรุง แล้วจะพบชายคนหนึ่งกำลังเดินแบกหม้อน้ำอยู่ จงตามเขาไป เขาเข้าไปที่ไหน จงถามเจ้าของบ้านว่า 'พระอาจารย์ถามว่า ห้องที่เราจะกินปัสกากับบรรดาศิษย์นั้นอยู่ที่ไหน' เขาจะชี้ให้ท่านเห็น ห้องใหญ่ชั้นบนปูพรมไว้เรียบร้อย จงจัดเตรียมปัสกาไว้สำหรับพวกเราที่นั่นแหละ" ศิษย์ทั้งสองคนออกเดินทางเข้าไปในกรุง พบสิ่งต่างๆ ดังที่พระองค์ทรงบอกไว้ จึงจัดเตรียมปัสกา

      ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปัง ประทานให้เขาเหล่านั้น ตรัสว่า "จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา" แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสขอบพระคุณ ประทานให้เขาและทุกคนดื่มจากถ้วยนั้น พระองค์ตรัสกับเขาว่า "นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อคนจำนวนมาก เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า เราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นใด จนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ในพระอาณาจักร"


มก 14:12-21 ในงานเลี้ยงปัสกาที่พระคริสตเจ้าทรงฉลองร่วมกับบรรดาศิษย์ พระองค์ทรงประกาศถึงการทรยศต่อพระองค์โดยอัครสาวก เนื่องจากพระเจ้าทรงสามารถนำความดีออกมาจากความชั่วได้ การเลือกกระทำความชั่วโดยอิสระของเราจึงสามารถรวมเข้าอยู่ในแผนการไถ่บาปของเราได้ โดยการดำเนินการอันล้ำลึกของพระหรรษทานของพระเจ้า

CCC ข้อ 597 ถ้าคิดคำนึงถึงความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของพระเยซูเจ้าตามที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของพระวรสารทั้งสี่ฉบับ และคิดคำนึงถึงความผิดส่วนตัวของแต่ละคนที่มีบทบาทในการพิจารณาคดีนี้ (ชาวยิว สภาซันเฮดริน ปีลาต) ที่พระเจ้าเท่านั้นทรงทราบ เราไม่อาจกล่าวได้ว่าชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มทุกคนต้องรับผิดชอบ แม้ว่าประชาชนจำนวนมากถูกเสี้ยมสอนยุยงให้มาร้องตะโกนกล่าวโทษ และมีการกล่าวโทษโดยรวมต่อทุกคนดังที่พบอยู่ในบทเทศน์ของบรรดาอัครสาวกหลังวันเปนเตกอสเตเพื่อเชิญชวนประชาชนให้กลับใจพระเยซูเจ้าเอง เมื่อประทานอภัยบนไม้กางเขน และหลังจากพระองค์ เปโตรก็ให้เหตุผลการกระทำของชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มและผู้นำของเขาว่ามาจาก “ความไม่รู้” จึงเป็นการไม่ถูกต้องยิ่งขึ้นที่จะอ้างเอาการร้องตะโกนของประชาชนที่ว่า “ขอให้เลือดของเขาตกเหนือเราและเหนือลูกหลานของเราเถิด” (มธ 27:25) ที่เป็นสูตรรับรองความรับผิดชอบการ กระทำมาขยายความรับผิดชอบไปครอบคลุมชาวยิวต่างเวลาและสถานที่ด้วย

              พระศาสนจักรได้ประกาศเช่นเดียวกันในสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ด้วยว่า “กิจการที่เกิดขึ้นใน พระทรมานไม่ได้เป็นการกระทำที่ชาวยิวทุกคนซึ่งมีชีวิตอยู่ในเวลานั้นต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด และจะถือว่าชาวยิวในสมัยนี้ต้องรับผิดชอบด้วยก็ไม่ได้เช่นกัน […] เราต้องไม่กล่าวถึงชาวยิวว่าถูกพระเจ้าตำหนิหรือสาปแช่งประหนึ่งว่าการทำเช่นนี้สรุปได้จากพระคัมภีร์”

