แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ในอัฐมวารปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 16:9-15)   

หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพตอนเช้าตรู่วันต้นสัปดาห์แล้ว พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่มารีย์ชาวมักดาลาเป็นคนแรก นางคือผู้ที่พระองค์เคยทรงไล่ปีศาจเจ็ดตนออกไป นางจึงไปบอกผู้ที่กำลังร้องไห้เป็นทุกข์ซึ่งเคยอยู่กับพระองค์ เมื่อเขาเหล่านั้นได้ยินนางพูดว่าพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่และนางเห็นพระองค์แล้ว เขาก็ไม่เชื่อ

      หลังจากนั้น พระองค์ทรงสำแดงพระองค์ในรูปแตกต่างไปกับศิษย์สองคนซึ่งกำลังเดินทางไปชนบท เขาทั้งสองกลับมาเล่าให้คนอื่นฟัง แต่คนเหล่านั้นก็ไม่เชื่อเช่นเดียวกัน

      ในที่สุด พระองค์ทรงสำแดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบเอ็ดคนขณะที่เขากำลังร่วมโต๊ะกินอาหารอยู่ ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ยอมเชื่อและมีใจแข็งกระด้าง เพราะไม่ยอมเชื่อผู้ที่เห็นพระองค์เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง


มก 16:9-20 บรรดาสตรีใจศรัทธาที่มาเจิมพระศพของพระคริสตเจ้า ได้กลายเป็นคนแรกที่ประกาศข่าวการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์ แม้กระทั่งแก่บรรดาอัครสาวกด้วย มารีย์ ชาวมักดาลา คือผู้)ที่พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่าได้พบกับพระคริสตเจ้าผู้กลับคืนพระชนม์ชีพเป็นคนแรก ถึงแม้เป็นความจริงที่ว่าพระคริสตเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์บ่อยครั้งว่าพระองค์จะทรงกลับคืนชีพจากความตาย แต่ความสงสัย ต่อการเป็นประจักษ์พยานของพวกสตรีแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่คาดคิดหรือเชื่อว่าจะเป็นไปได้ จนกระทั่งพระคริสตเจ้าทรงประจักษ์มาหาพวกเขาด้วยพระองค์เอง ในที่สุดพวกเขาจึงเชื่อ เพราะความไม่เชื่อพระคริสตเจ้าจึงทรงให้พวกเขาได้พบกับพระองค์อีกครั้งหนึ่ง พระกายของพระคริสตเจ้าหลังจากการกลับคืนชีพานั้นเป็นจริงทางกายภาพ ไม่ใช่จินตนาการโดยรวมหรือประสบการณ์อันลึกลับของผู้ร่วมงานใกล้ชิดของพระองค์เท่านั้น

CCC ข้อ 641 มารีย์ชาวมักดาลาและบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งใจมาที่พระคูหาเพื่อชโลมพระศพของพระเยซูเจ้า ที่ถูกฝังอย่างเร่งรีบเพราะวันสับบาโตเริ่มแล้วตั้งแต่เย็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นคนกลุ่มแรกที่พบพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ดังนี้ บรรดาสตรีเหล่านี้จึงเป็นคนแรกที่บอกข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแก่บรรดาอัครสาวกเอง หลังจากนั้นพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ ก่อนอื่นแก่เปโตร แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน ดังนั้นเปโตรที่พระคริสตเจ้าทรงเรียกมาให้เสริมความเชื่อของบรรดาพี่น้องจึงเห็นพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพก่อนพี่น้องคนอื่น และบรรดาศิษย์ก็ประกาศตามคำยืนยันของเขาว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริงๆ และทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน” (ลก 24:34)

