แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธในอัฐมวารปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 24:13-35)    

วันนั้น ศิษย์สองคนกำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอูส ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 11 กิโลเมตร ทั้งสองคนสนทนากันถึงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ขณะที่กำลังสนทนาและถกเถียงกันอยู่นั้น พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาร่วมเดินทางด้วย แต่เขาจำพระองค์ไม่ได้ เหมือนดวงตาถูกปิดบัง พระองค์ตรัสถามว่า “ท่านเดินสนทนากันเรื่องอะไร” ทั้งสองคนก็หยุดเดิน ใบหน้าเศร้าหมอง

    ศิษย์ที่ชื่อเคลโอปัสถามว่า “ท่านเป็นเพียงคนเดียวในกรุงเยรูซาเล็มหรือที่ไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่นั่นเมื่อสองสามวันมานี้” พระองค์ตรัสถามว่า “เรื่องอะไรกัน” เขาตอบว่า “ก็เรื่องพระเยซู ชาวนาซาเร็ธ ประกาศกทรงอำนาจในกิจการและคำพูดเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าและต่อหน้าประชาชนทั้งปวง บรรดาหัวหน้าสมณะและผู้นำของเรามอบพระองค์ให้ต้องโทษประหารชีวิต และตรึงพระองค์บนไม้กางเขน เราเคยหวังไว้ว่าพระองค์จะทรงปลดปล่อยอิสราเอลให้เป็นอิสระ แต่นี่เป็นวันที่สามแล้วตั้งแต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น สตรีบางคนในกลุ่มของเราทำให้เราประหลาดใจอย่างยิ่ง เขาไปที่พระคูหาตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อไม่พบพระศพ เขากลับมาเล่าว่าได้เห็นนิมิตของทูตสวรรค์ซึ่งพูดว่า พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ บางคนในกลุ่มของเรา ไปที่พระคูหา และพบทุกอย่างดังที่บรรดาสตรีเล่าให้ฟัง แต่ไม่เห็นพระองค์”

      พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “เจ้าคนเขลาเอ๋ย ใจของเจ้าช่างเชื่องช้าที่จะเชื่อข้อความที่บรรดาประกาศกกล่าวไว้ พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” แล้วพระองค์ทรงอธิบายพระคัมภีร์ทุกข้อที่กล่าวถึงพระองค์ให้เขาฟังโดยเริ่มตั้งแต่โมเสสจนถึงบรรดาประกาศก

      เมื่อพระองค์ทรงพระดำเนินพร้อมกับศิษย์ทั้งสองคนใกล้จะถึงหมู่บ้านที่เขาตั้งใจจะไป พระองค์ทรงแสร้งทำว่าจะทรงพระดำเนินเลยไป แต่เขาทั้งสองรบเร้าพระองค์ว่า “จงพักอยู่กับพวกเราเถิด เพราะใกล้ค่ำและวันก็ล่วงไปมากแล้ว” พระองค์จึงเสด็จเข้าไปพักกับเขา ขณะประทับที่โต๊ะกับเขา พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร ทรงบิขนมปังและทรงยื่นให้เขา เขาก็ตาสว่างและจำพระองค์ได้ แต่พระองค์หายไปจากสายตาของเขา ศิษย์ทั้งสองจึงพูดกันว่า “ใจของเราไม่ได้เร่าร้อนเป็นไฟอยู่ภายในหรือเมื่อพระองค์ตรัสกับเราขณะเดินทาง และทรงอธิบายพระคัมภีร์ให้เราฟัง”

    เขาทั้งสองคนจึงรีบออกเดินทางกลับไปกรุงเยรูซาเล็มในเวลานั้น พบบรรดาอัครสาวกสิบเอ็ดคนกำลังชุมนุมกันอยู่กับศิษย์อื่นๆ เขาเหล่านี้บอกว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริงๆ และทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน” ศิษย์ทั้งสองคนจึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตามทางและเล่าว่าตนจำพระองค์ได้เมื่อทรงบิขนมปัง


