วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 4 ระลึกถึง น.อากาทา พรหมจารีและมรณสักขี

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 6:14-29)

เวลานั้น กษัตริย์เฮโรดทรงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า เพราะพระนามของพระเยซูเจ้าเลื่องลือไป บางคนพูดว่า “ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างได้กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว ดังนั้นเขาจึงมีอำนาจทำอัศจรรย์ได้” บางคนพูดว่า “เขาคือเอลียาห์” บางคนก็พูดว่า “เขาเป็นประกาศกคนหนึ่งเหมือนกับประกาศกคนอื่น” แต่เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงได้ยินเช่นนี้ ก็ตรัสว่า “ยอห์นคนที่เราให้ตัดศีรษะ ได้กลับคืนชีพมาอีก”

      กษัตริย์เฮโรดองค์นี้ทรงสั่งให้จับกุมยอห์น และล่ามโซ่ขังคุกไว้ เพราะเรื่องของนางเฮโรเดียส ภรรยาของฟีลิปพระอนุชา ซึ่งกษัตริย์เฮโรดทรงรับมาเป็นมเหสี ยอห์นเคยทูลกษัตริย์เฮโรดว่า “ไม่ถูกต้องที่พระองค์ทรงรับภรรยาของน้องชายมาเป็นมเหสี” นางเฮโรเดียสจึงโกรธแค้นและปรารถนาจะฆ่ายอห์นเสีย แต่ฆ่าไม่ได้ เพราะกษัตริย์เฮโรดยังทรงเกรงยอห์นอยู่ ทรงทราบว่ายอห์นเป็นคนชอบธรรมและศักดิ์สิทธิ์ จึงทรงป้องกันไว้ เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงฟังคำพูดของยอห์น ทรงรู้สึกสับสน แต่ก็ทรงยินดีที่จะฟัง

นางเฮโรเดียสได้โอกาสเมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงจัดให้มีงานเลี้ยงขุนนางกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่และคนสำคัญในแคว้นกาลิลีในวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ บุตรหญิงของนางเฮโรเดียสออกมาเต้นรำเป็นที่พอพระทัยของกษัตริย์เฮโรด และเป็นที่พอใจของผู้รับเชิญ กษัตริย์จึงตรัสกับหญิงคนนั้นว่า “ท่านอยากได้อะไรก็ขอมาเถิด เราจะให้” และยังทรงสาบานอีกว่า “ท่านขออะไรเราก็จะให้ แม้จะเป็นครึ่งหนึ่งของอาณาจักรของเราก็ตาม” หญิงสาวจึงออกไปถามมารดาว่า “ลูกจะขออะไรดี” มารดาตอบว่า “จงขอศีรษะของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง” หญิงสาวจึงรีบกลับมาทูลกษัตริย์ทันทีว่า “หม่อมฉันขอศีรษะของยอห์นผู้ทำพิธีล้างใส่ถาดมาให้เดี๋ยวนี้” กษัตริย์ทรงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง แต่เพราะได้ทรงสาบานไว้ และเพราะทรงเห็นแก่ผู้รับเชิญ ไม่ทรงปรารถนาจะขัดใจหญิงสาว จึงทรงสั่งเพชฌฆาตไปตัดศีรษะของยอห์นมาทันที เพชฌฆาตไปตัดศีรษะของยอห์นในคุก ใส่ถาดนำมาให้หญิงสาว หญิงสาวจึงนำไปให้มารดา เมื่อบรรดาศิษย์ของยอห์นรู้เรื่อง จึงมารับศพของยอห์น นำไปฝังไว้ในคูหา


มก 6:14-16 พระเยซูคริสตเจ้าคือใคร? นี่คือคำถามสำคัญของคนในทุกยุคทุกสมัย บรรดาคริสตชนเชื่อว่า พระองค์คือพระบุตรพระเจ้า พระบุคคลที่สองในพระตรีเอกภาพ ผู้ทรงรับเอาธรรมชาติมนุษย์ที่มองเห็นได้ 