CCC ข้อ 643 ต่อหน้าพยานเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าว่าไม่ได้อยู่ในระบบทางกายภาพ และไม่ยอมรับว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าความเชื่อของบรรดาศิษย์ได้ถูกทดสอบอย่างหนักจากพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระอาจารย์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจ้งไว้ล่วงหน้าแล้ว ความสะเทือนใจที่เกิดจากพระทรมานนี้หนักหนาสาหัสจนว่าบรรดาศิษย์ (อย่างน้อยบางคนในพวกเขา) มิได้เชื่อทันทีเมื่อได้รับข่าวการกลับคืนพระชนมชีพ แทนที่จะเล่าว่ากลุ่มบรรดาศิษย์มีประสบการณ์เข้าฌานชิดสนิทกับพระเจ้า พระวรสารทุกฉบับกล่าวว่าพวกเขารู้สึกท้อแท้ (“ใบหน้าเศร้าหมอง” - ลก 24:17) และมีความกลัว  ดังนั้น เขาจึงไม่เชื่อบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่กลับมาจากพระคูหา และคิดว่าถ้อยคำของพวกเธอ “เป็นเรื่องเหลวไหล” (ลก 24:11)เมื่อพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวกสิบเอ็ดคนตอนเย็นวัน   ปัสกา พระองค์จึง “ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ยอมเชื่อและมีใจแข็งกระด้างเพราะไม่ยอมเชื่อผู้ที่เห็นพระองค์เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (มก 16:14)


มก 16:12-14 นักบุญมาระโกเพียงแค่สรุปเรื่องราวการประจักษ์ของพระคริสตเจ้าแก่ศิษย์สองคนระหว่างทางไปเอมมาอูส แต่นักบุญลูกาได้ลงรายละเอียดไว้มากกว่านั้น (เทียบ 24:13-35) สิบเอ็ด : นักบุญมาระโกไม่ได้บอกเราว่าเกิดอะไรขึ้นกับยูดาส แต่ตัวเลขนี้บอกอย่างชัดเจนว่าเขาไม่ได้ถูกนับเข้าในจำนวนของอัครสาวกอีกต่อไปแล้ว

CCC ข้อ 643 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มก 16:9-20)

CCC ข้อ 645 เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิษย์ผ่านการสัมผัส และเสวยพระกระยาหาร พระองค์ทรงเชิญเขาเช่นนี้ให้รับรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงจิต (หรือ “ผี”)แต่โดยเฉพาะเพื่อเขาจะได้เห็นว่าพระกายที่กลับคืนชีพของพระองค์ที่เขาพบนี้เป็นพระกายเดียวกันกับพระกายที่เคยรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะยังมีร่องรอยของพระทรมานปรากฏอยู่ ถึงกระนั้น พระวรกายแท้จริงนี้ก็มีคุณสมบัติใหม่ของพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมกันด้วย พระวรกายนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเวลาและสถานที่อีกต่อไป แต่สามารถไปอยู่ที่ใดและเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ เพราะพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในโลกอีกต่อไปและอยู่ในปกครองของพระบิดาเจ้าเท่านั้น และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงทรงอิสระอย่างยิ่งที่จะทรงสำแดงพระองค์ตามที่ทรงประสงค์ เช่นในรูปของคนสวนหรือ “ในรูปอื่น” (มก 16:12) ที่แตกต่างจากรูปที่บรรดาศิษย์เคยรู้จัก ทั้งนี้เพื่อปลุกความเชื่อของพวกเขานั่นเอง