ลก 24:13-35 ในบางกรณี อาทิเช่น บนเส้นทางสู่เอมมาอูส องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพก็ปรากฏพระองค์ด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ถูกปิดบังจากสายตาของบรรดาศิษย์ ในเรื่องราวที่เอมมาอูส พระคริสตเจ้าทรงเปิดใจของบรรดาศิษย์ให้เข้าใจถึงความหมายแท้จริงของคำทำนายในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงพระองค์ ทำให้พวกเขาระลึกถึงการทำนายของบรรดาประกาศกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พวกเขาได้เป็นพยานเมื่อเร็ว ๆ นี้ พระคริสตเจ้าทรงใช้โอกาสนี้อธิบายว่าเหตุใดพระองค์จึงต้องรับทรมานและสิ้นพระชนม์เพื่อจะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์

CCC ข้อ 601 พระคัมภีร์กล่าวล่วงหน้าไว้แล้วในเรื่องการถูกประหารชีวิตของ “ผู้รับใช้ชอบธรรม” ถึงแผนการของพระเจ้าที่จะช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้น ซึ่งเป็นธรรมล้ำลึกการไถ่กู้มวลมนุษยชาติให้พ้นจากการเป็นทาสของบาป ในการประกาศความเชื่อครั้งหนึ่งที่ท่านกล่าวว่าตน “ได้รับมา” นักบุญเปาโลประกาศว่า “พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเราตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์” (1 คร 15:3)การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเพื่อกอบกู้มนุษยชาตินี้ทำให้คำประกาศพระวาจาเรื่อง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” สำเร็จเป็นจริง พระเยซูเจ้าเองทรงอธิบายความหมายพระชนมชีพและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในมุมมองของ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์ทรงอธิบายความหมายนี้ของพระคัมภีร์แก่ศิษย์ที่กำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอุส และหลังจากนั้นแก่บรรดาอัครสาวกด้วย

CCC ข้อ 602 เพราะเหตุนี้ นักบุญเปโตรจึงอาจกล่าวถึงความเชื่อที่สืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวกถึงแผนการที่พระเจ้าจะทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นได้ดังนี้ “ท่านได้รับการไถ่กู้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตไร้ค่าที่สืบมาจากบรรพบุรุษ […] ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระคริสตเจ้า ดังเลือดของลูกแกะไร้มลทินหรือจุดด่างพร้อย พระองค์ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ก่อนสร้างโลก และทรงเปิดเผยพระคริสตเจ้าเพื่อท่านทั้งหลายในวาระสุดท้าย” (1 ปต 1:18-20) บาปต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งเป็นผลของบาปกำเนิด ต้องรับโทษถึงตาย เมื่อทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาในสภาพทาส นั่นคือในสภาพของมนุษย์ผู้ตกในบาปและดังนั้นจึงจะต้องตายเพราะบาป“เพราะเห็นแก่เรา พระเจ้าทรงทำให้พระองค์ผู้ไม่รู้จักบาปเป็นผู้รับบาป เพื่อว่าในพระองค์ เราจะได้กลายเป็นผู้ชอบธรรมของพระเจ้า” (2 คร 5:21)

CCC ข้อ 643 ต่อหน้าพยานเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าว่าไม่ได้อยู่ในระบบทางกายภาพ และไม่ยอมรับว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าความเชื่อของบรรดาศิษย์ได้ถูกทดสอบอย่างหนักจากพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระอาจารย์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจ้งไว้ล่วงหน้าแล้ว ความสะเทือนใจที่เกิดจากพระทรมานนี้หนักหนาสาหัสจนว่าบรรดาศิษย์ (อย่างน้อยบางคนในพวกเขา) มิได้เชื่อทันทีเมื่อได้รับข่าวการกลับคืนพระชนมชีพ แทนที่จะเล่าว่ากลุ่มบรรดาศิษย์มีประสบการณ์เข้าฌานชิดสนิทกับพระเจ้า พระวรสารทุกฉบับกล่าวว่าพวกเขารู้สึกท้อแท้ (“ใบหน้าเศร้าหมอง” - ลก 24:17) และมีความกลัว  ดังนั้น เขาจึงไม่เชื่อบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่กลับมาจากพระคูหา และคิดว่าถ้อยคำของพวกเธอ “เป็นเรื่องเหลวไหล” (ลก 24:11)เมื่อพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวกสิบเอ็ดคนตอนเย็นวันปัสกา พระองค์จึง “ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ยอมเชื่อและมีใจแข็งกระด้างเพราะไม่ยอมเชื่อผู้ที่เห็นพระองค์เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (มก 16:14)