CCC ข้อ 1339 พระเยซูเจ้าทรงเลือกเวลาฉลองปัสกาเพื่อทรงทำตามที่เคยแจ้งไว้ที่เมืองคาเปอร์นาอุมว่าจะประทานพระกายและพระโลหิตแก่บรรดาศิษย์ “ก่อนจะถึงเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อที่ต้องฆ่าลูกแกะปัสกา พระเยซูเจ้าตรัสใช้เปโตรและยอห์นว่า ‘จงไปจัดเตรียมการเลี้ยงปัสกาให้เราเถิด’ [...] ศิษย์ทั้งสองคนออกไป [...] เตรียมปัสกา เมื่อถึงเวลา พระเยซูเจ้าประทับที่โต๊ะพร้อมกับบรรดาอัครสาวก ตรัสกับเขาว่า ‘เราปรารถนาอย่างยิ่งจะกินปัสกาครั้งนี้ร่วมกับท่านก่อนจะรับทรมาน เราบอกท่านทั้งหลายว่าเราจะไม่กินปัสกาอีกจนกว่าปัสกานี้จะเป็นความจริงในพระอาณาจักรของพระเจ้า’ [...] พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงขอบพระคุณ ทรงบิขนมปังประทานให้บรรดาศิษย์ตรัสว่า ‘นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด’ ในทำนองเดียวกัน เมื่อกินอาหารเสร็จแล้ว พระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสว่า ‘ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเราที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย’” (ลก 22:7-20)


มก 14:22-25  พระคริสตเจ้า ลูกแกะที่ไร้มลทินของพระเจ้าทรงถวายพระกายและพระโลหิตของพระองค์ขณะตั้งศีลมหาสนิทในงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พิธีศีลมหาสนิทคือการมีส่วนร่วมในงานเลี้ยงสวรรค์และในการพลีบูชาของพระคริสตเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ในงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ศีลมหาสนิทเป็นการทำนายล่วงหน้าถึงพระมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ในทุกๆ พิธีบูชาขอบพระคุณเป็นการรื้อฟื้นการพลีบูชาของพระคริสตเจ้าขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระวาจาของพระเจ้าที่มีสืบทอดกันมานั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่รูปแบบเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น พระศาสนจักรได้สอนอยู่เสมอว่า อาศัยบทภาวนาของการเสกนั้น ปังและเหล้าองุ่นได้เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า การประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทนั้นเป็นการประทับอยู่จริง ในขณะที่ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงถูกอธิบายว่าเป็นการแปรสาร

CCC ข้อ 1339 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มก 14:12-21)

CCC ข้อ 1340 เมื่อพระเยซูเจ้าเสวยพระกระยาหารมื้อค่ำครั้งสุดท้ายพร้อมกับบรรดาอัครสาวกในช่วงเวลาของงานเลี้ยงปัสกา ก็ทรงทำให้ปัสกาของชาวยิวมีความหมายสมบูรณ์ อันที่จริง การที่พระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพนั้น พระองค์ทรงผ่านไปพบพระบิดา ซึ่งก็คือปัสกา (ซึ่งแปลว่า “การผ่าน”) ใหม่ ที่สำเร็จก่อนหน้านั้นแล้วในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ และยังเฉลิมฉลองต่อมาในพิธีบูชาขอบพระคุณซึ่งทำให้ปัสกาของชาวยิวสมบูรณ์ไป และเป็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงปัสกาในวาระสุดท้ายของพระศาสนจักรในความรุ่งโรจน์ของพระอาณาจักรด้วย

