แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ข้อคิดข้อรำพึง

พระวาจาพระเจ้า ของอาทิตย์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา ปี B

6th Sunday 7

“เราพอใจ จงหายเถิด”

 บทกวีของ John Shea ที่เขียนเป็นบทภาวนาถึงความเจ็บปวดของพระเยซูเจ้า ตอนหนึ่งมีใจความว่า

 

 “เมื่อคนโรคเรื้อนได้รับการรักษาให้หาย

 ร่องรอยของโรคกลับปรากฏบนพระหัตถ์ของพระองค์ใช่ไหม

...พระวรสารเล่าว่า... พระเยซูเจ้าทรงรู้สึกว่ามีอำนาจออกไปจากตัวของพระองค์

...แต่ลืมที่จะพูดว่า... ในเวลานั้นเองความเจ็บปวดได้เข้ามาแทนที่ในตัวของพระองค์”

มีเรื่องเล่าว่า  ในปี ค.ศ. 1981  Peter  Cropper  นักไวโอลินชาวบริติช  ได้รับเชิญไปประเทศฟินแลนด์เพื่อแสดงคอนเสิร์ตรอบพิเศษ  โดยความชอบพอเป็นการส่วนตัวที่มีต่อ Peter  สถาบันดนตรีในพระราชอุปถัมภ์ (Royal Academy of Music)  ได้ให้เขายืมไวโอลินยี่ห้อ Stradivarius  ที่อายุเก่าแก่ถึง 285 ปี  และมีราคาประเมินค่ามิได้  เพื่อไปใช้เล่นในคอนเสิร์ตครั้งนี้

6th Sunday 1

เครื่องดนตรีที่หายากเช่นนี้ได้ชื่อมาจากนักทำไวโอลินชาวอิตาเลียนที่ชื่อว่า  อันโตนิโอ  สตราดิวารี (Antonio Stradivari)  ประกอบขึ้นโดยใช้ไม้ชนิดพิเศษ 80 ชิ้น  และเคลือบเงาเป็นพิเศษถึง 30 ชั้น  เสียงที่ไพเราะของมันไม่มีใครลอกเลียนแบบได้

 

เมื่อ Peter Cropper  ไปถึงประเทศฟินแลนด์แล้ว  เหตุการณ์ประดุจฝันร้ายได้เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ  ขณะเดินขึ้นไปบนเวที Peter สะดุดและล้มลง  ไวโอลินแตกหักเป็นหลายชิ้น  Peter บินกลับลอนดอนด้วยความรู้สึกที่ช็อก

 

ช่างฝีมือเอกที่ชื่อว่า  Charles Beare  ตกลงใจว่าจะพยายามซ่อมแซมไวโอลินนั้น  เขาทำงานหนักชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า  จนในที่สุดก็ประกอบมันเข้าด้วยกันจนสำเร็จ  แล้วนั้นก็ถึงช่วงเวลาแห่งความจริงที่น่ากลัว  ว่าเสียงของไวโอลินจะออกมาเป็นเช่นไร

 

เมื่อ Beare  ช่างฝีมือเอกได้ยื่นไวโอลินให้กับ Peter Cropper  จิตใจของเขาหวั่นไหวมากในขณะที่ยกไวโอลินขึ้นและเริ่มเล่นมัน  ทุกคนที่อยู่ที่นั่นในเวลานั้นแทบไม่อยากเชื่อหูตนเอง  เพราะไม่เพียงเสียงของไวโอลินจะดีมากแล้ว  แต่มันดูเหมือนมีเสียงที่ไพเราะกว่าแต่ก่อนอีก

 

และต่อจากนั้นไปอีกหลายเดือนที่  Peter Cropper  ได้นำไวโอลินไปแสดงรอบโลก  ค่ำคืนแล้วค่ำคืนเล่า  ไวโอลินที่ทุกคนเคยคิดว่าถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงแล้ว  กลับได้รับเสียงปรบมืออย่างท่วมท้นจากผู้ที่เข้าชมคอนเสิร์ต

 

เรื่องราวของไวโอลินนี้  อาจนำมาเปรียบได้อย่างเหมาะเจาะกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนโรคเรื้อนในพระวรสารของวันนี้

 