ลก 24:25-27 การทำลายพันธสัญญาด้วยบาปทำให้มนุษยชาติต้องตายและต้องการการชำระให้บริสุทธิ์ มีเพียงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเท่านั้นที่สามารถทำให้การชำระนี้สำเร็จสมบูรณ์ได้

CCC ข้อ 112 ให้ความเอาใจใส่อย่างมาก “ต่อเนื้อหาและเอกภาพของพระคัมภีร์ทั้งหมด” แม้หนังสือฉบับต่างๆที่ประกอบเป็นพระคัมภีร์จะมีความแตกต่างกันอย่างมาก แต่พระคัมภีร์ก็มีหนึ่งเดียวจากเหตุผลที่ว่าพระเจ้าทรงมีแผนการเพียงหนึ่งเดียวที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางและหัวใจที่เปิดออกหลังจากปัสกาของพระองค์ “หัวใจ ของพระคริสตเจ้าหมายถึงพระคัมภีร์ซึ่งเปิดเผยให้เห็นพระหทัยของพระคริสตเจ้า  พระหทัยนี้ปิดอยู่ก่อนทรงรับทรมาน เพราะยังเข้าใจได้ไม่ชัดเจน แต่ได้เปิดออกหลังจากทรงรับทรมานแล้ว เพราะผู้ที่พิจารณาพระทรมานก็เข้าใจและแลเห็นชัดเจนว่าถ้อยคำของบรรดาประกาศกต้องได้รับการอธิบายอย่างไร”

CCC ข้อ 113 อ่านพระคัมภีร์ “โดยคำนึงถึงธรรมประเพณีที่ยังเป็นปัจจุบันของพระศาสนจักรทั้งหมด” บรรดาปิตาจารย์สอนว่าพระคัมภีร์ถูกบันทึกไว้ในใจของพระศาสนจักรมากกว่าในเอกสารที่เขียนไว้ พระศาสนจักรเก็บรักษาความทรงจำที่ยังเป็นปัจจุบันถึงพระวจนาตถ์ของพระเจ้าไว้ในธรรมประเพณีของตน และพระจิตเจ้าทรงเสนอคำอธิบายพระคัมภีร์ในด้านจิตใจให้แก่พระศาสนจักร (“.....ตามความหมายด้านจิตใจที่พระจิตเจ้าประทานให้แก่พระศาสนจักร”)

CCC ข้อ 554 ในวันที่เปโตรประกาศความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตนั้น พระอาจารย์เจ้า “ทรงเริ่มแจ้งแก่บรรดาศิษย์ว่าพระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการทรมานอย่างมาก […] จะถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม” (มธ 16:21) เปโตรไม่ยอมรับข่าวนี้ ศิษย์คนอื่นก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้มากกว่าเขาเลย เหตุการณ์ลึกลับที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาสูงต่อหน้าพยานสามคนที่ทรงเลือกไว้ คือเปโตร ยากอบและยอห์น จึงถูกจัดไว้ในบริบทดังกล่าว พระพักตร์และฉลองพระองค์ของพระเยซูเจ้าเปล่งรัศมีรุ่งโรจน์, โมเสสและประกาศกเอลียาห์สำแดงตนสนทนาอยู่กับพระองค์ “กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:31) เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมพวกเขาไว้และเสียงหนึ่งดังออกมาจากฟากฟ้าว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด”(ลก 9:35)