CCC ข้อ 659 “เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับ ณ เบื้องขวา” (มก 16:19) พระกายของพระคริสตเจ้าทรงพระสิริรุ่งโรจน์นับตั้งแต่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังที่สภาพใหม่เหนือธรรมชาติแสดงให้เห็นว่าจะทรงสภาพเช่นนี้ตลอดไปแต่ระหว่างช่วงเวลาสี่สิบวันที่ทรงดื่มและเสวยพระกระยาหารอย่างเป็นกันเองกับบรรดาศิษย์ สอนพวกเขาเรื่องพระอาณาจักร พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยังคงซ่อนอยู่ในรูปร่างของมนุษย์ธรรมดาทั่วไป การสำแดงพระองค์ครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าจบสิ้นลงเมื่อสภาพมนุษย์ของพระองค์เข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอย่างเด็ดขาดโดยมีเมฆเป็นเครื่องหมาย ในสวรรค์ ที่พระองค์ประทับเบื้องขวาของพระเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสำแดงองค์โดยวิธีพิเศษเป็นการยกเว้นแก่เปาโล “ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด” ด้วย เป็นการแสดงพระองค์ครั้งสุดท้ายและแต่งตั้งเขาให้เป็นอัครสาวก

  CCC ข้อ 660  เราเห็นลักษณะพระสิริรุ่งโรจน์ที่ยังซ่อนเร้นของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจากพระวาจาที่ตรัสกับมารีย์ชาวมักดาลาว่า “เรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา แต่จงไปหาพี่น้องของเราและบอกเขาว่า เรากำลังขึ้นไปเฝ้าพระบิดาของเราและพระบิดาของท่านทั้งหลาย ไปเฝ้าพระเจ้าของเราและพระเจ้าของท่านทั้งหลาย” (ยน 20:17) ข้อความนี้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพกับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงได้รับศักดิ์ศรียกย่องให้ประทับเบื้องขวาของพระบิดา การเสด็จสู่สวรรค์จึงเป็นทั้งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และเหตุการณ์โลกุตระที่หมายถึงการข้ามจากสภาพหนึ่งไปยังอีกสภาพหนึ่งด้วย


มก 16:15-18 พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาศิษย์ของพระองค์ออกไปเทศน์สอนชนทุกชาติ และมอบศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรอดพ้นให้แก่พวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงกล่าวถึงศีลล้างบาป การอัศจรรย์อื่นๆ ของบรดาศิษย์เป็นเครื่องหมายเพิ่มเติมว่าเป็นอำนาจของพระคริสตเจ้าเองที่ทรงกระทำผ่านทางพวกเขา

CCC ข้อ 75 “พระคริสตเจ้าผู้ทรงทำให้การเผยความจริงของพระเจ้าผู้สูงสุดสำเร็จบริบูรณ์ในพระองค์ ทรงมีพระบัญชาให้บรรดาอัครสาวกไปประกาศพระวรสารที่ทรงสัญญาไว้โดยทางบรรดาประกาศก และพระองค์ทรงกระทำให้สำเร็จไป ทั้งยังทรงประกาศด้วยพระโอษฐ์เองด้วย บรรดาอัครสาวกจะต้องประกาศว่าข่าวดีนั้นเป็นแหล่งที่มาของความจริงทั้งปวงที่นำความรอดพ้นมาให้ และเป็นระเบียบศีลธรรมสำหรับมนุษย์ทุกคน พร้อมกันนั้นท่านยังต้องนำพระพรของพระเจ้ามาแบ่งปันให้มวลมนุษย์ด้วย”

CCC ข้อ 748 “เพราะพระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างส่องนานาชาติ สภาสังคายนาสากลครั้งนี้ที่พระจิตเจ้าทรงเรียกมาชุมนุมกันจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้แสงเจิดจ้าของพระองค์ ซึ่งฉายอยู่บนใบหน้าของพระศาสนจักร ได้ส่องสว่างมนุษย์ทุกคนโดยประกาศข่าวดีแก่มวลมนุษย์” ถ้อยคำเหล่านี้เริ่มต้น “ธรรมนูญสัจธรรมเรื่องพระศาสนจักร” ของสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ดังนั้น  สภาสังคายนาจึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าข้อความเชื่อเรื่องพระศาสนจักรนั้นขึ้นอยู่กับข้อความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซูคริสตเจ้า พระศาสนจักรไม่มีแสงสว่างอื่นใดนอกจากแสงสว่างของพระคริสตเจ้า  ซึ่งเป็นเสมือนแสงสว่างของดวงจันทร์ที่สะท้อนแสงของดวงอาทิตย์ ตามภาพเปรียบเทียบที่บรรดาปิตาจารย์ชอบใช้