ในสังคมสมัยโบราณ  คนที่เป็นโรคเรื้อนเป็นคนที่น่าสงสารมากที่สุด  คนอื่นๆพากันกลัวว่าจะติดโรคมาจากพวกเขา  ชีวิตของพวกเขาเปรียบเหมือนตกนรกทั้งเป็น  ผู้คนไม่อยากแม้แต่จะมองเห็นพวกเขา  และพวกเขาก็ไม่อยากเห็นสายตาของผู้อื่นที่มองมา  และพวกเขาก็ไม่อยากมองดูตัวเองด้วยซ้ำ  บทสดุดีที่ 31 : 11-12  ได้อธิบายสถานการณ์ที่ประสบเคราะห์กรรมไว้ดีทีเดียว  "ข้าพเจ้าเป็นที่เยาะเย้ยของบรรดาศัตรู  เป็นที่รังเกียจของเพื่อนบ้าน....  ผู้ที่เห็นข้าพเจ้าตามถนนก็หลบหนีไป  ข้าพเจ้าถูกลืมเหมือนคนตาย  ถูกทอดทิ้งเหมือนภาชนะดินเผาที่แตกแล้ว" (เรื่องเล่านี้นำมาจากหนังสือ Illustrated Sunday Homilies, Year - B  ของ Mark Link, SJ.)

 

 นักบุญมาระโกเล่าในพระวรสารวันอาทิตย์นี้ ถึงเรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนโรคเรื้อนคนหนึ่งให้หาย คนโรคเรื้อนนี้ต้องเป็นคนใจเด็ด จึงกล้าเข้ามาจนใกล้พระองค์ ปกติคนโรคเรื้อนจะถูกกันออกไปจากสังคม ถูกตัดขาดจากคนปกติธรรมดาทั่วไป เพราะเป็นโรคที่ร้ายแรงและติดต่อ อีกทั้งในสมัยก่อนไม่สามารถรักษาให้หายได้ กฎของโมเสสบอกให้ขับออกไปจากหมู่คณะ เป็นที่รังเกียจของทุกคน ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย ไม่มีใครแม้แต่จะอยากเห็นคนที่เป็นโรคนี้ ดังนั้น การเข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้า จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะถ้าใครเห็นเขาก่อน ก็จะถูกขับไล่ออกไปทันที

 

แต่เขาก็สามารถเข้ามาเฝ้าจนได้ คุกเข่าอ้อนวอนว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย พระองค์ย่อมทรงรักษาข้าพเจ้าให้หายได้” ความจริงเขาคงได้ยินเรื่องราวอัศจรรย์ต่างๆ ที่พระองค์ทรงกระทำ เขาคงไม่สงสัยในความสามารถในการรักษาของพระองค์  แต่สงสัยว่าจะเต็มพระทัยรักษาเขาหรือเปล่า ความที่ในชีวิตจริงเจอแต่คำปฏิเสธจากมนุษย์ทุกคนตลอดมา และหัวของเขาถูกครอบงำด้วยคำสั่งสอนที่สืบต่อกันมาว่า ที่เป็นโรคเช่นนี้ เพราะเขาเป็นคนบาป เป็นคนมีมลทิน ดังนั้น เขาเข้าใจว่า พระเจ้าก็ไม่ทรงต้อนรับเขาด้วย อีกทั้งถ้าพระเยซูเจ้าทรงแตะต้องเขาเพื่อทำการรักษา พระองค์ก็จะทรงมีมลทิน เพราะไปจับต้องคนที่มีมลทิน ดังนั้น ความสงสัยในใจของเขาก็มีเหตุผลอยู่เหมือนกัน แต่แม้จะยากในทุกๆ ด้าน บวกกับความไม่แน่ใจต่างๆ นานา เขาก็ยังหวังพึ่งความช่วยเหลือจากพระองค์

 

และเขาก็ไม่ผิดหวัง พระเยซูเจ้าทรงสงสารตื้นตันพระทัย ทรงยื่นพระหัตถ์ด้วยความรักไปสัมผัสเขา ตรัสว่า “เราพอใจ จงหายเถิด”

 

ดูเอาเถิด สิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกทอดทิ้ง น่าซาบซึ้งใจมากแค่ไหน บ่งแสดงให้เห็นถึงพระเมตตารักของพระเจ้า ที่ทรงมีต่อผู้ที่ชอกช้ำระกำใจ ผู้ที่มีดวงจิตระทดท้อ

 

เราทุกคนเป็นคนบาป  เป็นโรคร้ายฝ่ายวิญญาณ เราได้เพียรพยายามแสวงหาพระเยซูเจ้าเพื่อทูลขอให้ทรงรักษาเราให้หายหรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิด และเมื่อเราเห็นความอ่อนโยนที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อคนที่ชอกช้ำระกำจิต เราจะทนเฉยอยู่ได้หรือไร อย่าลืมว่าความเจ็บปวดทั้งหลายของมวลมนุษย์นั้น เข้าไปข้างในพระองค์แทนที่อำนาจที่ออกจากพระองค์มารักษาชาวเราทั้งหลาย อย่าลืมว่าพระองค์ทรงรับแบกบาปของเรามนุษย์

 

( คุณพ่อ วิชา  หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อปี ค.ศ. 2009 )

6th Sunday 26th Sunday 36th Sunday 46th Sunday 56th Sunday 6