แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธ สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 20:17-28)  

เวลานั้น พระเยซูเจ้ากำลังเสด็จขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ทรงพาเฉพาะอัครสาวกสิบสองคนออกไป แล้วตรัสแก่เขาขณะเดินทางว่า “บัดนี้ พวกเรากำลังขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบแก่บรรดาหัวหน้าสมณะและบรรดาธรรมาจารย์ เขาจะถูกตัดสินประหารชีวิต และจะถูกมอบให้คนต่างชาติสบประมาทเยาะเย้ย โบยตีและนำไปตรึงกางเขน แต่ในวันที่สามบุตรแห่งมนุษย์จะกลับคืนชีพ”

      มารดาของบุตรเศเบดีเข้ามาเฝ้าพระองค์พร้อมกับบุตร นางกราบลงทูลขอสิ่งหนึ่งจากพระองค์ พระองค์จึงตรัสถามนางว่า “ท่านต้องการอะไร” นางทูลว่า “ขอพระองค์ทรงอนุญาตให้บุตรทั้งสองคนของข้าพเจ้า นั่งข้างขวาคนหนึ่ง นั่งข้างซ้ายคนหนึ่งในพระอาณาจักรของพระองค์” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านไม่รู้ว่ากำลังขออะไร ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้หรือไม่” เขาทั้งสองทูลตอบว่า “ได้ พระเจ้าข้า” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านจะดื่มถ้วยของเรา แต่การที่จะนั่งข้างขวาหรือข้างซ้ายของเรานั้นไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะให้ แต่สงวนไว้สำหรับผู้ที่พระบิดาของเราทรงจัดเตรียมไว้”

    เมื่อได้ยินดังนั้น อัครสาวกอีกสิบคนรู้สึกโกรธพี่น้องสองคนนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกทุกคนมาพบ ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่าคนต่างชาติที่เป็นหัวหน้า ย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้ใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่ จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น และผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในบรรดาท่านทั้งหลาย ก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ เหมือนกับที่บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์ทั้งหลาย”


มธ 20:17-19 พระคริสตเจ้าทรงทราบดีถึงรูปแบบการสิ้นพระชนม์ที่พระองค์จะต้องประสบ จึงทรงบอกล่วงหน้าถึงพระมหาทรมานของพระองค์ บรรดาศิษย์ไม่สามารถจิตนาการได้ถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และเข้าใจไม่ได้ถึงความจำเป็นของการสละชีวิตของพระคริสตเจ้าจนกว่าพระองค์จะทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ

CCC ข้อ 572 พระศาสนจักรยังคงซื่อสัตย์ต่อการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทั้งหมดเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าเคยทรงอธิบายทั้งก่อนและหลังจากปัสกาของพระองค์ “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก 24:26) พระทรมานของพระเยซูเจ้าได้รับรูปแบบดังที่ได้เกิดขึ้นก็เพราะว่าทรงถูก “บรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ” (มก 8:31) คนเหล่านี้ “มอบพระองค์ให้คนต่างชาติสบประมาท เยาะเย้ย โบยตีและนำไปตรึงกางเขน” (มธ 20:19)


มธ 20:20-28 การเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้านั้น หมายความถึงการรับใช้ การเสียสละตนเองเพื่อรับใช้ผู้อื่นและการเผยแผ่ข่าวดีแห่งพระวรสาร พระคริสตเจ้าทรงกล่าวถึงพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง โดยเทียบเคียงอัตลักษณ์ของพระองค์เองกับผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ทรมานตามคำอธิบายในหนังสือประกาศกอิสยาห์ (อสย 53:10-12) ผู้ซึ่งได้ทรงไถ่ประชากรของพระองค์ให้รอดพ้นจากการเป็นทางของบาป บรรดาศิษย์ของพระองค์ถูกเรียกให้มีส่วนร่วมและเลียนแบบพระองค์ในพระมหาทรมานของพระองค์ 

