แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันที่ 26 มกราคม

ระลึกถึงนักบุญทิโมธี และนักบุญทิตัส พระสังฆราช

(SS. Timothy & Titus, Bishops, memorial)

Timothy Titus 4

I.  นักบุญทิโมธี

 ท่านเป็น "บุตรสุดที่รักในความเชื่อ" ของนักบุญเปาโล (1ทธ 1:2) และเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิดมากที่สุด บ้านเกิดของท่านคือเมือง ลิสตรา ในเอเชีย ไมเนอร์ (= ตุรกี) พ่อของท่านเป็นคนต่างศาสนา แต่แม่เป็นชาวยิว  ทิโมธีอาจจะเข้าเป็นคริสตชนในช่วงการเดินทางแพร่ธรรมครั้งแรกของนักบุญเปาโล ในปี ค.ศ. 47 ซึ่งตอนนั้นเขาเป็นเพียงเด็กหนุ่มอายุราว 15 ปี ต่อมาอีก 4 ปีนักบุญเปาโลได้พบเขาอีกครั้งหนึ่ง  และได้ยินถึงคุณธรรมและความร้อนรนของทิโมธีซึ่งคริสตชนเมืองอิโคนิอุมและเมืองลิสตราพากันพูดถึง  จนกระทั่งนักบุญเปาโลได้ตัดสินใจชวนเขาให้ร่วมเดินทางและคอยช่วยเหลือท่าน  ที่จริงมีสิลาสคนหนึ่งแล้วที่มาจากกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับท่านที่คอยช่วยเหลืออยู่  ส่วนทิโมธีนั้นเพื่อให้ได้รับการต้อนรับอย่างดีในหมู่คณะชาวยิว  นักบุญเปาโลได้ให้เขาเข้าสุหนัต

 ดูเหมือนทิโมธีได้กลายเป็นผู้ร่วมงานที่ใกล้ชิดที่สุดกับอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่เป็นเวลาต่อไปอีก 13 ปี ในระหว่างการเดินทางแพร่ธรรม เมื่อนักบุญเปาโลถูกจับส่งไปโรมในฐานะนักโทษ และต่อมาพ้นจากข้อกล่าวหาแล้วท่านกลับไปทางตะวันออกถึงเมืองเอเฟซัส - ระยะทางการเดินทางทางบกหรือทางน้ำประมาณพอๆกันถึง 4,000 ไมล์นั้น บางคราวเราจะได้ยินว่านักบุญเปาโลส่งท่านเดินทางล่วงหน้าไป  บางครั้งก็ยังคงค้างอยู่ที่เดิมเพื่อทำให้ผู้กลับใจใหม่มีความมั่นคงในความเชื่อก่อน  แล้วค่อยตามไปในภายหลัง  ในช่วงเวลาที่อยู่เมืองโครินทร์ 18 เดือน ท่านถูกส่งกลับไปทางเหนือ  เพื่อทำให้พี่น้องชาวเธสะโลนิกาเข้มแข็งพอที่จะเผชิญหน้ากับการเบียดเบียนที่พวกเขากำลังทนทุกข์

 

 ตามที่เราเห็นจากจดหมายต่างๆ ของนักบุญเปาโล (รวมถึงที่ส่งถึงทิโมธีด้วย)  ทิโมธีได้เปลี่ยนตนเองจากคนที่ยังหนุ่มแน่นมากและขี้อายกลายเป็นแบบที่นักบุญเปาโลได้แนะนำท่านไว้ "อย่าให้ใครดูถูกท่านว่าอายุยังน้อย" และทำให้ท่านสวมเกราะป้องกันคำสอนผิดๆ ของพวก Gnostic ที่กำลังทวีจำนวนมากขึ้นในขณะนั้น ท่านคงจะมีอายุแค่ 32 ปี  เมื่อได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชของเมืองเอเฟซัส  ซึ่งถือเป็นสำนักที่ใหญ่  และตามที่นักบุญยอห์น คริสซอสตอมกล่าวไว้ว่าเป็นสำนักที่รวมศาสนจักรต่างๆ ของ The Roman province of Asia ที่น่าสนใจคือ นักบุญยอห์น ดามาซีน (St. John Damascene) เน้นว่าตอนที่ทิโมธีเป็นพระสังฆราชที่เอเฟซัสนี่เอง  ที่ท่าน(=ทิโมธี) ได้เป็นพยานถึงการจากไปจากโลกนี้ของพระนางมารีย์  นักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสารได้กล่าวถึงท่านว่าเป็น "อัครทูตของพระศาสนจักรของเมืองเอเฟซัส"

 

 ทิโมธีเป็นคนที่น่ารักแต่สุขภาพไม่ค่อยดี  นักบุญเปาโลถึงได้แสดงความเอาใจใส่ต่อท่านเสมอๆ เหมือนพ่อกับลูก  ยกย่องให้ท่านเป็นลูกที่รัก  เป็นคนซื่อสัตย์และเป็นผู้ร่วมงานที่ดี  และเป็นประดุจเพื่อนรักที่คอยอยู่ข้างๆ นักบุญเปาโลเสมอ น่าเศร้าที่เราไม่ทราบแน่ชัดว่า ท่านได้มาอยู่กับนักบุญเปาโลก่อนตายตามที่นักบุญเปาโลเรียกหาได้หรือไม่