CCC ข้อ 1374 วิธีที่พระคริสตเจ้าประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิทเป็นการประทับอยู่แบบพิเศษ การประทับอยู่เช่นนี้ทำให้ศีลมหาสนิทเหนือกว่าศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ และเพราะเหตุนี้ศีลนี้จึงเป็น “เสมือนความบริบูรณ์ของชีวิตจิตและจุดหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประการ” ในศีลมหาสนิท ศีลศักดิ์สิทธิ์ยอดศักดิ์สิทธิ์นี้มีพระกาย พระโลหิต พร้อมกับพระวิญญาณและพระเทวภาพของพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา จึงหมายความว่าคริสตเจ้าทั้งองค์ประทับอยู่จริง แท้ และตามสภาวะของพระองค์  “การประทับอยู่เช่นนี้ได้ชื่อว่า ‘จริง’ ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธว่าการประทับแบบอื่นนั้นไม่เป็นการประทับอยู่ ‘จริง’ แต่เป็นการยกย่อง เพราะเป็นการประทับอยู่ ‘ตามสภาวะ’ ซึ่งหมายความว่าพระคริสตเจ้าประทับอยู่ครบทั้งพระองค์ ทั้งในฐานะพระเจ้าและมนุษย์”

CCC ข้อ 1375 พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้โดยการเปลี่ยนขนมปังและเหล้าองุ่นเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรได้ยืนยันอย่างมั่นใจถึงความเชื่อของพระศาสนจักรต่อพระวาจาของพระคริสตเจ้าและประสิทธิภาพการ กระทำของพระจิตเจ้าเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ นักบุญยอห์นครีโซสตมจึงประกาศว่า “ไม่ใช่มนุษย์ที่ทำให้สิ่งของที่เราถวายกลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า และเป็นพระคริสตเจ้าเองผู้ทรงถูกตรึงกางเขนเพื่อเรา พระสงฆ์ที่มีบทบาทแทนพระองค์กล่าวถ้อยคำเหล่านั้น แต่พระอานุภาพและพระหรรษทานเป็นของพระเจ้า เขากล่าวว่า นี่เป็นกายของเรา ถ้อยคำนี้เปลี่ยนแปลงสิ่งของที่อยู่ต่อหน้าเขา” นักบุญอัมโบรสก็กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยว่า

            เรามั่นใจว่า “นี่ไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติได้ประกอบไว้ แต่เป็นสิ่งที่คำถวายพระพรได้บันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ พลังของคำถวายพระพรนั้นยิ่งใหญ่กว่าพลังของธรรมชาติ เพราะคำถวายพระพรยังเปลี่ยนแปลงธรรมชาติได้” “พระวาจาของพระคริสตเจ้าซึ่งทำให้สิ่งหนึ่งเกิดจากการไม่มีความเป็นอยู่ได้ จะไม่อาจทำให้สิ่งที่เป็นอยู่แล้วเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ยังไม่เป็นไม่ได้หรือ การให้สิ่งต่างๆ มีธรรมชาติใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเลย”

CCC ข้อ 1376 สภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์สรุปความเชื่อคาทอลิกไว้ในข้อความที่ว่า “เนื่องจากว่าพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ของเราได้ทรงถวายภายใต้รูปปรากฏของขนมปัง สิ่งที่พระองค์ตรัสว่าเป็นพระกายของพระองค์จริงๆ ดังนั้นพระศาสนจักรของพระเจ้าจึงเชื่อมั่นอยู่เสมอมา และบัดนี้สภาสังคายนาแห่งนี้จึงประกาศซ้ำ ณ บัดนี้อีกว่า โดยการเสกขนมปังและเหล้าองุ่นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงสารทั้งหมดของขนมปังเป็นสารพระกายของพระคริสตเจ้า และสารทั้งหมดของเหล้าองุ่นเป็นสารพระโลหิตของพระองค์ พระศาสนจักรเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้โดยเฉพาะอย่างเหมาะสมว่า “การเปลี่ยนแปลงสาร” (หรือ “transsubstantiatio”)