เพื่อคนจำนวนมาก: วลีที่ใช้นี้บ่งบอกว่า ไม่มีผู้ใดถูกกีดกันออกไปจากโอกาสที่จะได้รับพระหรรษทานของการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้า กล่าวคือ พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ทุกคน พระพรแห่งการไถ่กู้ เรียกร้องการตอบรับในเชิงบวก และผู้ใดที่ปฏิเสธพระพรนี้ก็จะถูกแยกไปจากพระเจ้าชั่วนิรันดร์ด้วยการเลือกที่อิสระของเขาเอง ในพิธีบูชาขอบพระคุณระหว่างการเสกศีล มีสวดภาวนาด้วยคำเหล่านี้คือ “รับถ้วยนี้ไปดื่มให้ทั่วกัน นี่เป็นถ้วยโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาใหม่อันยืนยง โลหิตซึ่งจะหลั่งออกเพื่ออภัยบาปสำหรับท่านและมนุษย์ทั้งหลาย”

  CCC ข้อ 440 พระเยซูเจ้าทรงรับการประกาศแสดงความเชื่อของเปโตรซึ่งยอมรับพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์พร้อมกับทรงแจ้งถึงพระทรมานที่กำลังจะมาถึงของ “บุตรแห่งมนุษย์” พร้อมกันนั้นยังทรงเปิดเผยความหมายแท้จริงของการทรงเป็นกษัตริย์-พระเมสสิยาห์อีกด้วยว่าทรงเป็น “บุตรแห่งมนุษย์” โลกุตระผู้ซึ่ง “ลงมาจากสวรรค์” (ยน 3:13)41 และในพันธกิจการกอบกู้ยังทรงเป็นผู้รับใช้ผู้รับทรมาน “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) เพราะเหตุนี้ ความหมายแท้จริงของการเป็นกษัตริย์ของพระองค์จึงปรากฏชัดเจนเมื่อจะทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้นเปโตรจะประกาศให้ประชากรรู้ได้ว่าทรงเป็นกษัตริย์ “ขอให้เผ่าพันธุ์อิสราเอลทั้งมวลรู้แน่เถิดว่า พระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูผู้นี้ที่ท่านทั้งหลายนำไปตรึงบนไม้กางเขนให้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสตเจ้า”(กจ 2:36)

  CCC ข้อ 601 พระคัมภีร์กล่าวล่วงหน้าไว้แล้วในเรื่องการถูกประหารชีวิตของ “ผู้รับใช้ชอบธรรม”ถึงแผนการของพระเจ้าที่จะช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้น ซึ่งเป็นธรรมล้ำลึกการไถ่กู้มวลมนุษยชาติให้พ้นจากการเป็นทาสของบาป ในการประกาศความเชื่อครั้งหนึ่งที่ท่านกล่าวว่าตน “ได้รับมา” นักบุญเปาโลประกาศว่า “พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเราตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์”(1 คร 15:3)446การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเพื่อกอบกู้มนุษยชาตินี้ทำให้คำประกาศพระวาจาเรื่อง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” สำเร็จเป็นจริง พระเยซูเจ้าเองทรงอธิบายความหมายพระชนมชีพและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในมุมมองของ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์ทรงอธิบายความหมายนี้ของพระคัมภีร์แก่ศิษย์ที่กำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอุส และหลังจากนั้นแก่บรรดาอัครสาวกด้วย

  CCCข้อ 602 เพราะเหตุนี้ นักบุญเปโตรจึงอาจกล่าวถึงความเชื่อที่สืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวกถึงแผนการที่พระเจ้าจะทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นได้ดังนี้ “ท่านได้รับการไถ่กู้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตไร้ค่าที่สืบมาจากบรรพบุรุษ […] ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระคริสตเจ้า ดังเลือดของลูกแกะไร้มลทินหรือจุดด่างพร้อย พระองค์ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ก่อนสร้างโลก และทรงเปิดเผยพระคริสตเจ้าเพื่อท่านทั้งหลายในวาระสุดท้าย” (1 ปต 1:18-20) บาปต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งเป็นผลของบาปกำเนิด ต้องรับโทษถึงตาย เมื่อทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาในสภาพทาส นั่นคือในสภาพของมนุษย์ผู้ตกในบาปและดังนั้นจึงจะต้องตายเพราะบาป453“เพราะเห็นแก่เรา พระเจ้าทรงทำให้พระองค์ผู้ไม่รู้จักบาปเป็นผู้รับบาป เพื่อว่า ในพระองค์ เราจะได้กลายเป็นผู้ชอบธรรมของพระเจ้า” (2 คร 5:21)

