แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 8:21-30)   

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาเหล่านั้นอีกว่า “เราจากไปแล้วท่านทั้งหลายจะแสวงหาเรา แต่ท่านจะตายเพราะบาปของท่าน ที่ที่เราไปนั้น ท่านไปไม่ได้” ชาวยิวจึงพูดว่า “เขาจะฆ่าตัวตายกระมัง จึงพูดว่า ที่ที่เราไปนั้น ท่านไปไม่ได้”

      พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านทั้งหลายมาจากเบื้องล่าง แต่เรามาจากเบื้องบน ท่านเป็นของโลกนี้ แต่เรามิได้เป็นของโลกนี้ ดังนั้น เราบอกท่านว่า ท่านจะตายเพราะบาปของท่าน ถ้าท่านไม่เชื่อว่าเราเป็น ท่านจะตายเพราะบาปของท่าน” เขาเหล่านั้นทูลถามพระองค์ว่า “ท่านเป็นใคร”

      พระองค์ตรัสตอบว่า “เราเป็นดังที่เราได้บอกท่านไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เรายังมีอีกหลายเรื่องที่เราจะต้องพูดและพิพากษาเกี่ยวกับท่าน แต่พระองค์ผู้ทรงส่งเรามาทรงสัจจะ สิ่งใดที่เราได้ยินมาจากพระองค์ เราก็บอกสิ่งนั้นให้โลกรู้”

คนเหล่านั้นไม่เข้าใจว่า พระองค์กำลังตรัสกับเขาเรื่องพระบิดา พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาอีกว่า “เมื่อใดที่ท่านยกบุตรแห่งมนุษย์ขึ้น เมื่อนั้นท่านจะรู้ว่า เราเป็น และรู้ว่าเราไม่ทำอะไรตามใจตนเอง แต่พูดอย่างที่พระบิดาทรงสั่งสอนเราไว้ พระผู้ทรงส่งเรามาสถิตอยู่กับเรา พระองค์ไม่ได้ทรงทอดทิ้งเราไว้ตามลำพัง เพราะเราทำตามที่พระองค์พอพระทัยเสมอ” เมื่อพระองค์ตรัสดังนี้ หลายคนก็เชื่อในพระองค์


ยน 8:21-30 ด้วยความปรารถนาอย่างจริงใจต่อความจริงและด้วยน้ำใจดีเท่านั้น ทำให้เป็นไปได้ที่จะเห็นพระคริสตเจ้าอย่างที่พระองค์ทรงเป็น การสวดภาวนาและกิจเมตตานำไปสู่ความรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงพระคริสตเจ้า และทำให้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความจริงเหนือธรรมชาติที่พระองค์ทรงเปิดเผย

CCC ข้อ 547 พระเยซูเจ้าทรง “ทำอัศจรรย์ ปาฏิหาริย์และเครื่องหมาย” (กจ 2:22) ควบคู่ไปกับพระวาจาเพื่อแสดงว่าพระอาณาจักรปรากฏอยู่ในพระองค์ และเป็นพยานยืนยันว่าพระเยซูเจ้าคือพระเมสสิยาห์ที่บรรดาประกาศกแจ้งไว้ล่วงหน้าแล้ว

  CCC ข้อ548 เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์ พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์ และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ


ยน 8:28 เมื่อใดที่ท่านยกบุตรแห่งมนุษย์ขึ้น : ในการอ้างอิงถึงการตรึงกางเขนของพระองค์นี้ พระคริสตเจ้าทรงเปิดเผยว่าพระองค์ทรงรับพระนามของพระเจ้าที่ว่า “เราเป็น” หรือ “ยาห์เวห์” สถานที่ที่ถูกต้องของพระคริสตเจ้านั้นอยู่ที่จุดสูงสุดของกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ 

CCC ข้อ 211 พระนามของพระเจ้า “เราเป็น” หรือ “ผู้เป็น” แสดงถึงความซื่อสัตย์ของพระเจ้า พระองค์      “ทรงรักษาความรักมั่นคงของพระองค์ไว้แก่ชนหลายพันชั่วอายุคน” (อพย 34:7) แม้เมื่อมนุษย์ได้ทำบาปเพราะความไม่ซื่อสัตย์และสมควรจะได้รับโทษก็ตาม พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าพระองค์ “ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา” (อฟ 2:4) จนถึงกับทรงมอบพระบุตรของพระองค์ให้เรา เมื่อพระเยซูเจ้าทรงมอบพระองค์เพื่อช่วยเราให้รอดพ้นจากบาป จะทรงเปิดเผยว่าพระองค์เองทรงพระนามของพระเจ้าด้วย “เมื่อใดที่ท่านยกบุตรแห่งมนุษย์ขึ้น เมื่อนั้นท่านจะรู้ว่า ‘เราเป็น’” (ยน 8:28)