CCC ข้อ 1377 การประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทเริ่มจากขณะเวลาเสกศีลและคงอยู่ต่อไปตลอดเวลาที่รูปปรากฏของศีลมหาสนิท (คือขนมปังและเหล้าองุ่น) ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง พระคริสตเจ้าครบทั้งองค์ประทับอยู่ในแต่ละส่วนของรูปปรากฏแต่ละอย่าง และประทับอยู่ทั้งองค์ในแต่ละส่วนของรูปปรากฏด้วย อย่างที่ว่าการบิขนมปังไม่แบ่งองค์พระคริสตเจ้าเลย

CCC ข้อ 1378 การแสดงคารวะต่อศีลมหาสนิท ในพิธีบูชามิสซา เราแสดงความเชื่อของเราต่อการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระคริสตเจ้าภายใต้รูปปรากฏของขนมปังและเหล้าองุ่นได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น โดยย่อเข่าหรือโน้มกายอย่างลึกเพื่อหมายถึงการถวายนมัสการแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระศาสนจักรคาทอลิกถวายคารวะสูงสุด (latriae cultus = คารวกิจที่แสดงต่อพระเจ้าเท่านั้น) ต่อศีลมหาสนิทไม่เพียงแต่ในพิธีถวายบูชามิสซาเท่านั้น แต่ยังได้ถวายและยังถวายภายนอกพิธีถวายบูชามิสซาด้วย โดยการเก็บรักษาแผ่นศีลที่เสกแล้วไว้ด้วยความเอาใจใส่สูงสุด โดยนำแผ่นศีลเหล่านี้มาตั้งไว้อย่างสง่าให้บรรดาสัตบุรุษแสดงความเคารพ นำแผ่นศีลเข้าขบวนแห่ให้ประชาชนร่วมแสดงความยินดีด้วย”


มก 14:22 สังเกตว่าถ้อยคำที่ใช้อธิบายสิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำในศีลมหาสนิทนั้น ถูกใช้ก่อนหน้านี้เพื่ออธิบายเรื่องการทวีขนมปัง (เทียบ มก. 6:41) คำว่า “หยิบขนมปัง” “ตรัสถวายพระพร” “ทรงบิขนมปัง” “ประทานให้” เป็นการเชื่อมโยงอย่างชัดเจนถึงการเลี้ยงอาหารกลุ่มชนด้วยศีลมหาสนิท ในทางกลับกัน การตั้งศีลมหาสนิทก็เป็นการบอกล่วงหน้าถึงการพลีบูชาของพระองค์บนไม้กางเขน ซึ่งถ้อยคำเดียวกันนี้ถูกใช้ในบทภาวนาศีลมหาสนิทในพิธีบูชาขอบพระคุณ

CCC ข้อ 1328 คุณสมบัติมากมายของศีลนี้แสดงให้เห็นโดยชื่อต่างๆ ที่ศีลนี้ได้รับ ชื่อแต่ละชื่อเหล่านี้ล้วนมีเหตุผลของตน ศีลนี้ได้ชื่อว่า

        Eucharistia (ซึ่งแปลว่า “การขอบพระคุณ”) เพราะเป็นการขอบพระคุณพระเจ้า คำกริยา eucharistein [= ขอบพระคุณ] (ลก 22:19; 1 คร 11:24) และ eulogein [= ถวายพระพร] (มธ 26:26; มก 14:22) ชวนให้เราคิดถึงการถวายพระพรแด่พระเจ้าของชาวยิวซึ่ง – โดยเฉพาะในการเลี้ยงอาหาร – ประกาศถึงพระราชกิจของพระเจ้า ได้แก่การเนรมิตสร้าง การกอบกู้ และการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์

CCC ข้อ 1329 “การเลี้ยงอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (Dominica Cena)[150] เพราะเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงมื้อค่ำที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงร่วมโต๊ะกับบรรดาศิษย์ในคืนก่อนจะทรงรับทรมาน และยังเป็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงงานเลี้ยงวิวาหมงคลของลูกแกะในนครเยรูซาเล็มแห่งสวรรค์