CCC ข้อ 555  พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระสิริรุ่งโรจนของพระองค์ชั่วขณะหนึ่ง จึงเป็นการรับรองการประกาศความเชื่อของเปโตร พระองค์ยังทรงแสดงด้วยว่าเพื่อจะเสด็จเข้าไปรับ “พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์” (ลก 24:26) พระองค์จำเป็นต้องเสด็จผ่านไม้กางเขนที่กรุงเยรูซาเล็ม โมเสสและประกาศกเอลียาห์เคยเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าบนภูเขา ทั้งธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศก (หมายถึง “พันธสัญญาเดิม”) ได้กล่าวไว้ล่วงหน้าแล้วถึงพระทรมานของพระเมสสิยาห์ พระทรมานของพระเยซูเจ้าจึงเป็นพระประสงค์ของพระบิดา พระบุตรทรงปฏิบัติภารกิจเหมือน “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” กลุ่มเมฆชี้ให้เห็นการประทับอยู่ของพระจิตเจ้า “พระตรีเอกภาพจึงทรงสำแดงองค์ทั้งหมด พระบิดาในพระสุรเสียงที่ตรัส พระบุตรในมนุษย์คนหนึ่ง พระจิตเจ้าในกลุ่มเมฆสุกใส” “พระองค์ทรงสำแดงองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขา ข้าแต่พระคริสตเจ้า บรรดาศิษย์ได้แลเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์เท่าที่สามารถจะเห็นได้ เพื่อว่าเมื่อเขาจะเห็นพระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน เขาจะได้เข้าใจว่าพระองค์ทรงประสงค์พระทรมานนี้ และประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาอย่างแท้จริง”

CCC ข้อ 572 พระศาสนจักรยังคงซื่อสัตย์ต่อการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทั้งหมดเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าเคยทรงอธิบายทั้งก่อนและหลังจากปัสกาของพระองค์ “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก 24:26) พระทรมานของพระเยซูเจ้าได้รับรูปแบบดังที่ได้เกิดขึ้นก็เพราะว่าทรงถูก “บรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ” (มก 8:31) คนเหล่านี้ “มอบพระองค์ให้คนต่างชาติสบประมาท เยาะเย้ย โบยตีและนำไปตรึงกางเขน” (มธ 20:19)

  CCC ข้อ 573 ดังนั้น ความเชื่อจึงอาจพยายามตรวจสอบสภาพแวดล้อมการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าตามที่ผู้นิพนธ์พระวรสารถ่ายทอดต่อมาอย่างซื่อสัตย์โดยละเอียด รวมทั้งรายละเอียดที่แหล่งข้อมูลอื่นๆ ทางประวัติศาสตร์อธิบายเพิ่มเติมไว้อีก เพื่อจะเข้าใจความหมายของการไถ่กู้ได้ดียิ่งขึ้น

CCC ข้อ 645 เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิษย์ผ่านการสัมผัส และเสวยพระกระยาหาร พระองค์ทรงเชิญเขาเช่นนี้ให้รับรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงจิต (หรือ “ผี”)แต่โดยเฉพาะเพื่อเขาจะได้เห็นว่าพระกายที่กลับคืนชีพของพระองค์ที่เขาพบนี้เป็นพระกายเดียวกันกับพระกายที่เคยรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะยังมีร่องรอยของพระทรมานปรากฏอยู่ ถึงกระนั้น พระวรกายแท้จริงนี้ก็มีคุณสมบัติใหม่ของพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมกันด้วย พระวรกายนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเวลาและสถานที่อีกต่อไป แต่สามารถไปอยู่ที่ใดและเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ เพราะพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในโลกอีกต่อไปและอยู่ในปกครองของพระบิดาเจ้าเท่านั้น และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงทรงอิสระอย่างยิ่งที่จะทรงสำแดงพระองค์ตามที่ทรงประสงค์ เช่นในรูปของคนสวนหรือ “ในรูปอื่น” (มก 16:12) ที่แตกต่างจากรูปที่บรรดาศิษย์เคยรู้จัก ทั้งนี้เพื่อปลุกความเชื่อของพวกเขานั่นเอง