CCC ข้อ 461 พระศาสนจักรนำวลีของนักบุญยอห์น (“พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์” ยน 1:14) มาใช้เรียกการที่พระบุตรของพระเจ้ามารับสภาพมนุษย์ของเราใช้ทำให้ความรอดพ้นของเราสำเร็จไปว่า “การรับสภาพมนุษย์” (แปลตามตัวอักษรว่า “การรับเนื้อหนัง” หรือ “การรับร่างกาย”) พระศาสนจักรขับร้องเรื่องการรับสภาพมนุษย์โดยใช้บทเพลงที่นักบุญเปาโลยกมาไว้ในจดหมายของท่านดังนี้ว่า “จงมีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับที่พระคริสตเยซูทรงมีเถิด แม้ว่าพระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้า พระองค์ก็มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้นเป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหน แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น ทรงรับสภาพดุจทาส เป็นมนุษย์ดุจเรา ทรงแสดงพระองค์ในสภาพมนุษย์ ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน” (ฟป 2:5-8)

  CCC ข้อ 462 จดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าวถึงธรรมล้ำลึกเดียวกันด้วยว่า “ดังนั้นเมื่อ(พระคริสตเจ้า)เสด็จมาในโลกจึงตรัสว่า ‘พระองค์ไม่มีพระประสงค์เครื่องบูชาและของถวายอื่นใด พระองค์จึงทรงเตรียมร่างกายไว้ให้ข้าพเจ้า พระองค์ไม่พอพระทัยในเครื่องเผาบูชาและเครื่องบูชาชดเชยบาป ข้าพเจ้าจึงทูลว่า ข้าแต่พระเจ้า [....] ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์’” (ฮบ 10:5-7 ซึ่งอ้างถึง สดด 40:7-9 LXX).

  CCC ข้อ 463 ความเชื่อในการที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์แท้จริงเป็นเครื่องหมายชัดเจนแสดงความเชื่อของคริสตชน “ท่านทั้งหลายรู้จักการดลใจของพระเจ้าโดยวิธีนี้คือ การดลใจใดที่ยอมรับว่าพระเยซูคริสตเจ้าเสด็จมารับสภาพมนุษย์ ก็เป็นการดลใจที่มาจากพระเจ้า” (1 ยน 4:2) นี่คือความแน่ใจน่ายินดีของพระศาสนจักรมาตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อพระศาสนจักรขับร้อง “พระธรรมล้ำลึกยิ่งใหญ่เรื่องความเคารพเลื่อมใส” ว่า “พระองค์ทรงปรากฏให้แลเห็นได้ในสภาพมนุษย์” (1 ทธ 3:16)

CCC ข้อ 464 เหตุการณ์พิเศษหนึ่งเดียวเรื่องการที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์มิได้หมายความว่าพระเยซูคริสตเจ้าส่วนหนึ่งเป็นพระเจ้า อีกส่วนหนึ่งเป็นมนุษย์ และไม่ใช่ผลของการผสมกันของสิ่งที่เป็นพระเจ้าและสิ่งที่เป็นมนุษย์ พระองค์ทรงเป็นมนุษย์โดยแท้จริง และยังคงเป็นพระเจ้าอยู่อย่างแท้จริงด้วย พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ พระศาสนจักรต้องปกป้องความจริงนี้ของความเชื่อ และต้องอธิบายความจริงนี้ตลอดมาในหลายศตวรรษแรกๆต่อสู้กับบรรดาลัทธิมิจฉาทิฐิซึ่งพยายามบิดเบือนความเชื่อข้อนี้

  CCC ข้อ 465 ลัทธิมิจฉาทิฐิแรกๆ มักจะไม่ปฏิเสธพระเทวภาพของพระคริสตเจ้า แต่จะสอนว่าพระสภาพมนุษย์ของพระองค์ไม่มีอยู่จริงๆ (docetismus gnosticus = ลัทธิไญยนิยมที่สอนว่าพระธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้าเป็นเพียงภาพลวงตา) นับตั้งแต่สมัยอัครสาวกแล้ว ความเชื่อของคริสตชนย้ำว่าพระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์จริงๆ แต่นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 แล้ว ในสภาสังคายนาที่เมืองอันทิโอค พระศาสนจักรต้องยืนยันต่อสู้กับเปาโลแห่งซาโมซาตา (Paul of Samosata) ว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าโดยธรรมชาติ ไม่ใช่โดยการรับเป็นบุตรบุญธรรม สภาสังคายนาสากลที่เมืองนิเชอาเมื่อปี 325 ก็ยืนยันในสูตรประกาศความเชื่อว่าพระบุตรของพระเจ้า “มิได้ทรงถูกสร้าง แต่ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดา (ซึ่งคำภาษากรีกว่า homo-ousios)” และประณามอาริอัส (Arius) ซึ่งสอนว่า “พระบุตรของพระเจ้าเกิดมาจากความเปล่า (ex nihilo)” และทรงมี “พระธรรมชาติและความเป็นอยู่แตกต่างจากพระบิดา”