                 พิธีบิขนมปัง (Fractio panis) เพราะว่าจารีตพิธีนี้ซึ่งปฏิบัติกันโดยเฉพาะในงานเลี้ยงอาหารของชาวยิว พระเยซูเจ้าทรงนำมาใช้เมื่อทรงเสกขนมปังและแจกจ่ายแก่บรรดาศิษย์ในฐานะประธานในงานเลี้ยง โดยเฉพาะในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย โดยอากัปกริยานี้ บรรดาศิษย์จะจำพระองค์ได้หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว และบรรดาคริสตชนรุ่นแรกๆจะใช้วลีนี้เพื่อหมายถึงการที่เขามาชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ จึงหมายความว่าทุกคนที่กินขนมปังก้อนเดียวกันที่ถูกบิออกแบ่งกันนั้นก็กินพระคริสตเจ้า เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ รวมเป็นร่างกายเดียวกันในพระองค์

        Eucharistica congregatio (synaxis) หรือ “การมาชุมนุมกัน(เพื่อประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ)” เพราะพิธีบูชาขอบพระคุณที่ชุมชนผู้มีความเชื่อประกอบพิธีนั้นเป็นการที่พระศาสนจักรแสดงตนที่ทุกคนแลเห็นได้

CCC ข้อ 1330 การระลึกถึงพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้า การถวายบูชาศักดิ์สิทธิ์ เพราะทำให้การถวายบูชาเพียงครั้งเดียวของพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ เป็นปัจจุบัน และยังรวมการถวายบูชาของพระศาสนจักรเข้าไว้ด้วย หรือยังเรียกอีกว่า บูชามิสซา “การถวายคำสรรเสริญ” (ฮบ 13:15) เครื่องบูชาฝ่ายจิต การถวายบูชาบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ เพราะทำให้การถวายบูชาทั้งหมดของพันธสัญญาเดิมเสร็จสมบูรณ์ และยังดีกว่าด้วย

           พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (Sancta et divina liturgia) เพราะพิธีกรรมทั้งหมดของพระศาสนจักรมีศูนย์กลางและแสดงออกอย่างเข้มข้นที่สุดในการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ ในความหมายเดียวกันนี้ศีลนี้ยังมีชื่อเรียกอีกว่า “การเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกศักดิ์สิทธิ์”  ยังมีการเรียกศีลนี้อีกว่า ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สุด (Sanctissimum Sacramentum) เพราะศีลนี้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่ที่สุด ชื่อนี้ยังใช้ได้กับแผ่นศีลที่เก็บรักษาไว้ในตู้ศีลด้วย

CCC ข้อ 1331 ศีลมหาสนิท (Communio) เพราะอาศัยศีลนี้พวกเราถูกรวมเข้ากับพระคริสตเจ้าผู้ทรงบันดาลให้พวกเรามีส่วนร่วมกับพระกายและพระโลหิตของพระองค์เพื่อประกอบเป็นกายเดียวกัน และยังเรียกอีกว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” (sancta, ta hagia) – ความสนิทสัมพันธ์นี้เป็นความหมายแรกของ “ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์” (communio sanctorum) ที่สูตรประกาศความเชื่อของบรรดาอัครสาวกกล่าวถึง – ศีลนี้ยังมีชื่อเรียกอีกว่า “อาหาร(ขนมปัง)ของทูตสวรรค์” “อาหาร(ขนมปัง)จากสวรรค์” “โอสถอมตภาพ” (pharmacum immortalitatis) ศีลเสบียง.....

