แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์มหาทรมาน (แห่ใบลาน)

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 15:1-39)    

ครั้นรุ่งเช้า บรรดาหัวหน้าสมณะ พร้อมกับผู้อาวุโส ธรรมาจารย์ และบรรดาสมาชิกสภาสูงทุกคน ได้ประชุมตกลงกัน สั่งให้มัดพระเยซูเจ้า และนำไปมอบให้ปิลาต

      ปิลาตจึงถามพระองค์ว่า ‘ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ?’ พระองค์ตรัสตอบว่า ‘ท่านพูดเองนะ’ บรรดาหัวหน้าสมณะพยายามกล่าวหาพระองค์หลายประการ ปิลาตจึงถามพระองค์อีกว่า ‘ท่านไม่ตอบอะไรหรือ? เห็นไหมเขากล่าวหาท่านหลายประการทีเดียว!’ แต่พระเยซูเจ้ามิได้ตรัสตอบอะไรอีก ทำให้ปิลาตประหลาดใจมาก

      ในช่วงเวลาเทศกาล ปิลาตเคยปล่อยนักโทษคนหนึ่งตามคำของประชาชน มีคนคนหนึ่งชื่อ บารับบัส ถูกจองจำพร้อมกับพวกกบฎที่ได้ฆ่าคนในการจลาจล เมื่อประชาชนขึ้นไปขอให้ปิลาตปล่อยนักโทษตามประเพณีที่เคยทำ ปิลาตกล่าวแก่เขาว่า ‘ท่านต้องการให้เราปล่อยกษัตริย์ของชาวยิวหรือ?’ ปิลาตทราบอยู่แล้วว่าบรรดาหัวหน้าสมณะได้มอบพระองค์ให้เพราะความอิจฉา แต่บรรดาหัวหน้าสมณะได้เสี้ยมสอนยุยงให้ประชาชนขอปิลาตปล่อยตัวบารับบัสมากกว่า ปิลาตถามเขาอีกว่า ‘ท่านจะให้ข้าพเจ้าทำอะไรกับคนนี้ที่ท่านเรียกว่ากษัตริย์ของชาวยิว?’ ประชาชนร้องตะโกนตอบว่า ‘จงเอาเขาไปตรึงกางเขา!’ ปิลาตถามว่า ‘เขาได้ทำผิดอะไร?’ แต่ประชาชนร้องตะโกนดังยิ่งขึ้นว่า ‘จงเอาเขาไปตรึงกางเขน!’ ปิลาตต้องการเอาใจประชาชน จึงปล่อยบารับบัสไป แล้วสั่งให้โบยตีพระเยซูเจ้า มอบพระองค์ให้เขาเอาไปตรึงบนไม้กางเขน

      บรรดาทหารนำพระองค์เข้าไปในลานชั้นในคือ “จวนของผู้ว่าราชการ” แล้วเรียกทหารทั้งกองมาพร้อมกัน เขาเอาเสื้อคลุมสีม่วงแดงมาคลุมให้พระองค์ เอาหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียร แล้วคำนับพระองค์กล่าวว่า ‘ข้าแต่กษัตริย์ของชาวยิว! ขอทรงพระเจริญเทอญ’ เขาเอาไม้อ้อฟาดพระเศียร ถ่มน้ำลายรด แล้วคุกเข่ากราบพระองค์เป็นเชิงเยาะเย้ย เมื่อได้เยาะเย้ยพระองค์แล้ว เขาก็ถอดเสื้อคลุมสีม่วงแดงเสีย เอาฉลองพระองค์สวมให้ดังเดิม

      บรรดาทหารนำพระองค์ไปเพื่อตรึงบนไม้กางเขน ชายคนหนึ่งชื่อ ซีโมนชาวไซรีนเป็นบิดาของอเล็กซานเดอร์และรูฟัส กำลังเดินทางจากชนบทผ่านมาทางนั้น บรรดาทหารจึงเกณฑ์ให้เขาแบกไม้กางเขนของพระองค์ไป ทหารนำพระองค์มาถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า “กลโกธา” แปลว่า “เนินหัวกระโหลก”