CCC ข้อ 713 ภาพลักษณ์ของพระเมสสิยาห์เปิดเผยให้เห็นชัดเจนโดยเฉพาะใน “บทเพลงของผู้รับใช้” บทเพลงเหล่านี้แจ้งว่าพระทรมานของพระเยซูเจ้ามีความหมายอย่างไร และดังนี้จึงชี้ให้เห็นวิธีการที่พระองค์จะหลั่งพระจิตเจ้าเพื่อประทานชีวิตแก่คนจำนวนมาก ไม่ใช่จากภายนอก แต่เมื่อทรงรับ “สภาพดุจทาส” (ฟป 2:7) เป็นมนุษย์เหมือนเรา ทรงรับความตายของเรา พระองค์ก็อาจบันดาลให้เรามีส่วนในพระจิตแห่งชีวิตของพระองค์ได้


ลก 24:30-31 หยิบ... ทรงถวายพระพร ทรงบิ...ทรงยื่นให้เขา : สังเกตความคล้ายคลึงของลำดับนี้กับลำดับการเล่าเรื่องอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (เทียบ ลก 22:19) ส่วนสองคนผู้ที่เดินทางไปยังเมืองเอมมาอูสนั้นเพียงได้ตระหนักว่าพระคริสตเจ้าประทับกับพวกเขาในตอนที่ “บิขนมปัง”

CCC ข้อ 112 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 24:25-27)

CCC ข้อ 659 “เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับ ณ เบื้องขวา” (มก 16:19) พระกายของพระคริสตเจ้าทรงพระสิริรุ่งโรจน์นับตั้งแต่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังที่สภาพใหม่เหนือธรรมชาติแสดงให้เห็นว่าจะทรงสภาพเช่นนี้ตลอดไปแต่ระหว่างช่วงเวลาสี่สิบวันที่ทรงดื่มและเสวยพระกระยาหารอย่างเป็นกันเองกับบรรดาศิษย์ สอนพวกเขาเรื่องพระอาณาจักร พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยังคงซ่อนอยู่ในรูปร่างของมนุษย์ธรรมดาทั่วไป การสำแดงพระองค์ครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าจบสิ้นลงเมื่อสภาพมนุษย์ของพระองค์เข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอย่างเด็ดขาดโดยมีเมฆเป็นเครื่องหมาย ในสวรรค์ ที่พระองค์ประทับเบื้องขวาของพระเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสำแดงองค์โดยวิธีพิเศษเป็นการยกเว้นแก่เปาโล “ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด” ด้วย เป็นการแสดงพระองค์ครั้งสุดท้ายและแต่งตั้งเขาให้เป็นอัครสาวก

CCC ข้อ 1329 “การเลี้ยงอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (Dominica Cena)[150] เพราะเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงมื้อค่ำที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงร่วมโต๊ะกับบรรดาศิษย์ในคืนก่อนจะทรงรับทรมาน และยังเป็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงงานเลี้ยงวิวาหมงคลของลูกแกะ[151]ในนครเยรูซาเล็มแห่งสวรรค์

                 พิธีบิขนมปัง (Fractio panis) เพราะว่าจารีตพิธีนี้ซึ่งปฏิบัติกันโดยเฉพาะในงานเลี้ยงอาหารของชาวยิว พระเยซูเจ้าทรงนำมาใช้เมื่อทรงเสกขนมปังและแจกจ่ายแก่บรรดาศิษย์ในฐานะประธานในงานเลี้ยง โดยเฉพาะในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย โดยอากัปกริยานี้ บรรดาศิษย์จะจำพระองค์ได้หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว และบรรดาคริสตชนรุ่นแรกๆจะใช้วลีนี้เพื่อหมายถึงการที่เขามาชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ จึงหมายความว่าทุกคนที่กินขนมปังก้อนเดียวกันที่ถูกบิออกแบ่งกันนั้นก็กินพระคริสตเจ้า เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ รวมเป็นร่างกายเดียวกันในพระองค์

                Eucharistica congregatio (synaxis) หรือ “การมาชุมนุมกัน(เพื่อประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ)” เพราะพิธีบูชาขอบพระคุณที่ชุมชนผู้มีความเชื่อประกอบพิธีนั้นเป็นการที่พระศาสนจักรแสดงตนที่ทุกคนแลเห็นได้