CCC ข้อ 1332 บูชามิสซา (Sancta Missa) เพราะว่าพิธีกรรมที่ทำให้พระธรรมล้ำลึกการไถ่กู้สำเร็จไปนั้นจบด้วยการส่ง (missio) บรรดาผู้มีความเชื่อออกไปเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของตน


มก 14:24 โลหิตแห่งการบูชายัญถูกเทลงบนภูเขาซีนายเพื่อสถาปนาพันธสัญญาเดิมผ่านทางโมเสสฉันใด โลหิตแห่งการพลีบูชาของพระคริสตเจ้าก็หลั่งไหลออกมาเพื่อสถาปนาพันธสัญญาใหม่ฉันนั้น การถวายพระกายและพระโลหิตของพระองค์ในศีลมหาสนิท เป็นการตอกย้ำถึงพันธสัญญาใหม่ของพระคริสตเจ้าในเรื่องพระหรรษทานและความรัก

CCC ข้อ 1365 เนื่องจากการถวายบูชาขอบพระคุณ (หรือ “ศีลมหาสนิท”) เป็นการระลึกถึงการฉลองปัสกาของพระคริสตเจ้า จึงยังเป็นการถวายบูชาด้วย ลักษณะการถวายบูชาของพิธีบูชาขอบพระคุณ (หรือ “ศีลมหาสนิท”) ยังแสดงให้เห็นในพระวาจาตั้งพิธีนี้ “นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย” และ “ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเราที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย” (ลก 22:19-20) ในพิธีบูชาขอบพระคุณ (หรือ “ศีลมหาสนิท”) พระคริสตเจ้าประทานพระกายเดียวกับที่ทรงมอบบนไม้กางเขนเพื่อพวกเรา ประทานพระโลหิตเดียวกับที่ทรงหลั่ง “เพื่ออภัยบาปมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 26:28)


มก 14:25   เหล้าองุ่น "ใหม่" หมายถึงงานฉลองสมรสในสวรรค์ "ที่ซึ่งผู้มีความเชื่อจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ที่กลายเป็นพระโลหิตของพระคริสตเจ้า" (CCC ข้อ 1335) พระมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นปัสกาสุดท้าย และในขณะเดียวกัน การรับศีลมหาสนิทก็คืออาหารค่ำมื้อสุดท้ายด้วยเช่นกัน 

CCC ข้อ 1402 ในบทภาวนาโบราณบทหนึ่ง พระศาสนจักรประกาศพระธรรมล้ำลึกเรื่องศีลมหาสนิทไว้ดังนี้ “โอ้การเลี้ยงอาหารศักดิ์สิทธิ์ ในการเลี้ยงนี้เรารับพระคริสตเจ้าเป็นอาหาร เราระลึกถึงพระทรมานของพระองค์ จิตใจรับพระหรรษทานเต็มเปี่ยม และเรายังได้รับประกันว่าจะได้รับสิริรุ่งโรจน์ในอนาคตด้วย” ถ้าพิธีบูชาขอบพระคุณเป็นการระลึกถึงการฉลองปัสกาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเมื่อเรารับศีลมหาสนิทจากพระแท่นบูชานี้แล้ว “เราได้รับพระพรและพระหรรษทานอย่างบริบูรณ์” ศีลมหาสนิทจึงเป็นการรับมัดจำล่วงหน้าของสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์ด้วย

CCC ข้อ 1403 ในการเลี้ยงพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงแนะนำให้บรรดาศิษย์มุ่งคำนึงถึงความสำเร็จสมบูรณ์ของการฉลองปัสกาในพระอาณาจักรของพระเจ้า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า แต่นี้ไปเราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นอีก จนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่กับท่านในพระอาณาจักรของพระบิดาของเรา” (มธ 26:29) ทุกครั้งที่พระศาสนจักรประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ ก็ระลึกถึงพระสัญญานี้และมองมุ่งไปหาพระองค์ “ผู้กำลังจะเสด็จมา”(วว 1:4) และวอนขอในการอธิษฐานภาวนาของตนว่า “มารานาธา” (1 คร 16:22) “ข้าแต่พระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า เชิญเสด็จมาเถิด” (วว 22:20) “ขอให้พระหรรษทานมาถึงและขอให้โลกนี้ได้ผ่านพ้นไป”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)