      ทหารนำเหล้าองุ่นผสมมดยอบให้พระองค์ แต่พระองค์ไม่ทรงรับ เขาตรึงพระองค์บนไม้กางเขน แล้วเอาฉลองพระองค์มาแบ่งกันโดยจับสลากว่าใครจะได้สิ่งใด เมื่อเขาตรึงพระองค์นั้นเป็นเวลาประมาณเก้านาฬิกา มีป้ายบอกข้อกล่าวหาพระองค์เขียนไว้ว่า ‘กษัตริย์ของชาวยิว’ เขายังได้ตรึงโจรสองคนพร้อมกับพระองค์ด้วย คนหนึ่งอยู่ข้างขวา อีกคนหนึ่งอยู่ข้างซ้าย

      ผู้คนที่ผ่านไปมาต่างสบประมาทพระองค์ สั่นศีรษะเยาะเย้ยว่า ‘เอ๊ะ! ท่านผู้ทำลายพระวิหาร และสร้างขึ้นใหม่ได้ภายในสามวัน! จงช่วยตนให้รอดพ้น และลงจากไม้กางเขนเถิด!’ บรรดาหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์ต่างเยาะเย้ยพระองค์เช่นเดียวกันว่า “เขาช่วยคนอื่นให้รอดพ้นได้ แต่ช่วยตนเองไม่ได้ ให้พระคริสต์ กษัตริย์แห่งอิสราเอลลงมาจากไม้กางเขนบัดนี้เถิด เพื่อเราจะได้เห็นและมีความเชื่อ’ แม้ผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขนพร้อมกับพระองค์ก็เยาะเย้ยพระองค์ด้วย

      เมื่อถึงเวลาเที่ยง ทั่วแผ่นดินก็มืดไปจนกระทั่งถึงเวลาบ่ายสามโมง ครั้นถึงเวลาบ่ายสามโมง พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดังว่า ‘เอโลอี เอโลอี ลามา ซาบั๊กทานี?’ ซึ่งแปลว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า?’ ผู้ที่ยืนอยู่ที่นั่นบางคนได้ยินจึงพูดว่า ‘ฟังซิ เขากำลังร้องเรียกเอลียาห์’ คนหนึ่งวิ่งไปเอาฟองน้ำจุ่มน้ำส้มเสียบปลายไม้อ้อส่งให้พระองค์ดื่มกล่าวว่า ‘เราจงคอยดูซิว่าเอลียาห์จะมาปลดเขาลงหรือไม่’ แต่พระเยซูเจ้าทรงเปล่งเสียงดัง แล้วสิ้นพระชนม์ ม่านในพระวิหารได้ฉีกขาดเป็นสองส่วนตั้งแต่ด้านบนตลอดจนถึงด้านล่าง นายทหารซึ่งยืนเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ เมื่อเห็นพระองค์สิ้นพระชนม์ดังนั้น จึงกล่าวว่า ‘ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว’


มก 15:1-15 พระคริสตเจ้าตรัสเพียงเล็กน้อยกับปอนทิอัส ปีลาตผู้ว่าราชการแห่งแคว้นยูเดีย เขาไปอยู่ต่อหน้าฝูงชนเพื่อเสนอทางเลือกให้ประชาชนปลดปล่อยพระองค์หรือบารับบัสผู้ก่อจลาจลให้เป็นอิสระ  หลังจากนั้นพระคริสตเจ้าทรงถูกทรมานและถูกตัดสินประหารชีวิต บารับบัสเป็นคำภาษาอราเมอิก แปลว่า “ลูกของพ่อ” เป็นการเหน็บแนมที่เขาได้รับการปลดปล่อยในขณะที่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าพระบิดาถูกตัดสินประหารชีวิต

CCC ข้อ 591 พระเยซูเจ้าทรงขอให้ผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มเชื่อในพระองค์เพราะกิจการของพระบิดาที่พระองค์ทรงกระทำ แต่การแสดงความเชื่อเช่นนี้จำเป็นต้องผ่านการตายอย่างลึกลับต่อตนเองข้ามไปรับ “การเกิดใหม่จากเบื้องบน” โดยการชักนำของพระหรรษทานจากพระเจ้า การที่ทรงเรียกร้องเช่นนี้ให้กลับใจเมื่อเห็นว่าพระสัญญาสำเร็จเป็นจริงแล้วอย่างน่าพิศวงช่วยให้เราเข้าใจว่าสภาซันเฮดรินเข้าใจผิดที่คิดว่าพระเยซูเจ้าทรงดูหมิ่นพระเจ้า จึงสมควรต้องตาย สมาชิกของสภานี้จึงทำไปทั้งด้วยความไม่รู้ และด้วยความไม่เชื่อที่ทำให้ตาบอด