CCC ข้อ 1345 ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 2 แล้ว เรามีพยานหลักฐานของนักบุญจัสตินมรณสักขีเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ โครงสร้างพื้นฐานเช่นนี้ยังคงเป็นเหมือนเดิมจนถึงทุกวันนี้ในกลุ่มจารีตพิธีกรรมสำคัญๆ ทุกกลุ่ม ต่อไปนี้คือข้อความที่ท่านเขียนไว้ราวปี ค.ศ. 155 เพื่ออธิบายให้พระจักรพรรดิต่างศาสนา อันโตนีนัส ไปอัส (138-161) ทรงทราบว่าบรรดาคริสตชนทำอะไรกัน “ในวันที่เราเรียกว่าวันอาทิตย์ ทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือตามชนบทมาชุมนุมกัน มีการอ่านเรื่องราวของบรรดาอัครสาวกหรือข้อเขียนของบรรดาประกาศกตามที่เวลาจะอำนวย ต่อจากนั้น เมื่อผู้อ่านจบแล้ว ผู้ที่เป็นประธานที่ประชุมก็กล่าวเตือนใจและปลุกใจให้ปฏิบัติตามกิจการที่น่าเอาอย่างเหล่านี้ ต่อมา พวกเราทุกคนก็ยืนขึ้นพร้อมกันและอธิษฐานภาวนา” “สำหรับพวกเราเอง […] และสำหรับผู้อื่นทุกคนที่อยู่ทั่วไป […] เพื่อจะดำเนินชีวิตถูกต้องและปฏิบัติตามพระบัญญัติไปรับความรอดนิรันดรได้ เมื่ออธิษฐานภาวนาจบแล้ว พวกเราก็สวมกอดทักทายกัน ต่อจากนั้นจึงนำขนมปังและถ้วยบรรจุน้ำและเหล้าองุ่นมาให้ผู้ที่เป็นผู้นำบรรดาพี่น้อง เขาจึงรับสิ่งของเหล่านี้แล้วกล่าวสรรเสริญและถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดาของมวลมนุษย์เดชะพระนามของพระบุตรและพระจิตเจ้าและกล่าวขอบพระคุณ (ภาษากรีกว่า “eucharistia”) นานพอสมควรสำหรับสิ่งของที่พระองค์ทรงพระกรุณาประทานให้เมื่อเขาอธิษฐานภาวนาและขอบพระคุณจบแล้ว ประชาชนทุกคนซึ่งอยู่ที่นั่นก็โห่ร้องรับเสียงดังว่า อาเมน[…] หลังจากผู้ที่เป็นประธานกล่าวขอบพระคุณจบและประชาชนทุกคนโห่ร้องรับเสียงดังแล้ว ผู้ที่พวกเราเรียกว่า ‘สังฆานุกร’ ก็แจกจ่ายขนมปังและเหล้าองุ่น ‘ที่ประกอบพิธีขอบพระคุณแล้ว’ (eucharistethentos) นี้ให้แก่แต่ละคนที่ร่วมพิธีและยังนำไปให้ผู้ที่มาร่วมพิธีไม่ได้ด้วย”

CCC ข้อ 1346 พิธีบูชาขอบพระคุณได้พัฒนาขึ้นตามโครงสร้างพื้นฐานเช่นนี้ซึ่งยังถูกรักษาไว้ตลอดเวลาหลายศตวรรษมาจนถึงสมัยของเราในปัจจุบัน พิธีนี้แสดงให้เห็นจุดสำคัญสองจุดที่รวมกันเป็นเอกภาพชัดเจน ได้แก่

- การมาชุมนุมกัน วจนพิธีกรรม ที่มีการอ่านพระคัมภีร์ การเทศน์อธิบายพระวาจา และคำอธิษฐานภาวนาของมวลชน

- พิธีกรรมขอบพระคุณ โดยมีการนำขนมปังและเหล้าองุ่นมาถวาย การขอบพระคุณ เสกขนมปังเหล้าองุ่น และการรับศีล วจนพิธีกรรมและพิธีบูชาขอบพระคุณรวมกันเป็น “คารวกิจเดียวกัน”[177] ตามความจริงแล้ว ในพิธีบูชาขอบพระคุณมีการเตรียมโต๊ะพระวาจาของพระเจ้าและโต๊ะพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้าไว้พร้อมกันสำหรับพวกเรา