  CCC ข้อ 603 ไมมี่ผู้ใดพิสูจน์ได้ว่า พระเยซูเจ้า ทรงทำบาป แต่เพราะความรักเพื่อกอบกู้มนุษย์ที่รวมพระองค์ไว้กับพระบิดาเสมอ พระองค์จึงทรงยอมอยู่ในสภาพของเราที่เป็นคนบาปเหินห่างจากพระเจ้า เพื่อจะตรัสแทนเราบนไม้กางเขนได้ว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” (มก 15:34) เมื่อทรงรวมพระองค์กับเราคนบาปเช่นนี้แล้ว พระเจ้าจึง “ไม่ทรงหวงแหนพระบุตรของพระองค์ แต่ทรงมอบพระบุตรเพื่อเราทุกคน” (รม 8:32) เพื่อเราจะได้ “กลับคืนดีกับพระเจ้าเดชะการสิ้นพระชนม์ของพระบุตร” (รม 5:10)

  CCC ข้อ 604 เมื่อทรงมอบพระบุตรเพราะบาปของเรา พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าแผนการของพระองค์เกี่ยวกับเรานั้นเป็นแผนการความรักที่ประทานให้เปล่าโดยที่เราไม่สมจะได้รับความรักนี้เลย “ความรักมิใช่อยู่ที่เรารักพระเจ้า แต่อยู่ที่ว่าพระเจ้าทรงรักเรา และทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อชดเชยบาปของเรา” (1 ยน 4:10)457 “พระเจ้าทรงพิสูจน์ว่าทรงรักเรา เพราะพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อเราขณะที่เรายังเป็นคนบาป” (รม 5:8)

CCC ข้อ 605 ความรักนี้ไม่มีข้อยกเว้น ตอนปลายของเรื่องอุปมาเรื่องแกะที่หลงไปนั้น พระองค์ตรัสว่า “พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ก็เชนเดียวกัน ไม่ทรงปรารถนาให้คนธรรมดาๆ เหล่านี้แม้เพียงผู้เดียวต้องพินาศไป” (มธ 18:24) พระองค์ทรงยํ้าอีกว่าพระองค์ “ทรงมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) วลีสุดท้ายซึ่งตามตัวอักษรแปลว่า “เพื่อคนจำนวนมาก” มิได้มีความหมายจำกัด แต่เป็นการรวมมนุษยชาติไว้เป็นบุคคลเดียวตรงกันข้ามกับพระผู้ไถ่ซึ่งมอบพระองค์เพื่อช่วยบุคคลนี้ให้รอดพ้นพระศาสนจักรก็ปฏิบัติตามบรรดาอัครสาวก สอนว่าพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ทุกคนโดยไม่ยกเว้น “ไม่ได้มี และจะไม่มีมนุษย์คนใด ที่พระคริสตเจ้ามิได้ทรงรับทรมานเพื่อเขา”

  CCC ข้อ 786 ในที่สุด ประชากรของพระเจ้ายังมีส่วนในหน้าที่กษัตริย์ของพระคริสตเจ้าอีกด้วย พระคริสตเจ้าทรงมีบทบาทเป็นกษัตริย์ปกครองมนุษย์ทุกคนเมื่อทรงดึงดูดมนุษย์ทุกคนเข้ามาหาพระองค์อาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ พระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นกษัตริย์และเจ้านายแห่งสากลโลก ทรงยอมเป็นผู้รับใช้ของทุกคน ในฐานะที่พระองค์ “มิได้เสด็จมาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) สำหรับคริสตชน “การรับใช้เป็นการครองราชย์” พระศาสนจักรโดยเฉพาะ “ย่อมรับรู้ภาพลักษณ์ของพระผู้สถาปนาตนก็ในบรรดาผู้ยากจนและทนทุกข์”  ประชากรของพระเจ้าทำให้ “ศักดิ์ศรีการเป็นกษัตริย์” ของตนเป็นจริงก็เมื่อตนดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกให้เป็นผู้รับใช้พร้อมกับพระคริสตเจ้า “เครื่องหมายกางเขนมอบถวายให้ทุกคนที่บังเกิดใหม่ในพระคริสตเจ้าและได้รับเจิมจากพระจิตเจ้าได้เป็นสมณะ เพื่อคริสตชนทุกคนจะได้ยอมรับว่านอกจากศาสนบริการรับใช้ฝ่ายจิตตามเหตุผลที่ทุกคนมีอยู่แล้วนั้น ตนยังมีส่วนร่วมในบทบาทหน้าที่สมณราชตระกูลอีกด้วย อะไรเล่าเป็นอำนาจกษัตริย์ของวิญญาณมากกว่าการเป็นผู้ปกครองร่างกายของตนให้อยู่ใต้บังคับของพระเจ้า และอะไรเป็น บทบาทของสมณะมากกว่าการถวายมโนธรรมที่บริสุทธ์แด่องค์พระผู้เป็นเจ้า และถวายความศรัทธาไร้มลทินเป็นเครื่องบูชาจากดวงใจของตนซึ่งเป็นเสมือนพระแท่นบูชา”