มก 15:15 ปีลาตเป็นผู้มีลักษณะอ่อนแอ เขารู้อย่างถ่องแท้ว่า พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ด้วยความขลาดเขาได้ประกาศว่าพระองค์มีความผิด จึงมอบพระองค์ให้พวกเขานำไปตรึงกางเขนเพื่อทำให้ฝูงชนที่โกรธแค้นสงบลง โบยตี : การโบยเป็นการลงโทษแบบหนึ่ง โดยการเฆี่ยนเหยื่อด้วยแส้

CCC ข้อ 572 พระศาสนจักรยังคงซื่อสัตย์ต่อการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทั้งหมดเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าเคยทรงอธิบายทั้งก่อนและหลังจากปัสกาของพระองค์ “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก 24:26) พระทรมานของพระเยซูเจ้าได้รับรูปแบบดังที่ได้เกิดขึ้นก็เพราะว่าทรงถูก “บรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ” (มก 8:31) คนเหล่านี้ “มอบพระองค์ให้คนต่างชาติสบประมาท เยาะเย้ย โบยตีและนำไปตรึงกางเขน” (มธ 20:19)


มก 15:16-20 พระคริสตเจ้าไม่ได้ถูกปฏิเสธโดยชาวยิวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนต่างชาติด้วย อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยทหารต่างชาติก็รู้ได้ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ แม้ว่าจะเป็นการล้อเลียนก็ตาม

CCC ข้อ 597 ถ้าคิดคำนึงถึงความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของพระเยซูเจ้าตามที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของพระวรสารทั้งสี่ฉบับ และคิดคำนึงถึงความผิดส่วนตัวของแต่ละคนที่มีบทบาทในการพิจารณาคดีนี้ (ชาวยิว สภาซันเฮดริน ปีลาต) ที่พระเจ้าเท่านั้นทรงทราบ เราไม่อาจกล่าวได้ว่าชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มทุกคนต้องรับผิดชอบ แม้ว่าประชาชนจำนวนมากถูกเสี้ยมสอนยุยงให้มาร้องตะโกนกล่าวโทษและมีการกล่าวโทษโดยรวมต่อทุกคนดังที่พบอยู่ในบทเทศน์ของบรรดาอัครสาวกหลังวันเปนเตกอสเตเพื่อเชิญชวนประชาชนให้กลับใจพระเยซูเจ้าเอง เมื่อประทานอภัยบนไม้กางเขน และหลังจากพระองค์ เปโตรก็ให้เหตุผลการกระทำของชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มและผู้นำของเขาว่ามาจาก “ความไม่รู้” จึงเป็นการไม่ถูกต้องยิ่งขึ้นที่จะอ้างเอาการร้องตะโกนของประชาชนที่ว่า “ขอให้เลือดของเขาตกเหนือเราและเหนือลูกหลานของเราเถิด” (มธ 27:25) ที่เป็นสูตรรับรองความรับผิดชอบการ กระทำมาขยายความรับผิดชอบไปครอบคลุมชาวยิวต่างเวลาและสถานที่ด้วย

              พระศาสนจักรได้ประกาศเช่นเดียวกันในสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ด้วยว่า “กิจการที่เกิดขึ้นใน พระทรมานไม่ได้เป็นการกระทำที่ชาวยิวทุกคนซึ่งมีชีวิตอยู่ในเวลานั้นต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด และจะถือว่าชาวยิวในสมัยนี้ต้องรับผิดชอบด้วยก็ไม่ได้เช่นกัน […] เราต้องไม่กล่าวถึงชาวยิวว่าถูกพระเจ้าตำหนิหรือสาปแช่งประหนึ่งว่าการทำเช่นนี้สรุปได้จากพระคัมภีร์”