 

 รวมทั้งเราไม่รู้แน่ชัดถึงการตายของทิโมธีว่าที่ไหนและอย่างไร  ถ้าตามธรรมประเพณีแล้ว  ว่ากันว่าท่านถูกทุ่มด้วยหินจนตายที่เมืองเอเฟซัสในสมัยที่ Nerva Caesar Augustus ครองราชย์  เพราะท่านได้พยายามชักชวนคนต่างศาสนาไม่ให้กราบไหว้พระเท็จเทียมที่ชื่อ "Diana of the Ephesians"

 

 พระธาตุของนักบุญทิโมธีสูญหายไปนาน แต่เพิ่งค้นพบใหม่ไม่กี่ปีมานี้ในขณะที่ทำงานสร้างบางส่วนของอาสนวิหารแห่งเมืองแตร์โมลีขึ้นมาใหม่ (The Cathedral of Termoli) เมืองนี้อยู่บนชายฝั่งทะเลเอเดรียติกของอิตาลี  ตอนนั้นพระธาตุถูกเก็บไว้มิดชิดในกำแพงกล่องอิฐ  ที่เป็นเช่นนี้เพราะต้องการเก็บรักษาไว้ให้ปลอดภัยช่วงเวลาที่มีความยุ่งยากเกิดขึ้น  และท่านถูกอ้อนวอนขอเพื่อต่อสู้กับโรคกระเพาะอาหาร

 

 

II.  นักบุญทิตัส

 ท่านเป็นศิษย์ที่รักอีกคนของนักบุญเปาโล เชื่อกันว่าบ้านเกิดของท่านอยู่ที่เมืองอันทิโอก  เป็นคนต่างศาสนาตอนเกิด  ท่านถูกส่งไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรวบรวมรายงานเกี่ยวกับอัศจรรย์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า  และจึงได้กลายมาเป็นหนึ่งในบรรดาศิษย์ 72 คนของพระเยซูเจ้า

Timothy Titus 3

 จากจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินทร์ทั้งสองฉบับ เราทราบว่าทิตัสช่วยงานไม่เพียงด้านการแปลและเลขานุการเท่านั้น  แต่ยังเป็นผู้ร่วมงาน และช่วยประกาศข่าวดีด้วย  ซึ่งใครๆ ยกย่องอย่างสูงว่าทิตัสมีความร้อนรนแบบคริสตชน และมีความขยันขันแข็ง และเป็นที่พึ่งของนักบุญเปาโลอย่างมาก  โดยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา

 

 เมื่อนักบุญเปาโลกลับไปที่กรุงเยรูซาเล็มในปี ค.ศ.51 เพื่อไปร่วมการประชุมเรื่องการรับคนต่างศาสนาที่กลับใจว่าจะต้องถือเงื่อนไขตามกฎของโมเสสหรือไม่  ทิตัสได้ไปเป็นเพื่อนนักบุญเปาโลด้วย  อีก 5 ปีต่อมาเราได้ยินว่าทิตัสถูกส่งจากเอเฟซัสไปที่เมืองโครินทร์เพื่อไปจัดการเรื่องความไม่ลงรอยกันภายใน  และจัดการเรื่องส่งเงินบริจาคแก่คนยากจนที่กรุงเยรูซาเล็ม

 

 ในปี ค.ศ.64 ทิตัส ซึ่งมีพี่เขยเป็นผู้ปกครองเกาะครีต ได้รับการเลือกจากนักบุญเปาโล  ให้ต่องานมิชชันนารีของท่านในเกาะใหญ่แห่งนั้น ซึ่งมีแนวยาวถึง 120 ไมล์ จดหมายถึงทิตัสได้เล่ารายละเอียดถึงการแนะนำให้คัดเลือกและแต่งตั้งผู้อาวุโสในแต่ละเมืองของเกาะครีตนั้น ในปี ค.ศ.65 ทิตัสถูกส่งไปเทศน์พระวรสารในแคว้นดาลมาเทีย (=ยูโกสลาเวีย) แต่ดูเหมือนทิตัสเดินทางกลับเพื่อมาดูแลงานตำแหน่งพระสังฆราชของท่านที่เกาะครีตในปีต่อมา  และได้สิ้นชีพอย่างสงบที่นั่นขณะที่มีอายุได้ 94 ปี  ร่างของท่านถูกฝังไว้ในอาสนวิหารที่ Gortyna และอยู่ที่นั่นจนกระทั่งพวกแขกซาลาเซนส์ทำลายเมืองนั้นในปี ค.ศ.823 แล้วนั้นส่วนศีรษะของท่านถูกนำไปไว้ที่บาสิลิกานักบุญมาระโกที่เวนิส  และได้รับความเคารพอยู่ที่นั่นจวบจนทุกวันนี้

 

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา  หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ  J.K. Mausolfe)

Timothy Titus 1Timothy Titus 2Timothy Titus 5Timothy Titus 6