CCC ข้อ 1507   หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรื้อฟื้นพันธกิจประการนี้โดยตรัสว่า “ในนามของเรา […] เขาจะปกมือเหนือคนเจ็บ คนเจ็บเหล่านั้นก็จะหายจากโรคภัย” (มก 16:17-18) และทรงรับรองพันธกิจนี้โดยเครื่องหมายอัศจรรย์ต่างๆ ที่พระศาสนจักรกระทำโดยเรียกขานพระนามของพระองค์ เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้แสดงให้เห็นโดยเฉพาะว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น”


มก 16:15 การส่งบรรดาอัครสาวกของพระคริสตเจ้านั้นมีความเป็นสากล กล่าวคือ ให้นำสารแห่งพระวรสารไปประกาศทั่วโลก ในการให้ไปเทศน์สอนนี้ พระคริสตเจ้าทรงสัญญาว่าจะให้มีการดูแลขององค์พระจิตเจ้า ซึ่งจะประทานพละกำลังและการทรงนำ เพื่อให้พันธกิจนี้สำเร็จสมบูรณ์ การส่งไปบรรดาอัครสาวกได้รับนั้นยังคงเป็นภารกิจหลักของพระศาสนจักร ซึ่งนำโดยบรรดาบิชอบผู้สืบตำแหน่งต่อจากเหล่าอัครสาวก พร้อมกับบรรดาบาทหลวงและสังฆานุกรในฐานะผู้ร่วมในงานศาสนบริการ ส่วนบรรดาฆราวาสได้รับเรียกให้มีส่วนร่วมในพันธกิจของอัครสาวกนี้ ทั้งด้วยคำพูดและดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ต่อพระคริสตเจ้าและต่อพระศาสนจักร ตามสถานภาพชีวิตของตน

CCC ข้อ 888 บรรดาพระสังฆราช พร้อมกับบรรดาพระสงฆ์ผู้ช่วยของท่าน “ก่อนอื่นมีหน้าที่ประกาศข่าวดีของพระวรสารของพระเจ้าแก่ทุกคน” ตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านเหล่านี้ “เป็นผู้ประกาศความเชื่อ นำศิษย์ใหม่ๆ เข้ามาหาพระคริสตเจ้า และเป็นผู้สั่งสอนความเชื่อของบรรดาอัครสาวกอย่างแท้จริงโดยอำนาจของพระคริสตเจ้าที่ได้รับมา”

  CCC ข้อ 889 พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นความจริงทรงประสงค์ให้พระศาสนจักรมีส่วนร่วมในความไม่รู้จักหลงผิดของพระองค์ เพื่อทรงรักษาพระศาสนจักรไว้ให้มีความเชื่อถูกต้องตามที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวก ประชากรของพระเจ้า “ยึดมั่นในความเชื่ออย่างไม่ผิดพลั้งอาศัย ‘ความสำนึกในความเชื่อเหนือธรรมชาติ’ โดยมีผู้มีอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรคอยแนะนำ”

CCC ข้อ 897 คำว่า “ฆราวาส” หมายถึงทุกคนผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า นอกจากผู้ได้รับศีลบวชขั้นใดขั้นหนึ่งและผู้อยู่ในสถานะนักพรตในพระศาสนจักร นั่นคือผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าผู้ร่วมในพระวรกายกับพระคริสตเจ้าโดยศีลล้างบาป มีส่วนในบทบาทสมณะ ประกาศก และกษัตริย์ของพระคริสตเจ้าตามวิธีการของตน และปฏิบัติพันธกิจของประชากรคริสตชนทั้งหมดในพระศาสนจักรและในโลกตามส่วนของตน”