CCC ข้อ 598 พระศาสนจักรไม่เคยลืมความจริงนี้ในการสั่งสอนความเชื่อเป็นทางการและในการเป็นพยานยืนยันของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์เลยว่า “บรรดาคนบาปเป็นผู้ก่อให้เกิดและส่งเสริมความทุกข์ทรมานทุกอย่างที่พระคริสตเจ้าทรงรับทน” เมื่อคิดถึงความจริงที่ว่าบาปของเรามีผลกระทบต่อพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรไม่ลังเลใจเลยที่จะสอนว่าบรรดาคริสตชนต้องรับผิดชอบอย่างยิ่งในการที่พระเยซูเจ้าทรงต้องรับทรมาน แต่บ่อยมากเขากลับปัดความรับผิดชอบนี้ไปไว้กับชาวยิวเท่านั้น

            “เราต้องตัดสินว่าทุกคนที่ยังตกในบาปบ่อยๆ มีความผิดนี้ เนื่องจากว่าบาปของเราเป็นเหตุให้พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าต้องทรงรับทรมาน ผู้ที่ตกในความผิดและเกลือกกลั้วอยู่ในบาปจึงยังตรึงกางเขน พระบุตรของเจ้า ในตนเองและสบประมาทพระองค์ ความผิดนี้ในตัวเราดูเหมือนจะหนักกว่าในชาวยิวเสียอีก เพราะ ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ “ถ้าเขาเหล่านั้นรู้ เขาคงไม่ตรึงองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์” (1 คร 2:8) พวกเราทั้งรู้จักพระองค์และประกาศความเชื่อในพระองค์ แต่เมื่อเราปฏิเสธพระองค์โดยการกระทำ เราก็เป็นเหมือนกับว่าลงมือทำร้ายพระองค์” “แม้แต่ปีศาจก็ไม่ได้ตรึงพระองค์บนไม้กางเขน แต่ท่านได้ตรึงพระองค์บนไม้กางเขนพร้อมกับเขาเหล่านั้น (=ชาวยิว?) และยังคงตรึงพระองค์บนไม้กางเขน พอใจอยู่ในความชั่วและบาป”


มก 15:16 จวนของผู้ว่าราชการ : ที่พำนักอย่างเป็นทางการของปีลาต


มก 15:22 กลโกธา : ในภาษาอราเมอิกแปลว่า “หัวกะโหลก”


มก 15:27 ผู้นิพนธ์พระวรสารท่านอื่นได้เขียนเพิ่มเติมไปว่า “และข้อความในพระคัมภีร์ก็เป็นความจริงตามที่กล่าวว่า ‘เขานับว่าพระองค์เป็นอาชญากรคนหนึ่ง’ ”


มก 15:34 ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า : เสียงร้องของพระคริสตเจ้ามาจากบทเพลงสดุดีที่ 22 ซึ่งเป็นคำอธิษฐานของผู้ชอบธรรมที่ถูกเยาะเย้ยและข่มเหง แต่ในที่สุดก็จะได้รับชัยชนะ นำมาซึ่งการสรรเสริญพระเจ้าสำหรับความช่วยเหลือสูงสุดของพระองค์ ถึงแม้จะปราศจากบาป แต่พระคริสตเจ้าได้ทรงยอมรับสภาพของคนบาป รวมทั้งความเจ็บปวดจากการถูกทอดทิ้งซึ่งเป็นผลของบาป

CCC ข้อ 603 ไม่มีผู้ใดพิสูจน์ได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงทำบาป แต่เพราะความรักเพื่อกอบกู้มนุษย์ที่รวมพระองค์ไว้กับพระบิดาเสมอ พระองค์จึงทรงยอมอยู่ในสภาพของเราที่เป็นคนบาปเหินห่างจากพระเจ้า เพื่อจะตรัสแทนเราบนไม้กางเขนได้ว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” (มก 15:34) เมื่อทรงรวมพระองค์กับเราคนบาปเช่นนี้แล้ว พระเจ้าจึง “ไม่ทรงหวงแหนพระบุตรของพระองค์ แต่ทรงมอบพระบุตรเพื่อเราทุกคน” (รม 8:32) เพื่อเราจะได้ “กลับคืนดีกับพระเจ้าเดชะการสิ้นพระชนม์ของพระบุตร” (รม 5:10)