  CCC ข้อ 466 คำสอนผิดๆ ของเนสโตรีอุสอ้างว่าพระบุคคลมนุษย์ในพระคริสตเจ้าเข้ามารวมกับพระบุคคลพระเจ้าของพระบุตรของพระเจ้า นักบุญซีริลแห่งอเล็กซานเดรียและสภาสังคายนาสากล ครั้งที่ 3 ซึ่งมาประชุมกันที่เมืองเอเฟซัสเมื่อปี ค.ศ. 431 ประณามคำสอนดังกล่าวนี้และประกาศว่า “พระวจนาตถ์ทรงมาเป็นมนุษย์เมื่อทรงรวมร่างกายซึ่งมีวิญญาณที่คิดตามเหตุผลได้เข้ากับตนโดยธรรมชาติ (hypostasis)” พระธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้าไม่มีความเป็นอยู่อื่นใดนอกจากเป็นพระบุคคลพระเจ้าของพระบุตรพระเจ้าซึ่งรับสภาพมนุษย์นี้เข้ามารวมเป็นของตนนับตั้งแต่ทรงปฏิสนธิ เพราะเหตุนี้สภาสังคายนาที่เมืองเอเฟซัสเมื่อปี 431 จึงประกาศว่าเมื่อพระนางมารีย์ทรงปฏิสนธิพระบุตรของพระเจ้าเป็นมนุษย์ในพระครรภ์ จึงทรงเป็น “พระมารดาของพระเจ้า” โดยแท้จริง “ทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า ไม่ใช่เพราะพระธรรมชาติของพระวจนาตถ์และพระเทวภาพของพระองค์ถือกำเนิดจากพระนางพรหมจารี แต่เพราะ[พระวจนาตถ์]ทรงรับพระวรกายศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับพระวิญญาณที่มีสติปัญญาจากพระนาง และกล่าวได้ว่าพระวจนาตถ์ของพระเจ้าซึ่งรวมเป็นหนึ่งเดียวตามธรรมชาตินี้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์จากพระนาง”

CCC ข้อ 467 พวกมิจฉาทิฐิเอกธรรมชาตินิยม (Monophysites) ยืนยันว่าพระธรรมชาติมนุษย์ในพระคริสตเจ้าเลิกมีความเป็นอยู่เมื่อถูกรับเข้ามารวมอยู่กับพระบุคคลพระเจ้าของพระบุตรของพระเจ้า สภาสังคายนาสากลที่เมืองคัลเชโดนเมื่อปี ค.ศ. 451 ตอบโต้คำสอนมิจฉาทิฐินี้ ประกาศว่า “ตามคำสอนของบรรดาปิตาจารย์ พวกเราทุกคนจึงประกาศยืนยันและสอนเป็นเสียงเดียวกันว่า พระบุตร พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ทรงเป็นพระองค์เดียวกันที่สมบูรณ์ในพระเทวภาพกับพระองค์ที่สมบูรณ์ในพระธรรมชาติมนุษย์ ทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ ทรงเป็นพระองค์เดียวกันที่ประกอบด้วยพระวิญญาณที่คิดตามเหตุผลและพระวรกาย ทรงร่วมพระธรรมชาติกับพระบิดาใน พระเทวภาพ และทรงร่วมพระธรรมชาติกับเราโดยธรรมชาติมนุษย์ ‘ทรงเหมือนกับเราทุกอย่างยกเว้นบาป’ ทรงบังเกิดจากพระบิดาก่อนกาลเวลาในฐานะพระเจ้า ในวาระสุดท้ายพระองค์ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี พระมารดาพระเจ้าในฐานะมนุษย์ เพราะเห็นแก่เราและเพื่อช่วยเราให้รอดพ้น เราต้องยอมรับว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นพระองค์เดียวกับพระบุตรหนึ่งเดียว องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงมีสองพระธรรมชาติที่ไม่ปะปนกัน ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แบ่งแยก ไม่มีวันจะแยกจากกันได้ ความแตกต่างของพระธรรมชาติทั้งสองไม่มีวันถูกการรวมกันนี้ทำลายลงได้ คุณลักษณะเฉพาะของพระธรรมชาติทั้งสองยังคงอยู่ดังเดิม แม้จะเข้ามารวมกันอยู่เป็นพระบุคคลหนึ่งเดียว”