CCC ข้อ 1347 นี่ไม่ใช่กระบวนการงานเลี้ยงปัสกาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วกับบรรดาศิษย์ดอกหรือ? ขณะที่กำลังทรงพระดำเนิน พระองค์ทรงอธิบายพระคัมภีร์ให้พวกเขา แล้วเมื่อประทับที่โต๊ะพร้อมกับเขา “พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร ทรงบิขนมปังและยื่นให้เขา” (ลก 24:30)


ลก 24:34 ทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน : เนื่องจากเปโตรเป็นผู้นำของพระศาสนจักรและได้รับเรียกให้มาเสริมสร้างความเชื่อของชุมชนให้เข้มแข็ง การเป็นประจักษ์พยานของท่านที่ได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับเป็นขึ้นมา ทำให้เกิดความน่าเชื่อถืออย่างมากภายในชุมชน

CCC ข้อ 552 ในกลุ่มชายทั้งสิบสองคนนี้ ซีโมนเปโตรมีตำแหน่งเป็นที่หนึ่ง[307] พระเยซูเจ้าทรงมอบพันธกิจพิเศษให้เขา เปโตรได้รับการเปิดเผยจากพระบิดาประกาศว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงประกาศแก่เขาว่า “ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้”  (มธ 16:18) พระคริสตเจ้า “ศิลาทรงชีวิต” ทรงยืนยันว่าพระศาสนจักรที่ทรงตั้งไว้บนเปโตรผู้เป็นดังศิลาจะมีชัยชนะเหนืออำนาจของความตาย เพราะความเชื่อที่เขาได้ประกาศ เปโตรจะคงเป็นหินผาที่ไม่มีวันสั่นคลอนของพระศาสนจักร เขาจะมีพันธกิจรักษาความเชื่อนี้ไว้ไม่ให้ลดลงเลย แต่จะช่วยค้ำจุนพี่น้องไว้ในความเชื่อนี้ตลอดไป

CCC ข้อ 641 มารีย์ชาวมักดาลาและบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งใจมาที่พระคูหาเพื่อชโลมพระศพของพระเยซูเจ้า ที่ถูกฝังอย่างเร่งรีบเพราะวันสับบาโตเริ่มแล้วตั้งแต่เย็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นคนกลุ่มแรกที่พบพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ดังนี้ บรรดาสตรีเหล่านี้จึงเป็นคนแรกที่บอกข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแก่บรรดาอัครสาวกเอง หลังจากนั้นพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ ก่อนอื่นแก่เปโตร แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน ดังนั้นเปโตรที่พระคริสตเจ้าทรงเรียกมาให้เสริมความเชื่อของบรรดาพี่น้องจึงเห็นพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพก่อนพี่น้องคนอื่น และบรรดาศิษย์ก็ประกาศตามคำยืนยันของเขาว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริงๆ และทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน” (ลก 24:34)

CCC ข้อ 644 แม้เมื่ออยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจริงๆ แล้ว บรรดาศิษย์ก็ยังมีความสงสัย เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เขาคิดว่าตนกำลังเห็นผี “เขายินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ” (ลก 24:41) โทมัสก็มีความสงสัยต้องการพิสูจน์เหมือนกัน และในโอกาสที่ทรงสำแดงพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายในแคว้นกาลิลีที่มัทธิวเล่าไว้ “บางคนยังสงสัยอยู่” (มธ 28:17) ดังนั้น สมมุติฐานที่คิดว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็น “ผล” ที่เกิดจากความเชื่อ (หรือความงมงาย) ของบรรดาอัครสาวกจึงไม่สมเหตุผล ตรงกันข้าม ความเชื่อของพวกเขาถึงการกลับคืนพระชนมชีพเกิดขึ้น – โดยอิทธิพลของพระหรรษทาน – จากประสบการณ์โดยตรงกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ

CCC ข้อ 645 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 24:25-27)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)