CCC ข้อ 2605 พระเยซูเจ้า เมื่อถึงเวลาที่พระองค์จะต้องปฏิบัติตามแผนการความรักของพระบิดา ก็ทรงอนุญาตให้เราเห็นความลึกซึ้งสุดจะหยั่งถึงได้ของการอธิษฐานภาวนาเยี่ยงบุตรของพระองค์ ไม่เพียงแต่ก่อนจะทรงมอบพระองค์โดยอิสระเท่านั้น (“พระบิดาเจ้าข้า...อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด”: ลก 22:42) แต่ทว่าจนถึงพระวาจาสุดท้ายบนไม้กางเขน เมื่อการอธิฐานภาวนาและการมอบพระองค์กลายเป็นสิ่งเดียวกัน “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34) “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” (ลก 23:43) “แม่ นี่คือลูกของแม่ […] นี่คือแม่ของท่าน” (ยน 19:26-27) “เรากระหาย” (ยน 19:28) “ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” (มก 15:34) “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30) “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลก 23:46) จนกระทั่ง “ทรงเปล่งเสียงดัง” แล้วจึงสิ้นพระชนม์


มก 15:38 ม่านในพระวิหารฉีกขาดเป็นสองส่วนตั้งแต่ด้านบนลงมาถึงด้านล่าง : ม่านนี้แยกผู้คนออกจากที่ประทับของพระเจ้าในที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เป็นวิหารชั้นในของพระวิหาร ซึ่งมีเพียงพระมหาสมณะเท่านั้นที่สามารถเข้าไปถวายบูชาต่อพระพักตร์พระเจ้าในนามของประชาชนปีละครั้ง การฉีกขาดของม่านนี้เป็นสัญลักษณ์ของการคืนดีระหว่างพระเจ้ากับมนุษยชาติ เป็นการทำลายสิ่งที่แยกมนุษย์ออกจากพระเจ้า พันธสัญญาเดิมได้สำเร็จไปแล้ว และตอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงพันธสัญญาใหม่ในพระคริสตเจ้า


มก 15:39  ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว : การยอมรับรู้ถึงความเป็นพระเจ้าของพระคริสตเจ้าโดยนายร้อยผู้นี้เป็นสัญลักษณ์ว่า ผู้คนจากทุกชาติและทุกวัฒนธรรมได้รับเชิญให้เข้าร่วมส่วนในการไถ่กู้ที่พระองค์ทรงมอบให้

CCC ข้อ 444 พระวรสารเล่าว่าในโอกาสสำคัญสองครั้ง คือเมื่อพระคริสตเจ้าทรงรับพิธีล้างและทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ พระบิดาทรงเปล่งพระสุรเสียงประกาศว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็น “บุตรสุดที่รัก” ของพระองค์ พระเยซูเจ้ายังตรัสถึงพระองค์เองว่าทรงเป็น “พระบุตรเพียงพระองค์เดียว” ของพระเจ้า (ยน 3:16) และทรงใช้ตำแหน่งนี้ยืนยันว่าทรงดำรงอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่นิรันดร ทรงเรียกร้องให้ทุกคนมีความเชื่อ “ในพระนามของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า” (ยน 3:18) การประกาศความเชื่อของคริสตชนเช่นนี้ปรากฏแล้วเมื่อนายร้อยโรมันประกาศเฉพาะพระพักตร์พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มก 15:39) ในพระธรรมล้ำลึกปัสกาเท่านั้น ผู้มีความเชื่อจึงอาจให้ความหมายของตำแหน่ง “พระบุตรของพระเจ้า” ได้อย่างสมบูรณ์

CCC ข้อ 599 การสิ้นพระชนม์อย่างโหดร้ายของพระเยซูเจ้าในสภาพน่าสมเพชไม่ได้เกิดขึ้นโดยเป็นผลจากเหตุบังเอิญมาพบกัน เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับแผนการของพระเจ้าซึ่งเป็นพระธรรมล้ำลึก ดังที่นักบุญ          เปโตรอธิบายให้ชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มฟังตั้งแต่การเทศน์ครั้งแรกในวันเปนเตกอสเต “พระเยซูเจ้าทรงถูกมอบในเงื้อมมือของท่านตามที่พระเจ้ามีพระประสงค์” (กจ 2:23) วิธีพูดเช่นนี้ของพระคัมภีร์ไม่หมายความว่าผู้ที่มอบพระเยซูเจ้าเป็นเพียงผู้รับคำสั่งมาปฏิบัติตามในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามแผนที่พระเจ้าทรงเขียนไว้ก่อนแล้วเท่านั้น