  CCC ข้อ 2235 ผู้มีอำนาจปกครองต้องใช้อำนาจนั้นเพื่อรับใช้สังคม “ในหมู่ท่านทั้งหลาย ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้” (มธ 20:26) การใช้อำนาจปกครองในฐานะที่สืบเนื่องมาจากพระเจ้าต้องได้รับการควบคุมด้านศีลธรรมโดยธรรมชาติตามเหตุผลและจุดประสงค์เจาะจงของอำนาจนั้นไม่มีใครอาจสั่งหรือกำหนดให้ทำสิ่งที่ขัดกับศักดิ์ศรีของบุคคลและกฎธรรมชาติได้


มธ 20:20 ยากอบ คนหนึ่งในบุตรชายทั้งสองที่ถูกกล่าวถึงนั้น ได้ถูกตัดสินประการชีวิตโดยกษัตริย์อากริปปา ที่1 ด้วยการตัดศีรษะ ในปี ค.ศ. 42 ท่านเป็นมรณะสักขีคนแรกในบรรดาอัครสาวก

  CCC ข้อ 2473 การเป็นมรณสักขีคือการเป็นพยานอย่างสูงสุดถึงความจริงแห่งความเชื่อ การนี้หมายถึงการยอมกระทั่งตายเพื่อเป็นพยาน มรณสักขีเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพและเขาก็ยินดีร่วมตายกับพระองค์เพราะความรัก เขายังเป็นพยานถึงความจริงของความเชื่อและคำสอนของพระคริสตเจ้า เขาแสดงความกล้าหาญจนยอมตาย “ท่านทั้งหลายจงยอมให้ข้าพเจ้าเป็นอาหารของสัตว์ร้ายซึ่งจะอนุญาตให้ข้าพเจ้าเข้าถึงพระเจ้าได้”


  มธ 20:26-27 พระวาจาเหล่านี้ของพระคริสตเจ้า(ได้ตรัสพระวาจาเหล่านี้เป็นพิเศษ) เป็นคำแนะนำโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่พระองค์ได้ทรงเรียกให้มี(สู่)ชีวิตเป็นผู้(แห่งการ)รับใช้ในพระศาสนจักรโดยผ่านทางศีลบวชนั่นเอง

  CCC ข้อ 1548 ในงานรับใช้ของศาสนบริกรที่รับศีลบวช พระคริสตเจ้า เองประทับอยู่ในพระศาสนจักรของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของพระกายทิพย์ เป็นผู้อภิบาลผู้มีความเชื่อซึ่งเป็นเสมือนฝูงแกะของพระองค์ เป็นมหาสมณะถวายบูชาเพื่อไถ่กู้ เป็นพระอาจารย์สั่งสอนความจริง นี่คือความหมายของข้อความที่พระศาสนจักรยืนยันว่าพระสงฆ์ปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะ (in persona Christi Capitis agere) อาศัยอำนาจที่ได้รับจากศีลบวช “เป็นพระสมณะองค์เดียวกัน คือพระคริสต์เยซูที่ศาสนบริกรปฏิบัติหน้าที่รับใช้ในพระบุคคลของพระองค์ เดชะการเจิมถวายเป็นสมณะที่เขาได้รับมา ศาสนบริกรผู้นี้เป็นเหมือนกับพระมหาสมณะและสามารถปฏิบัติงานโดยอำนาจและพระบุคคลของพระคริสตเจ้าเอง” “พระคริสตเจ้าทรงเป็นต้นกำเนิดของสมณภาพทั้งหมด สมณะในพันธสัญญาเดิมเป็นรูปแบบของพระองค์ ส่วนสมณะในพันธสัญญาใหม่ก็ปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระองค์นั่นเอง”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)