CCC ข้อ 653 การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเป็นการยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระองค์เคยตรัสไว้ว่า “เมื่อใดที่ท่านยกบุตรแห่งมนุษย์ขึ้น เมื่อนั้นท่านจะรู้ว่า ‘เราเป็น’ (ยน 8:28) การ กลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนแสดงให้เห็นว่าพระองค์คือพระเจ้าผู้เคยตรัส(แก่โมเสส)ว่า “เราเป็น” ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและทรงเป็นพระเจ้าเอง นักบุญเปาโลประกาศแก่ชาวยิวได้ว่า “เราขอประกาศข่าวดีให้ท่านทั้งหลายรู้ว่าพระสัญญาที่ประทานแก่บรรดาบรรพบุรุษนั้น พระเจ้าทรงกระทำให้เป็นจริงสำหรับเราทั้งหลายผู้เป็นลูกหลาน โดยทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย ดังที่มีเขียนไว้ในเพลงสดุดีบทที่สองว่า ท่านเป็นบุตรของเรา เราให้กำเนิดท่านในวันนี้” (กจ 13:32-33) การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้ามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพระธรรมล้ำลึกการรับสภาพมนุษย์ของพระบุตรของพระเจ้า การกลับคืนพระชนมชีพเป็นการทำให้แผนการนิรันดรของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริง

CCC ข้อ 2812 ในที่สุด พระนามของพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็ได้รับการเปิดเผยและประทานให้เราในพระเยซูเจ้าพระผู้ไถ่ที่ทรงรับสภาพมนุษย์ ได้รับการเปิดเผยจากสภาพที่พระองค์เองทรงเป็น จากพระวาจาที่ตรัสและจากการถวายบูชาของพระองค์ การเปิดเผยนี้เป็นหัวใจของคำอธิษฐานภาวนาของพระองค์ในฐานะมหาสมณะ เมื่อตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าถวายตนเป็นบูชาสำหรับเขา เพื่อเขาจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงด้วย” (ยน 17:19) เพราะว่าพระเยซูเจ้าทรง “บันดาลความศักดิ์สิทธิ์” แก่พระนามของพระองค์ ก็ยังทรง “แสดง” พระนามของพระบิดาให้แก่เราด้วย เมื่อปัสกาของพระเยซูเจ้าสิ้นสุดแล้ว พระบิดาก็ประทานพระนามที่ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้นให้แก่พระองค์ด้วยโดยทรงประกาศว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าพระบิดา


ยน 8:29 พระคริสตเจ้าทรงกระทำตามพระประสงค์ของพระบิดาอยู่เสมอ และด้วยเหตุนี้จึงทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ตลอดไป โดยการเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า ซึ่งหยั่งรากลึกอยู่ในพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปของเรา ทำให้เรามีความสุขกับการเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาในฐานะบุตรของพระเจ้า ดังที่ออริเจนสอนว่า“ ในการมอบตัวเราเอง [แด่พระคริสตเจ้า] เราสามารถกลายเป็นจิตหนึ่งเดียวกับพระองค์ และด้วยเหตุนี้เราจึงทำให้พระประสงค์ของพระองค์บรรลุผลสำเร็จสมบูรณ์บนโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์ได้" (De Orat., 26: PG 11, 501 B) 

CCC ข้อ 431 ในประวัติศาสตร์ความรอดพ้น พระเจ้าไม่ทรงต้องการเพียงช่วยอิสราเอลให้พ้น “จากการเป็นทาส” (ฉธบ 5:6) ช่วยให้ออกมาจากอียิปต์ พระองค์ยังทรงช่วยเขาให้พ้นจากบาปด้วย เพราะบาปคือการทำผิดต่อพระเจ้าเสมอ พระองค์เท่านั้นจึงทรงอภัยบาปได้ เพราะเหตุนี้ อิสราเอลซึ่งมีสำนึกยิ่งๆ ขึ้นอยู่เสมอว่าบาปครอบคลุมมนุษย์ทั้งมวล จึงไม่อาจแสวงหาความรอดพ้นได้อีกนอกจากจะร้องหาพระนามของพระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดพ้นเท่านั้น

CCC ข้อ 588 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจเมื่อเสวยร่วมโต๊ะกับคนเก็บภาษีและคนบาป อย่างคุ้นเคยเช่นเดียวกับเมื่อทรงร่วมโต๊ะกับพวกเขา พระเยซูเจ้าทรงยืนยันไม่เห็นด้วยกับ “ผู้ที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่น” (ลก 18:9) ตรัสว่า “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ” (ลก 5:32) พระองค์ยังทรงก้าวไปไกลยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อทรงประกาศอย่างเปิดเผยต่อหน้าชาวฟาริสีว่า ในเมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป พวกเขาที่คิดว่าตนไม่ต้องการ การกอบกู้ย่อมทำตนเป็นคนตาบอด

CCC ข้อ 1739 อิสรภาพและบาป อิสรภาพของมนุษย์มีขอบเขตและผิดพลาดได้ ในความเป็นจริง มนุษย์ผิดพลาดเขาทำบาปโดยเสรี ถ้าเขาไม่ยอมรับแผนการณ์ความรักของพระเจ้า เขาก็หลอกตนเอง กลายเป็นทาสของบาป การแยกตนออกไปครั้งแรกนี้ก่อให้เกิดการแยกตนออกไปอื่นๆ อีกหลายครั้ง ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตั้งแต่เริ่มแรกแล้วเป็นพยานแสดงให้เห็นความวุ่นวายและการเบียดเบียนกันที่เกิดมาจากใจของมนุษย์ เป็นผลร้ายสืบเนื่องมาจากการใช้อิสรภาพอย่างไม่ถูกต้อง

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)