CCC ข้อ 600 เวลาทุกขณะเป็นปัจจุบันสำหรับพระเจ้าอยู่เสมอ ดังนั้นพระองค์จึงทรงสถาปนาแผนการนิรันดร “การกำหนดไว้ล่วงหน้า” (predestination) แล้ว ซึ่งรวมถึงการตอบสนองโดยอิสระของมนุษย์แต่ละคนต่อพระหรรษทานของพระองค์ในแผนการนี้: “ในเมืองนี้กษัตริย์เฮโรดและ  ปอนทิอัสปีลาตร่วมกับคนต่างชาติและประชากรอิสราเอลต่อสู้กับพระเยซูเจ้าผู้รับใช้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระองค์ทรงเจิมไว้ เพื่อทำให้พระประสงค์ที่ทรงกำหนดไว้ด้วยพระอานุภาพสำเร็จไป” (กจ 4:27-28) พระเจ้าทรงอนุญาตการกระทำที่เกิดจากความมืดบอดของเขาเพื่อทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จเป็นจริง

CCC ข้อ 601 พระคัมภีร์กล่าวล่วงหน้าไว้แล้วในเรื่องการถูกประหารชีวิตของ “ผู้รับใช้ชอบธรรม” ถึงแผนการของพระเจ้าที่จะช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้น ซึ่งเป็นธรรมล้ำลึกการไถ่กู้มวลมนุษยชาติให้พ้นจากการเป็นทาสของบาป ในการประกาศความเชื่อครั้งหนึ่งที่ท่านกล่าวว่าตน “ได้รับมา”  นักบุญเปาโลประกาศว่า “พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเราตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์” (1 คร 15:3)การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเพื่อกอบกู้มนุษยชาตินี้ทำให้คำประกาศพระวาจาเรื่อง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” สำเร็จเป็นจริง พระเยซูเจ้าเองทรงอธิบายความหมายพระชนมชีพและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในมุมมองของ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์ทรงอธิบายความหมายนี้ของพระคัมภีร์แก่ศิษย์ที่กำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอุส และหลังจากนั้นแก่บรรดาอัครสาวกด้วย

CCC ข้อ 602  เพราะเหตุนี้ นักบุญเปโตรจึงอาจกล่าวถึงความเชื่อที่สืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวกถึงแผนการที่พระเจ้าจะทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นได้ดังนี้ “ท่านได้รับการไถ่กู้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตไร้ค่าที่สืบมาจากบรรพบุรุษ […] ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระคริสตเจ้า ดังเลือดของลูกแกะไร้มลทินหรือจุดด่างพร้อย พระองค์ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ก่อนสร้างโลก และทรงเปิดเผยพระคริสตเจ้าเพื่อท่านทั้งหลายในวาระสุดท้าย” (1 ปต 1:18-20) บาปต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งเป็นผลของบาปกำเนิด ต้องรับโทษถึงตาย เมื่อทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาในสภาพทาส นั่นคือในสภาพของมนุษย์ผู้ตกในบาปและดังนั้นจึงจะต้องตายเพราะบาป“เพราะเห็นแก่เรา พระเจ้าทรงทำให้พระองค์ผู้ไม่รู้จักบาปเป็นผู้รับบาป เพื่อว่าในพระองค์ เราจะได้กลายเป็นผู้ชอบธรรมของพระเจ้า” (2 คร 5:21)

  CCC ข้อ 603 ไม่มีผู้ใดพิสูจน์ได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงทำบาป แต่เพราะความรักเพื่อกอบกู้มนุษย์ที่รวมพระองค์ไว้กับพระบิดาเสมอ พระองค์จึงทรงยอมอยู่ในสภาพของเราที่เป็นคนบาปเหินห่างจากพระเจ้า เพื่อจะตรัสแทนเราบนไม้กางเขนได้ว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” (มก 15:34) เมื่อทรงรวมพระองค์กับเราคนบาปเช่นนี้แล้ว พระเจ้าจึง “ไม่ทรงหวงแหนพระบุตรของพระองค์ แต่ทรงมอบพระบุตรเพื่อเราทุกคน” (รม 8:32) เพื่อเราจะได้ “กลับคืนดีกับพระเจ้าเดชะการสิ้นพระชนม์ของพระบุตร” (รม 5:10)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)