  CCC ข้อ 468 หลังจากสภาสังคายนาครั้งนี้ บางคนทำให้พระธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้าเป็นบุคคลหนึ่งสภาสังคายนาสากลครั้งที่ 5 คือสภาสังคายนาที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลเมื่อปี ค.ศ. 553 จึงประกาศโต้แย้งคนเหล่านี้ว่า “มีเพียงพระบุคคลหนึ่งเดียว (hypostasis = person) ซึ่งเป็นพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า(ของเรา) เป็นพระบุคคลหนึ่งในพระตรีเอกภาพ” ทุกสิ่งทุกอย่างในพระธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้าจึงต้องนับว่าเป็นคุณสมบัติเฉพาะของพระบุคคลพระเจ้าของพระองค์ ไม่เพียงแต่อัศจรรย์ที่ทรงทำเท่านั้น แต่พระทรมาน และการสิ้นพระชนม์ด้วย เราประกาศว่า “พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนในพระกาย ทรงเป็นพระเจ้าแท้ และทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ เป็นหนึ่งในพระตรีเอกภาพ”

  CCC ข้อ 469 พระศาสนจักรจึงประกาศยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นทั้งพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้โดยไม่แยกจากกัน ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าอย่างแท้จริงซึ่งทรงรับสภาพมนุษย์ กลายเป็นพี่น้องของเรา ถึงกระนั้นก็ยังไม่เลิกเป็นพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา พิธีกรรมจารีตโรมันมีบทเพลงบทหนึ่งความว่า “พระองค์ยังคงเป็นอย่างที่เคยเป็น ทรงรับสภาพที่ไม่เคยเป็น” พิธีกรรมของนักบุญยอห์น ครีโซสตม ก็มีบทขับร้องที่ประกาศว่า “ข้าแต่พระบุตรเพียงพระองค์เดียวและพระวจนาตถ์ของพระเจ้า ผู้ทรงอมตะ พระองค์ทรงยอมรับสภาพมนุษย์จากพระมารดาของพระเจ้า พระนางมารีย์ผู้ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ เพื่อความรอดพ้นของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์ทรงรับสภาพมนุษย์และทรงถูกตรึงกางเขนโดยไม่ทรงเปลี่ยนแปลง ข้าแต่พระคริสตเจ้า พระองค์ทรงพิชิตความตาย ทรงเป็นพระองค์หนึ่งในพระตรีเอกภาพ ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระจิตเจ้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้นเถิด”


มก 6:17-29 ยอห์น บัปติสต์ ผู้เตรียมทางของพระคริสตเจ้า ได้ทำให้พันธกิจของท่านบรรลุความสมบูรณ์ จากที่นักบุญมาระโกได้เล่าถึงเรื่องราวของการเป็นมรณสักขีของท่าน พระคริสตเจ้าทรงเปรียบเทียบยอห์นกับประกาศกเอลียาห์ ผู้ซึ่งถูกทำนายไว้ว่าจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

CCC ข้อ 523 พระเจ้าทรงส่งนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างเป็นผู้นำหน้าคนสุดท้ายขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อเตรียมทางให้พระองค์ท่าน ท่านยอห์นในฐานะ “ประกาศกของพระผู้สูงสุด” (ลก 1:76) ยิ่งใหญ่กว่าบรรดาประกาศกทั้งหลาย และเป็นประกาศกคนสุดท้าย เป็นผู้เริ่มประกาศข่าวดี (หรือพระวรสาร) ตั้งแต่จากครรภ์มารดาแล้วท่านต้อนรับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า และมีความยินดีที่ได้เป็นเสมือน “เพื่อนเจ้าบ่าว” (ยน 3:29) ซึ่งได้รับนามว่า “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) ท่าน “มีจิตใจและพลังของประกาศกเอลียาห์” (ลก 1:17) นำหน้าพระเยซูเจ้า เป็นพยานยืนยันถึงพระองค์โดยการเทศน์สอน โดยประกอบพิธีล้างให้ประชาชนกลับใจ และในที่สุดโดยการเป็นมรณสักขีของท่านด้วย

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)