แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ข้อคิดข้อรำพึง

อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต ปี B

 

งู และความรักของพระเจ้า

4 Lent 7

 พระเยซูเจ้าตรัสกับนิโคเดมัสว่า “โมเสสได้ยกรูปงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใด บุตรแห่งมนุษย์ก็จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น”

 

ประโยคนี้น่าสนใจมาก และมีความหมายลึกซึ้ง 

การใช้งูเป็นสัญลักษณ์มีอยู่มากหลายในวัฒนธรรมต่างๆ และใช้กันมาเป็นพันๆ ปีแล้ว  เริ่มตั้งแต่งูในสวนเอเดน จนถึงพญาอนันตนาคราชในบางลัทธิของศาสนาฮินดู งูดึกดำบรรพ์ที่เป็นบรรพชนของชนเผ่าอัซเทคส์ (Aztecs) และ“เทพเจ้าดั้งเดิมแห่งธรรมชาติ” ในบางภาคส่วนของทวีปแอฟริกา จวบจนทุกวันนี้ยังมีการใช้งูเป็นสื่อสัญลักษณ์อยู่ จากวรรณกรรมถึงศิลปะและการแพทย์หรือยา ไม่เว้นถึงนักจิตวิเคราะห์ รูปลักษณ์ของงูพิษหรืองูก็ตามหลอกหลอนในมโนภาพของมนุษย์มาตั้งแต่นมนานจนระบุเวลาไม่ได้

มีเรื่องเล่าว่า  คนพื้นเมืองในอินเดียมีวิธีแบบพื้นบ้านในการรักษาคนที่ถูกงูกัด  ครั้งหนึ่ง  บาทหลวงคาทอลิกคนหนึ่งไปเยี่ยมหมู่บ้านที่อยู่ในแคว้น  Gujarat ทางใต้  มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น  คือเด็กหญิงคนหนึ่งอายุ 8 ขวบ  ถูกงูเห่ากัด  เธอร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด  พ่อของเด็กหญิงนั้นซึ่งเป็นหัวหน้าของหมู่บ้านได้เข้าไปช่วยเหลือ  โดยทำรอยบากใกล้ๆกับตรงที่ถูกงูกัด  แล้วนำไก่มาตัวหนึ่งและจับตรงรูทวารของไก่กดลงไปในบริเวณที่เลือดจะซึมออกมา  รูทวารของไก่จะทำหน้าที่เหมือนปั๊มดูด  และไก่ก็จะต่อสู้ดิ้นรน  ต่อมาไก่ตัวนั้นจะกลายเป็นสีคล้ำอย่างช้าๆ   เด็กหญิงนั้นรอดชีวิต  แต่ไก่ตัวนั้นได้ตายไป  (เรื่องเล่านี้มาจากหนังสือ  Sunday Seeds for Daily Deeds ; by Francis Gonsalves, S.J.)

4 Lent 1

ในบางวัฒนธรรม งูถูกมองในแง่บวกและเปี่ยมไปด้วยพลัง แม้จะมีอันตรายมาก แต่ในที่อื่นๆ อีกมากรวมทั้งตามกรอบธรรมประเพณีของชาวยิวและคริสตชนด้วย งูถูกมองว่าเป็นพลังกล้าแกร่งในด้านมืด เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วในโลกนี้และในตัวของเราทุกคน

 

แล้วงูมาเกี่ยวอะไรกับพระคัมภีร์ด้วย ต้องย้อนกลับไปดูหนังสือกันดารวิถีในพันธสัญญาเดิมบทที่ 21:5-8 ซึ่งเล่าเรื่องชาวอิสราเอลขณะเดินทางในถิ่นทุรกันดาร ได้พากันบ่นว่าพระเจ้าและโมเสส จึงถูกลงโทษให้มีงูพิษเข้ามากัดประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก ประชาชนมาหาโมเสสยอมรับผิดว่าได้บ่นว่าพระเจ้าและโมเสส แต่บัดนี้ขอโมเสสทูลขอจากพระเจ้าให้ทรงนำงูนี้ออกไป พระเจ้าทรงช่วยแก้ไขโดยบอกให้โมเสสทำรูปงูติดไว้ที่ปลายเสา ทุกคนที่ถูกงูกัด เมื่อมองดูรูปงูนั้นก็จะยังมีชีวิตอยู่ได้” การที่รูปงูขดอยู่ที่ปลายเสานั้นเป็นสัญลักษณ์ที่ยังคงปรากฏอยู่ทุกวันนี้ เป็นสัญลักษณ์ของการรักษาเยียวยา ซึ่งยังใช้ในการแพทย์หลายองค์กรอยู่