CCC ข้อ 898 “โดยกระแสเรียกเฉพาะของตน บรรดาฆราวาสมีหน้าที่แสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าโดยปฏิบัติและจัดการกิจการทางโลกตามพระประสงค์ของพระเจ้า […] กิจกรรมทางโลกทุกอย่างจึงเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับบรรดาฆราวาสซึ่งมีความสัมพันธ์กับเรื่องเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เขาต้องอธิบายความหมายและจัดการให้กิจกรรมเหล่านี้ดำเนินไปและพัฒนายิ่งขึ้นตลอดเวลาตามแผนของพระคริสตเจ้าและเป็นการสรรเสริญพระผู้สร้างและพระผู้กอบกู้”

  CCC ข้อ 899 บรรดาคริสตชนฆราวาสมีหน้าที่เป็นพิเศษที่จำเป็นจะต้องริเริ่มงานถ้าเป็นเรื่องของการค้นคว้าหาให้พบวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้คำสอนและชีวิตคริสตชนแทรกซึมเข้าไปในสภาพความเป็นอยู่ด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ การริเริ่มเหล่านี้เป็นองค์ประกอบชีวิตของพระศาสนจักรตามปกติ              “บรรดาคริสตชนผู้มีความเชื่อ โดยเฉพาะบรรดาฆราวาส อยู่ในแนวหน้าชีวิตของพระศาสนจักร อาศัยพวกเขานี้แหละพระศาสนจักรจึงเป็นหลักการชีวิตของสังคมมนุษย์ ดังนั้น เขาเหล่านี้โดยเฉพาะจึงต้องสำนึกอยู่เสมอให้ชัดเจนยิ่งๆ ขึ้นว่าตนไม่เพียงแต่อยู่ในพระศาสนจักรเท่านั้น แต่เป็นพระศาสนจักร นั่นคือ เป็นชุมชนคริสตชนในโลกภายใต้ปกครองของผู้เป็นพระประมุขร่วมกัน นั่นคือสมเด็จพระสันตะปาปาและบรรดาพระสังฆราชผู้มีความสัมพันธ์กับพระองค์ เขาทั้งหลายเป็นพระศาสนจักร”

CCC ข้อ 900 บรรดาฆราวาสโดยอำนาจของศีลล้างบาปและศีลกำลังได้รับมอบหมายงานธรรมทูตเช่นเดียวกับ คริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคน เขามีหน้าที่และสิทธิทั้งเป็นการส่วนตัวและเมื่อร่วมกันเป็นหมู่คณะ มนุษย์ทุกคนทั่วโลกจะต้องรู้และยอมรับว่าเขาเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา บอกข่าวความรอดพ้นให้ทราบ หน้าที่นี้ยิ่งเร่งรัดมากขึ้นเพราะมวลมนุษย์จะได้ยินพระวรสารและรู้จักพระคริสตเจ้าได้ผ่านทางพวกเขาเท่านั้น กิจกรรมของเขาในชุมชนของพระศาสนจักร จึงจำเป็นจนกระทั่งว่าถ้าไม่มีกิจกรรมนี้แล้ว งานธรรมทูตของบรรดาผู้อภิบาลส่วนใหญ่ก็จะไม่อาจบรรลุถึงประสิทธิผลสมบูรณ์ได้

CCC ข้อ 977 องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงผูกมัดการอภัยบาปเข้ากับความเชื่อและศีลล้างบาป “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งมวล ผู้ที่เชื่อและรับศีลล้างบาปก็จะรอดพ้น” (มก 16:15-16) ศีลล้างบาปเป็นศีลแรกและสำคัญที่สุดของการอภัยบาป เพราะศีลนี้รวมเรากับพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมสละพระชนมชีพเพราะบาปของเรา และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อให้เราเป็นคนชอบธรรม เพื่อ “ให้เราดำเนินชีวิตแบบใหม่” (รม 6:4)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)