 

งูที่ทำจากทองสัมฤทธิ์นี้ต่อมาถูกบรรจุไว้ในหีบพันธสัญญาโดยถือว่าเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งกาลเวลาล่วงเลยมามาก กษัตริย์เฮเซคียาห์ได้ทรงพบว่าประชาชนหลงใหลบูชารูปงูนั้น จึงหักมันเป็นท่อนๆ (2 พกศ.18:4) ในสมัยของพระเยซูเจ้า นักเขียนชาวยิวคนหนึ่งยังเห็นความจำเป็นที่จะต้องเน้นว่า ไม่ใช่งูทองสัมฤทธิ์นั้นที่ช่วยอิสราเอลให้รอด แต่เป็นอำนาจของพระที่ช่วยให้รอดพ้น

 

โดยแท้จริงแล้ว เรื่องงูนี้มีกล่าวเพียงครั้งเดียวในภาคพันธสัญญาใหม่ และการกล่าวถึงนี้ชี้ชัดไปถึงเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องถูกยกขึ้น เพื่อว่าใครก็ตามที่เชื่อในพระองค์จะได้รับชีวิตนิรันดร” มนุษยชาติทั้งมวลตกเป็นเหยื่อของเชื้อโรคที่นำไปสู่ความตาย วิธีรักษาเยียวยาแต่เพียงอย่างเดียวคือ มองดูบุตรแห่งมนุษย์ที่กำลังสิ้นพระชนม์บนกางเขน ก็จะทำให้เขามีชีวิตโดยอาศัยความเชื่อในพระองค์

 

คำว่าถูกยกขึ้นนั้น นักบุญยอห์นเลือกใช้คำนี้และยังใช้อีกหลายครั้งต่อมาในพระวรสารที่ท่านเขียน กางเขนคือการยกขึ้นซึ่งเกือบจะเท่ากับคำว่า สิริรุ่งโรจน์เลยทีเดียว ในสมัยพันธสัญญาเดิม สถานที่บรรพบุรุษแห่งความเชื่อของอิสราเอลมีประสบการณ์พบกับพระเจ้านั้น มักอธิบายในรูปของการมีบันไดเชื่อมระหว่างสวรรค์และแผ่นดิน และมีเทวดาของพระเจ้าขึ้นๆ ลงๆ ที่บันไดนั้น สำหรับนักบุญยอห์น กางเขนก็คือบันไดเชื่อมสวรรค์เชื่อมแผ่นดินนั้นเอง และภาพที่เห็นพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์บนกางเขน เป็นภาพที่แสดงถึงความรักของพระเจ้าต่อมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม  และเป็นภาพที่น่าประทับใจ  แต่ก็สะเทือนใจเป็นที่สุด  ขอจบด้วยคำของบทเดินรูปที่ว่า “มนุษย์เอ๋ยเห็นพระองค์ทรงความรักต่อเราใหญ่หลวงเพียงนี้แล้ว...    ก็จงหลีกหนีความสะดวกสบายฝ่ายข้างโลก” ขอเติมอีกหน่อยว่า  เมื่อเห็นความรักใหญ่หลวงที่ทรงมีต่อเราถึงเพียงนี้แล้ว ยังจะใจแข็งกระด้าง(ต่อไป)อีกหรือ

 

( คุณพ่อ วิชา  หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อปี ค.ศ. 2009

Based on : John for Everyone ; by Tom Wright )

4 Lent 24 Lent 34 Lent 44 Lent 54 Lent 6